"การเพ่งโทษผู้อื่นทำให้ใจไม่เป็นสุข"
" .. เมื่อโกรธก็มักจะเพ่งโทษไปที่ผู้อื่นว่า เป็นเหตุให้ความโกรธเกิดขึ้น คือมักจะไปคิดว่าผู้อื่นนั้นพูดเช่นนั้น ทำเช่นนั้นที่กระทบกระเทือนถึงผู้โกรธ "การเพ่งโทษผู้อื่นเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการทำให้จิตใจตนเองสบาย" ตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มความไม่สบายให้ยิ่งขึ้นเพียงนั้น
"แต่ถ้าหยุดเพ่งโทษผู้อื่นเสีย" เขาจะพูดจะทำอะไรก็ตาม อย่าไปเพ่งดู "ให้ย้อนเข้ามาเพ่งดูใจตนเองว่า กำลังมีความสุขทุกข์อย่างไร" มีอารมณ์อย่างไร "ใจจะสบายขึ้นได้ด้วยการเพ่งนั้น"
กล่าวสั้น ๆ คือ "การเพ่งดูผู้อื่นทำให้ตนเองไม่เป็นสุข" แต่การเพ่งดูใจตนเองทำให้เป็นสุขได้ แม้กำลังโกรธมาก "หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง" เมื่อความโกรธน้อย หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อยความโกรธก็จะหมดไป
จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะกำลังมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภหรือโกรธ หรือหลงก็ตาม "หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป" ได้ความสุขมาแทนที่ ทำให้มีใจสบาย ทุกคนอยากสบาย แต่ไม่ทำเหตุที่จะให้เกิดเป็นความสบาย .. "
"วิธีฝึกใจไม่ให้โกรธ"
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ที่มา : http://www.dhammathai.org/monktalk/dbview.php?No=2338
0 comments: