วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๖)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๖)  ปัญหาที่ ๑๐ สัมปสาทนลักขณสัทธาปัญหา 

พระราชาตรัสถามว่าพระคุณเจ้านาคเสนศรัทธามีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ศรัทธามีความทำให้เลื่อมใสด้วยดีเป็นลักษณะ, และมีความทำให้แล่นไปด้วยดีเป็นลักษณะ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ศรัทธาชื่อว่ามีความทำให้เลื่อมใสด้วยดีเป็นลักษณะอย่างไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลายได้ จิตที่ปราศจากนิวรณ์ย่อมเป็นจิตที่ใส ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ขอถวายพระพร ศรัทธามีความทำให้เลื่อมใสด้วยดีเป็นลักษณะ อย่างนี้

พระเจ้ามิลินท์, ขอจงกระทำอุปมาเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าพระเจ้าจักรพรรดิผู้เสด็จดำเนินทางไกลพร้อมกับกองทัพ ๔ เหล่า ต้องเสด็จข้ามแอ่งน้ำไป แอ่งน้ำนั้นก็มีอันต้องฟุ้งขึ้น ขุ่นมัว กลายเป็นน้ำโคลนไป เพราะเหล่าช้าง เหล่าม้า เหล่ารถ และ เหล่าพลเดินเท้าทั้งหลาย ก็พระเจ้าจักรพรรดิผู้เสด็จข้ามไปแล้ว พึงรับสั่งกับคนทั้งหลายว่า นี่แน่ พนายจงนำน้ำดื่มมา เราจะดื่มน้ำหล่ะ ดังนี้ ก็พระราชาทรงมีแก้วมณีที่ใช้ทำน้ำให้ใสได้อยู่ คนทั้งหลายกราบทูลรับพระบัญชาของพระเจ้าจักรพรรดิว่า พระเจ้าข้า ดังนี้แล้วก็ ใส่แก้วมณีที่ใช้ทำน้ำให้ใสนั้นลงไปในน้ำ เมื่อเพียงแต่ใส่แก้วมณีลงไปในน้ำเท่านั้น บรรดาสาหร่าย จอก แหน ทั้งหลาย ก็พึงปราศนาการไป และตะกอนก็สงบนิ่งไปทีเดียว น้ำก็กลายเป็นน้ำใสผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ต่อจากนั้นก็พึงน้อมนำถวายให้เป็นน้ำเสวยแก่พระเจ้าจักรพรรดิ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นสมมติเทพ ขอจงเสวยเถิด พระเจ้าข้า ดังนี้

ขอถวายพระพร ผู้เป็นบัณฑิตพึงเห็นจิตว่าเป็นดุจน้ำ พึงเห็นพระโยคาวจรว่าเป็นดุจคนเหล่านั้น พึงเห็นกิเลสทั้งหลายว่าเป็นดุจสาหร่าย จอก แหน และ ตะกอน พึงเห็นศรัทธาว่าเป็นดุจแก้วมณีที่ใช้ทำน้ำให้ใส เปรียบเหมือนว่าเมื่อเพียงแต่ใส่แก้วมณีลงไปในน้ำเท่านั้น สาหร่าย จอก แหน ก็พึงปราศนาการไป และตะกอนก็สงบนิ่งไป น้ำก็กลายเป็นน้ำใส ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ฉันใด ขอถวายพระพร ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลายได้ จิตที่ปราศจากนิวรณ์ย่อมเป็นจิตที่ใส ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ศรัทธาชื่อว่ามีความทำให้เลื่อมใสด้วยดีเป็นลักษณะ ตามประการดังกล่าวมานี้แล.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสนท่านตอบสมควรแล้ว.  จบ สัมปสาทนลักขณสัทธาปัญหา ปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

คำว่า สัมปสาทนลักขณสัทธาปัญหา แปลว่า ปัญหาว่าด้วยศรัทธาที่มีความทำให้เลื่อมใสด้วยดีเป็นลักษณะคำว่า นิวรณ์ทั้งหลาย หมายความว่า ธรรมทั้งหลายชื่อว่านิวรณ์ เพราะมีความหมายว่า กางกั้นกุศลจิตมี ๕ อย่างคือ :- กามฉันทนิวรณ์, พยาปาทนิวรณ์,  ถีนมิทธนิวรณ์,  อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์,  วิจิกิจฉานิวรณ์

ฉันทะ คือความพอใจอันเป็นความใคร่ในกามคุณ ๕ นั่นเองเป็นนิวรณ์ ชื่อว่า กามฉันทนิวรณ์, ความโกรธชื่อว่า พยาบาท เพราะเป็นเหตุให้จิตถึงความพินาศ พยาบาทนั่นเองเป็นนิวรณ์ ชื่อว่าพยาปาทนิวรณ์ ถีนะคือความหดหู่แห่งจิต และ มิทธะคือความโงกง่วงนั่นเองเป็นนิวรณ์ ชื่อว่า ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านและ กุกกุจจะ คือความหงุดหงิดรำคาญใจนั่นเองเป็นนิวรณ์ ชื่อว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์, วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยนั่นเองเป็นนิวรณ์ ชื่อว่า วิจิกิจฉานิวรณ์.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่ ๑๑ สัมปักขันทนลักขณสัทธาปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ศรัทธาชื่อว่ามีความทำให้เล่นไปด้วยดีเป็นลักษณะอย่างไร?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เหมือนอย่างพระโยคาวจร พอเห็นจิตที่หลุดพ้นของท่านผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมแล่นไปด้วยดีในพระโสดาปตติผลบ้าง ในพระสกทาคามิผลบ้าง ในพระอนาคามิผลบ้าง ในพระอรหัตตผลบ้าง ย่อมกระทำความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ขอถวายพระพร ศรัทธาชื่อว่ามีความทำให้แล่นไปด้วยดีเป็นลักษณะอย่างนี้แล

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ฝนห่าใหญ่ พึงโปรยปรายลงมาเบื้องบนภูเขา น้ำฝนนั้นก็จะไหลไปตามที่ราบลุ่ม ทำซอกเขา ห้วยระแหงทั้งหลายให้เต็ม แล้วก็ไปทำแม่น้ำให้เต็ม, แม่น้ำนั้นแหละ (เต็มเปี่ยม) แล้วก็จะไหลเซาะฝั่งทั้งสองข้างไป ต่อมา หมู่มหาชนมาถึงแล้ว เมื่อไม่รู้ว่าแม่น้ำนั้นตื้นหรือลึก ก็กลัวจึงยืน (รีรอ) อยู่ที่ฝั่งอันกว้าง ลำดับนั้นมีบุรุษคนหนึ่งมาถึง เมื่อเล็งเห็นความเข้มแข็งและกำลังของตนอยู่ ก็ผูกชายพกไว้แน่น แล่นข้ามไปได้ด้วยดี แม้หมู่มหาชน ครั้งเห็นเขาข้ามได้ ก็พึงข้ามบ้าง ฉันใด ขอถวายพระพร พระโยคาวจร พอเห็นจิตที่หลุดพ้นของท่านผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมแล่นไปด้วยดีในพระโสดาปตติผลบ้าง ในพระสกทาคามิผลบ้าง ในพระอนาคามีผลบ้าง ในพระอรหัตผลบ้าง ย่อมกระทำความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ศรัทธา ชื่อว่ามีความทำให้แล่นไปด้วยดีเป็นลักษณะอย่างนี้แล ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ในสังยุตตนิกายประเสริฐว่า :-

“สทฺธาย ตรตี โอฆํ;   อปฺปมาเทน อณฺณวํ, วีริเยน ทุกฺขมจฺเจติ,   ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ." (สํ. สคาถ. ๑๕/๒๙๘)

แปลว่า บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามทะเลได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบ สัมปักขันทนลักขณสัทธาปัญหา ปัญหาที่ ๑๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะที่ทำให้เล่นไปด้วยดีแห่งศรัทธา ชื่อว่า สัมปักขันทนลักขณสัทธาปัญหา

คำว่า ย่อมแล่นไปด้วยดีในพระโสดาปติผลบ้างเป็นต้น ความว่า เพราะเห็นจิตที่หลุดพ้นของผู้อื่น คือทราบว่าท่านผู้นี้เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสว่าปฏิปทานี้ไม่เป็นของเหลวเปล่าหนอ ดังนี้ แล้วจึงส่งจิตไปในพระโสดาปัตติผลเป็นต้น คือเกิดความคิดในอันปฏิบัติเพื่อถึงพระโสดาปัตติผล เป็นต้นนั้น

คำว่า เพื่อธรรมที่ยังไม่ถึง คือ เพื่อถึงผลที่ตนยังไม่ถึง,  คำว่า เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ เพื่อบรรลุมรรคที่ตนยังไม่บรรลุ,  คำว่า เพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง คือ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หรือผลนั้นนั่นแหละซึ่งตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาที่ ๑๒ วีริยลักขณปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน วิริยะมีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร วิริยะมีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่วิริยะค้ำจุนไว้แล้วนั้น ย่อมไม่เสื่อมไป

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อเรือนจะล้ม บุรุษ (ผู้เป็นเจ้าของเรือน) ก็จะพึงใช้ไม้ท่อนหนึ่งค้ำไว้ เรือนนั้นถูกไม้ค้ำอยู่อย่างนี้แล้ว ก็ไม่อาจล้มลงได้ ฉันใด ขอถวายพระพร วิริยะมีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่วิริยะค้ำจุนไว้แล้ว ย่อมไม่เสื่อมไป ฉันนั้น เหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่ากองทัพใหญ่อาจจะตีกองทัพเล็กกว่าได้ เพราะเหตุนั้นพระราชาจึงทรงสมทบ ทรงหนุนเข้าไป ประธานกำลังพลแก่กองทัพเล็กของพระองค์ไปเรื่อยๆ กองทัพเล็กพร้อมทั้งกองทัพสมทบและกองทัพหนุนนั้น ก็จะพึงตีกองทัพใหญ่ได้ ฉันใด ขอถวายพระพร วิริยะ มีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่วิริยะค้ำจุนแล้วย่อมไม่เสื่อมไป ฉันนั้น เหมือนกัน ขอถวายพระพรพระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :-

"วีริยวา โข ภิกฺขเว อริยสาวโก อกุสลํ ปชหติ, กุสลํ ภาเวติ สาวชฺชํ ปชหติ อนวชฺชํ สุทฺธมตฺตานํ ปริหรติ" (องฺ. สตฺต. ๒๓/๑๒๑)

แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้มีความเพียร ย่อมละอกุศลได้ ย่อมเจริญกุศลได้ ย่อมละธรรมที่มีโทษได้ ย่อมเจริญธรรมที่ไม่มีโทษได้ ย่อมบริหารตนให้หมดจดได้ ดังนี้แล

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ตอบสมควรแล้ว. จบวีริยลักขณปัญหาที่ ๑๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๒

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของวิริยะชื่อว่าวิริยลักขณปัญหา ในอุปมาแรกกุศลทั้งหลายเปรียบเหมือนเรือน วิริยะเปรียบเหมือนไม้ค้ำเรือน เรือนไม่ล้มไปเพราะมีไม้ค้ำไว้ ฉันใด กุศลทั้งหลายไม่เสื่อมหายไปเพราะมีวิริยะคอยค้ำจุนไว้ ฉันนั้น

ในอุปมาที่ ๒ คำว่า ทรงสมทบ คือ ทรงส่งกองทัพเล็กอื่นๆ เข้าไปสู่กองทัพเล็กนั้นอยู่เรื่อยๆ คำว่า ทรงหนุน คือ รับสั่งให้กองทัพเล็กอื่นๆ ตามเข้าไปรักษากองทัพเล็กนั้นไว้ทั้งสองข้าง กุศลธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือนกองทัพเล็ก วิริยะเปรียบเหมือนกองทัพสมทบและกองทัพหนุน กองทัพเล็กไม่แตกพ่ายไปเพราะมีกองทัพสมทบและกองทัพหนุนคอยช่วยเหลือค้ำจุนไว้ฉันใด กุศลทั้งหลายไม่เสื่อมหายไป เพราะมีวิริยะคอยค้ำจุนไว้ ฉันนั้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๒

ปัญหาที่ ๑๓ สติลักขณปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สติมีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติมีความไม่เลอะเลือน ไม่สับสน เป็นลักษณะ มีความเข้าไปถือเอาเป็นลักษณะ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า สติชื่อว่ามีความไม่เลอะเลือนเป็นลักษณะอย่างไร ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติเมื่อเกิดขึ้นย่อมไม่เลอะเลือน (ไม่สับสน) ซึ่งธรรมที่เป็นกุศลธรรม ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่มีโทษ ธรรมที่ไม่มีโทษ ธรรมที่เลว ธรรมที่ประณีต ธรรมที่ดำ ธรรมที่ขาว ธรรมที่เหมาะสม ธรรมที่ไม่เหมาะสม ย่อมไม่เลอะเลือนธรรมทั้งหลายว่า นี้คือสติปัฏฐาน ๔ นี้คือสัมมัปปธาน ๔ทนี้คืออิทธิบาท ๔ นี้คืออินทรีย์ ๕ นี้คือพละ ๕ นี้คือโพชฌงค์ ๗ นี้คือพระอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้คือสมถะ นี้คือวิปัสสนา นี้คือวิชา นี้คือวิมุตติ ดังนี้ เพราะลักษณะที่ไม่เลือนนั้น พระโยคาวจรจึงเสพแต่ธรรมที่ควรเสพ ไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ คบแต่ธรรมที่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ ขอถวายพระพร สติ ชื่อว่า มีความไม่เลอะเลือนเป็นลักษณะ อย่างนี้ แล

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าขุนคลังของพระเจ้าจักรพรรดิย่อมไม่เลอะเลือน (ไม่สับสน);ย่อมกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิให้ทรงระลึกถึงพระราชอิสริยยศในเวลาเย็น ในเวลาเช้า ว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นสมมติสุเทพ พระองค์ทรงมีช้างอยู่เท่านี้ มีม้าอยู่เท่านี้ มีรถอยู่เท่านี้ มีพลเดินเท้าอยู่เท่านี้ มีเงินอยู่เท่านี้ มีทองอยู่เท่านี้ มีสิ่งของของพระองค์อยู่เท่านี้ ดังนี้ ย่อมไม่เลอะเลือนพระราชทรัพย์ ฉันใด ขอถวายพระพร สติเมื่อเกิดขึ้นย่อมไม่เลอะเลือน (ไม่สับสน) ซึ่งธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่มีโทษ ธรรมที่ไม่มีโทษ ธรรมที่เลว ธรรมที่ปราณีต ธรรมที่ดำ ธรรมที่ขาว ธรรมที่เหมาะสม ธรรมที่ไม่เหมาะสม ย่อมไม่เลอะเลือนว่า นี้คือสติปัฏฐาน ๔ นี้คือสัมมัปปธาน ๔ทนี้คืออิทธิบาท ๔ นี้คืออินทรีย์ ๕ นี้คือพละ ๕ นี้คือโพชฌงค์ ๗ นี้คือพระอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้คือสมถะ นี้คือวิปัสสนา นี้คือวิชา นี้คือวิมุตติ ดังนี้ เพราะลักษณะที่ไม่เลอะเลือนนั้น พระโยคาวจรจึงเสพแต่ธรรมที่ควรเสพ ไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ คบแต่ธรรมที่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ ฉันนั้น เหมือนกัน ขอถวายพระพรสติ ชื่อว่า มีความไม่เลอะเลือนเป็นลักษณะ อย่างนี้ แล

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า สติมีความเข้าไปถือเอาเป็นลักษณะอย่างไร ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตรสติเมื่อเกิดขึ้นย่อมรับรู้ด้วยดีซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลายที่เกื้อกูลและที่ไม่เกื้อกูล ว่า ธรรมเหล่านี้เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้ไม่เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ เพราะลักษณะนั้น พระโยคาวจรก็ย่อมขจัดธรรมที่ไม่เกื้อกูลเสียได้เ ข้าไปถือเอาธรรมที่เกื้อกูล ขจัดธรรมที่ไม่มีอุปการะ เข้าไปถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ ขอถวายพระพร สติ ชื่อว่า มีการเข้าไปถือเอาเป็นลักษณะ อย่างนี้ แล

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ปรินายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมรู้จักบุคคลผู้ที่เกื้อกูลและผู้ที่ไม่เกื้อกูลแก่พระราชา ว่า คนเหล่านี้เพื่อกูล คนเหล่านี้ไม่เกื้อกูล คนเหล่านี้มีอุปการะ คนเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ก็ย่อมขจัดคนที่ไม่เกื้อกูล เข้าไปถือเอาแต่คนที่เกื้อกูล ขจัดคนที่ไม่มีอุปการะ เข้าไปถือเอาแต่คนที่มีอุปการะ ฉันใด ขอถวายพระพร สติเมื่อเกิดขึ้น ย่อมรับรู้ด้วยดีซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลายที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล ว่า ธรรมเหล่านี้เพื่อกูล ธรรมเหล่านี้ไม่เกื้อกูล ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ เพราะลักษณะที่เข้าไปถือเอานั้นพระโยคาวจรก็ย่อมขจัดธรรมที่ไม่เกื้อกูลเสียได้ เข้าไปถือเอาแต่ธรรมที่เกื้อกูล ขจัดธรรมที่ไม่มีอุปการะเข้าไปถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร สติชื่อว่า มีความเข้าไปถือเอาเป็นลักษณะ อย่างนี้ แล ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :-

"สติญฺจ ขฺวาหํ ภิกฺขเว สพฺพตฺถิกํ วทามิ" (สํ. มหา. ๑๙/๑๕๐)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวถึงสติว่า เป็นธรรมที่จำปรารถนาในกิจทั้งปวง แล ดังนี้ 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบสติลักขณปัญหาที่ ๑๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๓

คำว่า สติมีความไม่เลอะเลือนเป็นลักษณะ ความว่า สติชื่อว่า มีความไม่เลอะเลือนเป็นลักษณะ เพราะมีสภาวะไม่เลอะเลือน คือ มีสภาวะหยั่งลงจับเอาอารมณ์ตามที่ได้เห็นแล้วตามที่ได้ถือไว้แล้ว.  คำว่า สติ เมื่อเกิดขึ้นย่อมไม่เลอะเลือนซึ่งธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล เป็นต้น ความว่า สติเมื่อเกิดขึ้น ย่อมไม่เลอะเลือนอย่างนี้ว่า นี้กุศล ควรเสพ นี้อกุศล ไม่ควรเสพ นี้มีโทษ คือเป็นอกุศล ไม่ควรเสพ นี้ไม่มีโทษ คือเป็นกุศล ควรเสพ นี้เลว คือเป็นอกุศล ไม่ควรเสพ นี้ประณีต เกิดเป็นกุศลควรเสพ นี้ดำ คือเป็นอกุศล ไม่ควรเสพ นี้ขาว คือเป็น กุศลควรเสพ นี้เหมาะสม คือเป็น กุศลควรเสพ นี้ไม่เหมาะสม คือเป็นอกุศล ไม่ควรเสพ ดังนี้

คำว่า ย่อมไม่เลอะเลือนทำทั้งหลายว่า นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ความว่า ย่อมไม่เลอะเลือนธรรมทั้งหลายอย่างนี้ว่า นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นกุศลที่ควรเสพ ดังนี้ เป็นต้น.  ในบรรดาขันธ์ ๓ คือ ศีลขันธ์ (กองศีล) สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ) และ ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา) สมถะ มีอันสงเคราะห์ได้ด้วยวิธีด้วยขันธ์ ๒ คือ ศีลขันธ์ และ สมาธิขันธ์ ส่วนวิปัสสนามีอันสงเคราะห์ได้ด้วยขันธ์เดียว คือ ปัญญาขันธ์. คำว่า วิชา ได้แก่ ผลญาณ (ญาณที่ประกอบร่วมกับพระอริยผล).  คำว่า วิมุตติ ได้แก่ พระนิพพาน โดยเป็นนิสสรณวิมุตติ (ธรรมที่หลุดพ้นคือที่สลัดออกแห่งสังขารทั้งปวง)

อีกนัยหนึ่งคำว่า วิชชา ได้แก่สัมมาญาณ (ญาณที่รู้ชอบ) โดยความเป็นญาณที่ละมิจฉาญาณ (โมหะที่รู้ผิด) คำว่า วิมุตติ ได้แก่สัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ) โดยความเป็นวิมุตติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมิจฉาวิมุตติ (ความหลุดพ้นโดยไม่ชอบ คือไม่ด้วยดี) เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันท่านกล่าวสัมมัตตธรรม (ธรรมซึ่งมีสภาวะอันชอบคือถูกต้อง) ๑๐ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ สัมมาวิมุตติ และ ด้วยคำว่า พระอริยมีองค์ ๘ ด้วยคำว่า วิชชา และด้วยคำว่า วิมุตติ นี้.  คำว่า สติมีความเข้าไปถือเอาเป็นลักษณะ ความว่า สติ ชื่อว่ามีความเข้าไปถือเอาเป็นลักษณะ เพราะมีสภาพที่เข้าไปไตร่ตรองแล้วถือเอาอารมณ์ตามที่เห็นแล้ว ตามที่จิตถือเอาแล้ว

คำว่า สติเมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้คติแห่งธรรมทั้งหลายที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูล ความว่า สติ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมรับรู้คติคือความเป็นไปแห่งธรรมทั้งหลาย ว่า นี้เกื้อกูล คือเป็นกุศลควรถือเอา นี้ไม่เกื้อกูล คือเป็นอกุศลไม่ควรถือเอา ควรขจัดไป นี้มีอุปการะ คือเป็นกุศลควรถือเอา นี้ไม่มีอุปการะ คือเป็นอกุศลไม่ควรถือเอา ควรขจัดไป.  คำว่า บุคคลผู้ที่เกื้อกูลและผู้ที่ไม่เกื้อกูลแก่พระราชา คือ บุคคลผู้เป็นเหตุเจริญ และบุคคลผู้เป็นเหตุเสื่อม แม้คำว่าคนมีอุปการะ คนไม่มีอุปการะ ก็เป็นไวพจน์ของคำว่า ผู้ที่เกื้อกูล ผู้ที่ไม่เกื้อกูล นั้นนั่นเอง.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๓

ปัญหาที่ ๑๔ สมาธิปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สมาธิมีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สมาธิมีความเป็นประมุข เป็นลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีสมาธิเป็นประมุข น้อมไปสู่สมาธิ โอนไปสู่สมาธิ เงื้อมไปสู่สมาธิ

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าไม้กลอนหลังคา (จันทัน) ทั้งหลาย แห่งเรือนยอดเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม้กลอนหลังคาทั้งหมดเหล่านั้น ล้วนมีอันไปสู่ยอด น้อมไปสู่ยอด รวมกันอยู่ที่ยอด บรรดาไม้กลอนหลังคาเหล่านั้น ยอดเรือนกล่าวได้ว่ายอดเยี่ยมฉันใด ขอถวายพระพร กุศลธรรมทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีสมาธิเป็นประมุข น้อมไปสู่สมาธิ เงื้อมนำไปสู่สมาธิ โอนไปสู่สมาธิ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงหยั่งลงสู่สงคราม พร้อมกับกองทัพมีองค์ ๔ กองทัพทั้งปวงเลยเทียว คือ พลช้างก็ดี พลม้าก็ดี พลรถก็ดี พลเดินเท้าก็ดี ล้วนมีพระราชาพระองค์นั้นเป็นประมุข น้อมไปสู่พระราชาพระองค์นั้น โอนไปสู่พระราชาพระองค์นั้น เงื้อมไปสู่พระราชาพระองค์นั้น จะพึงคล้อยตามพระราชาพระองค์นั้น เท่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพร กุศลธรรมทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้น ล้วนมีสมาธิเป็นประมุข น้อมไปสู่สมาธิ โอนไปสู่สมาธิ เงื้อมไปสู่สมาธิ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร สมาธิชื่อว่า มีความเป็นประมุขเป็นลักษณะ ตามประการดังกล่าวมานี้ ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :-

"สมาธึ ภิก.ขเว ภาเวถ, สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ ยถาภูติ ปชานาติ" (สํ. มหา. ๑๙/๕๑๒)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมรู้ชัดได้ตามความเป็นจริง ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบสมาธิปัญหาที่ ๑๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๔

ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ชื่อว่า สมาธิปัญหา (ฉบับของไทยเป็น สมาธิลักขณปัญหา) คำว่ากุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีสมาธิเป็นประมุข ความว่า กุศลธรรมทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นเหล่านั้นล้วนมีสมาธิเป็นหัวหน้า คือถึงความเป็นไปร่วมกันในอารมณ์เดียวด้วยอำนาจสมาธิ มุ่งไปสมทบกับสมาธิเพื่อทำกิจของตนๆ ในอารมณ์เดียวที่สมาธิตั้งอยู่นั้น เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า น้อมไปสู่สมาธิ เป็นต้น.  คำว่า ไม้กลอนหลังคา ได้แก่ไม้จันทัน.  คำว่า ล้วนมีอันไปสู่ยอด ความว่า ล้วนไปจดกันอยู่ที่ยอด คำว่า รวมกันอยู่ที่ยอด คือ ประชุมกันอยู่ที่ยอด.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๔

ปัญหาที่ ๑๕ ปัญญาลักขณปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ปัญญามีอะไรเป็นลักษณะ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมาได้กล่าวในคราวก่อนแล้วว่า ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง ปัญญามีความส่องสว่างเป็นลักษณะ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ปัญญาชื่อว่า มีความส่องสว่างเป็นลักษณะ อย่างไร ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชา ย่อมทำความสว่างคือวิชชา ให้เกิดขึ้น ย่อมส่องแสงสว่างคือญาณ ย่อมกระทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏ เพราะลักษณะที่ส่องสว่างนั้น พระโยคาวจรจึงเห็นได้ด้วยปัญญาชอบ ว่า ไม่เที่ยงบ้างทว่าเป็นทุกข์บ้าง ว่าเป็นอนัตตาบ้าง

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า บุรุษพึงนำประทีปเข้าไปในเรือนที่มีความมืด ประทีปที่นำเข้าไปนั้น ย่อมกำจัดความมืด ย่อมทำความสว่างให้เกิดขึ้น ย่อมส่องแสงสว่าง ย่อมทำรูป (ภาพ) ทั้งหลายให้ปรากฏ ฉันใด ขอถวายพระพร ปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชา ย่อมทำความสว่างคือวิชาให้เกิดขึ้น ย่อมส่องแสงสว่างคือญาณ ย่อมกระทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏ ฉันนั้น เพราะลักษณะที่ส่องสว่างนั้น พระโยคาวจรจึงเห็นได้ด้วยปัญญาชอบว่าไม่เที่ยงบ้าง ว่าเป็นทุกข์บ้าง ว่าเป็นอนัตตาบ้าง ขอถวายพระพร ปัญญาชื่อว่ามีความส่องสว่างเป็นลักษณะ ตามประการดังกล่าวมานี้แล

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบปัญญาลักขณปัญหาที่ ๑๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๕

ปัญหาที่มีการถามถึงลักษณะของปัญญา ชื่อว่า ปัญญาลักขณปัญหา.  อวิชา ได้ชื่อว่า ความมืด ก็เพราะมีอาการที่ปิดบังสัจจะ ไม่ให้สัตว์ทั้งหลายปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชานั้นได้ก็เพราะมีการสร้างแสงสว่างคือวิชา ส่องแสงสว่างคือญาณ เมื่อความมืดคืออวิชชาสิ้นไป สัจจะทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ย่อมกระทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏ ดังนี้.  ในอุปมาและอุปไมยนั้น ประทีปกำจัดความมืดได้ ทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏแก่สายตาของบุรุษได้ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นก็มี (แสงสว่าง – ณัฏฐ) กำหนดขอบเขตว่า สามารถกำจัดความมืดได้ก็ในบริเวณชั่วระยะเท่านี้เท่านั้น ไม่เกินเลย ไม่ไกลไปกว่านี้ สามารถส่องรูป (ภาพ) ให้ปรากฏแก่สายตาได้ก็ในบริเวณชั่วระยะเท่านี้เท่านั้นไม่เกินเลย ไม่ไกลไปกว่านี้ อนึ่ง ไม่สามารถจะส่องให้เห็นรูปที่ถูกวัตถุอื่นมีฝาเรือนเป็นต้นปิดบังอยู่ได้ ส่วนปัญญามีความสามารถในการกำจัดความมืดคืออวิชชา ทำแสงสว่างคือวิชาให้เกิด ส่องแสงสว่างคือญาณอย่างหาขอบเขตมิได้ ธรรมทั้งหลายจะอยู่ในที่มืดมิดเพียงไรก็ตาม ตั้งอยู่ในที่แสนไกลแสนไกลเพียงไรก็ตาม และสุขุมเพียงไรก็ตาม มีวัตถุอื่นอะไรอะไรปิดบังอยู่ก็ตาม ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมตามรู้ตามความเป็นจริง ว่า ไม่เที่ยงบ้าง ว่าเป็นทุกข์บ้าง ว่าเป็นอนัตตาบ้าง ได้ทั้งสิ้น ไม่ขัดข้องในอันจะรู้นั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสไว้ว่า :-

"นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา" (สํ. สคาถ. ๑๕/๘) แสงสว่างที่เสมอด้วยแสงสว่างคือปัญญาหามีไม่ ดังนี้

คำว่า อริยสัจ แปลว่าสัจจะของพระอริยบุคคล หรือสัจจะที่สร้างความเป็นพระอริยบุคคลมี ๔ อย่าง มีทุกข์อริยสัจ เป็นต้น จริงอยู่ ธรรมะ ๔ อย่างมีทุกข์เป็นต้น นับว่าเป็นสัจจะ (ของจริง) ก็เพราะความที่ไม่วิปริตกลับกลอก ธรรม ๔ อย่างนั้นนั่นแหละ ผู้ใดเห็นด้วยปัญญาชอบแล้ว ผู้นั้นก็สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๕

ปัญหาที่ ๑๖ นานาธัมมานัง เอกกิจจอภินิปผาทนปัญหา 

พระราชาตรัสถามว่า, พระคุณเจ้านาคเสน ธรรมทั้งหลายอันมีอย่างต่างๆ กันเหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมทั้งหลายอันมีอย่างต่างๆ กันเหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือ กำจัดกิเลสทั้งหลายได้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ธรรมทั้งหลายอันมีอย่างต่างๆ กันเหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันคือกำจัดกิเลสทั้งหลายได้อย่างไร ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, เปรียบเหมือนว่ากองทัพทั้งหลายอันมีอย่างต่างๆ กัน คือ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ และ กองทัพพลเดินเท้า ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือชนะกองทัพฝ่ายอื่นในการสงครามได้ ฉันใด ขอถวายพระพร ธรรมทั้งหลายอันมีอย่างต่างๆ กันเหล่านี้ ก็ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือกำจัดกิเลสทั้งหลายได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.  พระเจ้ามิลินท์, พระเจ้าพระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบ นานาธัมมานัง เอกกิจจอภินิปผาทนปัญหาที่ ๑๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๖

คำว่า นานาธัมมานัง เอกกิจจอภินิปผาทนปัญหา แปลว่า ปัญหาเกี่ยวกับการที่ธรรมทั้งหลายต่าง ๆ กันให้สำเร็จกิจอย่างเดียวกัน.  คำว่า ธรรมทั้งหลายอันมีอย่างต่างๆ กันเหล่านี้ ได้แก่ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้คือ โยนิโสมนสิการ ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา. คำว่า มีอย่างต่างๆ กัน คือ เป็นคนละอย่างกัน.  คำว่า ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือให้สำเร็จกิจอย่างเดียวกัน  เปรียบเหมือนว่า กองทัพทั้งหลาย แม้ว่ามีความแตกต่างกัน เป็นกองทัพคนละประเภทกัน โดยเกี่ยวกับว่า กองทัพนี้เป็นกองทัพช้าง กองทัพโน้นเป็นกองทัพม้าเป็นต้น ถึงกระนั้นก็ทำกิจอย่างเดียวกัน คือร่วมกันรบชนะกองทัพฝ่ายตรงข้าม ฉันใด ธรรมเหล่านี้แม้ว่ามีความแตกต่างกัน เป็นธรรมคนละอย่างกัน โดยเกี่ยวกับว่า เป็นโยนิโสมนสิการบ้าง เป็นศีลบ้าง เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ทำกิจอย่างเดียวกันคือร่วมกันละกิเลส ฉันนั้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๖

จบมหาวรรคที่ ๑ ในวรรคนี้มี ๑๖ ปัญหา, จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๖

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: