วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พาหิยชาตกํ - เป็นคนควรศึกษาศิลปะ

พาหิยชาตกํ - เป็นคนควรศึกษาศิลปะ

"สิกฺเขยฺย  สิกฺขิตพฺพานิ,       สนฺติ ตจฺฉนฺทิโน  ชนา;

พาหิยา  หิ  สุหนฺเนน,          ราชานมภิราธยีติ ฯ

บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พอใจในศิลปะนั้นก็มีอยู่ แม้แต่หญิงที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำให้พระราชาทรงโปรดปรานได้ ด้วยความกระมิดกระเมี้ยนของเธอ."

พาหิยชาดกอรรถกถา (หญิงสามัญชน)

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยพระนครเวสาลี ประทับอยู่ ณกูฏาคารศาลา ป่ามหาวันทรงปรารภเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  สิกฺเขยฺย  สิกฺขิตพฺพานิ  ดังนี้.

ได้ยินว่า เจ้าลิจฉวีองค์นั้นทรงมีศรัทธาเลื่อมใส นิมนต์พระภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขทรงยังมหาทานให้เป็นไปในวังของพระองค์ แต่เทวีของพระองค์มีอวัยวะทุกส่วนอ้วนพีดูคล้ายนิมิตแห่งซากศพที่ขึ้นพอง ไม่สมบูรณ์ด้วยมารยาทพระศาสดาทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตรกิจแล้วเสด็จไปพระวิหาร ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย เสด็จเข้าพระคันธกุฎี

ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งเรื่องสนทนากันในธรรมสภาว่า „ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เจ้าลิจฉวีพระองค์นั้น มีพระรูปงามปานนั้น มีเทวีลักษณะตรงกันข้าม มีอวัยวะน้อยใหญ่อ้วนพี ไม่มีกิริยามารยาทท้าวเธอจะทรงอภิรมย์กับเทวีได้อย่างไรกันนะ ?"

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ก่อนภิกษุทั้งหลาย เจ้าลิจฉวีองค์นี้ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น, แม้ในครั้งก่อน ก็ทรงอภิรมย์กับหญิงที่มีร่างกายอ้วนเหมือนกัน“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ของพระองค์.    ครั้งนั้น หญิงชนบทคนหนึ่งมีอวัยวะอ้วนพี ไม่มีกิริยามารยาท ทำการรับจ้าง เดินผ่านไปไม่ไกลท้องพระลานหลวงเกิดปวดอุจจาระ ก็เอาผ้านุ่งคลุมหัว นั่งถ่ายอุจจาระแล้วรีบลุกขึ้น.

ขณะนั้นพระเจ้าพาราณสี ทอดพระเนตรท้องพระลานหลวงทางช่องพระแกลทรงเห็นนางแล้วทรงดำริว่า „หญิงผู้นี้ ถ่ายอุจจาระไว้ที่พระลานอย่างนี้ มิได้ละหิริโอตตัปปะ เอาผ้านุ่งนั่นแหละปิด ถ่ายอุจจาระแล้วก็รีบลุกขึ้น, ชะรอยนางจักเป็นหญิงไม่มีโรค, วัตถุของนางจักต้องบริสุทธิ์, ลูกคนหนึ่งที่ได้ในวัตถุบริสุทธิ์ จักเป็นผู้บริสุทธิ์ มีบุญ, เราควรตั้งนางไว้เป็นอัครมเหสี“ ท้าวเธอทรงทราบความที่นางยังไม่มีคู่ครอง ก็ตรัสสั่งพระราชทาน ตำแหน่งอัครมเหสี.   นางได้เป็นที่โปรดปราน ต้องพระทัยของท้าวเธอ ไม่นานนักก็ประสูติพระโอรสองค์หนึ่งและโอรสของพระนางก็ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.   

พระโพธิสัตว์เห็นความถึงพร้อมด้วยยศของพระนางได้โอกาสที่จะกราบทูลเช่นนั้นได้จึงกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ศิลปะชื่อว่าควรศึกษาเหตุไรจะไม่น่าศึกษาเล่า, แม้แต่พระมเหสีผู้มีบุญหนักพระองค์นี้ไม่ทรงละหิริโอตตัปปะทรงกระทำสรีรวลัญชะ ด้วยอาการมิดเม้น, ยังทำให้พระองค์โปรดปรานทรงบรรลุสมบัติเห็นปานนี้ได้นะ พระเจ้าข้า“ เมื่อจะกราบทูลคุณแห่งศิลปะที่ควรศึกษาทั้งหลาย จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-

„บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พอใจในศิลปะนั้นก็มีอยู่ แม้แต่หญิงที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำให้พระราชาทรงโปรดปรานได้ ด้วยความกระมิดกระเมี้ยน ของเธอ.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  สนฺติ  ตจฺฉนฺทิโน  ความว่า หมู่ชน ที่มีความพอใจในศิลปะเหล่านั้นคงมีแน่นอน.   บทว่า  พาหิยา  ได้แก่ หญิงที่เกิดเจริญเติบโต ในชนบทที่มีในภายนอก.   บทว่า  สุหนฺเนน  ความว่า ไม่ละหิริโอตตัปปะ ขับถ่ายด้วยอาการอันปกปิดชื่อว่าอาการอันกระมิดกระเมี้ยน ถ่าย ด้วยอาการอันกระมิดกระเมี้ยนนั้น.  บทว่า  ราชานํ  อภิราธยิ  ความว่า ยังทำให้สมมติเทพทรงโปรดปราน ลุถึงสมบัตินี้ได้.

พระโพธิสัตว์กล่าวคุณของศิลปะทั้งหลาย อันสมควรแก่คุณค่าของการศึกษา ด้วยประการฉะนี้.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า คู่สามีภรรยาในครั้งนั้นได้มาเป็นคู่สามีภรรยาในบัดนี้ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: