ภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกา : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพระพุทธศาสนา
เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง "ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา" โดย ท่านสัทธาสุมนา ภิกษุณี, ท่านสุเปชลาภิกษุณี และท่านสุทินนา ภิกษุณี
ความเป็นมาของภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา
เกาะลังกาเป็นดินแดนที่มีความผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนามาอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน สืบกลับไปเมื่อพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงส่งพระธรรมทูตเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ และในหมู่พระธรรมทูตนี้มีพระมหินทร์เถระ พระโอรสของพระองค์เอง เป็นผู้นำพระไตรรัตนะแห่งพระพุทธศาสนาสู่ลังกาประเทศ
ประวัติศาสตร์ของภิกษุณีสงฆ์แห่งศรีลังกาเอง ก็มีอายุเก่าแก่ควบคู่มากับประวัติศาสตร์การหยั่งรากของพุทธศาสนาและภิกษุสงฆ์บนเกาะลังกา สืบทอดมายาวนานกว่าสองพันปี
บุคคลในประวัติศาสตร์ผู้หนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งภิกษุณีสงฆ์ขึ้นบนเกาะลังกา คือ พระนางสังฆมิตตาเถรี พระภิกษุณีผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าอโศกฯ และพระขนิษฐาของพระมหินทร์เถระนั่นเอง โดยพระนางสังฆมิตตาเถรี เดินทางมาสู่เกาะลังกาเพื่อสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ขึ้น ตามคำขอของพระนางอนุฬาเทวีแห่งเกาะลังกา ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นบุคคลแรกบนเกาะลังกาที่บรรลุโสดาบัน และประสงค์จะขอบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์ของศรีลังกาจึงเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดขึ้นของภิกษุสงฆ์บนเกาะลังกา (ผู้สนใจประวัติศาสตร์การสืบสายภิกษุณีสงฆ์ของศรีลังกา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน "การสืบสายภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา" โดยธัมมนันทา ภิกษุณี)
ความสำคัญของพระนางสังฆมิตตาเถรี และการเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของศรีลังกา สะท้อนอยู่ในงานพุทธศิลป์ที่เป็นทั้งภาพวาดและงานปฏิมากรรมบนผนังกำแพงของวัดวาอารามหลายแห่ง ซึ่งนิยมแสดงภาพเหตุการณ์ที่พระนางสังฆมิตตาเดินทางมาถึงเกาะลังกา พร้อมหน่อศรีมหาโพธิ์ และภาพที่พระนางอนุฬาขอบวชเป็นภิกษุณีจากพระนางสังฆมิตตา นอกจากนี้ ยังมีภาพวาดที่พิมพ์ขายในท้องตลาด สำหรับให้ผู้คนซื้อหาไปใส่กรอบติดผนังบ้าน แสดงเหตุการณ์เดียวกันนี้ ที่ตรึงอยู่ในความศรัทธาของพุทธศาสนิกชาวศรีลังกา ประจักษ์พยานอีกส่วนหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระนางสังฆมิตตาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของลังกา ได้แก่การที่ทางรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันระลึกถึงพระนางสังฆมิตตาเป็นวัน สำคัญทางศาสนา และหยุดราชการด้วย
อย่างไรก็ตาม การเกิดทุพภิกขภัย ตลอดจนการสู้รบครั้งใหญ่หลายครั้งบนเกาะลังกา ส่งผลให้ทั้งภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ต้องถึงกาลเสื่อมและขาดสายไปจากลังกาประเทศในช่วง ค.ศ.๑๐๑๗ โดยภิกษุสงฆ์ของลังกาได้ขาดสายไป และได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่มากกว่าหนึ่งครั้ง โดยการอัญเชิญคณะพระธรรมทูตจากดินแทนสยามและพม่าไปให้การอุปสมบทขึ้นใหม่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่ได้มีความพยายามที่ฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ขึ้นมาในห้วงประวัติศาสตร์เดียวกันนั้น ทำให้ภิกษุณีสงฆ์ขาดหายไปจากเกาะลังกานานกว่าหนึ่งพันปี
กระนั้นก็ตาม ตลอดช่วง 150 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการเคลื่อนไหวของชาวพุทธศรีลังกาบางส่วน ทั้งหญิงและชาย ที่จะให้ผู้หญิงชาวศรีลังกาได้รับโอกาสในการครองชีวิตนักบวชเพื่อปฏิบัติรับใช้พระศาสนา มีการอภิปรายและถกเถียงถึงความเป็นไปได้หรือความเป็นไปไม่ได้ในการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์อย่างกว้างขวางตามสื่อต่าง ๆ เป็นระยะ โดยกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างกันไป
ในระหว่างที่การเคลื่อนไหวเพื่อสถานปนาภิกษุณีสงฆ์ขึ้นอีกครั้งยังไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ได้มีการสร้างรูปแบบของนักบวชหญิงขึ้นใหม่ในศรีลังกา เพื่อทดแทนการขาดหายไปของภิกษุณี ทั้งนี้โดยการริเริ่มของผู้หญิงชาวศรีลังกานามว่า แคทเธอรีน เดอ อัลวิส (Catherine de Alvis) เมื่อราว 150 ปีที่ผ่านมา โดยยึดตามรูปแบบของ "ถิลาชิ่น" ของพม่า ซึ่งได้แก่ผู้หญิงที่ปลงผมและถือศีล 10 โดยในศรีลังกาเรียกว่า "ทศศีลมาตา" สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้
ในปัจจุบัน มีทศศีลมาตาอยู่ในศรีลังการาว 4,000 รูป รูปแบบการครองผ้าของทศศีลมาตามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง ทุกวันนี้ทศศีลมาตาครองผ้าสีเหลือง แต่ไม่ได้เจ็บแบบจีวร และสถานภาพของทศศีลมาตาก็ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงอายุ มีความศรัทธาในพระศาสนา แต่มักยากไร้ และขาดการสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชน มาถึงปัจจุบันที่มีผู้หญิงสาวบวชเข้าเป็นทศศีลมาตามากขึ้น และได้รับโอกาสทางการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมมากขึ้น (ผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับทศศีลมาตา หาอ่านได้จากหนังสือ Women under the Bo Tree ของ Tessa Batholomuez)
ความพยายามที่เป็นรูปเป็นร่าง ที่จะจัดให้มีการอุปสมบทภิกษุณีชาวศรีลังกาในยุคฟื้นฟูสมัยหลังนี้ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ 2531 เมื่อมีการจัดพิธีอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติขึ้นที่รัฐลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคณะสงฆ์จากวัดโฝกวงซัน ไต้หวัน ครั้งนั้นมีทศศีลมาตาได้รับการบวชเป็นภิกษุณีจำนวน 5 รูป แต่จากความไม่พร้อมหลายประการ ทั้งความด้อยทางการศึกษาของภิกษุณีสงฆ์เอง และขาดโครงสร้างรองรับที่จะอยู่ร่วมกันเป็นคณะสงฆ์ ภิกษุณีคณะแรกนี้ เมื่อเดินทางกลับถึงศรีลังกา จึงไม่ได้รับการยอมรับ จนในที่สุดก็ถูกกลืนกลับไปสู่การเป็นทศศีลมาตาเช่นเดิม แต่มีภิกษุณีบางรูปขออุปสมบทใหม่ในพ.ศ. ๒๕๓๑
จนถึงปี พ.ศ. 2539 คณะสงฆ์จากประเทศเกาหลี ได้ริเริ่มการบวชภิกษุณีนานาชาติขึ้น ที่เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย โดยมีทศศีลมาตาได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบท 10 รูป หลังการบวชภิกษุณีใหม่เหล่านี้ ต้องอยู่ศึกษาทั้งความรู้และฝึกฝนการปฏิบัติที่เมืองสารนาถประเทศอินเดีย เป็นเวลาถึง ๒ ปี ก่อนจะกลับมาสืบสานงานฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ที่บ้านเกิดเมืองนอนของตน
อีกสองปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2541 คณะสงฆ์ไต้หวันได้จัดพิธีบวชภิกษุณีนานาชาติขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยประสานงานกับวัดทอง (Golden temple) ที่มีชื่อเสียงในนิกายสยามวงศ์ ภายใต้การนำของท่านสุมังคโล เถโร ตั้งอยู่ที่เมืองดัมบุลลา ประเทศศรีลังกา ในครั้งนี้ การคัดเลือกทศศีลมาตาเป็นไปอย่างเคร่งครัดและมีขั้นมีตอนมากยิ่งขึ้น โดยในปีก่อนหน้าที่จะมีพิธีบวช ทางวัดดัมบุลลาได้เปิดรับสมัครทศศีลมาตาที่สนใจเข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี ปรากฏว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์และมีสิทธิสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เพียง 30 รูป จากจำนวนดังกล่าว มีผู้ผ่านการสอบ 25 รูป ทั้งหมดได้เข้าพักที่อารามเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในหมู่บ้านใกล้วัดดัมบุลลา และได้ศึกษาเล่าเรียนพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยทั้งของภิกษุและภิกษุณีอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 8 เดือน
หลังการอบรม มีศีลมาตาได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปยังพุทธคยาจำนวน20 รูป โดยสิบรูปมาจากกลุ่มที่เข้ารับการอบรม และอีกสิบรูปที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมแต่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทั้งหมดได้รับการบรรพชาและอุปสมบทเป็นภิกษุณีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541
การบวชครั้งนี้มีข้อน่าสังเกตคือ เป็นการบวชสองขั้นตอน โดยขั้นแรกเป็นการบวชโดยภิกษุและภิกษุณีสงฆ์จากไต้หวันที่เมืองพุทธคยา โดยมีพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทจากศรีลังกาและไทยและประเทศที่นับถือสายเถรวาทอื่นๆร่วมเป็นสักขีพยานด้วย เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการในขั้นแรกแล้ว คณะภิกษุณีชาวศรีลังกาผู้บวชใหม่ได้เดินทางไปรับการบวชอีกครั้งหนึ่งจากพระภิกษุฝ่ายเถรวาทชาวศรีลังกา ตามพุทธานุญาต (จุลวรรค ภิกขุนีขันธกะ) ภายในเขตสีมา ณ เมืองสารนาถ เพื่อความถูกต้องตามพิธีการของฝ่ายเถรวาท
เมื่อเดินทางกลับถึงศรีลังกา ภิกษุณีผู้มีอาวุโสจำนวน ๒ รูป ได้รับการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ขึ้นเป็นพระอุปัชฌาย์ หนึ่งในจำนวนนี้ คือท่านสัทธาสุมนา ภิกษุณี ซึ่งมีประสบการณ์ครองชีวิตในเพศศีลมาตามานาน๔๒ ปีก่อนการอุปสมบท จากนั้น พระอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีจัดให้มีการบวชภิกษุณีแก่ศีลมาตาอีกกว่า 20 รูป ที่ผ่านการอบรมแต่ไม่ได้ร่วมเดินทางไปรับการอุปสมบทที่ประเทศอินเดีย
พิธีอุปสมบทในเขตสีมาที่วัดดัมบุลลา เมื่อปี 2541 นั้น นับเป็นการพลิกสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภิกษุณีสงฆ์แห่งเกาะลังกา เพราะเป็นการพลิกฟื้นการบวชภิกษุณีโดยสงฆ์สองฝ่ายในสายเถรวาทบนแผ่นดินศรีลังกาอีกครั้ง นับจากวันที่ภิกษุณีสงฆ์ผู้สืบสายจากพระนางสังฆมิตตาในอดีต ได้ขาดสายไปจากแผ่นดินลังกาเมื่อกว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว
นับจากนั้นเป็นต้นมา วัดหลายแห่งทั้งฝ่ายสยามวงศ์และอมรปุระ ซึ่งเป็นสองในสามนิกายใหญ่ของศรีลังกา ก็ได้จัดให้มีการอุปสมบทภิกษุณีขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิธีบวชภิกษุณีนานาชาติขึ้นเป็นครั้งคราว เช่นในปี 2543 ที่ไต้หวัน ปัจจุบันประมาณกันว่ามีภิกษุณีกระจายอยู่ตามวัดต่าง ๆ ในศรีลังกามากกว่า 350 รูป
ภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาในปัจจุบัน
ท่านสัทธาสุมนา ภิกษุณี หนึ่งในคณะภิกษุณีชาวศรีลังกาที่เดินทางมาจำพรรษาในประเทศไทยในปีนี้ ได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาปัจจุบันว่า เฉพาะภิกษุณีที่ได้รับการบวชจากวัดดัมบุลลาแห่งเดียว ขณะนี้มีจำนวนถึง 220 รูปแล้ว การคัดเลือกยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอุปสมบทประกอบด้วย 1) ต้องเป็นผู้มีการศึกษา 2) เป็นทศศีลมาตาหรือสามเณรีมาแล้วไม่ต่ำกว่าสามปี 3) มีหนังสือรับรองจากภิกษุในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ จากผู้ใหญ่บ้าน และจากทศศีลมาตาหรือภิกษุณีผู้เป็นอาจารย์ เมื่อตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ก็ต้องเข้าสอบข้อเขียนที่เน้นความรู้เกี่ยวกับพระธรรมและพระวินัย สอบผ่านข้อเขียนแล้ว จึงมีสิทธิเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ ทั้งนี้ ในหมู่ผู้ที่บวชภิกษุณีรุ่นเดียวกัน จะมีการจัดลำดับอาวุโสตามคะแนนที่สอบได้ แสดงถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งจะเป็นเครื่องประกันว่า ภิกษุณีสงฆ์ยุคใหม่จะเป็นคณะสงฆ์ที่มีความพร้อมในการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระศาสนาสืบต่อไป
ท่านสัทธาสุมนายังได้เล่าให้ฟังว่า วันก่อนที่ท่านจะออกเดินทางมาจำพรรษาที่ประเทศไทยนั้น ท่านได้ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบทภิกษุณีรุ่นล่าสุดของวัดดัมบุลลา ปรากฏว่าในบรรดาผู้เข้ารับการบวช 16 คนในรุ่นนี้นั้น 15 คนเป็นคนรุ่นสาว และล้วนแล้วแต่มีการศึกษาสูง ทั้งระดับปริญญาตรีและโท นับเป็นตัวแทนของภิกษุณีสงฆ์รุ่นใหม่อย่างแท้จริง
เมื่อถามถึงความเป็นอยู่และบทบาทของภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาปัจจุบัน คณะภิกษุณีชาวศรีลังกาที่เดินทางมาจำพรรษาในประเทศไทยครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยท่านสัทธาสุมนา ท่านสุเปชลา และท่านสุทินนา เล่าว่า ภิกษุณีในศรีลังกามักกระจายกันอยู่ตามวัดเล็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งเป็นวัดที่มีผู้มอบหรือสร้างถวายแก่ภิกษุณี โดยทั่วไป ภิกษุณีมีความสัมพันธ์ที่ดีและได้รับการยอมรับจากชุมชน โดยจะมีชาวบ้านเวียนกันนำอาหารมาถวายพระภิกษุณีทั้งในวันธรรมดาและโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันครบรอบวันตายของสมาชิกครอบครัว เป็นต้น ภิกษุณีมีบทบาทหลักต่อชุมชนฆราวาสเช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ คือสั่งสอนธรรมะ สอนการปฏิบัติภาวนา เป็นผู้นำในการประกอบพิธีสงฆ์ต่าง ๆ แต่ลักษณะที่โดดเด่นประการหนึ่งของภิกษุณีคือการเข้าถึงชุมชน โดยชาวบ้านมักนิมนต์ภิกษุณีไปสวดเจริญธรรมแก่ผู้เจ็บป่วย หญิงมีครรภ์ หรือผู้ป่วยใกล้ตาย นอกจากนี้ ภิกษุณียังมักได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่วัดของภิกษุเป็นครั้งคราว
ท่านสุทินนา ภิกษุณี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในคณะภิกษุณีศรีลังกาที่เดินทางมาจำพรรษาที่ประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างบทบาทของภิกษุณี เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ประเทศศรีลังกาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหล่าภิกษุณีของศรีลังกาได้ร่วมมือกัน ระดมขอรับบริจาคสิ่งของจำเป็นจากชุมชนที่รอดพ้นจากภัยน้ำท่วม ปรากฏว่ามีผู้คนหลั่งไหลนำของมาร่วมบริจาคมากมาย คณะภิกษุณีจึงได้รวมตัวกันเช่ารถบรรทุกขนสิ่งของไปมอบแก่ผู้ประสบภัย และแม้แต่ในพื้นที่ที่ถูกดินโคลนท่วมทับจนรถเข้าไม่ถึง เหล่าภิกษุณีก็พากันลุยโคลนเพื่อนำสิ่งของไปมอบแก่ผู้เดือดร้อนให้ทั่วถึงมากที่สุด ท่านสุทินนากล่าวสรุปว่า การที่ภิกษุณีสามารถระดมความช่วยเหลือจากชุมชนชาวบ้านได้อย่างล้นหลามในท่ามกลางเหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวพุทธในศรีลังกามีความเชื่อมั่นและพร้อมจะให้การสนับสนุนภิกษุณีสงฆ์ แม้จะเป็นคณะสงฆ์ที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ก็ตาม
สำหรับการสวดพระปาติโมกข์ในเขตสีมาทุกวันอุโบสถ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นภิกษุและภิกษุณีนั้น เนื่องจากวัดในศรีลังกาส่วนใหญ่ เป็นวัดขนาดเล็ก เรียกกันว่า "อาราม" กระจายกันอยู่ในเขตเมืองและชนบท และตั้งอยู่ได้โดยได้รับการอุปถัมภ์จากชุมชนชาวบ้านรอบวัด วัดหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดของภิกษุณี ไม่มีการตั้งสีมาเป็นอุโบสถ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องจัดเป็นพิธีใหญ่และใช้ทุนทรัพย์มาก ดังนั้น ทุกวันอุโบสถ ภิกษุณีจากวัดต่าง ๆ จึงต้องเดินทางไปสวดพระปาติโมกข์ร่วมกันในวัดที่มีเขตสีมาเพื่อความถูกต้องตามพระวินัย ในปัจจุบัน มีอุโบสถที่ภิกษุณีสามารถไปชุมนุมกันสวดพระปาติโมกข์ได้เพียง ๗ แห่งทั่วทั้งเกาะลังกา ส่วนใหญ่เป็นการใช้อุโบสถร่วมกับภิกษุสงฆ์ แต่จัดเวลาสวดไม่ให้ซ้อนทับกัน ท่านสัทธาสุมนายกตัวอย่าง กรณีของท่านเอง ที่ต้องใช้เวลาโดยสารรถเมล์ไปกลับนานถึง 10 ชั่วโมง ในทุกวันอุโบสถ เพื่อไปร่วมสวดพระปาติโมกข์ที่อุโบสถที่ใกล้ที่สุด
ในด้านการปกครองคณะภิกษุณีสงฆ์ ในประเทศศรีลังกานั้น การปกครองคณะสงฆ์แยกขาดจากการปกครองฝ่ายบ้านเมือง และสงฆ์แต่ละนิกายก็มีคณะสังฆนายก ดูแลสงฆ์ในปกครองของตน ปัจจุบัน คณะภิกษุณีสงฆ์ยังคงต้องการการดูแลสนับสนุนจากภิกษุสงฆ์ โดยแบ่งกันไปตามสายของอาจารย์ผู้จัดการอุปสมบท กล่าวได้ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์กรและตำแหน่งทางการขึ้นมาปกครองภิกษุณีตามอย่างภิกษุสงฆ์
แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ เหล่าภิกษุณีในศรีลังกา ไม่ว่าจะบวชในสายของอาจารย์ท่านใด ต่างพร้อมใจกันที่จะไม่แบ่งแยกตัวเองออกเป็นนิกายต่าง ๆ ตามแบบภิกษุสงฆ์ของศรีลังกา โดยภิกษุณีหลายรูปกล่าวตรงกันว่า จะขอเป็นเพียงสาวกของพระพุทธองค์โดยไม่มีการแบ่งเป็นฝักฝ่าย
ในฝ่ายรัฐบาลศรีลังกา แม้จะยังไม่ยอมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่ภิกษุณี เช่นที่ให้กับภิกษุและทศศีลมาตา แต่ก็ยอมออกบัตรประจำตัวของทางการ ระบุสถานภาพนักบวชในฐานะ "ภิกษุณี" อย่างชัดเจน ทั้งยังยอมรับให้ใช้คำว่า "ภิกษุณี" แสดงสถานภาพบุคคลในเอกสารประจำตัวอื่น ๆ ของทางราชการ เช่น หนังสือเดินทาง เป็นต้น
โดยภาพรวม คณะภิกษุณีที่เดินทางมาจำพรรษาในประเทศไทย เห็นพ้องกันว่า สถานภาพของภิกษุณีในศรีลังกาปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้จะไม่อาจเทียบเท่าภิกษุในแง่การสนับสนุนจากรัฐ แต่อย่างน้อยชาวบ้านทั่วไปก็ให้การยอมรับภิกษุณีสงฆ์มากขึ้นเรื่อย ๆ และเสียงต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ที่เคยปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ มาเป็นเวลายาวนาน ก็กลับค่อย ๆ จางลง และเชื่อว่าจะเงียบหายไปในที่สุด.
ประวัติและการบวชของท่านสัทธาสุมนา ภิกษุณี
ท่านอุปัชฌาย์สัทธาสุมนา ภิกษุณี เกิดและเติบโตที่เมือง นูเวราอเหลิยา แถบภูเขาตรงกลางเกาะลังกาปัจจุบันอายุ 62 พรรษา และได้ใช้ชีวิตเป็นนักบวชรับใช้พระศาสนามาเป็นเวลาถึง 48 ปีแล้ว โดยเมื่อครั้งยังเป็นเด็กสาวอายุ 14 ปี วันหนึ่งท่านได้มีโอกาสติดตามมารดาไปฟังธรรม ถือศีลและฝึกสมาธิที่วัดใกล้บ้าน ขณะนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ท่านติดใจในความสงบที่ได้รับ จึงขออนุญาตมารดาอยู่วัดปฏิบัติธรรมต่อไปอีก 1 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วกลับไม่อยากหวนคืนสู่ชีวิตทางโลก และได้ขอบวชเป็นทศศีลมาตา (ถือศีล 10 ปลงผม ครองผ้าสีเหลืองอ่อน) โชคดีที่มารดาของท่านซึ่งเป็นพุทธศาสนิกผู้มีศรัทธาเห็นดีด้วย จึงพาท่านไปบวชและฝากตัวเป็นศิษย์กับทศศีลมาตาอาวุโสรูปหนึ่ง ท่านจึงได้ละจากครอบครัวไปอยู่ในอารามทศศีลมาตานับแต่นั้น ท่านได้รับการศึกษาพระพุทธศาสนาในวิทยาลัยของพุทธศาสนาในระดับอนุปริญญา
ในสมัยนั้น ผู้บวชเป็นทศศีลมาตาส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสูงอายุ หมดภาระทางครอบครัวแล้ว หรือยากไร้ ขาดผู้อุปถัมภ์ หญิงสาวที่ตั้งใจบวชเข้ามาเพื่อศึกษาธรรมและปฏิบัติรับใช้พระศาสนาหาได้น้อยมาก อาจารย์ของท่านสัทธาสุมนาจึงตั้งใจประคบประหงมศิษย์คนนี้เป็นอย่างดี ทั้งดูแลเรื่องความเป็นอยู่ การอบรมบ่มนิสัย และให้การศึกษา โดยพาไปฝากเรียนบาลีและพระธรรมกับพระภิกษุที่มีความรู้ ทั้งยังเพียรไปนั่งเฝ้าศิษย์สาวระหว่างการเรียนในแต่ละวัน เพื่อป้องกันคำครหาจากผู้ที่ไม่เข้าใจถึงความต้องการศึกษาธรรมะของผู้หญิงในสมัยนั้น จนท่านได้จบการศึกษาทางโลกและทางธรรม
ท่านสัทธาสุมนาครองชีวิตเป็นทศศีลมาตาอยู่ ๔๒ ปี มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จนเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1990 มีการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในประเทศศรีลังกา ท่านได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในคณะทศศีลมาตาจำนวน 20 รูป ที่เดินทางไปรับการบรรพชาและอุปสมบทที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2541 และเดินทางกลับไปสืบสายภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา และสืบเนื่องมาถึงประเทศไทย โดยเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาแก่ท่านธัมมนันทา ภิกษุณี ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีจากสงฆ์สองฝ่ายในสายเถรวาทเป็นรูปแรกของไทย
ปัจจุบัน ท่านสัทธาสุมนาเป็นหนึ่งในภิกษุณีสามรูป จากทั่วเกาะศรีลังกา ที่ได้รับการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ให้ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์ของฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ และยังเป็นภิกษุณีรูปเดียวที่มีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการสันติภาพแห่งชาติศรีลังกา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่าง ๆ โดยสันติวิธี หลายครั้งคดีพิพาทสามารถปรองดองกันได้และยุติที่คณะกรรมการชุดนี้ โดยไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นการลดทอนภาระของรัฐบาลไปได้ระดับหนึ่งโดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด
ที่มา : http://www.thaibhikkhunis.org/thai/a153.html
0 comments: