มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๓) กายปิยายนปัญหา, วรรคที่ ๖, สติวรรค
ปัญหาที่ ๑ กายปิยายนปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของพวกบรรพชิตหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ร่างกายหาเป็นที่รักของพวกบรรพชิตทั้งหลายไม่. พระเจ้ามิลินท์, เมื่อเป็นเช่นนั้นนะ พระคุณเจ้า เพราะเหตุใดพวกบรรพชิตจึงยังปรนนิบัติร่างกาย ยังรักใคร่ร่างกายอยู่เล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร นักรบผู้ไปในสงครามของพระองค์ บางครั้งบางคราวถูกทำร้ายด้วยธนู ก็มีอยู่ไม่ใช่หรือ ?พระเจ้ามิลินท์, ใช่มีอยู่พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บาดแผลนั้นเขาต้องใช้ยาทาแผลทาไว้ใช้น้ำมันลูบไล้ไว้ และใช้ผ้าเนื้อละเอียดพันไว้ มิใช่หรือ. พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า เขาต้องใช้ยาทาแผลทาไว้ ใช้น้ำมันลูบไล้ไว้ และใช้ผ้าเนื้อละเอียดพันไว้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็บาดแผลเป็นที่รักของเขาหรือไร เขาจึงต้องใช้ยาทาแผลทาไว้ ใช้น้ำมันลูบไล้ไว้ และใช้ผ้าเนื้อละเอียดพันไว้ ? พระเจ้ามิลินท์, บาดแผลจะเป็นที่รักหาไม่ได้พระคุณเจ้า แต่ว่าเขาต้องใช้ยาทาแผลทาไว้ ใช้น้ำมันลูบไล้ไว้ และใช้ผ้าเนื้อละเอียดพันไว้เพื่อประโยชน์แก่การสมานเนื้อ (สมานแผล). พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของพวกบรรพชิตหรอก พวกบรรพชิตทั้งหลายผู้ไม่สยบในร่างกาย ย่อมบริหารร่างกายเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถึงร่างกายว่ามีอุปมาเหมือนบาดแผล เพราะเหตุนั้น พวกบรรพชิตทั้งหลายผู้ไม่สยบในร่างกาย จึงบริหารร่างกายดุจรักษาแผล ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :-
“อลฺลจมฺมปฏิจฺฉนฺโน นวทฺวาโร มหาวโณ, สมนฺตโต ปคฺฆรติ อสุจิปูติคนฺธิโย.” (วิสุทธิมคฺค. ๑/๓๑๕ ฉบับภูมิพโลภิกขุ) แปลว่า “ร่างกายอันห่อหุ้มด้วยหนังสด มีทวารทั้ง ๙ เป็นแผลใหญ่ สิ่งสกปรกมีกลิ่นเหม็น ย่อมหลั่งออกทั่วทั้งตัว ดังนี้”.
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบกายปิยายนปัญหาที่ ๑
คำอธิบายปัญหาที่ ๑
ในสติวรรคนี้ มี ๑๐ ปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับความประพฤติดุจว่าร่างกายเป็นที่รัก ชื่อว่า กายปิยายนปัญหา – คำว่า ร่างกาย ในที่นี้ ได้แก่สรีระกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ อันประกอบด้วยโกฏฐาสใหญ่น้อยทั้งหลาย – คำว่า ร่างกายเป็นที่รักของพวกบรรพชิตหรือ ความว่า พระราชารับสั่งถามว่า สรีรกายเป็นที่รัก คือเป็นที่ประพฤติด้วยความรัก ของพวกบรรพชิตหรือ – คำว่า ร่างกายหาเป็นที่รักของพวกบรรพชิตทั้งหลายไม่ ความว่า พระเถระปฏิเสธว่า ร่างกายหาเป็นที่รักคือหาเป็นที่ประพฤติด้วยความรักของพวกบรรพชิตทั้งหลายไม่ – คำว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น คือเมื่อร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของพวกบรรพชิต – คำว่า เพราะเหตุไร พวกบรรพชิตจึงยังปรนนิบัติร่างกาย ยังรักใคร่ร่างกายอยู่เล่า ความว่า เพราะเหตุใดพวกบรรพชิตจึงยังปรนนิบัติร่างกาย คือ ยังบำรุงบำรุงร่างกาย ยังรักใคร่ร่างกาย คือยังชอบใจร่างกาย โดยบริหารด้วยการนุ่งการห่มเป็นต้น เล่า – คำว่า ไม่สยบ คือพวกบรรพชิตไม่สยบ คือไม่ติดข้องในร่างกายด้วยอำนาจแห่งตัณหา, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าพวกบรรพชิตทั้งหลายจึงบริหารร่างกายดุจรักษาแผล ดังนี้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑
ปัญหาที่ 2 สัพพัญญูภาวปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู – ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นพระสัพพทัสสาวี – ผู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ถูกต้อง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระสัพพัญญู – ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นพระสัพพทัสสาวี – ผู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง. พระพระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรจึงทรงค่อยๆบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายไปตามลำดับเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร แพทย์บางคนที่รู้จักยาทุกชนิดในแผ่นดินนี้ก็มีอยู่มิใช่หรือ. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ มีอยู่ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร แพทย์ผู้นั้นให้คนไข้กินยาในเวลาที่ถึงคราวเป็นไข้ หรือว่าในเวลาที่ยังไม่ถึงคราวเป็นไข้เล่า ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า แพทย์ผู้นั้นย่อมให้คนไข้กินยาในเวลาที่ถึงคราวเป็นไข้ ไม่ใช่ในเวลาที่ยังไม่ถึงคราวเป็นไข้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญู เป็นพระสัพพทัสสาวี ไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายในเวลาที่ยังไม่ถึงคราว ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายในเวลาที่ถึงคราว เป็นสิกขาบทที่สาวกทั้งหลายไม่พึงล่วงละเมิดตลอดชีวิต. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบสัพพัญญูภาวปัญหาที่ ๒
คำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหาที่มีการถามถึงความเป็นพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า สัพพัญญูภาวปัญหา. พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสัพพัญญู เพราะอรรถว่า ทรงรู้สิ่งทุกที่ควรรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงพระนามว่า พระสัพพทัสสาวี เพราะทรงมีปกติเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง, ๒ คำนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน แสดงถึงความเป็นผู้มีพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำที่ยักย้ายใช้แทนกันได้. คำว่า เพราะเหตุไรจึงทรงค่อยๆ บัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ไปตามลำดับ ความว่า พระราชาตรัสถามว่าเพราะเหตุไร จึงทรงคอยบัญญัติสิกขาบทไปทีละข้อ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ไม่บัญญัติไว้เสียก่อนพร้อมกันทุกข้อคราวเดียวกัน. คำว่า ในเวลาที่ยังไม่ถึงคราว คือในเวลาที่ยังไม่มีเรื่องเกิดขึ้น อันเป็นเรื่องที่บั่นทอนศรัทธาของผู้มีศรัทธา ไม่ทำศรัทธาของผู้ที่ยังไม่ศรัทธาให้เกิดขึ้น หรือยังความเสื่อมเสียแก่พระศาสนา. คำว่า ในเวลาที่ถึงคราว คือในเวลาที่มีเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๑๐ อย่าง มีความยินยอมพร้อมใจแห่งสงฆ์ เป็นต้น แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆ ขึ้น. คำว่า เป็นสิกขาบทที่สาวกทั้งหลายไม่พึงล่วงละเมิดตลอดชีวิต อธิบายว่า เป็นสิกขาบทที่สาวกทั้งหลายไม่พึงล่วงละเมิด คือ ประพฤติตามที่ทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต นับตั้งแต่ที่ได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว และไม่พึงล่วงละเมิด แม้เพื่อประโยชน์แก่ชีวิต. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหาที่ ๓ มหาปุริสลักขณปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และประดับด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีสีพระวรกายดุจทองคำ มีพระฉวีรุ่งเรืองดุจทองคำ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วา จริงหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เป็นความจริงพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และประดับด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีสีพระวรกายดุจทองคำ มีพระฉวีรุ่งเรืองดุจทองคำ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วา. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็แต่ว่าแม้พระชนกชนนีของพระองค์ก็ทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการและประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการมีสีพระวรกายดุจทองคำ มีพระฉวีรุ่งเรืองดุจทองคำ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วา หรือไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระชนกชนนีของพระองค์ หาทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ฯลฯ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วาไม่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อเป็นอย่างนี้พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ฯลฯ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วาได้อย่างไร เพราะว่าผู้เป็นบุตรย่อมเป็นผู้แม้นเหมือนมารดา หรือว่าเป็นข้างเดียวกับมารดา เป็นผู้แม้นเหมือนบิดา หรือว่าเป็นข้างเดียวกับบิดามารดา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ดอกบัวสตปัตตะ (ดอกบัวร้อยใบ) ชนิดหนึ่ง ก็มีอยู่มิใช่หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ มีอยู่ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็ดอกบัวชนิดนั้น เกิดได้ในที่ไหน.
พระเจ้ามิลินท์, ย่อมเกิดได้ในเปือกตม อาศัยอยู่ในน้ำ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ดอกบัวมีสีก็ดี มีกลิ่นก็ดี มีรสก็ดี เหมือนกันกับเปือกตมอะไร ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ถ้าเช่นนั้น มีสีก็ดี มีกลิ่นก็ดี มีรสก็ดี เหมือนกันกับน้ำ ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ฯลฯ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วาจริง แต่ว่าพระชนกชนนีของพระองค์หาทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ฯลฯ มีพระรัศมีสร้านออกไปประมาณ ๑ วาไม่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้ามนาคเสน ท่านต่อสมควรแล้ว. จบมหาปุริสลักขณปัญหาที่ ๓
คำอธิบายปัญหาที่ ๓
ปัญหาที่มีคำถามเกี่ยวกับลักษณะของท่านผู้เป็นมหาบุรุษ ชื่อว่า มหาปุริสลักขณปัญหา. พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า มหาบุรุษ เพราะว่าทรงเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณทั้งหลาย มีศีลเป็นต้น ครอบงำคุณของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หรือเพราะอรรถว่า ทรงเป็นบุรุษผู้ที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชา. ลักษณะของท่านผู้เป็นมหาบุรุษ อันเป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นมหาบุรุษ ชื่อว่า มหาปุริสลักษณะมี ๓๒ ประการ มีฝ่าพระบาทที่ยืนเหยียบพื้นได้เรียบเสมอกันทุกส่วน เป็นต้น. ประการย่อยๆ ที่เป็นเหมือนเครื่องประดับพระวรกาย เฉพาะท่านที่เป็นมหาบุรุษ ชื่อว่า พระอนุพยัญชนะ มี ๘๐ ประการ มีลายกงจักรที่ฝ่าพระบาทเป็นต้น
– คำว่า มีพระฉวีรุ่งเรืองดุจทองคำ คือ มีพระฉวีประพิมประพายคล้ายทองคำ – คำว่า เป็นข้างเดียวกับมารดา คือ ผู้เป็นบุตรก็ย่อมเป็นผู้มีรูปร่างผิวพรรณสัณฐานอวัยวะค่อนไปทางมารดา แม้นคำว่า เป็นข้างเดียวกับบิดา ก็มีนัยนี้แหละ เป็นอันพระราชาตรัสถามว่า เมื่อพระชนกชนนีไม่เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะเป็นต้น เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าประสูติแต่พระชนกชนนีนั้น กลับทรงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยพระมหาปุริษลักษณะเป็นต้นไปได้เล่า น่าจะส่งเป็นเหมือนอย่างคนอื่นๆ ที่มีรูปร่างผิวพรรณ สัณฐานอวัยวะ แม้นเหมือนมารดาหรือบิดา ความว่า ความเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ความเป็นผู้ประดับด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ พระองค์ทรงได้มาเพราะเหตุ คือพระบารมีที่ทรงสั่งสมมาดีแล้วมากมายในภพก่อนๆ อันเป็นการกระทำที่ยอดเยี่ยม หาผู้เสมอเหมือน มิได้มีใครส่งได้มาตามสายโลหิต. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓
ปัญหาที่ ๔ ภควโต พรหมจาริปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าทรงเป็นพรหมจารี (ผู้ประพฤติเยี่ยงอย่างพระพรหม) หรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ใช่ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพรหมจารี. พระเจ้ามิลิน, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าก็ชื่อว่าทรงเป็นศิษย์ของพระพรหม. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ทรงมีช้างทรงประธานอยู่ มิใช่หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, มีอยู่พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ช้างเชือกนั้น บางครั้งบางคราวก็บันลือโกญจนาท (ส่งเสียงร้องอย่างเสียงนกกระเรียน) ไม่ใช่หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า มันบันลือโกญจนาท. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ช้างเชือกนั้น ก็ชื่อว่าเป็นศิษย์ของนกกระเรียน. พระเจ้ามิลินท์, ไม่ใช่หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระพรหมเป็นผู้ที่ต้องมีพระพุทธเจ้า หรือว่าไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เล่า ? พระเจ้ามิลินท์, เป็นผู้ต้องมีพระพุทธเจ้า พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นพระพรหมก็ต้องเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบภควโต พรหมจาริปัญหาที่ ๔
คำอธิบายปัญหาที่ ๔
ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นพรหมจารีของพระผู้มีพระภาค ชื่อว่า ภควโต พรหมจาริปัญหา. ตามพระมติของพระเจ้ามิลินท์ ทรงกำหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พรหมจารี เพราะมีความหมายว่า ทรงประพฤติอย่างที่พระพรหมทรงประพฤติ เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นศิษย์ของพระพรหม ส่วน ตามมติของพระเถระ พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า พรหมจารี เพราะอรรถว่า ทรงประพฤติข้อควรประพฤติที่เป็นพรหมคือประเสริฐสุด คำว่า “พรหม” มีความหมายว่าประเสริฐสุดก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ถามว่า พระพรหมเป็น สพุทธิกะ – ต้องมีพระพุทธเจ้า หรือว่าเป็น อพุทธิกะ – ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า ดังนี้. ในคำเหล่านั้น คำว่า สพุทธิกะ แปลว่า ผู้ต้องมีพระพุทธเจ้า คือเป็นไปอาศัยพระพุทธเจ้า ทำตนให้ถึงความสุขความสวัสดีได้ด้วยอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า คำว่า อพุทธิกะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า คือไม่ได้เป็นไปอาศัยพระพุทธเจ้า ได้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอัตภาพสุดท้าย. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔
ปัญหาที่ ๕ ภควโต อุปสัมปทาปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน การอุปสมบทเป็นของดีหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใช่ มหาบพิตรการบวชเป็นของดี. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมีการอุปสมบท หรือว่าไม่ทรงมีเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคก็ทรงได้อุปสมบทแล้วที่โคนต้นโพธิ์ พร้อมกับพระสัพพัญญุตญาณ, ไม่มีผู้อื่นถวายการอุปสมบทแก่พระผู้มีพระภาค เป็นเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พวกสาวกทั้งหลาย อันเป็นสิกขาบทที่สาวกทั้งหลายไม่ควรล่วงละเมิดตลอดชีวิต ฉะนั้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบภควโต อุปสัมปทาปัญหาที่ ๕
คำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาที่มีการถามถึงการอุปสมบทของพระผู้มีพระภาค ชื่อว่า ภควโต อุปสัมปทาปัญหา. คำว่า อุปสัมปทา – การอุปสมบทสำหรับผู้ที่เป็นสาวกทั้งหลาย ย่อมได้การอุปสมบทโดยการที่ผู้อื่นให้ถือสิกขา ๓ คือ พระพุทธเจ้า หรือคณะสงฆ์ ให้ถือสิกขา ๓ กล่าวคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ส่วนสำหรับพระผู้มีพระภาคทรงได้การอุปสมบท โดยทรงประพฤติจริยา ๓ อย่าง คือ โลกัตถจริยา – ประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก, ญาตัตถจริยา – ประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ญาติ และ พุทธัตถจริยา – ประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นพระพุทธเจ้า อันสำเร็จพร้อมกับพระสัพพัญญุตญาณ คือทันทีที่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ฉะนี้แล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาที่ ๖ อัสสุเภสัชชาเภสัชชปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน คนหนึ่งเมื่อมารดาตายก็ร้องไห้ อีกคนหนึ่งร้องไห้ด้วยความรักในธรรม บรรดาคนที่ร้องไห้อยู่ทั้ง ๒ คนนั้น น้ำตาคนไหนจัดเป็นยา คนไหนไม่จัดเป็นยา ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร น้ำตาของคนหนึ่งมีมลทิน ร้อนเพราะไฟคือ ราคะ โทสะ และโมหะ น้ำตาของอีกคนหนึ่งปราศจากมลทิน เย็นเพราะปีติและโสมนัส ขอถวายพระพร น้ำตาที่เย็นจัดเป็นยา, น้ำตาที่ร้อนไม่จัดเป็นยา. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบอัสสุเภสัชชาเภสัชชปัญหาที่ ๖
คำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาที่มีการถามถึง น้ำตาที่เป็นยา และที่ไม่เป็นยา ชื่อว่า อัสสุเภสัชชาเภสัชชปัญหา. คำว่า ร้องไห้ด้วยความรักในธรรม คือร้องไห้ มีน้ำตาหลั่งไหลด้วยความรัก คือด้วยปีติโสมนัส อันมีกำลังที่เกิดขึ้น เพราะการได้สดับธรรม หรือยังรู้ธรรม. ชื่อว่า น้ำตาเย็น เพราะมิได้ร้อนเพราะไฟมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า จัดเป็นยา ก็เพราะความที่เป็นปัจจัยกำจัดความป่วยไข้คือกิเลสทั้งหลายได้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาที่ ๗ สราควีตราคนานากรณปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน คนผู้มีราคะกับคนผู้ปราศจากราคะ มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกัน. พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร คนหนึ่งเป็นผู้สยบ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ไม่สยบ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ชื่อว่าเป็นผู้สยบ, เป็นผู้ไม่สยบนี้คืออะไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร คือว่าคนหนึ่งมีความต้องการ อีกคนหนึ่งหาความต้องการมิได้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเห็นอยู่แต่ว่าเหมือนๆ กัน คือคนที่มีราคะก็ดี คนที่ปราศจากราคะก็ดี ทุกคนเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการสิ่งดีๆเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือว่าของกิน ใครๆ ก็ไม่ต้องการของไม่ดี. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ผู้คนยังไม่ปราศจากราคะบริโภคอาหาร ก็เป็นผู้รู้จักรสด้วย, รู้จักยินดีในรสด้วย ส่วนผู้คนที่ปราศจากราคะบริโภคอาหาร เป็นผู้รู้จากรสอย่างเดียว หาเป็นผู้รู้จักยินดีในรสด้วยไม่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบสราควีตราคนานากรณปัญหาที่ ๗
คำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาที่มีการถามถึงข้อแตกต่างกันแห่งคนผู้มีราคะ กับคนผู้ปราศจากราคะ ชื่อว่า สราควีตราคนานากรณปัญหา. คำว่า บริโภคอาหารเป็นผู้รู้จักรส คือ ผู้บริโภคอาหารเป็นผู้รู้จักรสด้วยเวทนา อันเกิดจากชิวหาสัมผัสสะ (การกระทบทางลิ้น). คำว่าเป็นผู้รู้จักยินดีในรส คือ เป็นผู้รู้จักยินดีในรสด้วยราคะที่เกิดจากชิวหาสัมผัส. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาที่ ๘ ปัญญาปติฏฐานปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ปัญญาย่อมอยู่ประจำ ณ ที่ไหน ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ปัญญาหาได้อยู่ประจำ ณ ที่ไหนไม่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้นปัญญาก็ไม่มีจริง. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ลมย่อมอยู่ประจำ ณ ที่ไหน ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ลมหาได้อยู่ประจำ ณ ที่ไหนไม่. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นลมก็ไม่มีจริง. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบปัญญาปติฏฐานปัญหาที่ ๘
คำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาที่มีการถามถึงที่ตั้งแห่งปัญญา ชื่อว่า ปัญญาปติฏฐานปัญหา. พระราชาทรงเล็งถึงลัทธิที่ว่า สิ่งที่มีอยู่จริง ย่อมมีที่อยู่ประจำ จึงได้ตรัสถามว่า ปัญญาย่อมอยู่ประจำ ณ ที่ไหน ดังนี้. ก็ปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมที่สัมปยุตกับจิต ถือเอาอารมณ์เดียวกับจิต ถึงขณะทั้ง ๓ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป พร้อมกันกับจิต ปัญญานั้น พ้นขณะทั้ง ๓ นั้นไปแล้ว ก็ถึงความเป็นของไม่เที่ยง กล่าวคือถึงความดับไป ปัญญาที่ถึงความดับไปแล้ว ย่อมไม่เกิดอีก เมื่อปัจจัยแห่งปัญญาถึงพร้อมอีก ปัญญาอื่นย่อมเกิดขึ้น (เป็นอุปนิสสยปัจจัย – ณัฏฐ) เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความดับไปอย่างนั้นนั่นแหละอีก เพราะเหตุที่เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เมื่อยังไม่มีปัจจัยก็ยังไม่เกิดขึ้น อย่างนี้นั่นเอง พระเถระจึงกล่าวว่า ปัญญาหาได้อยู่ประจำ ณ ที่ไหนไม่ ดังนี้ (ได้ปัจจัย – ปัญญาก็เกิด ณัฏฐ). จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาที่ ๙ สังสารปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สิ่งที่ท่านเรียกว่า สังสารวัฏ นี้ใด สังสารวัฏนั้นเป็นไฉน ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร บุคคลเกิดในโลกนี้แล้วก็ตายในโลกนี้นั่นแหละ ครั้นตายในโลกนี้แล้ว ก็เกิดขึ้นในโลกอื่น เกิดในโลกนั้นแล้ว ก็ตายในโลกนั้นนั่นแหละ ครั้นตายในโลกนั้นแล้ว ก็เกิดขึ้นในโลกอื่นอีก ขอถวายพระพร สังสารวัฏเป็นอย่างนี้แล. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่งเคี้ยวกินผลมะม่วงสุก แล้วเพาะเมล็ดมะม่วงนั้นไว้ ต่อจากเมล็ดมะม่วงที่เพาะไว้นั้น พึงบังเกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่แล้วให้ผล ลำดับนั้นบุรุษผู้นั้นก็จะพึงเคี้ยวกินผลม่วงสุข แม้จากต้นมะม่วงต้นที่ ๒ นั้น แล้วก็เพาะเมล็ดมะม่วงไว้ แม้ต่อจากเมล็ดมะม่วงที่เพาะไว้นั้น เพิ่งบังเกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่แล้วให้ผล เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นแรกสุดแห่งบรรดาต้นมะม่วงเหล่านั้น ก็ย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลเกิดในโลกนี้แล้วก็ตายในโลกนี้นั่นแหละ ครั้นตายในโลกนี้แล้ว ก็เกิดขึ้นในโลกอื่น เกิดขึ้นในโลกนั้นแล้วก็ตายในโลกนั้นนั่นแหละ ครั้นตายในโลกนั้นแล้ว ก็เกิดขึ้นในโลกอื่นอีก ฉันนั้น ขอถวายพระพร สังสารวัฏย่อมมีตามประการดังกล่าวมานี้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบสังสารปัญหาที่ ๙
คำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาเกี่ยวกับสังสารวัฏ ชื่อว่า สังสารปัญหา เพิ่งทราบถึงการเปรียบเทียบความในอุปมาและอุปไมยดังต่อไปนี้. ปัจจัยแห่งความเกิด คือกิเลสและกรรม ที่สั่งสมไว้ในชาติก่อนๆ เปรียบเหมือนเมล็ดมะม่วงจากมะม่วงต้นก่อนๆ ที่บุรุษผู้นั้นเพาะไว้ นามรูปที่สมมุติว่า สัตว์บุคคลที่เกิดขึ้นในชาติต่อๆ ไป เพราะกิเลสและกรรมที่ได้สั่งสมไว้ในชาติก่อนๆ นั้น เปรียบเหมือนต้นมะม่วงต้นใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะเมล็ดมะม่วงแห่งต้นมะม่วงต้นก่อนๆ ที่บุรุษผู้นั้นเพาะไว้ สุขและทุกข์ที่สัตว์พึงเสวยในชาตินั้นๆ เปรียบเหมือนผลมะม่วงสุกที่บุรุษพึงเคี้ยวกิน ฉะนี้แล. คำว่า ต้นแรกสุดย่อมไม่ปรากฏ ความว่า ต้นแรกสุดใครๆ ไม่อาจรู้ได้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาที่ ๑๐ จิรกตสรณปัญหา
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลย่อมระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ที่ได้ทำไว้นานแล้ว ได้ด้วยอะไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เขาย่อมระลึกได้ด้วยสติ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เขาย่อมระลึกได้ด้วยจิตไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ด้วยสติหรอก. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ก็ทรงทราบดีไม่ใช่หรือว่า พระกรณียกิจบางอย่างที่พระองค์ทรงทำแล้วหลงลืมไป (ระลึกไม่ได้) ก็มีอยู่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ข้าพเจ้าทราบดี พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็ในสมัยนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่มีจิตหรือไร. พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้พระคุณเจ้า ในสมัยนั้นไม่มีสติต่างหาก. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไรพระองค์จึงตรัสอย่างนี้ว่า เขาย่อมระลึกได้ด้วยจิต ไม่ใช่ด้วยสติหรอก ดังนี้เล่า. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบจิรกตสรณปัญหาที่ ๑๐
คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐
ปัญหาเกี่ยวกับการระลึกถึงกิจที่ได้ทำไว้นานแล้วชื่อว่า จิรกตสรณปัญหา. ธรรมที่เป็นความระลึกได้ หรือเป็นเหตุให้สัตว์ระลึกได้ชื่อว่า สติ สติเป็นธรรมที่เกิดในจิต ย่อมมีเมื่อมีจิตก็จริง แต่ในเวลาใดมีจิต เวลานั้นจะมีสติเกิดขึ้นด้วยแน่นอนหาไม่ได้ จิตมีอยู่เป็นประจำแก่สัตว์ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ แต่สติหาได้มีอยู่เป็นประจำตลอดเวลาเช่นนั้นไม่ ในเวลาที่บุคคลระลึกได้ในเวลานั้นกล่าวได้ว่ามีสติเกิดขึ้น ในเวลาใดระลึกไม่ได้ ทั้งๆที่มีจิต ในเวลานั้นกล่าวได้ว่าไม่มีสติเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า บุคคลย่อมระลึกได้ด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยจิต. คำว่า หลงลืมไป คือหลงลืมสติไป ความว่า ระลึกไม่ได้ เพราะไม่มีสติเกิดขึ้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐
ปัญหาที่ ๑๑ อภิชานันตสติปัญหา (สติประกอบด้วยปัญญา – ณัฏฐ)
พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สติพอเกิดขึ้นมาก็รู้ทันทีทั้งนั้นหรือ หรือว่ามีแต่สติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว เท่านั้น ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติแม้ที่รู้ทันที ก็มี แม้ที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ก็มี. พระเจ้ามิลินท์, เป็นอย่างนี้ต่างหาก พระคุณเจ้านาคเสน สติล้วนมีแต่ที่รู้ทันที สติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้วไม่มีหรอก. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าสติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ไม่มีไซร้ พวกศึกษางานศิลปะทั้งหลายก็ไม่มีกิจอะไรๆ ที่ควรทำ โดยเป็นการงานที่ควรทำ โดยเป็นศิลปะที่ควรทำ หรือ โดยเป็นฐานะแห่งวิชชา ทั้งพวกอาจารย์ทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นคนไร้ประโยชน์ ขอถวายพระพร แต่เพราะเหตุที่สติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงมีกิจที่ควรทํา โดยเป็นการงานที่ควรทำ โดยเป็นศิลปะที่ควรทำ หรือโดยเป็นฐานะแห่งวิชชา และประโยชน์ด้วยอาจารย์ทั้งหลายก็มีอยู่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบอภิชานันตสติปัญหาที่ ๑๑
คำอธิบายปัญหาที่ ๑๑
คำว่า สติพอเกิดขึ้นมาก็รู้ทันที ความว่า สติทันทีที่เกิดขึ้นมา ก็ประกอบพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นความรู้. คําว่า สติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ความว่า สติพอเกิดขึ้นมาก็ยังไม่อาจรู้ได้ทันที คือ ยังไม่ประกอบพร้อมด้วยปัญญา แต่พอได้ทำเกี่ยวกับการศึกษาในการงานนั้นๆ ตามที่ผู้อื่นได้ทำไว้เป็นตัวอย่าง หรือ ตามที่อาจารย์สอน ก็เป็นเหตุให้เกิดปัญญาได้ในภายหลัง คือเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัญญาในภายหลัง. คำว่า ถ้าหากสติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ไม่มีไซร้ ฯลฯ พวกอาจารย์ทั้งหลายก็ย่อมเป็นคนไร้ประโยชน์ ความว่า ถ้าหากสติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ไม่มีไซร้เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจเกี่ยวกับการศึกษาในงานศิลปะทั้งหลายก็ย่อมไม่มี คือไม่อาจปรารภได้ เพราะการกระทำกิจเหล่านั้นได้จำต้องอาศัยความเป็นผู้มีสติ แต่ในเวลานั้นไม่อาจทำสติให้เกิดได้ เพราะสตรีล้วนแต่ว่าจะต้องเกิดร่วมกับปัญญา ถึงเวลานั้นยังไม่มีโอกาสของปัญญา เพราะยังศึกษาอยู่ ยังไม่จบการศึกษา และเพราะเหตุนั้นนั่นแหละ อาจารย์ทั้งหลายก็ย่อมเป็นผู้ไร้ประโยชน์ กล่าวคือ ไม่อาจสอนให้ผู้อื่นทำกิจเกี่ยวกับการศึกษาได้ เพราะสติของคนเหล่านั้นไม่เกิด
ก็แต่ว่า ตามความเป็นจริง พวกศึกษางานศิลปะทั้งหลาย แม้ยังไม่มีปัญญา ยังไม่มีความรอบรู้ในงานศิลปะนั้นๆ ก็ยอมทำกิจเกี่ยวกับการศึกษาของตนได้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าสามารถทำสติให้เกิดได้ เพราะเหตุนั้น สติที่ไม่ประกอบพร้อมด้วยปัญญา อันเป็นสติที่เป็นเหตุให้เกิดปัญญาในภายหลังที่ได้ทำกิจเกี่ยวกับการศึกษาสมบูรณ์แล้ว ก็มีอยู่ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ประโยชน์ด้วยอาจารย์ทั้งหลาย ย่อมมี เพราะเหตุที่ความจริงเป็นอย่างนี้ พระเถระจึงกล่าวถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร แต่เพราะเหตุที่สติที่เป็นเหตุให้รู้ภายหลังทำไปแล้ว ก็มีอยู่ ดังนี้เป็นต้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๑. จบสติวรรคที่ ๖. ในวรรคนี้ มี ๑๑ ปัญหา. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๓
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: