วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พรุ่งนี้ “วันอาสาฬหบูชา”


พรุ่งนี้ “วันอาสาฬหบูชา” วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีนี้ ตรงกับ วันเสาร์ ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ปักข์ถ้วน อุโบสถที่ ๘ คิมฺโหตุ ( ฤดูร้อน )

“วันอาสาฬหบูชา”  เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท คำว่า “อาสาฬหบูชา” ย่อมาจาก “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะ” ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน ๘ ตามปฏิทิน จันทรคติของไทย

วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ๒ เดือน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ที่มีชื่อในปัจจุบันว่า ประเทศอินเดีย เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา(แสดงธรรมครั้งแรก) คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แก่พราหมณ์ปัญจวัคคีย์ ในการแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ “พราหมณ์โกณฑัญญะ” ๑ ใน ๕ ปัญจวัคคีย์ เกิดดวงตาเห็นธรรม(ธรรมจักษุ) บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับ “พระโสดาบัน” ท่านจึงได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าและเป็น พระสงฆ์องค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้น  มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้ง พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ 

“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุด ๒ ทาง เป็นแนวทางดำเนินชีวิตโดยทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ โดยเริ่มจากทำความเห็นให้ถูกต้องก่อน(สัมมาทิฏฐิ) เพื่อดำเนินตามขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงอันถึงที่สุด ได้แก่ การบรรลุ “พระนิพพาน” ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา.

สรุปความสำคัญของ “วันอาสาฬหบูชา” ได้ดังนี้    ๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา   ๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา   ๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรก คือการที่ พระอัญญาโกณฑัญญะ รู้แจ้งธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์  ๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่พราหมณ์โกณฑัญญะขอบรรพชาและได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว  ๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวก คือ การที่พราหมร์โกณฑัญญะนั้นได้บรรลุธรรมและบวชเป็นพระภิกษุ พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อถือเอา “วันวิสาขบูชา” เป็น “วันพระพุทธ” คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า และถือเอา “วันมาฆบูชา” เป็น “วันพระธรรม” คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” ประกาศประมวลหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่า “วันอาสาฬหบูชา” เป็น “วันพระสงฆ์” เพราะเป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก คือ “พระอัญญาโกณฑัญญะ” ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

มีคำพูดอุปมาไว้ว่า เมื่อจักรพรรดิหรือราชาธิราชผู้ยิ่งใหญ่ มีพระบัญชาให้ลั่นยุทธเภรี คือการลั่นกลองรบประกาศสงคราม เมื่อนั้นล้อรถศึกก็จะเริ่มหมุนนำทัพเดินหน้าแผ่ขยายราชอาณาจักรออกไป เป็นการสำแดงกำลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็น “ธรรมราชา” ก็ทรงบันลือธรรมเภรี ให้ล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้าไปข้างหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรมออกไป อันนำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรกนั้น จึงได้ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือ พระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือ ดินแดนแห่งธรรม นั่นเอง

หมายเหตุ   “ปัญจวัคคีย์” (หรือ เบญจวัคคีย์ ) แปลกันว่า “พระพวก ๕” คือ พราหมณ์ ๕ ท่าน ที่ออกบวชตามเจ้าชายสิทธัตถะ และคอยดูแลอยู่ใกล้ชิดพระองค์ระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอรหันตสาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้า 

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม/เรียบเรียง

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: