วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓)

๑๒. ก็ในสมัยนั้นแล ท่านพระโรหณะกำลังนั่งอยู่ที่เสนาสนะวัตตนิยะ กำหนดรู้ปริวิตกแห่งจิตของนาคเสนเด็กน้อย ด้วยจิตแล้วก็นุ่งห่มถือบาตรและจีวร อันตรธานหายตัวที่เสนาสนะวัตตนิยะ ไปปรากฏตัวเบื้องหน้าหมู่บ้านคชังคลพราหมณ์ นาคเสนเด็กน้อย ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูของตน ก็ได้เห็นท่านพระโรหณะผู้เดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วก็พอใจ ดีใจ บันเทิงใจเกิดปีติโสมนัส ว่า “ท่านผู้นี้เป็นบรรพชิต ถ้ากระไรก็พึงรู้สิ่งที่เป็นสาระบ้างเป็นแน่” ดังนี้แล้วก็เข้าไปหาท่านพระโรหณะจนถึงที่ ครั้นเข้าไปแล้วก็ได้กล่าวความข้อนั้นกับท่านพระโรหณะว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ บุคคลผู้มีศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เช่นท่านนี้ ชื่อว่าเป็นใครเล่า” พระเถระตอบว่า “นี่แน่ะ เด็กน้อย เราชื่อว่าเป็นบรรพชิต” นาคเสน “ท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไรท่านจึงชื่อว่าเป็นบรรพชิตเล่า” พระเถระ “เพราะขับไล่มลทินที่ชั่วช้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้นนะเด็กน้อย เราจึงชื่อว่าเป็นบรรพชิต” นาคเสน “ท่านผู้นิรทุกข์เพราะเหตุไรผม (และหนวด) ของท่านจึงไม่เป็นอย่างคนอื่น” พระเถระ “นี่แน่ะ เด็กน้อย บรรพชิตเห็นปลิโพธ (เหตุกังวลใจ) ๑๖ อย่าง จึงปลงผมและหนวดเสีย บริโภค ๑๖ อย่างอะไรบ้าง อลังการปลิโพธ ปลิโพธคือเครื่องประดับ ๑ มัณฑนปลิโพธ ปริโภคคือการแต่งทรง ๑ เตลมักขนปลิโพธ ปลิโพธคือน้ำมันทาผม ๑ โธวนปลิโพธ ปลิโพธคือการสระล้าง ๑ มาลาปลิโพธ ปลิโพธคือพวงดอกไม้ ๑ คันธปลิโพธ ปริโพธคือของหอม ๑ วาสนปลิโพธ ปลิโพธคือการอบ ๑ หรีฏกปลิโพธ ปริโภคคือผลสมอ ๑ อามลกปลิโพธ ปลิโพธคือผลมะขามป้อม ๑ รังคปลิโพธ ปริโพธคือสีย้อม ๑ พันธนปลิโพธ ปลิโพธคือผ้าโพก ๑ โกจฉปลิโพธ ปลิโพธคือหวี ๑ กัปปกปลิโพธ ปริโพธคือช่างตัดผม ช่างสระผม ๑ วิชฏนปริโภคบริโภคคือการหวี ๑ อูกาปริโพธ ปลิโพธคือเหา ๑ เมื่อผมเสียหายไปคนทั้งหลายก็เศร้าโศก เดือดร้อนใจ คร่ำครวญ ตีอก ร้องไห้ ถึงความลุ่มหลง ๑ นี่แน่ะ เด็กน้อย คนทั้งหลายผู้วุ่นวายใจในปริโพธ อย่างเหล่านี้ ย่อมทำวิชาศิลปะทั้งหลายทั้งปวงให้เสียหายไป” นาคเสน “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร แม้ผ้าผ่อนของท่านก็ไม่เหมือนอย่างคนอื่นเขาเล่า ?” พระเถระ “เด็กน้อย ผ้าทั้งหลายตามอาศัยได้ สิ่งของเครื่องใช้ของพวกคฤหัสถ์กามอาศัยได้ ภัยทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เกิดขึ้นได้จากผ้า ภัยเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะฉะนั้น แม้ผ้าผ่อนของเราก็ไม่เหมือนอย่างคนอื่น” นาคเสน “ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านรู้วิชาศิลปะหรือ ?” พระเถระ “เออ เด็กน้อย เรารู้วิชาศิลปะ ในโลกมีมนต์ที่สูงสุดอันใดอยู่ แม้นมนต์นั้นเราก็รู้” นาคเสน “ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอาจมอบมนต์นั้นให้กระผมได้หรือไม่ ?” พระเถระ “เออ เด็กน้อย เราอาจมอบให้เธอได้” นาคเสน “ถ้าอย่างนั้น ก็ขอจงมอบให้กับผมเถิด” พระเถระ “ยังเป็นเวลาที่ไม่สมควร เด็กน้อย เรากำลังเข้าไปตามลำดับเรือน เพื่อบิณฑบาตอยู่”

ลำดับนั้นแล นาคเสนเด็กน้อยรับเอาบาตรจากมือของท่านพระโรหณะมา นิมนต์ท่านให้เข้าไปยังเรือน เลี้ยงดูท่านให้อิ่ม ให้เพียงพอ ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน กล่าวกับท่านพระโรหณเผู้ฉันเสร็จ วางมือจากบาตร ว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ บัดนี้ ขอท่านจงมอบมนต์แก่กระผมเถิด” พระเถระ “เราจะมอบให้ในเวลาที่เธอจะเป็นผู้ไม่มีปลิโพธ มารดาและบิดาอนุญาตให้ถือเพศบรรพชิตที่เราถืออยู่”

ครั้งนั้นแล นาคเสนเด็กน้อย ได้เข้าไปหามารดาบิดากล่าวว่า “แม่ พ่อ นักบวชท่านนี้กล่าวว่า ในโลกมีมนต์ที่สูงสุดอันใดอยู่ แม้มนต์นั้นเราก็รู้” แต่ท่านจะไม่ให้มนต์แก่ผู้ที่ไม่ใช่นักบวชในสำนักของท่าน ฉันจะบวชในสำนักของท่านผู้นี้เรียนมนต์ที่สูงสุดละ” ลำดับนั้น มารดาบิดาของเขาเมื่อสำคัญอยู่ว่า “ลูกของเราแม้จะบวชแล้วถือเอามนต์ เราก็ยังพากลับมาได้อีก” ดังนี้ จึงอนุญาตว่า “ขอจงถือเพศบรรพชิตเถิด”

๑๓. ครั้งนั้นแล ท่านพระโรหณะได้พานาคเสนเด็กน้อยเข้าไปยังเสนาสนะวัตตนิยะ (เสนาสนะใกล้ทางเดิน ?) เข้าไปยังวิชัมภวัตถุวิหาร ครั้นเข้าไปแล้ว ก็อยู่ที่เสนาสนะวิชัมภวัตถุวิหารได้คืนหนึ่งก็เข้าไปที่รักขิตตลวิหาร ครั้นเข้าไปแล้วก็ให้ นาคเสนเด็กน้อยได้บวชท่ามกลางพระอรหัง ๑๐๐ โกฏิ ก็ท่านพระนาคเสนบวชแล้วก็กล่าวกับท่านพระโรหณะว่า ” ท่านผู้เจริญ กระผมได้ถือเพศของท่านแล้ว บัดนี้ขอจงมอบมนต์แก่กระผมเถิด” ลำดับนั้นแล พระโรหณะคิดว่า “เราพึงแนะนำพระนาคเสนในอะไรก่อนดี ในพระวินัย หรือว่าพระสูตร หรือว่าพระอภิธรรม” ดังนี้แล้ว ครั้นพอเห็นว่าพระนาคเสนนี้เป็นบัณฑิต เรียนพระอภิธรรมได้โดยง่ายเทียวดังนี้ ก็แนะนำในพระอภิธรรมก่อน

ก็อภิธรรมปิฎกทั้งหมดคือ ธัมมสังคณีปกรณ์ที่ประดับด้วยติกะและทุกะอย่างนี้ว่า “กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา” เป็นต้น วิภังค์ปกรณ์ที่ประดับด้วยวิภังค์ ๑๘ มีขันธวิภังค์เป็นต้น ธาตุกถาปกรณ์ที่จำแนกไว้โดย ๑๔ ประการ มีว่า “สังคโห อสังคโห” เป็นต้น ปุคคลบัญญัติปกรณ์ ที่จำแนกไว้โดย ๖ ประการมีว่า “ขันธบัญญัตติ อายตนบัญญัตติ” เป็นต้น กถาวัตถุปกรณ์ที่ประมวลจำแนกไว้ถึง ๑,๐๐๐ สูตร คือสกวาทะ (วาทะฝ่ายตน) ๕๐๐ สูตร ปรวาทะ (วาทะฝ่ายอื่น) ๕๐๐ สูตร ยมกปกรณ์ที่จำแนกไว้โดย ๑๐ ประการ คือ “มูลยมก ขันธยมก” เป็นต้น ปัฏฐานปกรณ์ที่จำแนกไว้โดย ๒๔ ประการ คือ “เหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย” เป็นต้น ดังนี้ นั้นท่านพระนาคเสนทำให้คล่องแคล่วได้โดยการสาธยายเพียงคราวเดียวเท่านั้น แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ขอจงหยุดไว้ก่อนเถิด อย่าได้บอกต่ออีก กระผมจะขอสาธยายเพียงเท่านี้ก่อน” ดังนี้

๑๔. ครั้งนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้เข้าไปหาพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ โกฏิ ที่ท่านเหล่านั้นพำนักอยู่ ครั้นเข้าไปแล้วก็ได้กล่าวกับพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กระผมจะขอบรรยายพระอภิธรรมปิฎกทั้งปวงที่บรรจุไว้ใน ๓ บทเหล่านี้ ที่ว่า ‘กุสลา ธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตา ธัมมา’ ดังนี้นั้น โดยพิสดาร “พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ กล่าวว่า “ขอจงบรรยายเถิดท่านนาคเสน”

ต่อจากนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้บรรยายปกรณ์ ๗ โดยพิสดารไปตลอด ๗ เดือน (จึงจบ) แผ่นดินบันลือลั่น เทวดาทั้งหลายให้สาธุการ พรหมทั้งหลายก็ปรบมือ ผงจันทร์ที่เป็นทิพย์และดอกมณฑารพที่เป็นทิพย์ก็โปรยปรายลงมา

๑๕. ต่อมาแล พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้ท่านพระนาคเสน ผู้มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบทที่รักขิตตลวิหาร ก็เมื่อราตรีนั้นนั่นแหละ ล่วงไป ในสมัยใกล้รุ่ง ท่านพระนาคเสนผู้อุปสมบทแล้วนุ่งห่ม ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตพร้อมกับพระอุปัชฌาย์ ได้เกิดความคิดเห็นปานฉะนี้ขึ้นมาว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราเป็นคนเหลวเปล่าหรือไม่หนอ พระอุปัชฌาย์ของเราเป็นคนโง่หรือไม่หนอ ข้อที่ท่านแนะนำเราก่อนเฉพาะในพระอภิธรรม ยกเว้นพระพุทธพจน์ที่เหลือ (คือพระวินัยและพระสูตร)”

ลำดับนั้นแล ท่านพระโรหณะทราบความคิดในใจของท่านพระนาคเสนด้วยใจแล้ว จึงกล่าวกับท่านพระนาคเสนว่า “นี่แน่ะ นาคเสน เธอคิดถึงเรื่องที่ไม่สมควรคิด ความคิดของเธอนี้ ไม่สมควรเลยนะ นาคเสน” ดังนี้

ลำดับนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้เกิดความคิดข้อนี้ขึ้นมาว่า “น่าอัศจรรย์จริงหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย น่าแปลกจริงหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ในการที่พระอุปัชฌาย์ของเราจะทราบความคิดในใจ ด้วยใจได้ พระอุปัชฌาย์ของเราเป็นบัณฑิตหนอ ไฉนเราจึงอาจขอให้พระอุปัชฌาย์อดโทษให้” ดังนี้ ดำลำดับนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้กล่าวกับท่านพระโรหณะ ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านขอท่านจงอดโทษเถิด ผมจะไม่คิดเรื่องเห็นปานฉะนี้อีก” ดังนี้

ครั้งนั้นแล ท่านพระโรหณะได้กล่าวกับท่านพระนาคเสน ว่า “นี่แน่ะ นาคเสน ฉันไม่อดโทษให้เธอ ด้วยเหตุเพียงว่าเธอมาขอขมานี้หรอก นี่แน่ะ นาคเสน มีเมืองหนึ่งชื่อว่า สาคล พระราชานามว่า มิลินท์ ท่านครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองนั้น พระราชาองค์นั้น ทรงใช้ทิฏฐิวาทะถามปัญหาข่มเหงพระภิกษุสงฆ์ ถ้าหากว่าเธอไปที่เมืองนั้น ทรมานพระราชาพระองค์นั้น ทำให้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้แล้วไซร้ อย่างนี้แล้วฉันจึงจะอดโทษเธอ” ดังนี้

พระนาคเสน กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเจ้ามิลินท์พระองค์เดียวจงยกไว้เถิด ท่านผู้เจริญ ถ้าหากว่าพระราชาทุกพระองค์ในชมพูทวีปทั้งสิ้น จะเพิ่งเสด็จมาถามปัญหากับกระผม ถ้าผมจะถวายวิสัชชนาทำลายปัญหานั้นให้หมด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอจงอดโทษแก่กระผมเถิด” ดังนี้แล้ว เมื่อท่านพระโรหณะยังคงกล่าวว่า “เราไม่อดโทษให้หรอก” ดังนี้ จึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ตลอดไตรมาสนี้ กระผมจะอยู่ในสำนักของใคร ?” นี่แน่ะ นาคเสน ท่านพระอัสสคุตนี้ อยู่ที่เสนาสนะวัตตนิยะ เธอจงเข้าไปหาท่านพระอัสสคุตนี้ ณ ที่ท่านพำนักอยู่เถิด ครั้นเข้าไปแล้วก็จงกราบที่เท้าของท่านพระอัสสคุตด้วยเศียรเกล้า และจงกล่าวกับท่านตามคำขอของฉันอย่างนี้ ว่า “ข้าแต่ผู้เจริญ พระอุปัชฌาย์ของกระผมขอกราบเท้าของท่านด้วยเศียรเกล้า ขอถามถึงความเป็นผู้มี อาพาธน้อย มีโรคน้อย ความคล่องแคล่วมีกำลัง ความอยู่ผาสุกของท่านด้วย ท่านผู้เจริญ พระอุปัชฌาย์ของกระผมส่งกระผมมาอยู่ในสำนักของท่านตลอดไตรมาสนี้ ดังนี้เถิด และเมื่อท่านถามว่า อุปัชฌาย์ของเธอชื่อไร ก็ตอบท่านว่า ชื่อว่าพระโรหณะ ท่านผู้เจริญ เมื่อท่านถามว่าฉันล่ะชื่อไร ก็ควรตอบท่านอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ พระอุปัชฌาย์ของกระผมย่อมรู้จักชื่อของท่าน ดังนี้เถิด” ท่านพระนาคเสน รับฟังคำของพระอุปัชฌาย์ ว่า “เอวํ ภนฺเต” ดังนี้แล้ว ก็กราบไหว้ท่านโรหณะ กระทําประทักษิณ ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปตามลำดับ ได้เข้าไปทางที่เสนาสนะวัตตนิยะตั้งอยู่ ได้เข้าไปหาท่านพระอัสสคุต แล้วไปยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ท่านพระนาคเสนขณะยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง แล ได้กล่าวกับท่านพระอัสสคุต ว่า “ท่านผู้เจริญ พระอุปัชฌาย์ของกระผมขอกราบเท้าของท่านด้วยเศียรเกล้า ขอถามถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีความคล่องแคล่ว มีกำลัง ความอยู่ผาสุกของท่านด้วย ข้าแต่ผู้เจริญ พระอุปัชฌาย์ของกระผมส่งผมมาอยู่ในสำนักของท่านตลอดไตรมาสนี้” ดังนี้

ลำดับนั้นแล ท่านพระอัสสคุตได้กล่าวกับท่านพระนาคเสน ว่า “เธอชื่อไร” “ท่านผู้เจริญกระผมชื่อนาคเสน” “อุปัชฌาย์ของเธอชื่อไร” “ท่านผู้เจริญ พระอุปัชฌาย์ของกับผมชื่อโรหณะ” “ฉันล่ะชื่อไร” “ท่านผู้เจริญพระอุปัชฌาย์ของกระผม ย่อมรู้จักชื่อของท่าน”

ท่านพระอัสสคุต “ดีละ ท่านนาคเสน จงเก็บบาตรและจีวรเสียเถิด” “ขอรับกระผม” ท่านพระนาคเสนเก็บบาตรและจีวรแล้วก็ไปปัดกวาดบริเวณ ตั้งน้ำล้างหน้า ไม้ชำระฟันไว้ ฝ่ายพระเถระก็ยังคงปัดกวาดบริเวณที่ท่านพระนาคเสนปัดกวาดไว้แล้ว เททิ้งน้ำนั้นเสีย นำน้ำอื่นมา และเอาไม้ชำระฟันอันนั้นออกไป ถือเอาไม้ชำระฟันอันอื่น ไม่ได้ทำการพูดจาสนทนาด้วย พระเถระทำอย่างนี้ตลอด ๗ วันในวันที่ ๗ จึงถามอีก เมื่อพระนาคเสนตอบอย่างนั้นนั่นแหละอีก ท่านจึงอนุญาตให้อยู่จำพรรษาได้

๑๖. ก็ในสมันสมัยนั้นแล มีมหาอุบาสิกาผู้หนึ่งคอยอุปัฏฐบำรุงท่านพระอัสสคุตมาตลอด ๓๐ ปีเต็ม ครั้งนั้นแล มหาอุบาสิกาผู้นั้นได้เข้าไปหาท่านพระอัสสคุต ณ ที่ท่านพำนักอยู่ ครั้งเข้าไปแล้วก็ได้กล่าวกับท่านพระอัสสคุตว่า “หลวงพ่อ ในสำนักของท่านนี้มีพระภิกษุรูปอื่นหรือไม่” “มีมหาอุบาสิกา ในสำนักของอาตมามีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระนาคเสน” “หลวงพ่ออัสสคุต ถ้าอย่างนั้น ขอท่านพร้อมทั้งท่านนาคเสนจงรับภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด” ท่านพระอัสสคุตยอมรับนิมนต์โดยดุษณี

ต่อจากนั้นแล เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว ในสมัยใกล้กรุงใกล้รุ่ง ท่านพระอัสสคุต ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังสถานที่อยู่ของมหาอุบาสิกา พร้อมกับท่านพระนาคเสนผู้เป็นปัจฉาสมณะ (พระเดินตามหลัง , พระติดตาม) ครั้นเข้าไปแล้วก็นั่งลงบนอาสนะที่เขาเตรียมไว้ ลำดับนั้นแล มหาอุบาสิกาผู้นั้นได้เลี้ยงดูท่านพระอัสสคุต และท่านพระนาคเสนให้อิ่ม ให้เพียงพอด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน ต่อจากนั้นแล ท่านพระอัสสคุตได้กล่าวกับท่านพระนาคเสนผู้ฉันเสร็จแล้ว ปลงมือจากบาตรแล้วว่า “นี่แน่ะ ท่านนาคเกษม ขอจงทำการอนุโมทนาแก่มหาอุบาสิกาเถิด” กล่าวคำนี้แล้วก็ลุกจากอาสนะหลีกไป

ลำดับนั้นแล มหาอุบาสิกาผู้นั้นได้กล่าวกับท่านพระนาคเสนว่า “หลวงพ่อนาคเสน โยมแก่แล้ว โปรดทำการอนุโมทนาแก่โยมด้วยธรรมคาถาที่ลึกซึ้ง เถิด” ต่อจากนั้น ท่านพระนาคเสนจึงได้ทำการอนุโมทนาแก่มหาอุบาสิกาผู้นั้น ด้วยธรรมกถาที่ลึกซึ้ง เป็นโลกุตระ เกี่ยวข้องกับสุญญตา ครั้งนั้นแล ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม คือโสดาปฏิมรรคญาณ) อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ก็ได้เกิดแกมหาอุบาสิกาผู้นั้น บนอาสนะนั่นนั้นนั่นเทียว ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ดังนี้ แม้ท่านพระนาคเสน พอทำการอนุโมทนาแก่มหาอุบาสิกาแล้ว ก็พิจารณาธรรมที่ตนเองแสดงไป นั่งวิปัสสนาได้แล้ว ยังคงนั่งอยู่บนอาสนะนั้นนั่นแหละ ก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล

ครั้งนั้น ท่านพระอัสสคุต นั่งอยู่ที่โรงกลม ทราบว่าบุคคลทั้ง ๒ ได้ธรรมจักษุแล้ว ก็กล่าวคำสาธุการว่า “ดีจริงๆ นาคเสน ด้วยการใช้ลูกศรประหารคราวเดียวกัน เธอก็ทำลายกิเลสหมู่ใหญ่ ๒ ฝ่ายได้” ดังนี้ ทั้งเทวดาจำนวนหลายพันก็ได้กล่าวคำสาธุการ

๑๗. ต่อจากนั้น ท่านพระนาคเสนลุกจากอาสนะ เข้าไปหาท่านอัสสคุต ณ ที่ท่านพำนักอยู่ ครั้นเข้าไปแล้วก็กราบไหว้ท่านพระอัสสคุต แล้วนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ท่านพระอัสสคุตได้กล่าวกับท่านพระนาคเสนผู้นั่งลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว ว่า “นี่แน่ะ นาคเสน ขอเธอจงไปยังเมืองปาฏลีบุตร ท่านพระธัมมรักขิตอาศัยอยู่ที่วัดอโศการาม ใกล้เมืองปาฏลีบุตร เธอจงเรียนพระพุทธพจน์ในสำนักของท่านพระธัมมรักขิตนั้นเถิด” ดังนี้ ท่านพระนาคเสนถามว่า ท่านผู้เจริญเมืองปาฏลีบุตร อยู่ไกลจากนี้ไปสักเท่าไหร่ขอรับ” หลายร้อยโยชน์แล นาคเสน” “ท่านผู้เจริญ หนทางก็ไกล ในระหว่างทางภิกษาหารก็หายาก กระผมจะไปได้อย่างไร” เธอจงไปเถิด นาคเสน ในระหว่างทางเธอจะได้บิณฑบาตข้าวสาลีสุกที่ปราศจากกาก และแกงมากมาย กับมากมาย” ท่านพระนาคเสนรับคำว่า “ขอรับกับผม” แล้วก็กราบไหว้ท่านพระอัสสคุต กระทำประทักษิณ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไป ทางที่เมืองปาฏลีบุตร ตั้งอยู่

๑๘. ก็สมัยนั้นแล เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตรคนหนึ่ง กำลังเดินทางไปเมืองปาฏลีบุตรพร้อมกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตรก็ได้เห็นท่านพระนาคเสน ผู้กำลังเดินมาแต่ไกล พอเห็นแล้วก็ได้เข้าไปหาท่านพระนาคเสน เข้าไปถึงแล้วก็กราบไหว้ท่านพระนาคเสน ถามว่า “หลวงพ่อจะไปไหน” ท่านพระนาคเสน “ท่านคฤหบดี อาตมาภาพจะไปเมืองปาฏลีบุตร” “ดีจริง หลวงพ่อ แม้พวกเราก็จะไปเมืองปาฏลีบุตร ขอท่านจงไปพร้อมกับพวกเราเถิด”

ครั้งนั้นแล เศรษฐีเมืองปาฏลีบุตร เลื่อมใสในอิริยาบถของท่านพระนาคเสน จึงเลี้ยงดูพระนาคเสนให้อิ่ม ให้เพียงพอด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน ถือเอาอาสนะที่หนึ่ง ซึ่งเตี้ยกว่า ไปนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระนาคเสนผู้ฉันเสร็จแล้ว ปรงมือจากบาตรแล้ว ว่า “หลวงพ่อท่านชื่อไร” “ท่านคือคฤหบดี อาตมาภาพชื่อว่า นาคเสน” “หลวงพ่อ ท่านรู้พระพุทธพจน์หรือไม่” “อาตมภาพรู้บทพระอภิธรรม ท่านคฤหบดี” “หลวงพ่อ เป็นลาภของพวกเราหนอ พวกเราได้ดีแล้วหนอ ที่ว่าแม้โยมก็เป็นนักเรียนพระอภิธรรม แม้ท่านก็เป็นนักเรียนพระอภิธรรม หลวงพ่อ ขอท่านจงพูดถึงบทพระอภิธรรมเถิด” ครั้งนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้แสดงพระอภิธรรมแก่เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตร เมื่อท่านยังแสดงอยู่นั่นเทียว เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตรก็ได้เกิดธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” ดังนี้

ลำดับนั้นแล เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตรส่งเกวียน ๕๐๐ เล่มไปข้างหน้าก่อนแล้วตนเองเดินไปเบื้องหลัง หยุดยืนที่ทางสองแพร่ง กล่าวกับท่านพระนาคเสน ว่า “หลวงพ่อ นี่คือเส้นทางไปวัดอโสการาม หลวงพ่อ นี้คือผ้ากัมพลแดงยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ขอจงอนุเคราะห์รับผ้ากัมพลแดงผืนนี้เถิด หลวงพ่อ” ท่านพระนาคเสนได้อนุเคราะห์รับผ้ากัมพลแดงผืนนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เศรษฐีชาวเมืองปาฏลีบุตรก็พอใจ ดีใจ บันเทิง เกิดปีติโสมนัส กราบไหว้ท่านพระนาคเสน กระทำประทักษิณ หลีกไป

๑๙. ครั้งนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้เข้าไปหาท่านพระธัมมรักขิตที่วัดอโสการาม เข้าไปถึงแล้วก็กราบไหว้ท่านพระธัมมรักขิต บอกถึงเหตุผลที่ตนมา แล้วก็เรียนพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกในสำนักของท่านพระธัมมรักขิต ใช้เวลา ๓ เดือนเรียนจบโดยพยัญชนะ โดยการแสดงเพียงคราวเดียวเท่านั้น ใช้เวลาอีก ๓ เดือนทำไว้ในใจโดยอรรถ (ใส่ใจอรรถ)

ต่อจากนั้น ท่านพระธัมมรักขีต ได้กล่าวกับท่านพระนาคเสน ว่า “นี่แน่ะนาคเสน คนเลี้ยงโคก็ได้แต่รักษาโค แต่คนอื่น (คือเจ้าของโค) กลับได้บริโภคโครส แม้ฉันใด นาคเสนด้วยตัวเธอ แม้นทรงจำพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกได้ ก็หาเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญญผลไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน” ดังนี้ พระนาคเสน “ท่านผู้เจริญ พอทีละ ด้วยการเรียนพระไตรปิฎกเพียงเท่านี้” ท่านใช้เวลาตอนกลางวัน (ที่เหลืออยู่) วันนั้นนั่นแหละ ใช้เวลาตอนกลางคืน คืนนั้นนั่นแหละ (ปฏิบัติไป) ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา พร้อมกับการแทงตลอดสัจจะ เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ก็ได้ให้สาธุการแก่ท่านพระนาคเสน แผ่นดินก็บันลือลั่น พวกพรหมก็ปรบมือ ผงจันทร์อันเป็นทิพย์ และดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็โปรยลงมา

คำอธิบาย รส คือสมบัติที่เกิดจากโคที่พึงได้จากโคมีนมสดเป็นต้นเรียกว่า โครส

คำว่า สามัญญผล ได้แก่ผลแห่งสัมณภาวะ ๔ อย่างคือ โสดาปัตติผล ๑ สกทาคามิผล ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตผล ๑

คำว่า ปฏิสัมภิทา ได้แก่ปัญญาที่รู้แตกฉาน มี ๔ อย่างเรียกว่าปฏิสัมภิทา ๔ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาที่รู้แตกฉานในอรรถคือในผลที่เกิดขึ้นจากเหตุ ๑ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาที่รู้แตกฉานในธรรมคือในเหตุที่ทำผลให้เกิดขึ้น ๑ นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาที่รู้แตกฉานในนิรุตติคือภาษา โดยเฉพาะในภาษามคธ อันเป็นมูลภาษาของสัตว์ทั้งหลาย ๑ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญารู้แตกฉานในปัจจุบันคือในความแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอารมณ์ที่ปฏิสัมภิทา ๓ อย่างข้างต้นรู้อยู่ และเกี่ยวกับกิจแห่งปฏิสัมพิทา ๓ อย่างขั้นต้นนั้นนั่นแหละ ๑

๒๐. ก็ในสมัยนั้นแล พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ประชุมกันที่รักขีตตวิหารบนภูเขาหิมพานต์แล้วก็ได้ส่งทูต (ตัวแทน) ไปที่สำนักของท่านพระนาคเสน บอกว่า “พระนาคเสนจงมา พวกเราต้องการพบพระนาคเสน” ดังนี้ ลำดับนั้น ท่านพระนาคเสนได้ฟังคำพูดของทูต แล้วก็อันตรธานหายตัวที่วัดอโสการามไปปรากฏที่รักขิตตลวิหาร บนภูเขาหิมพานต์ เบื้องหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ

ครั้งนั้น พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ได้กล่าวกับท่านพระนาคเสน ว่า “ท่านพระนาคเสน พระเจ้ามิลินท์พระองค์นี้ ข่มเหงภิกษุสงฆ์ ด้วยการใช้วาทะโต้วาที ถามปัญหา ได้โปรดเถิดท่านนาคเสน ขอท่านจงไปทรมานพระเจ้ามิลินท์เถิด” ดังนี้ พระนาคเสน “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระเจ้ามิลินท์พระองค์เดียวขอจงยกไว้เถิด ถ้าหากว่าพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น เพิ่งเสด็จมาถามปัญหากับกระผม กระผม ก็จะแก้ปัญหานั้นทำลายเสียให้หมด ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านจงไปสู่เมืองสาคล อย่าได้กลัวไปเลย” ลำดับนั้นแล พระภิกษุเถระทั้งหลาย ได้ทำเมืองสาคลให้รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ให้มีลมพัดตลบไปด้วยลมแห่งฤาษี

๒๑. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอายุปาละ อาศัยอยู่ที่สังไขยบริเวณ ดังนั้นพระเจ้ามิลินท์รับสั่งกับอำมาตย์ทั้งหลาย ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ราตรีแจ่มกระจ่างน่ารื่นรมย์จริงหนอ วันนี้เราเพิ่งเข้าไปเพื่อสนทนา ถามปัญหากับสมณะหรือพราหมณ์ท่านใดได้หนอ ใครหนอ อาจสนทนากับเรา เพื่อบรรเทาความสงสัยได้” ดังนี้ เมื่อรับสั่งอย่างนี้แล้ว พวกข้าหลวงโยนกประมาณ ๕๐๐ ก็ได้กราบทูลความข้อนั้นกับพระเจ้ามิลินท์ว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า มีพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อว่าพระอายุปาละ ทรงพระไตรปิฎก เป็นพหูสูต บรรลุอาคม (ชำนาญปริยัติ) เวลานี้ ท่านอาศัยอยู่ที่สังไขยบริเวณ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงเสด็จไปถามปัญหากับท่านพระอายุปาละเถิด พระเจ้าข้า” ดังนี้ พระราชา “ถ้าอย่างนั้นนะ พนายพวกเธอจงไปแจ้งพระคุณเจ้าเถิด” ดังนี้

ครั้งนั้นแล เนมิตติอำมาตย์ ได้ส่งตัวแทนไปที่สำนักของท่านอายุปาละ เรียนท่านว่า “ท่านผู้เจริญ พระเจ้ามิลินท์ มีพระประสงค์จะพบท่านอายุปาละ” แม้ท่านพระอายุปาละ ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็ขอพระราชาจงเสด็จมาเถิด” ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ผู้อันข้าหลวงโยนกประมาณ ๕๐๐ คน แวดล้อมแล้ว ได้เสด็จขึ้นรถทรงอันประเสริฐ เข้าไปยังสังไขยบริเวณ ที่ท่านพระอายุปาละพำนักอยู่ ครั้งเสด็จเข้าไปแล้ว ก็ได้ตรัสสัมโมทนียกถากับท่านพระอายุปาละ ครั้นตรัส สัมโมทนียกถาอันเป็นเครื่องทำให้ระลึกถึงกันจบแล้ว ก็ประทับ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ครั้นประทับ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว ก็ได้ตรัสความข้อนั้นกับท่านพระอายุปาละว่า “พระคุณเจ้าอายุปาละ การบวชของพวกท่านมีประโยชน์อะไร อะไรเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของพวกท่าน” พระเถระกล่าวถวายคำตอบว่า “ขอถวายพระพร การบวชมีการประพฤติธรรมมการประพฤติสงบเป็นประโยชน์ สามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ ๔ อย่าง มี โสดาปัตติผลเป็นต้น) เป็นประโยชน์อย่างยิ่งของพวกอาตมา” พระราชา “พระคุณเจ้า ผู้ประพฤติธรรม พระพุทธสงบบางคนแม้เป็นคฤหัสถ์ก็มีอยู่มิใช่หรือ” พระเถระ “ขอถวายพระพร ใช่ ผู้ประพฤติธรรมประพฤติสงบแม้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มีอยู่ ขอถวายพระพร เมื่อคราวที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักร ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี พวกพรหม ๑๘ โกฏิก็ได้มีการตรัสรู้ธรรม ส่วนการตรัสรู้ธรรมของพวกเทวดาทั้งหลาย ล่วงพ้นหนทางจะนับได้ บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นคฤหัสถ์ หาเป็นบรรพชิตไม่

ขอถวายพระพร ยังมีอีก เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสมัยสูตร เมื่อทรงแสดงมหามงคลสูตร เมื่อทรงแสดงสมจิตตปริยายสูตร เมื่อทรงแสดงราหุโลวาทสูตร เมื่อทรงแสดงปราภวสูตร เทวดาทั้งหลายจำนวนล่วงพ้นหนทางจะนับได้ ก็ได้มีการตรัสรู้ ธรรม บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นคฤหัสถ์ หาเป็นบรรพชิตไม่” พระราชาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้า อายุภาระ การบวชของผู้พวกท่านก็เป็นของไร้ประโยชน์ พวกสมณศากยะบุตรทั้งหลายย่อมบวชและประพฤติธุดงค์ เพราะเป็นผลหลั่งไหลแห่งกรรมที่ทำไว้ในภพก่อน พระคุณเจ้าอายุปาละ การบวชของพวกท่านก็เป็นของไร้ประโยชน์ พวกสมณศากยะบุตรทั้งหลายย่อมบวชและประพฤติธุดงค์ เพราะเป็นผลหลั่งไหลแห่งกรรมที่ทำไว้ในภพก่อน พระคุณเจ้าอายุปาละ ภิกษุผู้ที่ถือการฉันมื้อเดียว ภิกษุเหล่านั้น ในภพก่อนเป็นโจรปล้นโภคทรัพย์ของคนอื่นหรือไร ในบัดนี้ภิกษุเหล่านั้น จึงต้องเป็นพระฉันมื้อเดียว ย่อมไม่ได้ฉันตามกาลอันควร เพราะเป็นผลหลั่งไหลแห่งกรรมที่ตัดโภคทรัพย์ของคนอื่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นจะได้มีศีลก็หาไม่ จะได้มีตบะก็หาไม่ มีพรหมจรรย์ก็หาไม่ พระคุณเจ้าอายุปาละ ส่วนว่าภิกษุพวกที่ถือแต่การอยู่ในที่โล่งแจ้ง พวกภิกษุเหล่านั้นในภพก่อนล้วนเป็นโจรปล้นบ้านหรือไร ในบัดนี้ภิกษุเหล่านั้น จึงต้องเป็นผู้อยู่แต่ที่โล่งแจ้ง ไม่ได้ใช้สอยเสนาสนะ เพราะเป็นผลหลั่งไหลแห่งกรรมที่ทําเรือนของคนอื่นให้พินาศนั้น ภิกษุเหล่านั้นจะได้มีศีลก็หาไม่ จะได้มีตบะก็หาไม่ จะได้มีพรหมจรรย์ก็หาไม่ พระคุณเจ้าอายุปาละ ส่วนว่าพิสูจน์พวกที่เป็นเนสัชชิกะ (ถือการนั่งเป็นวัตร คือไม่นอน) พวกภิกษุเหล่านั้น ในภพก่อนล้วนเป็นโจรปล้นคนเดินทางหรือไร ในบัดนี้จึงต้องเป็นเนสัชชิกะ ไม่ได้การหลับนอน เพราะเป็นผลที่หลั่งไหลแห่งกรรมที่จับคนเดินทางมามัดให้นั่งนั้น ภิกษุเหล่านั้นจะได้มีศีลก็หาไม่ จะได้มีตบะก็หาไม่ จะได้มีพรหมจรรย์ก็หาไม่” ดังนี้

เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้ ท่านพระอายุปาละก็นิ่งเฉยไป ไม่กล่าวตอบอะไรๆ ครั้งนั้นแล พวกข้าหลวงโยนก ๕๐๐ ได้กราบทูลความข้อนั้นกับพระเจ้ามิลินท์ว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระเถระก็เป็นบัณฑิตอยู่หรอกพระเจ้าข้า แปลว่าเป็นผู้ไม่แกล้วกล้า จึงไม่กล่าวตอบอะไรๆ” ดังนี้

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ พอทรงเห็นว่า ท่านพระอายุปาละนิ่งเฉยไป ก็ทรงปรบพระหัตถ์โหร้อง รับสั่งกับข้าหลวงโยนกทั้งหลายว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ชมพูทวีปว่างเปล่าหนอ ชมพูทวีปเหลวเปล่าหนอ ใครๆ ผู้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อาจสนทนากับเรา เพื่อบรรเทาความสงสัยไม่มีเลยดังนี้

๒๒. ครั้งนั้นแล เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงเหลียวดูบริษัททั้งปวงไปข้างนั้นข้างนี้อยู่ ทอดพระเนตรเห็นพวกข้าหลวงโยนกผู้ไม่กลัว ไม่เก้อเขินแล้ว ก็ทรงเกิดพระดำริข้อนี้ขึ้นมาว่า “เห็นทีว่าภิกษุรูปใดรูปหนึ่งซึ่งเป็นบัณฑิตผู้อาจสนทนากับเรา จะต้องมีอยู่เป็นแน่ ไม่ต้องสงสัย พวกข้าหลวงในโยนก เหล่านี้จึงไม่เกิดเขิน” ดังนี้ ลำดับนั้นพระเจ้ามิลินท์จึงรับสั่งกับพวกข้าหลวงโยนกว่า “นี่แน่ะ พนาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งซึ่งเป็นบัณฑิตผู้อาจสนทนากับเราเพื่อบรรเทาความสงสัยจะต้องมีอยู่”

ก็สมัยนั้นแล พระเจ้านาคเสน แวดล้อมด้วยคณะสมณะ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นอาจารย์ประจำคณะ เป็นผู้รู้คนทั้งหลายรู้จัก เป็นผู้มียศ คนทั้งหลายเป็นอันมากนับถือว่าดี เป็นบัณฑิตผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญา เป็นวิญญูชนผู้ละเอียดอ่อน รู้แจ่มแจ้ง ฝึกแล้ว แกล้วกล้า สดับตรับฟังมาก ทรงพระไตรปิฎก บรรลุเวท มีความรู้แตกฉาน บรรลุอาคม มีปฏิสัมภิทา ญาณแตกฉาน ทรงปริยัติในคำสอนของพระศาสดาอันมี องค์ ๙ บรรลุบารมีญาณ ฉลาดในการแสดงและแทงตลอดในธรรมในพระดำรัสของพระชินวรพุทธเจ้าและในอรรถ มีปฏิภาณวิจิตรไม่รู้จักจบสิ้น มีคำพูดวิจิตร แต่งคำพูดได้งดงามใครๆ โจมตีได้ยาก ใครๆ ข่มขี่ได้ยาก หาผู้เหนือกว่าได้ยาก ป้องกันได้ยาก ใครๆ ขัดขวางได้ยาก ไม่กำเริบดุจทะเล ไม่หวั่นไหวดุจพญาภูเขา เป็นผู้ละข้าศึก บรรเทาความมืด สร้างแสงสว่าง กล่าวได้มาก บดขยี้คณะแห่งเจ้าคณะอื่นได้ ย่ำยีวาทะลัทธิอื่นได้ เป็นผู้ที่หมู่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา และราชอํามาตย์ทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อม เป็นผู้แสดงคำสอนของพระชินวรพุทธเจ้าอันประกอบด้วยองค์ ๙ แก่วิญญูชนผู้มีความรู้ ผู้ถึงพร้อมด้วยการเงี่ยโสตสดับ เป็นผู้บอกหนทางธรรม เป็นผู้ส่องแสงสว่างคือพระธรรม เป็นผู้ยกเสาหลักคือพระธรรม บูชายัญคือพระธรรม โบกธงคือพระธรรม ยกธงชัยคือพระธรรม เป่าสังข์คือพระธรรม ลั่นกลองคือพระธรรม บันลือสีหนาทคือพระธรรม เป็นเสียงดุจเสียงพระอินทร์ เป็นผู้ทำโลกให้สิ้นให้อิ่มเอิบด้วยเมฆฝนอมตะห่าใหญ่ คือพระธรรมซึ่งส่งเสียงลั่นไพเราะ มีสายฟ้าแลบคือญาณประเสริฐซ่อนอยู่ เทียบด้วยห่าฝนคือกรูณา เที่ยวจาริกไปตามหมู่บ้านชนบทราชธานีทั้งหลายจนถึงเมืองสาคล ตามลำดับ ทราบมาว่า ครั้งนั้นท่านพระนาคเสนอาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ๘๐,๐๐๐ รูป เพราะเหตุนั้นท่านโบราณาจารย์จึงได้กล่าวว่า

“ท่านพระนาคเสน เป็นพหูสูตร มีคำพูดวิจิตรละเอียดอ่อน แกล้วกล้า ฉลาดรู้สมัย (ลัทธิ) และเฉลียวในปฏิภาณ ก็ภิกษุทั้งหลายผู้ทรงพระไตรปิฎก ชำนาญนิกาย ๕ และนิกาย ๔ เหล่านั้น ได้ตั้งพระนาคเสนให้เป็นหัวหน้า พระนาคเสนผู้มีปัญญาลึกซึ้งเป็นปราชญ์ ฉลาดสิ่งที่เป็นทางและมิใช่ทาง ผู้บรรลุประโยชน์สูงสุด ผู้แกล้วกล้า ผู้อันภิกษุผู้มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นสัจจวาทีทั้งหลาย แวดล้อมแล้ว ได้เที่ยวไปตลอดบ้านและนิคม เข้าไปจนถึงเมืองสาคล คราวนั้น ท่านพระนาคเสนพักอาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ ท่านพระนาคเสนนั้น ได้กล่าวกับพวกคนทั้งหลายดุจพญาไกรสรราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่บนภูเขา ฉะนั้น” ดังนี้

๒๓. ครั้งนั้นแล เทวมันติยอำมาตย์ได้กราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงรอสักนิดหน่อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่มหาราชเจ้ายังมีพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระนาคเสน ท่านเป็นบัณฑิตผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญา ฝึกดีแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต มีคำพูดวิจิตร มีปฏิภาณ งดงาม ถึงฝั่ง (เจนจบ) ในอรรถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา และ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา บัดนี้ พระเถระรูปนั้นพักอาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ พระเจ้าข้า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงเสด็จไปถามปัญหากับพระนาคเสนเถิด พระเจ้าข้า นาคเสนนั้นสามารถสนทนากับพระองค์ บรรเทาความสงสัยได้ พระเจ้าข้า” ดังนี้ ลำดับนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ทันทีที่ทรงสดับเสียง (ที่เปล่ง) ว่า “พระนาคเสน” ดังนี้เท่านั้น ก็ทรงเกิดความกลัวขึ้นมาเทียว เกิดความหวาดหวั่นขึ้นมาเทียว เกิดพระโลมชาติชูชันขึ้นมาเทียว ลำดับนั้นพระเจ้ามิลินท์ก็รับสั่งกับเทวมันติยอำมาตย์ ว่า “พ่อมหาจำเริญ เอ๋ย พระนาคเสนสนทนากับเราได้หรือ” “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระนาคเสนสนทนาเเม้กับท้าวโลกบาลทั้งหลาย คือ พระอินทร์ พญายม ท้าววรุณ ท้าวกุเวร เท้าประชาบดี ท้าวสุยามะ ท้าวสันดุสิต แม้นกับท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นปู่ของพ่อ (เป็นบรรพบุรุษ) จะป่วยกล่าวไปไยถึงการสนทนากับผู้เป็นมนุษย์ทั้งหลายเล่า พระเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์รับสั่งกับเทวมันติยอำมาตย์ว่า “ถ้าอย่างนั้นนะเทวมันติยอำมาตย์ เธอจงส่งตัวแทนไปสำนักของพระคุณเจ้าเถิด” เทวมันติยอำมาตย์ทูลตอบสนองว่า “พระเจ้าข้า” ดังนี้แล้ว ก็ได้ส่งตัวแทนไปที่สำนักของท่านพระนาคเสน แจ้งท่านพระนาคเสนว่า “พระเจ้ามิลินท์ทรงประสงค์จะพบพระคุณเจ้านาคเสน” ดังนี้ ฝ่ายท่านพระนาคเสนยอมรับนิมนต์ว่า “ถ้าอย่างนั้นก็จงเสด็จมาเถิด” ดังนี้

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ ผู้อันข้าหลวงโยนกประมาณ ๕๐๐ คนแวดล้อม เสด็จขึ้นรถทรงอันประเสริฐ เข้าไปยังอสงไขยบริเวณอันเป็นที่ที่ท่านพระนาคเสนพำนักอยู่ พร้อมทั้งหมู่ ไพร่พลหมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระนาคเสนนั่งอยู่ที่โรงกลมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ๘๐,๐๐๐ รูป พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นบริษัทของท่านพระนาคเสนแต่ไกลทีเดียว ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็รับสั่งความกับเทวมันติยอำมาตย์ว่า “บริษัทใหญ่นี่ของใครกัน” “ข้าแต่มหาราชเจ้า เป็นบริษัทของท่านพระนาคเสน พระเจ้าข้า”

ครั้งนั้นแล เมื่อพระเจ้ามิลินมิลินท์ทอดพระเนตรเห็นบริษัทของพระนาคเสนแล้ว ก็ทรงเกิดความกลัวขึ้นมาเทียว เกิดความหวั่นขึ้นมาเทียว เกิดพระโลมชาติชูชันขึ้นมาเทียว ครั้งนั้นพระเจ้ามิลินท์ทรงกลัว หวาดหวั่น หวาดเสียว สลด มีพระโลมชาติชูชัน มีพระทัยวิปริตไป มีพระทัยเสียไป มีพระทัยพล่านไป มีพระทัยแปรปรวนไป ดุจช้างที่ถูกขอสับรุมล้อม ดุจนาคที่ถูกพวกครุฑคลุมล้อม ดุจสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมรัด ดุจหมีที่ถูกฝูงควายรุมล้อม ดุจกบที่ถูกงูเลื้อยตาม ดูดเนื้อที่ถูกเสือเหลืองไล่ตาม ดุจงูที่เจอหมองู ดุจหนูที่เจอแมว ดุจ ปีศาจเจอหมอผี ดุจพระจันทร์ที่ปากราหู ดุจงูที่ติดอยู่ในลุ้ง ดุจนกที่ติดอยู่ในกรง ดุจปลาที่ติดอยู่ในข่าย ดุจคนที่หลงเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย ดุจยักษ์ผู้มีความผิดต่อท้าวเวสสุวัณ ดุจเทพบุตรกำลังจะสิ้นอายุ ทรงดำริว่า “ขอบริษัทนี้อย่าดูหมิ่นเราได้เลย” อย่างนี้แล้วก็ทรงตั้งพระสติ (แข็งพระทัย) รับสั่งกับเทวมันติยอำมาตย์ว่า “นี่แน่ะ เทวมันติยอำมาตย์ เธออย่าเพิ่งบอกเราว่า พระคุณเจ้ารูปไหนคือท่านพระนาคเสนเราจะขอรู้ว่าพระคุณเจ้ารูปไหนเป็นพระนาคเสนเอง ไม่ต้องบอกเลยเทียว” ดังนี้ “ดีแล้วพระเจ้าข้า พระองค์จะทรงทราบเองทีเดียว พระเจ้าข้า”

ก็ในสมัยนั้นแล ท่านพระนาคเสนนั่งอยู่ในภิกษุบริษัทนั้นเบื้องหน้าภิกษุ ๔๐,๐๐๐ รูปผู้มีพรรษาอ่อนกว่า เบื้องหลังภิกษุ ๔๐,๐๐๐ รูปผู้มีพรรษาแก่กว่า

ครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงเหลียวดูภิษุสงฆ์ทั้งปวง ทั้งเบื้องหน้า ทั้งเบื้องหลัง ทั้งท่ามกลาง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนผู้นั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุแต่ไกลเทียว ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนผู้ปราศจากความกลัวความหวั่นเกรง ปราศจากโลมชาติชูชัน ปราศจากความขลาดกลัวแล้ว ก็ทรงทราบโดยอาการนั้นเทียวว่า “ในหมู่พระสงฆ์นี้ ท่านผู้นี้แหละคือพระนาคเสน”

เมื่อทรงทราบอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงทรงรับสั่ง กับเทวมันตยอำมาตย์ว่า “นี่แน่ะ เทวมันติยะ ท่านผู้นี้แหละคือท่านพระนาคเสน” “ถูกต้องพระเจ้าข้า ท่านผู้นี้แหละคือพระนาคเสน พระองค์ทรงรู้จัก พระนาคเสนดีแล้ว พระเจ้าข้า” เพราะเหตุนั้นพระราชาก็ทรงยินดีว่า “ใครๆ ไม่ต้องบอกเลยเทียว เรารู้จักพระนาคเสนได้” ครั้งนั้นแลเ มื่อพระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นท่านพระนาคเสนแล้ว ก็เกิดความกลัวขึ้นมาเทียว เกิดความหวาดหวั่นขึ้นมาเทียว เกิดพระโลมชาติชูชันขึ้นมาเทียว เพราะเหตุนั้นท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า

“เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ ผู้ฝึกดีแล้วในอินทรีย์สังวรอันเป็นเครื่องฝึกที่สูงส่ง พระราชาจึงได้ตรัสคำนี้ว่า เราเคยพบเห็นสมณะพราหมณ์ที่เราพูดด้วยมามากมาย สมณพราหมณ์ที่เราเคยสนทนาด้วยก็มากมาย เราไม่ได้เกิดความกลัวเช่นนั้น เหมือนอย่างที่เกิดความหวาดหวั่นขึ้นมาในวันนี้เลย วันนี้เราจะมีความพ่ายแพ้แน่ไม่ต้องสงสัย ส่วนพระนาคเสนจะมีชัย เพราะว่าจิตของเราไม่หยุดนิ่งเลย” ดังนี้

จบพาหิรคาถา จบปุพพโยคกันฑ์ที่ ๑ จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา: http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: