วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564

ว่าด้วยพระไตรปิฎก

ว่าด้วยพระไตรปิฎก

คำว่าปิฎกมีความหมาย ๒ ประการ คือ ปริยัติ ๑  ภาชนะ ๑

ปริยัติ หมายถึง การเล่าเรียนพระไตรปิฎก หรือพุทธพจน์อันพึงเล่าเรียน

ภาชนะ หมายถึง เครื่องใช้ เช่นจาน ชาม ถ้วย ตะกร้า หม้อ สำหรับใส่สิ่งของต่าง ๆ  ในที่นี้ปิฎกหมายถึง ตะกร้า

ดังคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า  “ในพระไตรปิฎกมีพระวินัยปิฎกเป็นต้นนี้  ปิฎกใดยังเหลืออยู่และผู้รู้เนื้อความของปิฎกเรียกปิฎกนั้นว่า  “ปิฎก”  เพราะเป็นปริยัติ (ปริยัติคือพุทธพจน์อันพึงเล่าเรียน) และเพราะเป็นภาชนะ (ภาชนะคือตระกร้ารวบรวมหมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา)”

จริงอยู่  ปริยัติท่านก็เรียกว่า “ปิฎก” หมายถึงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก หรือพุทธพจน์อันพึงเล่าเรียนนั่นเอง เหมือนในประโยคมีอาทิว่า  “อย่าถือโดยอ้างปิฎก”  อันที่จริงคำว่า “อย่าถือโดยอ้างปิฎก” นี้ท่านหมายถึง อย่าเชื่อโดยอ้างว่าเรียนมาแล้วหรืออย่าเชื่อโดยอ้างตำรา  เพราะฉะนั้น คำว่าปิฎกจึงหมายถึงการเล่าเรียนพระไตรปิฎกหรือพุทธพจน์อันพึงเล่าเรียนนั่นเอง.

แม้ภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า “ปิฎก” หมายถึงตะกร้าที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว เหมือนในประโยคมีอาทิว่า  “ครั้งนั้น บุรุษพึงถือจอบและตะกร้าเดินมา”  คำว่าปิฎกในที่นี้หมายถึงตะกร้าที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว มี ๓ หมวด คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก เรียกรวมว่าพระไตรปิฎก.

พุทธพจน์แบ่งเป็น ๓ ปิฎก  นับอย่างไร ?  พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้มี ๓ ประเภท  คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก  อภิธรรมปิฎก

ใน ๓ ปิฎกนั้น พระพุทธพจน์ที่ชื่อว่าวินัยปิฎก  ได้แก่ พระพุทธพจน์นี้ คือ ปาติโมกข์ทั้ง ๒  วิภังค์ ๒ ขันธกะ ๒๒  ปริวาร ๑๖  ชื่อวินัยปิฎก  เพราะรวมพระพุทธพจน์ทั้งหมดที่สังคายนาในครั้งปฐมสังคายนาและที่สังคายนาต่อมาไว้เป็นปิฎกเดียวกัน.

พระพุทธพจน์ที่ชื่อว่าสุตตันตปิฎก  ได้แก่ พระพุทธพจน์ต่อไปนี้ คือ  ทีฆนิกาย มีจำนวน ๓๔ สูตร มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น  มัชฌิมนิกาย มีจำนวน ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น  สังยุตตนิกาย มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น  อังคุตตรนิกาย มีจำนวน ๙,๕๕๗ สูตร มีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น  ขุททกนิกายมี ๑๕ ประเภท คือขุททกปาฐะ  ธรรมบท  อุทาน  อิติวุตตกะ  สุตตนิบาต  วิมานวัตถุ  เปตวัตถุ  เถรคาถา  เถรีคาถา  ชาดก  นิทเทส  ปฏิสัมภิทามรรค  อปทาน  พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก  ชื่อว่าสุตตันตปิฎก.

พระพุทธพจน์ที่ชื่อว่าอภิธรรมปิฎก  ได้แก่ พระพุทธพจน์ต่อไปนี้ คือ ธรรมสังคณี  วิภังค์  ธาตุกถา  บุคคลบัญญัติ  กถาวัตถุ  ยมก  ปัฏฐาน  ชื่อว่าอภิธรรมปิฎก.

สารธรรมในพระคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระมหาวัชระ เชยรัมย์


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: