วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

อคติและมายาคติที่ขัดขวางการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาท


อคติและมายาคติที่ขัดขวางการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาท (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ปฐมเหตุแห่งการเกิดภิกษุณีสงฆ์ 

เป็นที่น่าสังเกตว่าสตรีที่ประสงค์ออกบวชกลุ่มแรกนั้นมาจากเมืองกบิลพัสดุ์ นัยว่าเป็นเหล่าศากยวงศ์ทั้งหมด เหตุใดสตรีเหล่านี้จึงกล้าที่จะแหกกฎสังคม-วัฒนธรรมของชมพูทวีปซึ่งกีดกันผู้หญิงในทางศาสนาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ แม้ลัทธิใหม่ทั้ง ๖ ลัทธิที่เกิดร่วมสมัยกับพุทธศาสนา ลักษณะร่วมที่สำคัญของลัทธิเหล่านี้คือต่อต้านศาสนาพราหมณ์ ในบรรดาลัทธิทั้ง ๖ นี้ ศาสนาเชนของมหาวีระดูโดดเด่นมากที่สุด มีคนเลื่อมในมากที่สุด มีคำสอนที่เหมือนหรือใกล้เคียงพุทธศาสนามากที่สุด เชื่อกันว่าเจ้าชายสิทธัตถะตอนที่ออกแสวงหาโมกขธรรมก็เคยมาศึกษาลัทธินี้ด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญศาสนาเชนไม่เคยสูญไปจากอินเดีย มีสืบมาจนทุกวันนี้ แต่ศาสนาเชนก็ไม่อนุญาตให้สตรีเป็นนักบวช(หมายถึงสมัยพุทธกาลหรือยุคแรกของศาสนาเชน) แล้วเหตุใดสตรีแห่งศากยวงศ์พวกนี้จึงกล้าที่จะแหกกฎเหล็กอันนี้ แสดงว่าสตรีเหล่านี้ต้องมีอะไรพิเศษแน่ๆ

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าถึงการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงและพาเหล่าบุรุษเข้าถึงการดับทุกข์มาแล้วหลายราย ฝ่ายสตรีก็ปรารถนาบ้าง ตอบแค่นี้ฟังเผินๆก็ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล แต่อย่างว่ามันง่ายเกินไป หากท่านมองย้อนไปในอดีตเมื่อ๒๕๐๐ปีก่อนโน้น ในยุคสมัยที่สตรีเป็นสมบัติของชาย ๓ คน คือ พ่อ สามีและลูกชาย ในยุคสมัยที่สตรีแม้เกิดในวรรณะสูงแต่ก็มีค่าแค่ “ศูทร” คือคนชั้นต่ำ ในยุคสมัยที่เชื่อว่าสิ่งที่ถูก “ตี” แล้วจะดี คือ ควาย ทาส กลองและสตรี เท่าที่เล่ามาก็คงพอให้ท่านได้เห็นภาพผู้หญิงในสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร สตรีถูกกำหนดให้เกิดมาใช้แรงกายมากกว่าแรงสมอง ความรู้ที่มีก็เพื่อการเป็นเมียกับแม่ที่ดีเท่านั้น ส่วนความรู้ที่สูงกว่านั้นอย่างความรู้ในทางศาสนา อย่าได้แม้แต่คิด แต่แล้ววันหนึ่งมีสตรีกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าฉันอยากเป็นนักบวช ฉันอยากเข้าถึงการดับทุกข์เหมือนบุรุษบ้าง นี่ต้องเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติมากๆ ในยุคสมัยนั้น แล้วอะไรที่ดลใจหรือเป็นแรงขับให้สตรีศากยวงศ์เหล่านี้ต้องการออกบวช? คงไม่ใช่แค่ความต้องการอย่างเดียว

อย่าลืมว่าการให้สตรีบวชได้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนสังคมชมพูทวีปอย่างแรง เป็น shock of the town เลยทีเดียว ใครที่ทำใจไม่ได้เผลอๆจะหัวใจวายเอา ก็มีที่ไหนที่ปล่อยให้สตรีซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้มีมลทินเข้ามาร่วมในศาสนากับบุรุษ  ก่อนหน้านั้นอย่าว่าแม้แต่เข้ามาเลย เฉียดเข้าไปใกล้ยังไม่ได้ ศาสนาเปรียบเหมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กันไว้สำหรับบุรุษเท่านั้น ดังนั้นเหตุที่เหล่าสตรีศากยวงศ์ต้องการออกบวชจึงน่าจะมีปัจจัยอื่นเกื้อหนุนด้วย แล้วเหตุที่ว่านั้นคืออะไร?

กบิลพัสดุ์ของศากยวงศ์นั้นเป็นเมืองที่ปกครองแบบหมู่คณะ คงคล้ายสภาซีเนตของโรมันหรือสภาของพวกกรีก บางคนอธิบายว่าเป็นแบบสาธารณรัฐ ฝ่ายพุทธเองเรียกการปกครองรูปแบบนี้ว่า “สามัคคีธรรม” เอาเข้าจริงเราไม่ทราบได้แน่ชัดว่าการปกครองที่ว่านี้มีรายละเอียดอย่างไร ได้แต่ทราบคร่าวๆว่าเป็นการปกครองโดยคณะที่สมาชิกมาจากวรรณะกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่แบบราชาธิปไตย เหมือนรัฐใหญ่อย่างมคธหรือสาวัตถี รัฐหรือเมืองที่ปกครองรูปแบบนี้ก็เช่น วัชชี กบิลพัสดุ์ รามคาม กุสินารา ฯ เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐหรือเมืองเหล่านี้มักจะอยู่ทางเหนือของอินเดีย

ลักษณะหนึ่งของการปกครองแบบนี้คือการให้เกียรติสตรี จะเห็นได้จากหลักอปริหานิยธรรม ๗ หรือ “ธรรมที่ไม่ทำให้เสื่อม” ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงพวกกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีว่าตราบใดที่พวกลิจฉวียังยึดหลักธรรมนี้อยู่ ตราบนั้นไม่มีใครมาทำลายได้ เชื่อว่าหลักอปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมร่วมหรือลักษณะการปกครองของรัฐที่ปกครองแบบคณาธิปไตยในชมพูทวีป หนึ่งในหลักธรรมนี้กล่าวว่า “บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้ถูกข่มเหงรังแก” นี่คงจะพอยืนยันได้ว่าสตรีในรัฐดังกล่าวซึ่งหมายรวมถึงเมืองกบิลพัสดุ์ด้วยนั้น คงมีสถานภาพและเสรีภาพที่ดีกว่าสตรีในรัฐอื่นที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตยและศาสนาพราหมณ์

ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนนี้จึงทำให้สตรีศากยวงศ์สามารถเข้าถึงความรู้ทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาใหม่ที่พระพุทธเจ้าได้สถาปนาขึ้น ประกอบกับพระพุทธเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในศากยวงศ์ ความใกล้ชิดนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้สตรีศากยวงศ์กลุ่มนี้กล้าที่จะร้องขอเพื่อใช้สิทธิเข้าถึงการหลุดพ้นเหมือนบุรุษ และในที่สุดการเรียกร้องก็สมหวัง

ถ้าจะเรียกพระนางปชาบดีโคตมีและเหล่าสตรีศากยวงศ์ทั้ง ๕๐๐ ว่าเป็น Feminist รุ่นแรกก็คงไม่ผิด เพราะพวกเธอกล้าที่จะ deconstruct อคติทางเพศจนมีชัยชนะ อย่างนี้ต้องยกนิ้วให้พร้อมตะโกนว่า “นางแน่มาก”

ความจริงเรื่องเหตุปัจจัยที่ทำให้เหล่าสตรีศากยวงศ์ลุกขึ้นมาขอบวช น่าจะมีการศึกษาให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะเข้าใจที่มาที่ไปของการกำเนิดภิกษุณีสงฆ์ได้อย่างลุ่มลึก ที่นำเสนอมาเรื่องอำนาจของความรู้และสถานภาพทางสังคมนั้น ก็เพียงเพื่อเป็นการ “โยนหินถามทาง” เท่านั้น น่าจะมีปัจจัยอื่นอีก

ที่เล่าเรื่องสตรีศากยวงศ์กลุ่มนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า สตรีหรือใครก็ตามที่ถูกกีดกันในสิทธิของความเป็นมนุษย์ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เขาก็จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันนั้น ความเชื่อที่เกิดจากอธรรมอันนำไปสู่อคติก็จะไร้น้ำยา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชมพูทวีปเมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อน ก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้

การสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ครั้งแรกในพุทธศาสนา

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดในพรรษาที่ ๕ ตอนที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองไวศาลี ความจริงก่อนหน้านั้นตอนที่พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางปชาบดีโคตรมีก็เคยทูลขอบวชมาครั้งหนึ่งแล้วแต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ พระนางเองก็ไม่ละความพยายามได้ตามเสด็จมาที่เมืองไวศาลีและได้มาทูลขอบวชอีกครั้ง ผลก็คือทรงปฏิเสธอีก การที่ทรงปฏิเสธถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา ทำให้พวกที่ไม่สนับสนุนการบวชภิกษุณีหรือจะเรียกสั้นๆว่าฝ่ายค้านยกมาอ้างว่าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาที่จะให้มีภิกษุณีสงฆ์ ถ้าเราฟังความแค่นี้ เหตุผลที่ฝ่ายค้านยกมาอ้างก็ดูจะมีน้ำหนัก แต่ถ้าเราศึกษาไปถึงสังคม-วัฒนธรรมของชมพูทวีปในตอนนั้น เข้าใจสถานภาพของสตรีในตอนนั้น เข้าใจการสถาปนาพุทธศาสนาซึ่งเพิ่งตั้งมาเพียง ๕ ปี เรียกได้ว่ายังไม่มั่นคงเพียงพอ เราก็จะเข้าใจเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธการดังกล่าว

อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของพุทธศาสนานั้นก็เพื่อ “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” เพื่อประโยชน์แก่พหุชน เพื่อความสุขของพหุชนและเกื้อกูลโลก นี่คือคำประกาศเจตนารมณ์ที่พระพุทธองค์ได้มอบให้แก่สมณฑูตชุดแรกที่จะออกไปเผยแพร่ศาสนา กล่าวโดยสรุปก็คือการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาก็เพื่อความสุขและประโยชน์ของพหุชน ในบาลีใช้คำว่า “พหุชน” ก็หมายถึงมนุษย์ทุกคน ทั้งชายและหญิง ก็เมื่อความสุขที่สูงสุดของพุทธศาสนาคือพระนิพพาน พุทธศาสนาก็ต้องเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนที่หวังพระนิพพานได้มีโอกาสเข้าถึง ทางเข้าถึงที่ว่านี้ก็โดยการบวชเท่านั้น ด้วยเหตุนี้โดยหลักการแล้วพุทธศาสนาจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนทั้งชายและหญิงได้เข้าถึงพระนิพพาน เพียงแต่ว่าโอกาสนั้นจะมีเมื่อไร พร้อมหรือยัง เหมาะสมหรือยัง โดยเฉพาะกรณีที่สตรีจะเข้ามาบวชนั้น ก็อย่างที่บอกแล้วว่าเหตุการณ์นี้เป็น shock of the town พระพุทธองค์ก็ต้องทรงรอบคอบหน่อย

อันที่จริงการบวชนั้นไม่ยากหรอก แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเมื่อบวชแล้วจะได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน การบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญสตรีเหล่านี้มีความจริงจังในเพศบรรพชิตมากน้อยแค่ไหน หากผลีผลามอาจส่งผลเสียต่อพุทธศาสนาซึ่งกำลังเริ่มผลิดอกออกใบอยู่ในขณะนั้นก็ได้

เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดกับพวกทิเบตในปัจจุบันนี้ ฝ่ายทิเบตเองก็ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ เมื่อองค์ดาไลลามะมีพระประสงค์จะให้มีการบวชภิกษุณีสงฆ์ในฝ่ายมูลสรวาสติวาทคือในนิกายของฝ่ายทิเบตเอง พระองค์ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วเกือบ ๓๐ ปีเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เหตุผลใหญ่ก็คือเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้วต้องได้รับการยอมรับจากพุทธทิเบตอีก ๓ นิกายนอกจาก “เกลุกปะ” ของพระองค์ คือ นิงมาปะ กากยูปะ และ ศากยะปะ เห็นไหมว่าการบวชนั้นไม่ยาก แต่เรื่องที่จะเกิดหลังการบวชนั้นต่างหากที่ยาก สำหรับกรณีของพระนางปชาบดีและพวกศากยธิดาทั้ง ๕๐๐ นั้นถือว่าจบเร็วกว่าพวกทิเบตในตอนนี้เสียอีก

และที่อ้างว่าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาจะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาตั้งแต่แรกนั้น ดูจะเป็นการหมิ่นพระบรมศาสดามากไปหน่อย ก็จะไม่หมิ่นได้อย่างไร ถ้าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาแล้วต่อมาให้บวชทำไม? อย่างนี้ก็กล่าวหาว่าพระพุทธองค์ทรงโลเลนะซิ หรือว่าที่ให้บวชนั้นเพราะสงสารด้วยเป็นศากยวงศ์ด้วยกัน เห็นแก่ญาติพี่น้องว่างั้นเถอะ ถ้าพระพุทธองค์มีเจตนาที่จะไม่ให้มีภิกษุณีสงฆ์จริงๆแล้วละก็ คงไม่อนุญาตต่อมาในภายหลังอย่างเด็ดขาด ความจริงตอนที่ทรงตรัสรู้แล้วใหม่ๆ พระพุทธองค์เคยกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์แล้วด้วยซ้ำ(ซึ่งแน่นอนว่าตอนนั้นยังไม่มีทั้งภิกษุและภิกษุณี) ไม่เชื่อไปอ่านมหาปรินิพพานสูตร ก็จะพบว่าหลังการตรัสรู้ใหม่ ในสัปดาห์หนึ่งตอนที่อยู่ไต้ต้นนิโครธ มารได้เข้ามาทูลให้ดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้กล่าวกับมารว่าต้องรอให้พุทธบริษัทที่มี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รู้พระธรรมวินัย เผยแพร่พระธรรมวินัย และปกป้องพระธรรมวินัยได้ก่อน เมื่อไรที่พุทธบริษัททำได้อย่างนี้แล้วพระพุทธองค์ก็จะดับขันธ์ปรินิพพาน นี้อ้างจากพระไตรปิฎกนะ ไม่ได้คิดเอาเอง

เห็นไหมว่าพระพุทธองค์นั้นทรงมีเจตนาเรื่องภิกษุณีสงฆ์มาก่อนตั้งนานแล้ว ก่อนที่พระนางปชาบดีและเหล่าศากยธิดาจะมาขอบวชเสียอีก(คือก่อนตั้ง ๕ ปี) ก็อย่างที่บอกถ้าไม่มีเจตนาแล้วพระพุทธองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้บวชอย่างเด็ดขาด ไม่ว่านางนั้นจะเป็นใครก็ตาม

ในเรื่องเจตนานี้ทางพุทธศาสนากับฝ่ายกฎหมายมีมุมมองที่ต่างกัน ทางกฎหมายถือหลักว่า “กรรมส่อเจตนา” หมายความว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นจะเป็นตัวชี้วัดถึงเจตนา โทษานุโทษก็ว่าไปตามเจตนานั้นๆ อย่างนาย ก.พกปืนเข้าไปบ้านนาย ข. ในบ้านไม่มีไครนอกจากนาย ข. ต่อมานาย ข. ถูกยิงเสียชีวิต นาย ก. ให้การกับตำรวจว่านาย ข. ฆ่าตัวตายเอง ดูจากพฤติกรรมแล้วใครจะไปเชื่อ การที่พกปืนเข้าไปในบ้านของคนอื่น ก็ส่อเจตนาไม่ดีแล้ว เรื่องนี้นายก.เป็นผู้ต้องหาแน่ๆ ส่วนทางพุทธศาสนาจะถือหลัก “เจตนาส่อกรรม” หมายความว่าเจตนาจะเป็นตัวตัดสินหรือชี้นำไปสู่การกระทำนั้นๆ ว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมไม่ดี  การที่พระพุทธองค์มีเจตนาเรื่องภิกษุณีสงฆ์มาก่อน ต่อมาก็ทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ นี่เป็นเจตนาที่ส่อกรรมอย่างชัดๆ ดังนั้นใครที่อ้างว่าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาที่จะให้มีภิกษุณีสงฆ์ ต้องศึกษาให้มากกว่านี้แล้วจะเข้าใจ

ว่าด้วยเรื่องครุธรรม ๘ ประการ

ที่นี่ก็มาถึงประเด็นสำคัญคือเรื่องครุธรรม ๘ ประการ การที่พระนางปชาบดีจะได้บวชหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับว่าพระนางจะยอมรับครุธรรม ๘ ประการหรือไม่ นี่เป็นเงื่อนไขที่ทรงตรัสและนำมาใช้เฉพาะกรณีของพระนาง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราๆท่านๆที่มีใจหนักไปทางมนุษยธรรมมักจะมองว่าครุธรรม ๘ ประการนั้นกดผู้หญิง แม้บวชแล้วยังให้ผู้หญิงเป็นรองผู้ชายอยู่นั่นเอง นักวิชาการบางคนถึงกับเชื่อว่านี้ไม่ใช่พุทธพจน์หากเป็นข้อมูลที่ใส่เข้าไปในพระไตรปิฎกตอนหลัง ดังนั้นจึงไม่ควรยึดเป็นสรณะ แต่ก่อนที่จะตัดสินอย่างไรลองมาฟังเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดก่อน

ย้อนกลับไปที่ไวศาลีอีกครั้ง(รายละเอียดในตอนนี้ให้ไปอ่านในพระวินัยปิฎก จุลวรรค ในหมวดภิกขุณีขันธกะ ในที่นี้จะนำมาเล่าเป็นภาษาพูดเพื่อความกระชับ) เมื่อพระนางปชาบดีตามมาทูลขอบวชแต่พระพุทธองค์ก็ไม่อนุญาตอีก

พระอานนท์จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าสตรีออกบวชแล้วจะบรรลุโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผลหรืออรหันตผลหรือไม่?

พระพุทธองค์ตอบว่า “บรรลุได้”

พระอานนท์ถามซ้ำเชิงร้องขอว่า “ถ้าบรรลุได้ แล้วพระนางปชาบดีผู้เคยเลี้ยงดูพระองค์ประสงค์จะบรรลุธรรมที่พระองค์ประกาศไว้ พระองค์จะไม่อนุญาตหรือ?”

พระพุทธองค์ตอบกลับมาว่า “ถ้าพระนางปชาบดีรับครุธรรม ๘ ประการนี้ นางก็บวชได้” จากนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสเล่าว่าครุธรรม ๘ ประการมีอะไรบ้าง และทรงให้เหตุผลว่าการที่ให้รับครุธรรม ๘ นี้ก็เพื่อป้องกันมิให้พุทธศาสนาอายุสั้น ในตอนลงท้ายซึ่งสำคัญมาก ในบาลีกล่าวว่า “ …อานนท์ ถ้าพระนางปชาบดีโคตรมีรับครุธรรม๘ข้อนี้ (การรับครุธรรม)นั้นแหละจงเป็นการอุปสมบทของพระนางปชาบดีโคตมีนั้น” (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า ๓๑๗) หมายความว่าเมื่อพระนางปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้วพระนางฯก็ผ่านการบวชแล้วนั่นเอง

ที่นี้มาดูว่าครุธรรม ๘ ประการนั้นมีอะไรบ้าง

๑. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็จะต้องทำการกราบไหว้ ต้อนรับทำอัญชลีกรรม ทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น ๒. ภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ๓. ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่าง คือ ถามอุโบสถและไปรับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยสถาน ๓ คือ ได้เห็น ได้ฟังหรือได้นึกสงสัย ๕. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ๖. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ข้อนี้ล่ะที่จะเป็นปัญหาต่อไป) ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใดๆ ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอนภิกษุณี

พระนางปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการ เป็นอันว่าพระนางได้บวช แต่พวกสตรีนิยมฟังแล้วคงกรี๊ดลั่น นี่มันกดขี่กันชัดๆ แต่อย่าเพิ่งหงุดหงิดครับ ใจเย็นๆค่อยฟังไป เอาล่ะที่นี้มาวิเคราะห์ประเด็นเรื่องครุธรรม ๘ นี้กัน

๑. ถ้าว่าไปตามข้อมูลในพระไตรปิฎกแล้ว เรื่องครุธรรม ๘ ประการนี้พระพุทธองค์ตรัสสำหรับกรณีของพระนางปชาบดีโคตรมีแต่เพียงรูปเดียวใช่หรือไม่? เพราะบรรดาศากยธิดาอีก ๕๐๐ ที่ตามมานั้นต่างได้รับการบวชโดยภิกษุสาวก โดยการรับไตรสรณคมน์ ไม่มีที่ตรงไหนที่ระบุว่าเหล่านางศากยธิดาต้องรับครุธรรม ๘ นี้ก่อนแต่ประการใด แต่ฝ่ายค้านก็โต้ได้ว่าตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์การบวชก็เลยทำโดยพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกก่อน หมายความว่ารุ่นแรกให้อนุโลมไปก่อนว่างั้นเถอะ เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้วจึงค่อยปฏิบัติตามครุธรรม ๘ นี้ ฟังดูก็เข้าท่า แต่ก็แย้งได้อีกว่า ถ้าเห็นว่าครุธรรมนี้จำเป็นสำหรับภิกษุณีสงฆ์แล้ว เหตุใดในพระไตรปิฎกจึงไม่ระบุให้เหล่าศากยธิดาทั้ง ๕๐๐ นั้นยอมรับครุธรรมนี้ก่อน เหตุใดจึงใช้เงื่อนไขนี้กับพระนางปชาบดีโคตมีเท่านั้น อีกทั้งการรับครุธรรม ๘ ก็หมายถึงการบวชอยู่แล้ว ถ้าเหล่าศากยธิดาทั้งหมดยอมรับก็ไม่ต้องไปรบกวนพระสงฆ์สาวกเพื่อทำการบวชให้จริงไหม? พูดไม่ออกแล้วล่ะซิ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็ยังถกเถียงต่อได้ อย่าเพิ่งด่วนสรุป เอาเป็นว่าผมเสนอว่าเรื่องครุธรรมนี้เป็นเงื่อนไขเฉพาะพระนางปชาบดีโคตมีใช่หรือไม่? ขอให้ไปคิดกันต่อ ส่วนผมว่าน่าจะใช่

๒. ถ้าเรายอมรับว่าครุธรรม ๘ นี้เป็นพุทธพจน์จริงและเป็นเงื่อนไขที่เสนอสำหรับกรณีพระนางปชาบดีโคตรมีจริง ฟังดูก็มีเหตุผล เพราะอย่าลืมว่าเหล่าศากยวงศ์นั้นมีทิฐิหรืออัตตาในเรื่อง “วงศ์” ค่อนข้างแรง เรื่องนี้ใครที่อ่านพุทธประวัติก็คงพอจะทราบว่าพวกศากยวงศ์นั้นยึดมั่นถือมั้นในโคตรวงศ์ของตน จะไม่ยอมแต่งกับคนนอกวงศ์ เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ไปบวชให้กับเหล่าศากยบุตรนั้น พระพุทธองค์บวชให้พระอุบาลีก่อน พระอุบาลีนั้นเดิมเป็นช่างตัดผมประจำราชสำนัก ทั้งๆที่เป็นคนจากวงศ์อื่นและเป็นวงศ์ที่เป็นขี้ข้า จากนั้นถึงค่อยบวชให้เหล่าศากยบุตร เมื่อบวชแล้วเหล่าศากยบุตรจึงต้องทำความเคารพพระอุบาลีเพราะถือว่าอาวุโสกว่า การที่พระพุทธองค์ทำเช่นนี้ก็เพื่อลดทิฐิหรืออัตตาของเหล่าศากยบุตรนั่นเอง ส่วนพระนางปชาบดี(และเหล่าศากยธิดาอีก ๕๐๐)ซึ่งเป็นศากยวงศ์ด้วยเหมือนกัน ก็คงมีทิฐิหรืออัตตาในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย การกำหนดครุธรรม ๘ นี้ก็เพื่อกำราบทิฐิหรืออัตตานี้ต่างหาก หาใช่มีเจตนาเพื่อกดสตรีลงให้เป็นรองบุรุษไม่ ถ้าไม่เชื่อไปอ่านในพระวินัยปิฎกหมวดอื่นๆดู แล้วจะเห็นว่าจริง(อย่างเช่นพระพุทธองค์ห้ามภิกษุใช้ภิกษุณีซักจีวรฯ เป็นต้น)

๓. ต่อเนื่องจากข้อ ๒ ถ้าเป็นพุทธพจน์จริงอย่างที่ว่า การบัญญัติครุธรรม ๘ นี้ก็มีเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือเพื่อให้ภิกษุณีสงฆ์เป็นที่ยอมรับของฝ่ายภิกษุสงฆ์ อย่าลืมว่าตอนนั้นสถานภาพของสตรีในชมพูทวีปหาได้เท่าเทียมบุรุษไม่ โดยเฉพาะในทางศาสนา แล้วจู่ๆวันหนึ่งมีนักบวชผู้หญิงเกิดขึ้น แรงต้านทั้งจากภายในและภายนอกก็ต้องมีเป็นของธรรมดา ในขณะที่พุทธศาสนาเพิ่งเริ่มต้นและบรรดาสงฆ์สาวกก็มีทั้งที่เป็นอริยสงฆ์และสมมุติสงฆ์ ฝ่ายอริยสงฆ์คงไม่มีปัญหา แต่ฝ่ายสมมุติสงฆ์นี้ซิคงรับไม่ได้ ถ้าจัดการไม่ดีอาจมีผลลบต่อพุทธศาสนาโดยรวม การที่พระพุทธองค์บัญญัติครุธรรมก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนั้น เป้าหมายก็เพื่อให้ฝ่ายสมมุติสงฆ์ยอมรับภิกษุณีบริษัท อย่างน้อยก็ดูเหมือนว่าตนนั้นอยู่เหนือนักบวชสตรีเหล่านี้ อันนี้ก็จะไปตรงกับคำอธิบายที่ว่าหากสตรีมาบวชแล้วอายุพุทธศาสนาจะสั้นลง ดังนั้นจึงกำหนดครุธรรม ๘ ความหมายก็เพื่อป้องกันปัญหาภายในหมู่สงฆ์ด้วยกันเอง อย่าลืมว่านี้เพิ่งพรรษาที่ ๕ แค่นั้นเอง เพราะถ้าเกิดปัญหาจนถึงขั้นสังฆเภท พุทธศาสนาก็ไปไม่รอด

ประเด็นนี้ฝ่ายค้านก็อาจแย้งได้ว่าในสมัยนั้นบรรดาสาวกของพระพุทธองค์ล้วนเป็นพระอรหันต์เป็นอริยสงฆ์ทั้งหมด ไม่ควรจะเป็นปัญหาอย่างที่ว่า อันนี้เป็นการมองที่ Romantic อย่างยิ่ง ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตลอดพระชนม์ชีพที่พระพุทธองค์ได้สั่งสอนสงฆ์สาวกมา สาวกส่วนหนึ่งที่บรรลุธรรมเป็นอริยสงฆ์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นได้แค่สมมุติสงฆ์ การบัญญัติพระวินัยก็เกิดจากการกระทำผิดพลาดของเหล่าสมมุติสงฆ์นี้ทั้งนั้น อย่างกรณีเทวทัตและสาวกที่ตามเทวทัตไปนั้นเป็นอริยสงฆ์หรือ? หรืออย่างพระสุภัททะที่แสดงอาการดีใจเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพาน จนเป็นเหตุให้เกิดการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ นั้นเป็นอริยสงฆ์หรือ?

เรื่องครุธรรม ๘ ที่ผมได้วิเคราะห์นี้ ถ้ายอมรับว่าเป็นพุทธพจน์ก็น่าจะมีเหตุผลอย่างที่ผมได้เสนอมา เป็นเหตุผลที่เหมาะสมและสอดคล้องแก่บุคคลและกาลเวลา เป้าหมายก็เพื่อความยั่งยืนแห่งภิกษุณีบริษัทและพุทธศาสนา และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหลังจากสถาปนาภิกษุณีแล้วปรากฏว่ามีสตรีออกบวชอีกมาก ภิกษุณีบริษัทก็ตั้งมั่น ไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ(ผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ)ถึง ๑๓ รูป ถ้าเปรียบเป็นธุรกิจก็ถือว่าได้ผลกำไรไม่ขาดทุน

ประเด็นที่เราควรคิดต่อก็คือเมื่อเรื่องครุธรรม ๘ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและเฉพาะกาล เหตุใดเมื่อเวลาผ่านไปเรายังยึดมั่นในครุธรรม ๘ นี้อยู่ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ได้ไหม? หรือยกเลิกได้ไหม? ข้อเสนอสุดท้ายนี้รับรองว่าฝ่ายเถรวาทรับไม่ได้แน่ๆ เพราะหลักการของฝ่ายเถรวาทก็คือ “ไม่บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ ไม่เพิกถอนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ” หมายความว่าไม่เพิ่มหรือตัดสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว(แต่ความจริงที่ประจักษ์หาเป็นเช่นนั้นไม่) ดังนั้นถ้าจะเสนอให้ยกเลิกครุธรรม ๘ นี้คงเป็นไปได้ยาก ทางออกที่พอจะทำได้ก็คือการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เท่านั้น แต่เถรวาทเมืองไทยบอกยืนกระต่ายขาเดียวว่า “ไม่ได้”

ขอพูดถึงการยึดมั่นของฝ่ายเถรวาทสักนิด ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมา แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนหรือสถานการณ์ไม่เหมาะสม ก็มีพุทธานุญาตให้ปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกสิกขาบทนั้นๆ หากทรงเห็นว่าจะเป็นการเหมาะสมและมีประโยชน์กว่า  แม้แต่ก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็ทรงมีพุทธานุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กๆน้อยๆนั้นได้ นี่คือพุทธวิธีที่เหมาะสมแก่รูปการณ์และเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นในวินัย วินัยหรือกฎก็เปรียบเสมือนรั้วที่เราสร้างเพื่อป้องกันภัย แต่ไม่ใช่สร้างอย่างแข็งแรงจนเราออกมาภายนอกไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นรั้วที่เราสร้างเพื่อป้องกันก็จะกลายเป็นที่กักกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ฝ่ายเถรวาทที่อ้างว่าเคารพนับถือพระพุทธเจ้า กลับไม่ปฏิบัติตามพุทธดำรัสของพระบรมศาสนา ยึดมั่นถือมั่นเอาไว้หมด สรุปเอาดื้อๆว่าที่มีพุทธดำรัสให้ยกเลิกสิกขาบทได้นั้น พวกตนจะไม่ยกเลิกอะไรเลย นี่หรือคือความเคารพ ที่เรียกตนว่า “เถรวาท” นั้นถูกต้องแล้ว เพราะเป็นพวกที่เชื่อในวาทะของพวกเถระรุ่นแรกที่ทำการสังคายนา อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ไม่ใช่พวก “พุทธวาท” ที่เชื่อในวาทะของพระพุทธเจ้า

ฝ่ายเถรวาทจึงรับไม่ได้ถ้าจะให้ปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกสิกขาบทใดๆ แต่ในความเป็นจริง จริงหรือ?ที่ฝ่ายเถรวาทยึดมั่น “ไม่บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ ไม่เพิกถอนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ” โดยเฉพาะเถรวาทในไทย

ส่วนประเด็นที่ว่าเรื่องครุธรรม ๘ ประการนี้เป็นสิ่งที่สอดแทรกเข้าในพระไตรปิฎกตอนหลัง อันนี้ก็เป็นไปได้เพราะพระไตรปิฎกไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล สมัยนั้นมีแต่พระธรรมและพระวินัย พระพุทธองค์เองก็ไม่เคยตรัสคำว่า “พระไตรปิฎก” เลยแม้แต่สักครั้ง เชื่อว่าคำสอนในพุทธศาสนาที่ถูกจัดหมวดหมู่เป็น ๓ หรือที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันประกอบด้วย พระสุตตันตะ พระวินัยและพระอภิธรรมนั้นน่าจะเกิดตอนที่บันทึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพศว.ที่ ๖ หรืออาจจะหลังจากนั้น ท่านพุทธทาสเองท่านเชื่อว่าพระอภิธรรมไม่ใช่พุทธพจน์ พูดง่ายๆคือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำอธิบายของเหล่าอรรถกถาจารย์รุ่นหลังที่ได้รวบรวมแล้ว “จับใส่พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า” ก็ขนาด “ปิฎก” หนึ่งยังจับใส่ได้ ประสาอะไรกับครุธรรม ๘ นี้จะจับใส่ไม่ได้ อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับแต่เชื่อว่าคงไม่ผิด

ตอนนี้กลับไปที่เรื่องภิกษุณีกันต่อดีกว่า ภิกษุณีสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

ตั้งแต่มีภิกษุณีสงฆ์ในพรรษาที่ ๕ เป็นต้นมา บริษัทฝ่ายนี้มั่นคงขึ้นตามลำดับ เพราะมีสตรีออกบวชอีกมากรวมทั้งพระนางยโสธรา ชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ และพระนางเป็น ๑ ในภิกษุณีสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ รูป อาทิ พระนางปชาบดีโคตรมีเป็นเลิศทางรัตตัญญูคือรู้ราตรีนาน พระนางเขมาเถรีเป็นเลิศทางปัญญา พระอุบลวรรณาเถรีเป็นเลิศทางมีฤทธิ์ ฯลฯ ในเถรีคาถายังกล่าวถึงสตรีที่ออกบวชแล้วบรรลุธรรมมีทั้งสิ้น ๗๓ รูป นี่ก็คงพอที่จะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าภิกษุณีบริษัทนั้นรุ่งเรืองและสำเร็จผลได้จริงๆ กล่าวได้ว่าไม่ทำให้พระพุทธองค์ผิดหวังว่างั้นเถอะ

แต่เรื่องราวภิกษุณีมีน้อยมากในพระไตรปิฎก เท่าที่หาก็มี “เถรีคาถา” ซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย และใน “ภิกขุณีวิภังค์ และ จุลวรรค” ในพระวินัยปิฎกเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็มองไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าพระไตรปิฎกเขียนโดยพระผู้ชายจนมีลักษณะ androcentric คือ แสดงความเป็นใหญ่ของผู้ชายอย่างชัดเจน  เลยไม่ให้ความสำคัญต่อพระผู้หญิง บ้างก็ว่าภิกษุณีถูกตัดตอนไปตั้งแต่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จะเห็นได้จากการสังคายนาครั้งที่ ๑ นั้นไม่มีข้อมูลว่ามีภิกษุณีเข้าร่วมเลย ประเด็นนี้พระมหากัสสปะโดนเข้าไปเต็มๆ (รายละเอียดอ่านใน “เหตุเกิด พ.ศ.๑ ของพระมโน”) ดังนั้นภิกษุณีจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืมในพระไตรปิฎก

หากไปดูในมหาปรินิพพานสูตรซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฝากพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้เป็นผู้ดูแลรักษาพระธรรมพระวินัย ที่มีพุทธดำรัสเช่นนี้ก็ยืนยันว่า “ภิกษุณีสงฆ์” นั่นได้ตั่งมั่นเป็นหลักสำคัญหนึ่งในพุทธบริษัท และเป็นบริษัทหนึ่งที่พระองค์มั่นพระทัย มิฉะนั้นพระพุทธองค์คงไม่ฝากให้ช่วยดูแลพระธรรมพระวินัยซึ่งจะมาทำหน้าที่เป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ อย่างเราๆท่านๆถ้าจะฝากฝังใครให้ช่วยดูแลของสำคัญ ถ้าไม่มั่นใจเราคงไม่ฝากฝังใช่ไหม? ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ

๓๑๑ สิกขาบทสำหรับภิกษุณีสงฆ์

เราทราบกันดีว่าวินัยของภิกษุสงฆ์นั้นมี ๒๒๗ ข้อ ส่วนวินัยของภิกษุณีสงฆ์นั้นมี ๓๑๑ ข้อ และวินัยบัญญัตินี้เชื่อว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว(แต่บางคนก็แย้งว่ามีเพิ่มเติมภายหลังด้วยโดยเฉพาะวินัยของภิกษุณีสงฆ์ ประเด็นนี้ก็ถกเถียงได้ แต่ขอละไว้ก่อน) เมื่อเห็นตัวเลขที่ต่างกันเช่นนี้บางคนก็ตีความว่าเหตุที่มีวินัยฝ่ายภิกษุณีสงฆ์มากก็เพื่อกันพวกผู้หญิงไม่ให้เข้ามาบวช เพราะถ้าบวชก็ต้องถูกวินัย ๓๑๑ นี้กำกับคงอยู่ได้ไม่นาน คือตั้งไว้เพื่อให้ขยาดว่างั้นเถอะ แสดงว่าคนที่พูดอย่างนี้ไม่เข้าใจ เอาเข้าจริงตัวเลขจะมากจะน้อยแทบจะไม่มีนัยสำคัญ เอาล่ะจะเล่าให้ฟัง

การบัญญัติวินัยสงฆ์รวมทั้งการปรับอาบัตินั้นเกิดจากสงฆ์กระทำผิดหรือกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่สมณเพศ พระพุทธองค์จึงบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้ หากใครละเมิดก็วางกติกาการลงโทษที่เรียกว่าปรับอาบัติไว้ ตั้งแต่ความผิดขั้นเล็กน้อยไปจนถึงขึ้นอุกฤต หมายความว่าต้องมีการกระทำเกิดขึ้นก่อนถึงจะบัญญัติข้อห้ามตามมาทีหลัง ด้วยเหตุนี้ถ้าพระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพต่อมาอีก ก็จะมีวินัยเกิดขึ้นอีกไม่ว่าทั้งฝ่ายภิกษุหรือภิกษุณี ดังนั้นตัวเลข ๒๒๗ หรือ ๓๑๑ จึงไม่ใช่ตัวเลขตายตัว เผลอๆถ้าภิกษุทำผิดมากๆตัวเลขฝ่ายภิกษุก็อาจจะมากกว่าภิกษุณีก็ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคแรกๆของพุทธศาสนายังไม่มีวินัยบัญญัติ เนื่องจากตอนนั้นยังมีพุทธสาวกไม่มากอีกทั้งสาวกทั้งหมดเป็นพระอริยสงฆ์จึงไม่ได้ทำอะไรที่ผิดพลาด ต่อมาเมื่อมีสาวกมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นสมมุติสงฆ์ ตอนนี้แหละที่เริ่มมีการกระทำผิดและตอนนี้แหละที่เริ่มมีการบัญญัติพระวินัย ดังนั้นสิกขาบทดังกล่าวจึงมีไว้เพื่อกำกับบรรดาสมมุติสงฆ์เป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภิกษุหรือภิกษุณี นอกจากนี้จะเห็นว่าสิกขาบทภิกษุณีส่วนหนึ่งกำหนดไว้เพื่อเป็นการปกป้องมิใช่มีไว้เพื่อทำลาย เช่น กำหนดไว้ว่าภิกษุณีต้องจำพรรษาในอารามที่มีภิกษุอยู่ด้วย ต้องไม่เดินทางไปไหนเพียงรูปเดียว ฯ

อีกประการหนึ่งการนับจำนวนสิกขาบทของภิกษุทั้ง ๒ ฝ่ายก็ไม่เหมือนกัน เช่นวินัยของภิกษุณีนับเป็นหลายข้อแต่วินัยอย่างเดียวกันของฝ่ายภิกษุนับเป็นข้อเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตัวเลขสิกขาบทฝ่ายภิกษุณีมีมากกว่าฝ่ายภิกษุ

อย่างไรก็ตามยังมีการลักหลั่นในการปรับอาบัติระหว่างภิกษุกับภิกษุณี แม้จะเป็นความผิดอย่างเดียวกัน เรื่องนี้อาจมีเหตุผลอยู่เบื้องหลังหรือว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อนักบวชสตรีจริงๆ ประเด็นนี้ก็ขอข้ามไปก่อนเช่นกัน

เอาเข้าจริงถ้าผู้ที่เข้าบวชสำรวมกาย วาจา ใจ ควบคุมให้อยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ พระวินัยเหล่านี้แทบไม่มีความหมายเอาเลย ไม่ว่าสิกขาบทจะมากหรือน้อยก็ตาม เพราะหากตั้งใจปฏิบัติตามหลักคำสอนมีหรือที่จะพลาดไปทำผิด เคยอ่านเรื่องหลวงปู่รูปหนึ่ง(ไม่แน่ใจว่าหลวงปู่มั่นหรือไม่)บอกว่าพระวินัยที่ท่านยึดมั่นมีข้อเดียวคือ “ใจ” ถ้าเราคุมใจเราได้พระวินัยต่อให้เป็นพันก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นจำนวนพระวินัยหรือสิกขาบทจึงไม่มีนัยสำคัญใดๆที่จะมากีดกันไม่ให้สตรีออกบวช เพราะในอดีตสตรีก็ออกบวชเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันสตรีก็ยังออกบวชและกำลังจะบวชอีกมาก อย่างที่กำลังเกิดในบ้านเราขณะนี้ ดังนั้นที่อ้างว่าพระวินัย ๓๑๑ มีไว้เพื่อให้สตรีขยาดหรือทนเป็นภิกษุณีไม่ได้ ก็ไม่จริง

ความเป็นมาของภิกษุณีสงฆ์หลังพุทธกาล

เรื่องราวของภิกษุณีสงฆ์หลังพุทธกาล โดยเฉพาะในอินเดีย ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็พอจะค้นหาได้ก็จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี.  เรื่องราวภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียและศรีลังกา หลักฐานที่เก่าแก่ก็คือคัมภีร์ “ทีปวงศ์” และ “มหาวงศ์” คัมภีร์ทั้ง ๒ นี้ได้เล่าเรื่องราวของภิกษุณีสังฆมิตตา ธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มาบวชให้นางอนุฬาและเหล่าสตรีแห่งอนุราธปุระในศรีลังกา เหตุการณ์นี้เกิดในพุทธศตวรรษที่ ๓ (ต่อไปจะใช้ตัวย่อว่า พศว.) คัมภีร์ทีปวงศ์จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์มากกว่าคัมภีร์มหาวงศ์ เชื่อว่าเพราะผู้บันทึกเป็นภิกษุณีสงฆ์ และเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งค้นพบอารามและเจดีย์ของพระนางอนุฬาเถรีพร้อมเหล่าภิกษุณีชาวสิงหล อยู่นอกเมืองอนุราธปุระที่ไปทางมหินตเล การค้นพบนี้มีจารึกที่อยู่บนลานหินเป็นเครื่องยืนยัน หลักฐานี้ได้แสดงว่าในพศว.ที่ ๓ นั้นภิกษุณีสงฆ์ได้เผยแพร่จากอินเดียมาสู่ศรีลังกาจริง

ส่วนหลักฐานในอินเดียที่ยืนยันว่าในพศว.๓ ยังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ก็คือจารึกของพระเจ้าอโศกที่สารนาท ซึ่งระบุให้ภิกษุและภิกษุณีอย่าทำให้เกิดการแตกแยก ดังนั้นคนที่เคยอ้างว่าภิกษุณีสงฆ์หมดไปเมื่อสมัยพุทธกาลแล้ว และอ้างต่อว่าตอนที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ไม่มีภิกษุณีปรากฏแล้วนั้น ความเชื่อนี้ก็ผิด นอกจากนี้ในบันทึกของพระฟาเหียนที่มาศึกษาในอินเดียเมื่อพศว.๑๐ นั้นกล่าวว่าที่เมืองสังกัสสะ มีภิกษุและภิกษุณีนับพัน นี้แสดงว่าภิกษุณีสงฆ์ยังมีในดินเดียสืบต่อมา

จากการค้นคว้าของอาจารย์ปีเตอร์ สกีลลิ่งทำให้ทราบว่ามีจารึกที่กล่าวถึงภิกษุณีในอินเดียและดินแดนใกล้เคียงซึ่งมีอายุเรื่อยมาจนถึงพศว.ที่ ๑๖ จารึกที่พบนั้นมีตั้งแต่เหนือสุดที่กัตมัณฑุ ในเนปาล ทางภาคกลางของอินเดียที่ พิหาร สาญจี โกสัมพี มถุรา ตะวันตกสุดที่รัฐมหาราษฎร์ ตะวันออกที่เบงกอลตะวันตก และอมราวดี(ถ้าจำไม่ผิดอ.สกีลลิ่งเคยบรรยายหัวข้อนี้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ไปขอข้อมูลได้) จากหลักฐานที่อ.ปีเตอร์ สกีลลิ่งนำมาเสนอนี้ได้ยืนยันว่าภิกษุณีสงฆ์มีอยู่ในอินเดียจนถึงพศว.ที่ ๑๖

ส่วนหลักฐานทางศรีลังกาก็ระบุเช่นเดียวกันว่ามีภิกษุณีตั้งแต่พศว.๓ เรื่อยมาถึงพศว.๑๖ เช่นกัน จากนั้นก็ขาดสูญ ต่อมาฝ่ายภิกษุสงฆ์ของศรีลังกาสามารถฟื้นคืนมาได้(สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุ ในพศว.ที่๑๘) ด้วยความช่วยเหลือของพระพม่า จากอาณาจักรพุกาม แต่ปรากฏว่าฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้รับการฟื้นฟูด้วยแต่อย่างใด ตั้งแต่นั้นมา(ฝ่ายเถรวาท)ก็เชื่อกันว่าภิกษุณีสงฆ์สูญไปแล้วอย่างสิ้นเชิง สืบต่อไม่ได้อีกแล้ว

แต่มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งใน พศว.๑๐ คือการสืบสายภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาไปจีน เรื่องราวนี้ปรากฏในงานเขียนของพระเปาซางระซึ่งบุว่า ใน ค.ศ.๔๓๓ หรือ พ.ศ.๙๗๖ คณะภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาได้เดินทางไปบวชให้แก่สตรีชาวจีนที่เมืองนานกิง ด้วยเหตุนี้จึงมีภิกษุณีบริษัทในฝ่ายมหายานตั้งแต่นั้นสืบมา และภิกษุณีฝ่ายมหายานเหล่านี้เป็นนิกายธรรมคุปต์ ที่ถือสิกขาบทใกล้เคียงกับฝ่ายเถรวาท จากความสัมพันธ์นี้ได้ช่วยให้ฝ่ายเถรวาทที่ต้องการสืบต่อภิกษุณีบริษัทได้อาศัยภิกษุณีฝ่ายมหายานสายนี้แหละช่วยบวชให้ ก็เหมือนกับฝ่ายภิกษุสงฆ์ที่สยามเราได้มาจากลังกา พอสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทางลังกาสิ้นวงศ์ไม่มีภิกษุเหลือก็มาขอสืบต่อจากสยาม กลายเป็นสยามวงศ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่การที่สตรีฝ่ายเถรวาทไปขอบวชจากภิกษุณีมหายานนี้ ฝ่ายภิกษุเถรวาท(ส่วนหนึ่ง)ไม่ยอมรับอ้างว่าเป็นคนละนิกาย เดี๋ยวจะตอบเรื่องนี้ให้ละเอียดในตอนท้าย

ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียเล่าว่า พระนางราชปัตนี พระอัยยิกาของพระเจ้าราชัสนครแห่งราชวงศ์มัชปาหิต ได้ออกผนวชอยู่ที่ถ้ำคุวาปาชีร์ และอยู่ที่นี่จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.๑๘๙๓ เราไม่ทราบแน่ชัดว่าพระนางออกผนวชเป็นชีหรือภิกษุณีกันแน่ มีทางเป็นไปได้เช่นกันที่จะเป็นภิกษุณี เพราะที่ชวาเป็นทางผ่านของสินค้าและอารยธรรม แม้สงฆ์ฝ่ายนิกายอภัยคีรีของศรีลังกาก็ยังมีสาขาอยู่ที่นี่ อาจเป็นไปได้ที่ภิกษุณีจากอินเดียหรือจากศรีลังกาได้มาบวชให้แก่สตรีชาวพุทธที่นี่ เรื่องนี้ต้องค้นกันต่อ อย่างที่ว่า “สิ่งที่เราไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี” ที่ผ่านมาเราเชื่อว่าในอุษาคเนย์เราไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์ แต่ก็ไม่แน่

ก่อนเข้าสู่เรื่องภิกษุณีสงฆ์ในบ้านเราขอพูดเรื่อง “อคติ” สักนิด ในพุทธศาสนากล่าวว่าอคตินั้นคือหนทางที่ไม่ควรไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือปฏิบัติ อคตินั้นเกิดจาก โกรธ เกลียด หลงและไม่รู้ การขัดขวางการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ของฝ่ายเถรวาทโดยอ้างพระวินัยและอื่นๆนั้น เมื่อศึกษาให้ดีแล้วจะพบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “กฎเกณฑ์” หากเป็นเรื่อง “กีดกัน” มากกว่า และเหตุของการกีดกันที่ว่านี้ก็มาจากอคตินี้แหละ

ภิกษุณีสงฆ์ในสยาม

มีปราสาทโลหะสูงประมาณ ๑ เมตร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องศิลปะเชียงแสน ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ที่ฐานมีจารึกเขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ระบุศักราช ๑๐๘๙ ซึ่งก็คือจุลศักราช เทียบเป็น พ.ศ. ก็คือ พ.ศ.๒๒๗๐ ข้อความจารึกกล่าวถึงเจ้าเมืองเชียงราย ชายาและบุตร สร้างปราสาทโลหะนี้เพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระธาตุ ในส่วนคำอธิฐานนั้น “บุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญา” ผู้เป็นชายาเจ้าเมืองเชียงรายได้กล่าวว่า “…เมื่อใดพระอริยเมตไตรยเจ้าลงมาตรัสสัพพัญญุตัญญาณเป็นพระในโลกนี้ หื้อผู้ข้าทั้งหลายแม่ลูกเป็นพุทธุปัฏฐากแล้ว หื้อข้าได้ออกบวชเถิงอรหันตาภิกขุณี แม้นลูกข้าทั้ง ๒ ก็หื้อได้เถิงอรหันตาชู่คน…”

นี่เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สตรีล้านนา(หรือสยาม)ในอดีตก็ปรารถนาที่จะได้บวชเป็นภิกษุณีเรื่องสตรีต้องการออกบวชในสังคมเราไม่ใช่เพิ่งมีเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่นายนรินทร์กลึงบวชลูกสาวทั้งสองหรือสมัยหลวงแม่วรมัย-หลวงแม่ธัมมนันทานี้เท่านั้น แต่มีมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ที่น่าสนใจก็คือคำอธิฐานนี้ปรารถนาให้เป็นจริงในโลกหน้า ในโลกของพระศรีอาริยเมตไตรย ไม่ใช่ในโลกนี้ที่เป็นโลกของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เรื่องนี้ตอบไม่ยาก เพราะคำอธิบายหรือจะเรียกว่า “มายาคติ” ก็ไม่ผิดที่เชื่อกันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้สิ้นไปหมดแล้ว ไม่สามารถสืบสายวงศ์ต่อใหม่ได้ในโลกของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ถ้าสตรีใดประสงค์จะบวชก็ตั้งจิตอธิฐานเอาในโลกหน้า ด้วยเหตุนี้ “บุษบาสิริวัฒนฯ” เธอจึงอธิฐานออกมาเช่นนั้น. นอกจากนี้ที่ฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย-เชียงแสน(อยู่ที่กุฏิคณะ ๑๕ วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์) มีจารึกเขียนว่า “พระเจ้าแม่ศรีมหาตา ขอปรารถนาเป็นผู้ชายชั่วหน้า จุงข้าได้เป็นศิษย์ตนพระศรีอาริยโพธิสัตว์เจ้า แต่ทานข้าทั้งผองแห่งองค์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองกับแม่พระพิลกและแม่ศรี ให้เป็นข้าจังหันพระเจ้า”

“พระเจ้าแม่ศรีมหาตา” ก็คือพระมารดาของพระมหาธรรมราชาบรมปาล(กษัตริย์สุโขทัยองค์สุดท้าย)และเป็นพระมารดาของพระชายาเจ้าสามพระยาแห่งอยุธยาด้วย พระนามนี้ตั้งโดยเจ้าสามพระยา ส่วน “พระพิลก” ก็คือพระมารดาของพระเจ้าติโลกราช.  จารึกทั้งสองนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพยานเรื่องความต้องการออกบวชของสตรีในบ้านเมืองเรา ซึ่งมีมาแล้วอย่างน้อยก็ ๓๐๐ กว่าปี ประเด็นนี้น่าสนใจว่าเหตุใดสังคมเราซึ่งมีมายาคติเรื่องผู้หญิงบวชไม่ได้ ยิ่งในตอนนั้นความเชื่อนี้คงต้องแรงมากกว่านี้ อีกทั้งเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนสถานภาพของสตรีบ้านเราคงไม่ดีเช่นทุกวันนี้ แต่เหตุใด “บุษบาศิริวัฒนฯ พระแม่ศรีมหาตา พระแม่พิลก” นางนี้ถึงยังต้องการออกบวชเป็น “อรหันตาภิกขุณีและศิษย์พระศรีอาริยเมตไตรย”พูดง่ายๆก็คือสตรีเหล่านี้ต้องการบรรลุธรรมหรือนิพพาน นางทั้ง ๓ ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ เพราะที่ล้านนานั้นผู้หญิงเป็นของแสลงสำหรับศาสนา ยิ่งในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์แล้วละก็ผู้หญิงเป็นของต้องห้ามเลยทีเดียว ผู้หญิงจึงถูกมองว่าเป็น “เมียและแม่” ในทางโลกและเป็น “มาร” ในทางศาสนา ไม่เชื่อฟังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

มายาคติว่าด้วยเรื่องผู้หญิงกับพระธาตุในล้านนา

คงจำกันได้เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวครึกโครมเรื่องส.ว.ระเบียบรัตน์ไปสอบถามเรื่องเหตุใดที่พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยตุงจึงมีป้ายห้ามสตรีเข้า ที่ถามไปนั้นก็เพื่ออยากทราบเหตุผล แต่อาจด้วยภาพลักษณ์ของเธอที่ทำงานด้านสิทธิสตรี จึงทำให้ฝ่ายตอบโต้ส่วนมากเป็นผู้ชายและมีอายุ(ทั้งพระและชาวบ้าน)ออกมาอัดเธอซะน่วมไปเลย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของเหตุการณ์นี้ก็คือได้ช่วยเปิดโอกาสให้มีการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสตรีกับพุทธศาสนากันมากขึ้น

ฝ่ายตอบโต้คุณระเบียบรัตน์บอกว่าพระธาตุฝังไว้ไต้ดิน แล้วสร้าง “ยนต์จักรผัน” ใส่ไว้เพื่อป้องกันผู้ที่จะมาขุดทำลายพระธาตุ ยนต์จักรผันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงห้ามสตรีเข้าใกล้ ไม่เช่นนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเสื่อม บ้างก็อ้างว่าพระบรมธาตุเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าใกล้พระสงฆ์ เมื่อพระธาตุเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเองดังนั้นผู้หญิงจึงไม่ควรเข้าใกล้ บ้างก็อ้างสิทธิเสรีภาพในประเพณีของท้องถิ่นที่ต้องได้รับการเคารพนับถือ ฯลฯ ผมยกคำอธิบายของฝ่ายตอบโต้คุณระเบียบรัตน์มาให้ทราบพอเป็นพิธี อยากรู้รายละเอียดไปอ่าน “ผู้หญิงกับพระธาตุ” สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ บรรณาธิการ(มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง)

ผมขอข้ามประเด็นเรื่องความเชื่อและประเพณีท้องถิ่นล้านนาที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุและผู้หญิงไปก่อน เพราะถ้าเถียงคงต้องลงลึกในรายละเอียดอีกมาก เข้าประเด็นเรื่องพุทธศาสนากับผู้หญิงเลย พุทธที่ผมว่านี้หมายถึง “พุทธไทย” ที่มีทั้งผีและพราหมณ์หรือลัทธิความเชื่ออื่นๆผสมรวมอยู่ด้วย(และรวมถึงพุทธในที่อื่นๆที่มีลักษณะแบบเดียวกันนี้เช่น พม่า มอญ ฯ) หรือจะเรียกว่า “พุทธผสมหรือพุทธเทียม” ก็คงไม่ผิด บรรดาพุทธไทยหรือพุทธผสมเหล่านี้แหละที่หาเหตุผลมากีดกันผู้หญิงไม่ให้เข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในศาสนาเหมือนผู้ชาย ข้อห้ามเรื่องผู้หญิงกับพระธาตุในล้านนานั้นก็คือการต่อยอดของอคติอันนี้

เท่าที่รู้ความมา ผมพยายามที่จะไม่ไปละเมิดความเชื่อของผู้คน(แต่ก็พลาดบ้างเป็นบางครั้ง) ไม่ว่าเขาจะเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์อะไรก็ตาม ทั้งๆที่ผมไม่เชื่อ ผมก็เคารพและไม่ไปยุ่งเกี่ยวตราบใดที่ความเชื่อนั้นไม่ไปทำร้ายคนอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะนี้เป็นสิทธิของเขาที่จะเชื่อ เอาเข้าจริงความเชื่ออย่างเรื่องพระธาตุกับผู้หญิง ก็มิได้มีแง่มุมในทางลบแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหนึ่งในคนที่เชื่อในทางบวกคือยายผมเอง ทุกครั้งที่ผมพายายไปไหว้พระธาตุดอยตุง ยายจะไม่ยอมเหยียบขึ้นบนลานพระธาตุเลย ยายไม่เหยียบเพราะยายเคารพพระธาตุ และความจริงผมเป็นผู้ชายก็ไม่ควรเข้าไปเหยียบด้วยเหมือนกัน เอาเข้าจริงในเขตพระธาตุนั้นมันมีอะไร เข้าไปแล้วมันได้อะไร ถ้าเราจะให้ความเคารพพระธาตุกันจริงๆแล้วละก็ ไม่ควรให้ใครไม่ว่าหญิงหรือชายเข้าไป ถ้าเชื่ออย่างนี้ก็ควรแก่การยกย่อง ถ้าเชื่ออย่างนี้ก็ไม่เสียทั้งชายและหญิง ถ้าเรารู้จักจัดการกับความเชื่อ จัดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างความเชื่อที่ต่างกัน ผมว่าเราอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข ถ้าสร้างจารีตไม่ให้ใครเข้าไปในเขตพระธาตุด้วยเหตุผลเพื่อความเคารพ อันนี้รับได้ ส่วนความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเข้าในเขตพระธาตุไม่ได้เพราะสกปรกเนื่องจากมีประจำเดือน อันนี้รับไม่ได้จริงๆ

ถามจริงๆเถอะ “ถ้าผู้หญิงไม่มีประจำเดือน ผู้ชายหน้าไหนจะได้เกิด?” การมีประจำเดือนเป็นสัญญาณของความเป็นแม่ ถ้าคิดว่าประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรก ลูกชายที่เกิดมาก็ต้องสกปรกด้วยซิ ก็ออกมาจากที่เดียวกันไม่ใช่หรือ?

ขอย้ำอีกทีว่าข้อห้ามเรื่องผู้หญิงกับพระธาตุนั้นเป็นการต่อยอดของอคติทางเพศในพุทธศานาแบบไทยๆคือเป็นพุทธผสมหรือพุทธเทียม เพราะถ้าเป็นพุทธแท้ๆจะไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าอยากจะรู้ว่าพุทธแท้เป็นอย่างไรก็ต้องไปศึกษาจากพระไตรปิฎก บางคนฟังแล้วหงุดหงิดว่าทำไมไม่บอกให้รู้เสียเลยล่ะ ก็เพราะวันนี้ไม่ได้มาพูดเรื่องพุทธแท้พุทธเทียม แต่มาพูดเรื่องภิกษุณีสงฆ์เดี๋ยวจะหลุดประเด็นไป

แล้วล้านนาในอดีตมีความเชื่อที่ส่อไปทางอคติต่อผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน? ความเชื่อที่เอนเอียงไปทางผีกับพราหมณ์จะมีอคติอย่างนี้แรง พวกที่สักยันต์ตามร่างกายจะไม่ยอมลอดราวผ้าถุง จะไม่ยอมลอดไต้ถุนบ้าน ขนาดใบกล้วยยังไม่ยอมลอดด้วยเชื่อว่าผีต้นกล้วยเป็นผีผู้หญิง เอาเข้าไปโน่น ส่วนที่เอียงมาทางพุทธมากหน่อยก็มีท่าที่ที่ดีต่อสตรี สตรีไม่กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม ดั่งที่มีคัมภีร์เล่มหนึ่งของล้านนายังกล่าวสรรเสริญภิกษุณีสงฆ์เลย

อุปปาตะสันติหรือมหาสันติงหลวง

คัมภีร์อุปปาตะสันติหรือที่ทางล้านนาเรียกว่า “มหาสันติงหลวง” แต่งโดยพระมังคลศีลวงศ์ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ มีทั้งหมด ๒๗๑ คาถา ใช้สวดในพิธีสะเดาะเคราะห์หรือเพื่อความเป็นสิริมงคล คัมภีร์นี้สูญไปจากเมืองล้านนานานแล้ว โชคดีที่ยังเหลืออยู่ที่พม่า เราเพิ่งแปลงจากอักษรพม่ามาเป็นไทยเมื่อไม่นานมานี้ เนื้อหาของคัมภีร์นี้ก็คล้ายๆบทสวดชินบัณชรคือกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยตลอดจนเทพเทวดาและอัญเชิญให้มาปกปักษ์รักษา แต่ที่สำคัญคือในบทที่กล่าวถึงบรรดาพุทธสาวกที่ยิ่งใหญ่ ไม่กล่าวเฉพาะฝ่ายภิกษุสงฆ์เท่านั้น หากกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์ทั้ง ๑๓ รูปที่ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะด้วย. ทราบว่าที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็สวดอุปปาตะสันตินี้เป็นประจำ เรื่องนี้ไม่แปลก แต่ถ้าไม่สวดซิถึงจะแปลก

มีคัมภีร์หนึ่งของภาคเหนือ ชื่อ “มาลัยโผดโลก” หรือ มาลัยโปรดโลก กล่าวถึงพระมาลัยไปโปรดสัตว์นรกก่อนกลับท้าวยมบาลได้ขอให้พระมาลัยไปบอกชาวโลกว่าให้เร่งทำบุญ อย่าได้ทำบาป จะได้ไม่ต้องมาตกนรก ทำให้ท่านท้าวต้องมีภาระหนัก บาปหนักที่ยมบาลกล่าวไว้ก็คือ “…อย่ากวนเกาด่าชีตีพราหมณ์ อย่าใจหามด่าพ่อตีแม่ อย่าได้ตัดไม้สรีมหาโพธิ์ อย่าม้างแก้วโกฐิเจดีย์ อย่ากระทำร้ายแก่ภิกษุณี กระทำหื้อเลือดตีนพระเจ้าออก…”

น่าสังเกตว่าคัมภีร์นี้ได้ระบุว่าการทำร้ายภิกษุณีถือว่าเป็นบาปหนักอย่างหนึ่ง แต่พระที่เทศน์หรือคนที่ฟังเทศน์กัณฑ์นี้ก็คงฟังผ่านๆ ไม่สะกิดใจแต่อย่างใดว่าทางพุทธศาสนานั้นได้ระวังหวงแหนภิกษุณีสงฆ์มากเพียงไร หลายคนคิดว่าก็ล้านนาไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้วจะไปคิดให้ปวดหัวทำไม ผิดไปล่ะครับเรื่องศาสนาไม่ใช่เรื่องของรัฐหรือเรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม ของเราชาวพุทธทุกคน ผู้ที่บวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมหายานหรือหินยานก็ตาม ล้วนเป็นภิกษุณีที่เราไม่ควรทำร้ายทั้งสิ้น อันนี้น่าสนใจว่าสิ่งที่ภิกษุสงฆ์บางรูปโดยเฉพาะในมหาเถรสมาคมทำต่อภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยขณะนี้นั้นถือว่าเป็นถือว่าเป็นการทำร้ายใช่หรือไม่? น่าคิด แต่ผมว่าใช่

สยามประเทศก็ใช่ว่าจะไม่รับรู้หรือหลงลืมภิกษุณีสงฆ์ เพียงแต่ว่าหลักฐานที่ว่านี้เรายังไม่ได้ค้นหาหรือยังไม่พบ พุทธศาสนิกชนต่างก็รู้จักภิกษุณีสงฆ์ทั้งนั้น เมื่อใดที่กล่าวถึงพุทธบริษัท ๔ เราก็ต้องเอ่ยถึงภิกษุณีอยู่เสมอ ถ้าเราไปวัดเทพธิดารามและวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์เราก็จะได้เห็นรูปและภาพภิกษุณีสงฆ์ หรืออย่างคัมภีร์อุปปาสันติก็มีบทสรรเสริญเหล่าภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นเอตทัคคะ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ความจริงยังมีหลงเหลืออยู่บ้างในสังคมเราเพียงแต่ไม่เปิดเผยให้รับรู้มากแค่นั้นเอง

การฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ในสยาม

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าบ้านเมืองเราไม่เคยมีภิกษุณีมาก่อนและไม่เคยมีความพยายามที่จะรื้อฟื้น จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่นายนรินทร์กลึงได้บวชลูกสาวของตน คือ สาระและจงดี ใน พ.ศ.๒๔๗๑ ถือว่านี้เป็นครั้งแรกที่บ้านเมืองนี้มีผู้หญิงออกบวช ด้วยเป็นเรื่องที่สังคมโดยเฉพาะพระสงฆ์ไม่คาดคิดมาก่อน เลยได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ขัดต่อความเชื่อที่มาแต่โบราณว่าภิกษุณีสงฆ์ขาดสายไปแล้ว แล้วยังอุตริบวชอีกทำไม แน่นอนว่าเรื่องนี้มหาเถรสมาคมต้องเป็นเดือดเป็นร้อน สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ถึงกับมีพระลิขิตสั่งห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์บวชให้แก่สตรี ดังมีรายละเอียดดังนี้

“คำสั่งสมเด็จพระสังฆราช” ประกาศ

หญิงเป็นบรรพชิต

หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรีโดยถูกต้องตามพระพุทธานุญาตนั้น สำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา ๑๒ ล่วงแล้วเป็นปวัตตินีคือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ เพิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ฯ

เพราะเหตุนี้ ห้ามพระเณรทุกนิกายบวชหญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานาและเป็นสามเณรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป. ประกาศแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๑”

พระลิขิตฉบับนี้เปรียบเสมือนคำประกาศิตที่สงฆ์ไทยยึดมั่น เมื่อไรก็ตามที่มีเรื่องภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้น ต้องมีคนนำพระลิขิตนี้มาอ้างเพื่อต่อต้านเสมอ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม แม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปมากแล้วก็ตาม ฝ่ายค้านก็ยังยึดมั่นพระลิขิตนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยไม่เคยพิจารณาว่าคำสั่งนี้ออกมาในสถานการณ์ใด? อย่างไร?  และที่สำคัญคำสั่งนี้เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่? อย่างกฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือล้าสมัยเขายังเลิก และที่อ้างว่าเป็นพระลิขิตต้องปฏิบัติตาม จริงหรือ? แล้วพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯองค์ที่อยู่ในพระโกศซึ่งบัญชาให้จับธัมมชโยวัดพระธรรมกายสึกล่ะ ไม่เห็นมหาเถรสมาคมหรือบรรดาสงฆ์ไทยปฏิบัติตาม แล้วนี่จะอธิบายว่าอย่างไร?  สองมาตรฐานนี่หว่า! พ.ศ. ๒๔๗๕ ปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแต่ลืมปฏิรูปคณะสงฆ์

มีคนวิจารณ์ความผิดพลาดของคณะราษฎร์อย่างหนึ่งก็คือการไม่ปฏิรูปคณะสงฆ์ คณะราษฎร์ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนการปกครอง แต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการคณะสงฆ์ไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ โดยมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้ ขอย้อนความเพื่อให้เข้าใจสักนิดว่า แต่เดิมก่อนนั้นการบริหารจัดการคณะสงฆ์ถือพระวินัยเป็นหลัก ส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองอยู่บ้างก็บรรดาสงฆ์ที่อยู่ในเขตเมืองหลวง เช่น อยุธยา สุโขทัย เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ฯ ซึ่งอาจมีกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเล็กๆหรือในชนบทนั้นล้วนใช้พระวินัยเป็นเกณฑ์ในการควบคุมการประพฤติ พระกับชาวบ้านมีความหมายและใกล้ชิดกัน กล่าวโดยสรุปก็คือพระสงฆ์สมัยก่อนเป็นอิสระจากรัฐและมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านสูง โดยยึดพระวินัยเป็นหลัก

พอสิ้นอยุธยา สงฆ์ก็ถูกกระทบกระเทือนไปด้วยถึงขั้นเสื่อมเลยก็ว่าได้ เมื่อตั้งกรุงธนบุรีได้ ๑๕ ปี การพระศาสนาก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย พอมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์เพื่อให้การคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัชกาลที่ ๑ จึงได้ตรากฎหมายสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่อำนาจของกฎหมายนี้ก็จำกัดเฉพาะในเขตอำนาจของรัฐสยามเท่านั้น ยังไม่ล่วงไปถึงล้านนา อีสานหรือทางไต้ เอาเข้าจริงก็คงจะควบคุมได้เฉพาะพระนครหลวงเท่านั้น ส่วนเขตนอกๆก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่. การที่คณะสงฆ์มาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อฝ่ายบ้านเมืองต้องการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อให้นโยบายของรัฐสัมฤทธิผลจึงได้ทำการปฏิรูปคณะสงฆ์ให้จัดตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “มหาเถรสมาคม” เป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (หรือพ.ศ.๒๔๔๕) การปฏิรูปคณะสงฆ์ครั้งนี้ก็อนุโลมไปตามฝ่ายบ้านเมืองคือรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นกัน ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทั้งมหาเถรสมาคมก็ดี พระสงฆ์ที่อยู่ในระดับผู้ปกครองตั้งแต่เจ้าอาวาสจนถึงสมเด็จพระราชาคณะก็ดี ต่างก็อยู่ในลักษณะเหมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐมีอำนาจและสิทธิ์เหนือกว่าคณะสงฆ์ การคณะสงฆ์ไม่เป็นอิสระเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต และที่สำคัญคือไปให้ค่าแก่พรบ.สงฆ์มากกว่าพระวินัย

เรื่องมหาเถรสมาคมยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกมาก วันนี้ขอข้ามไปก่อน แต่อยากจะโยงให้เห็นว่า จากสภาพการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พุทธศาสนาของผู้ชาย” เพราะการรวมศูนย์อำนาจของมหาเถรสมาคมทำให้สมาชิกในองค์กรเกิดอหังการ-มมังการ(ตัวกู-ของกู) จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้หญิงบวชในบ้านเมืองเรา ฝ่ายที่เต้นเป็นฟืนเป็นไฟและต่อต้านก็คือมหาเถรสมาคมนี้แหละ พอมาถึงตอนนี้ท่านคงเข้าใจแล้วนะครับว่าทำไมคณะราษฎร์จึงถูกวิจารณ์ว่าทำการเปลี่ยนแปลงไม่เบ็ดเสร็จ ถ้ายกเลิกมหาเถรสมาคมซะตอนนั้น แล้วให้พระสงฆ์กลับมาเป็นของชาวบ้านเหมือนเดิม มีอิสระเหมือนเดิม ป่านนี้เราคงมีภิกษุณีสงฆ์เป็นร้อยเป็นพัน เพราะมีพระสงฆ์อีกหลายรูปที่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ในไทย แต่ที่ท่านทำอะไรมากไม่ได้ก็เพราะมันมีกฎหมายค้ำคออยู่ แต่ถ้าจะเลิกมหาเถรสมาคมวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ แล้ว ฝ่ายคณะสงฆ์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย อันเป็นผลจากการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งส่วนมากเป็นพระหนุ่มที่เห็นว่าการปกครองสงฆ์แบบรวมศูนย์อำนาจนั้นไม่เป็นธรรมไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอำนาจนั้นตกไปอยู่ในมือของพระฝ่ายธรรมยุติ  จึงเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรสงฆ์โดยให้แยกเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายวินัยธรคือฝ่ายตุลาการนั่นเอง หมายความว่าการบริหารจัดการคณะสงฆ์ก็ต้องการอนุโลมไปตามฝ่ายบ้านเมืองซึ่งเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง การตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยในหมู่คณะสงฆ์(ยุวสงฆ์)จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อันนำไปสู่การเกิดพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพความเสมอภาค แต่ก็แปลกในที่ตอนนั้นเรื่องภิกษุณีสงฆ์กลับไม่ได้รับการกล่าวถึง ถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวกพระสงฆ์ตอนนั้นไม่รู้ ก็เห็นจะไม่ใช่ เพราะเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๑ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๔ ปี นายนรินทร์กลึงได้บวชลูกสาวนจนเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว มีหรือที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรสงฆ์จะไม่รู้ หรือว่าจริงๆแล้วพระสงฆ์ไทยไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เลย ภิกษุณีสงฆ์ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืมอีกครั้งหนึ่ง แม้ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม

อคติและมายาคติเรื่องผู้หญิงและภิกษุณีสงฆ์

เมื่อเกิดเหตุการณ์นายนรินทร์กลึงบวชลูกสาว สิ่งที่ตามมาก็คืออคติเรื่องผู้หญิงกับศาสนาและมายาคติเรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีเกิดขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม คติดังกล่าวก็เช่น

– พระสงฆ์จะไม่รับของจากมือของสตรี ลองค้นในพระวินัยปิฎก ที่พอจะใกล้เคียงกับจารีตนี้ก็คือ ในหมวดสังฆาทิเสส ข้อหนึ่งกล่าวว่า “ห้ามจับต้องกายหญิง” และในหมวดปาฏิเทสนียะ ข้อหนึ่งกล่าว่า “ห้ามรับของเคี้ยวของฉันจากมือจางภิกษุณีมาฉัน” พระวินัยนอกนั้นไม่เห็นจะเกี่ยวข้อง คงจาก ๒ ข้อนี้กระมังที่พระสงฆ์ไทยได้นำไปขยายต่อเป็นไม่รับของจากมือสตรี แต่ในพุทธประวัติกล่าวว่าตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกบิลพัสดุ์ พระนางยโสธราสยายผมเช็ดพระบาทพระพุทธเจ้า เหตุการณ์ตอนนี้ยังปรากฏเป็นภาพจำหลักในใบเสมาสมัยทวารวดี มีชื่อเรียกว่า “พิมพาพิลาป” พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติขอนแก่น แสดงว่าอดีตกับปัจจุบันมีคติความเชื่อต่างกัน ความเชื่อเรื่องภิกษุกับผู้หญิงแตะต้องกันไม่ได้ จึงเป็นคติที่ทางไทยในปัจจุบันกำหนดขึ้นเอง(วัตรปฏิบัติเฉพาะอีกอย่างของสงฆ์ไทยก็คือการโกนคิ้ว สงฆ์ประเทศอื่นเขาไม่โกน)

– สตรีห้ามแตะจีวรพระ (แล้วเจ๊ที่ขายจีวรต้องทำอย่างไร ใช้คีมคีบเอาหรือ?) – เวลาใส่บาตร สตรีต้องระวังไม่ให้มือไปถูกบาตรพระ – สตรีจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในอุโบสถ – สตรีเข้าในเขตพระธาตุไม่ได้ ด้วยเป็นเพศที่สกปรกเพราะมีประจำเดือน (เฉพาะในภาคเหนือ) – ภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทขาดสูญไปนานแล้ว ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ เพราะในครุธรรม ๘ นั้นระบุว่าการบวชภิกษุณีสงฆ์ต้องบวชด้วยสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้วสตรีก็บวชไม่ได้ – คนที่เกิดเป็นสตรีเพราะทำกรรมมาก คนที่เกิดเป็นชายเพราะทำบุญมาก – แม่ที่ได้บวชลูกชายจะไม่ตกนรกเพราะจะได้เกาะชายผ้าเหลืองลูกชายขึ้นสวรรค์ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ตอนแห่นาคถึงให้แม่เป็นผู้ถือผ้าไตร – ผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะลักษณะ ๑ ใน ๓๒ ประการของมหาปุริษลักษณะหรือลักษณะของผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าก็คือ “พระคุยหฐานอยู่ในฝัก” สตรีไม่มี “พระคุยหฐาน” ดังนั้นจึงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้อย่างเด็ดขาด (บางคนสงสัยว่าพระคุยหฐานคืออะไร ก็คืออวัยวะที่แสดงความเป็นชายไง ขอโทษที่พูดตรงๆไม่ได้ กระดากปากเพราะไม่เคย) ฯ ล ฯ

มายาคติเท่าที่ได้รวบรวมมานี้สะท้อนทัศนคติที่ฝ่ายชายและ/หรือสังคมมองสตรีว่าเป็น “หีนชาติ” คือ คนที่เกิดมาต่ำต้อย สกปรกเป็นมลทิน มีกรรมมากเลยต้องมาชดใช้กรรม เป็นเพศที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่ได้ชายผ้าเหลืองของลูกชายก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ ฯ แม้ประสงค์จะออกบวชก็ถูกอคติและมายาคติกั้นไว้ว่าภิกษุณีสายเถรวาทขาดหายไปนานแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถสืบต่อได้(เรื่องนี้ในตอนท้ายจะว่าในรายละเอียดอีกที) อคติและมายาคตินี้ต้องยอมรับว่าแรงจริงๆเพราะแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเองก็ยอมรับ บางคนถึงกับออกมาต้านการบวชภิกษุณีสงฆ์ มีสตรีนางหนึ่งเป็นกรรมการสมาคมพุทธศาสนาที่ใหญ่มากของเมืองไทยพูดกับผมว่าผู้หญิงไม่ควรบวชเธอให้เหตุผลว่า “แค่มีภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็ปวดหัวมากอยู่แล้ว จะมาบวชเพิ่มอีกทำไม?” นี้ไงใครว่าไม่แรง

ทั้งๆที่มีคติกีดกั้นผู้หญิงกับพระสงฆ์หรือศาสนา แต่ปรากฏว่าคนเข้าวัดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนใส่บาตรพระตอนเช้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนที่ไปเข้าฝึกสมาธิวิปัสสนาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หรือว่านี้เป็นผลจากการกล่อมเกลาของสังคมจนทำให้ผู้หญิงเชื่อจริงๆว่าตนเป็น “คนบาป” เลยต้องทำบุญกุศลให้มากเผื่อจะได้เกิดเป็นผู้ชายซึ่งเป็น “คนบุญ” ในชาติหน้า หรือว่า? ?  ทางออกสำหรับสตรีไทยที่ต้องการเข้าถึงธรรมะอย่างแท้จริงก็มีเพียงการเป็นแม่ชี แต่ฐานะของแม่ชีนั้นในทางโลกและทางธรรมก็ไม่ชัดเจน ศีลที่แม่ชีถือนั้นก็แค่ระดับอุบาสิกาเท่านั้นเอง และในความเป็นจริงแม่ชีแทบจะไม่ได้โอกาสที่จะพัฒนาตนทั้งทางปริยัติและปฏิบัติเพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานในวัดโดยเฉพาะที่โรงครัว ดีหน่อยที่ปัจจุบันทางการได้ตั้งวิทยาลัยมหาปชาบดีหรือสถาบันแม่ชีไทยขึ้นเพื่อพัฒนาแม่ชีให้เข้าถึงธรรมะมากกว่าเดิม ฝ่ายที่คัดค้านการบวชภิกษุณีในเมืองไทย พยายามเสนอทางออกให้สตรีมาบวชเป็นชี ก็อย่างที่บอกแม่ชีก็คือแม่ชี แม่ชีไม่ใช่นักบวช ถ้าสตรีต้องการเป็นนักบวชจริงๆต้องเป็นภิกษุณีสงฆ์ครับไม่ใช่แม่ชี

เมื่อ ๒ ปีก่อนผมพบแม่ชีสาวท่านหนึ่งที่วัดไทยพุทธคยา ตอนหนึ่งของบทสนทนาเธอได้พูดกับผมว่าเธอคงไม่มีโอกาสได้บวช ก็ด้วยเหตุผลอย่างที่ท่านๆรู้นั่นแหละ แต่ผมก็ให้กำลังใจไปว่าตอนนี้ทางศรีลังกาเขาอนุญาตให้สตรีบวชได้ ถ้าเมืองไทยไม่อนุญาตท่านก็ไปขอบวชที่ศรีสังกาซิ ความจริงจะบวชที่ไหนไม่สำคัญ ความเป็นพุทธไม่มีรัฐชาติ ไม่มีเชื้อชาติ เมื่อเร็วๆนี้น้องสาวของแม่ชีท่านนี้มาแจ้งแก่ผมว่าพี่สาวของเธอได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว ผมดีใจและกล่าวสาธุอนุโมทนาในการบวชของเธอ ครับ แม่ชีไม่ใช่นักบวช ถ้าอยากบวชต้องเป็นภิกษุณีครับ ปัจจุบันนี้ผู้หญิงบวชได้แล้ว อีกไม่นานก็ไม่ต้องไปถึงศรีลังกา ไปที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็พอ อยากรู้ติดตามต่อไปซิครับ

เมื่อสิ้นเรื่องลูกสาวของนายนรินทร์กลึงไปแล้ว เรื่องพระผู้หญิงก็หายไประยะหนึ่ง จนเมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ นางวรมัย กบิลสิงห์ ออกบวชเป็นสามเณรีโดยพระพรหมมุนี(ผิน สุวโจ)รองเจ้าอาวาสวัดบวรฯเป็นผู้บวชให้ ต่อมาได้ไปรับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ไต้หวัน กรณีของภิกษุณีวรมัยดูจะต่างกับของลูกสาวนายนรินทร์เพราะกรณีหลังนี้ไม่ได้ถูกวิจารณ์หรือต่อต้านมากเท่ากรณีแรก ตอนที่บวชเป็นสามเณรีใหม่ๆนั้นก็มีการร้องเรียนไปถึงมหาเถรสมาคมว่าท่านแต่งการเลียนแบบพระสงฆ์ ทางมหาเถรฯมีมติว่า “ไม่เห็นเป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์”  อันนี้ก็แปลก แล้วพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรฯไปอยู่ไหน? ที่พูดนี้ไม่ใช่ขัดขวางสตรีจะบวช แต่แปลกใจว่าทำไมตอนหลังถึงอ้างพระลิขิตนี้กันจัง หลังจากนางวรมัยบวชเป็นภิกษุณีแล้วเรื่องของท่านก็ไม่เป็นที่รับรู้เท่าไร อย่างผมก็ทราบแต่เพียงคร่าวๆว่าท่านอยู่ที่นครปฐม แต่ก็ถือว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องภิกษุณีสงฆ์ในไทย

พอมาถึงยุคลูกสาวของท่านคือ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ท่านออกบวชในปี พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นสิกขามานาได้ ๒ ปีจากนั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในพ.ศ.๒๕๔๖ ในนิกายอมรปุระ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๔๘ ท่านได้อุปสมบทซ้ำอีกครั้งเพื่อย้ายตามปวัตตินีมาอยู่ในนิกายสยามวงศ์ ต้องถือว่านี่เป็นยุคแรกที่สังคมไทยได้รับรู้เรื่องภิกษุณีสงฆ์อย่างกว้างขวางและคึกโครมมากที่สุด ผมคนหนึ่งล่ะที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดด้วยความตื่นเต้น

จากนั้นมาก็มีสตรีไทยออกบวชเป็นภิกษุณีตามอีกหลายรูป อย่างท่านภิกษุณีนันทญาณี (นามเดิมรุ้งเดือน สุวรรณ)แห่งสำนักปฏิบัตธรรมนิโรธารามที่ จ. เชียงใหม่ ฯลฯ ผมเคยมีลูกศิษย์ที่เป็นภิกษุณีมาเรียนปริญญาโทภาคพิเศษด้วยรูปหนึ่ง ผมลืมฉายาท่านไปแล้ว ผมรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญที่ท่านเลือกมาเดินบนทางเส้นนี้และผมมักจะหาเวลาสนทนากับท่านอยู่บ่อยๆ นอกจากจริยวัตรที่น่าเลื่อมใสแล้ว ความรู้และทัศนะทางพุทธศาสนาของท่านก็ไม่หลุดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมจึงเชื่อว่าถ้าสตรีออกบวชมากๆและพยายามไม่ให้หลุด นักบวชสตรีจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มาช่วยพยุงศรัทธาของชาวพุทธในเมืองไทยไว้ได้มาก

หลังจากท่านธัมมนันทาออกบวชแล้ว เรื่องราวของท่านไม่นิ่งและไม่เงียบ ท่านเขียนหนังสือและออกสื่ออยู่บ่อยๆ แน่นอนผลสะท้อนก็ดังตามไปด้วยซึ่งมีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ตอนที่ท่านบวชใหม่ๆผมไปเจอพระไทยรูปหนึ่งซึ่งกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นิวเดลี พระรูปนี้เล่าให้ผมฟังว่าสาเหตุที่ท่านธัมมนันทาออกบวชก็เพื่อต้องการจะแก้แค้นแทนแม่ท่าน คำอธิบายของท่านทำให้ผมต้องนิ่งไปชั่วขณะ ยอมรับว่าตอนนั้นผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงของท่านธัมมนันทาหรอกครับ แต่ที่นิ่งไปเพราะตกใจที่นักศึกษาปริญญาเอกให้คำอธิบายที่ดูจะเป็นอัตวิสัยและหน่อมแหน่มซะเหลือเกิน เรื่องนี้ผมเพิ่งเล่าให้ท่านธัมมนันทาฟังเมื่อเร็วๆนี้เอง และที่แปลกใจมากๆก็คือคนที่ออกมาคัดค้าน ที่ผมเจอกับตัวเอง ส่วนมากเป็นผู้หญิง ผมคิดว่าประเด็นนี้น่าจะมีคนนำไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้

ต้องยอมรับว่าท่านธัมมนันทาท่านได้บุกเบิกเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ให้แก่สังคมไทยจนมีสตรีออกบวชตามอีกมาก ผมคิดว่าตอนนี้คงมีหลายสิบท่านแล้ว และอีกไม่นานท่านธัมมนันทาก็สามารถทำหน้าที่ปวัตตินีหรืออุปัชฌาย์ได้แล้ว สตรีที่ต้องการบวชก็ไม่ต้องไปถึงศรีลังกา ยุคของท่านนี้แหละที่ทำให้พุทธบริษัทในเมืองไทยมีครบ ๔ และยุคนี้ภิกษุณีสงฆ์ก็เป็นบริษัทใหม่ที่มาแรงและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งก็คือมีเสียงสนับสนุนท่านและภิกษุณีทั้งหลายเพิ่มขึ้นนั่นเอง บางคนมองว่านี่เป็นอิทธิพลของกระแสประชาธิปไตยที่สิทธิของสตรีได้รับการยอมรับและได้รับการคุ้มครองมากขึ้น แต่ผมมองว่าเรื่องพุทธศาสนากับเรื่องประชาธิปไตยเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”

พุทธศาสนากับประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกันของชายและหญิง

มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับประชาธิปไตย บ้างก็ว่าพุทธศาสนานั้นเป็นประชาธิปไตย โดยอ้างข้อความในอัคคัญญสูตรว่าเหล่าประชาชนได้พร้อมใจกันเลือกผู้นำที่เรียกว่า “มหาชนสมมติ” ขึ้นมาปกครอง ซึ่งอันนี้ไปตรงกับทฤษฎีพันธสัญญา(Contract Theory) ของตะวันตก นอกจากนี้รูปแบบของสังฆะที่พระพุทธองค์กำหนดก็คล้ายกับรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การใช้มติของที่ประชุม การให้ความสำคัญต่อหลักการมากกว่าตัวบุคคล ฯ และที่สำคัญพุทธศาสนาเน้นเรื่องมนุษยธรรมอย่างยิ่ง ในมุมมองของพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์นั้นมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ด้วยเหตุผลดังกล่าวพุทธศาสนาจึงถูกมองว่าเป็นหรือเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย

แต่ท่านพุทธทาสบอกว่าไม่ใช่ ท่านมองว่าพุทธศาสนาเป็นสังคมนิยม แต่ไม่ใช่สังคมนิยมแบบมาร์กซิสม์ ซึ่งไม่ใช่สังคมนิยมที่แท้จริงเพราะยังมีการทำลายล้างแม้ชีวิตมนุษย์ด้วยกัน สังคมนิยมที่ท่านพูดถึงนี้คือ “ธัมมิกสังคมนิยม” คือสังคมนิยมที่เน้นธรรมเป็นใหญ่.  อย่างไรก็ตามก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่นักปรัชญาการเมืองที่จะเสนอรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดให้แก่มนุษย์ แต่ท่านได้เสนอแนวทางพ้นทุกข์ให้แก่มนุษย์  ดังนั้นเรื่องของพุทธศาสนากับประชาธิปไตยจึง “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน” หมายความว่าพุทธศาสนาสามารถถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยก็ได้(ในขณะเดียวกันก็ถูกมองเป็นสังคมนิยมได้เช่นกัน)แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ประชาธิปไตยถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ส่วนพุทธศาสนาถือมติเอกฉันท์เป็นใหญ่ อย่างเช่นการบวชถ้ามีสงฆ์ในที่ประชุมค้านเพียงรูปเดียวการบวชนั้นเป็นอันต้องยุติ หรืออย่างความชั่วความดีก็จะใช้เสียงส่วนมากมาตัดสินก็ไม่ได้ ดังนั้นพุทธศาสนาก็คือพุทธศาสนา ประชาธิปไตยก็คือประชาธิปไตย คือ “เป็นคนละเรื่อง…”  เพียงแต่ว่าทั้งสองมีบางสิ่งที่ “…เดียวกัน” คือมีจุดร่วมบางอย่างเหมือนกัน จึงส่งเสริมซึ่งกันและกัน จุดร่วมหนึ่งที่ตรงกันก็คือ “ความเสมอภาค”

ศาสนาพราหมณ์ก็ดี ลัทธิการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ดี ต่างมองว่ามนุษย์ไม่เท่ากัน(พวกพุทธเทียมก็เชื่ออย่างนี้เหมือนกัน) มีตำนานหรือชุดคำอธิบายที่สืบเนื่องมาแต่อดีตเพื่อกล่อมเกลาให้มนุษย์ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบยอมรับชะตากรรมในการไม่เท่าเทียมกัน แต่พุทธศาสนาและประชาธิปไตยกลับต่อต้านความเชื่อนี้ ทั้งสองมองว่ามนุษย์มีความเสมอภาคมีความเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ความเสมอภาคจึงเป็นลักษณะเด่นและลักษณะร่วมของพุทธศาสนาและประชาธิปไตย

เมื่อเกิดกรณีภิกษุณีสงฆ์ในไทย ประเด็นเรื่องพุทธศาสนากับประชาธิปไตยโดยเฉพาะประเด็นความเสมอภาคก็ถูกจับตามองอีกครั้ง ไม่ปฏิเสธว่ากระแสประชาธิปไตยมีส่วนผลักดันให้สตรีเรียกร้องสิทธิในการบวช เอาเข้าจริงการขอบวชของผู้หญิงไม่ใช่เป็นการเรียกร้องสิทธิแต่เป็นการทวงสิทธิต่างหาก เพราะเป็นสิทธิที่เคยมีเคยได้ หากแต่เกิดอุปสรรคเพราะการขาดช่วงผู้สืบต่อเลยทำให้ผู้หญิงในยุคปัจจุบันไม่ได้รับสิทธิอันนั้น การเรียกร้องนี้จึงเป็นการเรียกร้องเพื่อทวงสิทธิที่ตนเคยมี บางคนตีประเด็นว่าพวกนี้เป็นพวก feminist พวกสตรีนิยม พวกเรียกร้องสิทธิสตรี แต่ผมว่าไม่ใช่ พวกผู้หญิงที่ขอบวชนั้นเขาไม่ได้อ้างสิทธิสตรีตามที่กฎหมายรับรอง แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ที่เคยมีสิทธิอันนั้น และเขาต้องการทวงสิทธิอันนั้นคืน และขอย้ำอีกทีว่าเขาเหล่านี้เป็นมนุษย์ เพียงแต่มีเพศเป็นผู้หญิงเท่านั้น

ในเมืองไทยเรา ประเด็นเรื่องสตรีกับพุทธศาสนา ก็ไม่ต่างจากเรื่องประชาชนกับประชาธิปไตย คือทั้งสตรีและประชาชนมักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ยัง “ไม่รู้และไม่พร้อม” ดังนั้นจึงไม่ควรเรียกร้องโวยวาย ทางที่ดีควรทำบุญทำกุศลให้มากๆ เกิดชาติหน้าฉันใดจะได้เกิดเป็นผู้ชาย จะได้เกิดเป็นเจ้าคนนายคน ชาตินี้บุญน้อยก็ต้องรับกรรมไปก่อน ผู้หญิงควรเป็นเมียและแม่ที่ดี ประชาชนก็ต้องเป็นผู้อยู่ไต้ปกครองที่ดี เคารพ เชื่อฟังและรักผู้ปกครอง มายาคตินี้คือการผสมที่ลงตัวระหว่างอประชาธิปไตยกับอธรรม ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาก่อน แต่บัดนี้การณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะทั้งผู้หญิงและประชาชนต่างก็ตาสว่าง สังคมก็เปลี่ยนไปมีประชาธิปไตยและมีธรรมมากขึ้น ผู้หญิงมีพื้นที่ในศาสนา ประชาชนมีพื้นที่ในการเมือง กระแสนี้ผมเชื่อว่าหยุดไม่ได้เมื่อเริ่มไหลแล้วนับวันมีแต่จะแรงขึ้นเท่านั้น

ถาม-ตอบประเด็นเรื่องภิกษุณีสงฆ์

ขอรวบรัดเข้าประเด็นเรื่องที่เป็นปัญหาคาใจว่าผู้หญิงบวชได้หรือ ผมขอว่าเป็นข้อๆไปนะครับ

๑. เรื่องภิกษุณีสงฆ์สูญไปแล้ว ในพระวินัยกำหนดให้สตรีต้องบวช ๒ ครั้ง คือบวชกับภิกษุณีสงฆ์ก่อน จากนั้นถึงมาบวชกับภิกษุสงฆ์ เมื่อขาดภิกษุณีสงฆ์แล้วก็ไม่มีใครบวชให้สตรีในขั้นตอนแรก เมื่อไม่ผ่านขั้นตอนแรกจะมาขอบวชกับภิกษุสงฆ์ไม่ได้ ถือว่าขัดพระวินัย ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ฝ่ายค้านยกมาอ้าง แต่ด้วยพุทธวิธีสอนให้เรา “มีทางออกในทุกปัญหา” ไม่ใช่ “มีปัญหาในทุกทางออก”.  ถ้าเราจะยึดพระวินัยอย่างเคร่งครัดว่าสตรีต้องบวช ๒ ครั้ง ก็ทำตามที่ศรีลังกาทำคือให้สตรีไปบวชครั้งแรกกับภิกษุณีสงฆ์ของฝ่ายมหายาน ส่วนมากจะไปบวชกับวัดโฝกวงซันที่ไต้หวัน จากนั้นก็ค่อยมาบวชกับภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาท พวกรุ่นแรกก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น ต่อเมื่อมีภิกษุณีบริษัทฝ่ายเถรวาทแล้ว สตรีที่ต้องการบวชก็ไปขอบวชจากภิกษุณีเหล่านี้ได้เลย ด้วยวิธีนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง.  แต่ฝ่ายค้านก็แย้งว่าภิกษุณีที่บวชให้ครั้งแรกนั้นเป็นมหายาน ฝ่ายเราเป็นฝ่ายหินยานหรือเถรวาท เป็นคนละพวกกัน จะบวชให้กันไม่ได้

ถามว่าใครกำหนดให้ว่าบวชไม่ได้ ในพระวินัยมีกล่าวไว้ที่ไหนว่าห้ามต่างนิกายบวชให้กัน และที่สำคัญเรื่องนิกายเป็นเรื่องที่เกิดมาภายหลัง ไม่ใช่คำสอนพระพุทธเจ้า เป็นการตีความพระธรรมที่ต่างกันก็มีวิถีปฏิบัติต่างกัน แต่เป้าหมายไม่ว่าฝ่ายไหนก็เหมือนกันคือนิพพาน แล้วจะไปรังเกียจทำไม การติดขัดเรื่องนิกายเป็นทิฐิของชาวพุทธรุ่นหลังๆนี้ต่างหาก ไม่ควรยึดเป็นสรณะ ฟังแล้วอย่าเพิ่งโกรธ ติดตามต่อไปแล้วจะเข้าใจ

ถามจริงๆเหอะ ภิกษุณีฝ่ายมหายานเป็นพุทธหรือไม่?  ถ้าเป็นแล้วบวชให้ไม่ได้หรือ? พระวินัยระบุว่าการบวชครั้งแรกสตรีต้องบวชกับภิกษุณี ก็อุตส่าห์ไปบวชกับภิกษุณีมาแล้วจริงๆยังบอกว่ารับไม่ได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร

ที่อ้างว่าฝ่ายมหายานกับเถรวาทถือวินัยหรือสิกขาบทต่างกัน อันนี้ก็จริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มหายานก็มีอีกหลายกลุ่มย่อย กลุ่มที่บวชให้แก่ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทนั้นเป็นมหายายนิกายธรรมคุปต์ ถือสิกขาบทคล้ายกับฝ่ายเถรวาท ท่านพระภิกษุโพธิมหาเถระ ได้เขียนอธิบายประเด็นนี้ในบทความชื่อ “ การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายเถรวาท” โดยอ้างงานเขียนของ Ann Heirman ใน “Can We Trace the Early Dahrmaguptakas? ที่ว่า “ในขณะที่พระภิกษุณีจีนถือปฏิบัติตามพุทธศาสนาแบบมหายาน แต่โดยสายพระวินัยมิใช่มหายาน แต่เป็นนิกายที่แตกแขนงออกมาจากพุทธศาสนาในสมัยแรกคือนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งสังกัดอยู่กับนิกายวิภัชชวาทอย่างเดียวกับนิกายเถรวาท ถือเป็นนิกายเถรวาททางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีทั้งพระสูตรและพระอภิธรรมคล้ายคลึงกันและพระวินัยนั้นถือตามวินัยในฝ่ายบาลี” คำว่าฝ่ายบาลีคือฝ่ายเถรวาท

สรุปก็คือภิกษุณีมหายานนิกายธรรมคุปต์ที่บวชให้ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทรุ่นแรกนั้นถือวินัยเหมือนหรือคล้ายกับฝ่ายเถรวาท เมื่อทราบอย่างนี้แล้วจะขัดข้องอยู่อีกหรือ?  

ผมคิดว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องกฎเกณฑ์แต่เป็นเรื่องกีดกัน ถ้าทำใจกว้าง กฎเกณฑ์ที่ว่าก็ไม่ใช่อุปสรรค.   และย้ำอีกทีว่า “พระวินัยเป็นเหมือนรั้วป้องกัน ไม่ใช่รั้วกักกัน” อันไหนไม่เหมาะสมไม่มีประโยชน์แก่กาลสมัยก็ควรเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก ถามว่าทำได้ไหม? ทำได้ซิครับ เพราะพุทธองค์แม้ท่านจะเป็นผู้บัญญัติพระวินัยเอง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนท่านก็ยืดหยุ่นกฎเพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ บางกรณีท่านก็ให้ยกเลิกไปเลย จะยกตัวอย่างมาให้ดู

พระวินัยกำหนดภิกษุณีต้องบวช ๒ ครั้ง เหตุนี้เกิดเมื่อนางอัฑฒกาสี หญิงงามเมืองแห่งพาราณสีเมื่อบวชจากภิกษุณีสงฆ์แล้วนางปราถนาจะไปบวชกับพระพุทธองค์ที่สาวัตถี พอจะเดินทางก็มีข่าวว่าพวกนักเลงที่หลงในรูปของนางจะมาดักลักพาตัว นางจึงส่งตัวแทน(ในบาลีใช้คำว่าทูต)ไปทูลแก่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้วจึงได้กล่าวแก่เหล่าภิกษุสงฆ์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบท แม้โดยทูต” เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ไหม?  

อีกเรื่องหนึ่งพระวินัยกำหนดให้คณะสงฆ์ที่จะทำการอุปสมบทต้องมี ๑๐ รูป น้อยกว่าไม่ได้ แต่สำหรับเขตที่ห่างไกลมีพระภิกษุน้อย พระพุทธองค์ก็ปรับ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายที่อวันตีทิกขิณาบทมีภิกษุน้อยรูป เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูปได้ทั่วปัจจันตชนบท” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค) อย่างกรณีนี้ถ้าคือพระวินัยเคร่งคงบวชใครไม่ได้ หรืออย่างพระวินัยห้ามเก็บอาหาร มีครั้งหนึ่งที่เกิดภัยพิบัติก็ทรงอนุญาตให้สงฆ์เก็บอาหารไว้ได้ ต่อเมื่อเหตุการณ์นั่นผ่านไปแล้วก็ให้กลับมาใช้วินัยเดิม.  ตัวอย่างที่ทรงยกเลิกก็มีเช่นเมื่อครั้งที่สงฆ์มีไม่มาก พระพุทธองค์อนุญาตให้สงฆ์ทำการอุปสมบทได้เอง “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราอนุญาตพวกเธอนั่นแหละจงให้กุลบุตรทั้งหลายบรรพชาอุปสมบท…เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์นี้” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค) ต่อมาเมื่อมีสงฆ์มากขึ้นจึงได้ทรงบัญญัติวินัยใหม่และยกเลิกวินัยเก่าที่เคยใช้ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ซึ่งเราได้อนุญาตไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม”

พระวินัยเป็นหนึ่งสอง(พระธรรมพระวินัย)ที่ทำหน้าที่แทนพระบรมศาสดา เราชาวพุทธต้องให้ความเคารพ แต่การนำมาใช้ก็ควรปรับเพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ แต่การปรับก็ต้องมีหลักมิเช่นนั้นก็จะเป็นการทำลายพระวินัยไป เรื่องการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาท จะเป็นไปไม่ได้ถ้าใช้ทิฐิ แต่ถ้าใช้ปัญญากับเมตตาปัญหานี้ก็มีทางออก ก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพานพระพุทธองค์ได้ตรัสอนุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กๆน้อยๆได้ “ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้” นี่ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นว่าในอนาคตสิกขาบทบางข้อคงไม่เหมาะและไม่เป็นประโยชน์จึงได้ทรงอนุญาตไว้

แต่ฝ่ายเถรวาทกลับไม่ฟัง ไม่ยอมเพิ่มไม่ยอมตัดสิกขาบทใดๆ ยึดมั่นว่า “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” อ้างว่าเพื่อความเคารพต่อพุทธเจ้า ผมว่าการที่ไม่ยอมปรับไม่ยอมเปลี่ยนกฎกติกาเล็กๆน้อยๆนี้ต่างหากที่ไม่เคารพ นี่เป็นจุดอ่อนของฝ่ายเถรวาท การยึดมั่นในพระวินัยอย่างเคร่งครัดในหลายกรณีทำให้ฝ่ายเถรวาทกลายเป็นพวก “เถรตรง” แต่เอาเข้าจริงมีกี่รูปกันแน่ที่ยึดมั่นในพระวินัยอย่างแท้จริง ที่เห็นส่วนมากก็เพื่อใช้อ้างเท่านั้น

๒. ถ้ากลับไปปัญหาเดิมที่ว่าภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาทสิ้นไปแล้ว จะสืบต่ออีกไม่ได้ แต่ถ้าจะสืบต่อโดยไม่มีภิกษุณีสงฆ์จะทำได้ไหม? ทำได้ครับ เพราะในพระไตรปิฎกได้ให้ทางออกในปัญหานี้แก่เรา ก็คือให้พระภิกษุสงฆ์ทำการบวชให้สตรีรุ่นแรกเลย เป็นการบวชเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องผ่านการบวชโดยภิกษุณี(เพราะอ้างว่าสูญไปแล้วนี้ พอจะไปบวชกับฝ่ายมหายานก็รังเกียจ ) เมื่อภิกษุสงฆ์บวชให้สตรีรุ่นแรกไปแล้ว เมื่อได้ภิกษุณีรุ่นแรกมาแล้วจากนั้นก็กลับมาใช้กฎเดิมคือให้สตรีบวช ๒ ครั้ง

แล้วทางออกที่ว่านี้อยู่ที่ไหน? อยู่ในประวินัยปิฎก จุลวรรคครับ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี” ตรัสเมื่อตอนให้พุทธานุญาตแก่ภิกษุสงฆ์ทำการบวชให้แก่เหล่าศากยธิดา ๕๐๐ ที่ตามพระนางปชาบดีมา และพุทธานุญาตนี้ก็ไม่เคยยกเลิก ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีภิกษุณีขาดอย่างปัจจุบันก็ควรนำวิธีนี้ที่ทรงมีพุทธานุญาตนี้มาใช้ครับ

ฝ่ายค้านยังอุตส่าห์เถียงว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องเฉพาะกาลเพราะตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ต่อเมื่อมีแล้วก็ควรยกเลิกวิธีนี้ การเถียงอย่างนี้เป็นการตีความชัดๆ และเป็นการตีความเพื่อไม่ให้มีภิกษุณีสงฆ์ ไหนว่าฝ่ายเถรวาท “ไม่เพิ่มไม่ตัดสิกขาบท” เมื่อมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสงฆ์บวชสตรีได้และไม่มีคำสั่งยกเลิก ท่านก็ควรปฏิบัติตามไม่ใช่หรือ? ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะอ้างว่าเป็นเถรวาทอยู่ทำไม?

๓. ถ้าผู้หญิงออกบวชแล้วพุทธศาสนาจะสั้น ในบาลีบอกว่าจากอายุ ๑๐๐๐ ปีก็จะเหลือ ๕๐๐ ปี ประเด็นนี้มักยกมาอ้างไม่หมด ความจริง(ถ้าเชื่อว่าเป็นพุทธพจน์จริง)พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้แล้วบอกต่อว่าเพื่อเป็นการป้องกันปัญหานี้จึงบัญญติครุธรรม ๘ ประการขึ้นมา ที่ผ่านมามักอ้างไม่หมดข้อความก็เลยกลายเป็นความเชื่อที่ว่าถ้าผู้หญิงออกบวชแล้วศาสนาจะสั้น.  ประเด็นนี้ต้องกลับไปมองที่ประวัติศาสตร์ว่าสั้นจริงไหม? หลังจากพระนางปชาบดีและเหล่าศากยธิดารวมทั้งสตรีอีกมากที่ออกบวชในสมัยพุทธกาล พอเวลาผ่านไป ๕๐๐ ปีพุทธศาสนากลับยังรุ่งเรืองในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ภิกษุณีสงฆ์ก็มีทั้งในอินเดียและศรีลังกา เรื่อยมาถึง ๑๐๐๐ ปี พุทธศาสนาก็ยังรุ่งเรืองในอินเดีย พระฟาเหียนจากจีนยังต้องมาศึกษาพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ และในบันทึกของท่านก็ยืนยันว่ายังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ จากการศึกษาของอ.ปีเตอร์ สกีลลิ่งก็ยืนยันแล้วว่าภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียมีอยู่ต่อมาจนถึง พศว.๑๖

เอาเข้าจริงภิกษุณีสงฆ์ก็สูญไปจากอินเดียและศรีลังกาพร้อมๆกับภิกษุสงฆ์ในพศว.ที่ ๑๖ นั่นแหละ ด้วยเหตุการเสื่อมภายในของวงการสงฆ์เองและเหตุจากสงครามจากมุสลิมและจากอินเดียไต้ ถ้าไปอ่านเหตุการณ์สูญสิ้นของพุทธศาสนาในอินเดียไม่มีที่ไหนเลยที่จะอ้างว่าเกิดจากมีภิกษุณีสงฆ์ หรือกรณีศรีลังกาเมื่อฟื้นฟูภิกษุสงฆ์ในสมัยพระเจ้าวิชัยพาหุและพระเจ้าปรากรมพาหุ(พศว.๑๗-๑๘)พุทธศาสนาก็ตั้งมั่นอีกรอบ แต่ต่อมาก็สูญไปอีกโดยเฉพาะสมัยพระเจ้ากีรติศิริราชสิงหะซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าบรมโกศของสยาม ไม่เหลือภิกษุสงฆ์อยู่เลยแม้แต่รูปเดียว กล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็แทบจะสิ้นไปจากศรีลังกา เหตุแห่งการสิ้นของพุทธศาสนานี้ไม่มีภิกษุณีสงฆ์เกี่ยวข้องด้วยแม้แต่รูปเดียว เพราะสูญไปตั้งแต่พศว.๑๖โน่นแล้ว อย่างนี้ยังจะมาอ้างอีกว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมเพราะผู้หญิงมาบวชได้อย่างไร?

เหตุแห่งการเสื่อมของพุทธศาสนาพระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่าเกิดจากพุทธบริษัททั้งหลายไม่ศึกษาปฏิบัติ ไม่เผยแพร่และไม่ปกป้อง พระธรรมพระวินัย ไม่มีที่ไหนที่ตรัสว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมเพราะผู้หญิง และในประวัติศาสตร์ก็ยืนยันแล้ว่าคำกล่าวหานี้ไม่จริง ในทางกลับกันจะเห็นว่าผู้หญิงเข้ามาบวชได้ช่วยงานพระศาสนาและช่วยสังคมได้อีกแรงหนึ่ง ดั่งกรณีที่เกิดในไตหวันขณะนี้ ใครสนใจควรติดตามอ่านงานของวัดโฝกวงซันหรือวัดฉือจี้ดู

๔. ส่วนปัญหาปลีกย่อยเกี่ยวกับข้อห้ามเรื่องผู้หญิงกับพระสงฆ์ เช่น รับของต่อจากมือไม่ได้ ผู้หญิงแตะจีวรไม่ได้ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้บางข้อได้ตอบไปแล้วข้างต้น บางข้อก็เป็นการยึดถือของพุทธไทยเท่านั้น เป็นเรื่อง “อจินไตรย” คิดไปก็ไม่มีประโยชน์ ทางที่ดีควรยกเลิกเสีย

๕. มีประเด็นเรื่องกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูภิกษุณีในไทย คืออำนาจของมหาเถรสมาคม ตามพรบ.การปกครองคณะสงฆ์พ.ศ.๒๕๐๕ นั้น จะดูแลเฉพาะ “ภิกษุสงฆ์” เพราะกฎหมายระบุชัดว่า “คณะสงฆ์ หมายถึง พระภิกษุสงฆ์” แล้วที่นี่จะทำอย่างไร ก็ไม่ยาก แก้กฎหมายซิ ให้ดูแลรวมมาถึงภิกษุณีสงฆ์ด้วย แต่ถ้าไม่แก้ ทางออกก็คือฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ไหนๆก็ไปสืบมาจากศรีลังกาแล้วก็ตั้งเป็นอีกนิกายหนึ่งเป็น “ภิกษุณีสงฆ์ สิงหลนิกาย” แล้วไปอยู่ในหมวดหมู่ “คณะสงฆ์อื่น” ที่มี “จีนนิกาย และ อานัมนิกาย” สังกัดอยู่แล้ว ข้อเสนอนี้บางคนค้านหัวชนฝาบอกว่าเป็นสังฆเภท อ้าว! แล้วการตั้งธรรมยุติไม่ใช่สังฆเภทหรือ? ถ้าไม่ใช่แล้วทำไมจะตั้ง “สิงหลนิกาย” อีกไม่ได้ ยอมรับความจริงซิครับว่าเมืองไทยอีกตั้งหลายนิกาย ไม่ใช่แค่มหานิกายกับธรรมยุติเท่านั้น ไหนจะธรรมกาย ไหนจะสันติอโศก ฯ เลิกหลอกตัวเองแล้วมองโลกตามที่มันเป็นเถอะ เราจะแก้ปัญหาได้

ก็เพราะกฎหมายนี้แหละที่เอกสารเดินทางของท่านธัมมนันทายังระบุว่า “นางฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์” อยู่ ภิกษุณีท่านอื่นๆก็คงมีชะตาเดียวกัน อดทนเถอะครับ เป็นรุ่นบุกเบิกก็เหมือนเป็นแนวหน้าต้องรับแรงปะทะมากหน่อย.  เอาล่ะที่มาที่ไปของภิกษุณีก็เล่าแล้ว ปัญหาที่คาใจก็ตอบให้แล้ว ทางแก้ไขก็บอกให้แล้ว ถ้ายังจะค้านอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว แต่จะค้านก็ค้านไปเถอะ เพราะไม่มีผลแล้ว ความจริงที่ปรากฏก็คือมีผู้หญิงออกบวชจำนวนไม่ได้ลดลงกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมลองสอบถามความคิดเห็นของพวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งว่า “ผู้หญิงบวชได้ไหม?” ส่วนมากตอบว่าไม่ได้ แต่พอถามว่าถ้าเห็นผู้หญิงโกนหัวใส่จีวรผ่านมาจะไหว้ไหม? ทั้งหมดตอบว่าไหว้ เอาเข้าจริงสังคมไทยได้เลยปัญหาเรื่องผู้หญิงจะบวชได้หรือบวชไม่ได้ไปนานแล้ว เพราะมีผู้หญิงได้บวชเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลายสิบรูป ที่ตั้งเป็นประเด็นขึ้นมาก็เพื่อให้สังคมยอมรับการบวชนั้นต่างหาก อย่างที่เล่าไห้ฟัง ระดับชาวบ้านเขาไม่มีปัญหาถ้าบวชแล้วเขาก็ยกมือไหว้ทั้งนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐและคณะสงฆ์ต่างหาก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ยอมรับ แต่ท่านก็ไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ได้ ผมเข้าใจครับว่าเรื่องภิกษุณีสงฆ์นี้มันเป็นความจริงที่ทำให้ท่านอึดอัด (An Inconvenient Truth) แต่ก็ช่วยไม่ได้

ส่งเสริมแล้วอย่าลืมปกป้อง

พวกเราชาวพุทธสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันสนับสนุนให้สตรีได้บวช เพราะการบวชไม่ใช่ความชั่ว การบวชเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อทั้งส่วนตนและส่วนรวม แต่อย่าลืมว่าสตรีก็คือมนุษย์ และธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งก็คือความผิดพลาด เพื่อช่วยให้ภิกษุณีบริษัทตั้งมั่นอย่างยั่งยืน เราทุกคนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลบรรดาภิกษุณีเหล่านี้ไม่ให้ผิดพลาดในพระธรรมพระวินัย ไม่ให้หลุดจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ หากเกิดการผิดพลาดก็ช่วยบอกช่วยเตือน หากทำผิดถึงขั้นอุกฤตก็ต้องช่วยเอาออกไป นี้แหละถึงจะเรียกว่าส่งเสริมภิกษุณีบริษัทอย่างถูกต้อง แต่ถ้าปล่อยให้ภิกษุณีรูปนั้นๆละเมิดพระธรรมพระวินัย นี้ก็ถือว่าร่วมกันทำลายภิกษุณีบริษัทและพุทธศาสนาไปพร้อมๆกัน

ลงท้ายเพื่อเริ่มต้น

เท่าที่ได้เล่าความเป็นมาและตอบข้อข้องใจเรื่องภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทมาแล้ว หวังว่าคงพอเข้าใจ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกหรือจากเอกสารที่ได้แนะนำไว้ (รวมทั้งหนังสืออ้างอิงที่แนบมาตอนท้ายนี้) อย่าคิดว่าหรือเชื่อว่า โดยไม่ได้ศึกษา ขงจื้อกล่าวว่า “เรียนโดยไม่คิดเสียเวลา แต่คิดโดยไม่เรียนอันตราย” ปัญหาหลายอย่างในเมืองไทยแก้ไม่ได้เพราะคนส่วนใหญ่ชอบคิดโดยไม่เรียน รวมทั้งปัญหาเรื่องภิกษุณีนี้ด้วย.  ขอย้ำอีกทีว่าการที่ผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้สตรีบวชนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า

๑. มีพุทธานุญาตให้สตรีบวชได้ ๒. ในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่าสตรีที่ออกบวชสามารถบรรลุธรรมได้ ๓. มีสตรีประสงค์จะบวชและการบวชเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ความชั่ว ๔. สตรีเป็นมนุษย์เหมือนบุรุษ มีสิทธิ์และมีศักดิ์เท่าเทียมกับบุรุษ และพุทธศาสนาก็รับรองสิทธิ์และศักดิ์อันนี้  ๕. ปัญหาการบวชที่อ้างว่าติดขัดเรื่องพระวินัยนั้น เรื่องนี้แก้ไขได้โดยใช้ “ปัญญาและเมตตา” อันเป็นพุทธวิธีที่พระพุทธองค์เคยใช้ให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว และปัจจุบันศรีลังกาก็ทำนำร่องไปแล้ว ขอย้ำอีกทีว่าพระวินัยหรือกฎระเบียบต่างๆนั้นเปรียบเสมือนรั้วบ้านที่มีไว้เพื่อป้องกันแต่ไม่ใช่มีไว้เพื่อกักกัน

ออกมามองโลกภายนอกเถิดพระคุณเจ้า  

ลักษณะเด่นในคำสอนของพุทธศาสนาคือ “อนัตตา” สรรพสิ่งล้วนไม่มีตัวไม่มีตน “สัพพะ ธัมมา อนัตตา” หญิง-ชายเมื่อเข้ามาบวชแล้ว แม้ยังมีเพศต่างกันหรือมีวินัยต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย เมื่อเข้าถึงความเป็นพุทธแล้วเรื่องเหล่านี้ก็สิ้นไป สภาวะการเป็นพุทธนั้นเป็นสภาวะไร้ตัวตน ไร้เพศ ด้ายเหตุนี้กระมังที่ศิลปินได้สร้างพระพุทธรูปให้ออกมาในลักษณะกึ่งชาย-กึ่งหญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง ทั้งนี้เพื่อจะสื่อว่าเมื่อเข้าถึงภาวะ “พุทธะ” แล้ว ก็จะข้ามพ้นเรื่องเพศ ข้ามพ้นเรื่องตัวตนไป ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ “พุทธะ” เท่านั้น.  เป้าหมายของพุทธศาสนาก็สอนให้เราข้ามห้วงเหวแห่งสังสารวัฏ แต่ก่อนที่จะไปข้ามห้วงเหวที่ใหญ่อย่างนั้น เราควรข้ามอคติและมายาคตินี้ก่อนครับ.  เอ๊า! กระโดดข้ามมาเลยพระคุณเจ้า

เอกสารอ้างอิง

๑. การพัฒนาสตรีในพระพุทธศาสนา โดย ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน ๒. เรื่องของภิกษุณีสงฆ์ โดย ธัมมนันทา ภิกษุณี  ๓. สืบสานและเติมเต็ม เรื่องราวของภิกษุณีวันวานและวันนี้ โดย ฉัตรสุมาลย์  ๔. ภิกษุณีบวชไม่ได้ วาทกรรมที่กำลังจะเป็นโมฆะ โดย ธัมมนันทา ๕. ภิกษุณี กับบทบาทเรื่องเพศสภาพในสังคมไทย โดย ภิกษุณีธัมมนันทา ๖. ตอบ ดร.มาร์ติน พุทธวินัยถึงภิกษุณี โดย พระภิกษุณีสุโพธา  ๗. สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์จริงหรือ? โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ใน บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๙ ๘. ภิกษุณี วิกฤต ฤา โอกาส โดย Ritti Janson  ๙. ทัศนะของพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ๑๐. ปัญหาภิกษุณี บททดสอบสังคมไทย โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ๑๑. ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา โดย ปรีชา ช้างขวัญยืน ๑๒. ผู้หญิงกับพระธาตุ โดย สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ บรรณาธิการ ๑๓. การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๘๔ โดย คนึงนิตย์ จันทบุตร ๑๒. ประวัติศาสตร์สตรีไทย โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมชาย ปรีชาเจริญ นายผี ๑๓. การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายเถรวาท โดย พระภิกษุโพธิ มหาเถระ ๑๔. Women Under Primitive Buddhism โดย I.B.Horner

ที่มา: เสรีธรรม http://dhamma.serichon.us

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: