มงคลที่ ๒ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา - การคบบัณฑิต
ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา - ควรคบหาบัณฑิตเป็นมิตรไว้ จะช่วยให้พ้นทุกข์สบสุขสันต์ ความคิดดีเลิศล้ำยิ่งสำคัญ ควรคบกันอย่าเขวทุกเวลา
บัณฑิต หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว (ไม่ใช่คนที่จบปริญญาโดยนัย) มีลักษณะดังนี้คือ :- ๑. เป็นคนคิดดี คือการไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณเป็นต้น ๒. เป็นคนพูดดี คือวจีสุจริต พูดจริง ทำจริงไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย ๓. เป็นคนทำดี คือทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตุคือ :-
๑. ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดีอย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนันเป็นต้น
๒. ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ อาทิเช่นการทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ
๓. ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
๔. รับฟังดี ไม่โกรธ อาทิเช่นเมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง
๕. รู้ระเบียบ กฏกติกามรรยาทที่ดี อาทิเช่นการรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฏของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ
ที่มา : http://www.dhammathai.org
ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การคบบัฑิต เป็นอุดมมงคล
บัดนี้ จักวิสัชนามงคลที่ ตามพระบาลีว่า ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ความว่า การที่คบหาสมาคม ไปมาหาสู่นักปราชญ์ชาติเมธี จัดเป็นมงคลความเจริญสุขสวัสดีทั้งชาตินี้และชาติหน้า ด้วยนักปราชญ์ชาติเมธีย่อมแสวงหาประโยชน์ ๒ ประการ
คือ ประโยชน์ชาตินี้และชาติหน้า ผู้ใดคบหาแล้วย่อมจักพาให้ทำการดี คือ ทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น และให้ประพฤติตนอยู่ในสุจริตทั้ง ๓ คือ กายสุจริต ๑ วาจาสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ กายสุจริตมี ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ๑ ไม่ลักทรัพย์ ๑ ไม่ล่วงประเวณีในสตรีที่เขาหวง ๑ วจีสุจริต ๔
คือ ไม่พูดปดคนอื่น ๑ ไม่พูดส่อเสียดยุยงผู้อื่น ๑ ไม่พูดหยาบด่าชาติเป็นต้น ๑ ไม่พูดคำที่ไม่เป็นประโยชน์ ๑ มโนสุจริต ๓ คือ ไม่โลภคิดลักทรัพย์ของผู้อื่น ๑ ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตผูกเวร ๑ ไม่เห็นผิดจากพุทธศาสนา ๑ ความว่า นักปราชญ์นั้นเปรียบเหมือนของที่มีกลิ่นหอม ถ้าบุคคลใดคบหาก็พาให้กลิ่นหอมฟุ้งไป
คือ ความประพฤติกาย วาจา จิต เป็นสุจริต คนพาลเปรียบเหมือนของที่มีกลิ่นเหม็น ถ้าผู้ใดคบหาก็ทำให้เหม็นด้วยความประพฤติชั่วทางกาย วาจา จิต การทุจริตย่อมเนื่องมาแต่คนพาล....
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: