วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน


พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน 

ลูกปุโรหิตเกิดฤกษ์โจร - ดอกฟ้าในมือโจร - สันดานโจรไม่เจือจาง -ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน - โจรชั่วสิ้นชีพ - ถอนผมบวชเป็นเดียรถีย์ - โต้วาทีกับพระสารีบุตร - ขอบวชในพุทธศาสนา.

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “ภัททา”

ลูกปุโรหิตเกิดฤกษ์โจร

ในวันที่นางเกิดนั้น ได้มีบุตรของปุโรหิตในกรุงราชคฤห์เกิดในวันเดียวกันนี้ด้วย ขณะที่เขาคลอดจากครรภ์มารดา ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ บรรดาอาวุธทั้งหลายในบ้านของปุโรหิตเอง และในบ้านคนอื่น ๆ ตลอดจนถึงในพระราชนิเวศน์ต่าง ๆ ก็เกิดแสงประกายรุ่งโรจน์ไปทั่วพระนครตลอดคืนยันรุ่ง ปุโรหิตทราบในบุพนิมิตดีว่า บุตรของตนเกิดฤกษ์โจร เมื่อเขาโตขึ้นจะต้องเบียดเบียนทำความเดือดร้อนฉิบหายแก่ชาวเมือง จึงเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้าตรู่ กราบทูลความให้ทรงทราบโดยตลอด แล้วทูลเสนอแนะว่า ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ประหารชีวิตเขาเสีย เพื่อมิให้เป็นภัยแก่ชาวเมืองในอนาคต แต่พระราชาตรัสว่า เมื่อเขาไม่ได้เบียดเบียนเราก็ไม่เป็นไร อย่าไปฆ่าเขาเลย 

ปุโรหิตจึงเลี้ยงดูบุตรต่อไป โดยได้ตั้งชื่อให้ว่า “สัตตุกะ” สัตตุกะเมื่อโตขึ้นอยู่ในวัยเด็ก นายสัตตุกะก็ได้ ตัดช่องย่องเบาลักขโมยทรัพย์และสิ่งของมีค่าน้อยบ้างมากบ้าง ตามแต่จะได้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จนได้ชื่อว่า ไม่มีบ้านหลังใดที่ไม่ถูกย่องเบาลักขโมยเลย  ความเดือดร้อนของชาวเมืองทราบไปถึงพระราชา จึงรับสั่งให้หน้าที่ติดตามจับกุมโจรชั่วนั้นให้ได้ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายจึงออกติดตามสืบพบหาจนจับตัวได้แล้วนำมาถวายพระราชา เพื่อทรงวินิจฉัยตัดสินโทษ พระราชา รับสั่งให้โบยโจรพร้อมทั้งนำตัวตระเวนออกไปตามถนน ให้ทั่วทั้งพระนครก่อนแล้วจึงนำออกไปประหารที่เหวสำหรับทิ้งโจร

ดอกฟ้าในมือโจร

ขณะนั้น นางภัททา ธิดาเศรษฐีมีอายุย่างเข้าวัย ๑๖ ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดาจึงระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ให้หญิงรับใช้หนึ่งคนคอยดูแลรับใช้ของนาง ก็เป็นธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่มตระเวนมาทางบ้านของนาง พอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้นก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวโจรทันทีคิดว่า :- 

“ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครองก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่”  และรู้ว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ความทุกข์เศร้าโศกเสียใจสุดจะห้ามก็ตามมา ฝ่ายสาวใช้ เห็นเช่นนั้นจึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามารดา ทราบโดยด่วน บิดามารดาของนางพอมาถึง ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า :-  

“ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” แล้วก็นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนเตียนนอนนั้นมารดาจึงพูดอ้อนวอนว่า:- “ภัททา ลูกแม่ อย่าทำอย่างนี้เลย อีกไม่นานเจ้าก็จะได้สามีที่มีทรัพย์สมบัติและชาติสกุลเสมอกัน” “คุณแม่ค่ะ ดิฉันไม่ต้องการชายอื่น ถ้าไม่ได้ชายคนนี้จะขอตายดีกว่า”  บิดามารดาทั้งสอง ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน  แต่ก็ไม่เป็นผลด้วยคามรักและห่วงใยในลูกสาว  จึงติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะ  ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่มคนนั้น โดยให้นำมาส่งที่บ้าน  ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับทรัพย์ไปแล้วทำเป็นถ่วงเวลารอจนมืดค่ำ จากนั้นได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้แก่เศรษฐีแล้ว นำนักโทษอีกคนหนึ่งไปประหารชีวิตแทน แล้วกราบทูลพระราชว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้ว.  เศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้ว ให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีสวมใส่.  พร้อมทั้งอาภรณ์เครื่องประดับชั้นดีต่างๆ นำไปยังปราสาทของลูกสาว ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่ผัว.  เมียกันแล้ว บิดามารดาทั้งสองก็กลับไปยังที่พักของตน

สันดานโจรไม่เจือจาง

โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีซึ่งมีให้พรั่งพร้อมทุกอย่างได้ทั้งภรรยาที่แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบายไม่ขัดสน การงานก็มีคนรับให้ทำให้ ไม่ต้อง.  ดิ้นรนขวนขวยใดๆ ทั้งสิ้น แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจรอดที่จะทำชั่วไม่ได้  เขาคิดวางแผนฆ่าภรรยาเพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขายแล้วนำเงินมาหาความสุขด้วยการดื่มสุรา.  แล้วเขาก็เริ่มดำเนินการตามแผน ด้วยการแสดงกิริยาให้ภรรยาพอใจแล้วกล่าวว่า :-

“น้องหญิง การที่พี่รอดชีวิตจากการถูกประหารอย่างหนึ่ง  และการที่ได้มาแต่งงานอยู่กับน้องหญิงอีกอย่างหนึ่ง  ก็ด้วยอานุภาพของเทวดาที่สิงสถิต ณ ภูเขาทิ้งโจร  เพราะพี่ได้บนบานบวงสรวงกับท่านเข้าไว้  ขณะนี้ก็สำเร็จสมประสงค์ทั้ง ๒ ประการแล้ว  พี่เห็นว่าควรจะทำการแก้บนถวายเครื่องพลีกรรมแก่เทวดานั้น  ขอให้น้องหญิงจงจัดเครื่องพลีกรรมสังเวยให้พร้อมแล้ว ประดับอาภรณ์ให้สวยงามไปร่วมทำพิธีพลีกรรมที่ภูเขาทิ้งโจรนี้กับพี่เถิด” นางภัททา ด้วยความรักสามีสุดหัวใจ จึงเห็นชอบเชื่อตามคำสามีทุกประการ  โดยให้ทาสชายหญิงจัดเครื่องพลีกรรมเรียบร้อยแล้ว  ขึ้นนั่งรถคันเดียวกันกับสามีไปยังเหวที่ทิ้งโจร  เมื่อมาถึงเชิงเขา โจรสัตตุกะบอกกับภรรยาว่า :- 

“ให้เหล่าบริวารที่ติดตามมานั้นกลับไปก่อน เราสองคนเท่านั้นที่จะขึ้นไปทำพลีกรรม” เมื่อบริวารแยกทางกลับไปแล้ว ก็ช่วยกันถือเครื่องสักการะสังเวยขึ้นไปบนยอดเขา นางภัททารู้สึกมีความสุข ความอิ่มใจที่ได้ช่วยกิจของสามี และได้โอกาสมาทัศนาโลกภายนอก  แต่พอถึงยอดเขา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ดขาดว่า :- 

“ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออกแล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้” นางภัททา ได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูกละล่ำละลักถามสามีว่า :- “นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ ?” “นางหญิงโง่ ความจริงเราจะควักตับกับหัวใจของเจ้าถวายแก่เทวดาที่นี่ แล้วยึดเอาเครื่องอาภรณ์ของเจ้าทั้งหมดไปใช้จ่ายหาความสุข” “นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้ก็เป็นของท่านอยู่แล้วทำไมท่านจะต้องฆ่าฉัน เพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า”

ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน

แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร เข้าโจรโง่ใจร้ายก็ไม่ยอมรับฟัง ตั้งหน้าแต่จะฆ่านางเอาเครื่องประดับอย่างเดียว  นางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอกมองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม  จึงรวบรวมสติไว้แล้วคิดว่า :- “ขึ้นชื่อว่าปัญญาที่ติดกับตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน แต่มีไว้เพื่อพิจารณาหาหนทางดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาชีวิต เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า :-

“เอาละนายจ๋า วันท่านท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมพาตระเวนประจานไปทั่วเมือง ก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดาให้สละทรัพย์เป็นอันมาก ไถ่ชีวิตท่านแล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ  วันนี้ท่านมีความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้  เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร  ก่อนที่ดิฉันจะตายขอให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่านเป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้  ใกล้ชิดท่าน ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้นแล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง ๔ ทิศหลังจากนั้นท่านก็จงประหารดิฉันเถิด”

โจรชั่วสิ้นชีพ

โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนางดูเป็นปกติสมจริงจึงอนุญาตให้นางกระทำตามที่ขอแล้ว ไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น นางภัททาผู้เป็นภรรยาได้ทำการประทักษิณเดินเวียนขวารอบสามี ๓ รอบ  แล้วไหว้ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า :- “นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว” 

เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้า แล้วก็เปลี่ยนมากอดข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่วแหลกเหลวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวทิ้งโจรนั้นนางภัททา หลังจากผลักโจรชั่วผู้สามีตกลงไปในเหวแล้ว คิดว่า :- 

“ถ้าเรากลับบ้านไปบิดามารดาก็จะถามว่า สามีเจ้าหายไปไหน ถ้าเราบอกความจริงว่าเราฆ่าเขาตายแล้ว ก็จะพากัน ประณามติเตียนว่า นางเด็กดือ เจ้าอ้อนวอนพ่อแม่ให้เสียทรัพย์เพื่อไถ่ชีวิตโจรเอามาทำผัว แต่พอได้เขามาแล้วกลับฆ่าเขาตาย เจ้าทำอย่างนี้ได้อย่างไร แม้เราจะบอกว่าเขาต้องการฆ่าดิฉัน เพื่อต้องการเครื่องประดับท่านทั้งสองก็จักไม่เชื่อเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรกลับบ้าน ควรจะไปบวชในสำนักใดสำนักหนึ่งดีกว่า”

ถอนผมบวชเป็นเดียรถีย์

ครั้นนางภัททาคิดดังนี้แล้ว ก็ทิ้งห่อเครื่องประดับไว้บนยอดเขานั้นแล้วเดินลงจากภูเขาไป เดินลัดเลอะไปตามป่า  ได้พบสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ขอบรรพชาในสำนักนั้น พวกนิครนถ์ถามนางว่า “จะบวชโดยวิธีไหน ?” นางจึงตอบว่า :-  “วิธีใดที่จัดว่าเป็นสิ่งสูงสุดในสำนักของท่าน ก็ขอให้ดิฉันบรรพชาด้วยวิธีนั้นเถิด” พวกนิครนถ์จึงเอาก้านตาลถอนผมนางจนหมดศีรษะ  ถือว่าเป็นวิธีบวชที่สูงสุดของสำนัก  เมื่อนางบวชแล้วผมที่งอกขึ้นมาใหม่ก็ม้วนกลมเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่เหยียดยาวเหมือนเดิม  ดังนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสา” เมื่อนางบวชแล้ว ได้ศึกษาศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ในสำนักนั้นจนจบสิ้น นางเห็นว่าสำนักนี้ไม่มีศิลปะวิทยาที่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว จึงออกเที่ยวแสวงหาบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายแล้วขอศึกษาสิ่งที่บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทั้งหมด  นางเที่ยวแสวงหาบัณฑิตด้วยการโต้วาทะ  โดยวิธีใช้กิ่งหว้าปักบนกองทรายแล้วประกาศว่า :- “ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้”

 โดยมีข้อตกลงกันว่า :- “ถ้าผู้ที่โต้วาทะชนะนางเป็นคฤหัสถ์ นางก็จะขอยอมเป็นทาสรับใช้ แต่ถ้าผู้โต้วาทะชนะเป็นนักบวช นางก็จะขอบวชเป็นศิษย์ในสำนักนั้น” 

นางถือกิ่งหว้าเที่ยวประกาศท้าได้วาทะไปตามหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ ชาวบ้านพอได้ทราบข่าวว่านางภัททามาทางบ้านของตนก็จะพากันหลีกหนีไป นางเข้าไปถึงตำบลใดก็จะปักกิ่งหว้าบนกองทรายแล้ว นั่งรอผู้ที่รับคำท้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนาง  บางตำบลนางรอถึง ๗ วัน ก็ไม่มีผู้ใดกล้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนางเลย  นางจึงต้องถอนกิ่งหว้าแล้วหลีกต่อไปที่อื่น  นางได้ถือกิ่งหว้าท่องเที่ยวไปโดยทำนองนี้  จนได้ชื่อใหม่ว่า “นางชัมพุปริพาชิกา”  (นางปริพาชิกาไม้หว้า, ชัมพุ= ไม้หว้า)

โต้วาทีกับพระสารีบุตร

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตะวันวิหาร กรุงสาวัตถี ฝ่ายนางกุณฑลเกสา ก็ดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีแล้วปักกิ่งหว้าบนกองทราย ประกาศท้าโต้วาทะเหมือน เดิมแล้วออกไปหาอาหารบริโภคขณะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินผ่านมาเห็นเด็ก ๆ กำลังยืนรุมล้อมดูกิ่งหว้าบนกองทราย พร้อมกับวิจารณ์กันเซ็งแซ่ เกิดความสงสัยจึงเข้าไปถามเด็ก ๆ ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว จึงบอกกับเด็ก ๆ ว่า :-

“เจ้าหนูทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงเหยียบกิ่งหว้านั้นเถิด”. “พวกกระผมกลัวขอรับ พระคุณเจ้า”. “ไม่ต้องกลัวหรอก พวกเจ้าเป็นคนเหยียบ เราจะเป็นผู้แก้ปัญหาเอง”. เด็กบางพวกไม่กล้า บางพวกก็กลัว ๆ กล้า ๆ แต่ผลที่สุดก็ช่วยกันเหยียบกิ่งหว้าและกองทรายนั้นจนกระจัดกระจาย.  นางชัมพุปริพาชิกา มาเห็นแล้วก็ดุต่อว่าเด็กเหล่านั้น แต่พอเด็กๆบอกว่า :-  “พระคุณเจ้ารูปนั้น ใช้ให้เหยียบ” นางจึงเข้าไปถามพระเถระว่า:- “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านจักโต้วาทะถามปัญหากับดิฉันหรือ ?”. “ใช่แล้ว น้องหญิง” พระเถระตอบนางฟังคำของพระเถระแล้วคิดว่า :-   “เราควรจะให้ชาวพระนครสาวัตถีได้รู้กำลังปัญญา ของเราว่ายิ่งใหญ่หาผู้เทียมทานไม่ได้”  จึงแจ้งให้ชาวเมืองมาชมมาฟังกันให้มาก ๆ  ชาวพระนครพอทราบข่าวต่างก็พากันไปห้อมล้อมจนแน่นขนัด ลำดับนั้น พระเถระได้ให้โอกาสแก่นางชัมพุปริพาชิกา  เป็นผู้ถามปัญหาขึ้นก่อน นางก็ถามศิลปวิทยาที่ตนเรียนรู้มาตามลัทธิตน ถามจนหมดความรู้ที่นางมีอยู่ พรเถระก็ตอบแก้ได้ทั้งหมด นางก็ตกใจเพราะไม่เคยถามใครมากอย่างนี้มาก่อนเลย จึงนิ่งเฉยอยู่.  พระเถระจึงกล่าวว่า :- “ท่านถามเราหมดแล้ว ต่อไปนี้เราจะขอถามท่านบ้าง”. “ถามเถิด พระคุณเจ้า”.   “ที่ชื่อว่าหนึ่ง นั้นคืออะไร ?”.  “พระคุณเจ้า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า”.  พระสารีบุตร - เธอไม่ทราบแม้เหตุเพียงเท่านี้ เธอจักทราบอะไร อย่างอื่นเล่า  แล้วแสดงธรรม

ขอบวชในพระพุทธศาสนา

นางชัมพุปริพาชิกา ยอมพ่ายแพ้ต่อพระเถระด้วยปัญหาเพียงข้อเดียวเท่านั้น นางหมอบลงกราบแทบเท้าพระเถระ ขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งขอบรรพชาและถึงพระเถระเป็นสรณะ แต่พระเถระบอกว่าขอให้นางถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะเถิด แล้วพานางไปยังพระวิหารเชตวัน นำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค  พระพุทธองค์ทรงราบจริยาอัธยาศัยของนางดีแล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาคาถาภาศิตว่า :-

“ผู้ใดกล่าวคาถาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา ผู้กล่าวคาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เพียงคาถาเดียว ยังผู้ฟังให้สงบระงับได้ ชื่อว่า ประเสริฐกว่าแล”

พอจบพระธรรมเทศนาคาถาภาษิต ทั้งๆที่นางกำลังยืนอยู่นั้น ยังไม่ทันจะนั่งลง ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย  ในขณะนั้น แล้วกราบทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตแล้ว ส่งนางไปบวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์ เมื่อนางบวชแล้ว ได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสาเถรี”  ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “พระภัททากุณฑลเกสาเถรีนี้ ยิ่งใหญ่จริงหนอ  บรรลุพระอรหัตผลในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บาทเหล่านั้น” พระศาสนาทรงปรารภเหตุนี้  จึงทรงสถาปนาพระภัททากุณฑลเกสาเถรีในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน.  

ปล. บุพกรรมของท่านในอดีตชาติ

ได้ยินว่า พระภัททากุณฑลเกสานี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ตรัสรู้เร็ว จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗.  พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗.สมาทานศีล ๑๐ ประพฤติกุมารีพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปีสร้างบริเวณถวายสงฆ์ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง จนได้เกิดในชาติปัจจุบันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น.  (ตามรอย ธรรม)


พระภัททากุณฑลเกสาเถรี (กุณฑลเกสี) เอตทัคคมหาสาวิกาผู้เลิศด้านตรัสรู้ได้เร็วพลัน  (ท่านได้ตรัสรู้ก่อนบวชเป็นภิกษุณี) คัดลอกจากสารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี กรุงราชคฤห์ บิดามารดาตั้งชื่อนางว่า ภัททา แปลว่า เจริญ หรือ น่ารัก.  วันนั้นเหมือนกัน บุตรปุโรหิตก็เกิดในพระนครนั้น เวลาที่บุตรปุโรหิตเกิด อาวุธทั้งหลายก็ลุกโพลงไปทั่วพระนครตั้งแต่พระราชนิเวศน์เป็นต้นไป.  ปุโรหิตก็ไปเข้าเฝ้าแต่เช้าตรู่ ทูลถามพระราชาตามราชประเพณีถึงการบรรทมของพระราชาในคืนที่ผ่านมาว่าเป็นสุขหรือไม่.  พระราชาตรัสว่า เราจะนอนเป็นสุขได้แต่ที่ไหนเล่า อาจารย์ เราเห็นอาวุธ ทั้งหลายในราชนิเวศน์ลุกโพลงตลอดคืนยังรุ่ง ในวันนี้ จะต้องประสบภัยกันหรือ ? ปุโรหิตกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์โปรดอย่าทรงพระดำริเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยเลย อาวุธทั้งหลาย มิใช่ลุกโพลงแต่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์เท่านั้น ทั่วพระนครก็เป็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า.  พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไรเล่า อาจารย์.  ปุโรหิตกราบทูลว่า ในเรือนข้าพระองค์ เด็กชายเกิดโดยฤกษ์โจร เขาเกิดเป็นศัตรูทั่วพระนคร นั่นเป็นบุพนิมิตของเขา แต่พระองค์ไม่มีอันตรายดอก พระเจ้าข้า แต่ถ้าจะทรงพระประสงค์ ก็โปรดให้ฆ่าเขาเสีย.  พระราชาตรัสว่า เมื่อไม่เบียดเบียนเราก็ไม่ต้องฆ่าดอก. ปุโรหิตจึงตั้งชื่อ เขาว่า สัตตุกะ (ผู้เป็นศัตรู). 

ภัททาก็เติบโตในเรือนเศรษฐี

สัตตุกะก็เติบโตในเรือนปุโรหิต ตั้งแต่เขาสามารถเล่นวิ่งมาวิ่งไปได้ เขาจะนำทุกสิ่งที่เขาพบในที่เที่ยวไป มาไว้เต็มเรือนบิดามารดา.  บิดาแม้จะหว่านล้อม ห้ามปรามโดยอ้างแม้ตั้ง ๑,๐๐๐ เหตุ ก็ห้ามปรามเขาไม่ได้. ต่อมา บิดารู้ว่าห้ามเขาไม่ได้โดยอาการทั้งปวง จึงให้ผ้าเขียวแก่เขา ๒ ผืน ให้เครื่องอุปกรณ์ตัดช่อง และ สีฆาตกยนต์ [กลไกรูปกระจับ] ไว้ในมือ แล้วไล่ให้เขาออกจากตระกูลไป ด้วยกล่าวว่า

เจ้าจงเลี้ยงชีพด้วยงานชนิดนี้

ตั้งแต่วันนั้นมา เขาก็ใช้กลไกกระจับ พาตัวขึ้นไปบนปราสาทของสกุลทั้งหลาย ตัดช่องที่ต่อเรือน แล้วขโมยทรัพย์สิ่งของที่เขาเก็บไว้ในสกุลผู้อื่น เหมือนของตัวเอง เก็บไว้แล้วก็ไป ทั่วทั้งพระนครขึ้นชื่อว่าเรือนหลังที่เขาไม่เคยย่องเบา ไม่มีเลย. วันหนึ่ง พระราชาเสด็จเที่ยวไปในพระนครโดยราชรถ จึงตรัสถามสารถีว่า  ทำไมหนอ ในเรือนหลังนั้น ๆ ในพระนครนี้ จึงปรากฏมีช่อง(โขมย) ทั้งนั้น.  สารถีกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ในพระนครนี้มีโจรชื่อสัตตุกะ ตัดฝาเรือน ลักทรัพย์ของสกุลทั้งหลาย พระเจ้าข้า.  พระราชาจึงรับสั่งให้หาเจ้าหน้าที่นครบาลมาแล้ว ตรัสถามว่าเขาว่าในพระนครนี้มีโจรชื่ออย่างนี้ เหตุไรเจ้าจึงไม่จับมัน.  เจ้าหน้าที่นครบาลกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พวกข้าพระองค์ไม่อาจพบโจรนั้นพร้อมทั้งของกลาง พระเจ้าข้า.  ตรัสสั่งว่า ถ้าวันนี้เจ้าพบโจรนั้น จงจับ ถ้าไม่จับ เราจักลงอาชญาเจ้า.  เจ้าหน้าที่นครบาลทูลรับว่า พระเจ้าข้า เทวะ

เจ้าหน้าที่นครบาลสั่งให้มนุษย์ทั่วพระนคร เที่ยวสืบสวนจนจับตัวโจรผู้ตัดฝาเรือนลักทรัพย์เขา พร้อมทั้งของกลางนั้นได้ นำไปแสดงแก่พระราชา.  พระราชาตรัสสั่งว่า จงนำโจรนี้ออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วประหารเสีย เจ้าหน้าที่นครบาลรับสนองพระราชโองการแล้ว โบยโจรนั้นครั้งละ ๔ ที ๑,๐๐๐ ครั้ง ให้จับตัวพาไปทางประตูด้านทิศใต้

นางภัททาเห็นผิดเป็นชอบ

สมัยนั้น ภัททา ธิดาเศรษฐีนี้ นางมีบริวารมาก เปิดหน้าต่างดู เห็นโจรชื่อสัตตุกะ บุตรปุโรหิต ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นครบาลจับตัว ในความผิดมหันตโทษ พร้อมทั้งของกลาง กำลังควบคุมตัวมายังที่ประหาร เพื่อฆ่าให้ตายตามพระราชอาชญา นางมีจิตปฏิพัทธ์ ก็นอนคว่ำหน้าบนที่นอน คร่ำครวญว่า  ถ้าเราได้เขา จึงจะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จักตายเสีย  ก็นางเป็น ธิดาคนเดียวของสกุลนั้น ด้วยเหตุนั้น พวกญาติของนางจึงไม่อาจทนเห็นหน้าอันหม่นหมองแม้เล็กน้อยได้.  ครั้งนั้นมารดาเห็นนางนอนบนที่นอน จึงถามนางว่า  ลูกเอ๋ย เจ้าเป็นอะไรไป.  นางตอบตรง ๆ ว่า แม่จ๋า ดิฉัน พบโจรที่เขากำลังนำไปฆ่าจ้ะ เมื่อได้เขามาจึงจะเป็นอยู่ได้ เมื่อดิฉันไม่ได้ ตายเสียเท่านั้นประเสริฐ.  บิดามารดาปลอบโดยประการต่าง ๆ ก็ไม่อาจให้นางยินยอมได้ จึงคิดว่า ทำให้นางอยู่ ดีกว่าปล่อยให้นางตาย.  ครั้งนั้นบิดาของนาง จึงหาเจ้าหน้าที่นครบาล ติดสินบน ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วบอกว่า ธิดาของเรามีจิตติดพันในโจร โปรดจงปล่อยโจรนี้ ด้วยอุบายวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย

เจ้าหน้าที่นครบาลรับปากเศรษฐี แล้วพาโจรไปโดย หน่วงเหนี่ยวให้ชักช้า ไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้างจนพระอาทิตย์ตก เมื่อพระอาทิตย์ตกแล้วก็ให้นำเอาโจรคนหนึ่งออกมาจากคุก ทำเป็นโจรขึ้นแทนสัตตุกะ แล้วแก้สัตตุกะโจรออกจากเครื่องจองจำ พาไปส่งยังเรือนเศรษฐี แล้วเอาเครื่องจองจำนั้นพันธนาการโจรที่นำมาจากคุกนั้น นำตัวออกไปทางประตูด้านทิศใต้ แล้วประหารชีวิตแทนเสีย พวกทาสของเศรษฐีต่างพาตัวสัตตุกะโจรมายังเรือนของเศรษฐี เศรษฐีเห็นเขาแล้วคิดว่า เราจักทำให้สมใจของธิดาเราเสียที จึงให้พวกทาสเอาน้ำหอมอาบสัตตุกะโจร แล้วให้ตกแต่งประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด พาไปส่งตัวยังปราสาท.  นางภัททาคิดว่า ความดำริของเราเต็มที่แล้ว จึงแต่งตัวให้เพริศพริ้งด้วยเครื่องอลังการนานาชนิดคอยบำเรอเขา

สัตตุกะคิดฆ่านางภัททาเพื่อเอาทรัพย์

ครั้นพอล่วงมาได้ ๒-๓ วัน สัตตุกะโจรก็คิดว่า สิ่งของเครื่องประดับ ของนางจักเป็นของเรา เราควรจะถือเอาเครื่องอาภรณ์นี้ด้วยอุบายบางประการเสีย ดังนี้แล้ว.  พอถึงเวลานั่งใกล้ชิดกันอย่างมีความสุขจึงพูดกะนางภัททาว่า เรามีเรื่องที่จะพูดสักเรื่องหนึ่ง.  ธิดาเศรษฐีปลาบปลื้มใจประหนึ่งว่าได้ลาภตั้งพันจึงตอบว่า พี่ท่าน เราสนิทสนมกันแล้ว พี่ท่าน จงบอกมาเถิด.  โจรกล่าวว่า เธอคิดว่าเรานี้ได้ชีวิตมาเพราะอาศัยเธอ แต่เราพอถูกจับเท่านั้น ได้อ้อนวอนเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เขาทิ้งโจรว่า ถ้าข้าพเจ้าจักได้ชีวิต ข้าพเจ้าจักถวายพลีกรรมแด่ท่าน เราได้ชีวิตเพราะอาศัยเทวดานั้น ขอเธอจงรีบให้จัดเครื่องพลีกรรมเถิด.  นางภัททาคิดว่า เราจักทำให้เขาเต็มใจเสียที สั่งให้จัดแจงเครื่องพลีกรรม ประดับประดาเครื่องประดับทุกชนิด ขึ้นนั่งในรถคันเดียวกันไปยังเหวทิ้งโจรพร้อมกับสามี.  เมื่อถึงแล้วก็เริ่มไต่ภูเขาขึ้นไปด้วยคิดว่า เราจักทำพลีกรรมแก่เทวดาประจำภูเขา.  สัตตุกะโจรคิดว่า เมื่อขึ้นไปกันหมดแล้วเราจักไม่มีโอกาส ถือเอาเครื่องอาภรณ์ของนางได้ จึงให้นางภัททานั้นนั่นแหละถือภาชนะ เครื่องเซ่นสรวง แล้วขึ้นภูเขาไป.  เขาพูดถ้อยคำทำทีเป็นพูดกับ นางภัททา พูดคุยกันไป ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง นางจึงไม่รู้ความประสงค์ของโจร.  ทีนั้น โจรจึงพูดกะนางว่า น้องภัททา เธอจงเปลื้องผ้าห่ม ของเธอออก แล้วเอาเครื่องประดับที่ประดับอยู่รอบกายทำเป็นห่อไว้ ณ ที่นี้. นาง นายจ๋า ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ. โจร แม่นางผู้เขลา เธอคิดว่า เรามาเพื่อทำพลีกรรมหรือ ความจริงเราจะควักตับถวายแก่เทวดานี้ แต่เรามีประสงค์จะถือเอาเครื่องอาภรณ์ของเธอโดยอ้างพลีกรรม จึงได้พาเธอมาที่นี่

ผู้ฉลาดย่อมแก้ไขสถานะการณ์ได้ฉับพลัน

นาง นายจ๋า เครื่องประดับเป็นของใคร ตัวฉันเป็นของใคร.  โจร เราไม่รับรู้ ของของเธอก็เป็นส่วนหนึ่ง ของของเราก็เป็นส่วนหนึ่ง.  นาง ดีแล้วจ้ะพี่ท่าน แต่ขอให้พี่ท่านจงทำความประสงค์ของน้องอย่างหนึ่งให้บริบูรณ์ทีเถิด ขอพี่ท่านให้น้องได้สวมกอดพี่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังโดยทำนองที่แต่งตัวอยู่อย่างนี้นี่แหล.  โจรก็รับปากว่า ได้สิจ๊ะ.  นางทราบว่า โจรรับปากแล้ว ก็สวมกอดข้างหน้าแล้วก็ทำเป็นทีสวมกอดข้างหลัง เมื่อเขาเผลอ จึงผลักเขาตกเหวไป เขาเมื่อตกลงไปก็แหลกละเอียดไปในอากาศนั่นแหละ. 

เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ภูเขา เห็นความที่นางทำให้โจรแหลกละเอียด ไป จึงได้กล่าวคาถาด้วยประสงค์จะสรรเสริญ มีดังนี้ว่า.  ผู้ชายนั้นมิใช่จะเป็นบัณฑิตไปเสียในที่ทุกสถาน  แต่ผู้หญิงผู้มีวิจารณญาณในที่นั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้

ผู้ชายนั้นนะ มิใช่จะเป็นบัณฑิตไปเสียในที่ทุกสถาน แต่ผู้หญิงคิดอ่านแม้ครู่เดียว ก็เป็นบัณฑิตได้.  ลำดับนั้น นางภัททาจึงคิดว่า เราไม่สามารถจะกลับไปบ้านได้แล้ว เราไปจากที่นี้แล้วจักบวชสักอย่างหนึ่ง จึงได้ไปยังอารามของพวกนิครนถ์ขอบรรพชากะพวกนิครนถ์.  ทีนั้นพวกนิครนถ์เหล่านั้นกล่าวกะนางว่า จะบวชโดยทำนองไหน.  สิ่งใดเป็นของสูงสุดในบรรพชาของท่าน ขอท่านจงกระทำสิ่งนั้นนั่นแหละ.  พวกนิครนถ์รับว่า ดีแล้ว จึงเอาก้านตาลทิ้งถอนผมของนางแล้วให้บวช ผมเมื่อจะงอกขึ้นอีกก็งอกขึ้นเป็นวงกลมคล้ายตุ้มหู โดยเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา เพราะเหตุนั้นนางจึงเกิดมีชื่อว่า กุณฑลเกสา.  นางเรียนศิลปะทุกอย่างในที่ที่ตนบวชแล้ว ครั้นทราบว่าคุณวิเศษยิ่งกว่านี้ของพวกนิครนถ์เหล่านี้ไม่มี จึงเที่ยวไปยังคามนิคมราชธานี บัณฑิตมีในที่ใด ๆ ก็ไปในที่นั้น ๆ แล้วเรียนศิลปะที่บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทุกอย่างหมด.  ต่อมา ก็ไม่มีคนทั้งหลายผู้ที่สามารถจะโต้วาทะตอบแก่นางได้ เพราะนางเป็นผู้ได้ศึกษามามาก.  นางมิได้มองเห็นใครที่สามารถจะกล่าวกับตนได้ เข้าไปสู่บ้านใดก็ดี นิคมใดก็ดี ก็ทำกองทรายไว้ที่ประตูบ้านหรือนิคมนั้น แล้วปักกิ่งต้นหว้าไว้บนกองทรายนั้นนั่นแหละ ให้สัญญาแก่พวกเด็ก ๆ ที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ด้วยพูดว่า :- 

ผู้ใดสามารถที่จะโต้ตอบวาทะของเราได้ ผู้นั้นจงเหยียบกิ่งไม้นี้  แม้ตลอดตั้งสัปดาห์นั้นก็หามีคนเหยียบไม่แล้วนางก็ถือเอากิ่งไม้นั้นหลีกไป.  ในสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงอาศัยกรุงสาวัตถี เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวัน.  ฝ่ายนางกุณฑลเกสาก็ไปถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ เมื่อเข้าไปภายในนครแล้ว ก็ปักกิ่งไม้ไว้บนกองทรายทำนองเดิมนั่นแหละ แล้วให้สัญญาแก่พวกเด็กแล้วจึงเข้าไป.  ในสมัยนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์เข้าไปแล้ว พระธรรมเสนาบดี (พระสารีบุตร) จึงเข้าไปสู่นครเพียงรูปเดียวเท่านั้น เห็นกิ่งต้นหว้าที่เนินทรายแล้วถามว่า :-  เพราะเหตุไร เขาจึงปักกิ่งต้นหว้านี้ไว้ พวกเด็กก็บอกเหตุนั้นโดยตลอด.  พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า นี่แน่ะ หนูทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเธอจงจับเอากิ่งต้นหว้านี้ออกมาเหยียบย่ำเสีย.  บรรดาเด็กเหล่านั้น บางพวกฟังคำพระเถระแล้วไม่กล้าที่จะเหยียบย่ำได้ บางพวกก็เหยียบย่ำทันทีทีเดียว กระทำให้ แหลกละเอียดไป.  นางกุณฑลเกสาบริโภคอาหารแล้วเดินออกไปเห็นกิ่งไม้ถูกเหยียบย่ำ จึงถามว่า นี้เป็นการกระทำของใคร.  พวกเด็กจึงบอกการที่พระธรรมเสนาบดีให้พวกเขากระทำแก่นาง นางจึงคิดว่า พระเถระนี้ถ้าไม่รู้กำลังของตน ก็จักไม่กล้าให้เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้ พระเถระนี้จำต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่แน่นอน.  ฝ่ายพระเถระกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง

ทีนั้น นางกุณฑลเกสานี้ มีมหาชนห้อมล้อมเดินไปยังสำนักของพระเถระกระทำปฏิสันถารแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าให้เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้หรือ.  พระสารีบุตร – ใช่แล้ว เราให้เหยียบย่ำเอง.  นาง - เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอดิฉันกับพระคุณเจ้ามาโต้วาทะกันนะ พระคุณเจ้า.  พระสารีบุตร – ได้สิ น้องนาง.  นาง - ใครจะถาม ใครจะกล่าวแก้ เจ้าข้า.  พระสารีบุตร - ความจริงคำถามตกแก่เรา แต่ท่านจงถามสิ่งที่ท่านรู้เถิด นางถามลัทธิตามที่ตนรู้มาทั้งหมดทีเดียว ตามที่พระเถระยินยอม พระเถระก็กล่าวแก้ได้หมด.  นางครั้นถามแล้วถามอีก จนหมดจึงได้นิ่งอยู่.  ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะนางว่า ท่านถามเราหมดแล้ว เราก็จะถามท่านข้อหนึ่ง.  นางกุณฑล : ถามเถิด เจ้าข้า.  พระสารีบุตร - ที่ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร.  นางกุณฑลเกสาเรียนว่า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า.  พระสารีบุตร- เธอไม่ทราบแม้เหตุเพียงเท่านี้ เธอจักทราบอะไร อย่างอื่นเล่า.  นางหมอบแทบเท้าทั้งสองของพระเถระ เรียนว่า ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าเป็นสรณะ เจ้าข้า

พระสารีบุตร จะทำการถึงเราเป็นสรณะไม่ได้ บุคคลผู้เลิศ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับอยู่ที่วิหารใกล้ๆ นี่เอง ขอเธอ จงถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะเถิด. นาง - ดิฉันจักกระทำเช่นนั้น เจ้าข้า.  พอตอนเย็น ในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม จึงไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสพระคาถาในธรรมบทตามความเหมาะสมกับจริยาของนาง ที่เคยพิจารณาเห็นสังขารอันทุกข์บีบคั้นแล้ว ต่อไปว่า :- 

"หากคาถาที่ไม่ประกอบด้วยบทอันมีประโยชน์ แม้จะมีตั้ง ๑,๐๐๐ คาถาก็ตาม คาถาเดียวที่ บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ยังประเสริฐกว่า ดังนี้"

ในเวลาจบพระคาถา นางก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งที่ยืนอยู่นั่นเอง จึงทูลขอบรรพชา พระศาสดาทรงรับให้นางบรรพชาแล้ว นางไปยังสำนักภิกษุณีบวชแล้ว.  ในกาลต่อมาเกิดสนทนากันขึ้น ในท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า นางภัททากุณฑลเกสานี้ใหญ่ยิ่งจริงหนอ บรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บท. พระศาสดาทรงกระทำ เหตุนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่องแล้วทรงสถาปนาพระเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกา ผู้ตรัสรู้เร็ว ด้วยประการฉะนี้

บุพกรรมของท่านในอดีตชาติ

ได้ยินว่า พระภัททากุณฑลเกสานี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ตรัสรู้เร็ว จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น.  ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗.  พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗.สมาทานศีล ๑๐ ประพฤติกุมารีพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปีสร้างบริเวณถวายสงฆ์ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง จนได้เกิดในชาติปัจจุบันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น.  องฺ.อ ๑/๒/๓๗-๔๖; เถรี.อ ๒/๔/๑๗๐-๑๘๓; ขุ.อป ๙/๕๙๘-๖๐๙

ที่มา :  http://www.dharma-gateway.com/bhikunee/pra-patta-koontonkesa.htm







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: