วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๐)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๐)  ปัญหาที่ ๗ จักขุวิญญาณาทิปัญหา ปัญหาที่ ๗ จักขุวิญญาณาทิปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสนจักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้นหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ถูกต้อง จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใดแม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทีหลังหรือ หรือว่า มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทีหลังเล่า ?พระนาคเสน, ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทีหลัง. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณสั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดขึ้นทางทวารใด แม้ท่านก็จงเกิดขึ้นทางทวารนั้นดังนี้หรือไร หรือว่ามโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณว่า ท่านจะเกิดขึ้นทางทวารใด แม้เราก็จะเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร วิญญาณเหล่านั้นต่างหาการพูดจากันมิได้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้นอย่างไรเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น ก็เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มต่ำ เป็นเหมือนประตู เป็นเหมือนเส้นทางที่คุ้นเคย และเพราะความที่ทวารนั้นเป็นที่วิญญาณทั้ง ๒ นั้นเป็นไปอยู่เสมอ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มต่ำอย่างไร ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะพึงไหลไปทางไหน ?

พระเจ้ามิลินท์, จะพึ่งไหลไปทางที่ลุ่มต่ำ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ในสมัยอื่นต่อมา ฝนพึงตกลงมาอีก น้ำจะพึ่งไหลไปทางไหน.  พระเจ้ามิลินท์, แม้น้ำนั้นก็จะพึงไหลไปทางที่น้ำครั้งแรกได้ไหลไป พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร น้ำครั้งแรกสั่งน้ำครั้งหลังไว้ว่า เราไหลไปทางใด แม้ท่านก็จงไหลไปทางนั้น ดังนี้หรือไร หรือว่า น้ำครั้งหลังสั่งน้ำครั้งแรกว่า ท่านจะไหลไปทางใด เราก็จะไหลไปทางนั้น ดังนี้เล่า. พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า น้ำทั้ง ๒ คราวนั้นต่างหาการพูดจากันไม่ได้ ย่อมไหล (ไปทางเดียวกัน) เพราะเป็นทางที่ลุ่มต่ำ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มต่ำ จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดขึ้นทางทวารใด แม้ท่านก็จงเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เลย แม้มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า ท่านจะเกิดขึ้นทางทวารใด แม้เราก็จะเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เลย วิญญาณทั้ง ๒ นั้นต่างหาการพูดจากันไม่ได้ ย่อมเกิดขึ้น (ทางทวารเดียวกันได้) เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มต่ำ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะความที่ทวารนั้นเป็นเหมือนประตู อย่างไร ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร หัวเมืองชายแดนของพระราชาซึ่งมีป้อมปราการเสาค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว มีอยู่ บุรุษผู้ต้องการจะออกไปจากเมืองนั้น พึงออกไปทางไหนได้.  พระเจ้ามิลินท์, พึงออกไปทางประตู พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ต่อมามีบุรุษอีกคนหนึ่ง ต้องการจะออกไป เขานั้นพึ่งออกไปทางไหนได้.  พระเจ้ามิลินท์, เขาพึงออกไปทางประตูเดียวกันกับที่บุรุษคนก่อนออกไป พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุรุษคนก่อนสั่งบุรุษคนหลังไว้ว่า เราไปทางไหน แม้ท่านก็จงไปทางนั้น ดังนี้หรือไร หรือว่า บุรุษคนหลังสั่งบุรุษคนแรกไว้ว่า ท่านจะไปทางใด แม้เราก็จะไปทางนั้น ดังนี้เล่า

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า บุรุษทั้ง ๒ นั้นต่างหาการพูดจากันมิได้ พวกเขาย่อมไป (ทางเดียวกัน) ก็เพราะทางนั้นเป็นประตู.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะความที่ทวารนั้นเป็นเหมือนประตู จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดขึ้นทางทวารไหน แม้ท่านก็จงเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้ ทั้งมโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า ท่านจะเกิดขึ้นทางทวารไหน แม้เราก็จะเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เลย วิญญาณทั้ง ๒ นั้นต่างหาการพูดจากันมิได้ ย่อมเกิดขึ้น (ในทางทวารเดียวกันได้) ก็เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนประตู

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะทวารเป็นเหมือนเส้นทางที่คุ้นเคย อย่างไร ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร เกวียนเล่มที่ ๑ พึงไปก่อน ต่อมาเล่มที่ ๒ จะพึงไปตามเส้นทางไหน ? พระเจ้ามิลินท์, จะพึงไปตามเส้นทางเดียวกับที่เกวียนเล่มที่ ๑ ได้ไป พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เกวียนเล่มแรกสั่งเกวียนเล่มหลังไว้ว่า เราไปตามเส้นทางใดแม้ท่านก็จงไปตามเส้นทางนั้น ดังนี้หรือไร หรือว่า เกวียนเล่มหลังสั่งเกวียนเล่มแรกไว้ว่า ท่านจะไปตามเส้นทางใด แม้เราก็จะไปตามเส้นทางนั้น ดังนี้เล่า

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า เกวียนทั้ง ๒ นั้นต่างหาการพูดจากันมิได้ ย่อมไป (ตามเส้นทางเดียวกัน) เพราะเป็นเส้นทางที่คุ้นเคย. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนเส้นทางที่คุ้นเคย จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดขึ้นทางทวารใด แม้ท่านก็จงเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เลย ทั้งมโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า ท่านจะเกิดขึ้นทางทวารใด แม้เราก็จะเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เลย วิญญาณทั้ง ๒ นั้นต่างก็หาการพูดจากันมิได้ ย่อมเกิดขึ้น (ทางทวารเดียวกันได้) เพราะทวารนั้นเป็นเหมือนเส้นทางที่คุ้นเคย.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้นเพราะทวารนั้นเป็นที่วิญญาณทั้ง ๒ นั้นเป็นไปอยู่เสมอ อย่างไร ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า คนผู้เริ่มทำงานในงานศิลปะทั้งหลาย มีการนับจำนวนด้วยนิ้วมือการขีดเขียน (เป็นต้น) แรกๆ ก็มีความงุ่มง่ามชักช้าอยู่ ในสมัยต่อมาก็หาความงุ่มง่ามชักช้ามิได้ เพราะได้เป็นไปอยู่เสมอ (ทำอยู่บ่อยๆ) ในการงานที่ต้องใคร่ครวญทำนั้น ฉันใด ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น เพราะความที่ทวารนั้นเป็นที่วิญญาณทั้ง ๒ นั้นเป็นไปอยู่เสมอ ฉันนั้นเหมือนกัน จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดขึ้นทางทวารใด แม้ท่านก็จงเกิดขึ้นทางทวารนั้น ดังนี้เลย ทั้งมโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า ท่านจะเกิดขึ้นทางทวารใด แม้เราก็จะเกิดขึ้นทางทวารนั้นด้วย ดังนี้เลย วิญญาณทั้ง ๒ นั้นต่างก็หาการพูดจากันมิได้ ย่อมเกิดขึ้นทางทวารเดียวกันได้ เพราะทวารนั้นเป็นที่วิญญาณทั้ง ๒ นั้นเป็นไปอยู่เสมอ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน โสตวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้นหรือ ฆานวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด ฯลฯ กายวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้นหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถูกต้อง ฯลฯ กายวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทีหลังหรือ หรือว่า มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้นที่หลังเล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทีหลัง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน กายวิญญาณสั่งมโนวิญญาณไว้ว่า ฯลฯ ดังนี้เล่า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร วิญญาณเหล่านั้นต่างหาการพูดจากันมิได้ ฯลฯ ย่อมเกิดขึ้นทางทวารเดียวกันได้ เพราะความที่ทวารนั้นเป็นที่วิญญาณทั้ง ๒ นั้นเป็นไปอยู่เสมอ.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบจักขุวิญญาณาทิปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาเกี่ยวกับวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นชื่อว่าจักขุวิญญาณาทิปัญหา.  คำว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางทวารใด แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางทวารนั้นหรือ อธิบายว่าพระราชาตรัสถามว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทางจักขุทวาร แม้มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นทางจักขุทวารนั้นหรือ.  รวมความว่า จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทางจักขุทวาร ทำกิจของตนคือเห็นภาพ โสตวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทางทวาร ทำกิจของตนคือได้ยินเสียง ฆานวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทางฆานทวาร ทำกิจของตนคือดมกลิ่น ชิวหาวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทางชิวหาทวาร ทำกิจของตน คือ ลิ้มรส กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทางกายทวาร ทำกิจของตนคือถูกต้องอารมณ์ที่กระทบกาย มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๕ มีจักขุทวารเป็นต้นนั้น ต่อจากจักขุวิญญาณเป็นต้นนั้น โดยกิจของตนคือ ตามรู้อารมณ์ทั้ง ๕ มีรูปอารมณ์ (ภาพ) ที่เป็นจักขุวิญญาณเห็นแล้วนั้นเป็นต้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่ ๘ ผัสสลักขณปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด (ในกลุ่มธรรมใด) แม้ผัสสะ แม้เวทนา ก็เกิดขึ้นในที่นั้นหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด แม้ผัสสะก็เกิดขึ้นในที่นั้น แม้เวทนาก็เกิดขึ้นในที่นั้น แม้สัญญาก็เกิดขึ้นในที่นั้น แม้เจตนาก็เกิดขึ้นในที่นั้น แม้วิตกก็เกิดขึ้นในที่นั้น แม้วิจารก็เกิดขึ้นในที่นั้น ธรรมแม้ทุกอย่างอันมีผัสสะเป็นประมุข ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ผัสสะมีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ผุสฺสนลกฺขโณ ผสฺโส ผัสสะมีการกระทบเป็นลักษณะ.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เหมือนอย่างแพะ ๒ ตัวต่อสู้กัน ในแพะ ๒ ตัวนั้น พึงเห็นจักขุเป็นดุจแพะตัวหนึ่ง พึงเห็นรูป (ภาพ) เป็นดุจแพะตัวที่ ๒ พึงเห็นผัสสะเป็นดุจการตกถึงกัน (การชนกัน) แห่งแพะ ๒ ตัวนั้น เถิด.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา ให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เหมือนอย่างคนปรบฝ่ามือทั้ง ๒ ข้าง ในฝ่ามือ ๒ ข้างนั้น พึงเห็นจักขุเป็นดุจฝ่ามือข้างหนึ่ง พึงเห็นรูปเป็นดุจฝ่ามือข้างที่ ๒ พึงเห็นผัสสะเป็นดุจการตกถึงกัน (การปรบกัน) แห่งฝ่ามือ ๒ ข้างนั้น เถิด.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา ให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน, เหมือนอย่างคนตีฉิ่ง ๒ ข้าง ในฉิ่ง ๒ ข้างนั้น พึงเห็นจักขุเป็นดุจฉิ่งข้างหนึ่ง พึงเห็นรูปเป็นดุจฉิ่งข้างที่ ๒ พึงเห็นผัสสะเป็นดุจการตกถึงกัน (การตีถูกกัน) แห่งฉิ่ง ๒ ข้างเหล่านั้นเถิด. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบผัสสลักขณปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ถามถึงลักษณะของผัสสะ ชื่อว่า ผัสสลักขณปัญหา คำว่าการตกถึงกัน (สนฺนิปาต-การตกถึงกัน, การประชุม) ไม่พึงถือเอาความหมายว่าเป็นการมาพร้อมหน้ากัน ทว่า พึงถือเอาความหมายว่า เป็นการกระทบกระทั่งกันเถิด เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ขอถวายพระพร ผัสสะมีการกระทบเป็นลักษณะ ดังนี้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙ เวทนาลักขณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เวทนามีอะไรเป็นลักษณะ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เวทยิตลกฺขณา เวทนา อนุภวนลกฺขณา จ – เวทนา มีการได้รับ (เวทยิต – ได้รับ, รู้สึก) และมีการเสวย (อนุภวน – เสวย) เป็นลักษณะ.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เหมือนอย่างบุรุษบางคนได้ทำความดีความชอบต่อพระราชา พระราชาทรงยินดีแล้วก็ทรงบำเหน็จความดีความชอบต่อเขา เขานั้นจึงเป็นผู้อิ่มเอิบเพียบพร้อม บำรุงบำเรออยู่ด้วยกันคุณ ๕ เพราะบำเหน็จความดีความชอบนั้น เขานั้นได้เกิดความคิดอย่างนี้ ว่า เราได้ทำความดีความชอบต่อพระราชาไว้ก่อน พระราชาทรงยินดีแล้ว จึงทรงบำเหน็จความดีความชอบต่อเรา เรานั้นได้รับเวทนาเห็นปานฉะนี้ได้ก็เพราะความดีความชอบที่พระราชาทรงบำเหน็จต่อเรานั้น ดังนี้.  ขอถวายพระพร เหมือนอีกอย่างหนึ่ง บุรุษบางคนได้ทำกุศลกรรมไว้ หลังกายแตกทำลายตายไป ก็พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ และเขานั้นก็เป็นผู้อิ่มเอิบเพียบพร้อม บำรุงบำเรออยู่ด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ในชั้นสวรรค์นั้น เขานั้นได้เกิดความคิดอย่างนี้ ว่า เรานั้นได้ทำกุศลกรรมเอาไว้ก่อน เพราะเหตุที่เราได้ทำกุศลกรรมเอาไว้นั้น เรานั้นจึงได้เสวยเวทนาเห็นปานฉะนี้ได้ ดังนี้ ขอถวายพระพร เวทนามีการได้รับเป็นลักษณะ และมีการเสวยเป็นลักษณะ ตามประการดังกล่าวมานี้ แล.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบเวทนาลักขณปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

คำว่า เวทยิตลกฺขณา เวทนา – เวทนามีการได้รับเป็นลักษณะ คือ เวทนามีการได้รับรสแห่งอารมณ์เป็นลักษณะ.  คำว่า อนุภวนลกฺขณา เวทนา – เวทนามีการเสวยเป็นลักษณะ คือ เวทนามีการเสวยรสแห่งอารมณ์เป็นลักษณะ.  คำว่า ได้รับเวทนาเห็นปานฉะนี้ คือ ได้รับรู้รสแห่งอารมณ์เห็นปานฉะนี้.  คำว่า ได้เสวยเวทนาเห็นปานฉะนี้ คือ ได้เสวยรสแห่งอารมณ์เห็นปานฉะนี้ แม้ว่าธรรมชาติที่ได้รับรสแห่งอารมณ์ก็ดี ได้เสวยรสแห่งอารมณ์ก็ดี ก็คือเวทนา เป็นธรรมชาติอันเดียวกันนั่นเองก็ตาม แต่ท่านก็กลับกล่าวว่า “ได้รับเวทนา, ได้เสวยเวทนา” แทนที่จะกล่าวว่า “ได้รับรสแห่งอารมณ์, ได้เสวยรสแห่งอารมณ์” ก็เพื่อแสดงให้เห็นสภาวะที่เป็นไปชัดเจนยิ่งแห่งเวทนาในคราวที่เวทนานั้นๆเกิดแก่บุคคล เพราะเมื่อกล่าวอย่างนี้ ก็ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจอรรถที่แจ่มแจ้งได้ ดุจความแนบแน่นแห่งอารมณ์ แม้ว่าเป็นอันเดียวกันกับอัปปนานั่นเอง ท่านก็กลับกล่าวดุจเป็นคนละอย่างกัน ว่า ย่อมแนบแน่นแห่งอัปปนา ดังนี้ เป็นต้น ฉะนั้น.  ลักษณะที่ได้รับ (รสแห่งอารมณ์) เป็นลักษณะทั่วๆไปแห่งเวทนาทั้งหลาย ตามพระสูตรที่ว่า “เวทยิตํ เวทนา ธรรมชาติที่ได้รับรสแห่งอารมณ์ชื่อว่า เวทนา” (อภิ. สํ. ๓๔/๒๒) ดังนี้ ส่วนลักษณะที่เสวย (รสแห่งอารมณ์) เป็นลักษณะพิเศษแห่งเวทนาทั้งหลาย ตามพระสูตรที่ว่า “สุขํ วา เวทนํ เวทิยมาโน สุขํ เวทนํ เวทิยามีติ ปชานาติ – เมื่อเสวยสุขเวทนาอยู่ ก็ย่อมรู้ชัดว่า เสวยสุขเวทนาอยู่บ้าง” ดังนี้ (ที. มหา. ๑๐/๓๒๙.).  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่ ๑๐ สัญญาลักขณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน สัญญามีอะไรเป็นลักษณะ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สญฺชานนลกฺขณา สญฺญา – สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ จำอะไรหรือ จำสีเขียวก็ได้ จำสีเหลืองก็ได้ จำสีแดงก็ได้ จำสีขาวก็ได้ ขอถวายพระพร สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะตามประการดังกล่าวมานี้.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรเปรียบเหมือนว่าขุนคลังของพระราชา เข้าไปในเรือนคลังแล้วเห็นรูปทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องใช้ของพระราชา ที่มีสีเขียว มีสีเหลือง มีสีแดง มีสีขาว ก็ย่อมจำได้ ฉันใด ขอถวายพระพร สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบสัญญาลักขณปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของสัญญา ชื่อว่า สัญญาลักขณปัญหา.  สัญญา ชื่อว่า มีความจำได้เป็นลักษณะ เพราะมีความจำอารมณ์มีสีเขียวเป็นต้นนั้นได้ และเมื่อได้ทำการหมายรู้อาการพิเศษในอารมณ์นั้นคือทำให้เป็นเครื่องหมายไว้แล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จำได้อีกในภายหลัง ดุจบุคคลจำคนอื่นได้ ว่า นี้คือผู้นั้นเพราะได้หมายเอาไฝที่มีบนใบหน้าไว้ก่อนแล้ว ฉะนั้นเพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “สญฺชานนลกฺขณา สญฺญา, ตเทเวตนฺติ ปุน สญฺชานนปจฺจยนิมิตฺตกรณรสา – สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ มีการกระทำเครื่องหมายไว้เพื่อเป็นปัจจัยแก่การจำได้อีก ว่า ‘นี้คือสิ่งนั้น’ ดังนี้ เป็นรส” ดังนี้ (วิสุทฺธิมคฺค. ๓/๔๑ ฉบับภูมิพโลภิกขุ).  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่ ๑๑ เจตนาลักขณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เจตนามีอะไรเป็นลักษณะ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เจตยิตลกฺขณา เจตนา อภิสงฺขารลกฺขณา จ – เจตนามีความจงใจเป็นลักษณะ และมีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าบุรุษบางคนปรุงยาพิษแล้วก็ดื่มเองด้วย ให้คนอื่นดื่มด้วย แม้ตัวเขาเองนั้นก็เป็นทุกข์ แม้คนอื่นก็เป็นทุกข์ ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลบางคนในโลกนี้ มีเจตนาจงใจกระทำอกุศลกรรม ภายหลังจากการแตกทำลายตายไปก็พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลแม้เหล่าได้เอาเยี่ยงอย่างเขา บุคคลแม้เหล่านั้นหลังจากการแตกทำลายตายไป ก็ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่าบุรุษบางคน ปรุงเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยให้มีรสเป็นอันเดียวกัน แล้วก็ดื่มเองด้วย ให้คนอื่นดื่มด้วย ตัวเขาเองนั้นก็เป็นสุข แม้คนอื่นก็เป็นสุข ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลบางคนในโลกนี้ มีเจตนาจงใจกระทำกุศลกรรม หลังจากกายแตกทำลายตายไป ก็ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ บุคคลแม้เหล่าใดเอาเยี่ยงอย่างเขา บุคคลแม้เหล่านั้น หลังจากกายแตกทำลายตายไป ก็ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร เจตนามีความจงใจเป็นลักษณะ และมีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ ตามประการดังกล่าวมานี้.  จบเจตนาลักขณปัญหาที่ ๑๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของเจตนาชื่อว่า เจตนาลักขณปัญหา.  เมื่อความจงใจในการทำกุศลก็ดี อกุศลก็ดีเกิดขึ้น ความจงใจอันนั้นนั่นแหละเป็นลักษณะของเจตนาที่เป็นเครื่องส่อแสดงว่ามีเจตนาเกิดขึ้น ก็เจตนานั้นนั่นแหละเรียกว่า “กรรม” อย่างที่ตรัสไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ – ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ดังนี้ ถ้าจงใจทำกุศล เจตนานั้นก็ชื่อว่ากุศลกรรม ถ้าจงใจทำอกุศล ก็ชื่อว่าอกุศลกรรม ถึงความเป็นกรรมอย่างนี้แล้ว ก็ทำวิบากผลที่เป็นสุข หรือที่เป็นทุกข์ให้บังเกิดได้ในอนาคต พระเถระหมายเอาความสามารถในการทำวิบากผลให้บังเกิด แห่งเจตนาอย่างนี้แหละ จึงกล่าวว่า “เจตนามีความจงใจเป็นลักษณะ” (องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๔๕๑.)

อีกอย่างหนึ่ง แม้ไม่เพ่งถึงความเป็นกรรมในอันทำวิบากให้บังเกิด เจตนานี้ก็มีอันต้องเกิดขึ้นในจิตทุกดวงนั่นเทียว เป็นสาธารณะแก่จิตทุกดวงทุกประเภท เช่นเดียวกับนามธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ที่กล่าวไปแล้ว ก็ในขณะที่เกิดขึ้นนั้นจะมีความสามารถทำวิบากผลให้เกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม ไม่มีความสามารถอย่างนั้นก็ตาม ก็มีกิจประจำของตนอยู่อย่างหนึ่งคือ ปรุงแต่ง ได้แก่จัดแจงให้ธรรมที่เกิดร่วมกับตนได้ทำกิจของตนของตน คือจัดแจงให้ผัสสะกระทบอารมณ์ จัดแจงให้เวทนาเสวยอารมณ์ จัดแจงให้สัญญาจำอารมณ์เป็นต้น พระเถระหมายเอากิจคือการปรุงแต่งตามประการดังกล่าวมานี้ กล่าวว่า “เจตนามีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ” ดังนี้ ฉันนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาที่ ๑๒ วิญญาณลักขณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน วิญญาณมีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร วิญญาณมีความรู้ต่างๆเป็นลักษณะ.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าบุรุษผู้รักษาเมือง นั่งอยู่ที่สี่แยกกลางเมืองแล้ว ก็พึงเห็นคนผู้มาทางทิศตะวันออก พึงเห็นคนผู้มาทางทิศใต้ พึงเห็นคนผู้มาทางทิศตะวันตก พึงเห็นคนผู้มาทางทิศเหนือ ฉันใด ขอถวายพระพร บุรุษเห็นรูป (ภาพ) ใดทางตาก็ชื่อว่ารูปนั้นด้วยวิญญาณ ได้ยินเสียงใดทางหู ก็ชื่อว่ารู้เสียงนั้นด้วยวิญญาณ ดมกลิ่นใดทางจมูก ก็ชื่อว่ารู้กลิ่นนั้นด้วยวิญญาณ ลิ้มรสใดทางลิ้น ก็ชื่อว่ารู้รสนั้นด้วยวิญญาณ กระทบโผฏฐัพพะ (อารมณ์ที่กระทบกาย) ใดทางกาย ก็ชื่อว่า รู้โผฏฐัพพะนั้นด้วยวิญญาณ รู้ธรรมใดทางใจ ก็ชื่อรู้ก็ชื่อว่ารู้ธรรมนั้นด้วยวิญญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร วิญญาณมีความรู้ต่างๆเป็นลักษณะตามประการดังกล่าวมานี้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบวิญญาณลักขณปัญหาที่ ๑๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๒

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของวิญญาณชื่อว่าวิญญาณลักขณปัญหา.  ธรรมชาติอย่างเดียวกันนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกโดยชื่อหลายชื่อ คือตรัสเรียกว่า วิญญาณบ้าง ว่าจิตบ้าง ว่ามโนบ้าง ข้อนี้ สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “วิญฺญาณํ จิตฺตํ มโนติ อตฺถโต เอกํ – คำว่า วิญญาณ จิต มโน ว่าโดยสภาวะก็เป็นอันเดียวกัน” ดังนี้ (วิสุทฺธิมคฺค. ๓/๒๗ ฉบับภูมิพโลภิกขุ).  คำว่ารู้ต่างๆคือรู้อารมณ์ต่างๆทางทวารต่างๆ กล่าวคือในบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์ เป็นต้น ย่อมรู้รูปารมณ์ (ภาพ) ทางตา ย่อมรู้สัทธารมณ์ (เสียง) ทางหู ย่อมรู้คันธารมณ์ (กลิ่น) ทางจมูก ย่อมรู้รสารมณ์ (รส) ทางลิ้น ย่อมรู้โผฏฐัพพารมณ์ (ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่มากระทบกาย) ทางกาย ย่อมรู้ธัมมารมณ์ (ธรรมชาติที่เหลือจากที่จัดเป็นอารมณ์ ๕ ข้างต้น) หรือแม้อารมณ์๖ นั่นแหละ ทางใจ ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๒

ปัญหาที่ ๑๓ วิตักกลักขณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน วิตก มีอะไรเป็นลักษณะ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร อปฺปนาลกฺขโณ วิตกฺโก – วิตก มีความจรดถึงอารมณ์เป็นลักษณะ” พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าช่างไม้ย่อมทำท่อนไม้ให้จรดถึงกันตรงส่วนที่จะต่อเชื่อมกัน ฉันใด ขอถวายพระพร วิตกก็มีการจรดถึงอารมณ์เป็นลักษณะ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบวิตักกลักขณปัญหาที่ ๑๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๓

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของวิตกชื่อว่า ตักกลักขณะปัญหา.  วิตก ชื่อว่ามีการจรดถึงอารมณ์เป็นลักษณะ ก็เพราะเป็นสภาวะที่คอยยกจิตพร้อมทั้งธรรมที่เกิดร่วมกันขึ้นสู่อารมณ์ ทำให้จิตและธรรมที่เกิดร่วมกันได้รู้อารมณ์ที่วิตกยกขึ้นไปจรดถึงนั้น เพราะเหตุนั้นในอุปมาพระเถระจึงกล่าวว่า วิตกเปรียบได้ด้วยช่างไม้ที่ทำไม้ให้จรดถึงกันตรงส่วนที่จะต่อเชื่อมกัน ฉะนั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๓

ปัญหาที่ ๑๔ วิจารลักขณปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน วิจาร มีอะไรเป็นลักษณะ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร อนุมชฺชนลกฺขโณ วิจาโร – วิจาร มีการตามเคล้าอารมณ์เป็นลักษณะ”.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่ากังสดาลพอเริ่มตีแล้ว ภายหลังก็ส่งเสียงครวญต่อเนื่องกันไป ส่งเสียงกังวานต่อเนื่องกันไป ฉันใด ขอถวายพระพร พึงเห็นวิตกว่าเป็นดุจการตีครั้งแรก พึงเห็นวิจารณ์ว่าเป็นดุจเสียงครวญฉันนั้น เถิด.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบวิจารลักขณปัญหาที่ ๑๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๔

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของวิจาร ชื่อว่า วิจารลักขณปัญหา.  วิจาร ชื่อว่า มีการตามคราวอารมณ์ เพราะวิจารเป็นสภาวะที่คอยตามสืบต่ออารมณ์แก่จิต.  คำว่า พึงเห็นวิตกว่าเป็นดุจการตีครั้งแรก คือ พึงเห็นวิตกว่าเป็นดุจเสียงที่เกิดจากการตีครั้งแรก.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๔.  จบวิจารวรรคที่ ๓ ในวรรคนี้มี ๑๔ ปัญหา.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๐

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: