อินทรีย์สังวรศีล มีความสำคัญเป็นไฉน ? ในวิสุทธิมรรคตอนที่ว่าด้วยเหตุให้อินทรีย์สังวรศีลสำเร็จ ถึงกับกล่าวว่า เมื่ออินทรีย์สังวรศีลภิกษุไม่กระทำให้ถึงพร้อมแล้ว แม้ปาติโมกขสังวรศีลก็ย่อมไม่เป็นอันยั่งยืน
ตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนข้าวกล้าที่ไม่มีการล้อมรั้วป้องกันไว้ให้ดีเช่นนั้นนั่นแหละ เพราะว่า ภิกษุผู้ไม่กระทำอินทรีย์สังวร
ให้ถึงพร้อม ย่อมถูกพวกโจร คือกิเลสทั้งหลายเบียดเบียนได้ เหมือนบ้านที่มีประตูเปิดไว้ ย่อมถูกพวกโจรผู้มีการปล้นผู้อื่นเป็นปกติ เบียดเบียนเอาได้ สมดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ใน สํ.สฬายตน 18/210 ว่า :-
"รูเปสุ สทฺเทสุ อโถ รเสสุ, คนฺเธสุ ผสฺเสสุ จ รกฺขตินฺทฺริยํ, เอเต หิ ทฺวารา ปิทหิตา สุสํวุตา, น หนนฺติ คามํว ปรสฺส หาริโน.”
ความว่า "ภิกษุพึงรักษาอินทรีย์ ในเพราะ รูป เสียง รส กลิ่น และ สัมผัสทั้งหลาย เพราะว่า ทวารทั้งหลายที่ปิดกั้น ป้องกันไว้ดีแล้วเหล่านี้ ย่อมเบียดเบียนไม่ได้ เหมือนเหล่าโจรผู้มีการปล้นผู้อื่นเป็นปกติ เบียดเบียนบ้านที่มีประตูปิดกั้นแล้ว ไม่ได้นั่นแล
และใน ข.ขุ.25/16 ว่า :- "ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ, วุฏฺฐิ น สมติวิชฺฌติ, เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ, ราโค น สมติวิชฺฌติ.”
ความว่า "ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงบังดีแล้ว ไม่ได้ฉันใด ราคะก็ย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้ว ไม่ได้ฉันนั้นแล.”
ถามว่า สภาวะอันเป็นองค์ธรรมของปาติโมกขสังวรศีล และของอินทรีย์สังวรศีลเป็นไฉน ?
ตอบว่า อินทรีย์สังวรศีลเป็นการสำรวมทวารการรับรู้อารมณ์ ขณะเห็น ขณะได้ยินเป็นต้น โดยการไม่ถือเอานิมิต(รูปร่างและสันฐาน) และไม่ถือเอาอนุพยัญชนะ(อวัยวะและอาการ)อันเป็นอาหารของวิปัลลาส จึงป้องกัน อนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส และ วีติกกมกิเลสได้ครบ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสำทับความว่าอภิชฌา(ความยินดี)และโทมนัส(ควายินร้าย)เข้าอาศัยไม่ได้ ส่วนปาติโมกขสังวรศีลเป็นการสำรวมขณะห้ามการดู การฟัง การฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น จึงเป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับวีติกกมกิเลสเท่านั้น คือไม่ก้าวล่วง ทวารกายกรรม มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ทวารวาจากรรมมีการพูดเท็จเป็นต้น และทั้งทวารกายกรรมทั้งทวารวาจากรรม มีการชักนำผู้อื่นให้ร่วมปล้นด้วยเป็นต้น
ถามว่า ความว่าไม่ถือเอานิมิตอนุพยัญชนะ สิ่งใดมีจริงเป็นจริงก็ให้ถือเอาตามนั้น จะพึงปฏิบัติเช่นไร.?
ตอบว่า ในคัมภีร์นิสสย ท่านอธิบายขยายความว่า การไม่ถือเอา คือการกำหนดป้องกันอัตตวิปัลลาส(สักกายทิฏฐิ)ด้วยสติ ปัญญารู้ทันความจริงด้วยสัมปชัญญะ มีดังนี้
1. ทางตา ขณะเห็น เพราะมีความเห็นผิดว่า “เราเห็น” ที่ถูกต้อง คือนาม จักขุวิญญาณเห็น จึงต้องกำหนดรู้ว่า “นามจักขุวิญญาณเห็น”
2. ทางหู ขณะได้ยิน เพราะมีความเห็นผิดว่า “เราได้ยิน” ที่ถูกต้อง คือ โสตวิญญาณได้ยิน จึง ต้องกำหนดรู้ว่า ” นามโสตวิญญาณได้ยิน “
3.ทางจมูก ขณะได้กลิ่น เพราะมีความเห็นผิดว่า ” เราเหม็น เราหอม ” ที่ถูกต้อง คือ รูปเหม็น รูปหอม จึงต้อกำหนดรู้ว่า “รูปเหม็น รูปหอม”
4.ทางลิ้น ขณะลิ้มรส เพราะมีความเห็นผิดว่า “เราเปรี้ยว เราหวานเป็นต้น” ที่ถูกต้อง คือ รูปเปรี้ยว รูปหวานเป็นต้น จึงต้องกำหนดรู้ว่า “รูปเปรี้ยว รูปหวานเป็นต้น”
5.ทางกาย ขณะที่ความเย็นร้อน ความอ่อนแข็ง ความหย่อนตีงกระทบที่กาย เพราะมีความเห็นผิดว่า “เราเย็น เราร้อนเป็นต้น”ที่ถูกต้อง คือ รูปเย็น รูปร้อนเป็นต้น จึงต้องกำหนดรู้ว่า “รูปเย็น รูปร้อน เป็นต้น”
6.ทางใจ ขณะที่รับรู้อารมณ์ทางใจ(ธรรมารมณ์ ซึ่งมีทั้งนามและรูป)เมื่อมีความเห็นผิดว่าเป็นเราที่นามหรือที่รูป ก็ให้กำหนดรู้ที่รูปหรือที่นามนั้น เช่น รูปอิริยาบทบรรพในสติปัฏฐาน มี รูปยืน รูปเดิน เป็นต้น ก็เป็นรูปที่รับรู้ได้ทางใจ และเกิดความเห็นผิดว่า เป็นเรายืน เราเดินเป็นต้น ดังนั้นการไม่ถือเอานิมืตอนุพยัญชนะในอินทรีย์สังวรศีล จึงมีสภาวธรรมเป็นอันเดียวกันกับสติปัฏฐาน คือสติที่กำหนดเป็นไปเช่นนั้น เพื่อป้องกันอัตตวิปัลลาสไม่ให้อิงอาศัย
ส่งผลให้ความยินดี(อภิชฌา) ความยินร้าย(โทมนัส)เกิดขึ้นไม่ได้นั่นเอง อินทรีย์สังวรศีลจึงมีอยู่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น และการที่พระพุทธองค์ทรงเลือกแสดงเป็นอินทรีย์สังวรศีล หรือสติปัฏฐาน
ก็ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ นานาธิมุตติกญาณ และ อินทริยปโรปริยัตตญาณ เพื่อให้เหมาะแก่จริต อัทธยาศัยในการบรรลุธรรมของเหล่าสัตว์ทั้งหลายนั่นแล
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
0 comments: