วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

ธมฺมจารี สุขํ เสติ - ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

 ธมฺมจารี สุขํ เสติ - ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

บุคคลที่ประพฤติธรรม จะเป็นบุคคลที่ละเว้นความชั่ว สร้างสมอบรมแต่กรรมดี หมั่นทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนา อันเป็นหนทางแห่งการสร้างบารมีและเข้าสู่ความพ้นทุกข์ เมื่อเป็นอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือใช้ชีวิตด้วยการประพฤติธรรม ใช้หลักธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เขาย่อมห่างไกลจากอบายมุขคือทางแห่งความเสื่อมทุกประเภท และหันหน้าเข้าสู่ความสุขความเจริญโดยส่วนเดียว ดังนั้น บุคคลผู้ที่ประพฤติตามธรรมอยู่เสมอ จึงเป็นบุคคลที่ห่างจากความทุกข์ มีความสุขเป็นผลที่จะได้รับ เพราะการกระทำของเขา เป็นสาเหตุแห่งความสุขโดยส่วนเดียว

-------------

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงปรารภพระบิดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย" เป็นต้น. พระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก 

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์บุรี โดยเสด็จไปครั้งแรก มีการต้อนรับอันพระญาติทั้งหลายทำแล้วเสด็จไปสู่นิโครธาราม ทรงนิรมิตตนจงกรมในอากาศ จงกรมบนรัตนจงกรมนั้น ทรงแสดงธรรมเพื่อต้องการทำลายมานะของพระญาติทั้งหลายแล้ว. พระญาติทั้งหลายมีจิตเลื่อมใสแล้ว ถวายบังคมตั้งต้นแต่พระเจ้าสุทโธทนมหาราช. ฝนโบกขรพรรษตกในสมาคมแห่งพระญาตินั้น. เมื่อมหาชนปรารภฝนนั้น สนทนากันแล้ว. พระศาสดาตรัสว่า "ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ ภิกษุทั้งหลาย ถึงในกาลก่อน ฝนโบกขรพรรษก็ตกในสมาคมแห่งญาติของเราเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว จึงตรัสเวสสันดรชาดก 

บรรดาพระญาติซึ่งฟังพระธรรมเทศนาแล้วหลีกไปอยู่ แม้องค์หนึ่งก็ไม่นิมนต์พระศาสดาแล้ว. แม้พระราชาก็ไม่ทรงนิมนต์เลย ด้วยทรงดำริว่า "บุตรเราไม่มาสู่เรือนของเรา จักไปไหน?" ดังนี้แล้ว ได้เสด็จไป ก็แลครั้นเสด็จไปแล้ว รับสั่งให้คนตกแต่งข้าวต้มเป็นต้น ให้ปูลาดอาสนะทั้งหลายไว้ เพื่อภิกษุมีประมาณสองหมื่น ในพระราชมนเทียร. วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต ทรงใคร่ครวญว่า "พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายเสด็จถึงพระนครแห่งพระบิดาแล้ว เสด็จตรงไปสู่ตระกูลแห่งพระญาติทีเดียวหรือหนอแล? หรือว่า เสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตโดยลำดับ" ทรงเห็นว่า "เสด็จเที่ยวไปโดยลำดับ" ดังนี้แล้ว จึงเสด็จดำเนินไปเพื่อบิณฑบาตตั้งแต่เรือนหลังแรก.

พระมารดาของพระราหุลประทับนั่งบนพื้นปราสาทแลเห็นแล้ว จึงกราบทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระราชา พระราชาทรงจัดแจงผ้าสาฎกรีบเสด็จออกไป ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ตรัสว่า "ลูก เพราะเหตุไร? ท่านจึงให้ข้าพเจ้าฉิบหาย ท่านเที่ยวไปเพื่อภิกษา ให้ความละอายเกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพเจ้าเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่ากรรมไม่ควรอันท่านทำแล้ว, การที่ท่านเที่ยวไปด้วยวอทองคำเป็นต้น เที่ยวไปเพื่อภิกษา ในนครนี้นั้นแหละ จึงควร ท่านให้ข้าพเจ้าละอายทำไม?"

การบิณฑบาตเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้า 

พระศาสดา. มหาบพิตร อาตมภาพให้พระองค์ละอายหามิได้, แต่อาตมภาพย่อมประพฤติตามวงศ์สกุลของตน. พระราชา. พ่อ ก็การเที่ยวไปเพื่อภิกษาแล้วเป็นอยู่ เป็นวงศ์ของข้าพเจ้าหรือ? พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร นั่นมิใช่เป็นวงศ์ของพระองค์, แต่นั่นเป็นวงศ์ของอาตมภาพ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่พันหนึ่ง เสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตแล้วเป็นอยู่เหมือนกัน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :- 

อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย    ธมฺมํ สุจริตํ จเร

ธมฺมจารี สุขํ เสติ    อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ.

ธมฺมํ จเร สุจริตํ    น นํ ทุจฺจริตํ จเร

ธมฺมจารี สุขํ เสติ    อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ.

บรรพชิตไม่พึงประมาทในก้อนข้าว อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ, บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต, ผู้มีปกติประพฤติธรรม  ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า, บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต, ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต, ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า.

แก้อรรถ  บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อุตฺติฏฺเฐ  ความว่า ในก้อนข้าว อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับที่ประตูเรือนของชนเหล่าอื่น. บทว่า  นปฺปมชฺเชยฺย  ความว่า ก็ภิกษุเมื่อให้ธรรมเนียมของผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติเสื่อมแล้ว แสวงหาโภชนะอันประณีต ชื่อว่าย่อมประมาท ในก้อนข้าวอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ, แต่ว่าเมื่อเที่ยวไปตามลำดับตรอกเพื่อบิณฑบาต ชื่อว่าย่อมไม่ประมาท. ทำอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าไม่พึงประมาท ในก้อนข้าวที่ตนพึงลุกขึ้นยืนรับ.  บทว่า  ธมฺมํ  ความว่า เมื่อละการแสวงหาอันไม่ควรแล้วเที่ยวไปตามลำดับตรอก ชื่อว่าพึงประพฤติธรรม คือการเที่ยวไปเพื่อภิกษานั้นนั่นแลให้เป็นสุจริต.

คำว่า  สุขํ เสติ  นั่น สักว่าเป็นเทศนา. อธิบายว่า เมื่อประพฤติธรรมคือการเที่ยวไปเพื่อภิกษา ชื่อว่าประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมอยู่เป็นสุขโดยอิริยาบถแม้ทั้ง ๔ ในโลกนี้และโลกหน้า. สองบทว่า น ตํ ทุจฺจริตํ ความว่า เมื่อเที่ยวไปในอโคจร ต่างด้วยอโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น ชื่อว่าย่อมประพฤติธรรม คือการเที่ยวไปเพื่อภิกษาให้เป็นทุจริต. ไม่ประพฤติอย่างนั้น พึงประพฤติธรรมนั้นให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้เป็นทุจริต. คำที่เหลือ มีเนื้อความดังกล่าวแล้วเหมือนกัน. ในเวลาจบเทศนา พระราชาทรงดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ชนทั้งหลายผู้ประชุมกัน ดังนี้แล. เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ จบ.    

ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=23&p=2

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: