"สัมผัส...บ่อเกิดปัญญา"
ในฐานะที่พวกเราทั้งหลาย เป็นผู้ตั้งอกตั้งใจมาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ทุกท่านอยู่คนละแห่งละหนก็มารวมกัน ณ วัดป่าพงนี้ ซึ่งเป็นพระประจำอยู่วัดนี้ก็มี ที่เป็นอาคันตุกะพึ่งมาอาศัยอยู่ก็มี ก็ล้วนแต่เป็นนักบวช ซึ่งได้พยายามหาความสงบด้วยกันทั้งนั้น ความสงบที่แท้จริงนั้นพวกเราทั้งหลายจงเข้าใจ ความสงบอย่างแท้จริงนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากพวกเรา มันอยู่กับพวกเรา แต่เราทั้งหลายมองข้ามไปข้ามมาอยู่เสมอ ต่างคนก็ต่างมีอุบายที่จะหาความสงบนั่นเองแต่ก็ยังมีความฟุ้งซ่าน รำคาญ ไม่ถนัดใจอยู่ ก็ยังไม่ได้รับความพอใจในการปฏิบัติของตนเอง คือยังไม่ถึงเป้าหมาย เปรียบประหนึ่งว่าเราเดินทางออกจากบ้านเรา แล้วก็เร่ร่อนไปสารพัดแห่งไม่มีความสบาย แม้จะไปรถ จะไปเรือ จะไปที่ไหนอะไรก็ตามที มันยังไม่ถึงบ้านเรา เมื่อเรายังไม่ถึงบ้านเรานั้นก็ไม่ค่อยสบาย ยังมีภาระผูกพันอยู่เสมอ นี้เรียกว่าเดินยังไม่ถึง ไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ก็เร่ร่อนไปในทิศต่างๆ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม
ยกตัวอย่างเช่น พระภิกษุสามเณรเรานี้ ใครๆ ก็ต้องการความสงบ ตลอดพวกท่านทั้งหลาย ถึงผมก็เหมือนกันอย่างนั้นหาความสงบ ไม่เป็นที่พอใจ ไปที่ไหนก็ยังไม่เป็นที่พอใจ เข้าไปในป่านี้ก็ดี ไปกราบอาจารย์นั้นก็ดี ไปฟังธรรมใครก็ดี ก็ยังไม่ได้รับความพอใจ อันนี้เป็นเพราะอะไร?
หาความสงบไปอยู่ในที่สงบ ไม่อยากจะให้มีเสียง ไม่อยากจะให้มีรูป ไม่อยากจะให้มีกลิ่น ไม่อยากจะให้มีรส อยู่เงียบๆ อย่างนี้นึกว่ามันจะสบาย คิดว่าความสงบมันอยู่ตรงนั้น ซึ่งความเป็นจริงนั้น เราไปอยู่เงียบๆ ไม่มีอะไร มันจะรู้อะไรไหม? มันจะรู้สึกอะไรไหม? ลองคิดดูซี ตาของเรานั้นนะถ้าไม่เห็นรูป มันจะเป็นอย่างไรไหม? จมูกนี้ไม่ได้กลิ่น มันจะเป็นอย่างไรไหม? ลิ้นเราไม่ได้รู้จักรส มันจะเป็นอย่างไรไหม? ร่างกายไม่กระทบโผฏฐัพะที่ถูกต้องอะไร มันจะเป็นอะไรไหม? ถ้ามันเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นคนตาบอดซิ คนหูหนวก คนจมูกขาดลิ้นหลุดไป กายไม่รับรู้อะไร เป็นอัมพาตไปเลย มันจะมีอะไรไหม? แต่ใครก็มักจะคิดอย่างนั้น อยากจะไปอยู่ที่ว่ามันไม่มีอะไร ไอ้ความคิดอย่างนั้นเคยคิด...เคยคิดมา...
ในสมัยที่ผมเป็นพระปฏิบัติใหม่ๆ จะนั่งสมาธิตรงไหนเสียงมันก็อื้อ มันไม่สงบเลย คิดผ่านไปผ่านมาเสมอว่า จะทำอย่างไรหนอ มันไม่สงบ จนต้องหาขี้ผึ้งมาปั้นกลมๆ อุดเข้าไปในหูนี่ไม่ได้ยินอะไร มีแต่เสียงอื้อเท่านั้น นึกว่ามันจะดี นึกว่ามันจะสงบ เปล่า! ความปรุงแต่งอะไรต่ออะไรต่างๆ นี้ มิใช่อยู่ที่หูดอกมันเกิดภายในจิตใจ มันจะมีสารพัดอย่าง ต้องคลำหามัน ค้นคว้าหาความสงบ พูดง่ายๆ จะไปอยู่ในเสนาสนะอะไรก็ดีนะ คิดไม่อยากจะทำอะไร มันขัดข้องไม่ได้ทำเพียร อยากจะนั่งให้มันสงบ ลานวัดก็ไม่อยากจะไปกวาดมัน อะไรก็ไม่อยากทำมันอยากจะอยู่เฉยๆ อยากหาความสงบอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ให้ช่วยกิจวัดที่เราอาศัยอยู่ ก็ไม่ค่อยจะเอาใจใส่มัน เพราะเห็นว่ามันเป็นงานภายนอก
ผมเคยยกตัวอย่างให้ฟังบ่อยๆ เช่นว่า อาจารย์องค์หนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ผม แกมีศรัทธามากที่สุด ตั้งใจมาปฏิบัติละวางหาความสงบ ผมก็สอนให้ละให้วาง ท่านก็เข้าใจเหมือนกันว่า ละวางทั้งหมดมันคงจะดี ความเป็นจริงตั้งแต่มาอยู่ด้วย ก็ไม่อยากทำอะไร แม้หลังคากุฏิลมมันพัดตกไปข้างหนึ่ง ท่านก็เฉย ท่านว่าอันนั้นมันเป็นของภายนอก แน่ะ ไม่เอาใจใส่ แดดฝนรั่วทางโน้นท่านก็ขยับมาทางนี้ ท่านว่าไม่ใช่เรื่องของท่าน เรื่องของท่านมันเรื่องจิตสงบ หลังคารั่วมันไม่ใช่เรื่องของท่าน มันขัดข้อง วุ่นวายไม่ให้เป็นภาระ นี่ความเห็นมันเป็นอย่างนั้น อีกวันหนึ่งผมก็เดินไป ไปพบหลังคามันตกลง ก็ถามว่า "เอ กุฏิของใคร?" ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นกุฏิของท่านอาจารย์องค์นั้น "อือ แปลกนะ" นี่ก็เลยได้พูดกัน อธิบายอะไรต่ออะไรกันหลายอย่าง เสนาสนะวัตรนะ ที่อยู่ของเรานั้น คนเรามันต้องมีที่อยู่ ที่อยู่มันเป็นอย่างไรก็ต้องดูมัน การปล่อยวางไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราปล่อย เราทิ้ง อันนั้นมันเป็นลักษณะคนที่ไม่รู้เรื่อง ฝนตกหลังคารั่ว ต้องขยับไปข้างโน้น แดดออก เอ้าขยับมาข้างนี้อีกแล้ว ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? ทำไมไม่ปล่อยไม่วางอยู่ตรงนั้น? ผมก็เลยเทศน์ให้ฟังกัณฑ์ใหญ่ ท่านก็ยังมาเข้าใจว่า "เออ หลวงพ่อ บางทีเทศน์ให้เรายึดมั่น บางทีเทศน์ให้เราปล่อยวาง ไม่รู้จะเอาอย่างไร ขนาดหลังคากุฏิมันตกลงไป เราก็ปล่อยก็วางขนาดนี้ ท่านก็ยังว่าไม่ถูกอีก แต่ท่านก็เทศน์ว่าไม่ให้ยึด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรมันจึงจะถูก" ดูซิคนเรา จิตมันเป็นอย่างนี้ ในการปฏิบัติมันโง่อย่างนี้
ตาเรามันมีรูปไหม? ถ้าไม่อาศัยรูปข้างนอก รูปมีในตาไหม? หูเรานี้มีเสียงไหม? ถ้าเสียงข้างนอกไม่มากระทบมันจะมีเสียงไหม? ถ้าไม่อาศัยกลิ่นข้างนอก จมูกเรามันจะมีกลิ่นไหม?ลิ้นมันจะมีรสไหม? มันต้องอาศัยรสภายนอกมากระทบ มันจึงมีรสอย่างนั้น เหตุมันอยู่ตรงไหนนะ? เราพิจารณาดูที่พระท่านว่าธรรมมันเกิดเพราะเหตุ ถ้าหูเราไม่มีแล้วจะมีโอกาสได้ยินเสียงไหม? ตาเราไม่มี มันจะมีเหตุให้เราเห็นรูปไหม? ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ นี้มันคือเหตุ พระท่านบอกว่า ธรรมมันเกิดเพราะเหตุเมื่อจะดับก็เพราะเหตุมันดับก่อน ผลมันจึงดับ เมื่อผลมันจะมีขึ้นก็มีเหตุมาก่อนแล้ว ผลมันจึงตามมา
ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่าความสงบมันอยู่ตรงนั้น มันจะมีปัญญาไหม? มันจะมีเหตุมีผลไหม? สำหรับที่เราจะต้องปฏิบัติหาความสงบมันจะมีอะไรไหม? ถ้าเราจะไปโทษเสียง ไปนั่งที่ไหนมีเสียงก็ไม่สบายใจแล้ว คิดว่าที่นี้ไม่ดี ที่ไหนมีรูปก็ว่าที่นั้นไม่ดีไม่สงบ อย่างนั้นก็เป็นคนอายตนะหายหมด ตาบอด หูหนวกหมด ทีนี้ผมทดลองดู ก็คิดไป "เอ มันก็แปลกเหมือนกัน มันไม่สบายเพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้แหละ หรือว่าเราจะเป็นคนที่จักษุบอดนะดี มันไม่ต้องเห็นอะไรนะดี มันจะหมดกิเลสที่ตรงจักษุมันบอดละมั้ง หรือว่าหูมันหนักมันตึง มันจะหมดกิเลสที่ตรงนั้นละมั้ง" ลองๆ ดูก็ไม่ใช่ทั้งหมดนั้นแหละ งั้นคนตาบอดก็สำเร็จอรหันต์ซี คนหูหนวกก็สำเร็จหมดแล้ว ตาบอดหูหนวกสำเร็จหมด ถ้าหากว่ากิเลสมันเกิดตรงนั้น อันนั้นคือเหตุมัน อะไรมันเกิดจากเหตุ เราต้องดับตรงนั้น เหตุมันเกิดตรงนี้ เราพิจารณาจากเหตุนี้ ความเป็นจริงอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นของที่ให้เกิดปัญญา ถ้าเรารู้เรื่องตามความเป็นจริง ถ้าเราไม่รู้เรื่อง เราก็จะต้องปฏิเสธเลยว่า ไม่อยากจะเห็นรูป ไม่อยากจะฟังเสียง ไม่อยากจะอะไรทั้งนั้นแหละ ว่ามันวุ่นวายอยู่ตรงนั้นเราตัดเหตุมันออกเสียแล้วจะเอาอะไรมาพิจารณาเล่า? ลองๆ ซิอะไรจะเป็นเหตุ อะไรจะเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มันจะมีไหม? นี่ อันนี้คือความคิดผิดของพวกเราทั้งหลาย
ดังนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงให้สำรวม การสำรวมนี้แหละมันเป็นศีล ศีลสังวร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นศีล เป็นสมาธิ เหล่านี้ เราคิดดูประวัติพระสารีบุตร เมื่อครั้งยังไม่บวชท่านไปพบพระชื่อ อัสสชิ ด้วยตาของท่านเอง เห็นพระอัสสชิเดินไปบิณฑบาต เมื่อมองเห็นแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า "แหม พระองค์นี้แปลกเหลือเกิน เดินไม่ช้าไม่เร็ว กลีบจีวร สีจีวรของท่านไม่ฉูดฉาด เรียบๆ เดินไปก็ไม่มองหน้ามองหลัง สังวรสำรวม" เกิดแปลกขึ้นในใจ อันนั้นเป็นเหตุแก่ผู้มีปัญญา ท่านสารีบุตรสงสัยก็ตรงเข้าไปกราบเรียนถามท่าน อยากจะรู้ว่าใคร มาจากไหนอย่างนี้
"ท่านเป็นใคร?" "ฉันเป็นสมณะ" "ใครเป็นครูเป็นอาจารย์ของท่าน?" "พระโคดมเป็นครู เป็นอาจารย์ของข้า"
"พระโคดมนั้น ท่านสอนว่าอย่างไร?" "ท่านสอนว่า ธรรมทั้งหลายมันเกิดเพราะเหตุ เมื่อมันจะดับก็เพราะเหตุมันดับไปก่อน" นี้คือพระสารีบุตรนิมนต์ให้ท่านเทศน์ให้ฟัง ท่านก็อธิบายพอสังเขปเท่านั้น ท่านยกเหตุผลขึ้นมา ธรรมเกิดเพราะเหตุ เหตุเกิดก่อนผลจึงเกิด เมื่อผลมันจะดับ เหตุต้องดับก่อน เท่านั้นเองพระสารีบุตรพอแล้ว ได้ฟังธรรมพอสังเขปเท่านั้น ไม่ต้องพิสดารเท่านั้นแหละ อันนี้เรียกว่ามันเป็นเหตุ เพราะในเวลานั้นพระสารีบุตร ท่านมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีจิต อายตนะของท่านครบอยู่ ถ้าหากว่าอายตนะของท่านไม่มี มันจะมีเหตุไหม? ท่านจะเกิดปัญญาไหม? ท่านจะรู้อะไรต่ออะไรไหม? แต่พวกเราทั้งหลายกลัวมันจะกระทบ หรือชอบให้มันกระทบ แต่ไม่มีปัญญาให้มันกระทบเรื่อยๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต เลยเพลินไปเลยหลง นี้มันเป็นอย่างนี้ อายตนะนี้มันให้เพลินก็ได้ ให้หลงก็ได้มันให้เกิดความรู้มีปัญญาก็ได้ มันให้โทษและก็ให้คุณพร้อมกันแล้วแต่บุคคลที่จะมีปัญญา
อันนี้ให้เราเข้าใจว่าเราเป็นนักบวช เข้ามาปฏิบัติ ปฏิบัติทุกอย่าง ความชั่วก็ให้รู้จัก คนสอนง่ายก็ให้รู้จัก คนสอนยากก็ให้รู้จัก ท่านให้รู้จักทั้งหมด เพื่ออะไร? เพื่อเราจะรู้ความจริงที่เราจะต้องเอามาปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติแต่สิ่งที่ว่ามันดี มันถูกใจเราเราจึงจะชอบ มันไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งในโลกนี้นะ บางสิ่งเราชอบใจบางสิ่งเราไม่ชอบใจ มันมีอยู่ในโลก มันไม่มีอยู่ที่อื่น ธรรมดาเราสิ่งอะไรที่ชอบใจเราก็ต้องการสิ่งนั้น พระเณรอยู่ด้วยกันก็เหมือนกัน ถ้าองค์ไหนไม่ชอบใจ ไม่เอา เอาแต่องค์ที่ชอบ นี่ดูซิ เอาแต่สิ่งที่ชอบ ไม่อยากจะรู้ ไม่อยากจะเห็น ไม่อยากจะเป็นอย่างนี้ความเป็นจริงพระพุทธองค์ให้มีประสบการณ์ โลกวิทู เราเกิดมาดูโลกอันนี้ให้แจ่มแจ้ง ให้ชัดเจน ถ้าเราไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง ไปไหนไม่ไหว ไปไม่ได้ จำเป็นจะต้องรู้จัก อยู่ในโลกก็ต้องรู้จักโลก พระอริยบุคคลสมัยก่อนก็ดี พระพุทธเจ้าของเราก็ดีท่านก็อยู่กับพวกนี้ อยู่กับพวกปุถุชนนี้ อยู่ในโลกนี้ ท่านก็เอาความจริงในโลกนี้เอง ไม่ใช่ว่าท่านไปเอาที่ไหน ไม่ใช่ว่าท่านหนีโลกไปหาสัจธรรมที่อื่น แต่ท่านมีปัญญา สังวรสำรวมอายตนะของท่านอยู่เสมอ การประพฤติปฏิบัตินี้ คือการพิจารณาดูสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ รู้ตามความเป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่ ให้รู้เรื่องกัน
ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงให้รู้อายตนะเครื่องต่อไต่ นัยน์ตามันก็ต่อเอารูปเข้ามาเป็นอารมณ์ หูมันก็ต่อเอาเสียงเข้ามา จมูกมันก็ต่อเอากลิ่นเข้ามา ลิ้นมันก็ต่อเอารสเข้ามา ร่างกายก็ต่อเอาโผฏฐัพพะเข้ามา เกิดความรู้ขึ้น ที่เกิดความรู้ขึ้นนะให้เราพิจารณาตามความจริง ถ้าเราไม่รู้จักตามความเป็นจริงเราจะชอบมันที่สุดหรือเกลียดมันที่สุด ชอบมันอย่างยิ่ง เกลียดมันอย่างยิ่ง อารมณ์นี้ถ้ามันเกิดขึ้นมา นี่ที่เราจะตรัสรู้ที่ปัญญามันจะเกิดตรงนี้ แต่ว่าเราไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านให้สังวรสำรวมการสังวรสำรวมนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ให้เห็นรูป ไม่ให้ได้ยินเสียง ไม่ให้ได้กลิ่น ไม่รู้จักรส ไม่รู้จักโผฏฐัพพะ ไม่รู้จักธรรมารมณ์ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติไม่เข้าใจ พอเห็นรูปก็เสียว ฟังเสียงก็เสียว หนีเรื่อย หนีไปไม่สู้ หนีไปนึกว่ามันจะหมดฤทธิ์หมดเดชนึกว่ามันจะจบลง มันจะพ้น มันไม่พ้นนะ อันนั้นไม่พ้น หนีไปไม่รู้ตามความจริง ข้างหน้ามันก็โผล่ขึ้นอีก ต้องแก้ปัญหาอีก
เช่นพวกปฏิบัตินี่นะ อยู่ในวัดก็ดี อยู่ในป่าก็ดี อยู่ในเขาก็ดี ไม่สบาย เดินธุดงค์ไปดูอันนั้น ไปดูอันนี้ สารพัดอย่าง ว่าจะสบายใจ ไปแล้ว กลับมาแล้ว ก็ไม่เห็นอะไร ลองขึ้นไปบนภูเขา "เออ ตรงนี้สบายนะเอาละ" ไม่รู้สบายกี่วันก็เบื่ออีกแล้ว เอ้า ลงไปทะเล "เออ ตรงนี้มันเย็นดี ตรงนี้พอแล้ว เอาละ" นานอีกก็เบื่อทะเลอีก เบื่อป่า เบื่อภูเขา เบื่อทะเล เบื่อสารพัดอย่าง ไม่ใช่เบื่อเป็นสัมมาทิฐิ เบื่อเป็นมิจฉาทิฐิ ความเห็นไม่ตรงตามความจริงอย่างนั้น กลับมาถึงวัดแล้ว "จะทำอย่างไรหนอ? ไปแล้วไม่ได้อะไรมา" แล้วก็ทิ้งบาตร...สึก ทำไมถึงสึก? เพราะไม่มีเครื่องกันสึก เหมือนรองเท้าเห็นไหม? รองเท้าอย่างดีเขามีเครื่องกันสึกไปถูกหินถูกตอไม่สึก กันสึกเสียแล้ว รองเท้าไม่ดี ไม่มีเครื่องกันสึกมันก็สึก พระเราก็เหมือนกัน ทำไมสึก? เพราะไม่เห็นอะไรเสียแล้ว ไปทิศใต้ก็ไม่เห็น ไปทิศเหนือก็ไม่เห็น ลงทะเลก็ไม่เห็น ขึ้นภูเขาก็ไม่เห็น เข้าอยู่ในป่าก็ไม่เห็น ไม่มีอะไร หมดแล้ว...ตาย นี่มันเป็นอย่างนี้ คือหนีไป หนีจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไป ปัญญาไม่เกิด
เอาอย่างนี้นะ เอาใกล้ๆ เรานี้ เราอยากจะอยู่ในความสงบระงับที่สุด ไม่อยากจะรู้เรื่องพระ เรื่องเณร เรื่องอะไรต่างๆ หนีไปเรื่อยๆ กับอีกคนหนึ่งตั้งใจอยู่ ไม่หนี อยู่ปกครองตัวเอง รู้เรื่องของตัวเอง คนอื่นมาอยู่ด้วยก็รู้เรื่องทั้งหมด แก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เช่น เจ้าอาวาส เป็นเจ้าอาวาสนี้เหตุการณ์มีอยู่ทุกเวลามีอะไรมาให้พิจารณาผูกใจเราอยู่เสมอ เพราะอะไร? เพราะเขาถามปัญหาไม่หยุด ปัญหาไม่หยุด เราก็มีความรู้ไม่หยุด แก้ปัญหาไม่หยุด ปัญหาตนด้วย ปัญหาคนอื่นด้วย สารพัดอย่าง นี้คือมันตื่นอยู่เสมอ ก่อนที่มันจะหลับ มันก็ตื่นขึ้นมาอีก เป็นเหตุให้เราได้พิจารณา ได้รู้เรื่อง เลยเป็นคนฉลาด ฉลาดเรื่องของตนเองฉลาดเรื่องของคนอื่น ฉลาดหลายๆ อย่าง ความฉลาดอันนี้เกิดจากการกระทบ เกิดจากการต่อสู้ เกิดจากการไม่หนี ไม่หนีด้วยกาย แต่หนีทางใจ หนีทางปัญญาของเรา ให้รู้ด้วยปัญญาของเราอยู่ตรงนี้แหละไม่หนีมัน
อันนี้เป็นเหตุที่จะให้เกิดปัญญา จะต้องทำ จะต้องคลุกคลีอยู่ในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็เหมือนกันกับที่เราอยู่ในวัด ช่วยกันรักษาอะไรต่างๆ คลุกคลีอยู่อย่างนี้ มองดูอย่างอื่นเป็นกิเลส อยู่กับพระกับเณรมากๆ โยมมากๆ เป็นกิเลสมาก...ใช่...ยอมรับ แต่ต้องอยู่ไปให้ปัญญาเกิดซี ให้มันลดความโง่ นั่น มันจะไปตรงไหนล่ะ เราอยู่ไปเพื่อให้ลดความโง่ อย่าอยู่ไปเพื่อให้มันเพิ่มความโง่ขึ้นมา
ต้องพิจารณา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบเมื่อใดเป็นต้น ก็ต้องสังวรสำรวม พิจารณา เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา ใครทุกข์? ทุกข์นี้ทำไมมันจึงเกิด? ท่านเจ้าอาวาสปกครองลูกศิษย์ลูกหานี่ก็เป็นทุกข์ ต้องรู้จักทุกข์เกิดขึ้นมานะ ให้มันรู้จักทุกข์ซิทุกข์มันเกิดขึ้นมา เรากลัวทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ จะไปสู้ที่ไหนล่ะ? ถ้าทุกข์มาก็ไม่รู้อีกจะไปสู้ทุกข์ที่ไหนล่ะนี่? เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดต้องให้รู้จักทุกข์ การหนีทุกข์ ก็คือให้รู้จักพ้นทุกข์ ไม่ใช่ว่ามันทุกข์ทีนี้แล้วก็วิ่งไป หอบทุกข์ไปด้วย อยู่ที่นั้นทุกข์ก็เกิดขึ้นอีกก็วิ่งอีก นี่ไม่ใช่คนหนีทุกข์ เป็นคนไม่รู้จักทุกข์ ถ้ารู้จักทุกข์ต้องดูเหตุการณ์ ครูบาอาจารย์ท่านว่า อธิกรณ์เกิดที่ไหนให้ระงับที่นั้นทุกข์มันเกิดตรงนั้น เรื่องที่ไม่ทุกข์มันก็อยู่ตรงนั้น เรื่องที่ทุกข์มันจะหายก็อยู่ตรงที่มันเกิด ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาต้องพิจารณา ไม่ต้องหนีนะ ต้องแก้อธิกรณ์ให้มันจบ รู้เรื่องของมัน ทุกข์เกิดตรงนี้เราหนีไปกลัวทุกข์ นี้แหละคือโง่ที่สุด สร้างความโง่ขึ้นตลอดเวลาเราต้องรู้นะ ทุกข์นี้มันไม่ใช่อะไร ไม่ใช่ทุกข์สัจหรือ? เรื่องทุกข์นั้นเราจะเห็นในแง่ไม่ดีหรือ? ทุกข์สัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจถ้าหนีจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่ปฏิบัติตามสัจธรรมเท่านั้นแหละมันจะพบทุกข์เมื่อไร? มันจะรู้เรื่องเมื่อไร? ถ้าหนีทุกข์เรื่อยไปเราก็ไม่รู้จักทุกข์ ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ถ้าไม่กำหนดจะรู้มันเมื่อไร? ไม่พอใจหนีไป ไม่พอใจหนีไปเรื่อย อย่างนั้นต้องทำสงครามหมดประเทศพญามารเอาหมด นี้มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น
พระพุทธองค์ท่านให้หนีด้วยปัญญา เปรียบประหนึ่งว่า เรามีเสี้ยนหรือหนามน้อยๆ ตำเท้าเราอยู่ เดินไปปวดบ้าง หายปวดบ้าง บางทีก็เดินไปสะดุดหัวตอเข้า ปวดขึ้นมาก็คลำดู คลำไปคลำมาไม่เห็นเลย เลยขี้เกียจดูมัน ก็ปล่อยมันไป ต่อไปเดินไปถูกปุ่มอะไรขึ้นมาก็ปวดอีก มันเป็นอย่างนี้เรื่อยไป เพราะอะไรนะ? เพราะเสี้ยนหรือหนามนั้นมันยังอยู่ในเท้าเรา ยังไม่ออก ความเจ็บความปวดมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อมันปวดมา ก็คลำหามันไม่เห็น ก็ปล่อยไป นานๆ เจ็บอีก ก็คลำอีกอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ ทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นนะ เราต้องกำหนดรู้มัน ไม่ต้องปล่อยมันไปเมื่อมันเจ็บปวดขึ้นมา "เออ ไอ้หนามนี่มันยังอยู่นี่นะ" เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้น ความคิดที่ว่าจะเอาหนามออกจากเท้าเราก็มีพร้อมกันมา ถ้าเราไม่เอามันออก ความเจ็บปวดมันก็เกิดขึ้น เดี๋ยวก็เจ็บเดี๋ยวก็เจ็บ อยู่อย่างนี้ ความสนใจที่จะเอาหนามออกจากเท้าเรามันมีอยู่ตลอดเวลา ผลที่สุดวันหนึ่งต้องตั้งใจเอาหนามออกให้ได้เพราะมันไม่สบาย อันนี้เรียกว่าการปรารภความเพียรของเรา ต้องเป็นอย่างนั้น มันขัดตรงไหน มันไม่สบายตรงไหน ก็ต้องพิจารณาที่ตรงนั้น แก้ไขที่ตรงนั้น แก้ไขหนามที่มันยอกเท้าเรานั่นแหละงัดมันออกเสีย
จิตใจของเรามันติดอยู่ที่ตรงไหน เราจะต้องรู้จักอยู่อย่างนั้น คลำไปคลำมาก็รู้อยู่ เห็นอยู่ เป็นอยู่อย่างนั้น แต่ว่าความเพียรของเราไม่ถอยเหมือนกัน ไม่หยุด ท่านเรียกว่า วิริยารัมภะปรารภความเพียรอยู่เสมอ เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นเมื่อไรในเท้าของเรานะ ปรารภว่าจะเอาหนามออก จะบ่งหนามออกเสมอไม่ได้ขาดเลย ทุกข์ทางใจมันเกิดขึ้นมา เรื่องกิเลสตัณหานี้เราก็มีความรู้สึกปรารภความเพียรอยู่เสมอว่า จะพยายามฆ่ามัน พยายามละมันอยู่ตลอดเวลาตามไปไม่หยุด อีกวันหนึ่งมันก็จนมุมเรา ถึงที่นั้นเราก็ตะครุบมันได้
ฉะนั้นเรื่องสุขทุกข์นี้ เราจะทำอย่างไร? ถ้าไม่มีสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะเอาอะไรเป็นเหตุ? ถ้าไม่มีเหตุ ผลมันจะเกิดตรงไหนเล่า? นี่เรียกว่าธรรมมันเกิดเพราะเหตุ เมื่อผลมันจะดับไปนั้นเพราะเหตุมันดับไปก่อน ผลมันจึงดับไปด้วย มันเป็นในทำนองอันนี้ แต่ว่าเราไม่ค่อยเข้าใจจริง อยากแต่จะหนีทุกข์ รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้ไม่ถึงมัน ความเป็นจริงแล้ว ท่านอยากจะให้รู้โลกที่เราอยู่นี้ ไม่ต้องหนีไปไหน จะอยู่ก็ได้ จะไปก็ได้ ให้มีความรู้สึกอย่างนั้นให้พิจารณาให้ดี มันสุขมันทุกข์มันอยู่ตรงไหน? อะไรที่เราไม่ยึดหมาย หรือไม่มั่นหมายกับมัน อันนั้นไม่มี ทุกข์มันก็ไม่เกิด ไอ้ที่ทุกข์มันเกิด มันเกิดจากภพ มันมีภพที่จะเกิด มันก็ต้องไปเกิดที่ภพ ตัวอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละมันเป็นภพให้ทุกข์เกิด ทุกข์มันเกิดขึ้นดูเถอะอย่าไปดูไกลๆ ดูปัจจุบันนี้ ดูกายดูจิตของเรานี้ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา เพราะอะไรมันเป็นทุกข์? ดูเดี๋ยวนี้แหละ เมื่อสุขเกิดขึ้นมามันเป็นอะไรมันจึงสุข? ดูเดี๋ยวนั้นมันเกิดตรงไหน ให้มันรู้จักตรงนั้น ทุกข์เกิดที่อุปาทานสุข เกิดที่อุปาทานทั้งนั้น
พระโยคาวจรเจ้าผู้ประพฤติปฏิบัติแล้ว เห็นจิตว่าเป็นอยู่อย่างนี้ มันเกิดๆ ตายๆ เป็นของไม่แน่นอนสักอย่างหนึ่งเลย ถ้าพิจารณาแล้วท่านดูมันทุกวิธี มันเป็นของมันอย่างนั้นไม่มีอะไรแน่นอน เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วเกิด ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารเดินไปท่านก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น นั่งท่านก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น จะเอาตรงไหนมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น เอาโลกก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเหมือนแท่งเหล็กใหญ่ๆ ที่เขาเอาเข้าเตาหลอมแล้วนั้นแหละ ร้อนไปทั้งแท่งเลย ยกขึ้นมา เอามือไปแตะดูข้างบนมันก็ร้อน ข้างๆ มันก็ร้อน มันร้อนทั้งนั้นใช่ไหม? ที่ไม่ร้อนไม่มีเพราะมันออกจากเตาหลอมมา เหล็กทั้งแท่งไม่มีเย็นเลย
อันนี้ถ้าหากว่าเราไม่พิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่รู้เรื่องจะต้องเห็นชัด จะต้องไม่เกิด จะต้องไม่ให้มันเกิด ให้รู้จักการเกิดแม้แต่ที่ว่า "แหม คนนี้ทำไม่ถูกใจฉัน ฉันเกลียดที่สุด" ไม่มีแล้ว "คนนี้ทำฉันชอบที่สุด" ไม่มีแล้ว มีแต่อาการในโลกที่พูดกันว่าชอบที่สุด ไม่ชอบที่สุดเท่านั้น แต่พูดอย่างใจอย่าง คนละเรื่องกัน จะต้องเอาสมมุติของโลกมาพูดกันให้มันรู้เรื่องกับโลกเท่านั้น ไม่มีอะไรแล้ว มันเหนือ ต้องให้มันเหนืออย่างนั้น อันนั้นเป็นที่อยู่ของพระ พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นต้องพยายาม อย่าไปสงสัย
ผมก่อนจะปฏิบัตินี่ คิดว่าศาสนาตั้งอยู่ในโลก ทำไมบางคนทำ บางคนไม่ทำ? ทำแบบนิดๆ หน่อยๆ แล้วเลิก มันอะไรอย่างนี้ หรือผู้ไม่เลิกก็ไม่ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ นี่มันเป็นเพราะอะไร? ก็ไม่รู้นั่นเองละ ผมจึงต้องอธิษฐานในใจว่า เอาละชาตินี้เราจะมอบกายอันนี้ ใจอันนี้ ให้มันตายไปชาติหนึ่ง จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเลย จะทำให้มันรู้จักในชาตินี้ถ้าไม่รู้จักมันก็ลำบากอีก จะปล่อยวางมันเสียทุกอย่าง จะพยายามทำ ถึงแม้ว่ามันจะทุกข์ มันจะลำบากขนาดไหน ก็ต้องทำไม่เช่นนั้นก็จะสงสัยเรื่อยไป คิดอย่างนี้เลยตั้งใจทำ ถึงแม้มันจะสุข มันจะทุกข์ จะลำบากขนาดไหนก็ต้องทำ ชีวิตในชาตินี้ให้เหมือนวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น ทิ้งมัน จะตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะตามธรรมะให้มันรู้ ทำไมมันยุ่งมันยากนักวัฏฏะสงสารนี้ อยากรู้อยากจะเป็นอย่างนั้น คิดปฏิบัติ
ในโลกนี้ นักบวชทิ้งอะไรไหม? ถ้าเป็นนักบวชไม่สึกแล้วก็เป็นอันว่าทิ้งหมดทุกอย่างเลย ไม่มีอะไรจะไม่ทิ้ง ที่โลกเขาต้องการเราก็ทิ้งหมดทั้งนั้นแหละ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทิ้งหมด แต่ก็กระทบทั้งหมดเช่นกัน ฉะนั้นเราเป็นผู้ปฏิบัติ จะต้องเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ถึงการพูดการจา การขบการฉัน การอะไร จะต้องเป็นคนที่ง่ายที่สุด กินง่าย นอนง่าย อะไรๆ ก็ง่ายแบบที่เรียกว่าเป็นตาสีตาสาธรรมดา แบบง่ายๆ อย่างนี้ ทำไปยิ่งทำมันก็ยิ่งภูมิใจ มันจะเห็นในจิตในใจของเรา ฉะนั้นธรรมะนี้จึงเป็นปัจจัตตังรู้เฉพาะตัวเรา ถ้ารู้เฉพาะตัวเราแล้วก็ต้องปฏิบัติเอาเอง
แต่เราปฏิบัตินี้ ก็จะต้องอาศัยครูบาอาจารย์ครึ่งหนึ่งเท่านั้นอย่างวันนี้ผมเทศน์ให้ฟัง อันนี้ยังเป็นของใช้ไม่ได้เลย แต่เป็นของน่ารับฟังไว้ ถึงมีใครมาเชื่อ เชื่อเพราะผมพูด ยังไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ ถ้าใครเชื่อที่ผมพูดเต็มที่ คนนั้นก็ยังโง่ ถ้าหากว่าฟังแล้วมีเหตุผลเอาไปพิจารณาดูให้มันเห็นชัดในจิตของตัวเอง ทำเอง ละเอง อันนั้นแหละมีผลมากแล้ว รู้รสมันแล้ว คือมันรู้ด้วยตนเองจริงๆ อันนี้พระพุทธองค์ท่านถึงไม่ตรัสลงไป คือบอกชัดไม่ได้เหมือนกับบอกสีให้คนตาบอดว่า มันขาวเหลือเกิน เหลืองเหลือเกิน บอกไม่ได้ หรือบอกก็ได้ อยู่แต่ท่านว่ามันไม่เกิดประโยชน์ เพราะคนนั้นตาบอดแล้ว ดังนั้นท่านจึงย้อนกลับมาให้เป็นปัจจัตตัง ให้เห็นชัดกับตัวเอง เมื่อเห็นชัดกับตัวเองแล้ว มันจึงจะเป็นสักขีภูโต เป็นพยานของเราแท้ๆ จะยืนก็ไม่สงสัย นั่งก็ไม่สงสัย นอนก็ไม่สงสัย ใครจะมาพูดว่า "ท่านปฏิบัติอย่างนี้ไม่ถูกผิดหมดแล้ว" มันก็สบายใจ เพราะมีหลักสบาย
ผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น จะไปที่ไหน ใครจะบอกให้ชัดเจน อย่างไรไม่ได้ นอกจากความรู้สึกของเรา การเห็นของเรามันเกิดเป็นสัมมาทิฐิขึ้น เรื่องประพฤติปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นเราทุกคนก็เหมือนกัน เรื่องปฏิบัตินี้นะ บวชอยู่ตั้ง ๕ ปี ๑๐ ปีจะปฏิบัติสักเดือนหนึ่ง อย่างนี้มันก็ยากเหมือนกัน ความเป็นจริงอายตนะทั้งหลายต้องต่อสู้ตลอดเวลา สบายใจไม่สบายใจก็รู้จักชอบไม่ชอบก็รู้จัก ให้มันรู้จักสมมุติ ให้มันรู้จักวิมุตติ วิมุตติกับสมมุตติมันจะมาพร้อมกัน ให้รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักพร้อมกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน อันนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานของผู้ปฏิบัติ
ฉะนั้นสิ่งใดที่มันเกิดประโยชน์ตนและเกิดประโยชน์คนอื่นสร้างประโยชน์ตนแล้ว สร้างประโยชน์คนอื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า ผมเคยสอนเสมอ สิ่งที่ควรทำนั้นก็ไม่ค่อยอยากจะทำกันอย่างกิจวัตร ข้อวัตรอะไรต่างๆ ผมเคยพูดบ่อยๆ พูดไปก็ไม่ค่อยเอาใจใส่ เพราะคนมันไม่รู้ มันขี้เกียจบ้าง มันรำคาญบ้าง วุ่นวายบ้าง นั่นแหละมันเป็นเหตุ เราจะไปอยู่ที่มันไม่มีอะไรอยู่เฉยๆ จะเห็นอะไรไหม? อาหารก็เหมือนกัน ฉันไปแล้วมันเฉยๆ จะเป็นอะไรไหม? อร่อยไหม? หูมันตึง พูดแล้วก็เฉยๆ มันจะรู้เรื่องไหม? ถ้าไม่รู้เรื่องมันจะมีเรื่องไหม? ไม่มีเรื่องมันก็ไม่มีเหตุ มีที่แก้ไหม? ให้เราเข้าใจการปฏิบัติอย่างนั้น
สมัยก่อนผมไปอยู่เหนือ ไปอยู่กับพระหลายองค์ พระแก่ๆ แบบหลวงพ่อหลวงตา ๒-๓ พรรษา ผมนั้น ๑๐ พรรษา แล้วอยู่กับพวกคนแก่ก็ตั้งใจปฏิบัติเลย รับบาตร ซักจีวร เทกระโถนสารพัดอย่าง ไม่ได้คิดว่าอันนี้ทำให้องค์นั้น ไม่ได้คิด ทำข้อปฏิบัติของเรา ใครไม่ทำเราก็ทำเป็นกำไรของเรา เป็นเรื่องสบายใจภูมิใจถึงวันอุโบสถ เราก็รู้จัก เราเป็นพระหนุ่มไปจัดโรงอุโบสถ ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน สารพัดอย่างสบาย พวกนั้นไม่รู้จักกิจวัตรก็เฉย เราก็ไม่ว่าให้เขา เพราะเขาไม่รู้จัก อันนี้เรามาปฏิบัติ เราทำแล้วก็ภูมิใจถึงเวลาห่มผ้าเดินจงกรมสบาย มันภูมิใจเหลือเกิน มันดีมันมีกำลังข้อวัตรทั้งหลายมีกำลังมาก ที่ไหนในวัดที่มันจะทำได้ ในกุฏิของเรา ในกุฏิคนอื่นก็ดีที่มันสกปรกรกรุงรัง ทำเลย ไม่ต้องทำให้ใคร ไม่ต้องทำเอาหน้าเอาตาจากใคร ทำเพื่อข้อปฏิบัติของเรากวาดกุฏิกวาดเสนาสนะให้มันสะอาด ถ้าเราทำเช่นนั้น ก็เหมือนเรากวาดของสกปรกออกจากใจของเรา เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติอันนี้ให้มันมีอยู่ในใจของพวกเราทุกคน ความสามัคคีนั้นไม่ต้องเรียกร้องหรอก เป็นเลย ให้มันเป็นธรรมะ สงบระงับ พยายามทำใจให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรมันจะขัดแย้งเรา อะไรที่เป็นงานหนักงานหนาช่วยกันทำ อะไรถ้าเราช่วยกันทำ ไม่นานหรอกก็เสร็จ ช่วยกันง่ายๆ แล้วก็แล้วไป มันดีที่สุด ผมก็เคยพบเหมือนกัน แต่ว่าผมมีกำไร คือ ไปอยู่ด้วยกันมากๆ ทั้งพระ ทั้งเณร "เอ้า วันนี้ย้อมผ้ากันนะ" ย้อมผ้า...เราไปต้มแก่นขนุน มีพระบางองค์ให้เพื่อนต้มแก่นขนุนเสร็จ แล้วก็เอาผ้ามาชุบๆ ย้อม แล้วก็หนีไปตากผ้าอยู่กุฏินอนสบาย ไม่ต้องต้มแก่นขนุน ไม่ต้องมาล้างหม้อ ไม่ต้องจัดทำอะไร เขานึกว่าเขาสบาย เขาดี อันนั้นคือโง่ที่สุดแล้ว สร้างความโง่ใส่ตัวเอง เพราะเขาไม่ได้ทำ เพื่อนเขาทำถึงเวลาไม่ต้องทำอะไรเลย ง่าย นี้ยิ่งเพิ่มความโง่ขึ้น ดูเถอะอันนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์แก่เขาเลย นี่คือความคิดโง่ของคน กิจที่จะต้องทำก็ไม่ทำ คือถ้าไม่ทำได้ละเป็นดีที่สุด นั่นแหละมันโง่ที่สุดถ้าเรามีความเห็นอย่างนั้นในใจอยู่ เราอยู่ไม่ได้
ฉะนั้น จะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ให้รู้สึกว่าเรามาทำอะไรที่นี้ อยากกินดี นั่งดี นอนดี อะไรทั้งหลายนั้น ไม่ได้ ที่เรามาเรามาทำอะไร? ถ้าเราคิดอย่างนี้อยู่เสมอ มันก็จะผูกใจเราตลอดเวลาไม่เผลอ ผูกใจเสมอ แม้ท่านจะยืนอยู่ท่านก็จะปรารภความเพียรจะเดินอยู่ก็ปรารภความเพียร จะนอนอยู่ก็ปรารภความเพียร ถ้าไม่ได้ปรารภความเพียรไม่ได้เป็นอย่างนั้น นั่งอยู่ก็นั่งในบ้าน เดินก็ไปเดินในบ้าน จะไปเล่นอยู่ในบ้าน เล่นกับประชาชนเขา ใจมันไปอย่างนั้น ไม่ได้ปรารภความเพียร ไม่ได้หักห้ามใจของเราอีกเสียด้วย ก็ยิ่งปล่อยมันไปตามลมตามอารมณ์ นี่เรียกว่าตามอารมณ์ก็เหมือนเด็กในบ้าน เราไปตามใจมัน มันจะดีไหม? พ่อแม่ตามใจเด็กในบ้านมันจะดีไหม? ถ้าไปตามใจมันตั้งแต่เป็นเด็ก พอมันรู้ภาษาเขาก็จะเฆี่ยนมันเท่านั้นแหละ กลัวมันจะโง่ การฝึกจิตของเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องรู้จักตัว รู้จักฝึกจิตของเรา ถ้าเราไม่รู้จักฝึกจิตของตัวเอง จะคอยคนอื่นมาฝึกให้ ลำบากมาก ลำบากมากทีเดียวล่ะ
ฉะนั้น อย่าเข้าใจว่าอยู่นี้ไม่ได้ทำความเพียร การทำเพียรไม่ได้ขีดขั้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้หมดทั้งนั้น แม้กวาดลานวัดอยู่ก็บรรลุธรรมะได้ แม้มองไปเห็นแสงพยับแดดเท่านั้นก็บรรลุธรรมะได้ จะต้องให้สติมีพร้อมอยู่เสมอ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะมันมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมะอยู่ทุกเวลา อยู่ทุกสถานที่ เมื่อเราตั้งใจอยู่ พิจารณาอยู่
ฉะนั้น เราจึงอย่าประมาท ให้ระวัง ให้รู้ เดินไปบิณฑบาตอย่างนี้มีความรู้สึกตั้งหลายอย่าง กว่าเราจะกลับถึงวัดเรา เออเอาซีธรรมะดีๆ มันจะเกิดขึ้น เมื่อมาถึงวัดมานั่งฉันบิณฑบาตแหม มันมีธรรมะดีๆ ที่เกิดขึ้นมาให้เรารู้จัก มันต้องเกิดอยู่อย่างนี้ถ้าเราปรารภความเพียรอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่ามันเป็นอะไรนะ มันมีข้อคิด มันมีปัญหา มันมีธรรมะ มันเป็นธรรมวิจยะ สอดส่องธรรมะอยู่ตลอดเวลา มันเป็นโพชฌงค์ ถ้าเราศึกษาอยู่เป็นพหูสูตรศึกษาอะไร? ศึกษาอารมณ์นี้ ธรรมะมันเกิดที่จิต ไม่ต้องไปศึกษากับใครที่ไหน ศึกษาอยู่ที่เมื่อเรามีสติอยู่ มันมีข้อศึกษา โพชฌังโค สติสังขาโต ธรรมานังวิจโย...มีสติมันก็มีธรรมวิจยะ มันติดต่อกันเสมอ มันเป็นองค์ตรัสรู้ธรรม ถ้าเรามีสติอยู่ มันมีธรรมวิจยะไม่ได้อยู่เฉยๆ เป็นองค์ธรรมตรัสรู้ ถ้าอยู่ในระบบนี้ ตรัสรู้ธรรมะอยู่ตรงนี้ ภายในจิตของเรานี้ การปฏิบัติไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีเวลา ไม่มีเรื่องอื่นมาปน ปนก็ให้รู้จักว่ามันปน มีธรรมวิจยะอยู่ในใจเสมอ คือ ซอกธรรม เฟ้นธรรมอยู่เสมอ มีสติวิจัยธรรมอยู่ตลอดเวลา เรื่องจิตมันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันตกกระแสของมันแล้วไม่ใช่วิจัยไปอย่างอื่น "จะไปเที่ยวตรงโน้น จะไปทางนี้ทางนั้น สนุกจังหวัดนี้ จังหวัดนั้น" อันนั้นมันหลงโลก เดี๋ยวก็ตายละ
ฉะนั้น จงพากันตั้งใจ ไม่ใช่ว่านั่งหลับตาอย่างเดียวจึงเกิดปัญญา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีอยู่เสมอ ตื่นอยู่เสมอศึกษาตลอดเวลา เห็นต้นไม้ เห็นสัตว์ต่างๆ ก็ได้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา น้อมเข้ามาเป็นโอปนยิกะธรรม ให้เห็นชัดในตัวของเราเป็นปัจจัตตัง จะมีอารมณ์ภายนอกกระทบกระทั่งเข้ามา มันก็เป็นปัจจัตตังสม่ำเสมอ มันไม่ทิ้ง พูดง่ายๆ เหมือนเขาเผาถ่าน เผาอิฐเตาถ่าน เตาอิฐ เคยเห็นไหม? ก่อไฟขึ้นหน้าเตาสัก ๒ ศอกหรือ เมตรหนึ่ง มันจะดูดควันไฟเข้าไปในเตาหมดเลย ดูอันนั้นก็ได้ มันเห็นชัดอย่างนั้น อันนี้มันเป็นรูปเปรียบเทียบ ถ้าทำเตาเผาถ่าน เผาอิฐ ให้ถูกเรื่อง ถูกลักษณะของมัน ก่อไฟอยู่หน้าเตาสัก ๒-๓ ศอก เมื่อมีควันขึ้นมามันจะดูดเข้าไปในเตาหมด ไม่มีเหลือเลย ความร้อนก็จะเข้าไปบรรจุในเตาหมด ไม่หนีไปไหนความร้อนจะเข้าไปทำลายเร็วที่สุด นี่มันเป็นอย่างนั้น ความรู้สึกของผู้ประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน จะมีความรู้สึกดูดเข้าไปให้เป็นสัมมาทิฐิทั้งนั้น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสทั้งหลาย มันจะดูดเข้าไปให้เป็นสัมมาทิฐิทั้งนั้น จะเป็นสัมผัสที่เกิดปัญญาอย่างนั้นสม่ำเสมอ ตลอดเวลา
ที่มา : http://www.ajahnchah.org
0 comments: