วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๓ ปูชา จ ปูชนียานํ - การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

มงคลที่ ๓ ปูชา จ ปูชนียานํ - การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

ควรบูชาไตรรัตน์ขัตติเยศร์ ผู้วิเศษก่อเกื้อเหนือเกศา ครูอาจารย์เจดีย์ที่สักการ์ ด้วยบุปผาปฏิบัติสวัสดิ์การ 

การบูชา คือการแสดงความเคารพบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใสในบุคคลคนนั้น ซึ่งการบูชาแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ

๑. อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของเช่น การนำเงินให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย หรือมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ หรือการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาพระก็ถือเป็นอามิสบูชาเป้นต้น

๒. ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา การฝึกจิตให้ไม่ฟุ้งซ่าน เห็นความจริงในความเป็นไปของโลกเป็นต้น

บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้คือ  ๑. พระพุทธเจ้า (คงไม่ต้องอธิบาย) ๒. พระปัจเจกพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ๓. พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม ๔. บิดามารดา ๕. ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี ๖. อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม 

ที่มา : http://www.dhammathai.org

ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล

บัดนี้จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๓ ตามพระบาลีว่า ปูชานามะ อามิสะปูชา ปะฎิปัตติวเสนะ ทุวิธา โหติ อธิบายความว่า บุคคลใดได้ทำการสักการบูชาแก่วัตถุที่ควรบูชา มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดปุญญสัมปทา การบูชามี ๒ อย่างคือ อามิสบูชา ๑ ปฎิปัตติบูชา ๑ อามิสบูชานั้นได้แก่วัตถุต่าง ๆ มีดอกไม้ธูปเทียนของหอมและข้าวน้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม เสื่อสาดอาสนะเป็นต้น และสร้างวัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร และศาลาอาศัย ขุดสระขุดบ่อก่อถนน สร้างพระพุทธรูปพระสถูปเจดีย์เหล่านี้เรียกว่า อามิสบูชา

ปฎิบัติบูชานั้น คือ รักษาพระไตรสรณคมน์ รักษาศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบท ๑๐ ศีล ๒๒๗ และเจริญพระกรรมฐาน คือ สมถะและวิปัสสนา เล่าเรียนพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ยกข้อปฎิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เหล่านี้เรียกว่า ปฎิบัติบูชา ฯ

อนึ่ง วัตถุที่ควรจะบูชานั้น คือ พระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ซึ่งธรรมด้วยตนเอง แล้วสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย ๑ พระปัจเจกโพธิเจ้าผู้รู้ซึ่งธรรมด้วยตนเอง แล้วสั่งสอนผู้อื่นไม่ได้ ๑ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ พระสูตร ๑ พระวินัย ๑ ประปรมัตถ์ ๑ กับทั้งข้อปฎิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ๑ พระสงฆ์สาวกผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ารับข้อปฎิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา จนฆ่ากิเลสตายทำลายกิเลสหลุด ถึงวิมุติมรรคผลยกตนพ้นจากอวิชชาได้ เรียกว่า พระอริยสงฆ์ผู้ทรงพระศาสนา ๑ ทั้ง ๓ นี้ เป็นวัตถุควรบูชาอย่างประเสริฐ เป็นบ่อเกิดแห่งปุญญสัมปทา ยังครูอุปัชฌาย์ที่ให้บวชภิกษุสามเณร สั่งสอนในทางสวรรค์ทางนิพพาน

และบิดามารดาผู้มีคุณอุดหนุนเลี้ยงรักษาอุ้มอุทร ป้อนข้าวอาบน้ำมาสิ้นกาลนาน และพี่หญิงพี่ชายญาติทั้งหลาย มีลุงป้าน้าอาว์เป็นต้น ที่มีอายุแก่กว่าตน เหล่านี้ เป็นวัตถุควรบูชาทั้งสิ้น และคนที่ควรเคารพ ๓ จำพวก คือ เคารพด้วยอายุแก่กว่าตน ๑ เคารพด้วยมีคุณมีศีลคุณเป็นต้น ๑ เคารพด้วยมีคุณมาก ได้แก่ขุนนางเจ้านายเป็นต้น ๑ ทั้ง ๓ นี้เป็นวัตถุควรบูชา ฯ 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: