วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ หรือ ศัตรูของสมาธิ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ หรือ ศัตรูของสมาธิ

…. “ สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูของสมาธิ เป็นสิ่งที่ต้องกําจัดเสียจึงจะเกิดสมาธิได้ หรือจะพูดว่าเป็นสิ่งที่ต้องกําจัดเสียด้วยสมาธิก็ได้ สิ่งเหล่านี้มีชื่อเฉพาะ เรียกว่า “นิวรณ์”

…. “นิวรณ์” แปลว่า เครื่องกีดกั้น เครื่องขัดขวาง แปลเอาความตามหลักวิชาว่า สิ่งที่กีดกั้นการทํางานของจิต สิ่งที่ขัดขวางความดีงามของจิต สิ่งที่ทอนกําลังปัญญา หรือแสดงความหมายให้เป็นวิชาการยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่วที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี หรือ อกุศลธรรมที่ทําจิตให้เศร้าหมองและทําปัญญาให้อ่อนกําลัง

…. คําอธิบายลักษณะของนิวรณ์ ที่เป็นพุทธพจน์มีว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ เป็นเครื่องปิดกั้น (กุศลธรรม) เป็นเครื่องห้าม (ความเจริญงอกงาม) ขึ้นกดทับจิตไว้ ทําปัญญาให้อ่อนกําลัง” “เป็นอุปกิเลสแห่งจิต (สนิมใจ หรือสิ่งที่ทําให้ใจเศร้าหมอง) ทําปัญญาให้อ่อนกําลัง” และว่า “ธรรม ๕ ประการ เหล่านี้ เป็นนิวรณ์ ทําให้มืดบอด ทําให้ไร้จักษุ ทําให้ไม่มีญาณ (สร้างความไม่รู้) ทําให้ปัญญาดับ ส่งเสริมความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน”

…. นิวรณ์ ๕ อย่างนี้ พึงระวังอย่านํามาสับสนกับสมถะหรือสมาธิ หากพบที่ใดพึงตระหนักไว้ว่า นี้ไม่ใช่สมถะ นี้ไม่ใช่สมาธิ นิวรณ์ ๕ อย่างนั้น คือ

…. ๑. กามฉันท์ ความอยากได้อยากเอา (แปลตามศัพท์ว่า ความพอใจในกาม) หรืออภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ หมายถึง ความอยากได้กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ ติดใจโน่นติดใจนี่ คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดินเรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้

…. ๒. พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง ความผูกใจเจ็บ การมองในแง่ร้าย การคิดร้ายมองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจต่างๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่นสะดุดนี่ เดินไม่เรียบ ไม่ไหลเนื่อง ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ

…. ๓. ถีนมิทธะ ความหดหูและเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม แยกเป็น “ถีนะ” ความหดหู ห่อเหี่ยว ถดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจ กับ “มิทธะ” ความเซื่องซึม เฉื่อยเฉา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน อาการซึมๆ เฉาๆ ที่เป็นไปทางกาย จิตที่ถูกอาการทางกายและทางใจอย่างนี้ครอบงํา ย่อมไม่เข้มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งานจึงไม่อาจเป็นสมาธิได้

…. ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ แยกเป็น “อุทธัจจะ” ความที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่าย พร่า พล่านไป กับ “กุกกุจจะ” ความวุ่นวายใจ รําคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงํา ย่อมพล่าน ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบลงได้ จึงไม่เป็นสมาธิ

…. ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ได้แก่ ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจ สงสัย เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวกับ สิกขา เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่าคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ตัดสินไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้ (สมาธิภาวนานี้ ฯลฯ) มีคุณค่ามีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ จะได้ผลจริงหรือไม่ คิดแยกไปสองทาง กําหนดไม่ลง จิตที่ถูกวิจิกิจฉาขัดไว้กวนไว้ให้ค้างให้พร่าลังเลอยู่ ย่อมไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “สัมมาสมาธิ และสมาธิแบบพุทธ” เป็นตอนใหญ่ในบทหนึ่งของหนังสือ “พุทธธรรม” คือ บทที่ ๒๑ ตอนว่าด้วย “สัมมาสมาธิ”

ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: