วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564

อย่าไป "บ้ากับชีวิต" ให้มาก เพราะมันเป็น "สิ่งสมมุติ"

“อย่าไป “บ้ากับชีวิต” ให้มาก เพราะมันเป็น “สิ่งสมมุติ” เพราะชีวิตมันไม่มีจริง มันเป็นเพียง.. “การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ” จงทำหน้าที่ให้ดี โดยไม่มีความทุกข์ ให้สงบ เย็น และ เป็นประโยชน์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้อง... คืนให้ “กลับสู่ธรรมชาติ” ดังเดิม แม้แต่ร่างกายที่เราเฝ้าดูแลก็ตาม” (พุทธทาสภิกขุ)

ความจริงแท้ของสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” 

“ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีก นอกเหนือจากขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะแฝงอยู่ในขันธ์ ๕  หรือ อยู่ต่างหากจากขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นเจ้าของ หรือควบคุมขันธ์ ๕ ให้ชีวิตดำเนินไป ดังนั้น ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกเอา ขันธ์ ๕ ขึ้นเป็นตัวตั้งแล้ว ก็เป็นอันครบถ้วนเพียงพอ

ขันธ์ ๕ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกฎแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท” คือ มีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสคงที่อยู่ได้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปอีก ส่วนต่างๆสัมพันธ์กัน เนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน จึงทำให้กระแสหรือกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างมีเหตุผลสัมพันธ์ และคุมเป็นรูปร่างต่อเนื่องกัน ….ในภาวะเช่นนี้ ขันธ์ ๕ หรือ ชีวิต จึงเป็นไปตามกฎแห่ง “ไตรลักษณ์” คือ อยู่ในภาวะแห่ง.. “อนิจจตา” ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา  “อนัตตตา” ไม่มีส่วนใดที่มีตัวตนแท้จริง และไม่อาจยึดถือเอาเป็นตัว จะเข้ายึดครองเป็นเจ้าของบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนจริงจังไม่ได้  “ทุกขตา” ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัวอยู่ทุกขณะ และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ ในกรณีที่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้(อวิชชา) และยึดติดถือมั่น …. กระบวนการแห่งขันธ์ ๕ หรือ ชีวิต ซึ่งดำเนินไปพร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ โดยไม่มีส่วนที่เป็นตัวเป็นตนคงที่อยู่นี้ ย่อมเป็นไปตามกระแสแห่ง เหตุ-ปัจจัย ที่สัมพันธ์แก่กันล้วนๆ ตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน” #สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )  ที่มา : จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับเดิม”

“ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง”

“สิ่งทั้งหลาย เป็น “อนิจจัง” ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา,  เป็น “ทุกขัง” คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็น “อนัตตา” ไม่เป็นตัวเป็นตนของใคร ที่จะไปสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ เราจะไปยึดถือครอบครองมันจริงไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน หรือดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน 

สิ่งทั้งหลายที่เรายึดถือเป็น“ตัวตน” ในบัดนี้ ก็คือ ภาพปรากฏของ..เหตุ-ปัจจัย..ที่เป็นไปตามกระบวนการของมัน  เมื่อเหตุปัจจัยมาสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ ก็แสดงผลเป็นปรากฏการณ์ที่เราเรียก “เป็นตัว เป็นตน” แต่แท้จริงแล้วตัวตนอย่างนั้นไม่มี มีแต่เพียงภาพปรากฏชั่วคราว ส่วนตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือ กระบวนการแห่งความสัมพันธ์กันของสิ่งทั้งหลายที่คืบเคลื่อนไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้สัมพันธ์กัน แล้วคืบเคลื่อนต่อไป ภาพ “ตัวตน” ที่ปรากฏนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ตัวตนที่แท้ ที่ยั่งยืน ตายตัว ที่จะยึดถือครอบครองบังคับบัญชาอะไรๆได้จึงไม่มี (คำว่า “อัตตา” ก็คือ ตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนตายตัวตลอดไป) มัน(อัตตา)ไม่มี เพราะมีแต่ภาพรวมของปรากฏการณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในกระบวนการของมัน เรียกว่าเป็นเพียง “สภาวธรรม” ไม่เป็นตัวตนของใคร... 

นี่คือ ความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่อง “ไตรลักษณ์” ขึ้นไว้เป็นหลักที่เด่นว่า... สิ่งทั้งหลายนี้  “อนิจฺจํ” ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับหาย มีความเปลี่ยนแปลง “ทุกฺขํ” คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อยู่ในภาวะขัดแย้ง ถ้าคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความอยาก มันก็ฝืนความปรารถนา แล้วก็.. “อนตฺตา” ไม่เป็นตัวตนของใครได้ ใครจะยึดถือครอบครองสั่งบังคับไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน หรือดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน”  - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมนิพนธ์เรื่อง “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา” หัวข้อ "ความจริงมีอยู่ตามธรรมดา"

“ยกเว้นพระโลกนาถเจ้าเสีย สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีอยู่ สัตว์นั้นว่าโดยปัญญาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระสารีบุตรพระอัครสาวกที่หนึ่งได้ มีปัญญามากถึงอย่างนี้ ยังถึงซึ่งอำนาจแห่งความตาย  จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า. แม้พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงปกครองแผ่นดินทั้งสิ้น ทรงสละพระราชทรัพย์ตั้งร้อยโกฏิ ทรงเป็นผู้มีความสุขในบั้นปลาย ถึงความเป็นใหญ่แห่งวัตถุเพียงผลมะขามป้อมครึ่งผลด้วยทั้งเรือนร่างนั้นแล แม้เมื่อท้าวเธอทรงสิ้นบุญแล้ว พระองค์ก็ทรงบ่ายพระพักตร์ต่อมรณะ ก็ต้องมาถึงซึ่งความโศกเศร้า จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า.

ท่านผู้มียศใหญ่ทั้งหลาย เป็นท้าวพญาผู้ประเสริฐ เช่น ท้าวมหาสมมติ(มหากษัตริย์) เป็นต้น แม้ท่านเหล่านั้นยังถึงซึ่งอำนาจแห่งความตาย  จะป่วยกล่าวไปไยในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า"  

ที่มา : คัมภีร์วิสุทธิมรรค

ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ….คิดให้เห็นชัดในขณะนั้นว่า เมื่อตายแล้วตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะหยุดนิ่ง อย่าว่าแต่จะลุกขึ้นไปเก็บรวบรวมเงินทองข้าวของที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วยเลย จะเขยิบให้พ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบก็ทำไม่ได้ ….สามี ภริยา มารดา บิดา บุตรธิดา ญาติสนิท มิตรสหาย ทั้งหลาย ที่เคยรักห่วงใยกันนักหนา ก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยเลยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย แม้แต่จะนั่งเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืนก็ยังไม่มีใครยอม...  เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาหวงแหนทะนุบำรุงร่างกายของตนไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยเล่ห์ด้วยกลก็ตาม เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงร่างของตน ก็ติดกับร่างไปไม่ได้เลย เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า  "ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้"  - สมเด็จพระญาณสังวร

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: