วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระโสณาเถรี เอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร

พระโสณาเถรี เอตทัคคมหาเถรีผู้ปรารภความเพียร 

พระโสณาเถรี จากเศรษฐีเป็นอนาถา ไร้ที่พึ่งพาจึงออกบวช พอสำเร็จอรหันต์ก็แสดงอภินิหาริย์ ได้รับยกย่องว่าเลิศทางความเพียร

พระโสณาเถรี ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ได้ยินว่า พระโสณาเถรีนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว กรุงหังสวดี ต่อมา กำลังฟังธรรมของพระศาสดา เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ปรารภความเพียร จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป

ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐีที่มั่งคั่งเจริญ มีทรัพย์มากในพระนครสาวัตถี เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็ได้แต่งงานมีครอบครัว มีบุตรเป็นชายล้วน (ในอรรถกถาบางแห่งกล่าวว่า มีทั้งบุตรและธิดา) รวม ๑๐ คนประวัติของนางต่อจากนี้ไป ที่ปรากฏในพระบาลี และ อรรถกถาต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓.๑ โสณาเถริยาปทานกล่าวไว้ว่าบุตรชายทั้ง ๑๐ คนล้วนแต่มีรูปงาม เป็นผู้ร่าเริง ตั้งอยู่ในความสุข ผูกใจของผู้ที่ได้พบเห็นให้นิยมชมชื่น แม้แต่พวกศัตรูก็ชอบใจ เป็นที่รักของนางผู้เป็นมารดายิ่งนัก

ต่อมา สามีของนางพร้อมด้วยบุตรทั้ง ๑๐ คน ก็พากันไปบวชในพระพุทธศาสนา โดยที่นางไม่เต็มใจ เมื่อนางต้องอยู่ผู้เดียวก็เห็นว่า การอยู่แต่ผู้เดียวโดยไม่มีสามีและบุตรคอยดูแล เป็นการไม่เหมาะสม จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณีในอารามที่สามีบวชเป็นภิกษุอยู่

ส่วนในอรรถกถาโสณีเถรีคาถาเล่าประวัติของนางว่า

เมื่อนางแต่งงานมีสามี ก็มีบุตรธิดา ๑๐ คน ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีบุตรมาก ต่อมาสามีก็ออกบวช นางจึงจัดแจงแบ่งทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ให้กับบุตรธิดา ซึ่งเติบโตเป็นหนุ่มสาวและแต่งงานแล้วทุกคน จนหมด ไม่เหลือทรัพย์อะไร ๆ ไว้สำหรับตัวเลย. บุตรและภริยาของบุตรเลี้ยงดูนางได้ระยะหนึ่งแสดงอาการดูหมิ่น รังเกียจนางผู้เป็นมารดา นางจึงคิดว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะอาศัยอยู่กับบุตร จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณี

บำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหัต

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓.๑ โสณาเถริยาปทาน ตัวท่านเองได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งท่านได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหันต์ไว้สั้น ๆ ว่า :- ครั้งนั้น พวกภิกษุณีละดิฉันไว้ในสำนักที่อยู่อาศัยแต่ผู้เดียว สั่งดิฉันว่าท่านจงต้มน้ำไว้แล้วก็ไปกัน เวลานั้น ดิฉันตักน้ำมาใส่ในหม้อเล็กตั้งทิ้งไว้แล้วนั่งอยู่ แต่นั้นดิฉันก็เริ่มเพียรทางจิต ได้พิจารณาเห็นขันธ์ทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว ได้บรรลุอรหัตผล

ส่วนในอรรถกถาโสณาเถรีคาถาได้บรรยายแปลกออกไปว่า

นางได้อุปสมบทแล้วคิดว่า เราบวชเมื่อแก่ พึงไม่ประมาท เมื่อทำวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุณีทั้งหลาย คิดว่า เราจักทำสมณธรรมตลอดคืนยังรุ่ง ก็เอามือข้างหนึ่งจับเสาต้นหนึ่งใต้ปราสาท ไม่ละเสานั้นทำสมณธรรม แม้เมื่อเดิน คิดว่า ศีรษะของเราไม่พึงชนที่ต้นไม้เป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่งในที่มืดแล้วเอามือข้างหนึ่งจับต้นไม้ ไม่ละต้นไม้นั้น ทำสมณธรรม. นับตั้งแต่นั้นมานางก็ได้ปรากฏชื่อเสียง เพราะเป็นผู้ปรารภความเพียร

พระศาสดาทรงเห็นว่านางมีญาณแก่กล้า ประทับในพระคันธกุฎีแผ่พระรัศมีไป แสดงพระองค์ประหนึ่งว่าประทับนั่งต่อหน้า ได้ตรัสพระคาถาว่า :- "ผู้เห็นธรรมสูงสุด มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียว ยังประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นธรรมสูงสุด มีชีวิตเป็นอยู่ตั้งร้อยปี"  จบพระคาถา นางก็บรรลุพระอรหัต

อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต (อรรถกถาเล่มที่ ๓๓)

เมื่อนางออกบวชแล้ว ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายลงทัณฑกรรมนางว่า ภิกษุณีรูปนี้ไม่รู้ข้อวัตร ทำกิจที่ไม่สมควร เหล่าบุตรธิดาพบนางต้องทัณฑกรรมก็พากันพูดเยาะเย้ยในที่พบเห็นว่า หญิงผู้นี้ไม่รู้แม้เพียงสิกขา จนทุกวัน นี้.  นางได้ยินคำพูดของบุตรธิดาเหล่านั้น ก็เกิดความสลดใจ คิดว่า เราควรทำการชำระคติของตน จึงท่องบ่นอาการ ๓๒ ทั้งในที่ ๆ นั่ง ทั้งในที่ ๆ ยืน แต่ก่อนปรากฏชื่อว่า พระโสณาเถรี ผู้มีบุตรมาก ฉันใด ภายหลังก็ปรากฏชื่อว่า พระโสณาเถรี ผู้ปรารภความเพียรมาก ฉันนั้น.  

ภายหลังวันหนึ่ง เหล่าภิกษุณีไปวิหารบอกว่า แม่โสณา ต้มน้ำถวายภิกษุณีสงฆ์นะ แม่นางก็เดินจงกรมที่โรงไฟก่อนน้ำเดือด ท่องบ่นอาการ ๓๒ เจริญวิปัสสนา พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี ตรัสพระคาถาพร้อมกับเปล่งโอภาส ดังนี้ว่า :-  "ผู้เห็นธรรมสูงสุดมีชีวิตเป็นอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่า ผู้ไม่เห็นธรรมสูงสุด มีชีวิตเป็นอยู่ถึง ๑๐๐ ปี" จบพระคาถา นางก็บรรลุพระอรหัต

พระเถรีแสดงฤทธิ์เพื่อให้นางภิกษุณีอื่นทราบว่าบรรลุพระอรหัตแล้ว

ครั้นเมื่อพระเถรีบรรลุพระอรหัตแล้วก็คิดว่า เมื่อเราบรรลุพระอรหัตแล้ว ถ้าผู้ที่ไม่ทราบมา ไม่ใคร่ครวญก่อน มาพูดอะไร ๆ ดูหมิ่นเรา ก็จะพึงประสบบาปเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น เราควรทำเหตุที่เขาจะสามารถรู้กัน ได้ นางจึงยกกาน้ำขึ้นตั้งบนเตาไฟโดยไม่ใส่ไฟไว้ภายใต้.  เหล่าภิกษุณีเมื่อกลับมาเห็นน้ำตั้งอยู่บนเตาแต่ไม่เห็นไฟ ก็กล่าวว่า พวกเราบอกให้หญิงแก่คนนี้ต้มน้ำ ถวายภิกษุณีสงฆ์ในวันนี้ แต่นางก็ยังไม่ใส่ไฟในเตา พระเถรีจึงกล่าวว่า แม่เจ้า พวกท่านต้องการอาบน้ำร้อน ที่ร้อนด้วยไฟหรือ โปรดเอาน้ำจากภาชนะนั้นไปอาบเถิด. ภิกษุณีเหล่านั้นจึงเอามือไปจุ่มลงในน้ำก็รู้ว่าร้อน จึงนำหม้อน้ำหม้อหนึ่งมาบรรจุน้ำ ที่บรรจุแล้ว ๆ ก็เต็มน้ำ ภิกษุณีทั้งหมดนั้นก็รู้ว่า นางตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ภิกษุณีที่อ่อนกว่าก็หมอบกราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ขอขมาพระเถรีว่า แม่เจ้า พวกเราไม่พิจารณาก่อน แล้วกล่าวเสียดสีแม่เจ้า ขอแม่เจ้าโปรดอดโทษแก่พวกเราด้วยเถิด.  ฝ่ายเหล่าพระเถรีที่แก่กว่า ก็นั่งกระหย่ง ขอขมาว่า โปรดอดโทษด้วยเถิดแม่เจ้า. จำเดิมแต่นั้น คุณของพระเถรี ก็ปรากฏไปว่า พระเถรีแม้บวชเวลาแก่เฒ่าก็ดำรงอยู่ในผลอันเลิศในเวลา ไม่นาน เพราะเป็นผู้ปรารภความเพียร

ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้ปรารภความเพียร

ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระโสณาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร

ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/bhikunee/pra-sona.htm


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: