วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

“นิโรธ กับ นิพพาน” เหมือน หรือต่างกันอย่างไร?

“นิโรธ กับ นิพพาน” ตามรูปศัพท์ มีความต่างกัน แต่โดยความหมาย ก็เหมือนกัน คือ

“นิโรธ” แปลว่า “ดับ” ซึ่งหมายถึง ดับกิเลส และดับขันธ์ ๕

“นิพพาน” (นิ+วาน) แปลว่า ออกจากเครื่องร้อยรัดคือตัณหา ความหมายก็คือ ละตัณหาได้ทั้งหมด ด้วยอำนาจแห่งมรรคทั้ง ๔ (โสดาปัตติมรรค, สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตตมรรค)

ความยิ่ง-หย่อนแห่งศัพท์อาจมีแปลกกันบ้าง คือ

“นิโรธ” มีใช้หลายระดับ คือ 

๑) ตทังคนิโรธ ดับกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ ด้วยอำนาจแห่งศีล หรือด้วยวิปัสสนาญาณ

๒) วิกขัมภณนิโรธ ดับกิเลสด้วยการกดทับไว้ด้วยองค์ฌาน ๕

๓) สมุจเฉทนิโรธ ดับกิเลสด้วย มรรคทั้ง ๔ (มรรคจิต) กำลังละกิเลส

๔) นิสสรณนิโรธ ดับเพราะออกแล่นออกไปแล้ว (ผลจิต) ละกิเลสเสร็จเรียบร้อยแล้ว

๕) ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับ เพราะสงบระงับกิเลสและสังขารธรรมทั้งปวง มุ่งหมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน คือการดับสิ้นแห่งขันธ์ ๕ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

คำว่า “นิโรธ” ในอริยสัจจ์ ๔ หมายเอา นิพพาน (ซึ่งเป็นวิสังขารธรรม) ไม่ใช่มรรคจิต-ผลจิต

ส่วนคำว่า “นิพพาน” มุ่งหมายเอาภาวะที่ไม่ใช่ จิต เจตสิก แต่เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งที่รับรู้ได้ด้วยมรรคจิต ผลจิต โดยปกติแบ่งออกเป็น ๒ หรือ ๓ คือ

๑) อุปาทิเสสนิพพาน ภาวะที่กิเลสดับหมด

๒) อนุปาทิเสสนิพพาน ภาวะที่ขันธ์ ๕ ดับหมด

หมายความว่า ภาวะที่กิเลสถูกมรรคทั้ง ๔ ละเป็นสมุจเฉทปหาณ ในขณะแห่งมรรคจิตทั้ง ๔ เกิดขึ้น กับบุคคลนั้น ๆ และบุคคลนั้น ๆ (ปุคคลบัญญัติ) ยังมีชีวิตอยู่ เช่น เช่นพระพุทธเจ้า ขณะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนั้นถือว่ากิเลสดับหมดด้วยอำนาจแห่งมรรคทั้ง ๔ ขณะนั้นเรียกว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” จากนั้นก็ยังดำรงพระชนม์อยู่ถึง ๔๕ ปี จึงดับขันธปรินิพพาน (สิ้นชีวิต) ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา การสิ้นชีวิตนั้นนั่นแล เรียกว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” เพราะขันธ์ ๕ ดับ ไม่สืบต่ออีกแล้ว

“นิโรธ กับ นิพพาน” เมื่อมุ่งหมายเอาภาวะที่สูงสุดแล้ว จึงมีความหมายที่มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ๑) มรรคจิต ๒) ผลจิต ๓) นิพพาน

ตัวมรรคจิต เป็นภาวะที่กำลังประหาณกิเลส ด้วยอำนาจแห่งองค์มรรคทั้ง ๘, ส่วนผลจิต ซึ่งเกิดต่อจากมรรคจิตนั้น เป็นขณะที่ได้ทำการประหารกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว,  ขณะเดียวกันที่มรรคจิต – ผลจิตเกิดขึ้นนั้น ก็มีนิพพาน คือภาวะที่ปราศจากกิเลสและขันธ์ ๕ นั้น เป็นอารมณ์ให้ คือทำให้มรรคจิต-ผลจิตยึดหน่วงและเกิดขึ้นได้, ถ้าไม่มีอารมณ์ คือนิพพาน มรรคจิต ผลจิต ก็เกิดไม่ได้ เพราะจิตทุกดวง ต้องมีอารมณ์เป็นที่ยึดหน่วง.

ในที่บางแห่ง หากให้ความหมายคำว่า “นิพพาน” ว่า “ดับ” ศัพท์ว่า “นิพพาน” ก็จะแบ่งระดับออกเป็น ๕ อย่าง เหมือนกับศัพท์ว่า “นิโรธ ๕ อย่าง” เหมือนกัน มีคำว่า “ตทังคนิพพาน” เป็นต้น. โดยความหมายในขั้นสูงสุดแล้ว “นิโรธ กับ นิพพาน” ก็มีความหมายเป็นเช่นเดียวกันแล. ส่วนนิพพาน ที่มีลักษณะ ๓ อย่าง นั้น ได้แก่

๑) อนิมิตตนิพพาน ภาวะของนิพพานไม่มีนิมิตเครื่องหมาย สีสรร วรรณะ

๒) อัปปณิหิตนิพพาน ภาวะของนิพพานไม่มีอารมณ์ที่น่าปรารถนา และไม่มีโลภะ

๓) สุญญตนิพพาน ภาวะของนิพพานว่างเปล่าสูญสิ้นกิเลสและขันธ์ ๕ ทั้งปวง

ที่มา : http://dhamma.serichon.us



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: