ผู้ประเสริฐในสายตาพระพุทธเจ้า
[ณ ท่าน้ำบุพพโกฏฐกะ ใกล้ปราสาทของมิคารมารดาที่วิหารบุพพาราม นครสาวัตถี ในช่วงเวลาเย็น ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังยืนผึ่งกายให้แห้งหลังอาบน้ำที่ท่าน้ำอยู่นั้น ช้างเผือกของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ขึ้นมาจากท่าน้ำเช่นกันโดยมีเสียงดนตรีตีประโคม และผู้คนต่างกล่าวชมว่าช้างของพระราชาสมบูรณ์งดงามน่าเลื่อมใสยิ่งนัก พระกาฬุทายีได้ยินเข้า จึงถามพระพุทธเจ้าว่า]
ก: ภันเต ผู้คนแค่เห็นช้างเผือกหรือสัตว์อื่นๆที่ตัวใหญ่สูง มีอวัยวะครบสมบูรณ์ ก็เพียงพอแล้วหรือที่จะกล่าวกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ?
พ: กาฬุทายี ผู้คนเห็นช้างเผือกที่ตัวใหญ่สูง มีอวัยวะครบสมบูรณ์ ก็กล่าวชมว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เห็นม้าตัวใหญ่ โคตัวใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ คนที่ร่างกายสูงใหญ่มีอวัยวะสมบูรณ์ ก็กล่าวชมว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ
อนึ่ง บุคคลใดที่ไม่ทำความชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งในโลกนี้รวมถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้ประเสริฐ (นาค)
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 36 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ภาค 3 ธรรมิกวรรค นาคสูตร ข้อ 314), 2559, น.632-633
0 comments: