วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564

บ่วงแห่งมาร คือวัตถุกาม ๕ ประการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ


บ่วงแห่งมาร คือวัตถุกาม ๕ ประการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจแห่งมารคือกิเลส อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้เป็นต้น

พระบรมศาสดาตรัสว่า “ผู้ใดระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร”  คำว่า “ระวังจิต” หมายถึงอาการสำรวมจิต ๓ ประการ คือ

๑. สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย เพื่อมิให้ความยินดีครอบงำในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส และถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนา

๒. มนสิการอสุภกรรมฐาน คือการกำหนดไว้ในใจถึงกรรมฐานที่ยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์ เพื่อพิจารณาให้เห็นความไม่งามความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร และมนสิการกายคตาสติ คือการกำหนดไว้ในใจโดยการใช้สติควบคุมจิตใจให้พิจารณาในร่างกายของตน เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นว่าไม่สวยงาม ปฏิกูล ไม่เที่ยงแท้ กรรมฐานทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันท์ (กามฉันท์ คือความพอใจในกามคุณทั้ง ๕) หรือเจริญมรณสติ คือการยังจิตให้สลดด้วยการระลึกถึงความตาย

๓. เจริญวิปัสสนา คือพิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์แล้วสันนิษฐานเห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น จักพ้นจากบ่วงแห่งมารได้ต้องสำรวมระวังอินทรีย์ หมั่นกำหนดพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามหรือหมั่นระลึกถึงความตายอันจะมาถึงแก่ตนแน่นอน และตั้งจิตพิจารณาแยกรูปนามโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนี้.

พระมหาวัชระ เชยรัมย์


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: