วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

อาหารและรสชาติอยู่ด้วยกันฉันใด ศัพท์และความหมายก็อยู่ด้วยกันฉันนั้น

สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

อาหารและรสชาติอยู่ด้วยกันฉันใด ศัพท์และความหมายก็อยู่ด้วยกันฉันนั้น

ส่วนความรู้สึกจากการทานอาหารและการเสพศัพท์เหล่านั้นเกิดขึ้นที่ใจ ดังนั้นความสำคัญของศัพท์ ของความหมาย ของความรู้สีก จึงมีบทบาทที่ขาดไม่ได้เลยในการสือสารกัน สมดังพระคัมภีร์เนตติปกรณ์กล่าวถึงศัพท์และอรรถว่า

"ทฺวาทส ปทานิ สุตฺตํ ตํ สพฺพํ พฺยญฺชนญฺจ อตฺโถ จ ตํ วิญฺเญยฺยํ อุภยํ โก อตฺโถ พฺยญฺชนํ กตมํ.”

ความว่า”พระพุทธพจน์ที่ใช้สื่อสารกัน มี 12 องค์(ปท) องค์ทั้งหมดนั้น มี ทั้งส่วนที่เป็นศัพท์ มี ทั้งส่วนที่เป็นอรรถ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนั้น วิญญูชนควรรู้ว่า เป็นศัพท์ประเภทไหน เป็นอรรถประเภทไหน.”

หมายตวามว่า ศัพท์ และอรรถ จับกันได้ 6 คู่ คือ จากการสื่อศัพท์ แล้วรับทราบอรรถที่เหมาะสมกันเป็นคู่นั่นเอง ส่วนความรู้สึกที่จับเอาได้จากการสื่อสาร มี 6 อาการ  เมื่อกล่าวโดยสถานการณ์หลัก ก็จะมี 2 สถานการณ์ คือ:-

1.สถานการณ์หลักที่อาศัยความเหมือนเช่นรู้ว่านายก.กับนายข.เป็นฝาแฝดกันเพราะมีความเหมือนกัน

2.สถานการณ์หลัก ที่อาศัยความต่าง เช่น รู้ว่าฝาแฝดคนนี้เป็นนาย ก. ฝาแฝด คนนั้นเป็นนาย ข . เพราะมีความต่างกัน

ดังนั้น คู่ศัพท์และอรรถ ท่านจึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คู่ที่เนื่องอยู่กับความเหมือน 3 คู่ คู่ที่เนื่องอยู่กับความต่าง 3.คู่ ดังนี้:-

กลุ่มที่เนื่องอยู่กับความเหมือน 3 คู่ คือ 1. ศัพท์สื่อลักษณะ(อักขระ) คู่กับอรรถรับทราบหลักการ(สังกาสนา) พอสื่อเสร็จก็จับเอาความเหมือนได้ 2. ศัพท์สื่อขั้นตอน (พยัญชนะ) คู่กับอรรถรับทราบการเผยตัวอย่าง(วิวรณา) พอสื่อเสร็จก็จับเอาขบวนการได้ 3.ศัพท์สื่อความประสงค์(นิรุตติ)คู่กับอรรถรับทราบการเน้นย้ำทำนอง (อุตตานีกัมมะ) พอสื่อเสร็จก็จับเอาการอุปมาได้

กลุ่มที่เนื่องอยู่กับความต่าง 3 คู่ คือ  1. ศัพท์สื่อแนวทาง(ปท) คู่ กับอรรถรับทราบประเด็น (ปกาสนา)พอสืบเสร็จก็จับเอาความต่างได้  2. ศัพท์สื่อความเจาะจง(อาการะ)คู่กับอรรถรับทราบการเผยแง่มุม(วิภชนา) พอสื่อเสร็จก็จับเอาการแบ่งแยกได้  3. ศัพท์สื่อความชัดเจน(นิทเทส)คู่กับอรรถรับทราบการเน้นย้ำนิยาม (บัญญัตติ) พอสื่อเสร็จก็จับเอาการกำหนดความได้

เมื่อกล่าวโดยการแสดงธรรมก็จะได้ขนาดการแสดงธรรมที่เหมาะสมกับประเภทบุคคล 3 รูปแบบ ดังนี้:-

1. อุคฆฏิตัญญูบุคคล อาศัยอรรถบอกหลักการ (สังกาสนา) หรือ อาศัยอรรถบอกประเด็น (ปกาสนา) อย่างใดอย่างหนี่ง ขนาดการแสดงธรรมจึงเป็นขนาดย่อ

2. วิปจิตัญญูบุคคล อาศัยอรรถบอกการเผยตัวอย่าง (วิวรณา) หรือ อาศัยอรรถบอกการเผยแง่มุม (วิภชนา)อย่างใดอย่างหนึ่ง ขนาดการแสดงธรรมจีงเป็นขนาดปานกลาง

3.เนยยบุคคล อาศัยอรรถบอกการเน้นย้ำทำนอง (อุตตานีกัมมะ) หรือ อาศัยอรรถบอกการเน้นย้ำนิยาม(บัญญัตติ) อย่างใดอย่างหนึ่ง ขนาดการแสดงธรรม จึงเป็นขนาดกว้างขวางพิสดาร

ขอเพื่อนสหธรรมิก โปรดใส่ใจศัพท์และอรรถตามนัยของพระคัมภีร์เนตติปกรณ์นี้เถิดจักเป็นปัจจัยให้ท่านเข้าถีง หาระ 16 นัย 5 มูลบท 18 สาสนปัฏฐาน ที่มาในอรรถกถา ฏีกา 16 และ ที่มาใน พระบาลี (พระพุทธพจน) 28 ได้อย่างสะดวกแล

ที่มา : http://dhamma.serichon.us


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: