มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๑) ปัญหาที่ ๑ ผัสสาทิวินิพภุชนปัญหา
วรรค ๔, นิพพานวรรค, ปัญหาที่ ๑ ผัสสาทิวินิพภุชนปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ใครๆ อาจแยกแยะธรรมทั้งหลายที่ถึงความรวมอยู่ในจิตดวงเดียวกันเหล่านี้ เพื่อให้รู้ถึงความต่างกันว่า นี้ผัสสะ นี้เวทนา นี้สัญญา นี้เจตนา นี้วิญญาณ นี้วิตก นี้วิจาร ดังนี้ ได้หรือไม่ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ใครๆไม่อาจแยกแยะธรรมทั้งหลายที่ถึงความรวมอยู่ในจิตดวงเดียวกันเหล่านี้ เพื่อให้รู้ถึงความต่างกันว่า นี้ผัสสะ นี้เวทนา นี้สัญญา นี้เจตนา นี้วิญญาณ นี้วิตก นี้วิจาร ดังนี้ ได้เลย. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่านายวิเสท (พ่อครัว) พึงทำเครื่องเสวยที่มีรสไม่ดีบ้าง ที่มีรสดีบ้าง ถวายแก่พระราชานายวิเสทผู้นั้น พึงใส่นมส้มในเครื่องเสวยนั้นบ้าง พึงใส่เกลือบ้าง พึงใส่ขิงสดบ้าง พึงใส่เม็ดยี่หร่าบ้าง พึงใส่พริกบ้าง พึงใส่เครื่องปรุงแม้อย่างอื่นๆบ้าง พระราชารับสั่งกะนายวิเสทนี้ อย่างนี้ว่า เจ้าจงแยกแยะเอารสนมสดมาให้เรา จงแยกเอารสเกลือมาให้เรา จงแยกเอารสขิงสดมาให้เรา จงแยกเอารสยี่หร่ามาให้เรา จงแยกเอารสพริกมาให้เรา จงแยกเอารสเครื่องปรุงทุกอย่างที่ใส่ลงไป มาให้เรา ดังนี้ ขอถวายพระพร บรรดารสทั้งหลายที่ถึงความรวมอยู่ในเครื่องเสวยอันเดียวกันเหล่านั้น นายวิเสทอาจคัดแยกนำมาเฉพาะรสเปรี้ยวก็ดี เค็มก็ดี ขมก็ดี เฝื่อนก็ดี เผ็ดก็ดี ฝาดก็ดี หวานก็ดี (ถวายแก่พระราชา) ได้หรือไม่ ?
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า บรรดารสทั้งหลายที่ถึงความรวมอยู่ในเครื่องเสวยอันเดียวกันเหล่านั้น นายวิเสทไม่อาจคัดแยกนำมาเฉพาะรสเปรี้ยวก็ดี เค็มก็ดี ขมก็ดี เฝื่อนก็ดี เผ็ดก็ดี ฝาดก็ดี หวานก็ดี (ถวายแก่พระราชา) ได้, แต่ถ้าว่ารสทั้งหลายก็ปรากฏ (ให้รู้ได้) โดยลักษณะที่เป็นของตนของตน. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใครๆไม่อาจแยกแยะธรรมทั้งหลายที่ถึงความรวมอยู่ในจิตดวงเดียวกันเหล่านี้ เพื่อให้รู้ถึงความต่างกันว่า นี้ผัสสะ นี้เวทนา นี้สัญญา นี้เจตนา นี้วิญญาณ นี้วิตก นี้วิจาร ดังนี้ได้เลย แต่ถ้าว่าธรรมเหล่านั้นย่อมปรากฏ (ให้รู้ได้) โดยลักษณะที่เป็นของตนของตน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบผัสสาทิวินิพภุชนปัญหาที่ ๑
คำอธิบายปัญหาที่ ๑
ในนิพพานวรรคนี้มีปัญหามาแล้ว ๑๐ ปัญหา ปัญหาที่มีการถามถึงการคัดแยกธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นชื่อว่า ผัสสาทิวินิพภุชนปัญหา. พระราชาทรงคำนึงถึงคำที่พระเถระกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ที่ว่า มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด แม้ผัสสะก็เกิดขึ้นในที่นั้น แม้เวทนาก็เกิดขึ้นในที่นั้น ฯลฯ ธรรมทุกอย่างอันมีผัสสะเป็นประมุข ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น ดังนี้แล้ว จึงทรงปรารภปัญหานี้ซึ่งมีการถามถึงการคัดแยกธรรมเหล่านั้น. คำว่า ความต่างกัน ได้แก่ความเป็นคนละอย่าง
ในอุปมา คำว่า รสทั้งหลายก็ปรากฏได้โดยลักษณะที่เป็นของตนของตน ความว่า ในเวลาที่พระราชาเสวยนั่นเอง บรรดารสทั้งหลายที่ถึงความรวมกันอยู่ในเครื่องเสวยอันเดียวกันรสเปรี้ยวนี้ ย่อมปรากฏโดยลักษณะที่เปรี้ยวของตน รสเค็มนี้ก็ย่อมปรากฏโดยลักษณะที่เค็มของตน ฯลฯ รสหวานนี้ก็ย่อมปรากฏโดยลักษณะที่หวานของตน. คำว่า อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความว่ารสแต่ละรส ย่อมปรากฏโดยลักษณะของตนของตน มีลักษณะที่เปรี้ยวเป็นต้น แก่พระราชาในคราวที่เสวย ฉันใด ธรรมทั้งหลายที่มีผัสสะเป็นต้น ที่เกิดร่วมกัน แต่ละอย่างย่อมปรากฏโดยลักษณะของตนของตน มีลักษณะที่กระทบอารมณ์เป็นต้นแก่พระโยคาวจรผู้ประสงค์จะรู้ว่าเป็นธรรมอะไร ในเวลาที่จะรู้ว่าฉันนั้นเหมือนกัน คือผัสสะนี้ย่อมปรากฏโดยลักษณะที่กระทบอารมณ์ของตน เวทนานี้ย่อมปรากฏโดยลักษณะที่เสวยอารมณ์ของตน ฯลฯ วิจารนี้ย่อมปรากฏโดยลักษณะที่ตามเค้าอารมณ์ของตน. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑
ปัญหาที่ ๒ นาคเสนปัญหา
พระเถระถวายพระพรถามว่า ขอถวายพระพร ความเค็มเป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยตาหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า เป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยตา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ทรงรู้ถูกต้องดีแล้วหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าความเค็มเป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยลิ้นหรือไร. พระนาคเสน, ถูกต้องมหาบพิตร ความเค็มเป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยลิ้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า คนเรารู้เค็มได้ด้วยลิ้นทั้งนั้นหรือ. พระนาคเสน, ถูกต้อง มหาบพิตร คนเรารู้เค็มได้ด้วยลิ้นทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าถ้าหากว่าคนเรารู้เค็มได้ด้วยลิ้นทั้งนั้นไซร้ เพราะเหตุใดจึงต้องใช้โคลากเอาเกลือนั้นมาตั้งหลายเล่มเกวียนเล่า น่าจะเอามาเฉพาะความเค็มเท่านั้นไม่ใช่หรือ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใครๆไม่อาจจะคัดเอามาเฉพาะความเค็มเท่านั้นได้ ธรรมเหล่านี้รวมอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน ถึงความเป็นอารมณ์ที่แตกต่างกัน, ขอถวายพระพรความเค็มมีน้ำหนักด้วยหรือ ใครๆอาจใช้ตาชั่งชั่งความเค็มได้หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า ใครๆอาจใช้ตาชั่งชั่งความเค็มได้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใครๆไม่อาจใช้ตาชั่งชั่งความเค็มได้หรอก น้ำหนักของเกลือเท่านั้นที่ใครๆอาจใช้ตาชั่งชั่งเอาได้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบนาคเสนปัญหาที่ ๒
คำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระนาคเสนเป็นผู้เริ่มถาม จึงชื่อว่านาคเสนปัญหา. คำว่า ถึงความเป็นอารมณ์ที่แตกต่างกัน คือเป็นอารมณ์คนละอย่างกัน ความว่า ความเค็มเป็นรสารมณ์ (อารมณ์คือรส)) ในบรรดาอารมณ์ ๖ ก้อนเกลือเป็นประชุมแห่งธาตุ ๔ มีธาตุดินเป็นต้น ธาตุ ๓ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ส่วนธาตุน้ำเป็นธรรมารมณ์ ภาพก้อนเกลือเป็นรูปารมณ์ กลิ่นเป็นสัทธารมณ์ น้ำหนัก (หรือความหนัก – เบา) เป็นธรรมารมณ์ ฯลฯ พระเถระประสงค์จะแสดงความเป็นอารมณ์ที่แตกต่างกันแห่งธรรมที่เนื่องอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกันนั้น จึงถวายพระพรถามว่า ใครๆใช้ตาชั่ง ชั่งความเค็มได้หรือ พระราชาเพราะทรงสำคัญว่าก้อนเกลือกับความเค็มเป็นธรรมชาติอันเดียวกัน จึงจึงทรงตอบรับว่า ใช่พระคุณเจ้า ใครๆอาจใช้ตาชั่ง ชั่งความเข้มได้ดังนี้ เพราะเหตุนั้นพระเถระจึงปฏิเสธความสำคัญผิดของพระราชา แล้วถวายพระพรให้ทราบว่า เป็นอารมณ์คนละอย่าง. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหาที่ ๓ ปัญจายตนกัมมมนิพพัตตปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน อายตนะ ๕ อย่างเหล่านี้ บังเกิดจากกรรมต่างๆกัน หรือว่าบางเกิดจากกรรมเดียวกันเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อายตนะ ๕ อย่าง บังเกิดจากกรรมต่างๆกัน หาบังเกิดจากกรรมเดียวกันไม่. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ชาวไร่พึงหว่านเมล็ดพืชชนิดต่างๆกันในไร่แห่งหนึ่ง เมล็ดพืชชนิดต่างๆกันเหล่านั้น พึงบังเกิดผลชนิดต่างๆใช่หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า พึงบังเกิดผลชนิดต่างๆกัน. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน อายตนะ ๕ อย่างเหล่าใดๆ อายตนะ ๕ อย่างเหล่านั้นๆ ล้วนบังเกิดจากกรรมต่างๆกัน หาเกิดจากกรรมเดียวกันไม่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบปัญจายตนกัมมมนิพพัตตปัญหาที่ ๓
คำอธิบายปัญหาที่ ๓
ปัญหาที่มีการถามถึงอายตนะ ๕ อย่างซึ่งเป็นของบางเกิดจากกรรมชื่อว่า ปัญจายตนกัมมมนิพพัตตปัญหา. คำว่าอายตนะ ๕ อย่างได้แก่อายตนะที่เป็นทวาร ๕ อย่างคือ จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ และ กายายตนะ. คำว่าบางเกิดจากกรรมต่างๆกัน ความว่า จักขายตนะ คือ ประสาทตาย่อมบังเกิดจากกรรมที่สำเร็จเพราะรูปตัณหาคือความยินดีพอใจในรูป, โสตายตนะ คือ ประสาทหูย่อมบังเกิดจากกรรมที่สำเร็จเพราะสัททตัณหา คือความยินดีพอใจในเสียง, ฆานายตนะ คือ ประสาทจมูก ย่อมบังเกิดจากกรรมที่สำเร็จเพราะคันธตัณหา คือความยินดีพอใจในกลิ่น, ชิวหายตนะ ย่อมบังเกิดจากตามที่สำเร็จเพราะรสตัณหา คือความยินดีพอใจในรส, กายายตนะ ย่อมบังเกิดจากกรรมที่สำเร็จเพราะโผฏฐัพพตัณหา คือ ความยินดีพอใจใน ความร้อนเย็น อ่อนแข็ง ที่มากระทบกาย
อนึ่ง อายตนะแม้นทั้ง ๕ นั้นแหละของสัตว์ผู้บังเกิดทุคติ ย่อมบังเกิดจากอกุศลกรรม ส่วนของสัตว์ผู้บังเกิดในสุคติย่อมบังเกิดจากกุศลกรรม ฉะนี้แล. ในอรรถกถามิลินทปัญหา ท่านยังจำแนกไปตามความต่างกันแห่งกรรม ๒ อย่าง คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม อย่างนี้อีกว่า ในคราวใดเมื่อบุคคลเกิดทัสสนกิจ (กิจคือการเห็นรูป) เห็นรูปว่าน่าปรารถนาด้วยตา ในคราวนั้น จักขวายตนะย่อมบังเกิดจากกุศลกรรมอย่างเดียว ฯลฯ ในคราวใดเมื่อเกิดทัสสนกิจเห็นรูปที่ไม่น่าปรารถนาด้วยตา ในคราวนั้นย่อมบังเกิดจากอกุศลกรรมอย่างเดียว ดังนี้ ท่านไม่น่ากล่าวอย่างนี้ เพราะว่าอัตภาพความเป็นมนุษย์ อันรวมทั้งอายตนะคือประสาท ๕ อย่างนี้ บังเกิดเพราะกุศลกรรมที่ทำไว้ในภพก่อนแต่อย่างเดียว ในเวลาที่เห็นรูปด้วยตา รูปนั้นจะน่าปรารถนาก็ตาม ไม่น่าปรารถนาก็ตาม หามีอำนาจเปลี่ยนแปลงประสาท ๕ อันเป็นรูปธรรมเหล่านี้ไม่ ก็คงเป็นรูปที่เกิดจากกุศลกรรมแต่อย่างเดียว เพราะรูปเป็นธรรมชาติมืดบอด ไม่รู้อารมณ์ วิบากคือจักขุวิญญาณที่เห็นรูปเท่านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ คือหากรูปที่เห็นนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ น่าปรารถนา จักขุวิญญาณนั้นก็เป็นวิบากที่เกิดจากกุศลกรรม หากรูปที่เห็นนั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่ปรารถนา จักขุวิญญาณนั้นก็เป็นวิบากที่เกิดจากอกุศลกรรม เพราะวิบากเป็นนามธรรม เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จึงเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ แม้อายตนะ ๔ ที่เหลือ ก็พึงทราบโดยนัยนี้เถิด. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓
ปัญหาที่ ๔ กัมมนานากรณปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุใดมนุษย์ทุกคนจึงไม่เสมอเหมือนกัน คือพวกหนึ่งมีอายุสั้น พวกหนึ่งมีอายุยืน พวกหนึ่งมีความเจ็บไข้ได้ป่วยมาก พวกหนึ่งมีความเจ็บไข้ได้ป่วยน้อย พวกหนึ่งมีผิวพรรณทราม พวกหนึ่งมีผิวพรรณงดงาม พวกหนึ่งมียศศักดิ์น้อย พวกหนึ่งมียศศักดิ์มาก พวกหนึ่งมีโภคทรัพย์น้อย พวกหนึ่งมีโภคทรัพย์มาก พวกหนึ่งมีสกุลต่ำ พวกหนึ่งมีสกุลสูง พวกหนึ่งมีปัญญาทราม พวกหนึ่งมีปัญญามาก ? พระเถระถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร เพราะเหตุใดต้นไม้ทุกจำพวกจึงไม่เสมอเหมือนกัน คือจำพวกหนึ่งเปรี้ยว จำพวกหนึ่งเค็ม จำพวกหนึ่งเผ็ด จำพวกหนึ่งขม จำพวกหนึ่งฝาด จำพวกหนึ่งหวาน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าต้นไม้ทุกจำพวกไม่เสมอเหมือนกันเพราะเหตุคือมีความแตกต่างแห่งพรรณ (ชนิด) พืช. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น เหมือนกันมนุษย์ทุกคนไม่เสมอเหมือนกันคือ พวกหนึ่งอายุสั้น พวกหนึ่งมีอายุยืน พวกหนึ่งมีความเจ็บไข้ได้ป่วยมาก พวกหนึ่งมีความเจ็บไข้ได้ป่วยน้อย พวกหนึ่งมีผิวพรรณทราม พวกหนึ่งมีผิวพรรณงาม พวกหนึ่งมียศศักดิ์น้อย พวกหนึ่งมียศศักดิ์มาก พวกหนึ่งมีสกุลต่ำ พวกหนึ่งมีสกุลสูง พวกหนึ่งมีปัญญาทราม พวกหนึ่งมีปัญญามาก เพราะเหตุคือความแตกต่างกันแห่งกรรม ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :-
“ กมฺมสฺสกา มาณว สตฺตา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย. ” ( ม. อุ. ๑๔/๓๔๒)
“ นี่แนะ มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทรับกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพิงอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์เพื่อให้เป็นผู้เลวและประณีต ” ดังนี้.
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว จบกัมมนานากรณปัญหาที่ ๔
คำอธิบายปัญหาที่ ๔
ปัญหาที่มีการกล่าวถึงเหตุคือควาต่างกันแห่งกรรมชื่อว่า กัมมนานากรณปัญหา – คำว่า กมฺมสฺสกา – มีกรรมเป็นของตน คือ มีกรรมเป็นสมบัติของตน – คำว่า กมฺมทายาทา – เป็นทายาทรับกรรม คือ มีกรรมเป็นมรดก หมายความว่าผู้ใดทำกรรมจะเป็นกุศลก็ตามอกุศลก็ตาม ต่อไปข้างหน้าผู้นั้นนั่นแหละเป็นผู้รับมรดก คือกรรมนั้นจะมอบให้ผู้อื่นมารับแทนหาได้ไม่ กล่าวคือ ต้องเสวยวิบากที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง อันเนื่องมาจากกรรมนั้น ด้วยตนเอง – คำว่า กมฺมโยนี – มีกรรมเป็นกำเนิด คือ มีกรรมเป็นเหตุความว่า ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย กรรมมีส่วนเป็นเหตุอย่างสำคัญ – คำว่า กมฺมพนฺธู – มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ มีกรรมเป็นญาติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมีบิดามารดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงเป็นต้น เป็นญาติผู้อุปการะบ้าง เบียดเบียนบ้าง ฉันใด ก็มีกรรมของตนนี่แหละ เป็นญาติผู้อุปการะบ้าง เบียดเบียนบ้างฉันนั้น
คำว่า กมฺมปฏิสรณา – มีกรรมเป็นที่พึ่งพิงอาศัย คือ มีกรรมเป็นที่พึ่ง มีกรรมเป็นที่ตั้งอาศัย ซึ่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง – คำว่า เพื่อให้เป็นผู้เลวและประณีต หมายความว่า ความเป็นคนมีอายุสั้นชื่อว่าเลว ความเป็นคนมีอายุยืนชื่อว่าประณีต (คือดี) ความเป็นผู้มีความเจ็บไข้ได้ป่วยมากชื่อว่าเลว ความเป็นผู้มีความเจ็บไข้ได้ป่วยน้อยชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามชื่อว่าเลว ความเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้มียศศักดิ์น้อยชื่อว่าเลว (ยศศักดิ์น้อย เพราะอิจฉามาก) ความเป็นผู้มียศศักดิ์มากชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้มีโภคทรัพย์น้อยชื่อว่าเลว ความเป็นผู้มีโภคทรัพย์มากชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้มีสกุลต่ำชื่อว่าเลว ความเป็นผู้มีสกุลสูงชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้มีปัญญาทรามชื่อว่าเลว ความเป็นผู้มีปัญญามากชื่อว่าประณีต ฉะนี้แล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔
ปัญหาที่ ๕ วายามกรณปัญหา (ความเพียร)
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า ถ้ากระไรทุกข์นี้จึงดับไปเสีย และทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้นดังนี้ไม่ใช่หรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรการบวชของพวกอาตมภาพ ก็มีข้อที่ว่านี้เป็นประโยชน์. พระเจ้ามิลินท์, ประโยชน์อะไรด้วยการเพียรแต่เนิ่นๆเล่า น่าจะเพียรเมื่อเวลามาถึง ไม่ใช่หรือ ? พระเถระวิสัชนาว่า ขอถวายพระพรความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียงแต่เนิ่นๆเท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาขุดบ่อเก็บน้ำ รับสั่งให้เขาขุดสระน้ำ ในเวลาที่พระองค์ทรงกระหายน้ำ แล้วทรงมีพระราชดำริว่า เราจะดื่มน้ำ ดังนี้หรือไร. พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึงเป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียงแต่เนิ่นๆเท่านั้นเป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา ให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาไถนา รับสั่งให้เขาหว่านข้าวสาลี รับสั่งให้เขาเก็บข้าวในเวลาที่พระองค์ทรงหิวแล้วทรงมีพระดำริว่า เราจะกินข้าว ดังนี้หรือไร
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึงเป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียงแต่เนิ่นๆเท่านั้นเป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา ให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาขุดคูเมือง รับสั่งให้เขาสร้างกำแพง รับสั่งให้เขาทำซุ้มประตู รับสั่งให้เขาสร้างป้อม รับสั่งให้เขารวบรวมธัญญาหารไว้ ตัวพระองค์เองก็จะทรงศึกษาในเรื่องช้าง จะทรงศึกษาในเรื่องม้า จะทรงศึกษาในเรื่องรถ จะทรงศึกษาในเรื่องธนู จะทรงศึกษาในเรื่องดาบ ก็ในเวลาที่สงครามปรากฏขึ้นแล้ว กระนั้นหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึงเป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียงแต่เนิ่นๆเท่านั้นเป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้ ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-
“บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ก็พึงทำสิ่งนั้นเสียแต่เนิ่นๆ เถิด บุคคลผู้เป็นปราชญ์ไม่ควรคล้อยตามความคิดของพ่อค้าเกวียน รู้แล้วก็พึงบากบั่นเสียแต่เนิ่นๆ”
เปรียบเหมือนว่า พ่อค้าเกวียนละทิ้งทางใหญ่ที่เรียบดีเสีย ย่างขึ้นทางขรุขระ เพลาเกวียนหักไป ก็ย่อมซบเซาไป ฉันใดบุคคลผู้มีปัญญาทึบ หลีกออกจากธรรม ประพฤติเนืองๆ ซึ่งอธรรม เพราะถึงปากทางแห่งความตาย อินทรีย์แตกทำลายแล้ว ก็ย่อมซบเซาไป ฉันนั้น ดังนี้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบวายามกรณปัญหาที่ ๕
คำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาเกี่ยวกับการทำความเพียร ชื่อว่า วายามกรณปัญหา – คำว่า เมื่อเวลามาถึง พระราชาตรัสหมายเอาเวลาแก่เฒ่าใกล้ตาย – คำว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน คือ กิจใดเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง คือ นิพพาน – คำว่า หลีกออกจากธรรม ได้แก่หลีกออก คือละเว้นจากการทำกุศล – คำว่า ประพฤติเนืองๆซึ่งอธรรม คือ ประพฤติในเนืองๆ ซึ่งอกุศล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาที่ ๖ เนรยิกัคคิอุณหภาวปัญหา
พระราชารับสั่งว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า ไฟนรกร้อนมากยิ่งกว่าไฟปกติ ก้อนหินแม้เล็กๆ ใส่เข้าไปในไฟปกติ ถูกเผาตลอดทั้งวัน ก็หาถึงความย่อยยับไปไม่ ก้อนหินแม้โตขนาดเรือนยอด ใส่เข้าไปในไฟนรก ชั่วครู่เดียวก็ถึงความย่อยยับไป ดังนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อคำที่ว่านี้หรอก และแม้คำที่พวกท่านกล่าวอย่างนี้ว่า พวกสัตว์นรกที่อุบัติอยู่ในนรกนั้น หมกไหม้อยู่ในนรก แม้ตลอดหลายพันปี ก็ไม่ถึงความย่อยยับไป ดังนี้ข้าพเจ้าไม่เชื่อหรอก. พระนาคเสน, ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร สัตว์จำพวกมังกรก็ดี จำพวกจระเข้ก็ดี จำพวกเต่าก็ดี จำพวกนกยูงก็ดี จำพวกนกเขาก็ดี ย่อมกินก้อนหินและก้อนกรวดที่แข็งๆได้ไม่ใช่หรือ. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ยอมกินได้พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้นที่อยู่ภายในช่องท้องของสัตว์เหล่านั้น ถึงความย่อยยับไป ใช่หรือไม่ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ย่อมถึงความย่อยยับไป พระคุณเจ้า.
พระนาคเสน, ก็แต่ว่า ลูกอ่อนในท้องของสัตว์เหล่านั้น ถึงความย่อยยับไปด้วยหรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เพราะเหตุไรหรือ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ย่อมไม่ถึงความย่อยยับไป ก็เพราะเป็นสิ่งที่กรรมจัดแจง. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พวกสัตว์ทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก แม้ตลอดหลายพันปี ไม่ถึงความย่อยยับไป ก็เพราะเป็นสิ่งที่กรรมจัดแจง ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว่ ว่า
“โส น ตาว กาลํ กโรติ, ยาว น ตํ ปาปกมฺมํ พฺยนฺตีโหติ (ม. อุ. ๑๔/๓๑๐) สัตว์นรกนั้น ตราบใดที่กรรมชั่วนั้นยังไม่สิ้นสุด, ตราบนั้นจะยังไม่ตาย” ดังนี้
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สัตว์จำพวกสีหะก็ดี จำพวกเสือโคร่งก็ดี จำพวกเสือเหลืองก็ดี จำพวกสุนัขก็ดี ย่อมกินกระดูกเนื้อที่แข็งๆได้ มิใช่หรือ. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ย่อมกินได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็กระดูกเนื้อที่แข็งๆเหล่านั้นที่อยู่ภายในช่องท้องของสัตว์เหล่านั้น ย่อมถึงความย่อยยับไป ใช่หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ย่อมถึงความย่อยยับไป พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็แต่ว่าลูกอ่อนในท้องของสัตว์เหล่านั้น ถึงความย่อยยับไปด้วยหรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ย่อมไม่ถึงความย่อยยับไป ก็เพราะเป็นสิ่งที่กรรมจัดแจง. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พวกสัตว์นรกหมกไหม้อยู่ในนรกแม้ตลอดหลายพันปี ไม่ถึงความย่อยยับไป ก็เพราะเป็นสิ่งที่กรรมจัดแจง.
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวกหญิงชาวโยนกผู้สุขุมาลชาติก็ดี พวกหญิงกษัตริย์ผู้สุขุมาลชาติก็ดี ผู้หญิงพราหมณ์ผู้สุขุมาลชาติก็ดี พวกหญิงคฤหบดีผู้สุขุมาลชาติก็ดี ยอมเคี้ยวกินของขบเคี้ยวที่แข็งๆ เนื้อที่แข็งๆ ได้ไม่ใช่หรือ. พระเจ้ามิลินท์, ย่อมเคี้ยวกินได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็ของขบเคี้ยวที่แข็งๆ เนื้อที่แข็งๆ เหล่านั้น ที่อยู่ภายในช่องท้องของหญิงเหล่านั้น ย่อมถึงความย่อยยับไป ใช่หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ย่อมถึงความย่อยยับไป พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็แต่ว่าลูกอ่อนในท้องของหญิงเหล่านั้นถึงความย่อยยับไปด้วยหรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พวกสัตว์นรกหมกไหม้อยู่ในนรกแม้ตลอดหลายพันปี ไม่ถึงความย่อยยับไป ก็เพราะเป็นสิ่งที่กรรมจัดแจง ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาสิตความข้อนี้ไว้ว่า “สัตว์นรกนั้น ตราบใดที่กรรมชั่วยังไม่สิ้นสุด ตราบนั้นจะยังไม่ตาย” ดังนี้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบเนรยิกัคคิอุณหภาวปัญหาที่ ๖
คำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาที่มีการกล่าวถึงความร้อนแห่งไฟนรก ชื่อว่า เนรยิกัคคิอุณหภาวปัญหา – คำว่า กมฺมาธิกเตน แปลว่า เพราะเป็นสิ่งที่กรรมจัดแจงก็ได้ แปลว่าเพราะกรรมที่ได้จัดแจงไว้ก็ได้ หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่าเพราะกรรมที่ตนได้จัดแจงทำไว้ – คำว่า ตราบใดที่กรรมชั่วนั้นยังไม่สิ้นสุด ความว่า ตราบใดที่กรรมชั่วที่ได้จัดแจงทำไว้แล้วนั้น ยังไม่สิ้นสุด คือยังให้วิบากไม่สิ้นสุด ยังไม่สิ้นวิบาก ตราบนั้น สัตว์นรกนั้นจะยังไม่ตาย คือจะยังไม่เคลื่อนออกจากนรกนั้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาที่ ๗ ปฐวิสันธารกปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ ดังนี้ เเม้คำนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อหรอก. พระเถระใช้หม้อกรองน้ำตักน้ำ ถวายพระพรพระเจ้ามิลินท์ให้ทรงเข้าพระทัย ว่า ขอถวายพระพร น้ำนี้เป็นน้ำที่ลมรองรับไว้ฉันใด แม้น้ำที่รองรับแผ่นดินนั้น ก็เป็นน้ำที่ลมรองรับไว้ฉันนั้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบปฐวิสันธารกปัญหาที่ ๗
คำอธิบายปัญหาที่ ๗ ปัญหาที่มีการพูดถึงน้ำที่รองรับแผ่นดิน ชื่อว่า ปฐวิสันธารกปัญหา. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาที่ ๘ นิโรธนิพพานปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน นิโรธชื่อว่านิพพานหรือ ? พระนาคเสน, ถวายพระพร มหาบพิตร ถูกต้องนิโรธชื่อว่านิพพาน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน นิโรธชื่อว่านิพพานอย่างไร. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ปุถุชนคนพาลทั้งหลายทั้งปวง ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมชื่นชม ย่อมยึดติดอายตนะภายในและอายตนะภายนอกทั้งหลาย ปุถุชนคนพาลเหล่านั้นจึงถูกกระแส (ตัณหา) นั้น พัดพาไป จึงไม่พ้นจากความเกิด จากความแก่ จากความตาย จากความเศร้าโศก จากความร่ำไห้รำพัน จากความทุกข์กาย จากความทุกข์ใจ จากความคับแค้นใจ อาตมาภาพกล่าวว่า ย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ ขอถวายพระพร พระอริยสาวกผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่ชื่นชม ย่อมไม่ยึดติดอายตนะภายในและอายตนะภายนอกทั้งหลาย เมื่อพระอริยสาวกนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่ชื่นชม ไม่ยึดติดอายตนะภายในและอายตนะภายนอกทั้งหลายนั้น ตัณหาก็ย่อมดับไป เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจึงดับไป เพราะอุปาทานดับไป ภพจึงดับไป เพราะภพดับไป ความเกิดจึงดับไป เพราะความเกิดดับไป ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไห้รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ จึงดับไป นิโรธ (ความดับ) แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้โดยประการดังกล่าวมานี้ ขอถวายพระพร นิโรธชื่อว่านิพพาน อย่างที่กล่าวมานี้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านต่อสมควรแล้ว. จบนิโรธนิพพานปัญหาที่ ๘
คำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาที่มีการถามถึงนิโรธและนิพพาน ชื่อว่า นิโรธนิพพานปัญหา – คำว่า พระคุณเจ้านาคเสน นิโรธชื่อว่านิพพานอย่างไร มีความหมายว่า พระคุณเจ้านาคเสน นิโรธ (ความดับ) ของใคร เรียกนิโรธของผู้นั้นว่านิพพานได้ไฉน ? บทว่า สุตวา – ผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว คือพระอริยสาวกผู้มีสุตะ ด้วยสุตะคือพระอริยมรรค จริงอยู่ บุคคลแทงตลอดธรรมใด ธรรมนั้นชื่อว่าสุตะ แปลว่าธรรมอันตนได้สดับดีแล้ว พระอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่พระอริยสาวกแทงตลอดแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่า สุตะ – ธรรมอันได้สดับแล้วและพระอริยบุคคลทั้งหลาย ก็ชื่อว่า สุตวา ผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว. คำว่า ไม่เพลิดเพลิน ไม่ชื่นชม ไม่ยึดติด คือไม่เพลิดเพลินว่า ดี ไม่ชื่นชมว่า ดี ไม่ยึดติดว่า ดี ด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่เห็นแล้วว่าไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. ด้วยคำว่า ตณฺหานิโรธา – เพราะตัณหาดับไป อุปาทานนิโรธา – เพราะอุปทานดับไป ภวนิโรธา – เพราะภพดับไป ชาตินิโรทา – เพราะชาติดับไป ดังนี้ อันเป็นคำที่กล่าวถึงความดับไปแห่งเหตุ ท่านแสดงความดับไปแห่งสมุทัยสัจอันเป็นสัจจะที่มรรคจะพึงละให้หมดไป ส่วน ด้วยคำว่า อุปาทานนิโรโธ – อุปาทานจึงดับไป ภวนิโรโธ – ภพจึงดับ ไปชาตินิโรโธ – ความเกิดจึงดับไป ชรามรณ ฯ เป ฯ อุปายาสา นิรุชฌนฺติ – ความแก่ ความตาย ฯลฯ ความคับแค้นใจจึงดับไป อันเป็นคำกล่าวถึงความดับไปแห่งผล ท่านแสดงความดับไปแห่งทุกข์สัจจะอันเป็นสัจจะที่มรรคจะพึงกำหนดรู้ ความดับไปแห่งเหตุ ชื่อว่า นิโรธ คำว่า นิโรธ ตรัสหมายเอาความดับไปเพราะถูกละจนสิ้นไปแห่งเหตุกล่าวคือสมุทัย ความดับไปแห่งผลชื่อว่า นิพพาน เพราะคำว่านิพพาน ตรัสหมายเอาความดับไป คือความเกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ได้แห่งผล กล่าวคือทุกข์ ก็แล ผล จะถึงความดับไปไม่เกิดอีกเพราะมีความดับแห่งเหตุ เพราะฉะนั้น นิโรธจึงเป็นอันเดียวกันกับนิพพาน ฉะนี้แล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาที่ ๙ นิพพานลภนปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลย่อมได้พระนิพพานกันทุกคนหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร บุคคลจะได้พระนิพพานกันทุกคนหามิได้ ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าผู้ใดแลเป็นผู้ปฏิบัติชอบ รู้ยิ่งซึ่งอภิญเญยยธรรม กำหนดรู้ปริญเญยยธรรม ละปหาตัพพธรรม เจริญภาเวตัพพธรรม กระทำให้แจ้งซึ่งสัจฉิกาตัพพธรรม ผู้นั้นย่อมได้พระนิพพาน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบนิพพานลภนปัญหาที่ ๙
คำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาที่มีการถามถึงการได้พระนิพพาน ชื่อว่า นิพพานลภนปัญหา. คำว่า อภิญเญยยธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ความว่า รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง โดยเกี่ยวกับเป็นความหยั่งรู้ลักษณะเฉพาะตนของธรรมนั้นๆ อย่างนี้ว่า ธรรมชาติที่มีลักษณะแข็งกระด้าง คือธาตุดิน ธรรมชาติที่มีลักษณะเกาะกุม คือธาตุน้ำ ฯลฯ ธรรมชาติที่มีลักษณะกระทบอารมณ์ คือผัสสะ ธรรมชาติที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ คือเวทนา ดังนี้เป็นต้น. คำว่า ปริญเญยยธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ความว่า กำหนดรู้ คือกำหนดถือเอาด้วยสติ แล้วรู้ลักษณะสามัญแห่งธรรมนั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาปัญญา อย่างนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนี้. คำว่า ปหาตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรละ ความว่า ละธรรมที่ควรละ คือ ราคะ โทสะ โมหะ โดยเกี่ยวกับทำให้สยบไป ด้วยอำนาจแห่งญาณที่ตามเห็นแต่ความดับไป ความปราศไป ความสิ้นไปแห่งธรรมทั้งหลาย อยู่เนืองๆ. คำว่า ภาเวตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรเจริญ ความว่า ย่อมเจริญธรรมที่ควรเจริญ คือกุศลธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ อันได้แก่สมถะ และวิปัสสนา
คำว่า สัจฉิกาตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ความว่า ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง คือ พระนิพพาน อีกนัยหนึ่งคืออริยสัจ ๔ ชื่อว่า อภิญเญยยธรรม เพราะเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง คือควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งกว่าปัญญาปกติธรรมดา คือ วิปัสสนาปัญญา และมัคคปัญญา. ทุกขอริยสัจ คืออุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่า ปริญเญยยธรรม เพราะเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยสติและปัญญา โดยเกี่ยวกับความหยั่งรู้ลักษณะเฉพาะตนของธรรมนั้นๆ อย่างนี้ ว่า ธรรมชาติที่มีลักษณะแข็งกระด้างคือธาตุดิน ธรรมชาติที่มีลักษณะกระทบอารมณ์คือผัสสะ ดังนี้เป็นต้น และ โดยเกี่ยวกับความหยั่งรู้ลักษณะสามัญอย่างนี้ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ทุกข์สมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหา ชื่อว่า ปหาตัพพธรรม เพราะเป็นธรรมที่ควรละให้หมดไป. ทุกข์นิโรธอริยสัจ คือ พระนิพพาน ชื่อว่า สัจฉิกาตัพพธรรม เพราะเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง คือ ควรกระทำให้เป็นอารมณ์โดยประจักษ์ เหมือนอย่างมองดูผลมะขามป้อมบนฝ่ามือฉะนั้น. ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ พระอริยมรรคอันมีองค์ ๘ ชื่อว่าเพราะเป็นธรรมที่ควรเจริญครูควรทำให้เกิดขึ้น และเพิ่มพูน ฉะนี้แล. คำว่า ผู้นั้นย่อมได้พระนิพพาน คือผู้นั้นย่อมได้ คือย่อมบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมที่ดับทุกข์มีความเกิดเป็นต้น หมายความว่า ผู้นั้นย่อมพ้นจากความเกิดเป็นต้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาที่ ๑๐ นิพพานสุขชานนปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ที่ไม่ได้พระนิพพานจะรู้หรือไม่ว่า พระนิพพานเป็นสุข ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ใช่ ผู้ที่ไม่ได้พระนิพพานก็รู้ว่าพระนิพพานเป็นสุขได้ พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อไม่ได้แล้วจะรู้ว่าพระนิพพานเป็นสุขได้อย่างไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร คนพวกที่ไม่เคยถูกตัดมือตัดเท้ามาก่อน อาจทราบหรือไม่ว่า การถูกตัดมือหรือเท้าเป็นทุกข์ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ อาจทราบได้พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, อาจทราบได้อย่างไร. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า เขาได้ยินเสียงร้องครวญครางของคนอื่นที่ถูกตัดมือตัดหรือเท้าแล้ว ก็ย่อมรู้ว่า การถูกตัดมือหรือเท้า เป็นทุกข์. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คนทั้งหลายได้สดับเสียง (สรรเสริญ) ของท่านผู้ที่เห็นพระนิพพานแล้ว ก็ย่อมรู้ว่าพระนิพพานเป็นสุข. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบนิพพานสุขชานนปัญหาที่ ๑๐
คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐
ปัญหาที่มีการถามถึงความรู้ว่า พระนิพพานเป็นสุข ชื่อว่า นิพพานสุขชานนปัญหา. คำว่า อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความว่า คนที่ไม่เคยถูกตัดมือหรือเท้ามาก่อน ได้ยินเสียงร้องครวญครางของคนที่ถูกตัดมือหรือเท้าแล้ว ก็ย่อมรู้ว่า การถูกตัดมือหรือเท้าเป็นทุกข์ ฉันใด คนที่ไม่เคยกระทำพระนิพพานให้แจ้งมาก่อน ได้สดับเสียงสรรเสริญคุณของพระนิพพาน อย่างนี้ว่า “เป็นธรรมที่ดับทุกข์ เป็นธรรมที่สงบจากทุกข์ เป็นธรรมที่ดับไฟมีราคะเป็นต้น” ดังนี้แล้ว ก็ย่อมทราบว่า พระนิพพานเป็นสุข ฉันนั้นเหมือนกัน. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐. จบนิพพานวรรคที่ ๔. ในวรรคนี้มี ๑๐ ปัญหา จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๑
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: