พระธัมมทินนาเถรี ภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าทรงชมเชยว่าเป็นนักปราชญ์อธิบายตอบธรรมได้ฉาดฉาน
พระธรรมทินนาเถรี เอตทัคคะในทางผู้เป็นธรรมกถึก - พระธรรมทินนาเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้
ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
ได้ยินว่า พระธรรมทินนาเถรีนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในสกุลหนึ่งในเมืองหงสวดี เมื่อโตขึ้นเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำการงานของคน อื่น เป็นผู้มีปัญญา สำรวมอยู่ในศีล ต่อมาวันหนึ่ง ในเวลาเช้า ขณะที่นางเอาหม้อน้ำกำลังจะไปตักน้ำ นางก็ได้พบพระสุชาตมหาเถระผู้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าออกจากอารามเพื่อ ไปบิณฑบาต เมื่อได้เห็นท่านแล้วก็เกิดความเลื่อมใส จึงได้ถวายขนมด้วยมือของตน ท่านรับแล้วนั่งฉัน ณ ที่นั้นแหละ นางนิมนต์ท่านไปสู่เรือนได้ถวายโภชนะแก่ท่าน ต่อมา นายของนางทราบเข้าแล้วชื่นชมในความเป็นผู้มีกุศลจิต เกิดความยินดีจึงได้แต่งนางให้เป็นลูกสะใภ้ของท่าน
วันหนึ่งนางไปกับแม่สามีและได้เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระ บรมศาสดาทรงประกาศตั้งภิกษุณีองค์หนึ่ง ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นธรรมกถึก ท่านได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นแล้ว มีความยินดี ปรารถนาที่จะได้ตำแหน่งนั้นบ้างในอนาคต จึงได้นิมนต์พระสุคตเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ ถวายมหาทานแล้วกระทำอธิษฐานเพื่อปรารถนาตำแหน่งนั้น
ในทันใดนั้น พระสุคตเจ้า ได้ตรัสพยากรณ์นางว่า ด้วยผลบุญที่นางได้ยินดีบำรุงพระศาสดา อังคาสพระศาสดากับสาวกสงฆ์ ขวนขวายในการฟังสัทธรรม มีใจเจริญด้วยคุณ นางจะได้ตำแหน่งนั้นตามที่ได้ตั้งความความปรารถนาไว้ โดยในกัปที่หนึ่งแสนแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก นางจักได้ เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นสาวิกาของพระศาสดา มีชื่อว่า ธรรมทินนา
เมื่อนางได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้วก็มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระมหามุนี ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต ด้วยกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้เมื่อนางสิ้นชีวิตลงแล้วได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป
ในสมัยพระปุสสพุทธเจ้า
ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัททกัปนี้ ได้มีนครหนึ่ง ชื่อว่า กาสี พระราชาทรงประนามว่า ชัยเสน ทรงครองราชสมบัติในพระนครนั้น พระองค์ได้มีพระราชเทวีทรงพระนามว่า สิริมา พระโพธิสัตว์นามว่า ผุสสะ บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางแล้วตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาณโดยลำดับ พระเจ้าชัยเสนนั้นทรงเห็นว่าพระราชโอรสของพระองค์ออกมหาภิเนกษกรมเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงถือเสมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นของส่วนพระองค์ท่านแม้พระธรรม และพระสงฆ์ก็เช่นกัน เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงทรงอุปัฏฐากด้วยพระองค์เองทุกๆ ในทุกเมื่อ ไม่ทรงให้โอกาสแก่ชนเหล่าอื่นได้ทำบ้าง
พระราชานั้น ยังมีโอรสผู้เป็นพระอนุชาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แต่ต่างพระมารดากันอีก ๓ พระองค์ ทั้ง ๓ พระองค์นั้นต่างก็พากันคิดว่า ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอุบัติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งมวล มิใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคลผู้เดียว และพระบิดาของพวกเราก็ไม่ยอมให้โอกาสแก่ชนเหล่าอื่นเลย ทำอย่างไรหนอ พวกเราจะพึงได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์
พี่น้องทั้ง ๓ พระองค์จึงได้ออกอุบายสร้างสถานการณ์ชายแดนว่าเกิดการปั่นป่วน เพื่อให้พระราชาส่งพวกตนออกไปปราบ และจะได้มีความดีความชอบ ครั้นเมื่อทำตามอุบายนั้นแล้ว พระราชาทรงพอพระทัยได้ประทานพรว่าถ้าพระโอรสทั้งสามพระองค์ปรารถนาสิ่งใดก็จะพระราชทาน พระโอรสทั้งสามจึงขอที่จะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระราชาทรงปฏิเสธ แต่พระโอรสทั้งสามทรงยืนยันความประสงค์ พระราชาจึงทรงยินยอม แต่ให้เวลาเพียง ๓ เดือน
พี่น้อง ๓ พระองค์นั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับการอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนนี้แก่ข้าพระองค์เถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับด้วยดุษฎีภาพ พี่น้อง ๓ พระองค์นั้น จึงส่งลิขิตไปถึงนายส่วยผู้จัดเก็บผลประโยชน์ในชนบทของตนว่า พระองค์จะทำการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือนนี้ ขอท่านจงจัดแจงสัมภาระสำหรับอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่างเริ่มตั้งแต่วิหารไป
ทรงแต่งตั้งบุตรคฤหบดีคนหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพระราชทรัพย์ของพี่น้อง ๓ พระองค์นั้น ให้ดูแลเรื่องการเงิน และมอบหมายให้ผู้ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องการถวายทาน. นายส่วยนั้นได้จัดการทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระโอรสทั้งสามแล้วจึงทูลตอบกลับไป เมื่อพี่น้องทั้ง ๓ พระองค์นั้นทราบว่าการจัดแจงต่าง ๆ ได้เรียบร้อยแล้วจึงพร้อมด้วยบริวารอีก ๑,๐๐๐ คน พากันอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์โดยเคารพ นำไปยังชนบท มอบถวายวิหารให้อยู่จำพรรษา
ในครั้งนั้น บุตรคฤหบดี ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพระราชทรัพย์ของพี่น้อง ๓ พระองค์นั้น พร้อมด้วยภริยา เป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ก็ได้ถวายทานวัตรแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานโดยเคารพ นายส่วยผู้จัดเก็บผลประโยชน์ในชนบทได้พาเขาไปพร้อมกับชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ได้ให้ทานเป็นไปโดยเคารพทีเดียว บรรดาท่านเหล่านั้น ราชบุตรนายส่วยในชนบท และบุตรคฤหบดีผู้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพระราชทรัพย์ และเจ้าหน้าที่ผู้จัดแจงเรื่องถวายทาน เมื่อสิ้นชีวิตลงแล้วก็ไปบังเกิดในสวรรค์ตามลำดับ
ในสมัยพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ พระโอรส ๓ พี่น้องก็มาเกิดเป็น ชฎิล ๓ พี่น้องคือ พระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และ พระคยากัสสปเถระ นายส่วยผู้จัดเก็บผลประโยชน์ในชนบท ก็มาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าหน้าที่ผู้จัดแจงเรื่องถวายทาน เกิดมาเป็น พระรัฐปาลเถระ บุตรคฤหบดี ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพระราชทรัพย์ เกิดมาเป็น วิสาขเศรษฐี และ ภรรยาของบุตรคฤหบดี เกิดมาเป็นนางธัมมทินนาเถรี
ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ในภัทรกัปนี้ ในสมัยแห่งพระ พุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ท่านได้มาเกิดเป็นพี่น้องกับพระสาวิกาอีก ๖ ท่าน คือ พระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระกุณ ฑลเกสีเถรี พระกิสาโคตมีเถรี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา โดยเป็นพระธิดาแห่งพระเจ้า กาสีพระนามว่ากิกีผู้ครองพระนครพาราณสีอันอุดม พระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระกัสสปพุทธเจ้า โดยตัวท่านเองมาบังเกิดเป็นเป็นพระธิดาคนที่หกของท้าวเธอ มีนามปรากฏว่าสุธรรมา มีพระพี่นางคือ พระนางสมณี พระนางสมณคุตตา พระนางภิกขุนี พระนางภิกขุทาสิกา และพระนางธรรมา และมีพระขนิษฐาคือ นางสังฆทาสี
พระนางทั้ง ๗ นั้นเมื่อได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วก็เลื่อมใส ใคร่ที่จะออกบรรพชา แต่พระเจ้ากิกีผู้เป็นพระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาต พระนางทั้งหมดจึงได้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นกุมารีอยู่สองหมื่นปี ได้สร้างบริเวณที่อยู่ถวายพระภิกษุสงฆ์ ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อละร่างกายมนุษย์แล้วได้ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง
ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้ พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นก็ได้มาเกิดเป็น พุทธสาวิกาคือ คือ พระนางสมณี ได้มาเกิดเป็นพระเขมาเถรี พระนางสมณคุตตา ได้มาเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี นางภิกขุนี ได้มาเกิดเป็น พระปฏาจาราเถรีนางภิกขุทาสิกา ได้มาเกิดเป็น พระกุณ ฑลเกสีเถรี นางธรรมา ได้มาเกิดเป็น พระกิสาโคตมีเถรี และนางสังฆทาสี ได้มาเกิดเป็นนางวิสาขามหาอุบาสิกา
ส่วนตัวท่านเองมาถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐีที่มั่งคั่งเจริญ มีทรัพย์มากในพระนครราชคฤห์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็ได้แต่งงานมีครอบครัวกับวิสาขเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์นั้นเอง. ต่อมาเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเทศนาโปรดเหล่าชฏิลทั้งสามพร้อมทั้งบริวาร ที่อุรุเวลาเสนานิคมแล้ว ก็ทรงระลึกถึงปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสารเมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ว่า ถ้าตรัสรู้แล้วก็จะทรงมาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จึงได้เสด็จดำเนินไปยังกรุงราชคฤห์กับหมู่ภิกษุขีณาสพชฏิลเก่า แล้วทรงแสดงธรรมถวายพระเจ้าพิมพิสารมหาราชซึ่งเสด็จดำเนินมาพร้อมกับบริษัทแสนสองหมื่นคนเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า
ในชนแสนสองหมื่นคนที่มาพร้อมกับพระราชาในครั้งนั้น หนึ่งหมื่นคนประกาศตนเป็นอุบาสก อีกหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคนพร้อมกับพระเจ้าพิมพิสาร ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล วิสาขอุบาสกนี้เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นซึ่งเป็นผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลในการเฝ้าครั้งแรกนั่นเอง
ในอีกวันหนึ่ง วิสาขอุบาสกก็ได้ฟังธรรมอีก ในครั้งนี้อุบาสกสำเร็จสกทาคามิผล แต่นั้นมาในภายหลังวันหนึ่ง เมื่อได้ฟังธรรมอีก จึงได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล ในวันที่วิสาขอุบาสกสำเร็จเป็นเป็นพระอนาคามีแล้ว เดินทางกลับบ้าน ก็ไม่ได้กลับมาเหมือนอย่างวันอื่น ที่เมื่อกลับมาก็มองนั่นดูนี่ หัวเราะยิ้มแย้มพลางเดินเข้ามา หากแต่กลายเป็นคนสงบกายสงบใจเดินเข้าบ้านไป
นางธรรมทินนาออกบวช
นางธรรมทินนาแง้มหน้าต่างพลางมองไปที่ถนนเห็นเหตุการณ์ในการมาของเขาแล้วก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านอุบาสก เมื่อนางออกมายืนที่หัวบันไดทำการต้อนรับเขาพลางก็เหยียดมือยื่นออกไปให้อุบาสกจับ อุบาสกกลับหดมือของตนเสีย. นางคิดว่าจะไปถามในเวลารับประทานอาหาร แต่ก่อนมาอุบาสกรับประทานพร้อมกันกับนาง แต่วันนั้นกลับไม่ยอมมองนาง ทำราวกะว่าเป็นโยคาวจรภิกษุ รับประทานคนเดียวเท่านั้น นางคิดว่าจะไปถามเวลานอน ในวันนั้นอุบาสกไม่ยอมเข้าห้องนอนนั้น กลับสั่งให้จัดห้องอื่นให้ตั้งเตียงน้อยที่สมควรแล้วนอน
อุบาสิกาคิดว่าตนคงกระทำความผิดอันใดไว้ อุบาสกจึงไม่ยอมพูดด้วย ไม่นอนร่วมห้องด้วย ก็เกิดความเสียใจอย่างแรง จึงเข้าไปหาท่านอุบาสกแล้วถามว่า ตัวนางเองมีความผิดอะไรหรือ ท่านอุบาสกจึงไม่ยอมถูกเนื้อต้องตัว ไม่ยอมพูดด้วย และ ไม่ยอมนอนร่วมห้องด้วย. วิสาขอุบาสกได้ยินนางถามดังนั้นก็คิดว่า "ชื่อว่าโลกุตตรธรรมนี้เป็นภาระหนักไม่พึงเปิดเผย แต่ถ้าเราไม่บอก ธรรมทินนานี้จะพึงหัวใจแตกตายในที่นี้เอง"
เพื่อที่จะอนุเคราะห์นาง ท่านเศรษฐีจึงบอกว่า "ธรรมทินนา ฉันได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วได้บรรลุโลกุตตรธรรม ผู้ได้บรรลุโลกุตตรธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่กระทำแบบโลกๆ อย่างที่เคยทำมาแต่ก่อน ถ้าเธอต้องการ ทรัพย์ทั้งหมดของฉัน ก็จงรับไป แล้วจงอยู่ดำรงตำแหน่งแม่ หรือตำแหน่งน้องสาวของฉันก็ได้ ฉันจะขอเลี้ยงชีพด้วยเพียงก้อนข้าวที่เธอให้ หรือเธอเอาทรัพย์เหล่านี้ไปแล้วกลับไปอยู่กับตระกูลของก็ได้ หรือถ้าเธอต้องการมีสามีใหม่ ฉันก็จะตั้งเธอไว้ในตำแหน่งน้องสาว หรือตำแหน่งลูกสาวแล้วยกเธอให้กับชายนั้นแล้วเลี้ยงดู"
นางคิดว่า "ผู้ชายปกติ จะไม่มีใครพูดอย่างนี้ เขาคงแทงทะลุโลกุตตรธรรมเป็นแน่ ก็ผู้ชายเท่านั้นหรือที่พึงแทงทะลุธรรมนั้นได้ หรือแม้เป็นผู้หญิงก็สามารถแทงทะลุได้" จึงพูดกับวิสาขะว่า "ธรรมนั้นผู้ชายเท่านั้นหรือหนอที่พึงได้ หรือแม้เป็นผู้หญิงก็สามารถบรรลุได้ด้วย"
ท่านอุบาสกตอบว่า "พูดอะไร ธรรมทินนา ผู้ที่เป็นนักปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นทายาทของธรรมนั้น ผู้ที่มีอุปนิสัยก็ย่อมได้รับธรรมนั้น" นางธรรมทินนา "เมื่อเป็นอย่างนั้น ขอให้ท่านยินยอมให้ดิฉันบวชเถิด" วิสาขอุบาสก "ดีแล้วที่รัก ฉันเองก็อยากจะแนะนำในทางนี้เหมือนกัน แต่ยังไม่รู้ใจเธอจึงไม่พูด"
แล้ววิสาขอุบาสกจึงให้นางธรรมทินนาอาบน้ำหอม ให้ประดับประดาด้วยเครื่องสำอางทุกอย่าง ให้นั่งบนวอทอง แวดล้อมด้วยหมู่ญาติ บูชาด้วยดอกไม้หอมเป็นต้น พาไปสู่สำนักภิกษุณีแล้วเรียนว่า "ขอให้นางธรรมทินนาบวชเถิด แม่เจ้า"
พวกภิกษุณีคิดว่าท่านเศรษฐีจะลงโทษภรรยาที่กระทำความผิดโดยการให้ออกบวชจึงพูดว่า" คฤหบดี กับความผิดอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง ท่านก็ควรจะอดทนได้" วิสาขะจึงเรียนว่า "ไม่มีความผิดอะไรหรอก แม่เจ้า เธอบวชด้วยศรัทธา" ลำดับนั้น ภิกษุณีผู้สามารถรูปหนึ่ง จึงบอกกัมมัฏฐานหมวดห้าแห่งหนัง ให้โกนผมแล้วให้บวช. วิสาขะพูดว่า "แม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมไว้ดีแล้ว ท่านจงยินดีเถิด" ไหว้แล้วหลีกไป
นางธรรมทินนาบรรลุพระอรหัต
ตั้งแต่วันที่นางบวชแล้ว ลาภสักการะก็เกิดขึ้น เพราะเหตุนั้นนางจึงยุ่งจนหาโอกาสทำสมณธรรมไม่ได้ ทีนั้น พวกพระเถรีที่เป็นอาจารย์และอุปัชฌาย์จึงพานางไปบ้านนอก แล้วก็ให้เรียนกัมมัฏฐานตามชอบใจในอารมณ์สามสิบแปดอย่างเริ่มทำสมณธรรม สำหรับนางลำบากไม่นานเพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพแห่งความปรารถนาที่กระทำไว้เมื่อครั้งพระศาสดาทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติในโลก ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนานั้น นางจึงไม่เหนื่อยมาก สองสามวันเท่านั้นเองก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระธัมมทินนาเถรีคิดว่าใจของเราหมดกิเลสแล้ว บัดนี้เราจักอยู่ทำอะไรในที่นี้ เราจักไปกรุงราชคฤห์ถวายบังคมพระศาสดา และพวกญาติของเราเป็นจำนวนมากจักกระทำบุญ พระเถรีจึงกลับมากรุงราชคฤห์กับภิกษุณีทั้งหลาย
วิสาขอุบาสกทดสอบพระเถรี
วิสาขะได้ฟังว่านางธรรมทินนากลับมาจึงคิดว่า นางบวชแล้วไปบ้านนอกยังไม่นานเลย ก็กลับมา นางคงจะยังยินดีอยู่ในโลกีย์วิสัยละมัง แล้วก็ได้ไปสำนักนางภิกษุณี ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วจึงคิดว่าจะ ถามถึงเรื่องที่ตนสงสัยก็เห็นจะไม่สมควร จึงถามปัญหาด้วยอำนาจปัญจขันธ์ เป็นต้น.
พระธรรมทินนาเถรีก็วิสัชนาปัญหาที่วิสาขอุบาสกถามแล้ว เหมือนเอาพระขรรค์ตัดก้านบัวฉะนั้น
อุบาสกรู้ว่า พระธรรมทินนาเถรี มีญาณกล้า จึงถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อย พระเถรีก็เฉลยปัญหาเหล่านั้นโดยลำดับ จนในที่สุด อุบาสกถามโดยอาการทุกอย่างในอนาคามีมรรคตามลำดับ ในฐานะที่ตนบรรลุแล้ว ทั้งยังถามปัญหาในอรหัตมรรค ซึ่งเป็นการถามตามที่ได้เล่าเรียนมา เพราะตนยังไม่บรรลุถึงขั้นนั้น. พระธรรมทินนาเถรีก็รู้ว่า อุบาสกมีวิสัยเพียงอนาคามิผล เท่านั้น คิดว่า บัดนี้ อุบาสกถามเกินวิสัยของตนไป จึงทำให้อุบาสกนั้นกลับโดยกล่าวว่า ท่านวิสาขะ ท่านยังไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลายได้ ท่านวิสาขะ ถ้าท่านยังจำนงหวังพรหมจรรย์ที่หยั่งลงสู่พระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด ท่านวิสาขะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามความข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์อย่างไร ก็พึงทรงจำไว้อย่างนั้น
ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้เป็นธรรมกถึก
วิสาขอุบาสกกราบทูลนัยแห่งคำถามและคำตอบทั้งหมดแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงสรรเสริญพระเถรีนั้นด้วยพระพุทธพจน์ว่า วิสาขะ ภิกษุณีธัมมทินนาเป็นบัณฑิตเป็นต้น ทรงประกาศการพยากรณ์ปัญหาเทียบกับพระสัพพัญญุตญาณ ทรงทำจูฬเวทัลลสูตรนั้นแลให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ทรงตั้งพระธัมมทินนาเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเลิศของภิกษุณีผู้เป็นธรรมกถึก ผู้เป็นปราชญ์อธิบายตอบธรรมได้ฉาดฉาน
ที่มา : http://www.dhammajak.net
0 comments: