วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๔)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๔) สติอุปปัชชนปัญหา,  วรรคที่ ๗, อรูปววัตถานวรรค,  ปัญหาที่ ๑, สติอุปปัชชนปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่าพระคุณเจ้านาคเสน สติย่อมเกิดขึ้นโดยอาการเท่าไหร่ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติย่อมเกิดขึ้นโดยอาการ ๑๗

พระเจ้ามิลินท์สติย่อมเกิดขึ้นโดยอาการ ๑๔ อะไรบ้าง ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะเป็นคนคงแก่เรียน สติย่อมเกิดขึ้น แม้เพราะเป็นคนที่ผู้อื่นกระตุ้นเตือนให้รู้สิ่งที่ได้ทำไปแล้ว สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะวิญญาณหยาบ สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะวิญญาณที่เกื้อกูล สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะวิญญาณที่ไม่เกื้อกูล สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะนิมิตที่มีส่วนผิดกัน สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะการเข้าใจคำพูด สติย่อมเกิดขึ้น แม้เพราะลักษณะ สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะการถูกผู้อื่นบอกให้ระลึก สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะมีวิธีบันทึก สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะมีวิธีนับ สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะมีวิธีทรงจำ สติย่อมเกิดขึ้น แม้เพราะภาวนา สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะคำนิพนธ์ในคัมภีร์ สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะการเก็บไว้ สติย่อมเกิดขึ้นแม้ เพราะเป็นอารมณ์ที่เคยเสวยฉะนี้แล

สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะเป็นคนคงแก่เรียนอย่างไร ขอถวายพระพร สติย่อมเกิดขึ้นเพราะเป็นคนคงแก่เรียนก็เหมือนอย่างที่ท่านพระอานนท์และนางขุชชุตตราอุบาสิกา หรือแม้คนอื่นๆบางพวกผู้ระลึกชาติได้ทั้งหลายย่อมระลึกชาติได้. สติ ย่อมเกิดขึ้นเพราะเป็นคนที่ผู้อื่นกระตุ้นเตือนให้รู้สิ่งที่ได้ทำไปแล้ว อย่างไร บุคคลผู้มักหลงลืมสติ พอผู้อื่นกระตุ้นเตือนเพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นได้ ก็ย่อมระลึกได้ สติย่อมเกิดขึ้นแม้เพราะเป็นคนที่ผู้อื่นกระตุ้นเตือนให้รู้สิ่งที่ได้ทำไปแล้วอย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณหยาบ อย่างไร สติย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณหยาบก็เหมือนอย่างในคราวที่บุคคลได้อภิเษกในราชสมบัติ หรือ บรรลุโสดาปัตติผล ฉะนั้น.  สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณที่เกื้อกูล อย่างไร บุคคลเป็นผู้เปี่ยมด้วยความสุขในที่ใด ก็ย่อมระลึกได้ว่าในที่โน้น เราเป็นผู้เปี่ยมด้วยความสุขแล้วอย่างนี้ ดังนี้สติย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณที่เกื้อกูล อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณที่ไม่เกื้อกูล อย่างไร บุคคลเป็นผู้เปี่ยมด้วยความทุกข์ในที่ใด ก็ย่อมระลึกได้ว่า ในที่โน้น เราเป็นผู้เปี่ยมด้วยความทุกข์แล้ว อย่างนี้ ดังนี้ สติย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณที่ไม่เกื้อกูล อย่างนี้

สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะนิมิตที่มีส่วนเหมือนกัน อย่างไร บุคคลเห็นบุคคลที่เหมือนกันกับมารดา (ของตน) เป็นต้น ก็ย่อมระลึกถึงมารดาหรือบิดา หรือพี่น้องชาย หรือพี่น้องหญิง ของตน เห็นอูฐ หรือโค หรือแพะ ของคนอื่นที่เหมือนกันกับของตนนั้น ก็ย่อมระลึกถึงอูฐ หรือโค หรือแพะ (ของตน) สติย่อมเกิดขึ้นเพราะนิมิตที่มีส่วนเหมือนกัน อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะนิมิตที่มีส่วนผิดกัน อย่างไร คือ ย่อมระลึกได้ว่าสิ่งโน้นมีสีเช่นนี้ มีรสเช่นนี้ มีโผฏฐัพพะเช่นนี้ สติย่อมเกิดขึ้นแม้เพราะนิมิตที่มีส่วนผิดกัน อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะการเข้าใจคำพูด อย่างไร ผู้ที่มักหลงลืม พอถูกผู้อื่นบอกให้ระลึก ก็ระลึกได้ เพราะคำพูดนั้นสติย่อมเกิดขึ้นเพราะการเข้าใจคำพูด อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้นเพราะลักษณะ อย่างไร บุคคลผู้มีปกติรู้จักโคงานทั้งหลายได้เพราะอวัยวะ ชื่อว่า รู้จักเพราะลักษณะสติย่อมเกิดขึ้นเพราะลักษณะ อย่างนี้

สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะการถูกผู้อื่นบอกให้ระลึก อย่างไร ผู้ที่มักหลงลืม พอผู้อื่นมาบอกให้ระลึกอยู่บ่อยๆ ว่าจงระลึกเข้าเถอะนะ พ่อมหาจำเริญ จงระลึกเข้าเถอะนะ พ่อมหาจำเริญ ดังนี้ก็ย่อมระลึกได้ สติย่อมเกิดขึ้นเพราะการถูกผู้อื่นบอกให้ระลึก อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะมีวิธีบันทึก อย่างไร เพราะได้ศึกษาวิธีเขียนไว้แล้ว จึงรู้ว่าอักษรตัวนี้ต้องทำต้องเขียนไว้ในลำดับแห่งอักษรตัวนี้ เป็นต้น สติย่อมเกิดขึ้นเพราะมีวิธีบันทึก อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้นเพราะ มีวิธีนับ อย่างไร เพราะได้ศึกษาวิธีนับเอาไว้แล้ว คนผู้นับจึงนับจำนวนมากมายได้ (ไม่ผิดพลาดพลั้งเผลอ) สติย่อมเกิดขึ้นเพราะมีวิธีนับ อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะมีวิธีทรงจำ อย่างไร คือ เพราะได้ศึกษาวิธีส่งจำไว้แล้ว บุคคลผู้จะทรงจำไว้จึงจำได้แม้มากมาย สติ ย่อมเกิดขึ้นเพราะมีวิธีทรงจำอย่างนี้

สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะภาวนา อย่างไร คือ ภิกษุในพระศาสนานี้ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อนได้เป็นอันมาก คือย่อมระลึกไปชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อนพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส อย่างนี้ สติย่อมเกิดขึ้นเพราะภาวนา อย่างนี้.  สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะคำนิพนธ์ในคัมภีร์ อย่างไร คือพวกพระราชาทั้งหลาย เมื่อจะทรงระลึกในอนุศาสนีจึงรับสั่งว่า จงเอาคัมภีร์เล่มนี้มาส่งระลึกถึงอนุศาสนีได้ เพราะคัมภีร์เล่มนั้น สติย่อมเกิดขึ้นเพราะคำนิพนธ์ในคัมภีร์ อย่างนี้. สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะการเก็บไว้ อย่างไร คือพอเห็นสิ่งของที่ได้เก็บไว้ก็ย่อมระลึกได้ สติย่อมเกิดขึ้นเพราะการเก็บไว้อย่างนี้

สติ ย่อมเกิดขึ้น เพราะเป็นอารมณ์ที่เคยเสวย อย่างไร คือย่อมระลึกถึงรูปได้เพราะเคยเห็น ย่อมระลึกถึงเสียงได้เพราะเคยได้ยิน ย่อมระลึกถึงกลิ่นได้เพราะเคยดม ย่อมระลึกถึงรสได้เพราะเคยลิ้ม ย่อมระลึกถึงโผฏฐัพพะได้เพราะเคยสัมผัส ย่อมระลึกถึงธรรมได้ เพราะเคยรู้ สติย่อมเกิดขึ้นเพราะเป็นอารมณ์ที่เคยเสวย อย่างนี้ ขอถวายพระพร สติย่อมเกิดขึ้นโดยอาการ ๑๗ เหล่านี้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว (คนเรียนมาก ก็มีสติมาก เพราะว่ามีข้อมูลมาก ณัฏฐ). จบสติอุปปัชชนปัญหาที่ ๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑

ในวรรคที่ ๗ นี้มี ๑๖ ปัญหาปัญหาเกี่ยวกับความเกิดขึ้นแห่งสติชื่อว่า สติอุปปัชชนปัญหา.  คำว่า สติย่อมเกิดขึ้นเพราะเป็นคนคงแก่เรียน ความว่าผู้คงแก่เรียนมีปกติใช้สติระลึกถึงบทเรียนอยู่บ่อยๆ เพื่อประโยชน์แก่ความทรงจำไว้ได้ อาศัยทั้งความเป็นผู้สิ้นกิเลสหรือมีกิเลสน้อยเบาๆอีกด้วย สตินั้นย่อมมีกำลังจนอาจระลึกชาติหนหลังได้.  คำว่า วิญญาณที่เกื้อกูล คือวิญญาณที่ประกอบด้วยสุขเวทนา อันสงบ เยือกเย็น ไม่กระวนกระวาย ไม่มีความพยาบาทเบียดเบียน พึงทราบวิญญาณที่ไม่เกื้อกูล โดยประการตรงข้าม.  ชื่อว่า นิมิตที่มีส่วนเหมือนกัน นิมิตที่มีส่วนผิดกัน คือประการที่เหมือนกัน ประการที่แตกต่างกัน.  คำว่า ย่อมระลึกได้ว่าสิ่งโน้นมีสีเช่นนี้ ฯลฯ มี โผฏฐัพพะเช่นนี้ คือ พอทราบแล้วว่า สิ่งโน้นมีสีเช่นนี้คือสีเขียว ฯลฯ มีโผฏฐัพพะเช่นนี้็ คือมีสัมผัสหยาบ ย่อมระลึกถึงอีกสิ่งหนึ่งที่มีประการแตกต่างกันได้ว่า ส่วนสิ่งโน้นมีสีเช่นนี้ คือสีแดง ฯลฯ มีโผฏฐัพพะเช่นนี้คือมีสัมผัสละเอียด อย่างนี้ เป็นต้น

คำว่า เพราะลักษณะ คือเพราะลักษณะแห่งอวัยวะ กล่าวคือส่วนต่างๆ ของร่างกาย.  คำว่า เพราะได้ศึกษาวิธีเขียนไว้แล้ว คือเพราะได้ศึกษาจนทราบวิธีเขียนคำนั้นๆที่่ถูกต้องไว้แล้วเมื่อจะเขียนข้อความก็ระลึกได้ว่า เมื่อจะเขียนคำนี้ ต้องเขียนอักษรตัวนี้ก่อนต่อมาต้องเขียนอักษรตัวนี้อักษรตัวนี้ต้องเขียนไว้ในลำดับแห่งอักษรตัวนี้อย่างนี้เป็นต้น.  คำว่า วิธีนับ วิธีทรงจำ คือ อุบายนับ อุบายทรงจำ.  คำว่า เพราะภาวนา คือเพราะการเจริญปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ซึ่งเป็นญาณที่เป็นไปกับสติอันมีกำลังในการระลึกยิ่ง.  ก็ในคำว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อนได้เป็นอันมาก เป็นต้นนี้ มีความเต็มอย่างนี้ คือ

ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อนได้เป็นอันมาก คือย่อมระลึกไปชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ หลายสังวัฏฏกัปบ้าง หลายวิวัฏฏกัปบ้าง หลายสังวัฏฏวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ในครั้งโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขหรือทุกข์อย่างนี้ มีขอบเขตอายุอย่างนี้ เรานั้นเคลื่อน (ตาย) จากที่นั่นแล้วก็ได้เกิดขึ้นในที่โน้น ณ ที่นั้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขหรือทุกข์อย่างนี้ มีขอบเขตอายุอย่างนี้ เรานั้นเคลื่อนจากที่นั้นแล้วก็มาเกิดขึ้น ณ สถานที่นี้ ดังนี้ ภิกษุนั้นย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส.  ในคำเหล่านี้ คำว่า สังวัฏฏกัป ได้แก่ กัปที่กำลังเสื่อม คำว่า วิวัฏฏกัป ได้แก่กัปที่กำลังเจริญ คำว่า พร้อมทั้งอาการคือพร้อมทั้งชื่อและโคตร คำว่า พร้อมทั้งอุเทส คือ พร้อมทั้งประการต่างๆ แห่งผิวพรรณ อาหาร สุขและทุกข์เป็นต้น.  คำว่า พอได้เห็นสิ่งของที่เก็บไว้ก็ย่อมระลึกได้ คือพอเห็นสิ่งของที่ได้เก็บไว้ก็ย่อมระลึกได้ว่า สิ่งนี้เราได้มาในสมัยนั้นเราได้มาโดยประการอย่างนี้ เป็นต้น พร้อมทั้งบุคคล สถานที่เป็นต้น ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เก็บไว้นั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ พุทธคุณสติปฏิลาภปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวคำนี้ว่า บุคคลใดทำแต่อกุศลไปตลอด ๑๐๐ ปี แต่ในเวลาตายได้สติระลึกถึงพระพุทธคุณ บุคคลนั้น เพิ่งได้เกิดในหมู่เทวดาทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่เชื่อคำที่ว่านี้หรอก อีกอย่างหนึ่ง แม้คำที่พวกท่านกล่าวอย่างนี้ว่า บุคคลพึงเกิดขึ้นในนรกได้เพราะปาณาติบาตที่ได้ทำไว้ครั้งเดียว นี้ ข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อหรอก.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ก้อนหินแม้ก็เล็กๆเว้นการใช้เรือก็พึงลอยอยู่เหนือน้ำได้หรือไร (ก้อนหินลอยน้ำได้หรือ ณัฏฐ). พระเจ้ามิลินท์, ไม่ได้หรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก้อนหินแม้ขนาด ๑๐๐ เล่มเกวียนที่เขาบันทึกไว้ในเรือจึงลอยอยู่เหนือน้ำได้หรือไม่.  พระเจ้ามิลินท์, ได้ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรบุคคลพึงเห็นกุศลกรรมทั้งหลายว่าเปรียบเหมือนเรือ เถิด.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบพุทธคุณสติปฏิลาภปัญหาที่ ๒.  

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาเกี่ยวกับการได้สติระลึกพระพุทธคุณ ชื่อว่า พุทธคุณสติปฏิลาภปัญหา.  พึงทราบ การเทียบเคียงด้วยอุปมา ดังต่อไปนี้.  เปรียบเหมือนว่า ก้อนหินก้อนเล็กๆ วางไว้บนผิวน้ำมิได้วางไว้ในเรือ ไม่มีเรือรองรับ ก็ย่อมไม่อาจลอยอยู่เหนือน้ำได้ ย่อมจมลงไปในน้ำแน่เทียว ฉันใด บุคคลผู้ทำอกุศลกรรมไว้เพียงครั้งเดียว ในเวลาใกล้ตาย เมื่อไม่มีกุศลเกิดขึ้นมารองรับ คือป้องกันไว้ ก็ย่อมจมลงไป คือตกไปในนรกแน่เทียว ฉันนั้น ก้อนหินแม้ขนาดร้อยเล่มเกวียน บันทึกไว้ในเรือใหญ่เพียงลำเดียว ก็ย่อมลอยอยู่เหนือน้ำได้ ไม่จมลงไปในน้ำฉันใด บุคคลผู้ทำกุศลกรรมไว้มากมาย แต่ในเวลาใกล้ตายมีกุศลที่ยิ่งใหญ่ มีพุทธานุสติเป็นต้น เกิดขึ้นมาเพียงคราวเดียวเท่านั้น ก็ย่อมย่างขึ้นสู่สวรรค์ได้ ไม่ตกไปในนรก ฉันนั้น เพิ่งเห็นสัตว์ผู้ทำอกุศลกรรมว่าเป็นดุจก้อนหิน เพิ่งเห็นกุศลกรรมว่าเป็นดุจเรือ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ ทุกขัปปหานวายมปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านย่อมพยายามเพื่อละทุกข์อดีตหรือไร ? พระนาคเสน, หามิได้ มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้ากระนั้น ก็ย่อมพยายามเพื่อละทุกข์อนาคตหรือ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, หามิได้ มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้ากระนั้น ก็ย่อมพยายามเพื่อละทุกข์ปัจจุบันหรือ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, หามิได้ มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้าหากว่าพวกท่านมิได้พยายามเพื่อละทุกข์อดีต มิได้พยายามเพื่อละทุกข์อนาคต มิได้พยายามเพื่อละทุกข์ปัจจุบันใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกท่านพยายามกันไปเพื่อประโยชน์อะไร.  พระเถระถวายพระพรตอบว่า ขอถวายพระพร เพื่อประโยชน์อะไรนะหรือมหาบพิตร พวกอาตมภาพย่อมพยายามเพื่อประโยชน์ข้อนี้คือ ทุกข์นี้พึงดับไปเสีย และทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ก็แต่ว่าท่านมีทุกข์ อนาคตอยู่หรือ ?  พระนาคเสน, ไม่มีหรอก ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านล้วนเป็นผู้ฉลาดเกินบัณฑิตที่พยายามเพื่อละทุกอนาคต ซึ่งยังไม่มี.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ทรงมีพระราชา ฝ่ายตรงข้ามบ้างพระองค์ผู้เป็นข้าศึก ศัตรู ผู้รุกรานอยู่หรือไม่.  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ มีอยู่ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์รับสั่งให้ขุดคูเมือง ให้ก่อกำแพง ให้สร้างประตูเมือง ให้สร้างป้อม ให้เก็บเกี่ยวข้าวไว้ ในเวลานั้น ในเวลาที่ข้าศึกรุกราน หรือ ?.  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า กิจมีการให้ขุดคูเมืองไว้เป็นต้นนั้น จำต้องเตรียมการเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ทีเดียว

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกพระองค์ทรงศึกษาในเรื่องช้าง ทรงศึกษาในเรื่องม้า ทรงศึกษาในเรื่องรถ ทรงศึกษาในเรื่องธนู ทรงศึกษาในเรื่องหอก ก็ในเวลานั้นหรือ.  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า กิจ มีการศึกษาในเรื่องช้างเป็นต้นนั้น จำต้องเตรียมการเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ทีเดียว.  พระนาคเสน, เพื่อประโยชน์อะไรหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, เพื่อประโยชน์คือการป้องกันภัยอนาคต. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ภัยอนาคตมีอยู่หรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, ยังไม่มีหรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกพระองค์ล้วนทรงเป็นผู้ฉลาดเกินบัณฑิต ที่ทรงเตรียมการเพื่อป้องกันภัยอนาคต ซึ่งยังไม่มี.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร พระองค์ทรงเกิดกระหายน้ำในเวลาใด พระองค์ก็รับสั่งให้เขาขุดบ่อน้ำ ให้ขุดสระ ให้ขุดตระพังน้ำ หมายพระทัยไว้ว่า เราจะดื่มน้ำ ในเวลานั้นหรือ.  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า กิจในการให้ขุดบ่อน้ำเป็นต้นนั้น จำต้องเตรียมการเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ทีเดียว.  พระนาคเสน, เพื่อประโยชน์อะไรหรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, เพื่อประโยชน์คือการป้องกันความกระหายในอนาคต พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็ความกระหายในอนาคต มีอยู่หรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกพระองค์ล้วนทรงเป็นผู้ฉลาดเกินบัณฑิต ที่เตรียมกิจ มีการให้ขุดบ่อน้ำเป็นต้นนั้นไว้ เพื่อประโยชน์คือการป้องกันความกระหายในอนาคต ซึ่งยังไม่มี

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร พระองค์ทรงเกิดหิวข้าวขึ้นมาในเวลาใด พระองค์ก็รับสั่งให้ไถนา ให้หว่านข้าวสาลี หมายพระทัยไว้ว่า เราจะกินข้าว ในเวลานั้นหรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า กิจมีการให้ไถนาเป็นต้นนั้น จำต้องเตรียมการเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ทีเดียว. พระนาคเสน, เพื่อประโยชน์อะไรหรือ.  พระเจ้ามิลินท์, เพื่อประโยชน์คือการป้องกันความหิวในอนาคต.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็ความหิวในอนาคต มีอยู่หรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, ยังไม่มีหรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกพระองค์ล้วนทรงเป็นผู้ฉลาดเกินบัณฑิต ที่เตรียมการเพื่อประโยชน์คือการป้องกันความหิวในอนาคต ซึ่งยังไม่มี.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านต่อสมควรแล้ว.  จบ ทุกขัปปหานวายมปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับความพยายามเพื่อการละทุกข์ ชื่อว่า ทุกขัปปหานวายมปัญหา.  เมื่อพระราชารับสั่งถามว่า พวกท่านย่อมพยายามเพื่อละทุกข์อดีตหรือ ดังนี้ การที่ท่านพระนาคเสนเถระถวายพระพร ตอบปฏิเสธรับสั่งของพระราชา ว่า หามิได้มหาบพิตร ดังนี้ ก็เพราะทุกข์อดีต เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ที่ล่วงไปแล้ว สิ้นไปแล้ว ปราศจากไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ประโยชน์อะไรด้วยความพยายาม คือด้วยการปรารภความเพียรเพื่อละสิ่งที่ล่วงไปแล้วอีกเล่า ส่วนว่าทุกข์อนาคต พระเถระน่าจะยอมรับว่า ใช่มหาบพิตร เพราะการปรารภความเพียรในปัจจุบัน ก็เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ท่านก็ยังปฏิเสธว่า หามิได้มหาบพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เพราะเหตุไร ท่านจึงยังคงปฏิเสธ ตอบว่า เพราะเหตุว่า ความพยายามในปัจจุบันเป็นไปเพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จริงอยู่ แต่ทุกข์ในอนาคตก็ไม่ได้มีให้ละอยู่ในปัจจุบัน ดุจการเตรียมธนู หอก หลาว การซ้อมรบเป็นต้น ย่อมมีไว้เพื่อกำจัดข้าศึกศัตรูที่อาจมารุกรานในอนาคตก็จริง แต่ข้าศึกศัตรูก็ไม่ได้มี ไม่ได้ปรากฏให้กำจัดอยู่ในขณะนั้น ฉะนั้นพระเถระเล็งถึงความข้อนี้ จึงกล่าวปฏิเสธอย่างนี้ เมื่อรับสั่งถามต่อไปว่า “ถ้ากระนั้น ก็ย่อมพยายามเพื่อละทุกข์ปัจจุบันหรือ” ดังนี้ พระเถระก็ยังคงปฏิเสธอีกนั่นแหละ ว่า “หาไม่ได้มหาบพิตร” เพราะว่าทุกข์คืออุปาทานขันธ์ ๕ ในปัจจุบันนี้ย่อมถึงความสิ้นไปเอง ตามสภาพ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเพื่อจะให้สิ้นไป

ในคำว่า ทุกข์นี้เพิ่งดับไปเสีย และทุกข์อื่นไม่พึงเกิดขึ้นความว่าทุกข์นี้ คืออุปาทานขันธ์ ๕ ในภพปัจจุบันนี้ พึงดับไปเสียด้วยอำนาจการจุติ โดยประการที่จะไม่เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในภพต่อไป และทุกข์อื่น คืออุปาทานขันธ์ 5 ที่จะพึงบังเกิดในภพอื่น ในอนาคต ไม่พึงเกิดขึ้น ด้วยอำนาจแห่งมรรคภาวนา ที่ได้อบรมสั่งสมไว้ดีแล้วในภพก่อนก่อน คำอธิบายที่เหลือเกี่ยวกับบทนี้ พึงทราบตามประกาศที่ได้กล่าวแล้วในปัญหาก่อนหน้านี้ (ไม่ปฏิสนธิในนรกด้วยอานุภาพของโสดา ณัฏฐ) จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ พรหมโลกปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พรหมโลกอยู่ไกลจากนี้ไปเท่าไหร่ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พรหมโลกอยู่ไกลจากนี้ไปชั่วที่ก้อนหินขนาดเท่าเรือนยอด ตกจากพรหมโลกนั้น ลอยเคว้งคว้างไปตลอดทั้งวันทั้งคืน สิ้นระยะทาง ๔๘,๐๐๐ โยชน์ ก็ตกถึงพื้นดิน โดยใช้เวลา ๔ เดือน.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ผู้ได้เจโตวสีพึงอันตรธานหายตัวที่ชมพูทวีปนี้ ไปปรากฏตัวที่พรหมโลก ชั่วระยะเวลาดุจบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดอยู่เข้ามาฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อคำที่ว่านี้หรอก พิสูจน์ จะไปตลอดทางหลายร้อยโยชน์ถึงเพียงนั้น ได้เร็วยิ่งอย่างนี้เชียวหรือ.  พระเถระกล่าวถวายพระพร ว่า ขอถวายพระพร ชาติภูมิ (แดนประสูติ) ของพระองค์อยู่ที่ไหน ?

พระเจ้ามิลินท์, มีเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า อลสันทะ ข้าพเจ้าเกิดที่เกาะนั้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เกาะอลสันทะ อยู่ไกลจากนี้ไปสักเท่าไหร่.  พระเจ้ามิลินท์, ไกลจากนี้ไปประมาณ ๒๐๐ โยชน์ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, พระองค์ก็ทรงทราบไม่ใช่หรือว่า พระองค์ก็ทรงระลึกถึงพระราชกรณียกิจบางอย่างที่ทรงกระทำไว้ ณ ที่เกาะนั้นได้. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าระลึกได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์เสด็จ ไปตลอดระยะทาง ๒๐๐ โยชน์ได้เร็วเสียจริงหนอ.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้าคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบพรหมโลกปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาเกี่ยวกับระยะทางไปพรหมโลก ชื่อว่า พรหมโลกปัญหา.  พระราชาทรงระลึกไปยังเกาะอลสันทะ ซึ่งอยู่ไกลไป ๒๐๐ โยชน์ได้เร็วยิ่ง คือระลึกไปถึงได้ทันทีที่ประสงค์ ฉันใด ภิกษุผู้มีฤทธิ์ทำกายให้คล้อยไปตามอำนาจจิตไปสู่พรหมโลกซึ่งอยู่ไกลไป แต่ ๔๘,๐๐๐ โยชน์ ได้ทันทีที่ประสงค์คือพร้อมกับจิตที่อธิษฐานฉันนั้น.  พึงทราบว่าพรหมโลกที่อยู่ไกลจากนี้ไป ๔๘,๐๐๐ โยชน์นี้ ได้แก่พรหมโลกชั้นปฐมฌานภูมิ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาที่ ๕ ทวินนังโลกุปปันนานังสมกภาวปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลผู้ที่ตายในเมืองนี้ แล้วเกิดขึ้นในพรหมโลก กับบุคคลที่ตายในเมืองนี้แล้วเกิดขึ้นในกัสมิรนคร ใครนานกว่า ใครเร็วกว่า ?  พระนาคเสน, เท่ากัน มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร นครที่ประสูติของพระองค์อยู่ที่ไหน ?พระเจ้ามิลินท์, มีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า กลสิคาม ข้าพเจ้าเกิดที่นั่น. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร กลสิคามอยู่ไกลจากนี้ไปเท่าไหร่.  พระเจ้ามิลินท์, ประมาณ ๒๐๐ โยชน์พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร กัสมิรนครอยู่ไกลไปจากนี้เท่าไร.  พระเจ้ามิลินท์, ประมาณ ๑๒ โยชน์ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เอาละ มหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงนึกถึงกลสิคามเกิด.  พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้านึกแล้ว พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เอาละ มหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงนึกถึงกัสมิรนคร เถิด.  พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้านึกแล้ว พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ที่ไหนเป็นที่ที่พระองค์ทรงใช้เวลานึกนาน ที่ไหนนึกได้เร็วกว่า.  พระเจ้ามิลินท์, สิ้นเวลาเท่ากัน พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ที่ตายในเมืองนี้แล้วเกิดขึ้นในพรหมโลกกับบุคคลที่ตายในเมืองนี้แล้วเกิดขึ้นในกัสมิรนคา ย่อมเกิดขึ้นเช่นเวลาเท่ากันนั่นเทียว

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร นก ๒ ตัวบินไปทางอากาศ ในนก ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่ง (โผลง) เกาะต้นไม้กิ่งสูง อีกตัวนึง (โผลง) เกาะต้นไม้กิ่งเตี้ย บรรดานก ๒ ตัวที่ลงเกาะสิ้นเวลาเท่ากันนั้น เงาของนกตัวไหนตั้งที่พื้นดินก่อน เงาของนกตัวไหนใช้เวลาตั้งที่พื้นดินนานกว่า ?  พระเจ้ามิลินท์, เส้นเวลาเท่ากัน พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ที่ตายในเมืองนี้แล้วเกิดขึ้นในพรหมโลก กับบุคคลผู้ที่ตายในเมืองนี้แล้วเกิดขึ้นในกัสมิรนคร ย่อมเกิดขึ้นเส้นเวลาเท่ากันนั่นเทียว.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบทวินนังโลกุปปันนานังสมกภาวปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาเกี่ยวกับภาวะที่บุคคล ๒ คนใช้เวลาอุบัติในโลกเท่ากันชื่อว่า ทวินนังโลกุปปันนานังสมกภาวปัญหา.  คำว่า นานกว่า ได้แก่ ช้ากว่า.  คำว่า เร็วกว่า ได้แก่ พลันยิ่ง.  คำว่า เท่ากัน คือ สิ้นเวลาเสมอเหมือนกัน.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาที่ ๖ โพชฌังคปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน โพชฌงค์มีเท่าไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร โพชฌงค์มี ๗ อย่าง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า บุคคลย่อมตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์กี่อย่าง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุคคลย่อมตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์อย่างเดียว คือด้วยธัมวิจยสัมโพชฌงค์.  พระเจ้ามิลินท์, เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่า โพชฌงค์มี ๗ อย่างเล่า พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ดาบที่สอดไว้ในฝัก ไม่ได้ใช้มือชักออกมา อาจฟันได้ขาดหรือ.  พระเจ้ามิลินท์, ไม่ได้หรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เว้นธัมวิจยสัมโพชฌงค์เสีย บุคคลจะตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ ๖ อย่าง (ที่เหลือ) หาได้ไม่.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบโพชฌังคปัญหาที่ ๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

บุคคลชื่อว่า โพธิ เพราะอรรถว่า ตรัสรู้ ธรรม ๗ อย่าง มีสติเป็นต้น ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์คือเป็นสัมภาระ หรือเป็นอุปกรณ์เครื่องตรัสรู้แห่งบุคคลผู้ชื่อว่า โพธิ นั้น ก็โพชฌงค์มี ๗ อย่าง คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.  โดยนิปริยาย ปัญญาเท่านั้น ตรัสรู้ธรรมทั้งหลาย หรือตรัสรู้สัจจะ ๔ หรือเป็นเหตุให้บุคคลตรัสรู้ เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ย่อมตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์อย่างเดียว คือด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นชื่อของปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ โพชฌงค์ก็น่าจะมีอย่างเดียว คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เท่านั้น เพราะเหตุไรธรรม ๖ อย่างที่เหลือ มีสติเป็นต้น จึงได้ชื่อว่าเป็นโพชฌงค์ ด้วยเล่า ตอบว่า ธรรมะ ๖ อย่างที่เหลือ ได้ชื่อว่าโพชฌงค์โดยปริยาย โดยเกี่ยวกับเป็นผู้อุปถัมภ์ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น

เปรียบเหมือนว่า แม้ว่าดาบเท่านั้น ที่ใช้ฟันวัตถุได้ขาด ฝักดาบไม่อาจใช้ฟันวัตถุได้ขาด ก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากบุคคลไม่เก็บดาบไว้ในฝัก ไม่รักษาดาบไว้ในฝักด้วยดี ตามนั้นไม่ได้รับการรักษาด้วยดี ก็เกิดมลทิน เกิดสนิมขึ้นเป็นต้น ทื่อไป หมดความคมกล้าไป บุคคลก็ไม่อาจใช้ฟันวัตถุให้ขาดด้วยดีได้ ฉันใด แม้ว่าปัญญาเท่านั้น ที่พระโยคาวจรใช้ฟัน คือตัสรู้ธรรม และกิเลสได้ ธรรม ๖ อย่างที่เหลือไม่อาจใช้ตรัสรู้ธรรมได้ก็จริงอยู่ถึงกระนั้น ถ้าหากธรรม ๖ อย่างที่เหลือบกพร่องไป ปัญญาไม่ได้รับการอุปถัมภ์ด้วยดีจากธรรมเหล่านั้น ก็ย่อมขาดความคมกล้าไป ไม่อาจตรัสรู้ธรรม ละกิเลสทั้งหลายได้ ฉะนั้นเหมือนกัน ปัญญาเปรียบได้ด้วยดาบ ธรรม ๖ อย่างที่เหลือเปรียบได้ด้วยฝักดาบ เพราะเป็นผู้อุปถัมภ์ปัญญา เพราะฉะนั้นธรรม ๖ อย่างที่เหลือ ก็ชื่อว่าเป็นโพชฌงค์ ได้ โดยปริยายนี้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาที่ ๗ ปาปปัญญานัง อัปปานัปปภาวปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน อย่างไหนมีได้มากกว่ากัน บุญหรือบาป ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร บุญมีได้มากกว่า บาปมีได้นิดหน่อย.  พระเจ้ามิลินท์, เพราะเหตุใดหรือ ?  พระนาคเสน ขอถวายพระพร บุคคลเมื่อทำบาป ก็ย่อมเป็นผู้มีความเดือดร้อนใจว่า เราได้ทำกรรมชั่วไว้หนอ เพราะเหตุนั้น บาปจึงไม่เจริญ ไม่แพร่หลาย ขอถวายพระพร เมื่อได้ทำบุญก็หาความเดือดร้อนใจมิได้ บุคคลผู้หาความเดือดร้อนใจมิได้ ย่อมเกิดความบันเทิง บุคคลผู้บันเทิงย่อมเกิดความอิ่มเอิบใจ กาย (นามกาย) ของบุคคลผู้มีใจอิ่มเอิบย่อมระงับ คือไม่กระวนกระวาย บุคคลผู้มีกายระงับ ย่อมเสวยสุข จิตของบุคคลผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่นโดยชอบ บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ ย่อมรู้ชัดได้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุนั้น บุญย่อมเจริญได้ ขอถวายพระพร ผู้มีมือและเท้าด้วน ได้ถวายดอกอุบลกำเดียวแก่พระผู้มีพระภาค แล้วจะไม่ไปวินิบาตภูมิตลอด ๙๑ กัป ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนี้ อาตมาภาพจึงกล่าวว่า บุญมีได้มากกว่า บาปมีได้นิดหน่อย.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบปาปปัญญานัง อัปปานัปปภาวปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาเกี่ยวกับความที่บาปมีได้น้อย บุญมีได้มาก ชื่อว่า ปาปปัญญานัง อัปปานัปปภาวปัญหา.  คำว่าบุญ ได้แก่กุศล, คำว่าบาป ได้แก่อกุศล. บุญ ชื่อว่าย่อมเจริญได้ ก็โดยเกี่ยวกับความเป็นปัจจัยแก่บุญอื่นที่สูงยิ่งขึ้นไป.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๔

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: