อมฺพชาตกํ - บัณฑิตควรพยายามร่ำไป
"วายเมเถว ปุริโส, น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต;
วายามสฺส ผลํ ปสฺส, ภุตฺตา อมฺพา อนีติหนฺติ ฯ
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่หล่นให้บริโภคอยู่ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่ได้บินมาเลย."
อรรถกถาอัมพชาดกที่ ๔
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วายเมเถว ปุริโส ดังนี้.
ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถีบวชถวายชีวิตในพระศาสนาได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร กระทำอาจริยวัตร อุปัชฌายวัตรและวัตรมีการตั้งน้ำดื่มสละน้ำใช้ทั้งวัตรในโรงอุโบสถ สละวัตรในเรือนไฟเป็นต้น เป็นอันดีได้เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในมหาวัตรทั้ง ๑๔และขันธกวัตรทั้ง ๘๐ กวาดวิหาร บริเวณโรงตึกทางไปวิหาร ให้น้ำดื่มแก่พวกมนุษย์. พวกมนุษย์เลื่อมใสในความสมบูรณ์ด้วยวัตรของท่านพากันถวายภัตรประจำ ประมาณ ๕๐๐ ราย ลาภและสักการะ เป็นอันมากบังเกิดขึ้น การอยู่อย่างผาสุข เกิดแล้วแก่ภิกษุเป็นอันมาก เพราะอาศัยท่าน
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย พากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในโรงธรรมว่า „ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้นยังลาภสักการะอย่างมากมายให้เกิดแก่ตน เพราะถึงพร้อมด้วยวัตร ความอยู่อย่างผาสุขเกิดแก่ภิกษุเป็นอันมาก เพราะอาศัยเธอผู้เดียว“
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?" เมื่อภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อน ภิกษุนี้ก็เคยเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร แม้ในปางก่อน อาศัยเธอผู้เดียว ฤๅษี ๕๐๐ ไม่ต้องไปป่าหาผลาผลกันเลย เลี้ยงชีพด้วยผลาผลที่ภิกษุนี้นำมา“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์เจริญวัยแล้ว บวชเป็นฤาษี มีฤาษี ๕๐๐ เป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่เชิงเขา. ครั้งนั้น ในป่าหิมพานต์ แห้งแล้ง ร้ายแรง น้ำดื่มในที่นั้น ๆก็เหือดแห้ง พวกสัตว์ดิรัจฉานเมื่อไม่ได้น้ำดื่ม ก็พากันลำบาก
ครั้งนั้น ในบรรดาพระดาบสเหล่านั้นมีดาบสองค์หนึ่งเห็นความทุกข์เกิดแต่ความกระวนกระวาย ของพวกดิรัจฉานเหล่านั้นจึงตัดต้นไม้ต้นหนึ่งทำราง โพงน้ำใส่ให้เป็นน้ำดื่มแก่พวกดิรัจฉานเหล่านั้นเมื่อพวกสัตว์ดิรัจฉานจำนวนมาก มาประชุมดื่มน้ำ พระดาบสเลยไม่มีโอกาสที่จะไปหา แม้ท่านจะอดอาหาร ก็คงให้น้ำดื่มอยู่นั่นเอง
ฝูงเนื้อพากันคิดว่า พระดาบสนี้ให้น้ำดื่มแก่พวกเรา ไม่ได้โอกาสไปหาผลาผล ลำบากอย่างยวดยิ่ง เพราะอดอาหาร „เอาเถิดพวกเราจงมาทำกติกากันสัตว์เหล่านั้นจึงตั้งกติกาไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้ ผู้มาดื่มน้ำ ต้องคาบผลไม้มาตามสมควรแก่กำลังของตน“
ตั้งแต่นั้นมาดิรัจฉานตัวหนึ่ง ๆ ก็คาบผลไม้มีมะม่วงและขนุนเป็นต้น ที่อร่อย ๆ นำมาตามสมควรแก่กำลังของตนเรื่อยมา ผลาผลที่พวกดิรัจฉานนำมาเพื่อพระดาบสองค์เดียวได้มีประมาณบรรทุกเต็มสองเล่มเกวียนครึ่ง
พระดาบสทั้ง ๕๐๐ พลอยฉันผลาผลนั้นทั่วกัน ยังต้องทิ้งเสียเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์เห็นเหตุนั้นแล้วกล่าวว่า „อาศัยดาบสผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรผู้เดียว ดาบสมีประมาณเท่านี้ยังอัตภาพให้เป็นไปได้ โดยไม่ต้องไปหาผลาผล ขึ้นชื่อว่าความเพียรเป็นกิจควรกระทำโดยแท้“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
„บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลาย ที่มีให้บริโภคอยู่ ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่มีมาได้เอง.“
ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ บัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไปไม่ควรท้อถอยเสีย ในการงานมีการบำเพ็ญวัตรเป็นต้น ของตนเพราะเหตุไร ? เพราะความพยายามที่ไร้ผล ไม่มีเลย ด้วยเหตุนี้ พระมหาสัตว์เมื่อเตือนคณะฤๅษีว่า ธรรมดาความเพียรย่อมมีผลเรื่อยไป จึงกล่าวว่า เชิญดูผลแห่งความพยายามเถิด เช่นอย่างไรเล่า ? เช่นอย่างที่ฤาษีทั้ง ๕๐๐ ฉันผลไม้มีมะม่วงเป็นต้นได้อย่างไม่อั้น
ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺพา เป็นเพียงยกมาเป็นตัวอย่าง หมาย ความว่า ก็ผลาผลที่เดียรัจฉานเหล่านั้นนำมามีประการต่าง ๆ แต่กล่าวถึงมะม่วงเป็นต้น ด้วยอำนาจเป็นผลไม้มากมายก่ายกองกว่า ผลไม้เหล่านั้น
ข้อที่ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ไม่ต้องไปป่าด้วยตนเอง พากันฉันผลมะม่วงทั้งหลาย ซึ่งดิรัจฉานทั้งหลาย นำมาเพื่อประโยชน์แก่ดาบสนั้นนี้เป็นผลแห่งความพยายาม ก็แลการที่ได้ฉันนั้นเล่า รู้กันเองไม่ต้องมีใครบอก หมายความว่า ที่จะต้องถือเอาด้วยการบอกกล่าวว่า นี้อย่างนี้ ดังนี้เป็นอันไม่มีกันละ เชิญดูผลไม้นั้น อันประจักษ์ชัดกันเถิด. พระมหาสัตว์ได้ให้โอวาทแก่ฤาษี ด้วยประการฉะนี้.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า ดาบสผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุนี้ส่วนศาสดาของคณะได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถาอัมพชาดกที่ ๔
อัมพชาดกมี ๓ เรื่อง
๑. อัมพชาดก (๑๒๔) มาในเอกกนิบาต กุสนาฬิวรรคที่ ๑๓ ทรงปรารภภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรรูปหนึ่ง, ในอตีตกาลเคยเป็นดาบสช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นจากความหิวกระหาย, ในชาดกนี้พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพราหมหณ์ผู้มีตระกูลสูง.
๒. อัมพชาดก (๓๔๔) มาในจตุกกนิบาต จูฬกุณาลวรรค ที่ ๕ ทรงปรารภพระเถระผู้รักษาป่ามะม่วงรูปหนึ่ง, ในอตีตกาลเคยเป็นชฏิลโกงรักษาป่ามะม่วงเหมือนกัน, ในชาดกนี้พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวสักกเทวราช.
๓. อัมพชาดก (๔๗๔) มาในเตรสกนิบาต ทรงปรารภพระเทวทัตต์ผู้อกตัญญู, ในอดีตกาลเคยเป็นมาณพเรียนวิชาในสำนักของพระโพธิสัตว์ผู้เกิดในตระกูลจัณฑาลแต่เป็นผู้มีปัญญามาก รู้มนต์วิเศษสามารถทำให้มะม่วงออกผลได้ทุกฤดูกาล, ในชาดกนี้พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นบุตรของตระกูลจัณฑาล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: