วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔)  กัณฑ์ที่ ๒, มิลินทปัญหาวรรคที่ ๑ มหาวรรค, ปัญหาที่ ๑ ปัญญัตติปัญหา

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จเข้าไปหาท่านพระนาคเสน ณ ที่ท่านพำนักอยู่ ครั้นเข้าไปแล้วก็ได้ตรัสสัมโมทนียกถากับท่านพระนาคเสน ตรัสสัมโมทนียกถาอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกันเสร็จแล้ว ก็ทรงนั่งณที่สมควรส่วนหนึ่ง แม้ท่านพระนาคเสนก็ได้ทำพระทัยของพระเจ้ามิลินท์ให้ทรงยินดีด้วยคำสัมโมทนียาคาถาตอบ.   ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสกับท่านพระนาคเสน ว่า พระคุณเจ้าคนทั้งหลายรู้จักท่านอย่างไร พระคุณเจ้าชื่อไร

พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร คนทั้งหลายรู้จักอาตมาภาพว่า พระนาคเสน เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันก็เรียกอาตมาภาพ ว่า นาคเสน ก็แต่ว่ามารดาบิดาตั้งชื่อเรียกอาตมาภาพว่า นาคเสน บ้าง ว่า สูรเสน บ้าง ว่า วีรเสน บ้าง ว่า สีหเสน บ้าง ขอถวายพระพรก็แต่คำว่า นาคเสน นี้ เป็นเพียงคำกล่าวถึง เป็นเพียงสมัญญา (ชื่อที่รู้จักกันดี) เป็นเพียงบัญญัติ (ชื่อแต่งตั้ง) เป็นเพียงโวหาร (ชื่อร้องเรียก) เป็นเพียงนาม (ชื่ออย่างหนึ่ง) เท่านั้น ความจริงในชื่อว่านาคเสนนี้ หามีบุคคลอยู่ไม่ (วีระ = องอาจ / ณัฏฐ)

ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสอย่างนี้ ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทั้งพวกข้าหลวงโยนก ๕๐๐ คน ทั้งภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป ขอจงฟังข้าพเจ้า พระนาคเสนนี้ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ความจริงในชื่อนาคเสนนี้ หามีบุคคลอยู่ไม่ ควรหรือหนอที่พระนาคเสนจะเปล่งคำนั้นออกมา ดังนี้

ต่อจากนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ได้ตรัสถึงความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสนว่า พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าท่านไม่มีบุคคลไซร้ ใครเล่าถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเครื่องบริขารคือยาที่เป็นปัจจัยสำหรับคนไข้ แก่พวกท่าน ใครรับเอาจีวรเป็นต้นนั้น ใครรักษาศีล ใครบำเพ็ญภาวนา ใครทำพระนิพพานให้แจ้ง ใครฆ่าสัตว์ ใครรับเอาของที่เขามิได้ให้ ใครประพฤติผิดในกาม ใครกล่าวคำเท็จ ใครดื่มน้ำเมา ใครทำอนันตริยกรรม ๕ เพราะเหตุนั้น ก็ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล ผู้ทำกุศลกรรมและอกุศลกรรมก็ดี ผู้ใช้ให้ทำก็ดี ก็ไม่มี ผลวิบากของกรรมดีกรรมชั่วก็ไม่มี พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ใดฆ่าท่าน แม้ผู้นั้นหาชื่อว่ามีการทำปาณาติบาตไม่ พระคุณเจ้านาคเสน แม้แต่ตัวท่านก็ไม่มีอาจารย์หรอก ไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีการอุปสมบท คำที่ท่านกล่าวว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันก็เรียกอาตมาภาพว่า นาคเสน ดังนี้ ใด ในคำนี้อะไรเป็นนาคเสนเล่า เส้นผมหรือ เป็นนาคเสน ?

พระนาคเสน หามิได้ มหาบพิตร.   พระเจ้ามิลินท์ ขนหรือ เป็นนาคเสน ?.  พระนาคเสน หามิได้ มหาบพิตร.

พระเจ้ามิลินท์ เล็บหรือ ฟันหรือ หนังหรือ เนื้อหรือ กระดูกหรือ เยื่อในกระดูกหรือ ไตหรือ หัวใจหรือ ตับหรือ พังผืดหรือ ม้ามหรือ ปอดหรือ ไส้ใหญ่หรือ ไส้น้อยหรือ อาหารใหม่หรือ อาหารเก่าหรือ ดีหรือ เสมหะหรือ น้ำหนองหรือ เลือดหรือ เหงื่อหรือ มันเหลวหรือ น้ำตาหรือ ไขมันหรือ น้ำลายหรือ น้ำมูกหรือ ไขข้อหรือ น้ำมูตรหรือ ฯลฯ มันสมองหรือ เป็นนาคเสน ?.  พระนาคเสน หามิได้ มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์ รูปหรือ เป็นนาคเสน, พระนาคเสน หามิได้ มหาบพิตร

พระเจ้ามิลินท์ เวทนาหรือ เป็นนาคเสน สัญญาหรือ เป็นนาคเสน สังขารหรือ เป็นนาคเสน วิญญาณหรือ เป็นนาคเสน พระคุณเจ้า อื่นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณหรือ เป็นนาคเสน ?.  หาไม่ได้ มหาบพิตร.   พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าถามแล้วถามเล่า ก็ยังไม่พบเห็นนาคเสนนั้นเลย เสียงที่เปล่งว่า นาคเสน หรือเป็นนาคเสน พระคุณเจ้า ?. พระนาคเสน หามิได้ มหาบพิตร.    พระเจ้ามิลินท์ ก็ในคำว่า นาคเสน นี้ ไหนนาคเสนเล่า ท่านพูดจาเหลาะแหละเป็นมุสาวาทนะ พระคุณเจ้า นาคเสนไม่มีหรอก

ลำดับนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้ถวายพระพรพระเจ้ามิลินท์ว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติละเอียดอ่อนเสียเหลือเกิน เมื่อพระองค์เสด็จดำเนินมาด้วยพระบาทในตอนเที่ยงวัน ทรงเหยียบไปบนพื้นดินที่แดดแผดเผา บนทรายร้อน บนแผ่นกรวดแข็ง พระบาททั้งสองก็ระบมไป พระวรกายก็ย่อมลำบาก พระทัยก็เดือดร้อน พระกายวิญญาณที่สหรคตด้วยทุกข์ก็ย่อมเกิดขึ้น พระองค์เสด็จดำเนินมาด้วยพระบาทหรือ หรือว่าด้วยยานพานะเล่า ?

พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ามิได้ใช้ไม้เท้าเดินมาหรอก ข้าพเจ้ามาด้วยรถ.   พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าหากว่าพระองค์เสด็จมาด้วยรถไซร้ ก็ขอจงทรงบอกรถให้อาตมาภาพทราบ ขอถวายพระพร งอนรถหรือ เป็นรถ ?. พระเจ้ามิลินท์ หามิได้ พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน เพลาหรือ เป็นรถ.   หามิได้ พระคุณเจ้า.   ล้อทั้งหลายหรือเป็นรถ, หามิได้ พระคุณเจ้า

ประทุนหรือเป็นรถ ไม้คานรถ หรือเป็นรถ แอกหรือเป็นรถ สายบังเหียนหรือเป็นรถ ไม้ปฏักหรือเป็นรถ, หามิได้ พระคุณเจ้า ขอถวายพระพร งอน เพลา ล้อ ประทุนรถ ไม้คานรถ แอก สายบังเหียน ไม้ปฏัก หรือเป็นรถ ?, หามิได้ พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมาภาพถามแล้วถามเล่าก็ยังไม่พบเห็นรถนั้นเลยเสียงที่เปล่งว่ารถ หรือที่เป็นรถ มหาบพิตร, พระเจ้ามิลินท์ หามิได้ พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, ก็ในคำว่า รถ นี้ ไหนรถเล่า ขอถวายพระพร พระองค์ตรัสเหลาะแหละเป็นมุสาวาท รถไม่มีหรอก ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ก็จัดว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในชมพูทวีปทั้งสิ้น ทรงกลัวใครกันเล่า จึงได้ตรัสมุสาวาท ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทั้งพวกข้าหลวงโยนก ๕๐๐ คนทั้งพระภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป ขอจงฟังข้าพเจ้า พระเจ้ามิลินท์พระองค์นี้ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ามาด้วยรถ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่าขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าหากว่าพระองค์เสด็จมาด้วยรถไซร้ ก็ขอจงทรงบอกรถให้อาตมาภาพทราบ ดังนี้แล้วพระราชาไม่ทรงสามารถยืนยันถึงสิ่งที่ชื่อว่ารถได้ ควรหรือหนอที่พระองค์จะทรงเปล่งรับสั่งเช่นนั้นออกมา

เมื่อท่านพระนาคเสนกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าหลวงโยนก ๕๐๐ คน ก็ได้ให้สาธุการแก่ท่านพระนาคเสน แล้วกราบทูลความข้อนั้นกับพระเจ้ามิลินท์ ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บัดนี้พระองค์เมื่อทรงสามารถ ก็ขอจงรับสั่งเถิด พระเจ้าข้า.   ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ ได้ตรัสข้อความความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสน ว่า พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้ามิได้กล่าวมุสาหรอก อาศัยงอนรถด้วย อาศัยเพลารถด้วย อาศัยล้อด้วย อาศัยประทุนรถด้วย อาศัยคานรถด้วย จึงมีคำกล่าวถึง มีสมัญญา มีบัญญัติ มีโวหาร มีเพียงชื่อเป็นไปว่า “รถ” แล.   พระนาคเสน ขอถวายพระพร ดีจริงที่พระองค์ทรงรู้จักรถ ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปมัยก็ฉันนั้น แม้อาตมาภาพ อาศัยเส้นผมด้วย อาศัยขนด้วย ฯลฯ อาศัยมันสมองด้วย อาศัยรูปด้วย อาศัยเวทนาด้วย อาศัยสัญญาด้วย อาศัยสังขารด้วย อาศัยวิญญาณด้วย จึงมีคำกล่าวถึง มีสมัญญา มีบัญญัติ มีโวหาร มีเพียงชื่อเป็นไป ว่า “นาคเสน” ก็ในชื่อว่านาคเสนนี้หามีบุคคลโดยปรมัตถ์ไม่ ขอถวายพระพร พระวชิราภิกษุณี ได้กล่าวคำนี้ เบื้องพระพักตร์ผู้มีพระภาค ว่า

“ยถา หิ องฺคสมฺภารา, โหติ สทฺโท รโถ อิติ  เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ, โหติ สตฺโต ติ สมฺมติ” (สํ. สถาถ. ๑๕/๑๘๖)

แปลว่า ศัพท์ (โวหาร) ว่า รถ ย่อมมี เพราะมีองค์เครื่องประกอบ ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ก็ย่อมมีสมมุติว่า สัตว์ ฉันนั้นเหมือนกัน ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์ น่าอัศจรรย์จริง พระคุณเจ้านาคเสน น่าแปลกจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ท่านวิสัชนาปัญหาปฏิภาณที่วิจิตรยิ่งได้ ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ไซร้ ก็คงประทานสาธุการ ว่า “ดีจริง ดีจริง นาคเสน เธอแก้ปัญหาปฏิภาณที่วิจิตรยิ่งได้ ดังนี้ แน่เทียว ” (มหาภูตรูป, อุปาทายรูป – ณัฏฐ). จบบัญญัติปัญหาที่ ๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑

ในกัณฑ์ที่ ๒ คือ มิลินปัญหากัณฑ์นี้ มี ๗ วรรค คือ วรรคที่ ๑ ชื่อว่า มหาวรรคมี ๑๖ ปัญหา วรรค ที่ ๒ ชื่อว่า อัทธานวรรค มี ๙ ปัญหา วรรค ที่ ๓ อันไม่มีชื่อวรรค มี ๑๔ ปัญหา วรรคที่ ๔ ชื่อว่า นิพพานวรรค มี ๑๐ ปัญหา วรรคที่ ๕ ชื่อว่าพุทธวรรค มี ๑๐ ปัญหา วรรค ที่ ๖ ชื่อว่า สติวรรค มี ๑๑ ปัญหา และวรรคที่ ๗ ชื่อว่า อรูปธัมมววัตถานวรรค มี ๑๖ ปัญหา จึงรวมปัญหาทั้งหลายในมิลินทปัญหากันนี้ได้ ๘๖ ปัญหา

ในปัญหาที่ ๑ ในมหาวรรค นี้ ชื่อว่า ปัญญัตติปัญหา เป็นปัญหาถามเกี่ยวกับบัญญัติคือชื่อว่า นาคเสน ของพระเถระในฉบับของไทย ตอนต้นๆ ปัญหามีข้อความปรากฏอยู่อย่างนี้ก่อน ว่า “…ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามปัญหาข้อแรกกับ ท่านนาคเสน ว่า “พระคุณเจ้าข้าพเจ้าใคร่สนทนาด้วย, พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร ขอจงทรงเริ่มสนทนากันเถิด อาตมภาพก็ต้องการจะฟังอยู่, พระเจ้ามิลินท์ ข้าพเจ้าก็จะพูดแล้วละ ขอท่านจงฟัง, พระนาคเสน ขอถวายพระพร อาตมาภาพก็กำลังฟังอยู่ ขอจงรับสั่งเถิด, พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้าฟังได้ความว่าอย่างไร, พระนาคเสน มหาบพิตร รับสั่งว่ากระไร ?, พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้าข้าพเจ้าได้ถามแล้ว, พระนาคเสน ขอถวายพระพร อาตมาภาพก็ได้ถวายวิสัชนาแล้ว, พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้าท่านได้วิสัชนาว่ากระไร ?, พระนาคเสน ขอถวายพระพรพระองค์ตรัสถามว่ากระไร ?” เมื่อพระนาคเสนกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าหลวงโยนกได้ถวายเสียงสาธุการแก่พระนาคเสน…” ดังนี้ ซึ่งข้อความดังกล่าวมานี้ ไม่ปรากฏในฉบับของพม่า

คำว่า คนทั้งหลายรู้จักท่านอย่างไร ? พระคุณเจ้าชื่อไร เป็นทิฏฐิสังสันทนาปุจฉา ในบรรดาปุจฉา หรือคำถาม ๕ อย่างได้แก่ 

อทิฏฐโชตนาปุจฉา – ถามเพื่อความแจ่มแจ้งในสิ่งที่ตนยังไม่เห็นยังไม่รู้ 

ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา – ถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่ตนเห็นแล้วรู้แล้วกับท่านผู้รู้หรืออื่นๆ ความว่าเปรียบเทียบความรู้ในเรื่องนั้นๆ ของตนกับความรู้ของท่านผู้อื่น

วิมติเฉทนาปุจฉา – ถามเพื่อตัดความสงสัย ในสิ่งที่ยังมีความคลางแคลงใจ ตัดสินใจไม่ได้

อนุมติปุจฉา – ถามเพื่อให้ผู้อื่นถือเอาความเห็นคล้อยตาม เช่นว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า” เป็นต้น

กเถตุกัมยตาปุจฉา – ถามเพื่อจะกล่าว คือเพื่อต้องการจะตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นมานั้นๆ เสียเอง เช่นว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐานมี ๔ อย่างเหล่านี้, ๔ อย่างอะไรบ้าง” อย่างนี้เป็นต้น

บรรดาปุจฉา ๕ อย่างดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระปุจฉา ๒ อย่างคือ อนุมติปุจฉา และ กเถตุกัมยตาปุจฉาเท่านั้น เพราะทรงเป็นพระสัพพัญญู ไม่ทรงมีสิ่งที่ยังไม่ทรงรู้ เพราะทรงมีพระปัญญายอดเยี่ยมเหนือบัณฑิตทั้งปวง จึงไม่ทรงมีความรู้ที่พึงเปรียบเทียบกับความรู้ของบัณฑิตเหล่าอื่น เพื่อจะได้รับทราบว่า ของใครดีกว่า ถูกต้องกว่า และเพราะทรงปราศจากวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในสิ่งที่ทรงแทงตลอดทะลุปรุโปร่งด้วยพระญาณแล้ว โดยประการทั้งปวง

ถามว่า เพราะเหตุไรคำว่า “คนทั้งหลายรู้จักท่านอย่างไรท่านชื่อไร” นี้ จึงกล่าวว่าเป็นทิฏฐสังสันทนาปุจฉาเล่า ตอบว่า เพราะพระเจ้ามิลินท์ทรงทราบมาก่อนว่า พระเถระที่พระองค์จะเสด็จเข้าไปสนทนาด้วยนี้ ชื่อว่าพระนาคเสน เมื่อพบแล้วก็เพียงแต่ถามเพื่อเทียบ คือ เพื่อตรวจสอบว่ามีชื่อตรงกับที่ทรงรู้มาก่อนหรือไม่เท่านั้น

ก็ นาม – ชื่อมี ๔ อย่าง คือ สมัญญานาม ๑ คุณนาม ๑ กิตติมนาม ๑ โอปปาติกนาม ๑ ในนาม ๔ อย่างนั้น พระนามของพระราชาว่า มหาสมมติ จัดว่าเป็น สมัญญานาม เพราะมหาชนแต่ครั้งต้นกัปพร้อมใจกันขนานให้ อย่างนี้เป็นต้น นามที่ท่านผู้มีคุณสมบัติ หรือคุณวิเศษนั้นๆ ได้มาตามคุณสมบัติหรือคุณวิเศษนั้น เช่นอย่างนี้ ว่า ภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล พระวินัยธร ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก บุคคลผู้มีศรัทธา บุคคลผู้เลื่อมใส เป็นต้น ชื่อว่า คุณนาม แม้พระนามของพระตถาคตนับเป็นร้อย เช่นว่า พระภควา พระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็จัดว่าเป็นคุณนามนั่นแหละ นามที่พวกญาติจัดแจงเครื่องสักการบูชาแด่ท่านที่เป็นทักขิเณยยบุคคลเพื่อเป็นมงคลในวันตั้งชื่อเด็กผู้เกิดมา แล้วพากันคิดตั้งชื่อให้เป็นเกียรติ หรือเป็นการยกย่องว่าชื่อโน้น ว่าชื่อนี้ ชื่อว่า กิตติมนาม นามเก่าแก่ โวหารเก่าแก่ที่ใช้เรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้มาตั้งแต่ครั้งอดีต แม้ตั้งแต่ครั้งกัปก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบันนี้ เช่นว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ ทะเล แผ่นดิน ภูเขา เป็นต้น ชื่อว่า โอปปาติกนาม เพราะเป็นดุจนามที่ปรากฏขึ้นเอง ปราศจากผู้แต่งตั้ง

ในนาม ๔ อย่างนั้น นามว่า นาคเสน นี้เป็นกิตติมนาม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “ก็แต่มารดาบิดาตั้งชื่อเรียกอาตมาภาพว่า นาคเสน” เป็นต้น คำว่า ความจริงในชื่อว่า “นาคเสน” นี้หามีบุคคลอยู่ไม่ ความว่า ความจริง คำว่านาคเสน นี้ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้นหามีบุคคนที่ชื่อว่านาคเสนอยู่จริงโดยปรมัตถ์ไม่ เพราะบุคคลจะชื่อไรก็ตาม มิได้มีสภาวะเป็นรูป มิได้มีสภาวะเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ มิได้มีสภาวะเป็นอายตนะ มิได้มีสภาวะเป็นธาตุอันเป็นสิ่งที่มีจริงโดยปรมัตถ์ จึงเป็นสิ่งมิได้มีจริงโดยปรมัตถ์ เพียงแต่อาศัยความประชุมกัน ความเป็นไปสืบต่อกันไม่ขาดสายแห่งขันธ์ อายตนะ ธาตุเหล่านั้นเท่านั้น สมมุติโวหารบัญญัติว่า บุคคล ว่าสัตว์ ว่าหญิง ว่าชาย ว่านาคเสนเป็นต้น จึงเกิดขึ้นเป็นไป เพราะเหตุนั้น พระวชิราภิกษุณีจึงกล่าวว่า “ยถา หิ องฺคสมฺภารา” เป็นต้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ วัสสคณนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ตัวท่านกี่พรรษา ?, พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมาภาพ ๗ พรรษา, พระเจ้ามิลินท์ อะไรของท่านเล่า ๗ พรรษา ตัวท่านเองหรือชื่อว่า ๗ พรรษา หรือว่าการนับชื่อว่า ๗ พรรษา ?

ก็สมัยในสมัยนั้นแล พระฉายา (เงา) ของพระเจ้ามิลินท์ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวงติดเครื่องยศ ทอดปรากฏอยู่ที่พื้นดิน พระฉายายังปรากฏอยู่ที่อ่างน้ำด้วย ครั้งนั้นท่านพระนาคเสนได้ถวายพระพรถามความข้อนั้นกับพระเจ้ามิลินท์ ว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระฉายาของพระองค์นี้ทอดปรากฏอยู่ที่พื้นดิน ที่อ่างน้ำด้วย ขอถวายพระพร พระองค์เองชื่อว่าเป็นพระราชา หรือว่าพระฉายาชื่อว่าเป็นพระราชาเล่า ?

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าชื่อว่าพระเป็นพระราชา เงานี้หาชื่อว่าเป็นพระราชาไม่ แต่ว่าเงาเป็นไปเพราะอาศัยข้าพเจ้า.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใดอุปมัยก็ฉันนั้น การนับชื่อว่า ๗ พรรษา ตัวอาตมาภาพเองหาชื่อว่า ๗ พรรษาไม่ แต่ว่าการนับ ๗ พรรษานี้ ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยอาตมภาพ จึงมีอุปมาเหมือนเงา ขอถวายพระพร.   พระเจ้ามิลินท์, น่าอัศจรรย์จริง พระคุณเจ้านาคเสน น่าแปลกจริงพระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ท่านวิสัชชนาปัญหา ปฏิภาณที่วิจิตรยิ่งได้.  จบวัสสคณนปัญหาที่ ๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

คำว่า “วัสสคณนปัญหา” แปลว่าปัญหาเกี่ยวกับการนับพรรษา เนื้อความถามตอบในปัญหานี้ เข้าใจง่ายอยู่แล้ว แม้ว่าในปัญหาแรก ท่านพระนาคเสนได้เฉลยให้เข้าใจว่า สัตว์ บุคคล หญิง ชาย ไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์แล้วก็ตาม ถึงกระนั้นการที่ในปัญหาที่ ๒ หรือแม้ในปัญหาต่อจากนี้ไปทุกปัญหา ท่านทั้งสองยังมีการเรียกขานกันอยู่เป็นปุคคลกถา ว่า “พระคุณเจ้านาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร” ดังนี้อีก ก็ด้วยอำนาจจุดประสงค์บางอย่าง.  เป็นความจริงว่า แม้ว่าสัตว์บุคคลจะไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสปุคคลกถาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่แหละอานนท์ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเป็นต้น” ด้วยทรงมีพระประสงค์ ๘ ประการ ๘ ประการอะไรบ้าง ได้แก่ :

– เพื่อแสดงหิริโอตัปปะ – เพื่อแสดงถึงความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน (กัมมัสสกตาปัญญา / ณัฏฐ) – เพื่อแสดงการกระทำของตนแต่ละคนเฉพาะตน – เพื่อแสดงอนันตริยกรรม – เพื่อแสดงพรหมวิหาร – เพื่อแสดงปัพเพนิวาสญาณ – เพื่อแสดงทักขิณาวิสุทธิ – เพื่อความไม่ละเสียซึ่งสมมติของชาวโลก

ความว่า เมื่อตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ มีหิริ ความละอายบาป มีโอตตัปปะ ความเกรงกลัวบาป คนทั้งหลายก็ย่อมไม่เข้าใจ ไม่ทะลุปรุโปร่ง ไม่เชื่อถือ เพราะฉะนั้นเพื่อแสดงหิริโอตัปปะ ให้คนทั้งหลายเข้าใจ จึงตรัสเป็นปุคคลกถาว่า คนโน้นไม่มีหิริโอตตัปปะ ส่วนคนโน้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยหิริโอตัปปะ เช่นว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะเถิด พระอุทายีเป็นผู้หาความละอายมิได้ ไม่เกรงกลัวบาป” เป็นต้น (พระนันทะ มีหิริโอตตัปปะมาก / ณัฏฐ)

อนึ่ง เมื่อตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ มีกรรมเป็นของตน ก็อย่างนั้น คือคนทั้งหลายย่อมฟังไม่เข้าใจ ไม่ทะลุปรุโปร่ง เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงถึงความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ให้คนทั้งหลายเข้าใจทะลุปรุโปร่งเรื่องกรรม ด้วยนัยว่า ผู้ใดทำผู้นั้นย่อมรับผลของการกระทำ พระองค์จึงตรัสเป็นปุคคลกถาว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทรับเอากรรม” เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ให้สร้างเวฬุวันวิหารเป็นต้น คนทั้งหลายก็ย่อมฟังไม่เข้าใจ ไม่ทะลุปรุโปร่ง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสปุคคลกถา เพื่อแสดงการกระทำของแต่ละคนเฉพาะตน ให้เห็นว่า ผู้นั้นทำสิ่งนั้น ผู้โน้นให้ทำสิ่งโน้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผู้นั้นกระทำ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้นี้กระทำ

อนึ่ง เมื่อตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปลงชีวิตของขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น ก็อย่างนั้น คนทั้งหลายฟังแล้ว ไม่อาจเข้าใจ ไม่อาจแจ่มแจ้งในเรื่องอนันตริยกรรมได้ เพราะฉะนั้นเพื่อแสดงอนันตริยกรรม ให้ผู้ฟังเข้าใจ พระองค์จึงตรัสเป็นปุคคลกถา กล่าวถึงบุคคลผู้ทำอนันตริยกรรม และระบุประเภทบุคคลผู้ถูกมุ่งร้าย หรือได้รับความเสียหายเพราะการกระทำนั้นผู้เป็นเหตุให้กรรมถึงนั้นถึงความนับว่าเป็นอนันตริยกรรม ว่าได้แก่ มารดา บิดา เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนฟังย่อมเข้าใจอนันตริยกรรมได้แจ่มแจ้ง

อนึ่ง เมื่อตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็อย่างนั้น คนทั้งหลายฟังแล้วก็ย่อมไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้งในการเจริญพรหมวิหาร ไม่สามารถเจริญพรหมวิหารได้ เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงพรหมวิหาร ให้คนทั้งหลายฟังแล้วเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ทั้งสามารถเจริญพรหมวิหารได้ พระองค์จึงตรัสเป็นปุคคลกถา ว่าบุคคลผู้นั้นเจริญเมตตา บุคคลผู้นี้เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ผู้ใดมีจิตน้อมไปในสัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตา ผู้นั้นย่อมได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการแม้อารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านี้ก็ตรัสเป็นปุคคลกถา เช่นว่า “สัพเพ สัตตา – สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัพเพ ปุคคลา – บุคคลทั้งหลายทั้งปวง อย่างนี้” เป็นต้น เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ฟังทั้งหลายก็ย่อมเข้าใจพรหมวิหารได้แจ่มแจ้ง

อนึ่ง เมื่อตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ระลึกถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เคยอยู่ในภพก่อน ก็อย่างนั้นเหมือนกัน คือคนทั้งหลายฟังแล้วก็ย่อมไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้ง ในปุพเพนิวาสญาณ เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงปุพเพนิวาสญาณ ให้คนทั้งหลายฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง พระองค์จึงตรัสเป็นคาถาว่า “ภิกษุนั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ ฯลฯ ก็ย่อมน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในภพก่อนเป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ” เป็นต้น (ให้สังเวชในวัฏฏะ น้ำตา มากกว่า น้ำทะเล / ณัฏฐ)

อนึ่ง เมื่อตรัสว่าขันธ์ ธาตุ อายตนะ ให้ทาน, ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รับเอาทานไป ก็อย่างนั้น คนทั้งหลายฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงทักขิณาวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทักขิณาทาน กล่าวคือ ทานที่เขาให้ เขาถวายเพราะเชื่อว่ามีโลกหน้า ให้คนทั้งหลายฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องทาน ทั้งสามารถปฏิบัติตามได้ พระองค์จึงตรัสเป็นปุคคลกถาว่า มีบุคคลผู้ให้ มีบุคคลผู้รับ อีกประการหนึ่ง ผู้ให้ย่อมหวังจะได้รับอานิสงส์หรือผลตอบแทนมากๆ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสปุคคลกถาแสดงถึงบุคคลผู้รับเอาทานซึ่งเป็นผู้ทำให้ทักขิณาทานหมดจดไปตามลำดับ อันอาจหวังอานิสงส์ที่มากยิ่งขึ้นไปตามลำดับได้ เช่นตรัสว่า ให้แก่ปุถุชนผู้ทุศีลได้รับอานิสงส์น้อย ให้แก่ปุถุชนผู้มีศีลได้รับอานิสงส์มากกว่า ให้แก่ปุถุชนผู้มีศีลได้รับอานิสงส์น้อย ให้แก่พระโสดาบันได้รับอานิสงส์มากกว่า เป็นต้น (การให้ทาน มีผล / ณัฏฐ)

อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ ไม่ทรงละโลกสมมุติ (โวหาร / ณัฏฐ) ทรงดำรงอยู่ในสมมติของชาวโลก กล่าวคือสิ่งใดชาวโลกเขาสมมุติเรียกขานกันด้วยชื่อ ด้วยบัญญัติ ด้วยโวหาร ด้วยภาษา ด้วยสมัญญาใด ก็ตรัสเรียกสิ่งนั้นด้วยชื่อ ด้วยบัญญัติ ด้วยโวหาร ด้วยภาษา ด้วยสมัญญานั้นนั่นแหละ เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวได้ว่า พระองค์ตรัสเป็นปุคคลกถา เพื่อความไม่ละเสียซึ่งสมมติของชาวโลก

รวมความว่า แม้นสัตว์หรือบุคคลจะไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเป็นปุคคลกถา ด้วยทรงมีพระประสงค์ ๘ ประการตามประการดังกล่าวมานี้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ วีมังสนปัญหา (ปัญหาคารม / ณัฏฐ)

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ท่านจะสนทนากับข้าพเจ้าได้หรือไม่ ?, พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าหากว่าพระองค์จะตรัสแต่คำที่เป็นบัณฑิตวาทะ (คำพูดอย่างที่บัณฑิตทั้งหลายใช้พูดสนทนากัน) อาตมาภาพก็จะขอสนทนาด้วย แต่ถ้าหากรับสั่งแต่คำที่เป็นราชวาทะ (คำพูดอย่างที่พระราชาทั้งหลายรับสั่ง) อาตมภาพก็จะไม่ขอสนทนาด้วย

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกบัณฑิตสนทนากันอย่างไร ?, พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เมื่อมีการสนทนากัน พวกบัณฑิตทั้งหลายย่อมผูก (ปัญหา) บ้าง, แก้ (คำพูดเขา) บ้าง โต้บ้าง ทำเป็นว่าเป็นคำกล่าวชัดดีบ้าง ทำเป็นว่าคำกล่าวชัดดีกว่าบ้าง ก็พวกบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ขุ่นเคืองกันเพราะวาทะนั้น ขอถวายพระพร พวกบัณฑิตสนทนากันอย่างนี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พวกพระราชาสนทนากันอย่างไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เมื่อมีการสนทนา (หรือพูดจากัน) พระราชาทรงยืนยันเรื่องหนึ่ง ผู้ใดไม่คล้อยตามเรื่องที่ทรงยืนยันนั้น ก็จะรับสั่งให้ลงทัณฑ์ผู้นั้นว่า จงลงโทษผู้นี้ ขอถวายพระพร พวกพระราชาทั้งหลายทรงสนทนากันอย่างนี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าจะพูดจาแต่คำที่เป็นบัณฑิตวาทะ ไม่ใช่ราชวาทะ ขอพระคุณเจ้าจงวางใจที่จะพูดจากับข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ท่านพูดจากับพระภิกษุ หรือกับสามเณร หรือกับอุบาสก หรือกับคนวันเถิด จงอย่ากลัวไปเลย

พระเถระอนุโมทนาว่า, สาธุขอถวายพระพร พระราชาตรัสว่า, พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าจะขอถามปัญหาละ พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ขอจงตรัสถามเถิด พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าได้ถามแล้ว พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อาตมาภาพก็ได้ถวายวิสัชชนาแล้ว พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าท่านวิสัชชนาว่ากระไร ? พระนาคเสน, ก็มหาบพิตร ตรัสถามว่าอะไรเล่า.  จบวีมังสนปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

คำว่า วีมังสนปัญหา แปลว่า ปัญหาเกี่ยวกับการไตร่ตรองหรือสอบสวน ในที่นี้หมายถึงการไตร่ตรองคือพิจารณากันเสียก่อนว่า จะสนทนากันด้วยคำพูดเช่นไร บัณฑิตวาทะหรือราชวาทะ บัณฑิตวาทะเป็นไฉน ราชวาทะเป็นไฉน

คำพูดชื่อว่า บัณฑิตวาทะ เพราะเป็นคำพูดอย่างที่บัณฑิตทั้งหลายพูดกัน ชื่อว่า ราชวาทะ เพราะเป็นคำพูดที่พระราชาทั้งหลายรับสั่ง ก็คำพูดที่เรียกว่าวาทะในที่นี้ หมายเอาคำพูดที่คนผู้เป็นคนละฝ่ายกับอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีความคิดในเรื่องเดียวกัน มีความคิดเสมอเหมือนกัน ยกขึ้นมาใช้ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนั้นๆ

คำว่าผูก (ปัญหา) คือ ผูก (ปัญหา) ก่อนได้แก่ตั้งปัญหาไว้ให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ แม้จะไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าตั้งปัญหานี้แล้ว ก็เป็นโอกาสที่ท่านจะกล่าวแก้แล้วละ ดังนี้ก็ตาม ถึงกระนั้น เพียงแต่พูดถึงเท่านั้น อีกฝ่ายได้ฟังแล้วก็รู้ว่า เป็นคำที่เราต้องแก้ ต้องคลี่คลาย

คำว่า แก้ (คำพูดเขา) ความว่า ทีแรกก็ยกโทษ คือชี้ให้เขาเห็นความผิดหรือข้อบกพร่องในปัญหาหรือคำที่เขาพูดแล้วแก้หรือสะสาง คลี่คลายคำที่เขาผูกขึ้นมานั้น คำว่า ข่ม คือ ข่มเขา ทำนองว่าเขาพูดผิดพลาด เช่นอย่างนี้ว่า คำก่อนกับคำหลังที่ท่านพูดมานั้น ไม่สมกัน, คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวเสียทีหลัง คำที่ควรกล่าวที่หลัง ท่านก็กลับมากล่าวเสียก่อน คำพูดของท่านนี้ไม่ถูกต้อง แต่คำพูดของข้าพเจ้าถูกต้อง ดังนี้ เป็นต้น คำว่า โต้ คือ รู้จักกระทำการโต้กลับ ว่า คำของข้าพเจ้านี้ถูกต้องแล้ว ไม่ผิดพลาดหรอก แต่แม้ว่าถูกต้องไม่ผิดพลาดท่านประสงค์จะยกความผิดพลาด ท่านจึงกล่าวถึงคำพูดแม้ไม่ผิดพลาด ว่าเป็นผู้คำพูดผิดพลาด ดังนี้ อย่างนี้เป็นต้น

คำว่า ทรงยืนยันเรื่องหนึ่ง คือทรงยืนยันเรื่องที่รับสั่งเรื่องหนึ่ง คำว่า ไม่คล้อยตาม คือ คำกราบทูลให้ทรงทราบว่าเป็นรับสั่งที่ไม่ถูกต้อง คำว่า จงวางใจ คือจงทำใจให้สนิทสนมคุ้นเคย เหมือนอย่างคราวที่สนทนากับคนคุ้นเคยทั้งหลาย มีภิกษุ สามเณร อุบาสก คนวัดเป็นต้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ อนันตกายปัญหา

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ทรงเกิดพระราชดำริข้อนี้ขึ้นมา ว่า “พระภิกษุรูปนี้ เป็นบัณฑิตผู้มีความสามารถพอที่จะสนทนากับเราได้หนอ ก็เรื่องที่เราควรจะถามมีมากมาย เรื่องเหล่านั้นเรายังไม่ได้ถามเลย แต่ว่า พระอาทิตย์กำลังจะถึงเวลาตก ถ้ากระไรพรุ่งนี้เราอาจได้สนทนากันในเมือง” ดังนี้

ลำดับนั้นแล พระราชาจึงรับสั่งข้อความความข้อนั้นกับเทวมันติยอำมาตย์ ว่า นี่แน่ะ เทวมันติยะ ถ้าอย่างนั้นนะ เธอจงไปเรียนพระคุณเจ้าเถิดว่า พรุ่งนี้ ท่านจะมีการสนทนากับพระราชาในเมือง ดังนี้เถิด พระเจ้ามิลินท์รับสั่งความข้อนี้แล้ว ก็ทรงลุกขึ้นจากพระแท่นอาสนะ ตรัสลาพระนาคเสนเถระ เสด็จขึ้นรถทรงหลีกไป ทรงพึมพำไปว่า “นาคเสน นาคเสน” ดังนี้.  ต่อจากนั้นเทวมันติยอำมาตย์ก็ได้ไปเรียนความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสน ว่า พระคุณเจ้า พระเจ้ามิลินท์รับสั่งอย่างนี้ว่า พรุ่งนี้ท่านจะมีการสนทนากับพระราชาในเมือง ขอรับ พระเถระ, กล่าวเห็นด้วยว่าดีแล้วละ

ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว เทวมันติยอำมาตย์ อนันตกายอำมาตย์ มังกุรอำมาตย์ และสัพพทินนอำมาตย์ ได้พากันไปเฝ้าพระเจ้ามิลินท์ ณ ที่ประทับ ครั้นเข้าไปแล้วก็กราบทูลถามความข้อนั้นกับพระเจ้ามิลินท์ ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงโปรดให้พระคุณเจ้านาคเสนมาได้หรือยัง พระเจ้าข้า ? พระราชา เออ ขอท่านจงมาได้แล้วละ จะทรงโปรดให้ท่านมาพร้อมกับพระภิกษุจำนวนสักเท่าไหร่ พระเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าจงมาพร้อมกับพระภิกษุจำนวนตามที่ท่านต้องการเถิด

เมื่อเป็นเช่นนั้น สัพพทินนอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอจงทรงโปรดให้ท่านมาพร้อมกับภิกษุจำนวนเพียง ๑๐ รูปเท่านั้นเถิด พระเจ้าข้า พระราชาจึงรับสั่ง แม้เป็นครั้งที่ ๒ ว่า ขอพระคุณเจ้าจงมาพร้อมกับภิกษุจำนวนตามที่ท่านต้องการเถิด สัพพทินนอำมาตย์ก็ยังคงกราบทูลแม้เป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอจงทรงโปรดให้ท่านมาพร้อมกับพระภิกษุจำนวนเพียง ๑๐ รูปเท่านั้นเถิด พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่าขอพระคุณเจ้าจงมาพร้อมกับภิกษุจำนวนตามที่ท่านต้องการเถิดสะพัดที่นำมาก็ยังคงกับทุนแม้เป็นครั้งที่ 3 ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าขอจงทรงโปรดให้ท่านมาพร้อมกับพระภิกษุจำนวนเพียง ๑๐ รูปเท่านั้นเถิด พระเจ้าข้า

พระราชา ก็เครื่องสักการะทุกอย่างนี้ เราก็ได้แต่เตรียมไว้แล้ว ทั้งเราก็กล่าวอยู่ว่า ขอพระคุณเจ้าจงมาพร้อมกับพระภิกษุจำนวนตามที่ท่านต้องการ นี่แน่ะ พนายสัพพทินนอำมาตย์ผู้นี้กลับกล่าวไปโดยประการอื่น เราไม่มีความสามารถพอที่จะถวายอาหารแก่พระภิกษุทั้งหลายหรือไร เมื่อรับสั่งอย่างนี้ สัพพทินนอำมาตย์ก็ได้แต่เก้อเขินไป

ต่อจากนั้นไป เทวมันติยอำมาตย์ อนันตกาลอนันตกาลอำมาตย์ และมังกุละอำมาตย์ ได้เข้าไปหาพระท่านพระนาคเสน ณ ที่ท่านพำนักอยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ก็ได้เรียนความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสน ว่า พระคุณเจ้า พระเจ้ามิลินท์รับสั่งอย่างนี้ ว่า ขอพระคุณเจ้าจงมาพร้อมกับพระภิกษุจำนวนตามที่ท่านต้องการเถิด ลำดับนั้น ในเวลาใกล้รุ่ง ท่านพระนาคเสนนุ่งห่มถือบาตรและจีวร เข้าไปยังเมืองสาคล พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๘๐,๐๐๐ รูป.  ครั้งนั้นแล อนันตกายอำมาตย์ผู้เดินใกล้ชิดท่านพระนาคเสน ได้ถามความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสนว่า พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ท่านกล่าวว่า นาคเสน นี้ ใด ในคำนี้มีอะไรที่เป็นนาคเสนอยู่หรือ ?

พระเถระกล่าวย้อนถามว่า ก็ในคำว่านาคเสนนี้ ท่านสำคัญเอาอะไรว่าเป็นนาคเสนเล่า อนันตกายอํามาตย์ ตอบว่า พระคุณเจ้า ชีวะคือลมภายใน ย่อมเข้าและออกอยู่นั้นใด ข้าพเจ้าสำคัญเอาลมนั้นนั่นแหละ ว่าเป็นนาคเสน

พระนาคเสน, ก็ถ้าหากว่าลมนั้นออกไปแล้วไม่กลับเข้ามา เข้าไปแล้วไม่ออกมา คนเรานั้นจะพึงเป็นไปได้อยู่หรือ ? อนันตกายอำมาตย์, ไม่ได้หรอกพระคุณเจ้า นักเป่าสังข์ย่อมเป่าสังข์ ลมเป่าของคนเหล่านั้น จะกลับเข้าไปอีกหรือ ? ไม่กลับเข้าไปหรอก พระคุณเจ้า พวกนักเป่าปี่ย่อมเป่าปี่ ลมปากของคนเหล่านั้นจะกลับเข้าไปอีกหรือ ? ไม่กลับเข้าไปอีกหรอกพระคุณเจ้า พวกนักเป่าเขาสัตว์ก็ย่อมเป่าเขาสัตว์ ลมเป่าของคนเหล่านั้นจะกลับเข้าไปอีกหรือ ? ไม่กลับเข้าไปอีกหรอกเพราะคุณเจ้า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรคนเรานั้นจึงไม่ตายเล่า ? ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถจะสนทนากับท่านผู้เป็นเจ้าวาทะได้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอธิบายความด้วยเถิด (คิดว่า ชีวะ เป็นอัตตา / ณัฏฐ)

พระเถระได้กล่าวอภิธรรมกถาว่า “ชื่อว่าลมหายใจเข้าและลมหายใจออก นี้ หาใช่ชีวะไม่, นี้ชื่อว่ากายสังขาร” (ปรุงแต่งกาย / ณัฏฐ) ดังนี้เป็นต้น ลำดับนั้นอนันตกายอำมาตย์ก็ได้ประกาศความเป็นอุบาสก.  จบอนันตกายปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔  

คำว่า อนันตกายปัญหา แปลว่าปัญหาของอนันตกายอำมาตย์, คำว่า ลมภายใน คือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกภายในตัวของท่าน

สิ่งที่ผู้ถามกล่าวถึง ว่า ชีวะ โดยโวหารก็ได้แก่สัตว์ ซึ่งในคำวิสัชชนาต่อไปข้างหน้า พระเถระจะปฏิเสธว่าขึ้นชื่อว่า ชีวะ นี้ ไม่มีจริง

คำว่า สังข์ ได้แก่คู่สังข์ที่เขาเป่า ๒ – ๓ ครั้งในเวลาที่พระราชาเสด็จออก.  คำว่า ปี่ ได้แก่เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เป็นกระบอกกลวง.  คำว่า เขาสัตว์ ได้แก่เขากระบือ เขาโค เป็นต้น.  ในคำว่า กายสังขาร นี้ ก่อนอื่น ชื่อว่า สังขาร มี ๓ อย่าง เหมือนอย่างที่วิสาขอุบาสกกับพระธัมมทินนาภิกษุณี ถาม – ตอบกันใน จูฬเวทัลลสูตร อย่างนี้ว่า :-

– วิสาขาอุบาสก, คุณแม่ สังขารมีเท่าไหร่ ? – พระธัมมทินนาเถรี, ท่านวิสาขะ สังขารมี ๓ อย่าง เหล่านี้คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร – วิสาขาอุบาสก, คุณแม่ กายสังขารคืออะไร วจีสังขารคืออะไร จิตตสังขารคืออะไร ? – พระธัมมทินนาเถรี, ท่านวิสาขะ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกชื่อว่า กายสังขาร วิตก (ความคิด) วิจารณ์ (ความใคร่ครวญ) ชื่อว่า วจีสังขาร, สัญญา (ความจำได้หมายรู้) และ เวทนา (ความเสวยอารมณ์) ชื่อว่า จิตตสังขาร

– วิสาขาอุบาสก, คุณแม่เพราะเหตุใดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากายสังขาร, เพราะเหตุใดวิตกและวิจารจึงชื่อว่า วจีสังขาร เพราะเหตุใดสัญญาและเวทนาจึงชื่อว่า จิตตสังขาร ?

– พระธัมมทินนาเถรี, ท่านวิสาขะ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นของมีในกาย ธรรมเหล่านี้เนื่องอยู่กับกาย (เกี่ยวกับว่าเป็นของที่กายปรุงแต่ง คือสร้างขึ้น) เพราะฉะนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่า กายสังขาร (สิ่งที่กายปรุงแต่งขึ้น) ท่านวิสาขะ บุคคลย่อมคิดใคร่ครวญ (เกี่ยวกับคำพูดที่จะเปล่ง และเรื่องที่จะพูด) เสียก่อน แล้วจึงเปล่งวาจาในภายหลัง เพราะฉะนั้น วิตกและวิจารจึงชื่อว่า วจีสังขาร (สิ่งที่ปรุงแต่งวาจา) สัญญาและเวทนา เป็นของมีในจิต ธรรมเหล่านี้เนื่องกับจิต เพราะฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่า จิตตสังขาร (สิ่งที่จิตปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งจิต) ดังนี้

พระนาคเสนเถระกล่าวอภิธรรมกถา เกี่ยวกับความเป็นกายสังขารแห่งลมหายใจเข้า – ออก โดยประการที่เป็นสิ่งเนื่องอยู่กับกาย หมายความว่า เป็นของที่กายปรุงแต่งคือสร้างขึ้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา: http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: