วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๖)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๖) ลักขณปัญหา,  กัณฑ์ที่ ๓, ลักขณปัญหา

กถาว่าด้วยพระดำริถึงเมณฑกปัญหาก่อน สถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยงการปรึกษากัน ๘ แห่ง

พระเจ้ามิลินท์ ผู้มีพระวาทะข่มคำพูดของผู้อื่นมีพระวาจาทำใจบัณฑิตทั้งหลายให้หวั่นหวาด มีพระปัญญายิ่ง มีพระปัญญาเห็นประจักษ์แจ้งได้เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสน ด้วยทรงมีพระประสงค์ความแตกฉานแห่งความรู้ เมื่อประทับอยู่ใต้เงาไม้ ถามปัญหาต่อพระเถระนั้นอยู่บ่อยๆ ก็ทรงเป็นผู้มีพระปัญญาแตกฉาน ทรงพระไตรปิฎก ในตอนกลางคืน เมื่อเสด็จหลีกไปในที่ลับตรวจสอบนวังคศาสน์ (มีคำสอนมีองค์ ๙) ไป ก็ทรงพบเมณฑกปัญหา อันเป็นปัญหาที่ใครๆเปลื้องได้ยาก มีอรรถที่จำต้องข่มเสียอรรถหนึ่ง พระราชาทรงดำริว่า ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา พระดำรัสที่ตรัสไว้โดยปริยายก็มีอยู่ พระดํารัสที่เจาะจงตรัสก็มีอยู่ พระดำรัสที่ตรัสไว้โดยสภาวะก็มีอยู่ ก็ในอนาคตกาล คนเหล่านั้นไม่เข้าใจความหมายในคำพูดที่พระชินวรพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วก็จะมีการจับผิดกัน ในพระดํารัสเหล่านั้น เอาละ พระเถระก็ได้ทำให้เราเลื่อมใสแล้ว เราจะขอให้ท่านชี้ขาดพระดํารัสที่เป็นเมณฑกะเสีย ในอนาคตจะได้มีผู้แสดงไปตามแนวทางที่พระเถระนั้นได้แสดงไว้แล้ว ดังนี้

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ พอราตรีสว่าง อรุณขึ้น ก็ทรงสนานพระเศียรเกล้า ทรงประคองอัญชลีเหนือพระเศียร รำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบันแล้ว ก็ทรงสมาทานวัตรบท ๘ อย่างว่า “ตลอด ๗ วัน นับตั้งแต่วันนี้ไป เราจะสมาทานคุณ ๘ ประการ ประพฤติตบะ เราซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญตบะอยู่นั้น จะอาราธนาพระอาจารย์ ไต่ถาม เมณฑกปัญหาทั้งหลาย” ดังนี้ ต่อจากนั้น พระเจ้ามิลินท์ ทรงเปลื้องคู่พระภูษาทรงปกติเสีย และทรงโปรดพระอาพรเครื่องประดับทั้งหลาย ทรงนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ทรงแต่งพระเสียงเหมือนคนศีรษะโล้น เข้าถึงความเป็นมุนี สมาทานคุณ ๘ อย่าง ดังต่อไปนี้ว่า “ตลอด ๗ วัน นับตั้งแต่วันนี้ไป เราจะไม่วินิจฉัยราชอรรถคดี เราจะไม่ทำจิตอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะให้เกิดขึ้น เราจะไม่ทำจิตอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะให้เกิดขึ้น เราจะไม่ทำจิตอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะให้เกิดขึ้น เราจะเป็นผู้มีความประพฤติถ่อมตน แม้ในชนที่เป็นทาสกรรมกร คนรับใช้ เราจะคอยรักษาความประพฤติทางกาย และความประพฤติทางวาจา เราจะคอยรักษาอายตนะทั้ง ๖ โดยไม่มีเหลือ เราจะใส่ใจไว้ในเมตตาภาวนา ” ดังนี้ ครั้นทรงสมาทานคุณ ๘ อย่างเหล่านี้แล้ว ก็ทรงตั้งพระทัยไว้มั่นในคุณศ๘ อย่างเหล่านั้นนั่นแหละ ไม่เสด็จไปภายนอก ครั้นทรงทำเวลาให้ล่วงไปครบ ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๘ เมื่อราตรีสว่าง ทรงเสวยพระ กระยาหารตอนเช้า ก่อนแล้ว ก็ทรงมีพระเนตรทอดลง สำรวมพระวาจา มีพระอิริยาบถตั้งมั่นดี มีพระทัยไม่วุ่นวาย บันเทิง รื่นเริง ผ่องใส เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสนเถระ ทรงกลมพระเศียรกราบที่เท้าทั้งสองของพระเถระ แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้ตรัสความข้อนี้ว่า

พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้ามีเรื่องจะปรึกษากับท่านอยู่บางเรื่อง ในสถานที่ที่จะปรึกษากันนั้น ไม่ต้องการให้มีใครอื่นซึ่งเป็นคนที่สาม คือในโอกาสที่ว่างคน ได้แก่ ในป่าที่สงัดเงียบ ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ ซึ่งเหมาะสมแก่สมณะ ปัญหาที่ต้องถามนั้น จะมีในป่านั้น ที่ในป่านั้น ท่านไม่ควรทำให้เป็นเรื่องซ่อนเร้น ให้เป็นความลับสำหรับข้าพเจ้า เมื่อถึงคราวมีเรื่องปรึกษากันด้วยดี ข้าพเจ้าก็ควรจะได้ฟังเรื่องลึกลับ ควรจะต้องตรวจสอบเนื้อความ แม้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนอย่างอะไร พระคุณเจ้านาคเสน เปรียบเหมือนว่า เมื่อถึงคราวมีการวางสิ่งของลง แผ่นดินใหญ่ก็สมควรแก่การวางสิ่งของลงฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อถึงคราวมีเรื่องปรึกษากันด้วยดี ข้าพเจ้าก็ควรที่จะได้ฟังเรื่องลึกลับฉันนั้น

พระราชาครั้นได้เสด็จเข้าป่าที่เงียบสงัดพร้อมกับท่านผู้เป็นครูแล้ว ก็ได้ตรัสความข้อนี้ ว่า พระคุณเจ้านาคเสน ในโลกนี้มีสถานที่ ๘ แห่ง ที่บุรุษผู้ต้องการปรึกษากัน ควรหลีกเลี่ยง บุรุษผู้เป็นวิญญูชนย่อมไม่ปรึกษาเรื่องราวในที่สถานที่เหล่านั้น เรื่องราวแม้ที่ปรึกษากันแล้ว ก็ย่อมตกหายไป ไม่ปรากฏอยู่ สถานที่ ๘ แห่งอะไรบ้าง ? ได้แก่ ที่ขรุขระ เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่มีภัยก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่มีลมแรงเกินไป ก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่ปิดบัง ก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ เทวสถานก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่เป็นทางเดินก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่มีสงครามก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่ติดท่าน้ำก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ ๘ แห่งเหล่านี้ เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง

พระเถระถวายพระพรถามว่า ในสถานที่ที่ขรุขระมีโทษอะไร ในสถานที่ที่มีภัย ในสถานที่ที่มีลมแรงเกินไป ในสถานที่ที่ปิดบัง ในเทวสถาน ในสถานที่ที่เป็นทางเดิน ในสถานที่ที่มีสงคราม ในสถานที่ที่ติดท่าน้ำ มีโทษอะไร ?

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ในสถานที่ที่ขรุขระ เรื่องที่ปรึกษากันจะกระจัดกระจาย ลอยไป ไหลไปหมด ไม่ปรากฏอยู่ ในสถานที่ที่มีภัย จิตใจก็จะเอาแต่หวาดหวั่น คนผู้มีจิตใจหวาดหวั่นจะไม่พิจารณาเห็นอรรถได้โดยชอบ ในสถานที่ที่มีลมแรงเกินไป ก็จะไม่ได้ยินเสียงชัด ในสถานที่ที่ปิดบัง คนจะเข้าไปยืนฟัง เรื่องที่ปรึกษากันในเทวสถาน ย่อมน้อมกลายเป็นเรื่องที่ควรเคารพ เรื่องที่ปรึกษากันในสถานที่ที่เป็นทางเดิน ย่อมเป็นเรื่องสูญเปล่า ในสถานที่ที่มีสงคราม ก็มีแต่ความอลหม่าน ที่ท่าน้ำ เรื่องที่ปรึกษากันย่อมแพ่งพราย ในความข้อนี้ มีคำพูดของท่านผู้รู้ว่า

“ผู้จะปรึกษากันควรหลีกเลี่ยงสถานที่ ๘ แห่งเหล่านี้ คือ สถานที่ที่ขรุขระ สถานที่ที่มีภัย สถานที่ที่มีลมแรงเกินไป สถานที่ที่ปิดบัง สถานที่ที่เทวดาอาศัย สถานที่ที่เป็นทางเดิน สถานที่ที่มีสงคราม สถานที่ที่ติดท่าน้ำ”. จบเรื่องสถานที่ที่คนจะปรึกษากันควรหลีกเลี่ยง ๘ แห่ง

คำอธิบาย

คำว่า เมณฑกาปัญหา คือปัญหาที่มีความหมาย ๒ อย่าง ถึงความปะปนกัน และขัดแย้งกัน.  คำว่า เป็นปัญหาที่ใครๆ เปลื้องได้ยาก ความว่าเป็นปัญหาที่ใครๆ กระทำการเปลื้อง คือคลี่คลายได้ยาก คือว่าคำพูดเดียวกัน แปลความหมายได้ ๒ อย่าง เมื่อได้ถือเอาความหมายอย่างหนึ่ง ด้วยคำพูดนั้น ความหมายนอกนี้ก็เข้ามาขัดแย้งเสียด้วยคำพูดเดียวกันนั้น จึงเป็นเหตุให้ใครๆ เปลื้องได้ยาก คือคลี่คลายได้ยาก สะสางได้ยาก.  คำว่า มีอรรถที่จำต้องผมเสียอรรถหนึ่ง ความว่า เมื่อคำพูดเดียวกันมี ๒ อรรถ คือมี ๒ ความหมาย เมื่อยอมรับความหมายหนึ่งว่าถูกต้อง ความหมายที่เหลือก็จำต้องข่ม คือจำต้องให้ตกไป ปล่อยไป.  คำว่า เจาะจงตรัส คือพระดํารัสที่ทรงหมายเอา อรรถ ทรงกระทำการกำหนดอรรถไว้ แล้วตรัสไว้ โดยเป็นข้อกำหนดนั้นนั่นแหละ โดยสังเขป โดยเป็นอุเทศ โดยเป็นมาติกา ก็มีอยู่.  คำว่า โดยสภาวะ ความว่า เนื้อความที่มีในปิฎก ๓ คือ พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม มี ๒ อย่าง คือ เนื้อความที่เป็นบัญญัติ และเนื้อความที่เป็นปรมัตถ์ เนื้อความที่เป็นปรมัตถ์เท่านั้น ชื่อว่าสภาวะ พระดำรัสที่ตรัสไว้โดยมีเนื้อความเป็นสภาวะก็มีอยู่. คำว่า การจับผิดกัน ได้แก่การจับข้อบกพร่องกัน หรือการทะเลาะกัน การที่กล่าวว่า คำอธิบายของท่าน จะถูกต้องกระไรได้ คำอธิบายของข้าพเจ้าเท่านั้น จึงจะถูกต้อง หรือว่า ท่านถือเอาไม่ถูกต้องหรอก ข้าพเจ้าเท่านั้น ถือเอาถูกต้อง ดังนี้ ชื่อว่า การจับข้อบกพร่องกัน การที่ทิ่มแทงกันด้วยหอก คือปาก ว่า มึงนะมึง เป็นต้น ชื่อว่า การทะเลาะกัน.  คำว่า เราจะขอให้ท่านชี้ขาด คือเราจะขอให้พระเถระชี้ขาด ในพระดํารัสที่เป็นเมณฑกะนั้น.  

คำว่า ในอนาคตจะได้มีผู้แสดง คือในอนาคตจะได้มีผู้ทรงจำคำแสดงไข และแสดงไปตามแนวทางที่พระเถระได้แสดงไว้.  คำว่า ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ คือในป่าที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ เหล่านี้ คือ ไม่มีสถานที่ขรุขระ ๑ ไม่มีสถานที่ที่มีภัย ๑ ไม่มีสถานที่ที่มีลมแรง ๑ ไม่มีสถานที่ที่ปิดบัง ๑ ไม่มีสถานที่ที่เป็นเทวสถาน ๑ ไม่มีทางเดิน ๑ ไม่มีสงคราม ๑ ไม่มีท่าน้ำ ๑ ดังนี้. คำว่า เทวสถาน ได้แก่สถานที่ที่คนทั้งหลาย ถือว่ามีเทวดาอาศัย อีกอย่างหนึ่ง แม้สถานที่ที่มีบุคคลควรเคารพเข้าไปอาศัยอยู่ ก็ชื่อว่าเทวสถาน เพราะว่าในทางโลก แม้บุคคลที่ควรเคารพ เขาก็เรียกว่า “เทพ” เพราะเหตุนั้นนั่นเอง พระราชาจึงตรัสว่า เรื่องที่ปรึกษากันในเทวสถาน ย่อมน้อมกายเป็นเรื่องที่ควรเคารพ ความว่าต้องสำรวมวาจาพูดแต่เรื่องที่สมควรจะพูด ในสถานที่ที่มีเทวดาอาศัย หรือมีบุคคลผู้ควรเคารพเข้าไปอาศัยนั้น.  จบคำอธิบายเรื่องสถานที่ที่คนจะปรึกษากันควรหลีกเลี่ยง ๘ แห่ง

บุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไป ๘ จำพวก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ เมื่อปรึกษาด้วยย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป บุคคล ๘ จำพวกเป็นไฉน ? ได้แก่ คนราคะจริต ๑ คนโทสจริต ๑ คนโมหจริต ๑ คนมานจริต ๑ คนที่กำลังอยากได้ ๑ คนเกียจคร้าน ๑ คนชอบคิดคนเดียว ๑ คนพาล ๑ บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ ย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป.  พระเถระถวายพระพร ถามว่า บุคคลเหล่านั้น มีอะไรเป็นข้อเสีย ?  พระราชา, พระคุณเจ้านาคเสน คนราคจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะอำนาจแห่งราคะ คนโทสจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไปเพราะอำนาจแห่งโทสะ คนโมหจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไปเพราะอำนาจแห่งโมหะ คนมานจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะอำนาจแห่งมานะ คนที่กำลังอยากได้ย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะอำนาจแห่งความอยาก คนเกียจคร้านย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะความเกียจคร้าน คนชอบคิดคนเดียวย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไปเพราะความคิดแง่เดียว คนพาลย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไป เพราะความเป็นพาล ในเรื่องนี้จึงมีข้อกำหนดอยู่ว่า :- บุคคลผู้ทำเรื่อง ที่ปรึกษากัน ให้เสียหายไป มี ๘ จำพวกเหล่านี้ คือ คนมักกำหนัด ๑ คนมักโกรธ ๑ คนมักหลง ๑ คนมีมานะ ๑ คนโลภมาก ๑ คนเกียจคร้าน ๑ คนชอบคิดคนเดียว ๑ คนพาล ๑ ฉะนี้ แล.  จบเรื่องบุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหาย ๘ จำพวก

คำอธิบายบุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหาย ๘ จำพวก

คำว่า ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป ความว่า บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ เมื่อได้ปรึกษา เพื่อสนทนากับผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากัน คือทำเนื้อความที่ปรึกษากัน ให้ถึงความเสียหาย คือถือเอาเนื้อความผิดแปลกไปเป็นประการอื่นจากที่ผสม หรือทำให้เกิดเป็นโทษขึ้น เมื่อนำเรื่องที่ปรึกษากันไปบอกกล่าวแก่คนอื่นๆ อ้ายก็ทำให้คนเหล่านั้นพลอยถือเอาผิดๆ ตามตน.  คำว่า คนราคจริต ได้แก่บุคคลผู้ยิ่งด้วยราคะ ถึงความยินดีพอใจในอารมณ์ทั้งหลายโดยง่าย แม้ในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่น่าปรารถนาเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ก็เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง เป็นคนเจ้าสำราญ มีปกติเป็นสุข มีราคะเกิดอยู่เนืองๆ.  คำว่า คนโทสจริต ได้แก่บุคคลผู้ยิ่งด้วยโทสะ ถึงความขัดเคืองใจได้โดยง่าย แม้ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่ไม่ปรารถนาเพียงนิดหน่อย ก็เกิดโทมนัสมากมาย เป็นคนเจ้าทุกข์ มีปกติเป็นทุก มากด้วยความขัดเคืองใจ มีโทสะเกิดอยู่เนืองๆ.  คำว่า คนโมหจริต ได้แก่บุคคลผู้ยิ่งด้วยโมหะ คือความหลงความไม่รู้เป็นผู้มากด้วยความลังเลใจ หรือมากด้วยความฟุ้งซ่าน มีปกติไม่เข้าถึงเหตุผลในเรื่องนั้นๆ ไม่อาจตัดสินอารมณ์นั้นๆ ว่าเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างนั้นได้เด็ดขาดแน่นอน จะทำกิจอะไรๆ โดยมากก็สักแต่ทำเป็นปากไปตามความคิดที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีปกติซึมเซื่อง เฉื่อยชา มากหรือความไม่รู้.  คำว่า คนมานจริต ความจริงก็ได้แก่คนราคจริตนั่นแหละเพียงแต่ราคาที่เกิดขึ้น มักจะเป็นราคาที่เกิดร่วมกันกับ มานะคือความถือตัว

คำว่า คนที่กำลังอยากได้ ความว่า แม้นเป็นคนจริตอื่นที่ไม่ใช่ราคจริต เมื่อมีความอยากเกิดขึ้น ก็ชื่อว่าเป็นคนที่กำลังอยากได้ทั้งนั้น.  คำว่า คนเกียจคร้าน ได้แก่คนที่ท้อถอยในกิจ ในการงานที่ควรทำทั้งหลาย.  คำว่า ชอบคิดคนเดียว คือคนผู้มีปกติคิดคนเดียวไม่ต้องการสหาย หรือผู้ร่วมคิด จึงมักคิดได้ไงเดียว ซึ่งอาจไม่ใช่แม่ที่ถูกต้อง.  คำว่า คนพาล ได้แก่คนเขลาไม่มีปัญญา ไม่รู้จักจะจำแนกว่า นี้เป็นสาระควรถือเอา นี้ไม่เป็นสาระ ไม่ควรถือเอา นี้ควรแสวงหา นี้ไม่ควรแสวงหา มีปกติทำก็ดี พูดก็ดี คิดก็ดี มักเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตน หรือคนอื่น.  จบคำอธิบายเรื่องบุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหาย ๘ จำพวก

บุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้ ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ปิดไว้ไม่ได้ บุคคล ๙ จำพวกเป็นไฉน ? ได้แก่ คนราคจริต ๑ คนโทสจริต ๑ คนโมหจริต ๑ คนขลาดกลัว ๑ คนหนักในอามิส ๑ หญิง ๑ นักเลงสุรา ๑ กระเทย ๑ ทารก ๑ ดังนี้.  

พระเถระถวายพระพร ถามว่า ขอถวายพระพร คนเหล่านั้น มีอะไรเป็นข้อเสีย ?   พระราชา พระคุณเจ้านาคเสน คนราคจริต ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งราคะ คนโทสจริต ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งโทสะ คนมักหลง (คนโมหจริต) ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งโมหะ คนขลาดกลัว ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งความกลัว คนหนักในอามิส ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะเหตุแห่งอามิส หญิง ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะความที่มีปัญญาเพียงชั่วแล่น นักเลงสุรา ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะความเมาสุรา กระเทย ย่อมเปิดเผยเรื่องที่ ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะหาความคิดที่แน่นอนไม่ได้ ทารก ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะความช่างพูดจา ในเรื่องนี้จึงมีคำกล่าวอยู่ว่า :- บุคคลที่ต่ำต้อย ที่หวั่นไหว โลเล ในโลกนี้มี 9 จำพวกเหล่านี้ คือ คนมักอยากได้ คนมักโกรธ คนหลง คนขลาดกลัว คนหนักในอามิส หญิง นักเลงสุรา กระเทย และที่ ๙ คือทารก เรื่องที่ปรึกษากันลับๆ กับบุคคลเหล่านี้ จะมีอันปรากฏ (เปิดเผย) ได้ง่ายดาย.  จบเรื่องบุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

คำอธิบาย เรื่องบุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

คำว่า เพราะอำนาจแห่งราคะ คือเพราะอำนาจแห่งความอยาก.  คำว่า เพราะอำนาจแห่งโทสะ คือเพราะอำนาจแห่งจิตที่ปะทุร้าย.  คำว่า เพราะอำนาจแห่งโมหะ คือเพราะอำนาจแห่งความหลง.  คำว่า เพราะอำนาจแห่งความกลัว คือเพราะอำนาจแห่งความกลัวว่า ถ้าหากว่าเราไม่บอกเขาก็จะฆ่าเรา ดังนี้เป็นต้น.  คำว่า เพราะเหตุแห่งอามิส ได้แก่ เพราะเหตุแห่งลาภขึ้นชื่อว่าอามิส เพราะเป็นดุจเหยื่อให้สัตว์มาติดอยู่.  คำว่า เพราะความที่มีปัญญาเพียงชั่วแล่น คือเพราะความที่มีปัญญาเกิดชั่วเวลาเพียงเล็กน้อยยิ่ง.  คำว่า เพราะความเมาสุรา คือเพราะสับสนด้วยความเมาสุรา.  คำว่า เพราะหาความคิดที่แน่นอนไม่ได้ ความว่า เพราะหาความคิดที่แน่นอนไม่ได้อย่างนี้ คือบางคราวก็มีความคิดค่อนไปทางความคิดของหญิง บางคราวก็มีความคิดค่อนไปทางความคิดของชาย.  คำว่า เพราะความช่างพูดจา คือเพราะความที่พูดพร่ำเพื่อ พูดมาก ผู้เฒ่าที่ต้องการจะพูด.  จบคำอธิบายเรื่อวบุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

เหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะเหตุ ๘ อย่าง เพราะเหตุ ๘ อย่างอะไรบ้าง ? ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะความแน่นหนาแห่งวัย ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะความแน่นหนาแห่งยศ ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะปริปุจฉา ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการอยู่ในสำนักที่เป็นดุจท่าข้าม ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะโยนิโสมนสิการ ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการสนทนากัน ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการคบหาบุคคลผู้น่ารักใคร่ ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ๑ ในความข้อนี้จึงมีคำกล่าวอยู่ว่า.  ฐานะ ๘ เหล่านี้ เป็นเอกแกล้วกล้าแห่งความรู้คือ เพราะวัย ๑ เพราะยศ ๑ เพราะอิจฉา ๑ เพราะการอยู่ในสำนักที่เป็นดุจท่าข้าม ๑ เพราะโยนิโสมนสิการ ๑ เพราะการสนทนา ๑ เพราะการคบหาบุคคลผู้น่ารักใคร่ ๑ เพราะการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ๑ บุคคลเหล่าใดมีฐานะ ๘ เหล่านี้ ความรู้ของบุคคลเหล่านั้นย่อมแตกฉานดังนี้.  จบเรื่องเหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

คำอธิบายเกี่ยวกับ เหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

คำว่า เพราะความแน่นหนาแห่งวัย ได้แก่ เพราะความแน่นหนา คือความเต็มที่แห่งวัย ที่เรียกว่าปัญญาทักษะ (ช่วง ๑๐ ปีที่มีปัญญาเกิดง่ายคืออายุระหว่าง ๔๐ ปี ถึง ๕๐ ปีสำหรับในกัปที่มนุษย์มีอายุเฉลี่ย ๑๐๐ ปี)  คำว่า เพราะความแน่นหนาแห่งยศ ได้แก่ เพราะมียศคือบริวารแน่นหนา เหตุเพราะได้สดับจากคนเหล่านั้น คนนั้น คนนี้ อยู่บ่อยๆ.  คำว่า เพราะปริปุจฉา คือเพราะการไต่ถาม หรือเพราะคำอธิบาย.  คำว่าเพราะการอยู่ในสำนักที่เป็นดุจท่าข้าม คือ เพราะการอยู่อาศัยในสำนักของอาจารย์ผู้มีวิธีบอกกล่าว ซึ่งเป็นดุจท่าข้าม. คำว่า โยนิโสมนสิการ คือเพราะการกระทำเข้าไว้ในใจ โดยถูกอุบาย โดยถูกคนทาง โดยถูกตรงตามเหตุ.  คำว่า เพราะการสนทนากัน คือเพราะการถามตอบกันเช่นถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บทนี้เป็นอย่างไร บทนี้มีความหมายว่ากระไร ตอบอย่างนี้ว่า นี่แนะ ท่านผู้มีอายุ บทนี้ เป็นอย่างนี้ บทนี้ มีความหมายว่ากระนี้ ดังนี้เป็นต้น. คำว่า เพราะการคบหาบุคคลผู้น่ารักใคร่ คือเพราะการคบหาบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตร.  คำว่า เพราะการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ความว่า ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการอยู่อาศัยในประเทศที่เหมาะสม คือในสถานที่อันเป็นที่อุบัติเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา (ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ณัฏฐ).  จบคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

อาจริยคุณ คุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอาจารย์

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ภูมิภาคนี้ เว้นห่างจากโทษ (เหตุสร้างความเสียหาย) แห่งการปรึกษากันทั้ง ๘ อย่าง ทั้งข้าพเจ้าก็เป็นสหายร่วมปรึกษาที่ยอดเยี่ยมในโลก อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เป็นผู้รักษาเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ได้ ข้าพเจ้าจะรักษาเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ไปตราบเท่าที่ข้าพเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งความรู้ของข้าพเจ้าก็ถึงความแน่นหนาเพราะเหตุ ๘ ประการแล้ว ในปัจจุบันนี้ สิทธิ์เช่นข้าพเจ้า ก็เป็นผู้ที่หาได้ยาก อาจริยคุณ ๒๕ อย่าง ของผู้เป็นอาจารย์เหล่าใด ผู้เป็นอาจารย์พึงปฏิบัติชอบ ในศิษย์ผู้ปฏิบัติชอบด้วยคุณเหล่านั้น คุณ ๒๕ อย่าง อะไรบ้าง ?  พระคุณเจ้านาคเสน ผู้เป็นอาจารย์พึงอุปฐากรักษาศิษย์เป็นประจำสม่ำเสมอ ๑ พึงรู้จักเวลาที่ไม่ควรเสวนาและเวลาที่ควรเสวนา ๑ พึงรู้ว่าศิษย์หลงลืมหรือไม่หลงลืม ๑ พึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่า ๑ พึงรู้ถึงความป่วยไข้ ๑ พึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้แล้วหรือยังไม่ได้ ๑ พึงรู้ว่าศิษย์ผู้มีความแตกต่างกัน ๑ พึงแบ่งอาหารในภาชนะ ๑ พึงปลอบโยนศิษย์ เช่นอย่างนี้ ว่า เธออย่ากลัวไปเลย ผลที่ต้องการจะก้าวมาหาเธอ ดังนี้เป็นต้น ๑ พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วย ว่าศิษย์ติดต่ออยู่กับบุคคลนี้ดังนี้ ๑ พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วย ในบ้าน ๑ พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วยในวัด ๑ ไม่ควรเล่นคะนองกับศิษย์ ๑ ควรทำการทักทายปราศรัยกับศิษย์ ๑ พบเห็นความผิด (ของศิษย์ ) แล้ว ก็เพิ่งอดกลั้น ไม่ลุแก่โทสะ ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างเคารพ ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ขาดตอน ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ปิดบัง ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่มีเหลือ ๑ พึงตั้งความคิดที่จะให้ศิษย์รู้ อย่างนี้ว่า เราจะให้ศิษย์ผู้นี้ได้รู้ในศิลปะทั้งหลายดังนี้ ๑ พึงตั้งความคิดแต่จะให้ศิษย์เจริญ อย่างนี้ ว่า ศิษย์ผู้นี้จะไม่เสื่อมได้อย่างไร ดังนี้ ๑ พึงตั้งความคิดไว้อย่างนี้ ว่า เราจะทำศิษย์พรุ่งนี้ให้เป็นคนมีกำลัง ด้วยกำลังคือการศึกษา ดังนี้ ๑ พึงตั้งเมตตาจิต ๑ ไม่ละทิ้งศิษย์ในคราวมีอันตราย ๑ ไม่พึงหลงลืมในกิจที่ควรทำ ๑ เมื่อศิษย์พลั้งพลาด ก็พึงประคับประคองโดยธรรม ๑ ฉะนี้แล พระคุณเจ้า อาจริยคุณ ของบุคคลผู้เป็นอาจารย์ มี ๒๕ อย่าง เหล่านี้แล ขอท่านจงปฏิบัติชอบในข้าพเจ้าด้วยคุณเหล่านั้นเถิด พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ามีความสงสัยเกิดขึ้นแล้ว เมณฑกปัญหาที่พระชินวรพุทธเจ้าทรงภาษิตไว้ มีอยู่ ในอนาคตกาลจะเกิดการจับผิดกัน ในเมณฑกปัญหานั้น ทั้งในอนาคตกาล ภิกษุผู้มีความรู้เช่นอย่างท่าน ก็จะเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ขอท่านจงมอบดวงตาให้ข้าพเจ้าได้มองเห็นใน เมณฑกปัญหาเหล่านั้น เพื่ออันจะใช้ข่มพวกปรวาทีทั้งหลายเถิด.  จบเรื่องคุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอาจารย์

คำอธิบายเกี่ยวกับคุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอาจารย์

คำว่า ภูมิภาคนี้ เว้นห่างจากโทษแห่งการปรึกษากันทั้ง ๘ อย่าง มีอย่างนี้ว่า เป็นที่ขรุขระ เป็นสถานที่ที่มีภัย เป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว.  คำว่า ข้าพเจ้าก็เป็นสหายร่วมปรึกษาที่ยอดเยี่ยมในโลก คือข้าพเจ้าก็เป็นสหายผู้ร่วมปรึกษากับท่านพระนาคเสนที่ยอดเยี่ยมในหมู่ชาวโลก.  คำว่า ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ที่รักษาเรื่องที่ปรึกษากันลับๆได้ คือ ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ที่รักษาคำพูดที่ได้ปรึกษากันลับๆ คือเพิ่งปิดบังได้ ตราบเท่าที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่.  คำว่า ความรู้ของข้าพเจ้าก็ถึงความแน่นหนาเพราะเหตุ ๘ ประการ คือ เพราะเหตุ ๘ ประการ มีความแน่นหนาแห่งวัยเป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว.  คำว่า เพิ่งอุปฐากรักษา คือพึงเลี้ยงดูทนุบำรุงให้เป็นไปได้ ด้วยปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น.  คำว่า เวลาที่ไม่ควรเสวนา และเวลาที่ควรเสวนา คือเวลาที่ไม่ควรมาหาตน หรือตนไม่ควรไปหาศิษย์ และเวลาที่ศิษย์ควรมาหาตน หรือที่ตนควรไปหาศิษย์.  คำว่า พึงรู้ว่าศิษย์หลงลืมหรือไม่หลงลืม คือพึงรู้ว่าศิษย์หลงลืมหรือไม่หลงลืมเวลาไม่ควรเสวนาและควรเสวนา.  คำว่า พึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่า คือพึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่าสำหรับศิษย์ กล่าวคือมอบโอกาสที่ดีกว่า คือสะดวกกว่าแก่ศิษย์ ในอันที่จะศึกษาวิชาศิลปะให้ยิ่งๆขึ้นไป.  คำว่า พึงรู้ถึงความป่วยไข้ คือพึงรู้ว่า เวลานี้ศิษย์ป่วยไข้.  คำว่า พึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้แล้วหรือยังไม่ได้ คือพึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้ที่มีประมาณเหมาะสมแล้วหรือยังไม่ได้.  คำว่า พึงรู้จักศิษย์ผู้มีความแตกต่างกัน คือพึงรู้จักทำนองอย่างนี้ ว่า ศิษย์ผู้นี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร คู่นี้ถึงพร้อมด้วยจาริตศีล พรุ่งนี้ถึงพร้อมด้วยวาริตศิล ผู้นี้ถึงพร้อมด้วยอธิสีลสิกขา ด้วยอธิจิตตสิกขา ด้วยอาธิปัญญาสิกขา ผู้นี้เรียนพระสูตร ผู้นี้เรียนอภิธรรม ผู้นี้เรียนพระวินัย ดังนี้ เป็นต้น.  คำว่า พึงแบ่งปันอาหารในภาชนะ คืออาจารย์ พึงแบ่งปันอาหารในภาชนะของตนแก่ศิษย์.  คำว่า พึงปลอบโยนศิษย์ คืออาจารย์พึงปลอบโยนศิษย์ในคราวที่ศิษย์ท้อแท้ในการศึกษา หรือเบื่อหน่ายในการบำเพ็ญอธิกุศล

คำว่า พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วยในบ้าน เป็นต้น อาจารย์พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วย ในบ้านบ้าง ในวัดบ้าง ว่า ผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วยผู้นี้ เป็นผู้มีลัทธิแตกต่าง มักกล่าวอย่างนี้ ว่า ความเห็นของท่านไม่ถูกต้องหรอก ของเราสิถูกต้อง ความเห็นของอาจารย์ท่านไม่ถูกต้องหรอก ความเห็นของอาจารย์เราสิถูกต้อง ดังนี้ บ้าง ว่า เป็นผู้ที่ไม่ปลงอาบัติ มีอาบัติติดตัว มองไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ มักกล่าวอย่างนี้ ว่า ข้อนี้ ไม่เป็นอาบัติหรอก เราจะต้องปลงอาบัติไปทำไม ดังนี้ บ้าง ว่า เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ถูกต้องในพระสูตร ในพระอภิธรรม ในพระวินัย ป้าง เป็นต้น.  คำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างเคารพ คืออาจารย์พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างเคารพ คืออย่างมั่นคงในวัตรปฏิบัติที่พึงทำต่อศิษย์ เม้นคำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ขาดตอน ก็อย่างนั้นเหมือนกัน.  คำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ปิดบัง คือผู้เป็นอาจารย์พึงเป็นผู้มีปกติทำคือสอนอย่างไม่ปิดบังในวิชาศิลปะทั้งหลาย.  คำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่มีเหลือ คือเป็นผู้มีปกติทำคือสอนไม่มีเหลือในวิชาศิลปะนั้นแก่ศิษย์ผู้สามารถจะเรียนได้ทั้งหมด ความว่า พึงเป็นผู้มีกำมือเปล่าในวิชาศิลปะที่ตนสอนนั้น.  คำว่า ศิษย์ผู้นี้จะไม่เสื่อมได้อย่างไร คือศิษย์ผู้นี้จะถึงความเจริญไม่เสื่อมได้ ด้วยอุบายวิธีไหนหนอ.  คำว่า พึงประคับประคองโดยธรรม ความว่า เมื่อศิษย์พลั้งพลาด คือทำความผิดในมารยาท เป็นต้น อาจารย์ไม่พึงมุ่งแต่จะติเตียนด่าว่าอย่างเดียว ทว่าพึงประคับประคองโดยธรรม คือโดยการตักเตือนบ้าง ชี้ให้เห็นคุณเห็นโทษ บ้างเป็นต้น โดยประการที่จิตจะเกิดความอุตสาหะในอันที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ต่อไป.  ด้วยคำว่า ขอท่านจงมอบดวงตา ฯลฯ เพื่ออันจะใช้ข่มพวกปรวาทีทั้งหลายเถิด ดังนี้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมทราบว่า บัดนี้ พระเจ้ามิลินท์พระองค์นี้ ทรงเป็นผู้ชำระพระทัศนะของพระองค์ให้หมดจดได้แล้ว.  จบคำอธิบายเกี่ยวกับอาจริยคุณ ๒๕ ประการ

อุปาสกคุณ คุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอุบาสก

พระเถระถวายพระพร ยอมรับว่า ถูกต้องแล้ว ขอถวายพระพร ดังนี้แล้ว ก็ได้แสดง อุปาสกคุณของผู้เป็นอุบาสก ๑๐ ประการ ว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปาสกคุณของผู้เป็นอุบาสก มี ๑๐ ประการเหล่านี้ ๑๐ ประการอะไรบ้าง ? ขอถวายพระพร ผู้เป็นอุบาสกในพระศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระสงฆ์ ๑ ย่อมเป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่ ๑ ย่อมเป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันตามสมควรแก่กำลัง ๑ เห็นความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็พยายามเพื่อให้เจริญ ๑ ย่อมเป็นบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ ๑ ปราศจากการถือมงคลตื่นข่าว ไม่อ้างผู้อื่นว่าเป็นศาสดา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ๑ มีอันได้รักษาความประพฤติทางกายและทางวาจา ๑ มีความพร้อมเพรียงเป็นที่ยินดี ยินดีในความพร้อมเพรียง ๑ เป็นคนไม่มักริษยา ๑ ไม่ประพฤติในพระศาสนาด้วยอำนาจแห่งความหลอกลวง ๑ เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ๑ ขอถวายพระพร อุปาสกคุณแห่งบุคคลผู้เป็นอุบาสก มี ๑๐ ประการ เหล่านี้ แล คุณทั้งหมดเหล่านั้น ก็มีอยู่ในพระองค์ ข้อที่พระองค์ทรงพบเห็นความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงหวังซึ่งความเจริญ จัดเป็นข้อที่ถูกต้อง เป็นข้อที่ควรถึง เป็นข้อที่เหมาะ เป็นข้อที่ควรของพระองค์ อาตมภาพขอถวายพระพรกระทำโอกาสแก่พระองค์ ขอพระองค์จงทรง ซักถามอาตมภาพ ตามสะดวกพระทัย เกิด.  จบอุปาสกคุณ ๑๐ ประการ

คำอธิบายเกี่ยวกับ อุปาสกคุณ ๑๐ ประการ

คำว่า ย่อมเป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่ คือมีความหนักแน่นในธรรม ถือธรรมเป็นประมาณ ไม่ถือตนหรือโลกเป็นประมาณ.  คำว่า ย่อมเป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันตามสมควรแก่กำลัง คือย่อมเป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันปัจจัยที่ได้มาโดยธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ตามสมควรแก่กำลังของตน คือเท่าที่ตนจะสามารถแบ่งปันได้.  คำว่า เห็นความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็พยายามเพื่อให้เจริญ คือพบเห็นภิกษุทั้งหลายผู้ทอดทิ้งธุระในพระศาสนา ประพฤติย่อหย่อนในสิกขา ๓ เป็นต้นแล้ว ก็พยายามเพื่อความไม่เป็นอย่างนั้น โดยอุบายวิธีทั้งหลาย ตามสมควรแก่ความสามารถและเพศฆราวาสของตน พร้อมทั้งทำนุบำรุงส่งเสริมภิกษุผู้ที่ขนขวายธุระ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระศาสนา ตนเองก็ฟังธรรมบ้าง ปฏิบัติกรรมฐานบ้าง ตามสมควรแก่โอกาส.  คำว่า ย่อมเป็นบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ไม่อ้างผู้อื่นว่าเป็นศาสดา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ประกอบความว่าย่อมเป็นผู้มีความเห็นถูกเห็นตรงมีความเห็นถูกต้องตรงว่าบุคคลมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น โดยการฟังธรรมของพระตถาคต ไม่เป็นผู้แตกตื่นเชื่อถือในมงคล มีทิฐิมงคล (มงคลคือการเห็นสิ่งน่าเจริญตา มีเห็นพระราชาเป็นต้น) เป็นต้นเพราะว่าเชื่อถือกรรม เชื่อถือผลของกรรมเท่านั้น เป็นประมาณ ไม่ยอมกลับกรอกเปลี่ยนใจ อ้างศาสดาอื่นจากพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาตน แม้ต้องสละชีวิต.  คำว่า มีอันได้รักษาความประพฤติทางกายและทางวาจา ก็โดยการสมาทานศีลสิกขาบท ๕ บ้างสิกขาบท ๘ บ้าง ตามสมควรแก่ความสามารถ ทั้งไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ.  คำพูดที่เหลือนอกนี้ ง่ายอยู่แล้ว.  จบคำอธิบายเกี่ยวกับอุปาสกคุณ ๑๐ ประการ

จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๖)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: