วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เราจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ “หลักกรรม” มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น

เราจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ “หลักกรรม” มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น

ต่อไปจะพูดถึงตัวแท้ของหลักกรรม... หลักกรรมเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง พอพูดถึงความหมายที่ลึกซึ้งก็กลายเป็นเรื่องเกี่ยวเข้าไปถึงหลักใหญ่ๆ โดยเฉพาะ “ปฏิจจสมุปบาท”

จะต้องระลึกไว้ว่า กรรมนี้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องภายนอก ไม่ใช่การกระทำที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา เท่านั้น ต้องมองเข้าไปถึงกระบวนการทำงานในจิตใจ และผลที่เกิดขึ้นในจิตใจ แต่ละขณะๆ ทีเดียว ความหมายที่แท้จริงของกรรมมุ่งเอาที่นั่น คือความเป็นไปในจิตใจของแต่ละคน แต่ละขณะ กรรมที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาอะไรๆ ก็ต้องเริ่มขึ้นในใจก่อนทั้งนั้น

จุดเริ่มแรกในกระบวนการทำงานของจิตเป็นอย่างไร เกิดขึ้นโดยมีเหตุมีผลอย่างไร แล้วแสดงออกทางบุคลิกภาพอย่างไร ในขั้นลึกซึ้งจะต้องศึกษาเรื่องกรรมกันอย่างนี้ ถ้าทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ให้ชัดแจ้งแล้ว เราจะมองเห็นว่า กรรมเกี่ยวพันกับชีวิตของเราอย่างชัดเจนอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แต่ความเข้าใจในขั้นนี้เป็นขั้นที่ยาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต้องการให้เชื่อหลักกรรมและเข้าใจหลักกรรม จนรู้หลักกรรมที่แท้จริง ก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ยากนั่นแหละ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทาง

ถ้าเราไม่สามารถศึกษาให้เข้าใจชัดเจนถึงกระบวนของกรรมในขั้นจิตใจ ตั้งต้นแต่ความคิดออกมาจนชัดเจนได้ เราก็ไม่มีทางที่จะสอนกันให้เข้าใจหรือให้เชื่อหลักกรรมได้ ความคิดที่มีผลต่อบุคลิกภาพออกมาแต่ละขณะๆ นั่นแหละคือกรรม กรรมนี้ที่แท้ก็คือเรื่องของกฎธรรมชาติ เรื่องของข้อเท็จจริง

ความจริง ปัญหาของเราไม่ใช่ว่าทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม เมื่อหลักกรรมเป็นกฎธรรมชาติ เป็นหลักแห่งความจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะเชื่อ แต่กลายเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ จึงจะเข้าใจ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่มีผลต่อหลักกรรม หลักกรรมเป็นความจริง มันก็คงอยู่อย่างนั้น เราจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้นเอง เข้าหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสในเรื่องธรรมนิยาม ว่า 

อุปฺปาทา  วา  ภิกฺขเว  ตถาคตานํ  อนุปฺปาทา  วา  ตถาคตานํ… ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม หลักความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น

แม้แต่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติ มันก็เป็นความจริงของมัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจะศึกษาให้เข้าใจชัดเจน เพราะฉะนั้น ไปๆ มาๆ จึงกลายเป็นว่า จะต้องเปลี่ยนหัวเรื่องที่ตั้งไว้แต่ต้นที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม กลายเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้หรือเข้าใจเรื่องกรรม คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ มันก็เป็นความจริงของมัน คุณจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ชีวิตของคุณก็ต้องเป็นไปตามกรรม ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว เราไม่ง้อคนเชื่อ

เพราะฉะนั้น จุดสำคัญอยู่ที่นี่ คือสำคัญที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจชัดเจน จนกระทั่งเมื่อแสดงให้เห็นตัวความจริงได้แล้ว เราไม่ง้อคนเชื่อ เราบอกว่าอันนี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของมันอยู่เอง คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ฉันไม่ง้อ ต้องถึงขั้นนั้น

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจหรือรู้หลักกรรม ตรงนี้ก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา เรื่องกรรมนี่เราพูดกันมาก แต่ก็พูดกันเพียงแค่ภายนอก โดยมากมุ่งผลหยาบๆ ที่แสดงแก่ชีวิตของคนเรา ถ้าเป็นผลในแง่ดีก็มองไปที่ถูกลอตเตอรี่หรือร่ำรวยได้ยศศักดิ์ อย่างใหญ่ๆ เป็นก้อนใหญ่ๆ จึงเกิดความรู้สึกว่าอันนี้คงจะเป็นผลของกรรมดี ส่วนในแง่ร้ายเราก็มองไปถึงการเกิดภัยพิบัติ เกิดอันตรายใหญ่โตไปอย่างนั้น จึงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องกรรม แต่ในแง่นั้นยังไม่ถึงหัวใจแท้จริงของกรรม

ถ้าจะศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจชัดเจน จะต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการของจิตใจภายในนี้เป็นต้นไป ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ขอย้ำว่า การศึกษาแต่ด้านภายนอกให้มองเห็นกรรมที่แสดงออกเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ นั้นไม่พอ ต้องหันมาศึกษาเรื่องลึกซึ้งด้วย อันนี้อาตมภาพก็เป็นแต่เพียงมาเสนอแนะ เราจะพูดถึงเนื้อแท้ของหลักกรรมในแง่ลึกซึ้งอย่างเรื่องปฏิจจสมุปบาทในที่ประชุมนี้ก็คงไม่ไหว เป็นแต่บอกว่าควรจะเป็นอย่างนี้เท่านั้น

เป็นอันว่า ที่ตั้งเป็นหัวข้อว่าทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรมนี้ ปัญหามันมาอยู่ที่ว่า จะศึกษาทำความเข้าใจหลักกรรมให้ลึกซึ้งจนเห็นข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาระยะยาว ขอผ่านไปก่อน เพราะไม่มีเวลาจะพูดลึกซึ้งไปได้ในเรื่องนี้อีก”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อเรื่องกรรม”



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: