วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564

ชาวพุทธ คือ ผู้ปล่อยวางได้ แต่ไม่ควรปล่อยปละละเลย ( ป. อ. ปยุตฺโต)

ชาวพุทธ คือ ผู้ปล่อยวางได้  แต่ไม่ควรปล่อยปละละเลย ( ป. อ. ปยุตฺโต)

…. “สำหรับปุถุชน ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นเครื่องฝึกตนเท่านั้น จึงจะต้องระวังมาก เพราะความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น เรารับมาด้วยสัญญา(ความจำได้หมายรู้) ไม่ใช่ “ปัญญา” คือ เราฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นแล้วมันเปลี่ยนแปลงไป เราก็เกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ เพราะมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เราฟังแล้วก็เลื่อมใส เห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น และชอบใจ นำมาปฏิบัติ

…. ในกรณีอย่างนี้ เรียกว่าได้ปัญญามานิดหน่อย แต่ตัวหลักปฏิบัติที่รับมาเป็นเพียงสัญญาเท่านั้น และเราก็รับเอาหลักนั้นมาปฏิบัติตามสัญญาว่า เอ้อ....ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรนะ! กลับไปบ้านก็บอกว่า นี้ไม่ใช่ลูกของเรา นี้ไม่ใช่ภรรยาของเรา ไม่ใช่เงินของเรา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งนั้น ก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร นี่คือเกิด “ความประมาท” แล้ว

…. การที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรนี่ เป็นเพียง“ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” เพราะความไม่ยึดมั่นตัวนี้ ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่แท้ มันเป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เกิดจากสัญญา แล้วเราก็เอาตัวความไม่ยึดมั่นนี้มาจับยึดเข้าไว้อีกทีหนึ่ง เลยเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น จึงว่า ต้องระวังให้ดี ถ้าเป็นปุถุชน จะทำได้แค่นี้

…. ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เกิดจาก “ปัญญา” เมื่อเราเห็นสิ่งทั้งหลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เรารู้ทันสัจธรรมแล้ว ความเป็นไปของมันก็ไม่เข้ามาบีบคั้นจิตใจของเรา จิตใจของเราเป็นอิสระ ต่อจากนั้น เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ตามเหตุตามผลด้วยปัญญา

…. หลักการนี้สำคัญมาก ถ้าเรามีทรัพย์ ก็ปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้องตามเหตุผล ทรัพย์มีเพื่ออะไร ก็นำไปใช้ในเกิดผลตามวัตถุประสงค์นั้น ไม่ใช่ไปมัวยึดมั่นถือมั่นให้เป็นเหตุบีบคั้นจิตใจให้มีความทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ไม่รับผิดชอบ ต้องใช้มันให้สมคุณค่า ให้ถูกต้องตามความหมายของมัน ทรัพย์ก็เกิดประโยชน์แท้จริง ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็น ชาวพุทธแท้ คือ ผู้ปล่อยวางได้ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : จากหนังสือ “จาริกบุญ จารึกธรรม”

ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: