มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๘) ปัญหาที่ ๖ นามรูปเอกัตตนานัตตปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสนใครปฏิสนธิ ? พระเถระถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร นามรูปแล ปฏิสนธิ. พระเจ้ามิลินท์, นามรูปนี้นี่แหละหรือ ปฏิสนธิ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร หาใช่นามรูปนี้นี่แหละปฏิสนธิไม่ ขอถวายพระพร บุคคลย่อมทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง ด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นจึงปฏิสนธิเพราะกรรมนั้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ถ้าหากว่านามรูปนี้นี่แหละไม่ได้ปฏิสนธิไซร้ บุคคลผู้นั้นก็จะเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้ ไม่ใช่หรือ. พระเถระถวายวิสัชนาว่า ถ้าหากนามรูปไม่อาจปฏิสนธิได้ ไซร้ เขาก็พึงเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลาย ขอถวายพระพร แต่เพราะเหตุที่นามรูป ย่อมปฏิสนธิเพราะเหตุนั้น เขาก็ไม่อาจเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่งขโมยผลมะม่วงของบุรุษคนหนึ่งไป บุรุษผู้เป็นเจ้าของมะม่วงจึงจับเอาบุรุษคนนั้นไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ นายคนนี้ขโมยผลมะม่วงของข้าพระองค์พระเจ้าข้า บุรุษผู้ขโมยผลมะม่วงนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ ข้าพระองค์ไม่ได้ขโมยผลมะม่วงของนายคนนี้ ผลมะม่วงที่นายคนนี้เพาะปลูก (จนงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วงภายหลัง) เป็นผลมะม่วงอื่น ผลมะม่วงที่ข้าพระองค์เก็บมาเป็นผลมะม่วงอื่นอีกต่างหาก ถ้าพระองค์ไม่น่าเป็นผู้ต้องรับโทษพระเจ้าข้า ดังนี้ขอถวายพระพร บุรุษผู้ขโมยผลมะม่วงนั้น พึงเป็นผู้ต้องรับโทษหรือไรหนอ
พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้าเขาเพิ่งเป็นผู้ต้องรับโทษ. พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ. พระเจ้ามิลินท์, บุรุษผู้ขโมยมะม่วงนั้น อาจกล่าวอย่างนี้ได้ก็จริงอยู่ พระคุณเจ้า ผู้นั้นบอกปัดผลมะม่วงผลก่อนไม่ได้หรอก พึงเป็นผู้ต้องรับโทษเพราะมะม่วงผลหลัง. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษย่อมทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง ด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นจึงปฏิสนธิเพราะกรรมนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง ขโมยข้าวสาลีของบุรุษอีกคนหนึ่ง ฯลฯ ขโมยอ้อยของบุรุษอีกคนหนึ่ง ฯลฯ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ในฤดูหนาวบุรุษคนหนึ่งก่อไฟขึ้น ผิงไฟยังไม่ทันทำให้ดับไป ก็ไปที่อื่นเสีย ไฟนั้นก็พึงไหม้นาของบุรุษอีกคนหนึ่ง บุรุษผู้เป็นเจ้าของนาจึงจับเอาตัวบุรุษผู้นี้นั้นไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ นายคนนี้เผานาของข้าพระองค์พระเจ้าข้า บุรุษผู้เผานานั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ ข้าพระองค์ไม่ได้เผานาของนายคนนี้ ไฟที่ข้าพระองค์ยังมิได้ดับเป็นไฟอีกกองหนึ่ง ไฟที่เผานาของนายคนนี้ก็เป็นไปอีกกองหนึ่ง ข้าพระองค์ไม่น่าเป็นผู้ต้องรับโทษถ้าเจ้าข้า ดังนี้ ขอถวายพระพร บุรุษผู้ก่อไฟนั้น พึงเป็นผู้ต้องรับโทษหรือไรหนอ
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่ง พึงถือประทีปย่างขึ้นปราสาท (เรือน) แล้วบริโภคอาหาร ประทีปที่ลุกติดอยู่ก็ไปเผาเอาหญ้าเข้า หญ้าที่ลุกติดอยู่ก็ไปเผาเอาเรือนเข้า เรือนที่ลุกติดอยู่ก็เป็นเผาเอาละแวกบ้านเข้า ชาวบ้านจึงจับเอาบุรุษตัวบุรุษผู้นั้นไว้ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า นายเอ๋ยทำไมนายจึงเผาละแวกบ้านเสียละ บุรุษผู้นั้นจึงกล่าวกับชาวบ้านอย่างนี้ว่า นายเอ๋ย ฉันไม่ได้เผาละแวกบ้าน ไฟประทีปที่ฉันได้อาศัยแสงสว่างกินข้าว เป็นไฟอีกกองหนึ่ง ไฟที่เผาละแวกบ้านก็เป็นไฟอีกกองหนึ่ง ดังนี้คนเหล่านั้นทะเลาะกันพากันมาที่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงจัดการยอมรับคำฟ้องของใคร
พระเจ้ามิลินท์, ของชาวบ้าน พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ. พระเจ้ามิลินท์, บุรุษคนนั้นอาจกล่าวอย่างนี้ได้ก็จริง แต่ทว่าไฟที่เผาละแวกบ้านนั้น ก็บังเกิดจากไปประทีปนั้นนั่นแหละ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น เหมือนกันนามรูปก่อนตายในภพก่อนก็ส่วนหนึ่ง นามรูปคราวปฏิสนธิก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ทว่านามรูปในคราวปฏิสนธินั้นก็บังเกิดจากนามรูปก่อนตายนั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งสู่ขอเด็กหญิง หมั้นแล้วก็ไปเสีย สมัยต่อมาเด็กหญิงคนนั้นก็ถึงวัยเป็นผู้ใหญ่ ต่อมาก็มีบุรุษอีกคนหนึ่งมาหมั้นแล้วทำการวิวาห์ บุรุษคนก่อนนี้กลับมาแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า นี่แน่ นายเอ๋ย เพราะเหตุใดนายจึงพาภรรยาของฉันไปเสียเล่า ดังนี้ บุรุษคนดังนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ฉันไม่ได้พาภรรยาของนายไปหรอก เด็กหญิงวัยรุ่นที่นายสู่ขอและหมั้นไว้นั้น เป็นอีกคนหนึ่ง เด็กหญิงที่ถึงวัยเป็นผู้ใหญ่แล้วที่ฉันสู่งขอและหมั้นแล้วก็เป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ คนทั้งสองนั้นทะเลาะกัน พากันมาที่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงยอมรับคำฟ้องของใคร
พระเจ้ามิลินท์, บุรุษคนก่อน พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เพราะเหตุไรหรือ. พระเจ้ามิลินท์, บุรุษคนที่ ๒ นั้นอาจกล่าวอย่างนี้ก็ได้จริง แต่ทว่าหญิงที่เป็นผู้ใหญ่นั้น ก็บังเกิดจากเด็กผู้หญิงนั้นนั่นแหละ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน นามรูปก่อนตายก็เป็นส่วนหนึ่ง นามรูปคราวปฏิสนธิก็เป็นอีกส่วนหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ทว่านามรูปในคราวปฏิสนธินั้นก็บังเกิดจากนามรูปก่อนตายนั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่งซื้อนมสดหม้อหนึ่งจากมือของคนเลี้ยงโค ยังคงวางหม้อนมไว้ในมือของคนเลี้ยงโคนั้นนั่นแหละ (ยังไม่ได้รับเอาไป) กล่าวว่าพรุ่งนี้ฉันจะมารับไป ดังนี้แล้วก็ไปเสีย วันต่อมานมสดหม้อนั้นก็กลายเป็นนมส้มไป บุรุษคนนั้นกลับมากล่าวอย่างนี้ว่า จงเอาหม้อนมสดมาให้เรา ดังนี้คนเลี้ยงโคนั้นก็มอบนมส้มให้ไป บุรุษคนก่อนนี้ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ฉันไม่ได้ซื้อนมส้มจากมือของนาย จงเอาหม้อนมสดมาให้ฉัน ดังนี้ นายคนเลี้ยงโคนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า นมสดของท่านผู้ไม่รู้อะไร กลายเป็นนมส้มไปแล้ว คนทั้งสองทะเลาะกันพากันไปที่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงยอมรับคำฟ้องของใคร
พระเจ้ามิลินท์, ของคนเลี้ยงโคพระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เพราะเหตุไรหรือ. พระเจ้ามิลินท์, บุรุษคนนั้นอาจกล่าวอย่างนี้ได้ก็จริง แต่ทว่านมส้มนั้นก็บังเกิดจากนมสดนั้นนั่นแหละ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน นามรูปก่อนตายก็เป็นส่วนหนึ่ง นามรูปในคราวปฏิสนธิก็เป็นอีกส่วนหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ทว่านามรูปในคราวปฏิสนธินั้นก็บังเกิดจากนามรูปก่อนตายนั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบนามรูปเอกัตตนานัตตปัญหาที่ ๖
คำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอันเดียวกันหรือความเป็นคนละอย่างกันแห่งนามรูป ชื่อว่า นามรูปเอกัตตนานัตตปัญหา. เมื่อพระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ใครปฏิสนธิ พระเถระถวายวิสัชนาทำการปฏิเสธสัตว์บุคคลผู้ปฏิสนธิ ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร นามรูปแลปฏิสนธิ ในคำวิสัชนานั้นพระเถระ น่าจะกล่าวว่า วิญญาณไปปฏิสนธิ เพราะการปฏิสนธิเป็นกิจของวิญญาณอันเป็นวิบาก (ผล) ของกรรมดีกรรมชั่ว ตามพระบาลีที่ว่า :-
"ปฏิสนฺธิ วิญฺญาณํ โอกฺกนฺติ นามรูปํ. (ขุ ปฺ ๓๑ / ๖๗) ปฏิสนธิชื่อว่าเป็นวิญญาณ การก้าวลงชื่อว่านามรูป"
แต่ท่านกลับกล่าวว่า “นามรูป ปฏิสนธิ” เพราะเมื่อกล่าวอย่างนี้ ก็เป็นอันสงเคราะห์วิญญาณเข้าด้วยนามนั้นนั่นแหละ เพราะวิญญาณก็เป็นนามขันธ์อย่างหนึ่งในบรรดานามขันธ์ ๔ อย่าง และเพราะในขณะปฏิสนธิอันเป็นขณะแรกแห่งภพใหม่นั้น วิญญาณก็มีความเป็นไปพร้อมกับนามรูป แม้ในกาลต่อมาหลังจากปฏิสนธิแล้วก็เป็นอย่างนั้น วิญญาณและนามรูปย่อมเป็นไปด้วยกัน (ในเทศนาปฏิจจสมุปบาท บทว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามรูป – เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูปนั้น พึงทราบว่า ยกเว้นวิญญาณขันธ์อันตั้งอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยเสีย นามขันธ์ ๓ ที่เหลือ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และ สังขารขันธ์ อันเกิดร่วมกับปฏิสนธิวิญญาณนั้นนั่นแหละ และรูปขันธ์ ชื่อว่า นามรูป) กล่าวง่ายๆ ว่า จิตใจความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงนั่นเอง เรียกว่า นาม คำว่านาม แปลว่า ธรรมชาติที่น้อมไปสู่อารมณ์คือรู้อารมณ์ ธรรมชาตินี้ไม่มีอยู่ในคนที่ตายแล้ว คำว่า นาม ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชื่ออัตภาพร่างกายที่ค่อยๆ เจริญเติบโตไปตามวัย ตามลำดับนั่นเอง เรียกว่า รูป ก็การถือเอาว่า สัตว์ ว่า บุคคล อันพ้นไปจากนามรูปหามีไม่. คำว่า นามรูปนี้นี่แหละ หรือ ปฏิสนธิ ความว่า นามรูปที่กำลังเป็นไปในภพนี้นี่แหละหรือ หลังจากตายก็จะปฏิสนธิ (สืบต่อภพใหม่, เกิดใหม่) ในภพหน้า หรือว่านามรูปนี้สูญสิ้นไปพร้อมกับความตาย นามรูปอื่นปฏิเสธเล่า
คำว่า บุคคลย่อมทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง ด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นจะปฏิสนธิ ความว่า อาศัยธรรมสันตติ (ธรรมคือนามรูป ที่เป็นไปสืบต่อกัน) จึงเกิดสมมุติว่า สัตว์ ว่าบุคคล เมื่อมีการทำกรรมดีบ้างชั่วบ้าง ชั่วบ้างในความสืบต่อนั้น กรรมนั้นนั่นแหละ ย่อมเป็นปัจจัย ทำนามรูปอื่นให้ปฏิสนธิคือให้ตั้งขึ้นในภพใหม่. คำว่า ถ้าหากว่านามรูปนี้นี่แหละไม่ได้ปฏิสนธิไซร้ บุคคลผู้นั้นก็พึงเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายมิใช่หรือ ความว่า เมื่อสัตว์หรือบุคคลไม่มีโดยปรมัตถ์ เรียกนามรูปที่เป็นไปสืบต่อกันนั้นเองว่า สัตว์ ว่า บุคคล เพราะฉะนั้น คำว่าบุคคลทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้างด้วยนามรูปนี้ จึงมีความหมายว่านามรูปเป็นที่เป็นไปสืบต่อกันนั้นนั่นแหละ เป็นผู้ทำกรรมดีบ้างชั่วบ้าง ถ้าว่านามรูปนี้ทำกรรมชั่วไว้ แต่นามรูปอื่นกลับปฏิสนธิในนรกเพราะกรรมชั่วนั้นไซร้ ก็ย่อมชื่อว่า บุคคลนี้ทำกรรมชั่วไว้แต่บุคคลอื่นรับผลของกรรมชั่วนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ใดทำกรรมชั่ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าพ้นจากกรรมชั่ว คือไม่ต้องรับผลแห่งกรรมชั่วที่ตนทำ
คำว่า ถ้าหากนามรูปไม่อาจปฏิสนธิได้ไซร้ เขาก็พึงเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลาย เป็นต้น ความว่า ถ้าหากบุคคลแม้กระทำชั่วด้วยนามรูปนี้ไว้แล้ว ก็ไม่มีนามรูปอื่นปฏิสนธิไซร้ ก็พึงกล่าวได้ว่า เขาพึงเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่ว แต่เพราะได้ทำกรรมชั่วด้วยนามรูปนี้ไว้แล้วนั่นเทียว นามรูปอื่นจึงมีอีก ด้วยอำนาจการปฏิสนธิในภพใหม่เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้นั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้. ความจริง นามรูปบังเกิดเพราะเหตุหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะกรรมเท่านั้น เหตุเหล่านั้นมี ๔ อย่าง ได้แก่ อวิชชาความไม่รู้สัจธรรม ๑, ตัณหา ความอยาก ๑, อุปาทานความยึดมั่น ๑, กรรม กรรมดีกรรมชั่วที่สัตว์ทำไว้ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า :-
"อวิชฺชา ตณฺหา อุปาทานํ กมฺมนฺติ อิเม จตฺตาโร ธมฺมา นิพฺพตฺตกตฺตา เหตุ. (วิสุทฺธิมคฺค. ๓/๒๖๓ ฉบับภูมิพโลภิกขุ)
แปลว่า ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ชื่อว่าเหตุแห่งนามรูปเพราะเป็นผู้ทำให้บังเกิด ดังนี้ แต่พระเถระกล่าวถึงกรรมเท่านั้นว่าเป็นเหตุแห่งนามรูป เพราะท่านประสงค์กล่าวเฉพาะเหตุที่เป็นประธาน เพราะบรรดาเหตุเหล่านั้น กรรมนั้นแหละจัดว่าเป็นประธาน และเพื่อให้สอดคล้องกับคำท้วงติงของพระเจ้ามิลินท์ ที่ตรัสถึงกรรมว่า ถ้าหากนามรูปอื่นปฏิสนธิ บุคคลก็จะพึงเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วได้ ดังนี้
ในอุปมาทั้งหลาย ในอุปมาแรก ประเด็นของอุปมามีเพียงว่า มะม่วงผลหลังๆ เป็นมะม่วงที่บุรุษผู้เป็นเจ้าของสวนมะม่วงไม่ได้เพาะปลูกไว้ก็จริง แต่เพราะเหตุที่บังเกิดจากมะม่วงที่บุรุษผู้นี้เพาะปลูกไว้ จึงนับว่าเป็นของบุรุษผู้เป็นเจ้าของสวนมะม่วงนี้อยู่นั่นเอง คนอื่นไม่อาจถือสิทธิ์ครอบครองได้ ข้อนี้ ฉันใด นามรูปที่ปฏิสนธิย่อมบังเกิดจากกรรมที่บุคคลทำไว้ด้วยนามรูปที่เป็นไปก่อนตาย ด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปในความสืบต่ออันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นนามรูปของบุคคลเดียวกันนั้นนั่นแหละ หาใช่เป็นนามรูปของบุคคลอื่นไม่ฉันนั้น เมื่อนามรูปที่ปฏิสนธินั้นตั้งขึ้นในนรก เพราะเป็นนามรูปที่บังเกิดจากกรรมชั่วที่ทำไว้ก่อนตาย ก็ชื่อว่า บุคคลผู้ทำกรรมชั่วไว้ก่อนตายนั่นแหละเป็นผู้บังเกิดในนรก เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้ หมายความว่า จำต้องรับผลกรรมชั่วที่ตนทำไว้ ส่วนการที่ท่านกระทำอุปมากล่าวถึงคำอ้างเพื่อให้พ้นผิดของบุคคลผู้ขโมยมะม่วงไว้นั้น ก็เพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ในความสืบต่ออันเดียวกันตามความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผล บุรุษผู้เพาะปลูกมะม่วงผลก่อนๆ ไว้นั่นแหละย่อมเป็นเจ้าของมะม่วงผลหลังๆ ด้วย บุรุษผู้ขโมยมะม่วงผลหลังๆ ไปไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของถือสิทธิ์ครอบครองมะม่วงผลหลังๆ ที่ตนขโมยไปได้เลย การที่เขาต้องรับโทษไม่พ้นโทษไปได้นั่นแหละ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ามะม่วงผลหลังๆ เป็นของบุรุษผู้เพาะปลูกมะม่วงผลก่อนๆ ไว้แน่นอน บุรุษผู้ขโมยเอาไปไม่อาจคัดค้านได้ อย่างนี้เท่านั้น ฉะนี้แล ในอุปมาที่เหลือก็พึงทราบความหมายตามนัยดังกล่าวมานี้เถิด. จบอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาที่ ๗ เถระปฏิสันทหนาปฏิสันทหนปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสนท่านจะปฏิสนธิอีกหรือไม่ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร อย่าเลยประโยชน์อะไรด้วยคําที่พระองค์ตรัสถามนั้นเล่า อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาไปแล้วว่า ถ้าหากว่าอาตมภาพยังเป็นผู้มีอุปาทาน อาตมภาพก็จากปฏิสนธิอีก ถ้าหากว่าอาตมาภาพจะเป็นผู้ไม่มีอุปาทาน อาตมาภาพก็จะไม่ปฏิสนธิอีก ดังนี้ ไม่ใช่หรือ
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง พึงทำการทะนุบำรุงพระราชา พระราชาทรงยินดีแล้วก็ทรงให้การทะนุบำรุงแก่เขา เขาเป็นผู้อิ่มเอิบ เพียบพร้อมบำรุงบำเรออยู่ด้วยกามคุณทั้ง ๕ เพราะการทะนุบำรุงนั้น ถ้าหากว่า เขาพึงบอกแก่มหาชนว่า พระราชามิได้ทรงกระทำตอบแทนอะไรๆ แก่เราหรอก ดังนี้ไซร้ ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ทำถูกต้องแล้วหรือไม่. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น ประโยชน์อะไรด้วยคําที่พระองค์ตรัสถามนั่นเล่า อาตมภาพได้กล่าวเจาะจงทีเดียวแล้วว่า ถ้าหากว่าอาตมาภาพยังเป็นผู้มีอุปาทาน อาตมภาพก็จะปฏิสนธิอีก ถ้าหากว่าอาตมภาพจะเป็นผู้ไม่มีอุปาทาน อาตมมภาพก็จะไม่ปฏิสนธิอีก ดังนี้ ไม่ใช่หรือ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบเถรปฏิสันทหนาปฏิสันทหนปัญหาที่ ๗
คำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาที่มีการถามถึงการปฏิสนธิหรือไม่ปฏิสนธิแห่งพระเถระ ชื่อว่า เถระปฏิสันทหนาปฏิสันทหนปัญหา. คำว่า อย่าเลย คือ ไม่ถูกต้องเลย. คำว่า การทะนุบำรุง คือ การอุปการะ. ในอุปมา บุรุษผู้นั้น เมื่อพระราชาทรงกระทำอุปการะตอบแทนแก่เขา ทำให้เขาพอใจแล้ว การที่เขากลับไปบอกกล่าวแก่คนทั้งหลายว่าพระราชาไม่ได้ทรงกระทำอุปการะอะไรๆ แก่เราหรอก ดังนี้ ในภายหลังนั้น ชื่อว่า ทำไม่ถูกต้องคือไม่สมควรฉันใด การที่พระเถระได้ถวายวิสัชนาปัญหานี้แก่พระราชา ทำพระราชาให้ยินดียอมรับก่อนหน้านี้แล้ว ในบัดนี้ พระราชาทรงกลับมาตรัสถามปัญหานี้อีก เหมือนอย่างกับว่าพระเถระมิได้ถวายวิสัชนามาก่อนเลยนั้น ก็ชื่อว่าทรงทำไม่ถูกต้องคือไม่สมควร ฉันนั้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาที่ ๘ นามรูปปฏิสันทหนปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ในคำที่ท่านกล่าวว่า นามรูป นี้ อะไรคือนาม อะไรคือรูป ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ในคำว่า นามรูป นั้น ธรรมชาติที่หยาบคือรูป ในคำว่า นามรูป นั้น จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย อันเป็นธรรมชาติที่ละเอียดคือนาม. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เหตุไรนามอย่างเดียว ปฏิสนธิไม่ได้ หรือรูปอย่างเดียวก็ปฏิสนธิไม่ได้เล่า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ธรรมเหล่านี้อิงอาศัยกัน ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา
พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ถ้าตัวอ่อน (แรกเกิด) ของแม่ไก่ไม่มี แม้เยื่อไข่ (อันเป็นที่ตั้งอาศัย) ก็ไม่มี ในสิ่งทั้ง ๒ นั้น ตัวอ่อนก็ดี เยื่อไข่ก็ดี สิ่งทั้ง ๒ นี้อิงอาศัยซึ่งกันและกัน สิ่งทั้ง ๒ นี้มีความเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว ฉันใด ขอถวายพระพร ในนามและรูปนั้น ถ้านามไม่มี แม้รูปก็ไม่อาจมีได้ ในนามและรูปนั้น นามก็ดี รูปก็ดี ธรรมทั้งนี้อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ธรรมทั้ง ๒ นี้มีความเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน นามและรูปนี้ดังกล่าวมานี้ มีอันแล่นไปตลอดกาลนาน. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบนามรูปปฏิสันทหนปัญหาปัญหาที่ ๘
คำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิสนธิของนามรูป ชื่อว่า นามรูปปฏิสันทหนปัญหา. พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร นามอย่างเดียวปฏิสนธิไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น ทรงหมายเอาการปฏิสนธิของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่เนื่องในปัญจโวการภูมิ (ภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้งนามทั้งรูป) เป็นความจริงว่า ในจตุโวการ (ภูมิที่มีนามขันธ์ ๔ ยกเว้นรูปขันธ์ ได้แก่อรูปภูมิทั้งหลายนั่นเอง) มีแต่นามอย่างเดียวเท่านั้นปฏิสนธิ ไม่มีรูปปฏิสนธิ ในเอกโวการภูมิ (ภูมิที่มีขันธ์เดียวคือรูปขันธ์ ได้แก่อสัญญีสัตตภูมิ) มีแต่รูปอย่างเดียวปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ ก็ในคราวปฏิสนธิแห่งสัตว์ในปัญจโวกาาภูมิทั้งหลาย มีมนุษย์เป็นต้นนั้น นามรูปย่อมอิงอาศัยกัน อุบัติพร้อมกัน แม้นามอันมีจิตเป็นประธานเท่านั้นจะทำหน้าที่ปฏิสนธิ หาใช่รูปไม่ก็ตาม แต่นามนั้นก็ต้องมีรูปเป็นที่อาศัย และรูปนั้นบังเกิดในคราวนั้นได้ก็เพราะได้นามอันมีปฏิสนธิจิตเป็นประธานนั้นนั่นแหละ เป็นปัจจัยผู้ที่ทำให้เกิดขึ้น โดยเกิดขึ้นพร้อมกันกับปฏิสนธิจิตนั้น เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า :-
“นามก็ดี รูปก็ดี, ธรรมทั้ง ๒ นี้ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ธรรมทั้งสองนี้ มีความเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว” ดังนี้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาที่ ๙ อัทธานปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ท่านกล่าวว่า ตลอดกาลนาน (ฑีฆอทฺธานํ) นี้ใด อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งมีกาล (อัทธานะ) นี้ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ก็ชื่อว่าสิ่งมีกาล ที่ยังมาไม่ถึงก็ชื่อว่าสิ่งมีกาล สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็ชื่อว่าทสิ่งมีกาล. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า สิ่งที่มีกาล ล้วนมีอยู่ทั้งนั้นหรือ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร สิ่งมีกาลบางอย่างมีอยู่ สิ่งมีกาลบางอย่างไม่มีอยู่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า อะไรชื่อว่าสิ่งมีกาลมีอยู่ อะไรชื่อว่าสิ่งมีกาลไม่มีอยู่. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร สังขารทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ไปปราศจากแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว เหล่านั้นใด นั้นชื่อว่า สิ่งมีกาลไม่มีอยู่ วิบากธรรมทั้งหลายก็ดี ธรรมที่ให้วิบากธรรมทั้งหลายก็ดี ธรรมที่กำลังให้ปฏิสนธิในภพอื่นๆ อยู่ก็ดี ใด นั้นชื่อว่า สิ่งมีกาลมีอยู่ อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายที่ได้ทำกาละแล้วไม่เกิดขึ้นในภพอื่น ใดนั้นก็ชื่อว่า สิ่งมีกาลไม่มีอยู่ คือสัตว์ทั้งหลายผู้ปรินิพพานแล้ว ใด นั้นก็ชื่อว่าสิ่งมีกาลไม่มี อยู่เพราะดับรอบแล้ว. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบอัทธานปัญหาที่ ๙
คำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาที่มีการถามถึง อัทธานะ (กาล, สิ่งที่มีกาล) ชื่อว่า อัทธานปัญหา. คำว่า อัทธานะ (สิ่งที่มีกาล) ได้แก่สิ่งที่เป็นไปเนื่องด้วยกาล ๓ มีอดีตกาลเป็นต้น. คำว่า สิ่งมีกาลบางอย่างมีอยู่ สิ่งมีกาลบางอย่างไม่มีอยู่ ความว่า สิ่งมีกาลบางอย่างคือที่เป็นปัจจุบัน มีอยู่ สิ่งมีการบางอย่างคือที่เป็นอดีต แม้ที่เป็นอนาคต ไม่มีอยู่. คำว่า สังขาร ได้แก่ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งหรือทำให้เกิดขึ้น เป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย เกิดขึ้นจากปัจจัยนั้นๆ แล้วก็ถึงความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า สังขารทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ฯลฯ ชื่อว่าสิ่งมีกาลไม่มีอยู่ ความว่า สังขารทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วในภพก่อนชื่อว่าสิ่งมีกาลโดยมีกาลอดีต และชื่อว่าไม่มีอยู่ เพราะไม่มีตัวสภาวะหรืออยู่ในภพนี้แม้เพียงปลายผม เหตุเพราะล่วงไปแล้วด้วยอำนาจความดับไปหมดแล้วนั้นนั่นแหละ
คำว่า วิบากธรรมทั้งหลาย ได้แก่ธรรมที่เป็นวิบากคือเป็นผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่สัตว์ทำไว้ในภพก่อน ซึ่งกำลังเป็นไปในภพปัจจุบันนี้. คำว่า ธรรมที่ให้วิบากธรรมทั้งหลาย ได้แก่ธรรมคือกุศลและอกุศล ที่สัตว์ทำไว้ในภพปัจจุบันนี้อันสามารถทำวิบากให้เกิดขึ้นในภพอื่น. คำว่า ธรรมที่กำลังให้ปฏิสนธิในภพอื่นๆ ได้แก่วิบากธรรมที่กำลังทำหน้าที่ปฏิสนธิในภพปัจจุบันนี้ ๑ กุศลและอกุศลที่สามารถทำวิบากทำให้เกิดขึ้น ทำหน้าที่ปฏิสนธิในภพอื่นๆ ๑ ชื่อว่า สิ่งมีกาลมีอยู่ ก็ด้วยอำนาจความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล กล่าวคือ เป็นผลในปัจจุบัน จากเหตุอดีตบ้าง เป็นเหตุในปัจจุบันที่สร้างผลในอนาคตบ้าง.
คำว่า ทำกาละแล้ว (ตายแล้ว) คือทำกาละแล้วด้วยอำนาจแห่งจุติจิต (จิตเคลื่อนจากภพ) ที่เกิดขึ้น. คำว่า เกิดขึ้นในภพอื่น ความว่า เกิดขึ้นในภพอื่นด้วยอำนาจแห่งการที่มีปฏิสนธิจิต (จิตดวงแรกที่ทำหน้าที่สืบต่อภพ) เกิดขึ้น สัตว์ผู้นั้นชื่อว่า สิ่งมีกาลมีอยู่ เพราะแม้ทำกาละแล้วก็ยังเป็นไปไม่ขาดสายด้วยอำนาจปฏิสนธิที่เกิดขึ้นนั้น
คำว่า ทำกาละแล้วไม่เกิดขึ้นในภพอื่น ความว่า สัตว์คือท่านผู้เป็นพระอรหันต์ทำกาละแล้ว ไม่เกิดขึ้นในภพอื่นด้วยอำนาจปฏิสนธินั้น ชื่อว่าสิ่งมีกาลไม่มีอยู่ โดยเกี่ยวกับไม่มีปฏิสนธิอีกนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คือสัตว์ทั้งหลายผู้ปรินิพพานแล้ว ใด นั้นชื่อว่า สิ่งมีกาลไม่มีอยู่ เพราะดับรอบแล้ว ดังนี้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙. จบอัทธานวรรค ที่ ๒ ในวรรคนี้มี ๙ ปัญหา. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๘
มานิมนต์พระสงฆ์จากวัดลาดบัวขาว พระอารามหลวง สวดพระอภิธรรมอุทิศส่วนกุศล และ ขออุทิศส่วนบุญกุศลในการเผยแพร่ธรรมะอันประเสริฐนี้ ให้แก่ พี่ชายกระผม นาย วร์ สุนทรสีมะ ขอให้ไปสู่ภพภูมิที่เป็นสุคติเถิด
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: