วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๗)


มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๗)  วรรคที่ ๒ อัทธานวรรค 

ปัญหาที่ ๑ ธัมมสันตติปัญหา

พระเถระถวายวิสัชนาว่า ผู้นั้นเกิดก็ไม่ใช่ ผู้อื่นเกิดก็ไม่ใช่.  พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร เปรียบเหมือนว่าพระองค์เคยทรงเป็นเด็กก่อนนอนแบบมาแล้ว มาบัดนี้ พระองค์ผู้เคยทรงเป็นเด็กอ่อนนอนแบนั้นนั่นแหละ กลายเป็นผู้ใหญ่ หรือไร.  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า เด็กอ่อนนอนแบนั้นก็เป็นคนหนึ่ง ข้าพเจ้าผู้ใหญ่ในบัดนี้ก็เป็นอีกคนหนึ่ง

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ผู้ที่บุตรเรียกว่ามารดาก็จะไม่มี แม้ผู้ที่บุตรเรียกว่าบิดาก็จะไม่มี แม้นผู้ที่ศิษย์เรียกว่าอาจารย์ก็จะไม่มี แม้ผู้ที่เขาเรียกว่า ผู้มีศิลปะก็จะไม่มี แม้ผู้ที่เขาเรียกว่าผู้มีศีลก็จะไม่ แม้นผู้ที่เขาเรียกว่าผู้มีปัญญาก็จะไม่มี ขอถวายพระพร มารดาของผู้ที่ยังเป็นกลละอยู่ก็เป็นคนหนึ่งต่างหาก มารดาของผู้ที่เป็นอัพพุทะ (น้ำล้างเนื้อ) ก็เป็นอีกคนหนึ่ง มารดาของผู้ที่เป็นเปสิ (ก้อนเนื้อ) ก็เป็นอีกคนหนึ่ง มารดาของผู้เป็นฆนะก็เป็นอีกคนหนึ่ง มารดาของผู้เป็นเด็กเล็กก็เป็นอีกคนหนึ่ง มารดาของผู้เป็นเด็กโตก็เป็นอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งเรียนศิลปะ แต่เรียนจบวิชาศิลปะเป็นอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งทำกรรมชั่วไว้ แต่อีกคนหนึ่งถูกตัดมือตัดเท้า หรือไรหนอ

พระเจ้ามิลินท์, ไม่ใช่หรอกพระคุณเจ้า ก็เมื่อข้าพเจ้ากล่าวไปแล้วอย่างนี้ (ว่าเด็กอ่อนนอนแบนั้นก็คนนึง ข้าพเจ้าผู้ใหญ่ในบัดนี้ก็เป็นคนหนึ่ง) ตัวท่านเองจะกล่าวว่ากระไรเล่า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อาตมาก็จะขอกล่าวว่า อาตมาภาพนั่นแหละเคยเป็นเด็กอ่อนนอนแบ อาตมภาพคนเดียวกันนั่นแหละ เป็นผู้ใหญ่ในบัดนี้ ทุกคนเหล่านั้นรวมเข้าเป็นคนเดียวกันได้ ด้วยอาศัยกายเดียวกันนี้แหละ

พระเจ้ามิลินท์ ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด.  พระนาคเสน ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษบางคนพึงตามประทีปไว้ ประทีปนั้นพึงส่องไปตลอดทั้งคืนหรือไม่.  พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้าพระที่พึงส่องไปตลอดทั้งคืน.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปลวไฟในยามต้น มาเป็นเปลวไฟในยามกลางหรือ

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เปลวไฟในยามกลาง มาเป็นเปลวไฟในยามสุดท้ายหรือ.  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ประทีปในยามต้นก็เป็นดวงหนึ่ง ประทีปในยามกลางก็เป็นอีกดวงหนึ่ง ประทีปในยามสุดท้ายก็เป็นอีกดวงหนึ่งหรือไร.  พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้พระคุณเจ้า แสงประทีปส่องอยู่ได้ตลอดทั้งคืนได้ด้วยอาศัยตัวประทีปดวงเดียวกันนั่นแหละ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ธรรมสันตติ (ธรรมะที่สืบต่อกัน) ย่อมสืบต่อกันไป คนหนึ่งเกิดขึ้น อีกคนดับไป สืบต่อกันไปราวกับว่าไม่ก่อนไม่หลังนั้นเพราะเหตุนั้น จะเป็นคนเดียวกันนั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละคนกันก็ไม่ใช่ ผู้มีวิญญาณดวงหลังย่อมถึงความรวมกันเข้าในผู้มีวิญญาณดวงก่อนๆ (เป็นการสืบเนื่องกันไป)

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่านมสดที่เขารีดไว้ ในกาลต่อมาก็กลายเป็นนมส้ม จากนมส้มก็กลายเป็นเนยสด จากเนยสดก็กลายเป็นเนยใส มหาบพิตร ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า นมสดอันใดนมส้มก็อันนั้นนั่นแหละ, นมส้มอันใด เนยสดก็อันนั้นนั่นแหละ เนยสดอันใด เนยใสก็อันนั้นนั่นแหละดังนี้ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ

พระเจ้ามิลินท์, ไม่ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรอกพระคุณเจ้า คือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยนมสดอันเดียวกันนั้นนั่นแหละ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ธรรมสันตติสืบต่อกันไป คนหนึ่งเกิดขึ้น อีกคนหนึ่งดับไป สืบต่อกันไปราวกับว่าไม่ก่อนไม่หลังกัน เพราะเหตุนั้นจะเป็นคนเดียวกันก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละกันคนละคนกันก็ไม่ใช่ ผู้มีวิญญาณดวงหลัง ย่อมถึงความรวมกันเข้าในผู้มีวิญญาณดวงก่อน.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบธรรมสันตติปัญหาที่ ๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาเกี่ยวกับธรรมทั้งหลายที่เป็นไปสืบต่อกันชื่อว่า ธรรมสันตติปัญหา

คำว่า หามิได้ พระคุณเจ้า เด็กอ่อนนอนแบนั้นก็เป็นคนหนึ่ง ข้าพเจ้าผู้ใหญ่ในบัดนี้ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ความว่า ในคราวที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอ่อนนอนแบ ในคราวนั้นยังหาความเป็นผู้ใหญ่เหมือนอย่างในบัดนี้มิได้ ในบัดนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ในบัดนี้ข้าพเจ้าก็หาความเป็นเด็กอ่อนนอนแบไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กอ่อนนอนแบในคราวนั้นก็เป็นคนหนึ่ง ข้าพเจ้าผู้ใหญ่ในบัดนี้ก็เป็นอีกคนหนึ่ง.  คำว่า ขอถวายพระพร เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้ผู้ที่บุตรเรียกว่ามารดาก็จะไม่มี แม้ผู้ที่เขาเรียกว่า ผู้มีปัญญาก็จะไม่มี ความว่า เมื่อเป็นคนละคนกันอย่างนี้ แม้ผู้ที่บุตรจะพึงเรียกว่า มารดาก็จะไม่มี เพราะเหตุไร เพราะในภพเดียวกันในคราวที่ยังเป็นเพียงกลละ ก็มีมารดาคนหนึ่ง เมื่อความเป็นกลละหมดไป ถึงความเป็นอัพพุทะ ก็มีมารดาเป็นอีกคนหนึ่ง เพราะในคราวนี้เมื่อเป็นอัพพุทะก็ไม่ใช่บุตรของมารดาผู้เป็นเพียงกลละ เมื่อเป็นอย่างนี้สัตว์ผู้เกิดในครรภ์จะพึงนับเอาใครว่าเป็นมารดาตนสักคนเล่า ก็เป็นอันว่า แม้มารดาก็จะไม่มี คำที่เหลือก็พึงทราบโดยนัยนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่ามารดาของผู้ที่ยังเป็นกลละอยู่ก็เป็นคนหนึ่งต่างหาก ดังนี้ เป็นต้น

ก็ในคำว่า มารดาของผู้ที่ยังเป็นกลละอยู่เป็นต้น เป็นคำกล่าวถึงลำดับขั้นตอนความเกิดขึ้นแห่งอัตภาพของสัตว์ ด้วยอำนาจความเติบโตไปตามวัย จับตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งเกิดอวัยวะมีมือเท้าเป็นต้น บริบูรณ์ ตามที่ตรัสไว้ว่า :- 

ปฐมํ กลลํ โหติ;  กลลา โหติ อพฺพุทํ, อพฺพุทา ชายเต,  เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน, ฆนา ปสาขา ชายนฺติ,  เกสา โลมา นขาปิ จ,  ยญฺจสฺส ภุญฺชติ มาตา  อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ,  เตน โส ตตฺถ ยาเปติ,  มาตุกุจฺฉิคฺคโต นโร. ( สํ. สคาถ. “๕/๒๘๖)

แปลว่า : แรกเกิดเป็นกลละ ต่อจากกลละก็เป็นอัพพุทะ ต่อจากอัพพุทะก็เกิดเป็นเปสิ ต่อจากเปสิก็เกิดฆนะ ต่อจากฆนะก็เกิดปัญจสาขา ทั้งผม ขน และเล็บ อนึ่ง มารดาของสัตว์ผู้นั้นบริโภคอาหารคือข้าวและน้ำใด สัตว์ผู้อยู่ในท้องของมารดานั้นย่อมเป็นไปในท้องของมารดานั้น ด้วยอาหารที่มารดาบริโภคนั้น

ก็ในพระคาถานี้คำว่า กลละ ได้แก่รูปที่เป็นเพียงน้ำใสๆ มีปริมาณเท่าน้ำมันงาใสกันเปื้อนอยู่ที่ปลายขนแกะ ต่อมามีปริมาณมากขึ้นและคุณขึ้นมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อเรียกว่าอัพพุทะ ส่วน เปสิ ได้แก่รูปที่แข็งตัวขึ้นจน เป็นวุ้นเป็นชิ้นขึ้นมักเรียกว่า ก้อนเลือด จากเปสินั้นนั่นแหละ มีวัยเจริญเติบโตต่อไปอีก จนเป็นก้อนเนื้อก็เรียกว่า ฆนะ ภายหลังต่อมา ปัญจสาขา (สาขา ๕) คือ มือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑ ก็ปรากฏขึ้น เป็นอยู่ด้วยอาหารที่มารดากลืนกินซึ่งแผ่ซ่านอยู่ในตัวของมารดา และอาหารที่ถูกส่งไปทางสายสะดือ จนกว่าจะคลอดจากครรภ์

คำว่าคนหนึ่งเรียนศิลปะ แต่ผู้เรียนจบวิชาศิลปะเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นต้น ความว่า ในภพเดียวกัน คนที่เรียนศิลปะอยู่ ยังเรียนไม่จบ ก็เป็นคนหนึ่ง ส่วนว่าในเวลาใดเรียนจบแล้ว นับแต่เวลานั้นไปก็ไม่ต้องเรียนอีก จึงเป็นอีกคนหนึ่งต่างหากจากผู้ที่เรียนยังไม่จบ โดยเกี่ยวกับเป็นคนละขั้นตอนกัน ในภพเดียวกัน คนหนึ่งทำกรรมชั่วไว้ คนที่ถูกลงโทษตัดมือและเท้า เพราะการกระทำกรรมชั่วนั้นเป็นปัจจัย หาใช่คนที่ทำกรรมชั่วนั้นไม่ เพราะเป็นคนละขั้นตอนกันเกี่ยวกับเวลาที่ทำก็ไม่ได้ถูกลงโทษ ในเวลาที่ถูกลงโทษก็ไม่ได้ทำ

คำว่า ทุกคนเหล่านั้นรวมเข้าเป็นคนเดียวกันได้ ด้วยอาศัยกายเดียวกันนี้ ความว่า เด็กและผู้ใหญ่ถึงความเป็นคนเดียวกัน ด้วยอาศัยธรรมสันตติที่สืบต่อกันอยู่ในกายเดียวกันนี้.  คำว่า ด้วยอาศัยประทีปดวงเดียวกันนั้น คือด้วยอาศัยกระเบื้อง ไส้ น้ำมัน อันประกอบเป็นประทีปดวงเดียวกันนั้น.  คำว่า คนหนึ่งเกิดขึ้น อีกคนหนึ่งดับไป คือในธรรมสันตติที่สืบต่อกันอยู่โดยโวหารว่า วัย นั้น คนหนึ่งคือผู้ใหญ่เกิดขึ้น อีกคนหนึ่งคือเด็กดับไป.  คำว่าผู้มีวิญญาณดวงหลัง ท่านกล่าวหมายเอาคนที่เป็นผู้ใหญ่.  คำว่า ผู้มีวิญญาณดวงก่อน ท่านกล่าวหมายเอาคนที่เป็นเด็ก.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ ปฏิสันทหนปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ท่านผู้ไม่ปฏิสนธิย่อมรู้หรือว่า เราจะไม่ปฏิสนธิ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ใช่ ท่านผู้ไม่ปฏิสนธิ ย่อมรู้ว่า เราจะไม่ปฏิสนธิ

พระเจ้ามิลินท์, รู้ได้อย่างไรพระคุณเจ้า?  พระนาคเสน, เหตุใด ปัจจัยใด พึงมีเพื่อปฏิสนธิ เพราะระงับเหตุนั้น ปัจจัยนั้นได้ ท่านจึงรู้ว่า เราจะไม่ปฏิสนธิ

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า คฤหบดีชาวนาไถและหว่านแล้ว ก็พึงทำยุ้งฉางให้เต็มได้, สมัยต่อมา เขาไม่ไถเลย ไม่หวานเลย ได้แต่บริโภคข้าวที่มีบ้าง จำหน่ายไปบ้าง ทำไปตามสมควรแก่ปัจจัยบ้าง ขอถวายพระพร คฤหบดีชาวนาผู้นั้น อาจรู้หรือไม่ว่า ยุ้งฉางของเราจะไม่เต็ม (พร่อง) เสียแล้ว. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ อาจรู้ได้พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เขาจะเพิ่งรู้ได้อย่างไร

พระเจ้ามิลินท์, เหตุใด ปัจจัยใด พึงมีเพื่อความเต็มแห่งยุ้งฉาง เพราะระงับเหตุนั้น ปัจจัยนั้นเสีย จึงรู้ว่า ยุ้งฉางของเราจะไม่เต็มแล้ว. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น เหตุใดปัจจัยใด พึงมีเพื่อปฏิสนธิ เพราะระงับเหตุนั้น ปัจจัยนั้น ท่านจึงรู้ว่า เราจะไม่ปฏิสนธิ.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบปฏิสันทหนปัญหาที่ ๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาเกี่ยวกับปฏิสนธิชื่อว่า ปฏิสันทหนปัญหา (ฉบับของไทยเป็น นัปปฏิสนธิคหณชานนปัญหาปัญหา – เกี่ยวกับความรู้ว่าไม่มีการถือเอาปฏิสนธิ)

คำว่า เหตุใด ได้แก่ปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้น (อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม) ใด ซึ่งได้ชื่อว่าเหตุ (แห่งปฏิสนธิ) ก็โดยเกี่ยวกับเป็นผู้ทำให้เกิด.  คำว่า ปัจจัยใด ได้แก่ปัจจัยอื่นๆ มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น อันเกิดร่วมกับอวิชชาเป็นต้นนั้น ซึ่งได้ชื่อว่าปัจจัย (แห่งปฏิสนธิ) ก็โดยเกี่ยวกับเป็นผู้อุปถัมภ์.  คำว่า ย่อมมีเพื่อปฏิสนธิ คือ ย่อมมีเพื่อการทำปฏิสนธิให้ตั้งขึ้นในภพถัดไป ในลำดับแห่งจุติจิตในวาระที่ภพนี้สิ้นสุดลง.  คำว่า เพราะระงับเหตุนั้น ปัจจัยนั้น ความว่า เพราะดับคือสำรอกได้ไม่มีเหลือ ซึ่งเหตุนั้นปัจจัยนั้น ด้วยอรหัตมรรค.  คำว่า ท่านจึงรู้ว่า เราจะไม่ปฏิสนธิ ความว่า เมื่อรู้ว่าเราสิ้นความเกิดแล้ว กิจอะไรๆ ที่เราต้องทำเพื่อสิ้นความเกิดนี้ไม่มีอีกแล้ว ดังนี้ ก็ชื่อว่า รู้ว่าเราจะไม่ปฏิสนธิ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ ญาณปัญหาปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ใดมีญาณเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไร ?พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ถูกต้อง ผู้ใดมีญาณเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า มีปัญญาเกิดขึ้นแล้ว. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ญาณอันใด ปัญญาก็อันนั้นหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใช่ ญาณอันใดปัญญาก็อันนั้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็แต่ว่าผู้ใดมีญาณนั้นนั่นแหละ มีปัญญานั้นนั่นแหละ เกิดขึ้นแล้ว เขานั้นก็ยังอาจหลง (คือไม่รู้) ได้ หรือว่าไม่อาจหลงได้เลยเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ยังอาจหลงได้ในบางสิ่งบางอย่าง ไม่อาจหลงได้เลยในบางสิ่งบางอย่าง. พระเจ้ามิลินท์, ยังอาจหลงได้ในอะไรบ้าง พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ยังอาจหลงในวิชาศิลปะที่ไม่เคยรู้บ้าง ในทิศที่ไม่เคยไปบ้าง ในชื่อหรือบัญญัติที่ไม่เคยได้ยินบ้าง.  พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจหลงในอะไรบ้าง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้วว่า ไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ใด ไม่อาจหลงในกิจที่ทำแล้วนั้น (บรรลุมรรค).  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็ความหลงของเขาไปไหนเสีย.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมื่อเพียงแต่ญาณเกิดขึ้นเท่านั้น ความหลงก็ย่อมดับไปในที่นั้นนั่นแหละ

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนเพิ่งตั้งประทีปไว้ในเรือนมืด เพราะเหตุนั้น ความมืดก็พึงดับไป ความสว่างก็พึงปรากฏฉันใด ขอถวายพระพร เมื่อเพียงแต่ญาณเกิดขึ้นเท่านั้น ความหลงก็ย่อมดับไปในที่นั้นนั่นแหละ ฉันนั้นเหมือนกัน.  พระเจ้ามิลินท์, ส่วนว่าปัญญาเล่า จะไปไหน พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร แม้ปัญญาพอได้ทำกิจของตนแล้ว ก็ย่อมดับไปในกิจที่ได้ทำไว้นั่นนั้นนั่นแหละ แต่กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้ว ว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ใด กิจที่ได้ทำไว้แล้วนั้น หาดับไปไม่

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ท่านกล่าวว่าปัญญาพอได้ทำกิจของตนแล้วก็ย่อมดับไปในกิจที่ได้ทำไว้นั้นนั่นแหละ แต่กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้ว ว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ใด กิจที่ได้ทำไว้แล้วนั้นหาได้ดับไปไม่ ดังนี้ ใด ขอท่านจงกระทำอุปมา สำหรับคำนั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าบุรุษบางคนต้องการจ้างให้เขาเขียนหนังสือในตอนกลางคืน จึงเรียกนักเขียนมา ตั้งประทีปไว้ให้เขาเขียน เมื่อเขาเขียนหนังสือเสร็จแล้ว ก็ดับประทีปเสีย แม้เมื่อประทีปถูกดับไปแล้ว ตัวหนังสือ (ที่เขียนไว้แล้ว) ก็หาพินาศไปไม่ ฉันใด ขอถวายพระพร ปัญญาพอได้ทำกิจของตนแล้วก็ย่อมดับไปในกิจที่ได้ทำไว้นั้นนั่นแหละ แต่กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้วว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ใด กิจที่ได้ทำแล้วนั้นหาดับไปไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าผู้คนในชนบททางทิศตะวันออก ตั้งโอ่งน้ำไว้ตามลำดับเรือน เรือนละ ๕ โอ่ง เหนือหลังคา เพื่อใช้ดับไฟ เมื่อเรือนหลังหนึ่งถูกไฟไหม้ เขาก็ย่อมเทน้ำทั้ง ๕ โอ่ง เหล่านั้นไปเบื้องบนของเรือน ไฟย่อมดับไปเพราะเหตุนั้น ขอถวายพระพร ผู้คนเหล่านั้นย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะใช้โอ่งทั้ง ๕ เหล่านั้น ทำกิจที่ควรทำด้วยโอ่งอีก ดังนี้หรือไม่หนอ

พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอกพระคุณเจ้า พอทีละด้วยโอ่งทั้งหลาย ประโยชน์อะไรด้วยโอ่งเหล่านั้นอีกเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพิ่งเห็นอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เป็นดุจโอ่งน้ำ ๕ โอ่ง เถิด พึงเห็นพระโยคาวจรเป็นดุจผู้คนเหล่านั้น พึงเห็นกิเลสทั้งหลายเป็นดุจไฟ ผู้คนทั้งหลายย่อมใช้น้ำ ๕ โอ่ง ดับไฟ ฉันใด พระโยคาวจรก็ย่อมใช้อินทรีย์ ๕ ดับกิเลสทั้งหลาย แม้กิเลสทั้งหลายถูกดับไปแล้ว ก็ย่อมไม่เกิดอีก ฉันนั้น ขอถวายพระพร ปัญญาชื่อว่า พอได้ทำกิจของตนแล้วก็ย่อมดับไป แต่กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้ว ว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี กิจที่ได้ทำไว้แล้วนั้นหาดับไปไม่ตามประการดังกล่าวมานี้ แล

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า แพทย์ถือเอาเครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่างไปหาคนไข้ บดเครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่างเหล่านั้นละลายให้คนไข้ดื่ม ก็โทษ (โรค) ทั้งหลายพึงหายไปเพราะเครื่องยาเหล่านั้น ขอถวายพระพร แพทย์ผู้นั้นย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะใช้เครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่างเหล่านั้น ทำกิจที่ควรทำด้วยยาอีก ดังนี้หรือไม่หนอ

พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอก พระคุณเจ้า พอทีละด้วยเครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่างเหล่านั้น ประโยชน์อะไรด้วยเครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่างเหล่านั้นอีกเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พึงเห็นอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เป็นดุจเครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่างเถิด พึงเห็นพระโยคาวจรเป็นดุจแพทย์ พึงเห็นกิเลสทั้งหลายเป็นดุจความเจ็บป่วย พึงเห็นปุถุชนเป็นดุจบุรุษผู้เจ็บป่วย โทษ (โรค) ทั้งหลายของคนไข้หายไปเพราะแพทย์ใช้เครื่องยาที่เป็นรากไม้ ๕ อย่าง เมื่อโทษทั้งหลายดับไปแล้ว คนไข้ก็เป็นอันหายโรค ฉันใดพระโยคาวจรก็ย่อมใช้อินทรีย์ ๕ ทำกิเลสทั้งหลายให้ดับไปและกิเลสทั้งหลายที่ถูกทำให้ดับไปแล้ว ย่อมไม่เกิดอีก ฉันนั้น ขอถวายพระพร ปัญญาชื่อว่าพอได้ทำกิจของตนแล้วก็ย่อมดับไปในกืจนั้นนั่นแหละ แต่กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้ว ว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ใด กิจที่ได้ทำไว้แล้วนั้น ย่อมไม่ดับไป ตามประการดังกล่าวมานี้ แล

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่านักรบผู้คร่ำหวอดในสนามรบคว้าเอาลูกธนูได้ ๕ ลูก แล้วก็หยั่งลงสู่สนามรบเพื่อเอาชนะกองทัพปรปักษ์ นักรบผู้นั้นถึงสนามรบแล้ว ก็พึงยิงลูกธนู ๕ ลูกนั้น และประปาก็แตกพ่ายไปเพราะลูกธนูเหล่านั้น ขอถวายพระพร นักรบผู้คร่ำหวอดในสนามรบผู้นั้น พึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะใช้ลูกธนู ๕ ลูกเหล่านั้น ทำกิจที่ควรทำด้วยลูกธนูอีก ดังนี้หรือไม่หนอ

พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอกพระคุณเจ้า พอทีละด้วยลูกธนูเหล่านั้น ประโยชน์อะไรด้วยลูกธนูเหล่านั้นอีกเล่า

พระนาคเสนขอถวายพระพร พึง เห็นอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เป็นดุจลูกธนู ๕ ลูก พึงเห็นพระโยคาวจรเป็นดุจนักรบผู้คร่ำหวอดในสนามรบ พึงเห็นกิเลสทั้งหลายเป็นดุจกองทัพปรปักษ์ กองทัพปรปักษ์แตกพ่ายไปเพราะลูกธนู ๕ ลูกฉันใด กิเลสทั้งหลายย่อมแตกหักไปเพราะอินทรีย์ ๕ และ กิเลสที่แตกหักแล้วก็ไม่เกิดอีก ฉันนั้น

ขอถวายพระพร ปัญญาชื่อว่าพอได้ทำกิจของตนแล้วก็ดับไปในกิจนั้นนั่นแหละ แต่กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้ว ว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นทุกข์ก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ใด ที่ได้ทำไว้แล้วนั้นย่อมไม่ดับไปตามประการดังกล่าวมานี้ แล.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบญาณปัญญาปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่มีการถามถึงญานและปัญญา ชื่อว่า ญาณปัญญาปัญหา

คำว่า ผู้ใดมีญาณเกิดขึ้น ความว่า พระโยคาวจรผู้ใดมีญาณคือมีวิปัสสนาญาณ หรือมีมัคคญาณอันมีวิปัสสนาญาณนั้นเป็นเหตุ เกิดขึ้นแล้ว ธรรมชาติเดียวกันคือปัญญานั้นนั่นแหละ ชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่า “รู้ ในสิ่งที่ควรรู้” ชื่อว่าปัญญา โดยความหมาย “รู้โดยประการทั้งหลาย”.  คำว่า ผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ความว่าพระโยคาวจรผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญา คือวิปัสสนาปัญญา หรือ มีมัคคปัญญาอันมีวิปัสสนาปัญญานั้นเป็นเหตุ เกิดขึ้นแล้ว.  คำว่า ในวิชาศิลปะที่ไม่เคยรู้ ความว่า ยังอาจหลงเหลือคือยังอาจไม่รู้ในวิชาศิลปะทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน จะเป็นงานศิลปะในทางโลกก็ตาม จะเป็นงานศิลปะคือธรรมและวินัยก็ตามเพราะไม่เคยทำการสั่งสมความรู้ไว้ โดยเกี่ยวกับการเรียนและการสอบถามทำนองอย่างนี้ว่า อะไรหนอ อย่างไรหนอ อย่างนี้หรือหนอ ไม่ใช่อย่างนี้หรือหนอ เป็นต้น ในวิชาศิลปะเหล่านั้น

คำว่า ในชื่อหรือบัญญัติที่ไม่เคยได้ยิน ความว่า ผู้มีญาณหรือปัญญานั้น ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ตาม เป็นพระเสกขะก็ตาม หรือแม้แต่เป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็ยังอาจหลง คือยังอาจไม่รู้ชื่อ บัญญัติ สมัญญา โวหาร ภาษา คำเรียกขาน ที่ไม่เคยได้ยิน คือไม่เคยเงี่ยโสตสดับมาก่อน ทำนองอย่างนี้ว่า ชื่อว่ากระไร เรียกว่ากระไร กล่าวขานกันว่าอย่างไร อย่างนี้หรือหนอ ไม่ใช่อย่างนี้หรือหนอ เป็นต้น.  คำว่า กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้ว ความว่า ความหยั่งรู้ ชื่อว่ากิจของปัญญา ก็กิจนั้นย่อมเป็นไปโดยประการ ๒ คือทำลักษณะให้ปรากฏตามความเป็นจริง ๑ ละความหลงที่ปิดบังลักษณะเหล่านั้น ๑ ด้วยว่าในปัญหานี้ พระเถระกล่าวหมายเอาวิปัสสนาปัญญาเป็นสำคัญ (ถ้าเป็นมัคคปัญญา ก็ย่อมทำกิจ ๔ อย่าง ในบรรดากิจแห่งอริยสัจ ๔ มีการกำหนดทุกข์เป็นต้น)

คำว่า ความหลงย่อมดับไปในที่นั้นนั่นแหละ คือความหลงย่อมดับไปในที่ที่ตนเกิดขึ้นในตัวพระโยคาวจรนั้นนั่นแหละ  เปรียบเหมือนว่า เมื่อตั้งประทีปในเรือนมืด ย่อมทำความสว่างให้ปรากฏ ผู้มีตาดีจึงมองเห็นรูปทั้งหลายได้ ทั้งย่อมกำจัดความมืดให้สิ้นไปในคราวเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ฉันใด เมื่อเพียงแต่ญาณหรือปัญญาเกิดขึ้นเท่านั้น ญาณหรือปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นย่อมทำลักษณะมีอนิจจลักษณะ (ลักษณะที่ไม่เที่ยง) เป็นต้น ให้ปรากฏ ผู้มีปัญญาจึงเห็น จึงรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยง เป็นต้น ทั้งย่อมกำจัดความหลงให้สิ้นไปในคราวเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ฉันนั้นเหมือนกัน

คำว่า กิจที่ปัญญานั้นได้ทำไว้แล้วว่าไม่เที่ยง ฯลฯ กิจที่ได้ทำไว้แล้วนั้นหาดับไปไม่ ความว่า กิจ ๒ อย่างคือการทำลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นให้ปรากฏ คือให้เห็นแจ้งประจักษ์ว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยง เป็นต้น ก็ดี การละความหลงคือความไม่รู้ ก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้แล้วนั้น ชื่อว่าหาดับไปไม่ เพราะเหตุไรเ พราะเหตุว่า ถ้าหากว่ากิจที่ทำไว้แล้วนั้นก็ดับไปเช่นเดียวกับปัญญานั้นนั่นแหละ ไซร้ ลักษณะที่ปรากฏแล้ว ก็จะหวนกลับมาไม่ปรากฏ คือไม่ถูกปกปิดไว้อย่างเดิมอีก ความหลงก็จะหวนกลับมาอีก พระโยคาวจรก็จะกลับมาเป็นคนที่ไม่รู้จักว่าสิ่งนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยงเป็นต้น เหมือนก่อนหน้านี้อีก แต่เพราะมิได้วิปริตกลับกลอกอย่างนี้ กิจที่ปัญญาได้ทำไว้แล้วนั้นจึงชื่อว่า ไม่ดับไป.  ในอุปมาหลังๆ มีอุปมาเกี่ยวกับโอ่งน้ำ ๕ โอ่งเป็นต้น ท่านพระนาคเสนยกขึ้นมาเป็นเรื่องเปรียบให้เห็นการทำกิจของปัญญาที่เป็นไปพร้อมกับอินทรีย์ ๔ อย่างที่เหลือ มีศรัทธาเป็นต้น อันเป็นบริวาร เนื้อหาในอุปมาเหล่านั้นตื้นอยู่แล้ว.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ ปฏิสันทหนปุคคลเวทิยนปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ท่านผู้ใดจะไม่ปฏิสนธิ (จะไม่เกิดในภพใหม่ต่อไปอีก) ท่านผู้นั้นจะเสวยทุกขเวทนาอะไรๆ อยู่บ้างหรือ ?  

พระเถระถวายวิสัชนาว่า ท่านยังเสวยทุกขเวทนาบางอย่าง จะไม่เสวยทุกขเวทนาบางอย่าง

พระเจ้ามิลินท์, เสวยทุกขเวทนาอะไร ไม่สวยทุกคณะอะไร? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เสวยทุกขเวทนาทางกาย ไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ท่านเสวยทุกขเวทนาทางกายอย่างไร ไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจอย่างไร

พระนาคเสน, เหตุใดปัจจัยใด ย่อมมีเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาทางกาย เพราะเหตุนั้น ปัจจัยนั้นยังไม่ระงับไปท่านจึงยังเสวยเวทนาทางกาย เหตุใด ปัจจัยใดย่อมมีเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุกข์เวทนาทางใจ เพราะเหตุนั้น ปัจจัยนั้นระงับไป ท่านจึงไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ ขอถวายพระพรพระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความแม้ข้อนี้ว่า :- 

“โส เอกํ เวทนํ เวเทติ กายิกํ น เจตสิกํ - ภิกษุรูปนั้นย่อมเสวยทุกขเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ” ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไรท่านผู้ยังเสวยทุกขเวทนาอยู่ จึงไม่ปรินิพพานเสียเล่า (จะได้ไม่ต้องคอยเสวยทุกขเวทนาแม้นทางกายอยู่อย่างนั้น)

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ท่านผู้เป็นพระอรหันต์หามีความยินดีหรือความยินร้ายไม่ อนึ่ง พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นบัณฑิตย่อมไม่ทำขันธ์ที่ยังไม่สุกงอมให้ตกไป ย่อมรอคอยความสุกงอมอยู่ ขอถวายพระพร ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระได้ภาษิต ความข้อนี้ไว้ว่า :- 

นาภินนฺทามิ มรณํ, นาภินนฺทามิ ชีวิตํ ฯปฯ กาลญฺจ ปฏิกงฺขามิ สมฺปชาโน ปติสฺสโต.  (ขุ. เถร. ๒๖/๔๐๙ เป็นคำพูดของพระ ขทิรวนิยเรวตเถระ ไม่ใช่ของพระสารีบุตรเถระ)

แปลว่า เราไม่ยินดีความตาย เราไม่ยินดีความเป็นอยู่ ทว่าเราได้แต่เฝ้ารอเวลาอยู่เท่านั้น เหมือนอย่างลูกจ้างเฝ้ารอค่าจ้างฉะนั้น เราไม่ยินดีความตาย เราไม่ยินดีความเป็นอยู่ ทว่าเราผู้มีสติเฉพาะหน้า มีสัมปชัญญะได้แต่เฝ้ารอเวลาอยู่เท่านั้น ดังนี้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบปฏิสันทหนปุคคลเวทิยนปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ชื่อปัญหาที่ ๔ นี้ ในอรรถกถาเป็น นัปปฏิสันทหนปุคคลเวทิยนปัญหา แปลว่า ปัญหาเกี่ยวกับการใช้เวทนาของบุคคลผู้ไม่มีปฏิสนธิ ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า

คำว่า ท่านผู้ใดจะไม่ปฏิสนธิ ความว่า ท่านผู้เป็นพระอรหันต์ใดจะไม่ปฏิสนธิ.  คำว่า เพราะยังไม่ระงับไป คือเพราะยังไม่ดับไป ความว่าเมื่อพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ กายประสาทก็ยังเป็นไป ยังไม่ระงับ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เช่นว่า ร้อนเกินไป เย็นเกินไป แข็งเกินไป เป็นต้น มากระทบกาย ท่านก็ย่อมเกิดความเจ็บปวด เมื่อมีไฟธาตุพลุ่งขึ้นมาจากพื้นกระเพาะในคราวที่ควรกลืนกินอาหารแล้วยังไม่ได้กลืนกิน ท่านก็เกิดความหิว เมื่อทรงกายอยู่ในอิริยาบถนั้นๆนานๆ ท่านก็เกิดความปวดเมื่อยขึ้น อย่างนี้เป็นต้น ความเจ็บปวด เป็นต้น ที่เกิดขึ้นชื่อว่าทุกขเวทนาทางกาย เพราะเหตุคือกายประสาทยังไม่ระงับ เพราะปัจจัยคืออัตภาพทั้งสิ้นอันเป็นที่ตั้งแห่งกายประสาทยังไม่ระงับ ท่านจึงเสวยทุกขเวทนาเหล่านั้น.  คำว่า เพราะระงับไป คือเพราะดับไป ความว่า ทุกขเวทนาทางใจที่เรียกว่าโทมนัส มีโทสะเป็นเหตุโดยเกี่ยวกับว่าเป็นมูล มีธรรมที่เกิดร่วมกันอื่นๆ มีผัสสะ วิตก วิจาร เป็นต้น เป็นปัจจัยโดยเกี่ยวกับว่าเป็นผู้อุปถัมภ์ เพราะเหตุและปัจจัยเหล่านั้นระงับดับไป คือถูกละไปด้วยกำลังแห่งมรรคภาวนา ทุกขเวทนาคือโทมนัสนั้นจึงระงับดับไป เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่มีการเสวยทุกขเวทนาทางใจ

ในคาถา คำว่า ทว่าเราได้แต่รอเวลาอยู่เท่านั้น ความว่า เราได้แต่รอเวลามรณะที่จะมาถึงเท่านั้น.  คำว่า เหมือนอย่างลูกจ้างเฝ้ารอค่าจ้าง ความว่า เปรียบเหมือนคำว่าลูกจ้างเฝ้ารอค่าจ้าง คือเวลาที่ลาภจะมาถึง ฉันใด เราก็เฝ้ารอเวลามรณะที่จะมาถึง ฉันนั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาที่ ๕ เวทนาปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสนสุขเวทนาเป็นกุศลหรือว่าอกุศลหรือว่า อัพยากตะ (ไม่ใช่ทั้งกุศลทั้งอกุศล) เล่า ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สุขเวทนาเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะ ก็มี.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า เวทนาถ้าหากเป็นกุศล ก็ย่อมไม่เป็นทุกข์ ถ้าหากเป็นทุกข์ก็ย่อมไม่เป็นกุศล คำว่า กุศลก็เป็นทุกข์ ดังนี้ฟังไม่ขึ้นหรอก

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ณ ที่นี้มีบุรุษคนหนึ่งวางก้อนเหล็กร้อนบนฝ่ามือข้างหนึ่ง วางก้อนหิมะเย็นบนฝ่ามือข้างที่สอง ขอถวายพระพร ฝ่ามือของเขาพึงไหม้เกรียมทั้ง ๒ ข้างหรือไร.  พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า ฝ่ามือของเขาพึงไหม้เกรียมทั้ง ๒ ข้าง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าฝ่ามือของเขาเย็นทั้ง ๒ ข้างหรือ.  พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอจงทราบเถิดว่า รับสั่งของพระองค์เป็นอันอาตมาภาพข่มได้แล้ว ถ้าหากก้อนเหล็กร้อนเท่านั้นแผดเผาได้ แต่ฝ่ามือของเขาไม่ได้ร้อนทั้งสองข้าง เพราะเหตุนั้นพระดำรัสของพระองค์ (ที่ว่า ใช่พระคุณเจ้า ฝ่ามือของเขาพึงไหม้เกรียมทั้งสองข้าง) ย่อมฟังไม่ขึ้น ถ้าหากว่าก้อนหิมะเย็นเท่านั้นแผดเผาเอาได้ แต่ฝ่ามือของเขาก็มิได้เย็นทั้งสองข้าง เพราะเหตุนั้น พระดำรัสของพระองค์ย่อมฟังไม่ขึ้น ขอถวายพระพร ก็ฝ่ามือของเขาไหม้เกรียมไปทั้ง ๒ ข้างได้อย่างไรเล่า เพราะว่าฝ่ามือของเขาไม่ได้ร้อนทั้งสองข้าง และไม่ได้เย็นทั้งสองข้างเลย ฝ่ามือข้างหนึ่งร้อน ฝ่ามือข้างหนึ่งเย็น แต่ก็ไหม้เกรียมทั้งสองมือ เพราะฉะนั้น พระดำรัสของพระองค์ย่อมฟังไม่ขึ้น

พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถพอที่จะโต้ตอบกับท่านผู้เป็นเจ้าวาทะได้หรอก ขอได้โปรดอธิบายความด้วยเถิด ต่อจากนั้นไปพระเถระก็ได้ถวายวิสัชนา กระทำพระเจ้ามิลินท์ให้ส่งเข้าใจ ด้วยคำพูดที่ประกอบด้วยพระอภิธรรม ดังนี้ ว่า

ขอถวายพระพรมหาบพิตร เคหนิสสิตโสมนัส (โสมนัสอาศัยเรือน) มี ๖ อย่างเหล่านี้ เนกขัมมนิสสิตโสมนัส (โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ) ก็มี ๖ อย่าง เคหนิสสิตโทมนัส (โทมนัสอาศัยเรือน) ก็มี ๖ อย่าง เนกขัมมนิสสิตโทมนัส (โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ) ก็มี ๖ อย่าง เคหนิสสิตอุเบกขา (อุเบกขาอาศัยเรือน) ก็มี ๖ อย่าง เนกขัมมนิสสิตอุเบกขา (อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ) ก็มี ๖ อย่าง เวทนามี ๖ หมวดเหล่านี้ เวทนาแม้ที่เป็นอดีตมี ๓๖ เวทนาแม้ที่เป็นอนาคตมี ๓๖ เวทนาแม้ที่เป็นปัจจุบันมี ๓๖ รวมรวบรวมเวทนาทั้งหมดนั้นเข้าด้วยกัน ก็เป็นเวทนา ๑๐๘ เป็นต้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบเวทนาปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับเวทนา ชื่อว่า เวทนาปัญหา

พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “เวทยิตํ สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา, ตมฺปิ ทุกฺขํ – เวทนา สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม อทุกขมสุข (อุเบกขา) ก็ตาม เวทนาแม้นั้น เป็นทุกข์ ดังนี้ความว่า เวทนาทุกอย่างเป็นทุกข์”

จริงอย่างนั้น สุขเวทนา ก็จัดว่าเป็นทุกข์ โดยเป็น วิปริณามทุกข์ (ทุกข์คือสภาพที่แปรปรวนไป คือดับไป หมดสิ้นไปเพราะเป็นของไม่เที่ยง) ทุกขเวทนา ก็จัดว่าเป็นทุกข์ โดยเป็นทุกขทุกข์ (ทุกข์ คือสภาวะที่สัตว์ทั้งหลายทนได้ยาก) อุเบกขาเวทนา ก็จัดว่าเป็นทุกข์ โดยเป็นสังขาราทุกข์ (ทุกข์คือสภาพที่สังขารทั้งหลายมีอันถูกความเกิดขึ้นและความดับไปบีบคั้น) ก็เวทนาทั้งหลายอะไรๆ ที่แตกไปโดยชาติ โดยภูมิ เป็นต้น ได้มากมาย ทั้งหมดล้วนสงเคราะห์เข้าในเวทนา ๓ อย่างเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเวทนาทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นทุกข์ เวทนาแม้เป็นกุศล ก็เป็นทุกข์ กล่าวคือสุขเวทนาที่เป็นกุศลย่อมเป็นวิปริณามทุกข์ อย่างนี้ เป็นต้น

พระเจ้ามิลินท์ทรงกระทำไว้ในพระทัย ว่า เวทนาหากว่าเป็นอกุศล การจะกล่าวว่าเป็นทุกข์ ก็สมควรรับฟังได้ เพราะเป็นของไม่น่าปรารถนา แต่เวทนาหากว่าเป็นกุศลอันเป็นสภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลทุกอย่าง การจะกล่าวว่า เป็นทุกข์ เช่นเดียวกับอกุศลนั้นนั่นแหละอีก นี้ไม่น่าฟังเลย ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า “คำว่า กุศลก็เป็นทุกข์ ดังนี้ ฟังไม่ขึ้นหรอก” ดังนี้

คำว่า ถ้าหากก้อนเหล็กร้อนเท่านั้นแผดเผาเอาได้ แต่ฝ่ามือของเขาไม่ได้ร้อนทั้ง ๒ ข้าง ความว่า ถ้าหากว่าก้อนเหล็กร้อนเท่านั้นมีความสามารถแผดเผาได้ ก้อนหิมะไม่มีความสามารถแผดเผาได้ ไซร้ แต่ฝ่ามือของเขาไม่ได้ร้อนทั้ง ๒ ข้าง เพราะอีกข้างหนึ่งมีก้อนหิมะเย็นวางอยู่ เพราะเหตุไร ฝ่ามือที่มีก้อนหิมะเย็นวางอยู่ก็ไหม้เกรียมเช่นกันเล่า

คำว่า เพราะฉะนั้น พระดำรัสของพระองค์ ย่อมฟังไม่ขึ้น ความว่า เพราะฉะนั้น พระดำรัสของพระองค์ที่ว่า ใช่พระคุณเจ้า ฝ่ามือของเขาพึงไหม้เกรียมไปทั้ง ๒ ข้าง ดังนี้ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อมือที่มีของร้อนวางอยู่เท่านั้นพึงไหม้เกรียมได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ มือที่มีของเย็นวางอยู่ก็ไม่น่าจะไหม้เกรียมด้วย แม้คำว่า ถ้าหากว่าก้อนหิมะเท่านั้น แผดเผาเอาได้ เป็นต้น ก็พึงทราบความหมาย ตามนัยที่กล่าวมาแล้วนี้

บัณฑิตพึงทราบการเปรียบเทียบด้วยอุปมา อย่างนี้ ว่า เปรียบเหมือนว่า ก้อนเหล็กร้อนกับก้อนหิมะเย็น แม้มีส่วนติดกันด้วยลักษณะที่ร้อนกับเย็น ถึงกระนั้น เมื่อวางบนฝ่ามือแต่ละข้าง สิ่งของเหล่านี้ ก็ชื่อว่ามีส่วนเหมือนกันด้วยการแผดเผาฝ่ามือให้ไหม้เกรียมได้เสมอกัน ฉันใด กุศลเวทนากับอกุศลเวทนา แม้ว่ามีส่วนผิดกันด้วยชาติคือ กุศลกับอกุศล ถึงกระนั้นเวทนาทั้ง ๒ นี้ ก็ชื่อว่ามีส่วนเหมือนกันด้วยต่างถึงความเป็นทุกข์ หาสุขสาระอะไรๆ ไม่ได้ฉันนั้น

คำว่า ขอถวายพระพร เคหนิสสิตโสมนัสมี ๖ อย่างเหล่านี้ ความว่า โสมนัสที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้ อิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ๖ อย่างคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรม ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าชอบใจ หรือแม้ยังไม่ได้แต่หวังอยู่ว่าจะได้ หรือแม้ตามคำนึงถึงอิฏฐารมณ์ที่เคยได้ซึ่งดับไปแล้วชื่อว่า เคหนิสสิตโสมนัส มี ๖ อย่างตามอารมณ์เหล่านั้นนั่นเอง เป็นโสมนัสที่อาศัยกามคุณเกิดขึ้น ด้วยว่าคำว่าเ เคหะ – เรือน ในที่นี้ เป็นชื่อเรียกกามคุณทั้งหลาย

โสมนัสที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบว่าอารมณ์ ๖ มี รูป เป็นต้นเหล่านั้นไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไป มีความคลายไป มีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วยินดีบันเทิงใจอยู่ว่า เราจะพ้นจากชรามรณะ จากทุกข์ทั้งปวง ด้วยปฏิปทาที่เราบำเพ็ญได้นี้ละหนอ เราเป็นผู้มีส่วนรู้ธรรมเห็นธรรมที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายรู้แล้วเห็นแล้วนั้นหนอ ดังนี้ ชื่อว่า เนกขัมมนิสสิตโสมนัส ในที่นี้ ท่านเรียกกุศลเครื่องออกจากกาม คือวิปัสสนาปัญญา ว่า เนกขัมมะ

โทมนัสที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประสบอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) มีรูปที่ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารัก ไม่น่าชอบใจ เป็นต้น ชื่อว่า เคหนิสสิตโทมนัส.   โทมนัสที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้แม้ทำวิปัสสนาปัญญาให้เกิดได้ เห็นแล้วด้วยปัญญาอันชอบว่าอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นต้น แต่เมื่อไม่อาจทำปัญญาให้ก้าวหน้าไปจนบรรลุถึงมรรค แม้โดยอาศัยเวลาอันยาวนาน ก็ย่อมเสียใจ เศร้าโศก เป็นทุกข์อยู่ว่า เห็นทีว่าเราไม่อาจหยั่งลงสู่อริยภูมิในอัตภาพนี้แล้วเป็นแน่ เราต้องตายทั้งๆ ที่ยังเป็นปุถุชนดังนี้ชื่อว่า เนกขัมมนิสสิตโทมนัส.  พึงทราบ เคหนิสสิตอุเบกขา และ เนกขัมมนิสสิตอุเบกขา ในคราวที่ปรารภอิฏฐารมณ์อย่างปานกลางหรือแม้อนิฏฐารมณ์อย่างปานกลางตามทำนองดังกล่าวแล้วนั้นนั่นแหละมีข้อแตกต่างกันเพียงว่านั่นเป็นโสมนัสหรือโทมนัสแต่นี่เป็นอุเบกขาก็เวทนานี้ท่านเรียกว่าอุเบกขาก็โดยเกี่ยวกับวางเฉย ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจในอารมณ์ทั้งหลาย.  เคหนิสสิตโสมนัสมี ๖ อย่าง ตามอารมณ์ซึ่งมี ๖ อย่างฉันใด แม้เวทนาที่เหลืออีก ๕ อย่าง มี เนกขัมมนิสสิตโสมนัสเป็นต้น ก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นเวทนา ๓๖ อย่าง เป็นอดีต ๓๖ เป็นอนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ จึงรวมเป็นเวทนา ๑๐๘ อย่างฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๗

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: