วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

“ชีวิต และ กระแสแห่งชีวิต” (พุทธทาสภิกขุ)

“ชีวิต และ กระแสแห่งชีวิต” (พุทธทาสภิกขุ)

…. “ ชีวิตที่มีพื้นฐานหรือธรรมะที่เป็นพื้นฐานของชีวิต” ในวันนี้ก็จะได้พูดถึง “การควบคุมกระแสแห่งชีวิต” นี่ใช้ภาษาที่มีใช้กันอยู่ในทางธรรมะ เพื่อให้มันมีพื้นฐานที่ถูกต้อง แล้วก็เพื่อให้มีธรรมะที่เป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะมีธรรมะพื้นฐานอย่างเพียงพอมีผลเป็น “ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ” แล้วก็มีความเยือกเย็น และเป็นประโยชน์ คําสั้นๆเหล่านี้ อมความทั้งหมด คือทั้งหมดในพรหมจรรย์ 

…. “เยือกเย็น” หมายความว่า ดับทุกข์สิ้นเชิง และเป็นประโยชน์ ไม่เป็นหมัน เป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น มันขยายความออกไปได้มากมาย การบรรลุธรรมะ มรรค ผล นิพพาน มีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เรียกโดยสํานวนง่ายๆ ที่พวกฝรั่งเขาชอบกันนัก ก็คือว่า “เป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ”

…. ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยความไม่รู้ คือ “อวิชชา” - ความไม่รู้ นี่มันกัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลา เพราะความไม่รู้ คือมีความทุกข์ เดี๋ยวทุกข์อย่างนั้น เดี๋ยวทุกข์อย่างนี้ เดี๋ยวทุกข์อย่างโน้น กลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง กัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราจะจัดการกับมันให้ถูกต้อง ไม่กัดเจ้าของ เยือกเย็น เป็นประโยชน์ นั่นแหละคือความมุ่งหมาย

…. ทีนี้ เราก็จะต้องรู้จักตัว “ชีวิต ว่ามันคืออะไร จึงจะควบคุมมันได้ นี่คือสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือว่าที่เราอุตส่าห์มาบวช ศึกษาเล่าเรียนเพื่อปฏิบัติ ก็เพื่อจะให้มันรู้ว่ามันคืออะไร? แล้วจะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะได้รับประโยชน์ คุ้มกับค่าที่มาบวช ลองคิดดู เรารู้จักมันแล้วหรือยัง และสามารถควบคุมมันได้แล้วหรือยัง แล้วเราก็มองเห็นว่ายัง หรือยังไม่พอ จึงมาบวชมาศึกษา เตรียมพร้อมเพื่อจะให้มันเผชิญกับชีวิตอย่างถูกต้อง

…. สิ่งที่เรียกว่าชีวิต มันมีกระแส “โสตะ” โสตะ หรือ โสดา แปลว่า “กระแส” หมายความว่า เนื่องกันและไหลไป เนื่อง กัน เปลี่ยนแปลงไป เนื่องกันด้วยการเปลี่ยนแปลงไป อย่างนี้เรียกว่า กระแส-โสตะ, จะต้องรู้จัก “กระแสแห่งชีวิต” โดยตรง ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไรกันก่อน ถ้าว่าจะเอากันตามธรรมดาสามัญ ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรนัก นอกจากทํามาหากิน หาประโยชน์ หาความร่ำรวย หาอํานาจวาสนา แล้วมันก็จะพอ.

…. แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการที่มันประณีตละเอียดสุขุมมากกว่านั้น คือ “กระแสของชีวิตที่เยือกเย็น” เราต้องรู้มากกว่าที่ชาวบ้านคนเดินถนนเขารู้กัน จึงมีการศึกษาสิ่งที่ควรจะรู้ ก็คือสิ่งที่เป็นหัวข้อที่เราศึกษาเล่าเรียนกันนั่นแหละ แต่ว่า เป็นชั้นลึกเรียกว่า “ปรมัตถ์” จะแจกออกไปให้เห็นชนิดที่ถูกต้องและเพียงพอสัก ๕ หัวข้อ ขอให้ฟังให้ดี จําไว้ให้ได้ คือ คําว่า “ธาตุ” ธาตุ ธาตุตามธรรมชาติ แล้วธาตุก็ปรุงให้เกิดมี “อายตนะ” อายตนะภายในด้วยภายนอกด้วย อายตนะก็ปรุงให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์” ขันธ์ทั้ง ๕ ในสิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั้นมีกระแสแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นเรื่องข้อที่ ๔ ในปฏิจจสมุปบาทนั้นมีสิ่งเลวร้ายอยู่โดยเฉพาะ คือ “ความทุกข์”  

…. ดังนั้น เราจึงต้องเรียนกันทั้ง ๕ หัวข้อเป็นอย่างน้อย เรื่อง“ธาตุ”, เรื่อง“อายตนะ”, เรื่อง“ขันธ์”, เรื่อง“ปฏิจจสมุปบาท”, แล้วก็เรื่อง“ทุกข์” 

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “การควบคุมกระแสแห่งชีวิต” บรรยายอบรมพระนวกะ ในพรรษา ปี ๒๕๓๓  ณ สวนโมกขพลาราม  จากหนังสือชื่อ “กระแสชีวิต” หน้า ๘๔-๘๗

พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: