วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๒)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๒) ปัญหาที่ ๑ พุทธัสสะ อัตถินัตถิภาวปัญหา 

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ท่านเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือ ? พระนาคเสน, อาตมภาพไม่เคยเห็นหรอก มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ทั้งหลายของท่านเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือไร?พระนาคเสน, อาจารย์ทั้งหลายของอาตมาภาพก็ไม่เคยเห็นหรอก มหาบพิตร.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าก็ไม่มีจริง. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอูหานที ที่ภูเขาหิมพานต์หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ไม่เคยเห็นหรอกพระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ถ้าอย่างนั้น พระชนกของพระองค์ เคยทรงทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอูหานทีหรือ ? พระเจ้ามิลิน, ก็ไม่เคยทรงทอดพระเนตรเห็นหรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นแม่น้ำอูหานที ก็ไม่มีจริง

พระเจ้ามิลินท์, มีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแม่น้ำอูหานที แม้บิดาของข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแม่น้ำอูหานทีก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น แม่น้ำอูหานที ก็มีจริง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรอุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาตมาภาพไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาค แม้อาจารย์ทั้งหลายของอาตมาภาพก็ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาค ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาค ก็มีจริง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบพุทธัสสะ อัตถินัตถิภาวปัญหาที่ ๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑ ในพุทธวรรคนี้มี ๑๐ ปัญหา

ปัญหาที่มีการถามถึงความมีหรือไม่มีแห่งพระพุทธเจ้าชื่อว่า พุทธัสสะ อัตถินัตถิภาวปัญหา คำว่าแม่น้ำอูหานที ได้แก่แม่น้ำที่ไหลแยกออกจากสระอโนดาตบนภูเขาหิมพานต์ ซึ่งได้ชื่อว่า “อูหา” เพราะไหลไปก็ส่งเสียงดังว่า “อูหา, อูหา” ความจริงก็เป็นชื่อของแม่น้ำคงคาที่ไหลมาจากสระอโนดาต ตรงส่วนที่เป็นวังน้ำวนนั่นเอง.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ พุทธัสสะ อนุตตรภาวปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้จริงหรือ ?  พระนาคเสน, ถูกต้องมหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้จริง. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านก็ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้หาใครยิ่งกว่ามิได้ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ผู้คนที่ไม่เคยเห็นมหาสมุทร จะทราบได้หรือไม่ว่า มหาสมุทรกว้างใหญ่ ลึก หาประมาณมิได้ หยั่งถึงได้ยาก เป็นที่แม่น้ำใหญ่ ๕ สายเหล่านี้ ไหลมาบรรจบเป็นประจำสม่ำเสมอ คือแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี มหาสมุทรนั้น ไม่ปรากฏว่าพร่องไปหรือเต็มล้นฝั่งเลย ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ทราบได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาตมาภาพได้พบเห็นพระอรหันต์สาวกทั้งหลายผู้ดับรอบแล้ว ก็ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลที่หาใครยิ่งกว่ามิได้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าหน้าเกษมท่านตอบสมควรแล้ว.  จบพุทธัสสะ อนุตตรภาวปัญหาที่ ๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้แห่งพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พุทธัสสะ อนุตตรภาวปัญหา. คำว่า อนุตฺตโร – ผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้ คือ ผู้ที่หาใครยิ่งกว่าคือวิเศษกว่าด้วยคุณทั้งหลายมิได้.  คำว่า อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความว่า เปรียบเหมือนว่า ผู้ที่ไม่เคยเห็นมหาสมุทร คือไม่เคยไปในมหาสมุทร เห็นแม่น้ำใหญ่ ๕ สายที่ไหลไปบรรจบกันที่มหาสมุทรเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมทราบว่ามหาสมุทรกว้างใหญ่ ฉันใด อาตมาภาพได้พบเห็นพระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดีผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค ผู้มีกิเลสทั้งหลายดับรอบเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงเป็นนายสารถีฝึกบุรุษผู้ที่อาจฝึกได้หาใครยิ่งกว่ามิได้ฉันนั้นเหมือนกัน.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ พุทธัสสะ อนุตตรภาวชานนปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน เราอาจทราบได้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้ ? พระนาคเสน, ใช่ ขอถวายพระพร เราอาจทราบได้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เราอาจทราบได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก่อนหน้านี้ก็เคยมีพระอาจารย์นักเขียนชื่อว่าพระติสสเถระ เมื่อท่านมรณภาพล่วงไปแล้วหลายปี คนทั้งหลายยังรู้จักกันได้อย่างไร ? พระเจ้ามิลินท์, คนทั้งหลายยังรู้จักท่านโดยงานเขียน.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรอุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดเห็นพระธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นพระผู้มีพระภาค (เห็นอริยสัจธรรม โลกุตรธรรม – ณัฏฐ) เพราะว่าพระธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบอนุตตรภาวชานนปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับความรู้ถึงความเป็นผู้ที่หาใครยิ่งกว่ามิได้แห่งพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พุทธัสสะ อนุตตรภาวชานนปัญหา.  คำว่า อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ความว่า เปรียบเหมือนว่าคนทั้งหลายรู้จักท่านพระติสสเถระผู้เป็นอาจารย์นักเขียน ซึ่งมรณภาพไปแล้วหลายปี โดยงานเขียนคือโดยการพบเห็นงานเขียนของท่าน ฉันใด พวกเราก็ย่อมเห็นคือย่อมรู้จักพระผู้มีพระภาคโดยพระธรรม คือโดยการเห็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงแสดงไว้ ฉันใด.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ ธัมมทิฏฐปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่าพระคุณเจ้านาคเสนท่านได้เห็นพระธรรมแล้วหรือ ? (เจาะลึกถึงตัวท่านนาคเสน – ณัฏฐ) พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พวกสาวกควรประพฤติธรรมตลอดชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบธัมมทิฏฐปัญหาที่ ๔.  คำอธิบายปัญหาที่ ๔.  ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ได้เห็นแล้ว ชื่อว่า ธัมมทิฏฐปัญหา.  คำว่า เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้เป็นต้น คือ เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาจักษุ แม้ทุกพระองค์ ทรงแนะนำไว้ คือทรงแสดงไว้ และทรงบัญญัติไว้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.  ปัญหาที่ ๕ อสังกมนปฏิสันทหนปัญหา.  พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน จิตไม่เคลื่อนไปด้วย ก็ปฏิสนธิได้ด้วยหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ถูกต้องแล้ว จิตไม่เคลื่อนไปด้วยก็ปฏิสนธิได้ด้วย.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน จิตไม่เคลื่อนไปด้วย ก็ปฏิสนธิได้ด้วย อย่างไร ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร บุรุษบางคนถึงจุดไฟตะเกียง (ใหม่) ขึ้นจากไฟตะเกียง (เก่า), ไฟตะเกียง (ใหม่) เป็นไฟที่เคลื่อนจากตะเกียง (เก่า) ไปหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตไม่เคลื่อนไปด้วย ก็ปฏิสนธิได้.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน ขอถวายพระพร เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเป็นพระราชกุมาร พระองค์ยังทรงจำได้หรือไม่ ว่า ทรงได้รับเกียรติคุณบางอย่างในสำนักของอาจารย์ผู้มีเกียรติคุณ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังจำได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เกียรติคุณที่พระองค์ทรงได้รับนั้น เคลื่อนไปจากตัวพระอาจารย์หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรอุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตไม่เคลื่อนไปด้วย ก็ปฏิสนธิได้ด้วย.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบอสังกมนปฏิสันทหนปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาว่าด้วยการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ ชื่อว่า อสังกมนปฏิสันทหนปัญหา.  คำว่า จิตไม่เคลื่อนไปด้วย ก็ปฏิสนธิได้ด้วยหรือความว่า พระราชารับสั่งถามว่า จิตปฏิสนธิเกิดในภพใหม่ได้ โดยที่ไม่มีการเคลื่อนไปจากภพเก่าหรือ.  ในคำนั้น จิตดวงก่อนหน้าอันเป็นจิตดวงสุดท้ายของภพก่อน ชื่อว่าจุติ (เคลื่อน) จิตดวงหลังอันเป็นจิตดวงแรกของภพนี้ ชื่อว่า ปฏิสนธิ จิตดวงก่อนหน้า ทำหน้าที่จุติคือเครื่องจากภพแล้วก็แตกดับไปในขณะนั้นนั่นแหละ หาเคลื่อนไปในภพถัดไปได้ไม่ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ไม่มีจิตอะไรๆ เคลื่อนจากภพเก่าสู่ภพนี้ ก็ที่ได้ชื่อว่า จุติจิต แปลว่า จิต เคลื่อนก็เพราะว่ามีกิจหรือหน้าที่ ที่เป็นเหมือนการเคลื่อนจากภพเท่านั้น โดยเกี่ยวกับว่า พอดับไปก็เป็นเหตุให้พบใหม่ ไม่ใช่เคลื่อนไปได้จริงๆ อนึ่ง เพราะจิตดวงก่อนนี้ดับไปแล้ว จิตดวงหลังก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ปฏิสนธิ คือทำหน้าที่เหมือนกับว่าเชื่อมภพใหม่เข้ากับพบเก่า ทำให้มีภพใหม่ต่อไปอีก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็กล่าวได้ว่า จิตดวงนี้ไม่ใช่จิตที่เคลื่อนมาจากภพก่อน ก็เป็นอันว่าจิตดวงก่อนกับจิตดวงหลังเป็นจิตคนละดวงกัน ไม่ปะปนกัน แต่ว่าเป็นไปเกี่ยวข้องกันโดยเป็นเหตุและผลการตามหลักการดังกล่าวมานี้ ฉะนี้ แล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาที่ ๖ เวทคูปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน เวทคูมีอยู่จริงหรือ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ว่าโดยปรมัตถ์ เวทคูมีอยู่จริงไม่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบเวทคูปัญหาที่ ๖

ปัญหาที่มีการถามถึงเวทคู คือตัวอัตชีวะภายใน หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้คอยรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ชื่อว่า เวทคูปัญหา. คำว่า โดยปรมัตถ์ คือ ว่าตามความจริงโดยปรมัตถ์อันเพิกแล้วจะสัตว์บุคคล ความว่า ว่าตามความจริงโดยปรมัตถ์ อัตตาชีวะ หรือบุคคล ไม่มีอยู่จริงหรอก

ปัญหาที่ ๗ อัญญกายสังกมนปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สัตว์อะไรๆ ผู้เคลื่อนจากกายนี้ไปสู่กายอื่นมีอยู่หรือ ? พระนาคเสน, ไม่มีหรอก ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าสัตว์ผู้เคลื่อนจากกายนี้สู่กายอื่นไม่มีไซร้ ก็จะเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้ ไม่ใช่หรือ ?  พระนาคเสน, ใช่แล้ว ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าเขาไม่ปฏิเสธ เขาก็จะเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้ ขอถวายพระพร แต่เพราะเหตุที่เขายังปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นก็หาเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้ไม่. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนขโมยมะม่วงของบุรุษอีกคนหนึ่งไป บุรุษผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ต้องโทษมิใช่หรือ.  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้าเขาจะต้องเป็นผู้รับโทษ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นมิได้ขโมยมะม่วงที่บุรุษผู้เป็นเจ้าของนั้นปลูกไว้ เพราะเหตุใดเขาจึงต้องเป็นผู้ต้องโทษเล่า ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า มะม่วง (ที่ถูกขโมย) เหล่านั้น อาศัยมะม่วง (ที่บุรุษผู้เป็นเจ้าของปลูกไว้) เหล่านั้นจึงเกิดได้ เพราะฉะนั้น เขาต้องเป็นผู้ต้องโทษ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง ด้วยนามรูปนี้, นามรูปอื่นจึงปฏิสนธิเพราะกรรมนั้น เพราะฉะนั้น จึงหาเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้ไม่.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบอัญญกายสังกมนปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่มีการถามถึงการเคลื่อนจากกายนี้สู่กายอื่นชื่อว่า อัญญกายสังกมนปัญหา.  คำว่า กายนี้ ได้แก่ กายคือนามรูปนี้ในภพปัจจุบันนี้ คำว่า กายอื่น ได้แก่กายคือนามรูปอื่น ในภพอื่น ในอุปมาและอุปไมยมีนัยเปรียบเทียบกันดังต่อไปนี้.  มะม่วงที่ถูกขโมย อาศัยมะม่วงที่ผู้เป็นเจ้าของปลูกไว้จึงเกิดได้ เพราะฉะนั้น บุรุษผู้ขโมยมะม่วงอื่นจากมะม่วงที่เจ้าของปลูกไว้นั้น จึงไม่อาจพ้นจากความเป็นผู้ต้องโทษ ฉันใด นามรูปอื่นอาศัยกรรมดีหรือชั่วที่ได้ทำไว้ด้วยนามรูปนี้ จึงปฏิสนธิได้เพราะฉะนั้น สัตว์ผู้ที่ทำกรรมชั่วไว้นั้น แม้เป็นไปเนื่องกับนามรูปอื่นจากนามรูปนี้แล้ว ก็ไม่ชื่อว่าพ้นจากกรรมชั่วนั้น ฉันนั้น.  คำที่เหลือก็พึงทราบตามนัยที่ได้กล่าวแล้วในปัญหาก่อนๆ เถิด.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่ ๘ กัมมผลอัตถิภาวปัญหา (บุญบาปที่ทำนั้นอยู่ตรงไหน ?)

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน กุศลกรรมก็ตาม อกุศลกรรมก็ตาม ที่สัตว์ได้ทำไว้ด้วยนามรูปนี้ กรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ไหน ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร กรรมเหล่านั้นพึงตามติดพันไปเหมือนเงาที่ติดตามตัวไป ฉะนั้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านอาจแสดงกรรมนั้นได้หรือไม่ ว่า กรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ตรงนี้ หรือว่าที่ตรงนี้ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใครๆ ไม่อาจแสดงกรรมเหล่านั้นได้ว่า กรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ตรงนี้ หรือว่าที่ตรงนี้.   พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ต้นไม้ที่ยังไม่มีผลบังเกิด พระองค์ทรงสามารถแสดงผลไม้เหล่านั้นได้หรือไม่ว่า ผลเหล่านั้นจะตั้งอยู่ (จะบังเกิด) ที่ตรงนี้ หรือว่าที่ตรงนี้. พระราชา, ไม่สามารถแสดงได้หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อความสืบต่อ (แห่งนามรูป) ยังไม่ขาดสาย ใครๆ ก็ไม่อาจแสดงกรรมเหล่านั้นได้ว่า กรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ตรงนี้ หรือว่าที่ตรงนี้ (สังสารวัฏ – ณัฏฐ). พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบกัมมผลอัตถิภาวปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับภาวะที่กรรมมีผล ชื่อว่า กัมมผลอัตถิภาวปัญหา.  คำว่า กรรมเหล่านั้นพึงตามติดพันไปเหมือนเงาที่ติดตามตัวไปฉะนั้น ดังนี้ เป็นการณโวหาร (คำพูดถึงเหตุคือกรรม) (คำพูดที่ใกล้เหตุ = กับผลที่ใกล้เหตุ – ณัฏฐ) พึงทราบความหมายอย่างนี้กรรมนั้น พึงตามติดพันไปเหมือนเงาที่ติดตามตัวไป เป็นคำที่ท่านกล่าวไว้เสมอเหมือนกันทั้งกุศลกรรม ทั้งอกุศลกรรม หรือเป็นสาธารณะ แต่ในธรรมบท ตรัสไว้สำหรับอกุศลกรรม ว่า :- 

“ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ.” (ขุ. ธ. ๒๕/๑๕) “เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น ทุกข์จึงติดตามเขาไปเหมือนอย่างล้อเกวียนที่หมุนติดตามรอยเท้าโค (ผู้ลากเกวียน) ไปฉันฉะนั้น” ตรัสไว้สำหรับกุศลกรรมว่า

“ตโต นํ สุขมนฺเวติ ฉายาวอนุปายินี.” (ขุ. ธ. ๒๕/๑๕) “เพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น สุขจึงติดตามเขาไปเหมือนอย่างเงาที่ติดตามตัวไปฉะนั้น”

ในพระดํารัสนี้ มีความหมายว่า เพราะทุจริต ๓ อย่างอันเป็นอกุศลกรรมที่เขาได้ก่อไว้นั้น ทุกข์คือนามรูปอันเป็นที่ประชุมแห่งทุกข์ หรือนามรูปที่บ้านเกิดในทุคติ อันเป็นผลของอกุศลกรรมนั้น ย่อมติดตามเขาไป คือจะติดตามไปบังเกิดแก่เขาในกาลทั้ง ๓ เหมือนอย่างอะไร ? เหมือนอย่างล้อเกวียนที่ติดตามรอยเท้าโค ผู้ชักลากเกวียนไปข้างหน้า ฉะนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่าง อันเป็นกุศลกรรมนั้น สุขคือนามรูปอันเป็นที่ประชุมแห่งสุข หรือนามรูปที่บังเกิดในสุคติ อันเป็นผลของกุศลกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป คือจะติดตามไปบังเกิดแก่เขาในกาลทั้ง ๓ เหมือนอะไร ? เหมือนเงาที่ติดตามตัวไปฉะนั้น ก็คำว่า “เหมือนอย่างล้อเกวียนติดตามรอยเท้าโค” ก็ดี คำว่า “เหมือนอย่างเงาที่ติดตามตัวไป” ก็ดี ว่าโดยอรรถก็เป็นอันเดียวกัน เพราะเหตุนั้น ในที่นี้ คำอุปมาที่ว่า “เหมือนเงาที่ติดตามตัวไปฉะนั้น” พระเถระจึงกล่าวไว้เป็นสาธารณะแก่ ทั้งกุศลกรรม ทั้งอกุศลกรรม.  เปรียบเหมือนว่า เมื่อร่างกายเดินไป เงาซึ่งเป็นของเนื่องอยู่กับร่างกายนี้ ก็ย่อมเดินไปด้วย เมื่อยืนก็ยืนด้วย เมื่อนั่งก็นั่งด้วย เมื่อนอนก็นอนด้วย เงา จึงชื่อว่าติดตามบุคคลนั้นไป ฉันใด เมื่อได้ทำกุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี นามรูปอันเป็นผลของกรรมเหล่านั้น ก็ย่อมติดตามบังเกิดในกาลทั้ง ๓ ตามโอกาสของกรรมนั้นๆ กรรมอันเป็นเหตุของนามรูปนั้นจึงชื่อว่า ติดตามบุคคลนั้นไป ฉันนั้น เพราะเหตุนั้นนั่นแหละใครๆ จึงไม่อาจแสดงได้ว่า กรรมที่จะทำนามรูปให้บังเกิดนั้น ตั้งอยู่ที่ตรงนี้ หรือว่าตรงนี้ ดังนี้ได้ (กรรมดับไปแล้วแต่พินัยกรรมยังมีอยู่ – ณัฏฐ).  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙ อุปปัชชติชานนปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สัตว์ผู้จะเกิด ย่อมรู้ได้หรือว่า เราจะเกิด ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ใช่ สัตว์ผู้จะเกิดย่อมรู้ได้ว่า เราจะเกิด. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร คฤหบดีชาวนาฝังเมล็ดข้าวไว้ที่พื้นดิน เมื่อมีฝนตกดี ย่อมรู้หรือไม่ว่า ธัญญชาติจะบังเกิด ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้านาคเสน เขาย่อมรู้ได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้จะเกิด ย่อมรู้ได้ว่าเราจะเกิด. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบอุปปัชชติชานนปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาเกี่ยวกับความรู้ว่าจะเกิดแห่งสัตว์ผู้จะเกิด ชื่อว่า อุปปัชชติชานนปัญหา.  คฤหบดีชาวนาฝังเมล็ดข้าวไว้ที่พื้นดิน เมื่อฝนตกดีย่อมรู้ได้ว่า ธัญญชาติจะบังเกิด ฉันใด พ่อค้า แม้ว่าเป็นคนยากจน เมื่อกองทรัพย์เพิ่มมากขึ้นด้วยเรื่อยๆ เพราะการค้าของตน ก็ย่อมรู้ว่า เราจะได้เป็นเศรษฐี ฉันใด ข้าราชบริพารที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงไว้ด้วยค่าจ้างเพียงเล็กน้อย แม้ว่ามียศศักดิ์น้อย เมื่อได้ทำความดีพิเศษต่อพระราชามีการจับผู้ที่คิดร้ายต่อพระราชาได้เป็นต้น ก็ย่อมรู้ได้ว่าเราจะได้เป็นอำมาตย์ ฉันใด บุคคลผู้มี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม เมื่อได้สดับธรรมของพระตถาคต รู้ว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม เป็นเหตุนำมาซึ่งความเกิด ดังนี้แล้ว ก็ย่อมรู้ว่า เราจะเกิดอีกฉันนั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่ ๑๐ พุทธนิทัสสนปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระผู้มีพระภาคมีจริง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ก็แต่ว่า ท่านอาจแสดงได้หรือไม่ ว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สถานที่นี้ หรือว่า ณ สถานที่นี้ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค ทรงปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ใครๆ ไม่อาจแสดงได้ว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สถานที่นี้ หรือว่า ณ สถานที่นี้. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร เปรวไฟแห่งกองไฟใหญ่ที่ลุกโพลง ถึงความดับไปแล้ว พระองค์อาจแสดงได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่ ณ สถานที่นี้ หรือว่า ณ สถานที่นี้.  พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจแสดงได้หรอก พระคุณเจ้า เปลวไฟที่ดับไปแล้วนั้น ถึงความไม่ปรากฏแล้ว.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานแล้ว ทรงถึงความดับแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ใครๆ จึงไม่อาจแสดงได้ว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สถานที่นี้ หรือว่า ณ สถานที่นี้ ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า บุคคลอาจแสดงพระผู้มีพระภาค (ว่ามีอยู่จริง) ได้ด้วยพระธรรมกาย เพราะว่าพระธรรมพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ (ปริยัติธรรม – ณัฏฐ) พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบพุทธนิทัสสนปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่มีการแสดงว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ชื่อว่าพุทธนิทัสสนปัญหา.  คำว่า “ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าบุคคลอาจแสดงพระผู้มีพระภาค (ว่ามีอยู่จริง) ได้ด้วยพระธรรมกาย เพราะว่าพระธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้” ดังนี้ นี้ พระเถระกล่าวหมายเอาพระสูตรที่ว่า :-

“สิยา โข  ปนานนฺท  ตุมฺหากํ  เอวมสฺส  อตีตสตฺถุกํ ปาวจนํ,  นตฺถิ โน  สตฺถาติ  น  โข  ปเนตํ  อานนฺท  เอวํ  ทฏฺฐพฺพํ, โย โว อานนฺท  มยา  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  เทสิโต  ปญฺญตฺโต,  โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา” (ที. มหา. ๑๐/๑๗๙)

“นี่แน่ะ อานนท์ พวกเธออาจจะมีความคิดอย่างนี้ว่า พระดํารัสที่เป็นประธานของพระศาสดาก็ล่วงไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดาเสียแล้ว ดังนี้ นี่แน่ะ อานนท์ พวกเธอไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ นี่แน่ะ อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ใด, ธรรมและวินัยนั้น ย่อมเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราได้ล่วงลับไปแล้ว” ดังนี้ 

ก็ธรรมและวินัยที่ตรัสถึงนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า พระธรรม ในคำว่า ธรรมกาย นี้ พระธรรมนี้ แตกเป็น ๓ อย่าง คือ ส่วนที่ทรงเรียกว่าวินัย ก็เรียกว่าวินัยนั่นแหละ ส่วนที่ทรงเรียกว่าธรรม แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ สูตรและอภิธรรม กายคือหมู่ หรือกองรวมแห่งธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ เรียกว่า ธรรมกาย บุคคลย่อมรู้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริง เพราะได้เห็น คือได้รู้ธรรมกายที่ทรงแสดงไว้นี้.  อีกอย่างหนึ่ง พระโลกุตตรสัทธรรม ๙ อย่าง คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็น ๑๐ พร้อมทั้งพระปริยัติ ชื่อว่า พระธรรม พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า พระธรรมกาย เพราะทรงมีพระธรรมเป็นพระสรีระกาย ผู้ใดเห็นพระธรรมเหล่านี้ด้วยปัญญา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระสรีระกายของพระองค์ย่อมทราบว่าพระองค์มีจริง สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า :- 

“โย หิ ปสฺสติ สทฺธมฺมํ โส มํ ปสฺสติ ปณฺฑิโต” (ขุ. อป. ๓๓/๑๙๔) “ผู้ใดเห็นพระสัทธรรม (ธรรมของสัตบุรุษมี ๑๐ อย่าง มีมรรค ๔ เป็นต้นเหล่านั้น นั่นแหละ) ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตย่อมเห็นเรา” ดังนี้  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐.  จบพุทธวรรคที่ ๕ ในวรรคนี้ มี ๑๐ ปัญหา. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๒

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: