วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๕)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๕)  ชานันตาชานันตปาปกรณปัญหา,  ปัญหาที่ ๘ ชานันตาชานันตปาปกรณปัญหา

พระเถระถวายพระพร เฉลยว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ผู้ที่ไม่รู้อยู่ ทำกรรมชั่ว มีบาปมากกว่า.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ใดเป็นราชโอรส หรือเป็นราชมหาอำมาตย์ของข้าพเจ้า ไม่รู้อยู่ กระทำกรรมชั่ว ข้าพเจ้าก็ต้องให้ลงโทษผู้นั้นเป็น ๒ เท่าล่ะสิ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ก้อนเหล็กที่ถูกเผาจนร้อนโพลง คนหนึ่งรู้อยู่ พึงจับ คนหนึ่งไม่รู้อยู่ พึงจับ คนไหนพึงจับแน่นกว่า ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ที่ไม่รู้อยู่พึงจับแน่นกว่า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ไม่รู้อยู่ทำกรรมชั่ว ย่อมมีบาปมากกว่า.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบชานันตาชานันตปาปกรณปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับการทำกรรมชั่วแห่งผู้ที่รู้อยู่และผู้ที่ไม่รู้อยู่ ชื่อว่า ชานันตาชานันตปาปกรณปัญหา.  ในการจับก้อนเหล็กร้อนแห่งชน ๒ คน คนผู้ไม่รู้อยู่ว่า “นี้เป็นก้อนเหล็กร้อนจัด” ดังนี้ ก็จะจับแน่น ฝ่ามือของเขาย่อมไหม้พองไป ฉันใด คนผู้ไม่รู้อยู่ว่าการกระทำอย่างนี้เป็นปาณาติบาต เป็นกรรมชั่วมีผลเป็นทุกข์ ดังนี้ เป็นต้น ย่อมกระทำกรรมชั่วนั้นๆ ได้หนักแน่น คือเจตนาในอันกระทำมีกำลัง เพราะไม่มีความเกรงกลัวผลของบาป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมได้เสวยทุกข์อันเป็นผลของกรรมชั่วนั้น แสนสาหัสมีการหมกไหม้ในนรกเป็นต้น ฉันนั้น.  ส่วน คนผู้รู้อยู่ว่า “นี้เป็นก้อนเหล็กร้อนจัด” ดังนี้ แม้เมื่อจำต้องจับ ก็ย่อมจับโดยอาการบาง ไม่หนักแน่น เพราะกลัวฝ่ามือไหม้พอง ฝ่ามือของเขา แม้ร้อนก็ไม่ถึงกับไหม้พองฉันใด คนผู้รู้อยู่ว่า การกระทำอย่างนี้เป็นปาณาติบาต เป็นกรรมชั่ว มีผลเป็นทุกข์ ดังนี้เป็นต้น แม้เมื่อจำต้องทำกรรมชั่วนั้นๆ เพราะไม่อาจอดกลั้นกิเลสที่เกิดครอบงำจิตใจในเวลานั้นได้ ก็ย่อมกระทำอย่างเบาบางไม่หนักแน่นรุนแรง คือเจตนาในอันกระทำไม่มีกำลัง ด้วยจำใจทำเพราะกลัวผลของบาป เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ว่าจะต้องเสวยทุกข์อันเป็นผลของกรรมชั่วนั้น ก็ไม่สาหัสรุนแรง แม้ต้องตกนรกอบายภูมิเพราะกรรมชั่วที่ทำไว้นั้น ก็ชั่วระยะเวลาอันสั้น ไม่นานก็พ้นจากนรก ฉันนั้น ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙ อุตตรกุรุกาทิคมนปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลบางคนผู้ไปอุตตรกุรุทวีป หรือพรหมโลก หรือทวีปอื่นได้ด้วยสรีระนี้ (ร่างกายนี้) มีอยู่หรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร บุคคลผู้ที่ไปอุตตรกุรุทวีป หรือพรหมโลก หรือทวีปอื่น ด้วยกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ มีอยู่.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เขาไปอุตตรกุรุทวีป หรือพรหมโลก หรือทวีปอื่น ด้วยกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ ได้อย่างไร ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ทรงทราบไหมว่า พระองค์ก็ทรงกระโดดที่พื้นดินนี้สูงขึ้นไปคืบหนึ่งก็ได้ศอกหนึ่งก็ได้ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าทราบดี พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้ากระโดดได้สูงถึง ๘ ศอกทีเดียว.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์กระโดดสูงถึง ๘ ศอกได้อย่างไร ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าพอข้าพเจ้าเกิดความคิดว่าเราจะกระโดด ณ ที่นี้ ดังนี้ ร่างกายของข้าพเจ้าก็มีอันเบาไปทันทีพร้อมกับความคิดที่เกิดขึ้น. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุผู้มีฤทธิ์ผู้ได้เจโตวสี ได้ความเชี่ยวชาญในสมาธิจิต ย่อมยกกายเข้าไว้ในจิต แล้วไปสู่เวหาได้ด้วยอำนาจแห่งจิตแล. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.   จบอุตตรกุรุกาทิคมนปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาเกี่ยวกับการไปสู่อุตตรกุรุทวีปเป็นต้นชื่อว่า อุตตรกุรุกาทิคมนปัญหา.  คำว่า ย่อมยกกายเข้าไว้ในจิต คือ ทำสรีระกายให้คล้อยไปตามอำนาจจิตที่อธิษฐาน เพราะฉะนั้น กายจึงเป็นธรรมชาติที่เบา สามารถไปได้เร็วดังที่จิตประสงค์.  คำว่าด้วยอำนาจแห่งจิต คือด้วยอำนาจแห่งอภิญญาจิต.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่ ๑๐ ทีฆัฏฐิปัญหา (กระดูกยาว ณัฏฐ )

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันอย่างนี้ ว่า โครงกระดูกแม้ที่ยาวถึง ๑๐๐ โยชน์ก็มีอยู่ แม้แต่ต้นไม้ที่สูงถึง ๑๐๐ โยชน์ ก็ยังไม่มีเลย โครงกระดูกที่ยาวถึง ๑๐๐ โยชน์ จะมีได้แต่ไหนกันเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร พระองค์ได้ทรงสดับมาบ้างหรือไม่ว่า ในมหาสมุทร ปลาแม้ที่ยาวถึง ๕๐๐ โยชน์ก็มีอยู่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเคยได้ยิน.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ปลาที่มีลำตัวยาวถึง ๕๐๐ โยชน์ก็ยังมีได้โครงกระดูกแม้ที่ยาวเพียง ๑๐๐ โยชน์ ก็จะมีได้เหมือนกันไม่ใช่หรือ.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบทีฆัฏฐิปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่มีการถามถึง กระดูกที่ยาวชื่อว่า ทีฆัฏฐิปัญหา.  คำว่า โยชน์ ชื่อว่า โยชน์ มีการนับอย่างนี้คือ ๒ วิทัตถิ (๒ คืบ) เท่ากับ ๑ รัตนะ (๑ ศอก), ๗ รัตนะ เท่ากับ ๑ ยัฏฐิ, ๒๐ ยัฏฐิ เท่ากับ ๑ อุสภะ, ๒๐ อุสภะ เท่ากับ ๑ โฆษะ, ๔ โฆสะ เท่ากับ ๑ คาวุต, ๔ คาวุต เท่ากับ ๑ โยชน์ ฉะนี้แล.  คำว่า ปลาที่ยาวถึง ๕๐๐ โยชน์ ได้แก่ปลาที่ชื่อว่า ติมิติมิงคละ ในมหาสมุทร.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่ ๑๑ อัสสาสปัสสาสนิโรธปัญหา (ดับลมหายใจได้หรือ ณัฏฐ)

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้า พวกท่านกล่าวกันอย่างนี้ว่า บุคคลอาจดับลมอัสสาสะและปัสสาสะได้ จริงหรือ ?  พระนาคเสน, จริง มหาบพิตร บุคคลดับลมอัสสาสะและปัสสาสะได้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลอาจดับลมอัสสาสะและปัสสาสะได้อย่างไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร พระองค์เคยทรงสดับบ้างหรือไม่ว่า บางคนนอนกรน ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเคยได้ยิน.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมื่อเขาพลิกกาย เสียงกรนนั้นระงับไปใช่หรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ระงับไป พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร สำหรับคนที่ยังไม่ได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา เมื่อเพียงแต่พลิกกาย เสียงกรนยังระงับไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะป่วยกล่าวไปไยสำหรับภิกษุผู้ได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมศีลแล้ว ได้อบรมจิตแล้ว ได้อบรมปัญญาแล้ว เข้าฌานที่ ๔ อยู่ ว่าลมอะไรและปัสสาสะ จะไม่ดับไปได้เล่า.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบอัสสาสปัสสาสนิโรธปัญหาที่ ๑๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ในพระวินัย ชื่อว่า ลมอัสสาสะ ได้แก่ลมหายใจออก ชื่อว่า ลมปัสสาสะ ได้แก่ลมหายใจเข้า ส่วนในพระสูตร ชื่อว่า ลมอัสสาสะ ได้แก่ลมหายใจเข้า ชื่อว่า ลมปัสสาสะ ได้แก่ลมหายใจออก ควรถือเอาความหมายตามพระสูตร เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน. คำว่า อบรมกาย ได้แก่ มีขันติอดกลั้นสุขเวทนาและทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในกาย.  คำว่า อบรมศีล ได้แก่ เจริญศีลบริสุทธิ์ ๔ อย่างมีปาฏิโมกขสังวรศีลเป็นต้น.  คำว่า อบรมจิต ได้แก่ เจริญสมาธิอันต่างด้วยอุปจาระและอัปปนา.  คำว่า อบรมปัญญา ได้แก่ เจริญวิปัสสนาปัญญา และ มัคคปัญญา.  ปุถุชน แม้เป็นเดียรถีย์ภายนอกพระศาสนา สักแต่เป็นผู้ได้ฌาน ๔ แล้วเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เท่านั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ก็ย่อมดับไปได้ก็จริงอยู่ แต่พระเถระประสงค์จะกล่าวถึงความดับไปตามลำดับ แห่งสังขาร ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขาร แห่งภิกษุผู้เข้านิโรธสมาบัติ จึงกล่าวว่า สำหรับภิกษุผู้ได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมศีลแล้ว ดังนี้ เป็นต้น

เป็นความจริงว่า ภิกษุผู้จะเข้านิโรธสมาบัติ ย่อมอาศัยกำลัง ๒ อย่าง เพื่อทำจิตให้ถึงความดับไปคือกำลังสมถะ โดยการเข้าโลกืยฌานไปตามลำดับ จับตั้งแต่ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ไป จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และกำลังวิปัสสนาโดยการออกจากฌานแต่ละอย่างที่เข้านั้น แล้วก็พิจารณาไตรลักษณ์ ทำสังขาร ๓ ให้ดับไปได้ตามลำดับอย่างนี้คือ เมื่อเข้าฌานไปตามลำดับจนถึงทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) อันไม่มีวิตกและวิจาร วจีสังขารคือวิตกและวิจารก็ย่อมดับไป เมื่อถึงจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ฌานจิตนั้น เป็นธรรมชาติที่สงบยิ่งจนไม่อาจเป็นสมุฏฐานแห่งลมหายใจ กายสังขารคือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกก็ย่อมระงับดับไป เมื่อถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนจิตเป็นไป ๒ ขณะ ดับไปแล้ว จิตสังขาร คือสัญญาและเวทนา หรือแม้นามธรรมทั้งหมด ย่อมระงับดับไป ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาที่ ๑๒ สมุททปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน เรียกน้ำว่า ทะเล ทะเล เพราะเหตุใดจึงเรียกนามว่าทะเล ?  พระเถระถวายพระพรวิสัชนาว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ในที่มีน้ำก็เป็นที่มีความเค็ม ในที่มีความเค็มก็เป็นที่มีน้ำ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ทะเล.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบสมุททปัญหาที่ ๑๒. ปัญหาเกี่ยวกับทะเล ชื่อว่า สมุททปัญหา.  คำว่า เพราะเหตุใดจึงเรียกน้ำว่า ทะเล คือ เพราะเหตุใดจึงเรียกที่มีน้ำว่าทะเล.  ความว่า สักแต่ว่าเป็นที่มีน้ำเท่านั้นหาเรียกว่า ทะเล ไม่ สักแต่ว่าเป็นที่มีความเค็มเท่านั้น หาเรียกว่า ทะเล ไม่ ก็แลเรียกว่าทะเล ก็เพราะว่าเป็นที่ที่มีทั้งน้ำทั้งความเค็ม.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๒.  

ปัญหาที่ ๑๓ สมุททเอกรสปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุใดทะเลจึงมีรสเดียวคือรสเค็ม ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ทะเล มีรสเดียวคือรสเค็ม เพราะความที่น้ำตั้งอยู่ช้านาน.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบสมุททเอกรสปัญหาที่ ๑๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๓

ปัญหากล่าวถึงความมีรสเดียวแห่งทะเล ชื่อว่า สมุททเอกรสปัญหา. คำว่า เพราะความที่น้ำตั้งอยู่ช้านาน คือ เพราะความที่น้ำในที่นั้นตั้งอยู่ช้านาน คือขังอยู่ช้านาน ไม่อาจทราบได้ว่าเริ่มขังอยู่ตั้งแต่เมื่อไร ความขังอยู่ช้านานถึงเพียงนั้นเป็นเหตุให้มีรสเค็ม แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๓

ปัญหาที่ ๑๔ สุขุมปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลอาจตัดสิ่งที่ละเอียดกว่า (สิ่งอื่น) ทุกสิ่งได้หรือไม่ ?  พระนาคเสน, ได้ มหาบพิตร บุคคลอาจตัดสิ่งที่ละเอียดกว่าทุกสิ่งได้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็อะไรเล่า ชื่อว่า เป็นสิ่งที่ละเอียดกว่าทุกสิ่ง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ธรรมะแล ชื่อว่า เป็นสิ่งละเอียดกว่าทุกสิ่ง ขอถวายพระพร ธรรมทั้งหลายก็ไม่ใช่ว่าจะละเอียดไปเสียทุกอย่าง คำว่าละเอียด ก็ดี คำว่าหยาบ ก็ดี นี้ เป็นคำกล่าวถึงธรรมทั้งหลาย สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นสิ่งที่พึงตัด บุคคลย่อมกับสิ่งนั้นทั้งหมดได้ด้วยปัญญา ไม่มีสิ่งที่ต้องตัดด้วยปัญญาอย่างที่สอง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบสุขุมปัญหาที่ ๑๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๔

ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่ละเอียด ชื่อว่า สุขุมปัญหา คำว่า ไม่มีสิ่งที่ปัญญาต้องตัดอย่างที่สอง คือ ไม่มีสิ่งที่ปัญญาต้องตัดอย่างที่สองคืออย่างอื่นนอกจากธรรมทั้งปวง. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๔

ปัญหาที่ ๑๕ วิญญาณนานัตตปัญหา

พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ก็ดี ว่าปัญญา ก็ดี ว่าชีวะในภูต ก็ดี ธรรมเหล่านี้ มีอรรถแตกต่างกันด้วย มีพยัญชนะแตกต่างกันด้วย หรือว่ามีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้นเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร วิญญาณมีความรู้ต่างๆ เป็นลักษณะ ปัญญามีความรู้โดยประการทั้งหลายเป็นลักษณะ ชีวะในภูตไม่มี.  พระเจ้ามิลินท์, ถ้าหากว่าชีวะไม่มีไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้นใครเล่าเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมด้วยใจ ?  พระเถระถวายพระพรวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า ชีวะเห็นรูปด้วยตา ฯลฯ รู้ธรรมด้วยใจไซร้ เมื่อตาทั้งสองข้างถูกควักออกไป ชีวะนั้นก็พึงโผล่หน้าไปภายนอก ทางอากาศอันกว้างใหญ่ มองดูรูปได้ชัดเจนยิ่ง เมื่อหูทั้งสองถูกทะลวง เมื่อจมูกถูกทะลวง เมื่อลิ้นถูกกระชากออก เมื่อกายถูกทำลาย ก็จะพึงโผล่หน้าไปทางอากาศที่กว้างใหญ่ ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะได้ชัดเจนยิ่ง หรือไร ?พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ชีวะในภูตก็ไม่มี.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบวิญญาณนานัตตปัญหาที่ ๑๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๕

ปัญหาเกี่ยวกับความต่างกันแห่งธรรมทั้งหลายมีวิญญาณเป็นต้น ชื่อว่า วิญญาณนานัตตปัญหา.  คำว่า มีอรรถแตกต่างกัน คือ มีสภาวะแตกต่างกัน.  คำว่า ชีวะในภูติไม่มี คือชีวะซึ่งมีชื่อว่า เวทคู ในปัญหาก่อน อันได้แก่สัตว์นั่นเอง ไม่มีในภูตคือในขันธ์ ความว่า มีแต่ขันธ์ล้วนๆ เป็นไป เนื้อความส่วนที่เหลือก็พึงทราบคำอธิบายตามนัยในปัญหาก่อนๆ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๕.  ปัญหาที่ ๑๖ อรูปธัมมววัตถานทุกกรปัญหา. พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากไว้หรือไม่ ?  พระเถระถวายพระพรวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากไว้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยาก อะไรหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยาก คือการตรัสแยกแยะนามธรรม คือจิตและเจตสิกทั้งหลาย ที่เป็นไปในอารมณ์เดียวกันได้ว่า นี้ ผัสสะ นี้ เวทนา นี้ สัญญา นี้ เจตนา นี้ จิต เป็นต้น.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนหยั่งลงสู่มหาสมุทรด้วยเรือ ใช้อุ้งมือ วักน้ำขึ้นชิมด้วยลิ้น ขอถวายพระพร ผู้นั้นอาจรู้ได้หรือไม่ว่า นี้เป็นน้ำแห่งแม่น้ำคงคา นี้ เป็นน้ำแห่งแม่น้ำยมุนา นี้ เป็นแม่น้ำแห่งแม่น้ำอจิรวดี นี้เป็นน้ำแห่งแม่น้ำสรภู นี้ เป็นน้ำแห่งแม่น้ำมหี ?  พระเจ้ามิลินท์, อันการที่จะรู้ เป็นสิ่งทำได้ยาก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากกว่านั้นอีก คือการจากแยกแยะนามธรรม คือจิตและเจตสิกทั้งหลาย ที่เป็นไปในอารมณ์เดียวกันได้ว่า นี้ ผัสสะ นี้ เวทนา นี้ สัญญา นี้ เจตนา นี้ จิต เป็นต้น.  พระราชาทรงกระทำอนุโมทนายิ่งนัก ว่า ดีจริงเชียวพระคุณเจ้านาคเสน.  จบอรูปธัมมววัตถานทุกกรปัญหาที่ ๑๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๖

ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดแยกแยะนำมาทำทั้งหลายอันเป็นสิ่งกระทำได้ยาก ชื่อว่า อรูปธัมมววัตถานทุกกรปัญหา.  คำว่า สิ่งที่ทำได้ยาก ความว่า อันการที่คนอื่นๆ อ้ายยกเว้นพระตถาคตจะคิดก็ดี จะรู้ก็ดี จะกล่าวก็ดี จะบัญญัติก็ดี จะแสดงก็ดี จะกระทำก็ดี เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก อธิบายว่า เว้นนัยที่ประทานให้ ก็ไม่อาจทำได้เลย.  แม่น้ำทั้งหลาย มีแม่น้ำคงคาเป็นต้น ต่างไหลบ่ายหน้าไปรวมกันที่มหาสมุทร น้ำในแม่น้ำแต่ละสายเหล่านั้น มีรสไม่เหมือนกัน เมื่อไหลไปรวมกันที่มหาสมุทร รสทั้งหลายก็ย่อมถึงความปะปนกัน บุคคลวักน้ำขึ้นมาชิมรส แม้รู้รส แต่การจะกำหนดแยกแยะเพื่อให้รู้ว่า น้ำที่ตนวักขึ้นมาชิมเป็นน้ำแห่งแม่น้ำอะไร เป็นสิ่งกระทำได้ยาก ข้อนี้ฉันใด เมื่อนามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นไปในอารมณ์เดียวกัน ถึงความรวมเป็นอันเดียวกันเพราะเหตุดังกล่าวนี้แล้ว การที่บุคคลจะกำหนดแยกแยะว่า นี้ ผัสสะ นี้ เวทนา เป็นต้น ย่อมเป็นสิ่งกระทำได้ยาก ฉันนั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๖.  จบอรูปววัตถานวรรคที่ ๗

ในวรรคนี้มี ๑๖ ปัญหา

หมายเหตุ : สำหรับอรูปววัตถานวรรคนี้ ในอรรถกถามีเพียง ๑๕ ปัญหาเท่านั้น ไม่มี พุทธคุณสติปฏิลาภปัญหา.  มิลินทปัญหปุจฉาวิสัชชนา.  พระเถระถวายพระพร ว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ทรงทราบหรือไม่ว่า บัดนี้เป็นเวลาไหน ?  พระเจ้ามิลินท์, ทราบ พระคุณเจ้า ว่าบัดนี้ ล่วงเลยปฐมยามไปแล้ว มัชฌิมยามกำลังเป็นไป คบเพลิงก็ยังส่องแสงอยู่ พวกพนักงานจะไปนำเอาผ้า ๔ ผืนที่เป็นของพระราชทาน มาจากคลัง.  พวกข้าหลวงโยนกทั้งหลาย ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระเถระเป็นบัณฑิตผู้สามารถ พระเจ้าข้า.  พระราชา, ใช่สิ พนาย พระเถระเป็นบัณฑิต ผู้เป็นอาจารย์ควรเป็นอย่างพระเถระนี้ และผู้เป็นศิษย์ก็ควรจะเป็นอย่างตัวเรา ผู้เป็นบัณฑิตจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมต่อกาลไม่นานเลยทีเดียว.  พระราชาทรงเป็นผู้ยินดีด้วยคำเฉลยปัญหาของพระเถระนั้น ทรงอาราธนาให้ท่านพระนาคเสนเถระนุ่งห่มผ้ากัมพลที่มีค่าถึง ๑ แสนเหรียญ แล้วตรัสว่า “พระคุณเจ้านาคเสน นับตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าจะเตรียมภัตตาหารไว้ ๑๐๘ สำรับ สำหรับท่าน ในเมืองมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นกัปปิยะ (สมควรใช้ได้ตามพระพุทธอนุญาต) อยู่ก็ตาม ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยสิ่งนั้น ดังนี้.  พระเถระ, อย่าเลย มหาบพิตร อาตมาก็พอเป็นอยู่ได้แล้ว.  พระราชา, พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอทราบอยู่หรอกว่า ท่านพอเป็นอยู่ได้ แต่ว่า ขอท่านจงรักษาตนเอง และจงรักษาข้าพเจ้า เถิด, อย่างไร ชื่อว่ารักษาตนเอง ? คือพวกชอบกล่าวติเตียนผู้อื่น อาจจะมากล่าวอย่างนี้ว่า พระนาคเสนทำให้พระเจ้ามิลินท์เลื่อมใสได้ ก็ไม่ (เห็นว่า) ได้อะไรๆ เลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ขอท่านจงรักษาตนเองเถิด อย่างไร ชื่อว่ารักษาข้าพเจ้า พวกชอบกล่าวติเตียนผู้อื่น อาจจะมากล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้ามิลินท์ ทรงเลื่อมใสแล้ว ก็ไม่ (เห็นว่า) ทรงกระทำอาการเลื่อมใสเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ขอจงรักษาข้าพเจ้าเถิด

พระเถระ, ขอถวายพระพร ขอจงเป็นอย่างที่ทรงประสงค์เถิด.  พระราชา, พระคุณเจ้า เปรียบเหมือนว่า ราชสีห์ เจ้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย แม้นถูกขังไว้ในกรงทอง ก็ยังบ่ายหน้าไปภายนอกกรงท่าเดียว ฉันใด พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าอยู่ครองเรือนก็จริง แต่ก็หวังจะบ่ายหน้าออกไปภายนอกเรือนท่าเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน พระคุณเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าเพิ่งออกจากเรือนบวชถึงความเป็นผู้ไม่มีเรือนใซร้ ข้าพเจ้าก็เพิ่งมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ข้าพเจ้ามีศัตรูมาก ดังนี้.   ครั้งนั้นแล ท่านพระนาคเสน คลังแก้ปัญหาของพระเจ้ามินแล้ว ก็ลุกจากอาสนะ กลับไปสู่สังฆาราม ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ เมื่อท่านพระนาคเสนหลีกไปได้ไม่นาน ก็ทรงเกิดพระดำริข้อนี้ขึ้นมา ว่า เราถามไปว่ากระไร พระคุณเจ้านาคเสนตอบมาว่ากระไร ดังนี้ ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงเกิดความคิดเห็นข้อนี้ว่า เราถามดีทุกข้อ พระคุณเจ้านาคเสนก็ตอบดีทุกข้อ ดังนี้

แม้ฝ่ายท่านพระนาคเสน ผู้ไปถึงสังฆารามแล้ว ก็ได้เกิดความคิดข้อนี้ว่า พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามมาว่ากระไร เราถวายพระพรต่อไปว่ากระไร ดังนี้ ลำดับนั้น ท่านพระนาคเสนก็ได้เกิดความคิดเห็นข้อนี้ว่า พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามดีทุกข้อ เราก็ถวายพระพรตอบดีทุกข้อ ดังนี้.  ต่อจากนั้น เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว ในสมัยใกล้รุ่ง ท่านพระนาคเสนก็นุ่งห่ม ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ที่พระเจ้ามิลินท์ประทับอยู่ ครั้นเข้าไปแล้ว ก็นั่งบนอาสนะที่เขาจัดเตรียมไว้ ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงกราบไหว้ท่านพระนาคเสน และทรงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง, พระเจ้ามิลินท์ ครั้งทรงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว ก็รับสั่งความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสน ว่า :- 

“พระคุณเจ้า อย่าได้เกิดความเห็นอย่างนี้เลยว่า พระเจ้ามิลินท์นั้น พอทรงคิดว่า เราได้ถามปัญหากับพระนาคเสนดังนี้แล้ว ก็ทรงเอาแต่โสมนัสไปจนล่วงเลยราตรีส่วนที่เหลือนั้น ท่านอย่าเห็นอย่างนี้เลย พระคุณเจ้า ข้าพเจ้านั้นตลอดราตรีส่วนที่เหลือนั้น ก็ได้เกิดความคิด (ทบทวน) ข้อนี้ว่า เราถามไปว่ากระไร พระคุณเจ้าตอบมาว่ากระไร ว่า เราถามแล้วดีทุกข้อ พระคุณเจ้าก็ตอบดีทุกข้อ ดังนี้ เท่านั้น”

แม้พระเถระก็กล่าวอย่างนี้ว่า “ขอมหาบพิตร ยาทรงเปิดพระดำริอย่างนี้เลยว่า พระนาคเสนนั้น เพราะคิดว่า เราแก้ปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ได้ ดังนี้แล้ว ก็เอาแต่โสมนัส ไปจนล่วงเลยราตรีส่วนที่เหลือนั้น พระองค์อย่าทรงเห็นอย่างนี้เลยมหาบพิตร อาตมาภาพนั้น ตลอดราตรีส่วนที่เหลือนั้น ได้เกิดความคิด ทบทวน ข้อนี้ว่า พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามมาว่ากระไร เราถวายพระพรต่อไปว่ากระไร ว่า พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามดีทุกข้อ เราก็ถวายพระพรตอบดีทุกข้อ ดังนี้เท่านั้น”.  ท่านผู้เป็นยอดบัณฑิตยิ่งใหญ่ทั้ง ๒ นั้น ต่างชื่นชมคำพูดดีของกันและกันแล้วอย่างนี้.   จบมิลินทปัญหปุจฉาวิสัชชนา.  จบมิลินทปัญหากันฑ์.  ในเล่มที่ ๑ นี้มี ๒ กันฑ์ คือ ปุพพโยคกันฑ์ ที่ชื่อว่า พาหิรกกถา และมิลินทปัญหากันฑ์ คือ ตอนที่ว่าด้วยปัญหาของพระเจ้ามิลินท์เองโดยเฉพาะนี้ ซึ่งประกอบด้วย ๗ วรรค มีมหาวรรคเป็นต้นรวมปัญหาได้แต่ ๘๖ ปัญหา จบเล่มที่ ๑.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๕ (จบเล่มที่ ๑)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: