วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564

“นับถือสองศาสนา บาปใหม?”

“นับถือสองศาสนา บาปใหม?” ผู้ถามไม่ระบุแน่ชัดว่านับถือศาสนาอะไรบ้าง? คาดเดาเอาว่า คงเป็นศาสนาพุทธ กับอีกศาสนาหนึ่ง…

ว่าในทางพุทธ “เพียงแค่บอกว่า กิริยาอาการนับถือ จะกล่าวว่าบาป หรือไม่บาป ยังตัดสินความยังไม่ได้แน่ชัด ต้องลงรายละเอียดอีกมาก” เพราะ จะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลยก็ตาม แต่ถ้าทำอกุศลกรรม มีฆ่าสัตว์เป็นต้น….ก็บาปแล้ว หรือเพียงแค่จิตเกิดอกุศลเมื่อไร ก็บาปแล้ว…ความเป็นบาปหรือไม่เป็นบาปโดยหลักทั่วไป นับกันที่สภาวจิตที่เกิดในขณะนั้น ว่าเป็นอย่างไร…ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่า “ใครกล่าวไว้หรือบัญญัติไว้” ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตร, นิยามของกรรมและผลของกรรมนั้น เป็นไปตามธรรมดาอย่างนั้น พระพุทธเจ้า หรือใคร ๆ ก็ไม่สามารถไปตั้ง หรือไปบังคับให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ได้…

ว่าโดยหลักการของพุทธศาสนา บาป มี ๒ ระดับ คือ

๑) ถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ครบองค์กรรมบถ).  

๒) ที่่ยังไม่ถึงอกุศลกรรมบถ เพราะขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไป

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวคำว่า “บาป” โดยส่วนมากพระพุทธเจ้าหมายเอาการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นทุจริต ๑๐ คือ “อกุศลกรรมบถ ๑๐ (กายกรรม ๓, วจีกรรม ๔, มโนกรรม ๓)

แต่จิตที่เป็นอกุศล (อกุศลจิต๑๒) เพราะประกอบกับอกุศลเจตสิก มี โลภะ โทสะ โมหะ….เป็นต้น ที่ยังไม่ถึงอกุศลกรรมบถ ก็จัดเข้าในคำว่า “บาป” ด้วย เพราะเป็นอกุศล มีผลที่เป็นทุกข์ แม้ไม่ก่อวิบากที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิในอบายได้ก็จริง แต่ก็ช่วยสนับสนุนให้อกุศลกรรมอื่น ๆ มีกำลังแรงขึ้นได้ เป็นปัจจัยแก่อกุศลอื่น ๆ ได้ด้วย…จึงอนุโลมเข้าในคำว่า “บาป” ได้

ในพระสูตร ๆ หนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับคหบดีท่านหนึ่งชื่อ สีหคหบดี ซึ่งก่อนหน้านั้นนับถือพวกอเจลก นักบวชนลัทธิหนึ่ง และให้ทานกับพวกอเจลกนั้นประจำ… ต่อมาสีหคหบดีได้ฟังธรรมกับพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส จึงประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สีหบดีเคยให้ทานกับพวกอเจลกอย่างใด ก็ขอให้ทำอย่างนั้น” กิริยาคือการให้ทานนั้น จะบอกว่านับถือพวกอเจลก ก็ไม่ได้…ฯ

เพราะฉะนั้น กิริยาอาการของการนับถือ ต้องลงรายละเอียดในหลายลักษณะ เช่นทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนานั้น…ถ้านับถือพุทธศาสนาแล้วไปกระทำ ต้องถือว่า “ไตรสรณคมขาด” เพราะความไม่มั่นคง มีจิตใจโลเล.

ในกรณีที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักคำสอน เป็นลักษณะการนับถือแบบตาม ๆ กันมาตามญาติ หรือตามตระกูล หรือตามประเพณี ตามทะเบียนบ้าน…มีลักษณะการนับถือแบบงมงาย แบบไม่รู้…

แท้จริงแล้ว การยอมรับนับถือประกาศตนว่าเป็นอุบาสก ต้องประกอบด้วยองค์ของความเป็นอุบาสก คือ มีศรัทธา เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้, เชื่อกรรม, ผลของกรรม, เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง…บุคคลเข้าใจเช่นนี้ ประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว จะไม่ไปนับถือศาสดาอื่น…แต่อาจให้ทาน หรือทำโลกียกุศลกรรมอื่น ๆ แก่คนภายนอกพุทธศาสนาได้ แต่ไม่ใช่เป็นการยอมรับนับถือศาสดาอื่น.

กิริยาอาการที่ “นับถือ” หากเจือด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีความงมงาย ด้วยอำนาจของโมหะ หลง ไม่รู้ ไม่เข้าใจในจุดมุ่งหมาย ในหลักคำสอน … ก็เข้าข่ายของความจะเป็นบาป ในทุกศาสนา ไม่เว้นแม้แต่พุทธศาสนา เพราะนับถือด้วยความงมงาย เจือด้วยมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจผิด… “มิจฉาทิฏฐิ” เป็นธรรมฝ่ายอกุศลอยู่แล้ว…

คำว่า “ศาสนาทุกศาสนา สอนให้บุคคลเป็นคนดี” ต้องแยกแยะ.  พุทธศาสนาแบ่งระดับความดีไว้ ๓ ขั้น คือ 

๑) ขั้นธรรมดา (ดี) คือดีด้วย ศรัทธา, ทาน, ศีล ดีด้วยโลกียกุศลกรรมทั่ว ๆ ไป มีการขวนขวายในกิจที่ชอบเป็นต้น

๒) ขั้นกว่า (ดีกว่า) ได้แก่ความดีขั้นสมาธิ (สมถะกรรมฐาน) ที่เป็นปัจจัยต่อปัญญา

๓) ขั้นสูงสุด (ดีที่สุด) ขั้นอุตตมะ, อนุตตระ ได้แก่ดีด้วยอำนาจของปัญญาในมรรค หมายเอามรรคจิต-ผลจิต อันสำเร็จมาแต่การอบรมวิปัสสนา

ดีทั้ง ๓ อย่างนั้น ในศาสนาอื่น ๆ อย่างมากได้แค่ ๒ ระดับ คือดีธรรมดา และดีกว่า บางศาสนา บางลัทธิ ได้แค่ดีธรรมดา แค่ศรัทธา,ทาน, ศีล ไม่ถึงดีกว่า คือไม่ถึงฌาน อภิญญา สมาบัติ  ส่วนในทางพุทธศาสนา มีครบทั้ง ๓ ระดับ แล้วแต่ระดับสติปัญญา ความสามารถ…

เพราะฉะนั้น คำพูดที่ว่า “ทุกศาสนา สอนให้เป็นคนดีนั้น ต้องเข้าใจความหมาย ๓ ระดับของความดีในพุทธศาสนาด้วย…ไม่งั้น เรากำลังจะลดระดับความดีของพุทธศาสนาไปเทียบเท่าศาสนาและลัทธิอื่น ๆ … //

“สมโณ นตฺถิ พาหิโร” สมณะภายนอกพุทธศาสนา ไม่มี (สมณะในที่นี้ได้แก่ โสดาบันบุคคล, สกทาคามีบุคคล, อนาคามีบุคคล, อรหันตบุคคล)

ที่มา : http://dhamma.serichon.us




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: