พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์
สมัยหนึ่ง หมอชีวกฯ ได้รักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีชาวราชคฤห์ด้วยการเปิดกระโหลกศีรษะ รักษาอาการท้องไม่ย่อยถ่ายไม่สะดวก เพราะเนื้องอกในลำไส้ของลูกเศรษฐีชาวพาราณสีด้วยการผ่าตัด และรักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งนครอุชเชนี ด้วยเนยใสหุงกับยานานาชนิด โดยกรณีหลังนี้ หมอชีวกฯ ได้รับผ้าสิไวยกะ (ผ้าเนื้อดีมีชื่อ) เป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งหมอชีวกฯ คิดว่า ผ้าเนื้อดีขนาดนี้คู่ควรกับพระเจ้าพิมพิสาร หรือพระพุทธเจ้า เท่านั้น ต่อมาหมอชีวกฯ ก็ได้มีโอกาสพบกับพระพุทธเจ้า โดยเริ่มจากที่ พระพุทธเจ้า ได้บอกกับพระอานนท์ว่า :-
พ: อานนท์ ร่างกายของตถาคตนี้หมักหมมไปด้วยสิ่งเป็นโทษ อยากจะฉันยาถ่ายหน่อย
เมื่อพระอานนท์ไปบอกหมอชีวกฯ หมอชีวกฯ จึงกล่าวว่า
ช: พระคุณเจ้าโปรดช่วยทำให้ร่างกายของท่านสดชื่นขึ้นอีกสัก 2-3 วัน
หลังจากนั้น หมอชีวกฯ ก็คิดว่า เราไม่ควรถวายยาถ่ายที่หยาบแก่ท่าน ถ้ายังไงเราอบก้านบัวด้วยยาต่างๆแล้วถวายดีกว่า เมื่ออบเสร็จแล้วจึงได้ไปหาพระพุทธเจ้า
ช: ขอท่านสูดก้านบัวก้านที่หนึ่งนี้ แล้วจะทำให้ท่านถ่ายสิบครั้ง จากนั้นให้สูดก้านที่สอง ท่านจะถ่ายอีกสิบครั้ง ตามด้วยก้านที่สาม ซึ่งจะทำให้ท่านถ่ายอีกสิบครั้ง ด้วยวิธีนี้ ท่านจะถ่ายทั้งหมดสามสิบครั้ง
เมื่อหมอชีวกฯถวายหมดแล้ว ได้ขอตัวกลับ แต่ระหว่างทางเกิดคิดขึ้นมาว่า ร่างกายของพระพุทธเจ้ามีสิ่งเป็นโทษหมักหมมอยู่ จะถ่ายได้แค่ 29 ครั้ง ท่านจะต้องอาบน้ำก่อน แล้วจึงจะถ่ายได้อีกครั้ง ซึ่งในเวลาเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้บอกให้พระอานนท์เตรียมน้ำร้อนเพื่ออาบไว้ ครั้งหมอชีวกฯกลับไปหาพระพุทธเจ้าอีกที ได้ถามว่า :-
ช: ท่านถ่ายแล้วหรือ?
พ: เราถ่ายแล้ว ชีวก
ช: ตอนที่ผมกำลังเดินกลับไป ได้คิดขึ้นมาว่าร่างกายของท่านมีสิ่งเป็นโทษหมักหมมอยู่ จะถ่ายได้แค่ 29 ครั้ง ท่านจะต้องอาบน้ำก่อน แล้วจึงจะถ่ายได้อีกครั้ง ขอท่านได้โปรดอาบน้ำก่อนเถิด
หลังจากที่พระพุทธเจ้าอาบน้ำแล้ว ท่านก็ถ่ายอีกครั้งหนึ่ง หมอชีวกฯได้แจ้งเพิ่มเติมว่า :-
ช: ท่านไม่ควรฉันอาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ
ต่อมาไม่นาน หมอชีวกฯได้ถือผ้าสิไวยกะ (ผ้าเนื้อดีมีชื่อซึ่งหมอชีวกฯได้รับจากการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งนครอุชเชนี) เข้าไปหาพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า :-
ช: ผมอยากขอพรจากท่านสักข้อหนึ่ง
พ: ตถาคตเลิกให้พรแล้ว ชีวก
ช: ผมจะขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ
พ: ถ้าอย่างนั้นจงว่ามาเถิด
ช: ปกติท่านและพระสงฆ์จะใช้ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่นห่อศพหรือผ้าที่คนทิ้งแล้ว) เป็นจีวรอยู่ แต่ผ้าสิไวยกะของผมผืนนี้เป็นผ้าที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตให้มา เป็นผ้ามีชื่อเนื้อดีกว่าผ้าอื่นๆมาก ขอท่านโปรดรับผ้าสิไวยกะคู่นี้ของผมและขอท่านอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้คหบดีจีวร (จีวรที่มีคนถวาย) ได้ด้วยเถิด
พระพุทธเจ้ารับผ้าสิไวยกะคู่นั้นแล้วได้แสดงธรรมให้หมอชีวกฯ ฟังและรับไปปฏิบัติ หลังจากหมอชีวกฯกลับไปแล้ว ท่านได้พูดกับภิกษุทั้งหลายว่า :-
พ: เราอนุญาตคหบดีจีวร จะใช้ผ้าบังสุกุลหรือผ้าคหบดีก็ขึ้นอยู่กับแต่ละรูป แต่เราสรรเสริญการไม่เลือกรับ โดยให้เป็นไปตามมีตามได้
หลังจากประชาชนในนครราชคฤห์รู้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้คหบดีจีวรได้ ต่างก็พากันดีใจว่าจะได้ถวายทานบำเพ็ญบุญ เพียงวันเดียวก็มีจีวรหลายพันผืนเกิดขึ้นทั้งในนครราชคฤห์และชนบทรอบๆ
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 จีวรขันธกะ พุทธานุญาตคหบดีจีวร กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์ ข้อ 128), 2559, น.230-250
ที่มา: http://dhamma.serichon.us
0 comments: