จะเห็นธรรม รู้ธรรม อย่างแจ่มแจ้ง ต้องศึกษาจากข้างในจิตใจและร่างกายนี้
…. “พูดมาแล้วหลายสิบครั้งแล้วว่า เรียนจากข้างใน ดูจากข้างใน ไม่ใช่ว่าจากสมุดจากหนังสือ จากตำรา จากพระไตรปิฎก มันเป็นแต่เพียงเล่าเรื่องไว้ให้ฟังสำหรับเราจะศึกษา แล้วเอาไปเรียนจากข้างใน พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้นน่ะ เป็นคำบรรยาย คือบันทึกของไอ้สิ่งเหล่านี้ แต่มันจะบอกให้เห็นชัดหรือรู้สึกด้วยจิตใจไม่ได้ เราต้องเอาเรื่องนั้นน่ะ ศึกษาเข้าใจดีแล้วก็ไปใช้เป็นเครื่องมือเรียนจากข้างใน ดูจากข้างใน ศึกษาจากข้างใน ในจิต ในชีวิต จึงจะพบไอ้ตัวจริง โอ้..มันอยู่อย่างนี้ ความทุกข์อยู่อย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์อยู่อย่างนี้ วิธีดับก็คืออย่างนั้นๆ
…. ฉะนั้น อย่าลืมเสีย ที่ว่าจะต้องเรียนจากข้างใน พูดได้เหมือนกันว่า “หนังสือเล่มข้างใน” อย่าอ่านแต่หนังสือเล่มข้างนอก ขอให้อ่านหนังสือเล่มข้างใน ที่มีอยู่ในจิตใจ ในหัวใจหนังสือนั้น เป็นหนังสือภายใน บรรจุไว้ทุกเรื่อง เช่นเดียวกับพระไตรปิฎกนั่น เป็นบันทึกของเรื่องเหล่านั้นไว้ แต่เรื่องตัวจริงอยู่ข้างใน
…. เพราะฉะนั้น เราจึงหาไม่พบในพระไตรปิฎก ไอ้ที่เป็นตัวจริง พบแต่บันทึกเรื่องนั้นๆ เล่าว่าอย่างนั้นๆ ทีนี้ พอเรามองเข้าไปข้างใน มันจะพบตัวจริงทั้งหมด เรื่องทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ก็ดี ไอ้ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ดี มันอยู่ในข้างใน ในร่างกายที่ยาวเพียงวาหนึ่งนี้ มีโลกทั้งหมดอยู่ในนั้น มีเหตุให้เกิดโลกทั้งหมดอยู่ในนั้น มีความดับสนิทแห่งโลกอยู่ในนั้น มีทางถึงความดับแห่งโลกอยู่ในนั้น นี้ฟังถูกไหม ที่ว่ามีโลกมีจักรวาล มีทั้งหมดอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง
…. เพราะว่า ไอ้เครื่องให้ “รู้โลก” น่ะ มันอยู่ในร่างกายนี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันอยู่ในร่างกายนี้ ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะทำให้โลกมีขึ้นมาได้ มีความหมายขึ้นมาได้ อย่างที่พูดแล้วว่า ถ้าเผอิญเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ มันก็จะมีอะไร มันก็ไม่มีอะไร เพราะมันรู้สึกไม่ได้ แต่เพราะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรู้สึกอะไรได้ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านั้นมันจึงมีขึ้นมา เพราะความรู้สึกของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
…. ดังนั้น จึงมีความถูกต้องที่จะพูดว่า โลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทแห่งโลก หรือ ทางถึงความดับแห่งโลก มีอยู่ในร่างกายนี้ ที่ยาวเพียงวาเดียวนี้ ที่ยังเป็นๆนะ ที่ยังไม่ตายนะ ทีนี้ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ทางถึงความดับทุกข์ ก็มีอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ที่ยังเป็นๆอยู่นี้ นี่เรียกว่าให้ดูข้างใน ให้มองเข้าไปข้างในแล้วก็จะพบตัวจริง
…. ในพระคัมภีร์ทั้งหลายมีแต่บันทึก บันทึกเรื่องราว คำบรรยายที่มีคนพูดบรรยายไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพระพุทธเจ้า เมื่อขึ้นไปถามพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องอะไร ท่านก็ตอบอย่างนั้นน่ะ แต่ตัวจริงของเรื่องอยู่ในใจ ในชีวิตของคน เดี๋ยวท่านตอบเป็นคำพูด เป็นเรื่องราวของสิ่งเหล่านั้น นี้ เราก็เก็บไว้เป็นบันทึก เป็นพระคัมภีร์เป็นบันทึกของเรื่องราวเหล่านั้น บันทึกของเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตจิตใจของคนแต่ละคน
…. อย่าลืม จะศึกษาธรรมะต้องศึกษาจากข้างใน ต้องมองเข้าไปดูจากข้างใน แล้วก็มีการตั้งต้นขึ้นมา อย่างไรเป็นความทุกข์ ได้พูดตั้งแต่การพูดครั้งแรกแล้วว่า ก ข ก กา ของธรรมะนั้นคืออย่างไร จะต้องรู้ “อายตนิกธรรม” ๕ หมวด หมวดละ ๖ อย่าง รวมเป็น ๓๐ อย่าง ทั้งหมดนั้นมันอยู่ในใจ อยู่ในชีวิต อยู่ในร่างกายนั่น
…. พอรู้เรื่องเหล่านั้น ก็เห็นสิ่งเหล่านั้น แล้วก็จัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้องตามวิธี แล้วความรู้สึกที่เป็นทุกข์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความดับแห่งทุกข์ก็อยู่ในร่างกายนี้ เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา มันก็ทำผิดในร่างกายนี้...ความดับทุกข์มันก็อยู่ในร่างกายนี้ และการปฏิบัติก็ปฏิบัติให้ถูกต้องในร่างกายนี้ ด้วยจิตใจนี้ เรื่องธรรมะนี้มันเป็นเรื่องของจิตใจเสียมากกว่า แม้ร่างกายจะพิการ แต่จิตใจไม่พิการ ก็รู้ธรรมะได้เท่ากัน”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “กาลเวลากับชีวิต” อบรมนักศึกษาวิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๗
หมายเหตุ / พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องนี้ ที่มีในพระไตรปิฎก ว่า …. “อนึ่ง เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจ นี้เอง.”
ทุติยโรหิตัสสสูตร, พระไตรปิฎกภาษาไทย, องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๖/๗๕
“อริยสัจ ๔” และ มหาวิทยาลัยของพุทธศาสนา มีอยู่ที่ไหน?
“ความทุกข์” นั้น ก็อยู่ในคน คนเป็นทุกข์. “เหตุให้เกิดทุกข์” อยู่ในคน ก็ได้แก่ ความโง่ของคน, ความอยากของคน, ความยึดมั่นของคน, ทีนี้ ภาวะที่จะดับทุกข์ ที่เป็นความดับทุกข์ ที่ไม่มีทุกข์นั้น ก็ต้องอยู่ที่ตัวความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ไหนต้องดับที่นั่น ฉะนั้น จึงอยู่ในคน และคนจะต้องปฏิบัติ. ฉะนั้น การปฏิบัติก็อยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กายวาจา ที่ใจของคน. เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ซึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ
…. ฉะนั้น เราจึงถือว่า ในร่างกายของคนเป็นๆนั้น คือ มหาวิทยาลัยของพุทธศาสนา..เรื่อง “อริยสัจ” เป็นเรื่องจริงหาที่อื่นไม่พบ นอกจากจะหาในคนที่เป็นๆ ถ้าไม่เคยฟังมาอย่างนี้ ก็จงฟังเดี๋ยวนี้ และก็พยายามคิดพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องที่เรียกว่า “อริยสัจ”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายหลักพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๑ หัวข้อ “พระธรรมกำมือเดียว” อบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา ณ ห้องประชุม ของกระทรวงยุติธรรม
พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
0 comments: