๑๔. พุทธวรรค - หมวดพระพุทธเจ้า ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องพระพุทธเจ้า พุทธภาวะ และคำสั่งสอน คำว่า พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง และทรงสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ดังที่ตรัสว่า “กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท” การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติขึ้น ยากยิ่งนัก ผู้ที่จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น ถ้าต้องการเกิดเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศทางปัญญา (ปัญญาธิกะ) ต้องบำเพ็ญบารมี ๓๐ ประการ เป็นเวลานานถึง ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป ถ้าต้องการเกิดเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศทางศรัทธา (สัทธาธิกะ) ต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานถึง ๘ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป ถ้าต้องการเกิดเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศทางความเพียร (วิริยาธิกะ) ต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานถึง ๑๖ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป (ดูเทียบกับ ขุ.อป. (แปล) ๓๒/๑-๘๒/๑-๑๒, วิสุทฺธิ. ๒/๔๙-๕๐)
พุทธภาวะ คือ คุณสมบัติของพระพุทธเจ้า เช่น ทรงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ไม่มีร่องรอย ทรงก้าวล่วงมารและเสนามาร สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ เช่น ยมกปาฏิหาริย์ (การแสดงปาฏิหาริย์เป็นคู่ เช่น เนรมิตสายน้ำกับสายไฟเป็นคู่ ๆ เนรมิตพระพุทธเจ้าเป็น ๒ องค์ ดู ขุ.ธ.อ. ภาค ๒ ยมกปาฏิหาริยวัตถุ) ทรงเป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของมนุษย์ เพราะทำให้ถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง หลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงหลักคำสั่งสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ในธรรมบทวรรคนี้ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา,
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯเปฯ
การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ อนึ่ง พระองค์ตรัสไว้ว่า บุญที่เกิดจากการบูชาพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก ใคร ๆ ไม่สามารถนับได้ว่า เป็นบุญประมาณเท่าไร
๑๕. สุขวรรค - หมวดความสุข ในวรรคนี้ ทรงสอนวิธีสร้างความสุขที่แท้จริงให้แก่ชีวิต โดยสรุป คือ ๑. ไม่ก่อเวร ๒. ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ๓. กำจัดความกังวล ๔. ละความชนะและความพ่ายแพ้ ๕. แสวงหาความสงบกับนักปราชญ์ ๖. คบหาพระอริยะ อยู่ร่วม ๗.ไม่คบคนพาล
ทรงชี้ให้เห็นว่า การแข่งดีมุ่งจะเอาชนะผู้อื่นทำให้ไม่มีความสุข ก่อให้เกิดภัยเวร ดังที่ตรัสไว้ในธรรมบทที่ว่า
ชยํ เวรํ ปสวติ ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต,
อุปสนฺโต สุขํ เสติ หิตฺวา ชยปราชยํ ฯ
ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข
ธรรมบทที่แสดงถึงสิ่งสุดยอดต่าง ๆ ในวรรคนี้ คือ
ยอดแห่งไฟ : นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ - ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ยอดแห่งโทษ : นตฺถิ โทสสโม กลิ - โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ยอดแห่งทุกข์ : นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา - ทุกข์เสมอด้วยขันธ์ ๕ ไม่มี
ยอดแห่งสุข : นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ - สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
ยอดแห่งโรค : ชิคจฺฉา ปรมา โรคา - ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง
ยอดแห่งทุกข์ : (อีกอย่างหนึ่ง) สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา - สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ยอดแห่งสุข : (อีกอย่างหนึ่ง) นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ - นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ยอดแห่งลาภ : อาโรคฺยปรมา ลาภา - ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ยอดแห่งทรัพย์ : สนฺตุฏฺฐิ ปรมํ ธนํ - ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ยอดแห่งญาติ : วิสฺสาสา ปรมา ญาติ - ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
๑๖. ปิยวรรค - หมวดสิ่งอันเป็นที่รัก ในวรรคนี้ ทรงสอนวิธีที่ควรปฏิบัติต่อสิ่งอันเป็นที่รัก คำว่า สิ่งอันเป็นที่รัก มี ๒ ประเภท คือ ๑. ทางโลก หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งที่มากระทบ) และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือหมายถึงกิเลสตัณหา ๒. ทางธรรม หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นิพพาน บุญกุศล
วิธีปฏิบัติต่อสิ่งอันเป็นที่รัก สิ่งอันเป็นที่รักทางโลกเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกและภัยต่าง ๆ ผู้ปราศจาก สิ่งอันเป็นที่รักย่อมไม่มีความเศร้าโศกและภัย ฉะนั้น จึงควรหาทางหลุดพ้น หาทางกำจัดกิเลสตัณหาที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งอันเป็นที่รักเหล่านั้น ดังที่ตรัสสอนไว้ว่า
ปิยโต ชายตี โสโก ปิยโต ชายตี ภยํ,
ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ฯ
ความโศกเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ผู้พ้นจากสิ่งเป้ฯที่รักได้เด็ดขาด ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย
สิ่งอันเป็นที่รักในทางธรรม ทรงสอนให้บำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญา ผู้ประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ ย่อมจะเป็นที่รักของทุกคน เมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าย่อมมีบุญคอยต้อนรับ
๑๗. โกธวรรค - หมวดความโกรธ ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องความโกรธ โทษแห่งความโกรธ วิธีละความโกรธ ประโยชน์ของการละความโกรธ วิธีละความโกรธ คือ ให้เห็นว่าเป็นโลกธรรม มีมานานแล้ว ทุกยุคทุกสมัย เช่น ความโกรธที่เกิดจากถูกนินทาว่าร้ายทรงสอนว่า “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต” คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลกหน้าที่ของเราคือ สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้กำเริบ มีศีลมั่นคง ดำรงชีวิตให้ปราศจากข้อที่ควรตำหนิ ถ้ามีคนโกรธ พึงปฏิบัติตามธรรมบทที่ว่า
อกฺโกเธน ชิเน โกธํ อสาธุ สาธุนา ชิเน,
ชิเน กทริยํ ทาเนน สจฺเจนาลิกวาทินํ ฯ
บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์
๑๘. มลวรค - หมวดมลทิน ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องมลทิน คือ มลทินชองชีวิต ได้แก่ กิเลสและอกุศลกรรมมลทินของมนต์ ได้แก่ การไม่ท่องบ่น มลทินของบ้านเรือน ได้แก่ ความไม่ขยัน มลทินของผิวพรรณ ได้แก่ ความเกียจคร้านชำระร่างกาย มลทินของผู้รักษา ได้แก่ ความประมาท มลทินของคู่สามีภรรยา ได้แก่ การนอกใจกัน มลทินดังกล่าวมานี้ ย่อมทำลายชีวิตของผู้ที่มีมลทิน เหมือนสนิมที่เกิดจากเหล็กก็กัดกินเหล็กนั้นนั่นเอง ผู้มีปัญญาควรกำจัดมลทินของตนทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค - หมวดผู้ตั้งอยู่ในธรรม ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องคุณธรรมที่ทำให้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม โดยทรงแสดงไปตามหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่ทรงตรัสถึง ดังนี้ คุณธรรมของผู้พิพากษา คือ วินิจฉัยคดี และสาเหตุแห่งคดี ทั้งฝ่ายที่เป็นจริง และไม่เป็นจริง วินิจฉัยโดยไม่ผลีผลาม เที่ยงธรรม (ถูกต้องตามหลักการ ไม่ลำเอียง) และโดยสม่ำเสมอ (เสมอภาคกับทุกคน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง) คุณธรรมของบัณฑิต คือ มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย คุณธรรมของผู้ทรงธรรม คือ บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรม เพียงเพราะพูดมาก ส่วนผู้ใดได้สดับธรรมน้อย แต่พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย ทั้งไม่ประมาทธรรมนั้น ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม
คุณธรรมของพระเถระ คือ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพียงเพราะมีผมหงอก ผู้ที่แก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่าคนแก่เปล่า ส่วนผู้มีสัจจะ มีธรรม มีความไม่เบียดเบียน มีความสำรวม ฝึกตน ละมลทินได้ เป็นปราชญ์ ชื่อว่า เถระ พระบาลีว่า
น เตน เถโร โหติ เยนสฺส ปลิตํสิโร,
ปริปกฺโก วโย ตสฺส โมฆชิณฺโณติ วุจฺจติ ฯเปฯ
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระเพียงเพราะมีผมหงอก ผู้ที่แแก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่าคนแก่เปล่า
ส่วนผู้มีสัจจะมีธรรม มีอหิงสา สัญญมะ และทมะ คายมลทินได้แล้ว เป็นปราชญ์ ชื่อว่าเถระ คุณธรรมของคนดี คือ ละความริษยาได้เด็ดขาด กำจัดโทษได้ มีปัญญา คุณธรรมของสมณะ คือ ผู้ที่ไม่มีวัตร พูดจาเหลาะแหละ แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่า สมณะ เขาเต็มไปด้วยความปรารถนาและความอยากได้ จะเป็นสมณะได้อย่างไร ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง ผู้นั้น จึงเรียกว่า สมณะ
คุณธรรมของภิกษุ คือ เป็นผู้ลอยบุญและบาปได้ ประพฤติพรหมจรรย์ มีปัญญา คุณธรรมของมุนี คือ บุคคลโง่เขลา ไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่ามุนีไม่ ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนี แท้ ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี เช่นกัน คุณธรรมของผู้เป็นอริยะ คือ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
๒๐. มัคควรรค - หมวดมรรค(ทาง) ในวรรคนี้ ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นทางอันประเสริฐที่สุด ทรงย้ำว่า “ทางเพื่อความหมดจดแห่งทรรศนะ คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง อนึ่ง เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้” เหตุที่ทำให้ไม่พบทาง (อริยมรรค) คือ ไม่ขยัน เกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ ปราศจากความเพียร จึงไม่ประสบทางด้วยปัญญา (ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ)
วิธีที่จะทำให้พบทาง คือ รักษากาย วาจา สำรวมใจ และไม่พึงทำความชั่วทางกาย พึงชำระกรรมบถ(กาย วาจา ใจ) ทั้ง ๓ ทางนี้ ให้หมดจดจึงจะพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ (สูกรเปตวัตถุ) ทรงตักเตือนให้เตรียมทางว่า บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไม่ได้ บิดาก็ต้านทานไม่ได้ พวกพ้องก็ต้านทานไม่ได้ แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไม่ได้ บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
๒๑. ปกิณณกวรรค - หมวดเบ็ดเตล็ด ในวรรคนี้ ทรงสอนหลักธรรมทั่วไป เช่น -ในเรื่องบุรพกรรมของพระองค์ ทรงสอนให้สละสุขเล็กน้อยเพื่อความสุขอันยิ่งใหญ่ -ในเรื่องกุมาริกากินไข่ไก่ ทรงสอนว่า ผู้หาความสุขจากความทุกข์ของผู้อื่น ไม่พ้นจากเวรไปได้ -ในเรื่องภิกษุโอรสของเจ้าวัชชี ผู้เห็นชาวเมืองจัดงานสมโภช คิดจะสึกไปครองเรือน ทรงสอนว่า การบวชเป็นของยาก ความยินดีในการบำเพ็ญธรรมก็เป็นของยาก เรือนที่ครอบครองไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์ การอยู่ร่วมกับคนเสมอกันเป็นทุกข์ การเดินทางไกล (คือ วัฏฏะ) ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเดินทางไกล และไม่ควรให้ทุกข์ติดตามได้ -ในเรื่องจูฬสุภัททา ทรงเปรียบเทียบคนดีกับคนชั่วว่า สัตบุรุษย่อมปรากฏเด่นชัด เหมือนขุนเขาหิมพานต์ ส่วนอสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน
๒๒. นิรยวรรค - หมวดเรื่องนรก ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องนรก ซึ่งเป็นสถานที่รองรับคนชั่ว รวมทั้งผู้ที่ต้องตกนรก ซึ่งเป็นผู้ที่ทำกรรมชั่วต่าง ๆ เช่น ๑. ชอบกล่าวคำไม่จริง ๒. ทำความชั่ว ซ้ำยังโกหกว่าไม่ได้ทำ ๓. เป็นภิกษุ แต่มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม ปฏิบัติไม่ดี ๔. ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย ไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ไม่กลัวในสิ่งที่ควรกลัว เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ เห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ผู้ที่ทำดีตรงกันข้ามกับความชั่วดังกล่าวมาแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ แนวทางปฏิบัติในเรื่องความดีความชั่ว ตรัสสอนไว้ว่า
อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ,
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ ฯ
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ส่วนความดีทำไว้เถิดดีกว่า เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลัง บุคคลย่อมไม่เดือดร้อน
๒๓. นาควรรค - หมวดช้าง ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องการฝึกตนเปรียบเทียบกับการฝึกช้าง เนื่องจากช้างเป็นสัตว์สำคัญในการสงคราม การเดินทาง และเป็นสัตว์ที่ฝึกง่าย เมื่อได้รับการฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นสัตว์ฉลาด มีความอดทนสูง ผู้ที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าช้างที่ฝึกแล้ว ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าถูกใส่ร้าย ถูกด่าว่าด้วยคำหยาบคาย ท่านพระอานนท์กราบทูลให้เสด็จไปเสียจากที่นั้น พระองค์ตรัสว่า
อหํ นาโคว สงฺคาเม จาปาโต ปติตํ สรํ,
อติวากฺยนฺติติกฺขิสฺสํ ทุสฺสีโล หิ พหุชฺชโน ฯ
เราจักอดกลั้นซึ่งคำล่วงเกิน ดุจช้างอดทนซึ่งลูกศร ที่ออกมาจากแล่งในสงคราม เพราะคนทุศีลมีมาก ผู้ที่ไม่ฝึกฝนตนพระองค์ได้ตรัสเปรียบเทียบกับหมู ดังนี้
มิทฺธี ยทา โหติ มหคฺฆโส จ นิทฺทายิตา สมฺปริวตฺตสายี มหาวราโหว นิวาปปุฏฺโฐ ปุนปฺปุนํ คพฺภมุเปติ มนฺโท ฯ
เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น วิธีฝึกตน จะแสดงพอเป็นแนวทาง คือ
๑. ให้ฝึกจิตที่ชอบฟุ้งซ่าน เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน
๒. ฝึกถอนตนออกจากหล่มคือกิเลส เหมือนช้างแก่จมโคลนถอนตัวขึ้นไม่ได้ พอได้ยินเสียงกลองรบก็สามารถถอนตัวขึ้นได้ เพราะเคยฝึกฝนและผ่านสนามรบมาแล้ว
๓. ฝึกคบกับสหายผู้มีปัญญา มีความประพฤติดี เป็นนักปราชญ์
๔. ฝึกเป็นคนมีความสุข ตามวิธีต่าง ๆ ที่ตรัสไว้ว่า เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้ ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้ ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้ การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้ ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้ การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้ การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้ การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ นำสุขมาให้ ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้ การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้
๒๔. ตัณหาวรรค - หมวดตัณหา ในวรรคนี้ ทรงสอนให้รู้จักตัณหา (ความทะยานอยาก) ๓ ประการ คือ
(๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม
(๒) ภวตัณหา ความอยากเป็น
(๓) วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็น
ตัณหา ๓ ประการนี้ เกิดขึ้นแก่คนที่ประมาท เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า และเกิดแก่ผู้ที่กำหนัดยินดีด้วยราคะ ดังที่ตรัสไว้ในเรื่องพระนางเขมาเถรีว่า “สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง” ผลจากการถูกตัณหาครอบงำ ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา มีลักษณะ คือ -เร่ร่อนไปมา เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า -เกิดความเศร้าโศก เข้าถึงชาติชราร่ำไป เกิดความทุกข์ -เมื่อถูกตัณหาครอบงำ ย่อมสะดุ้ง ดิ้นรน เหมือนกระต่ายติดบ่วงวิธีกำจัดตัณหา คือ มีปัญญา เจริญฌาน ผลดีจากการกำจัดตัณหาได้ คือ -ทำให้ความโศกสิ้นไป เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว -ละทุกข์ทั้งปวงได้ -ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป -ทำให้สิ้นตัณหา ซึ่งเป็นการชนะทุกข์ทั้งปวง ดังที่ตรัสไว้ว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ,
สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ,
สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ,
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ ฯ
การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง
-ทานที่ให้แก่คนที่ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ และตัณหา มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่คนที่มีกิเลสเหล่านั้น
๒๕. ภิกขุวรรค - หมวดภิกษุ ในวรรคนี้ ทรงแสดงเรื่องภิกษุ ทรงสอนว่า สิ่งแรกที่ภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้ต้องกระทำคือ สำรวมอินทรีย์ มักน้อยสันโดษ ระมัดระวังในวินัยบัญญัติ คบกัลยาณมิตร ผู้ขยันขันแข็ง มีอาชีพสะอาด ทรงสอนไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย มุ่งเจริญกรรมฐาน ไม่ถือมั่นในรูป ไม่ประมาท รู้จักตักเตือนตนเอง รู้จักพึ่งตนเอง ดังพระอมตพจน์ที่ว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ อตฺตา หิ อตฺตโน คติ,
ตสฺมา สญฺญม อตฺตานํ อสฺสํ ภทฺรํว วาณิโช ฯ
ตนแล เป็นที่พึ่งของตน ตนแล เป็นคติของตน เพาะฉะนั้น เธอจงสงวนตนให้ดี เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี ฉะนั้น ทรงสอนให้พัฒนาปัญญาว่า
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ฯเปฯ
ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
๒๖. พราหมณวรรค - หมวดพราหมณ์ ในวรรคนี้ ทรงแสดงคุณสมบัติของพราหมณ์ ตามพุทธทรรศนะ เดิมที คำว่า พราหมณ์ เป็นคำเรียกวรรณะพราหณ์ของชาวอินเดีย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น พระองค์ทรงบัญญัติคุณสมบัติของพราหมณ์ใหม่ ซึ่งก็คือพระขีณาสพนั่นเอง คุณสมบัติของพราหมณ์หรือพระขีณาสพที่ทรงแสดงไว้ในวรรคนี้ เป็นคุณสมบัติและปฏิปทาของพระสาวกแต่ละท่าน เช่น ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ มีความสำรวมระวัง มีสัจจะ มีธรรม เป็นผู้สะอาด ทรงแสดงเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างในการนำไปปฏิบัติ มีจำนวนพระสูตรถึง ๓๑ สูตร
ธรรมบทที่นำมากล่าวไว้นี้ ถ้าหากอ่านด้วยความพิจารณาแล้ว แม้บทเดียวก็ให้ประโยชน์มหาศาล คงพอจะเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติแก่ท่านที่สนใจ ก่อนจบ ขอฝากธรรมบทบทหนึ่งไว้เตือนใจผู้อ่านว่า
วาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม เหมือนดอกไม้งาม มีสีสวย (แต่) ไม่มีกลิ่น วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี เหมือนดอกไม้งาม มีทั้งสีและกลิ่น (มีสีสวยกลิ่นหอม) ฉะนั้น ฯ
>> พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบท (ตอนที่ ๑) , พุทธวิธีในการสอนตามแนวธรรมบท (ตอนที่ ๒)
ที่มา: http://oldweb.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_11-2.htm
0 comments: