วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ฝึกรู้จักแยกดูขันธ์ตามความจริง จะรู้จัก“อนัตตา”

ฝึกรู้จักแยกดูขันธ์ตามความจริง จะรู้จัก“อนัตตา”

“คําสอนเรื่อง “ตัวตน” และเรื่อง “ไม่มีตัวตน” นี้ จะต้องเข้าใจกันให้ดีอย่างนี้ รู้จักแยกว่าเมื่อไรพูดโดยภาษาคนว่า มีตัวตน เมื่อไรพูดโดยภาษาธรรมว่า ไม่มีตัวตน.

สําหรับสิ่งที่จะมองให้เห็น มันก็อยู่ลึกมาก เพราะว่าเรามันเต็มอัดอยู่ด้วยตัวตน, เห็นอยู่แต่ตัวตน, มองไปทางไหนก็เป็นตัวตน, ถ้าไม่ใช่ตัวตนของเรา ก็ตัวตนของเขา, หรือตัวตนของมัน, เห็นอะไรเป็นตัวตนของใครไปเสียทั้งนั้น

ฝึกรู้จัก “แยกดูขันธ์” ตามความจริง จะรู้จักอนัตตา

เดี๋ยวนี้ก็มามองดูกันเสียใหม่ มองดูในภายใน มองดูตัวเอง; ถ้าได้ศึกษามาเพียงพอ รู้จักแยกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้ว ก็มาแยกดูทีละอย่าง จนเห็นว่า ไม่มีส่วนไหนที่ควรจะ“ยึดถือ” ว่าเป็น“ตัวตน” หรือเป็น“ตัวเรา”, มองให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า ; เมื่อตัวเรามันก็ไม่มี แล้วของเรามันจะมีอย่างไรได้

พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เมื่อตัวเรามันก็ไม่ได้มีแล้ว อะไรๆที่เป็นของเรามันจะมีอย่างไรได้ ; แต่เราก็ยังยึดถือว่า เงินของเรา ทองของเรา บุตร ภรรยา สามี ของเรา อะไรๆก็ล้วนแต่เป็นของเรา โดยที่ไม่มองเห็นว่า แม้แต่ตัวเราก็มิได้มีเสียแล้ว

ถ้ามองเห็นว่าตัวเราแท้จริงมันก็มิได้มี มีแต่ธรรมชาติชนิดหนึ่ง รู้สึกคิดนึกได้ พูดจาได้ ทําอะไรได้ แต่ก็มิใช่ตัวตนอันแท้จริง เป็นแต่ธรรมชาติอย่างนั้นเท่านั้นเอง. ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้ว จิตนั้นก็จะไม่ยึดถืออะไร ว่าเป็นของเรา”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาควิสาขบูชา ครั้งที่ ๑๐ ชุดอะไรคืออะไร หัวข้อเรื่อง “ตัวตนคืออะไร” เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “อะไรคืออะไร” หน้า ๒๗๐-๒๗๑

ศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องระวังเรื่อง “ มิจฉาทิฏฐิ ”

“พุทธศาสนาเราเป็นพวก “วิภัชชวาท” คือสอนว่าสิ่งต่างๆนี้มันประกอบด้วยส่วนประกอบ แบ่งแยกออกได้ เป็นเบญจขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ เป็นอะไรเหล่านี้ไปได้ นี่เป็น “วิภัชชวาท” ส่วนพวกอื่นเขาสอนเป็น “อัตตา” ที่ไม่แบ่งแยก นี่เขาก็เป็น “อวิภัชชวาท” อย่างนี้เป็นต้น มันจัดพวกได้เป็นคู่ๆกันมาอย่างนี้ เราก็ต้องรู้เรื่องนี้ กล่าวคือ เรื่องเกี่ยวกับ “สุญญวาท-อสุญญวาท” นี้ให้ดี จะต้องระวังให้มากที่สุด 

พวกที่ถือเป็น “ตัวตน” นั่นแหละ มันเป็น “สัสสตทิฏฐิ” ต้องระวังให้ดี คำว่า สัสสตทิฏฐิ ถ้าใครไปเชื่อว่า “มีตัวตนเที่ยงแท้ ไม่แบ่ง ไม่ประกอบด้วยขณะ และไม่ว่าง” แต่เป็น “ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร” คนเดียวกันนี่แหละ ไปเกิด แล้วก็ไปเกิด แล้วก็ไปเกิด คนเดียวกันนี่แหละ นั่นเป็น “สัสสตทิฏฐิ” คือเป็นมิจฉาทิฐิ...”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมเทศนาหัวข้อเรื่อง “อุปสรรคการเข้าถึงธรรม” บรรยายที่ ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๑

พระพุทธศาสนา เป็น “วิภัชชวาท” คือ มองความจริงอย่างวิเคราะห์ แยกแยะ จำแนก แจกแจง ให้เห็นครบทุกแง่ ทุกด้าน

“วิภัชชวาท ” คือ การแสดงความจริงหรือการสอนโดยจำแนกแยกแยะ หมายความว่า ไม่มองความจริงเพียงด้านเดียว แต่จำแนกแยกแยะมองความจริงครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ดิ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มีหลักการแสดงความจริงด้วยวิธีอย่างนั้น ก็เรียกว่า วิภัชชวาท หรือ วิภัชชวาที

เป็นความโน้มเอียงของมนุษย์ที่จะมองอะไรข้างเดียว ด้านเดียว พอเจออะไรอย่างหนึ่ง ด้านหนึ่ง ก็สรุปตีความว่า นั่นคือสิ่งนั้น ความจริงคืออย่างนั้น แต่ความจริงที่แท้ของสิ่งทั้งหลายนั้นมีหลายด้าน ต้องมองให้ครบทุกแง่ทุกมุม พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะจำแนกแยกแยะ ดังที่เรียกว่า “วิภัชชวาท”

คำว่า “วิภัชช” แปลว่า จำแนกแยกแยะ มีการจำแนกแยกแยะทั้งในด้านความจริง เช่น เมื่อพูดถึงชีวิตคน ท่านจะจำแนกออกไปเป็นขันธ์ ๕ โดยแยกออกไปเป็นรูปธรรมและนามธรรมก่อน แล้วแยก “นามธรรม” ออกไปอีกเป็น ๔ ขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แม้แต่ ๔ ขันธ์นั้น แต่ละขันธ์ยังแยกแยะออกไปอีก อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการจำแนก คือแยกแยะความจริงให้เห็นทุกแง่ทุกด้าน ไม่ตีคลุมไปอย่างเดียว คนจำนวนมากมีลักษณะตีขลุมและก็คลุมเอาอย่างเดียว ทำให้มีการผูกขาดความจริงโดยง่าย...ฯ

หลักการต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ธรรมในพระพุทธศาสนานี้มีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเป็นข้อๆ จัดเป็นหมวดธรรมต่างๆ เช่น หมวดสอง หมวดสาม หมวดสี่ หมวดห้า หมวดหก

พระพุทธเจ้าเป็นนักจำแนกธรรม จึงได้รับการเฉลิมพระนามอย่างหนึ่งว่า “ภควา” ภควานั้นแปลได้ ๒ อย่าง แปลว่า ผู้มีโชค ก็ได้ แปลว่า ผู้จำแนกแจกธรรม ก็ได้ นี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า “วิภัชชวาท” คือ เป็นนักวิเคราะห์ จำแนกแจกธรรม หรือแยกแยะให้เห็นครบทุกแง่ทุกด้านของความจริง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: