วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

แรงกรรมอดีต สืบเนื่อง เป็นมาอย่างไร ?

แรงกรรมอดีต สืบเนื่อง เป็นมาอย่างไร ?

แรงกรรม ก็คือ เราได้สร้างเหตุแห่งวิบากไว้ จึงถูกจองเวร ผูกด้วยความแค้น อาฆาต พยายาท ที่จะเอาคืนให้ได้

ทำไมเราถึงโดนจองเวร ?  นั่นเป็นเพราะว่า เราได้ไปเบียดเบียนเขา ทำร้ายเขา ให้เขาได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เขาจึงไม่พอใจ อยากจะเอาคืน

แรงกรรมนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต แต่ขึ้นอยู่กับเหตุและผล เหตุ-ผลนี้เป็นได้ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต เราสร้างเหตุปุ๊บ ก็จะเกิดผลปั้บเลย เพียงแต่ว่าผลนั้นจะมากจะน้อย จะให้เร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับที่เราได้สร้างเหตุนั้นไว้อย่างไร ตามเหตุปัจจัย

ยกตัวอย่าง เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว นายสมชายไปกู้ยืมเงินจากนายสมพงษ์ มาปัจจุบันนี้นายสมชายนึกขึ้นได้ ได้นำเงินไปคืนนายสมพงษ์ นายสมพงษ์ก็ไม่เอาเรื่องนายสมชาย

ทั้งๆ เหตุการณ์นี้ผ่านไปตั้ง ๑๐ ปีผ่านมาแล้ว เป็นอดีต แต่ ณ ปัจจุบันนี้นายสมชายได้นำเงินมาคืนให้หมด จึงไม่เป็นหนี้สินกัน เพราะสัญญานี้ได้ยกเลิกไปแล้วด้วยนายสมพงษ์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ฉันใด การแก้กรรมก็ฉันนัั้น เหมือนกัน

นายสมชาย ได้ด่าทอต่างๆ นานา ให้นายสมพงษ์เจ็บอกเจ็บใจ แต่กาลเวลาผ่านไป ๑ สัปดาห์ นายสมชายได้ไปฟังพระเทศน์เกิดจิตสำนึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันไม่ดี จึงไปขอขมาต่อนายสมพงษ์ นายสมพงษ์เห็นว่านายสมชายเกิดจิตสำนึกแล้ว และจะไม่ด่าทออีก นายสมพงษ์จึงยกโทษให้แก่นายสมชาย ซึ่งเราเรียกว่า อโหสิกรรม แปลว่า ไม่เอาเรื่องต่อกัน

ทั้งๆ เรื่องนั้นเป็นอดีตผ่านไปแล้วตั้ง ๑ สัปดาห์

จะเห็นได้ว่า อดีตเราไม่สามารถที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่เหตุวิบากของอดีตจะมาสืบเนื่องถึงปัจจุบันนี้ได้ ฉะนั้น เราต้องมาแก้ไขเหตุวิบาก ณ กาลปัจจุบัน สิ่งที่เป็นเหตุวิบากอดีตที่ส่งต่อมา ณ ปัจจุบันนี้ ก็จะไม่ส่งผล ด้วยการอโหสิกรรม คือ การไม่เอาเรื่องต่อกัน ให้แล้วต่อกันไป ไม่ถือสาหาความกัน

ฉะนั้น การแก้กรรม ไม่ใช่ไปแก้ไขที่อดีต แต่แก้ไขปัจจุบัน สิ่งที่เป็นเหตุในอดีตสืบเนื่องปัจจุบันก็จะไม่ส่งผลได้ แต่วิบากกรรมอดีตที่เราไปเคยก่อไว้ก็ยังคงบันทึกเก็บเหตุการณ์ไว้เสมอ คล้ายๆกับว่า บันทึกจดหมายเหตุไว้เป็นประวัติศาสตร์ของเราที่เคยมีเรื่องราวต่อกัน

ฉะนั้น "กรรม" เราแก้ไขได้ แก้ไขที่ "เหตุแห่งวิบาก" ไม่ใช่ไปแก้ไขที่ผลแห่งวิบาก

คำว่า "แก้ไขที่เหตุแห่งวิบาก" หมายความว่า เราเคยไปด่าเขา การด่านี่แหละเป็น "เหตุวิบาก" ณ กาลปัจจุบันนี้เราสำนึกต่อการด่าว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ เราไปขอขมาต่อเจ้ากรรม และจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกต่อไป ด้วยการพูดสิ่งที่เป็นปิยวาจาต่อกัน นี่แหละ เราแก้ไขที่ "เหตุแห่งวิบาก"

คำว่า "ไม่ใช่ไปแก้ไขที่ผลแห่งวิบาก" หมายความว่า เราเคยไปด่าเขาแล้ว แล้วขอสำนึกผิด ไปขอขมาเขา เขาก็ให้อโหสิกรรมต่อเราแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราวต่อเราแล้ว แต่เราจะบอกว่าเราไม่เคยไปด่าเขา อย่างนี้ไม่ได้ หรือจะบอกว่าอดีตเราไม่เคยด่าเขา ยังนี้ก็ไม่ได้ เพราะมันปรากฏเป็นผลออกมาแล้ว

แต่เราจะใช้คำว่า เราเคยด่าเขา แต่ปัจจุบันเขาไม่เอาเรื่องเราแล้ว อย่างนี้ได้ เรียกว่า "อโหสิกรรม"

ที่มา : https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=prommasit&month=17-05-2021&group=15&gblog=47


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: