ความอยากก็ดี ความเห็นผิดก็ดี กิเลสอื่นๆที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองก็ดี ความประพฤติชั่วก็ดี ความเขลาเพราะไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ก็ดี เป็นกระแสที่ไหลไปในอายตนะทั้ง ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ และใจนึกคิดถึงอารมณ์เหล่านั้น กระแสแห่งตัณหาคือทะยานอยากได้ก็ไหลไปทั่ว เกิดความหลงผิด จิตใจเศร้าหมอง กลับไปประพฤติชั่ว และความเขลาไม่รู้แจ้งในอริยสัจก็ไหลไปกับอารมณ์เหล่านั้นด้วย
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า “ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ปัญญาย่อมปิดกั้นกระแสเหล่านั้น”
สติอันมีอยู่ด้วยความสงบ ประกอบแล้วด้วยวิปัสสนาคือความรู้แจ้ง เป็นทางดำเนินของธรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย ย่อมเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งกิเลสเหล่านั้น และกระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดกั้นได้ด้วยมรรคปัญญา อันเกิดจากการรู้แจ้งแทงตลอดว่า “ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาโดยประการทั้งปวง” ดังนี้.
สาระธรรมจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (อชิตมาณวกปัญหาที่ ๑)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ), 1/7/64
ยามก่อไฟ แค่ควันเข้าตาก็ทำให้ระคายเคืองได้ฉันใด แล้วจะมุ่งหวังความหลุดพ้นเพียงการจุดไฟบูชาได้อย่างไร ? เช่นเดียวกันควันอันเกิดจากการประพฤติทุจริตทั้งทางกายทางวาจาและทางใจก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง แม้จะก่อกรรมทำเข็ญไปมากเท่าไร ก็ไม่มีทางหลุดพ้นได้ฉันนั้น
เพราะฉะนั้นจงหยุดก่อกรรม เพราะกามทั้งหลายอาศัยตัณหาย่อมเจริญ
สาระธรรมจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (ปุณณกมาณวกปัญหา)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ), 2/7/64
0 comments: