พระเขมาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญามาก และเป็นภิกษุณีผู้เป็นอัครสาวิกาเบื้องขวาของพระโคตมพุทธเจ้า
พระเขมาภิกษุณีบังเกิดในราชสกุลตระกูลกษัตริย์ พระบิดาพระนามว่า พระเจ้ามัททราช กรุงสาคละ แคว้นมัททะ มีพระนามว่า พระนางเขมา ทรงมีพรรณะดั่งทอง มีพระฉวีเสมือนทอง
พระนางเจริญวัยเป็นราชกุมารีแล้ว ก็ไปเป็นพระเทวีของพระเจ้าพิมพิสาร ครั้งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันก็ยังเป็นผู้มัวเมาในพระรูปพระโฉม ทรงเกรงว่าพระศาสดาจะทรงแสดงโทษในรูป จึงไม่เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา. พระราชาโปรดสั่งให้ผู้คนทั้งหลายเที่ยวประกาศพรรณนาพระเวฬุวัน ทำให้พระเทวีทรงเกิดความคิดที่จะไปชมพระวิหาร เมื่อพระเทวีทรงดำริว่า จำเราจักชมพระวิหาร ก็ทรงสอบถามพระราชา
พระราชาตรัสว่า เธอไปพระวิหารไม่พบพระศาสดาก็อย่าได้กลับมา แล้วทรงให้สัญญาแก่พวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงให้พระเทวีเฝ้าพระทศพลโดยพลการให้จงได้ พระเทวีเสด็จไปวิหาร เวลาล่วงไปครึ่งวัน ไม่ทรงพบพระศาสดาเริ่มเสด็จกลับ
ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลาย นำพระเทวีแม้ไม่ทรงปรารถนา เข้าไปเฝ้าพระศาสดาจนได้ พระศาสดาทรงเห็นพระเทวีนั้นกำลังเสด็จมา ทรงเนรมิตหญิงคล้ายนางเทพอัปสรด้วยฤทธิ์ ทำให้ถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่ พระนางเขมาเทวีทรงเห็นหญิงนั้น ทรงดำริว่า
หญิงนี้มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ยืนอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า เราไม่พอที่แม้แต่จะเป็นหญิงรับใช้ของหญิงเหล่านั้นได้เลย เราต้องเสียหายด้วยอำนาจจิตชั่ว เพราะเหตุเล็กๆ น้อยๆ ทรงถือเอานิมิตประทับยืนมองดูหญิงนั้นคนเดียว เมื่อพระนางกำลังทอดพระเนตรดูอยู่ หญิงนั่นก็ล่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย ถึงปัจฉิมวัยแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว ล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล ด้วยพระกำลังอธิษฐานของพระศาสดา
จากนั้น เพราะเหตุที่ทรงบำเพ็ญบารมีไว้ พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า สรีระแม้อย่างนี้ ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ สรีระของเราก็จักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว ก็ตรัสพระคาถาว่า :-
"เย ราครตฺตานุปตนฺติ โสตํ, สยํ กตํ มกฺกฏโกว ชาลํ, เอตมฺปิ เฉตฺวาน ปริพฺพชนฺติ, อนเปกฺขิโต กามสุขํ ปหาย. ชนเหล่าใด กำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำ ไว้ฉะนั้น ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว เป็นผู้หมดอาลัยละกามสุขได้ ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์ [บวช] อยู่."
ในอรรถกถาว่า จบคาถาพระนางเขมานั้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
ส่วนในอปทานว่า ฟังคาถานี้แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตแล้ว ทรงผนวชได้ ๗ เดือนแล้วบรรลุพระอรหัต เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ในทิพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ รู้ชัดปุพเพนิวาสญาณชำระทิพจักษุให้บริสุทธิ์ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ญาณอันบริสุทธิ์ของดิฉัน ในอรรถะธรรมะ นิรุติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา ดิฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย คล่องแคล่วในกถาวัตถุ รู้จักนัยแห่งอภิธรรม ถึงความชำนาญในศาสนา. ภายหลัง พระราชสวามีผู้ฉลาดตรัสถามปัญหาละเอียดในโตรณวัตถุ ดิฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา
ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตเจ้าแล้ว ทูลสอบถามปัญหาเหล่านั้น (ในเขมาเถรีสูตร ในสังยุตตนิกาย) พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เป็นอย่างเดียวกันกับที่ดิฉันวิสัชนาแล้ว พระพิชิตมารผู้อุดมกว่านรชน อยู่ด้วยผลสุข นิพพานสุข ก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะเมื่อพระขีณาสวเถรีรูปอื่นๆ เกิดปัญญาไพบูลย์ แต่ท่านก็บำเพ็ญบารมีมาแล้วในข้อนั้นจริงอย่างนั้น ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งตามลำดับ ก็ทรงสถาปนาพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเพราะเป็นผู้มีปัญญามากกว่า และเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ดังความในพระสูตรว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขมาเป็นเลิศของภิกษุณีสาวิกาของเราผู้มีปัญญามาก, ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม่ออกบวชก็ขอจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณี และอุบลวรรณาภิกษุณีเถิด, ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้.
วันหนึ่ง พระเถรีนั้นนั่งพักกลางวันอยู่โคนไม้ต้นหนึ่ง มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหา เมื่อประเล้าประโลมด้วยกามทั้งหลาย ก็กล่าวคาถาว่า :-
แม่นางเขมาเอย เจ้าก็สาวสคราญ เราก็หนุ่มแน่น,
มาสิ เรามาร่วมอภิรมย์กัน ด้วยดนตรีเครื่อง ๕ นะแม่นาง.
นางเขมาเถรีนั้น ฟังคำนั้นแล้ว เมื่อประกาศความที่ตนหมด ความกำหนัด ในกามทั้งปวง ๑ ความที่ผู้นั้นเป็นมาร ๑ ความไม่เลื่อมใสที่มีกำลังของตนในเหล่าสัตว์ผู้ยึดมั่นในอัตตา ๑ และความที่ตนทำกิจเสร็จแล้ว ๑ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
เราอึดอัดเอือมระอาด้ายกายอ้นเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย มีอันจะแตกพังไปนี้อยู่ เราถอนกามตัณหาได้แล้ว กามทั้งหลาย มีอุปมาด้วยหอกและหลาว มีขันธ์ทั้งหลายเป็นเขียงรองสับ บัดนี้ ความยินดีในกามที่ท่านพูดถึงไม่มีแก่เราแล้ว เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงแล้ว ทำลายกองแห่ง ความมืด [อวิชชา] เสียแล้ว
ดูก่อนมารใจบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ตัวท่านถูกเรากำจัดแล้ว พวกคนเขลา ไม่รู้ตามความเป็นจริง พากันนอบน้อมดวงดาวทั้งหลาย บำเรอไฟอยู่ในป่าคือลัทธิ สำคัญว่าเป็นความบริสุทธิ์ ส่วนเราแลนอบน้อมเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษจึงพ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวง ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
พระเขมาเถรีปรินิพพาน
มีเรื่องที่น่าแปลกว่า ทำไมในประวัติของพระเขมาเถรีเอง ไม่มีการกล่าวถึงการนิพพานของท่านเลย และก็ไม่มีปรากฏในอรรถกถาส่วนอื่นๆ ด้วย มีแต่ความตอนหนึ่งมาจากขุททกนิกาย อปทาน อยู่ในประวัติของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ขุ.อป ๓๓/๑๕๗)
สมัยสุดท้าย พระเขมาเถรี เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี พระองค์เองก็ประทับอยู่ ณ สำนักภิกษุณีกรุงเวสาลี. เมื่อพระเขมาเถรี ผู้เป็นบริวารของพระนางก็ได้มีความปริวิตกว่า พระมหาปชาบดีจะปรินิพพาน จึงได้เข้าไปหาพระมหาเถรี แล้วทูลว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจ การนิพพานอันเกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักนิพพานกันหมด ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงพระอนุญาต พวกข้าพเจ้าได้ออกจากเรือนจากภพพร้อมด้วยพระแม่เจ้า ก็จักไปสู่นิพพานบุรี อันยอดเยี่ยมพร้อม ๆ กันกับพระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักไปพร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน พระมหาปชาบดีโคตมีได้ตรัสว่า :- เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน เราจักว่าอะไรเล่า
หลังจากนั้นพระเขมาเถรีและภิกษุณีรวมได้ ๕๐๐ รูปได้ตามพระมหาปชาบดีโคตมีไปพระวิหาร ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แล้วอำลาพระเถระทั้งหลาย และเพื่อนสพรหมจารีทุกรูป ซึ่งเป็นที่เจริญใจของตน พึงมาปรินิพพานเสียใน ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
บุพกรรมของพระเขมาเถรี
ดังได้สดับมา ในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางเขมานี้ก็บังเกิดนับเนื่องกับคนอื่น ในกรุงหังสวดี. ต่อมา วันหนึ่งนางพบพระสุชาตเถรี อัครสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น กำลังเที่ยวบิณฑบาต จึงถวายขนมต้ม ๓ ก้อน ในวันนั้นนั่นแล ก็จัดในเรือนของตนแล้วถวายทาน แต่พระเถรีทำความปรารถนาว่า ดิฉันพึงมีปัญญามากเหมือนท่าน ในพุทธุปบาทกาลในอนาคต เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลกรรมทั้งหลายจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์แสนกัป
ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ก็ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี (ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา (ธรรมา) นางสุธัมมา (สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗
พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗
ทรงประพฤติกุมารีพรหมจรรย์ ในพระราชนิเวศน์ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ร่วมกับพระพี่น้องนางเหล่านั้น สร้างบริเวณที่ประทับอยู่ของพระทศพล เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็ถือปฏิสนธิในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พระประยูรญาติเฉลิมพระนามของพระนางว่า เขมา ดังความข้างต้น
(อ้างอิง :: องฺ.อ ๑/๒/๘-๑๑; เถรี.อ ๒/๔/๒๑๖-๒๓๐; อป.อ ๙/๑๕๘; ธ.อ ๑/๒/๔/๔๗๒; สํ.สฬ ๑๘/๗๕๑-๗๕)
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
MV ตราบลมหายใจสุดท้าย (อสุภกรรมฐาน) - ขับร้องโดย ปาน ธนพร
0 comments: