วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

“ตถตา” แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง... (พุทธทาสภิกขุ)

“ตถตา” แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง...

“ตถตา” มีความหมายว่า เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมันเป็นอย่างนี้เอง หรือว่ามันเป็นอิทัปปัจจยตา คือเพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงดับลง... ทุกสิ่งแสดงความเป็น"เช่นนั้นเอง"อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจ...

"ตถตา" นี้สำคัญมาก ถ้าเห็นแล้วปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า เพราะถ้าเห็นแล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆในโลก โดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็น "ตัวกู-ของกู" ก็เพราะเขาไม่เห็นความความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งนั้นๆ.  เพราะเขาไม่รู้ หรือโง่เขลาต่อสิ่งนั้นๆ จึงไปยึดเอาเป็นสิ่งที่น่ารักมีความรัก และโกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ เกลียดในสิ่งที่ชวนให้เกลียด กลัวในสิ่งที่ชวนให้กลัว แล้วก็เป็นทุกข์เอง....

ตถตา - เป็นเช่นนั้นเอง, อวิตถตา - ไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น, อนัญญถตา - ไม่มีความเป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น, ธัมมัฏฐิตตา - มีความตั้งอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติทั้งหลาย, ธัมมนิยามตา - เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติทั้งหลาย, อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท - ความที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น มันอาศัยกันและกันแล้วเกิดขึ้น.  นี่คือ อาการที่มันเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นอย่างนั้นเอง  เรียกว่า "ตถตา" หรือ "ตถาตา" หรือ ตถา เฉยๆก็ได้... สังขารทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เช่นนั้นเอง ทุกขัง เป็นทุกข์ เช่นนั้นเอง เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เช่นนั้นเอง. 

พุทธทาสภิกขุ,  ที่มา : ธรรมกถา ตถตาหน้าเชิงตะกอน วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๖

ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่เช่นนั้นเอง  

"ช่วยจำให้ดีว่า อะไรๆเกิดขึ้นก็ให้มันรู้สึกได้ว่า มันเป็นเพียง "ความรู้สึก" เท่านั้นหนอ มันเป็นเพียง"ความรู้สึกแห่งจิต"(เวทนา)เท่านั้นหนอ!.  เรื่องดี บ้า สุข ทุกข์ รวย จน เรื่องอะไรต่ออะไรทุกเรื่อง มันเป็น"ความรู้สึก"ของจิตเท่านั้นหนอ.  พอเห็นเป็นความรู้สึกเท่านั้นหนอ มันก็หยุดเป็นทุกข์ทันที.  นี่ ธรรมะที่เป็น..สุญญตา อนัตตา ตถาตา ดับทุกข์ได้อย่างนี้ ทุกระดับ ทุกข์เลวๆโง่ๆมันก็ดับได้ ทุกข์ที่สูงขึ้นไปมันก็ดับได้ ทุกที่สูงที่สุดละเอียดลออมันก็ดับได้ จนกระทั่งบรรลุ มรรค ผล นิพพาน. เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกนี้ เป็นคนธรรมดาสามัญ ทำไร่ทำนา หาปู หาปลาได้กินไปวันหนึ่งก็เถอะ ขอให้รู้จักคำว่า "เช่นนั้นเอง" แล้วมันจะไม่มีความทุกข์.  ถ้าเป็นปัญญาชนก็ยิ่งจะต้องรู้ให้มากขึ้นไปอีกว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" เท่านั้นแหละ! ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่เช่นนั้นเอง" 

พุทธทาสภิกขุ,  พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: