วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

เรื่อง “ศีล เป็นมหาทาน”


เรื่อง “ศีล เป็นมหาทาน” อันมีเนื้อความดังนี้

ในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาลทันที เช่น เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ย่อมได้ชื่อว่าให้ชีวิต ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๒ คือ ไม่ลักทรัพย์ ย่อมได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๓ คือ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ความปลอดภัย แก่บุตร ธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่นเป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ไม่กล่าวคำเท็จ ย่อมได้ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความ สบายใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๕ คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง เพราะคน ที่ประมาทขาดสตินั้น สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือพูดเท็จก็ทำได้ทั้งสิ้น

การรักษาศีล ๕ จึงเป็นทานอันประเสริฐ ที่หล่อเลี้ยงโลกนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน ซึ่งทานอันประเสริฐนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มหาทาน พร้อมทั้งทรงกล่าวว่าผู้ บำเพ็ญมหาทาน ย่อมได้รับผลบุญอันมหาศาล เช่นเดียวกัน ดังปรากฏใน ปุญญาภิสันทสูตร ความว่า :- 

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข.  ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการเป็นไฉน ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๑

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๒

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๓

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศมีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด. ทาน ๕ ประการเป็นไฉน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียด เบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทานบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมา นานเป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๔

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ นี้เป็นทาน ประการที่ ๒ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๕

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ นี้เป็น ทานประกานที่ ๓ ที่เป็นมหาทานบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๖

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ ๔ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๗

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาทแล้ว ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้

ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็น ผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทานอันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๘ 

นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุข ” 

จะเห็นว่าการรักษาศีลนั้น เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยน้ำใจที่กว้างขวาง เพราะเป็นน้ำใจที่มีต่อชีวิตทั้งหลายอันไม่มีประมาณ และไม่มีการเจาะจง การรักษาศีล จึงเป็นบุญอันพิเศษอย่างยิ่ง เพราะได้ทั้งบุญจากการบำเพ็ญมหาทาน และบุญจากการรักษาศีล และนี่เป็นเพียงศีล ๕ อันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น หากรักษาศีลในข้อ ที่สูงยิ่งขึ้นไป ย่อมเป็นมหาทานอันยิ่งใหญ่ เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ อย่างสุดที่จะประมาณ จึงนับว่า การรักษาศีล เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป เมื่อเทียบ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการให้ทาน

จาก: ศีล…เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม

พระมหาสุวิทย์ วิชฺเชสโก ป.ธ. ๙

ที่มา: http://dhamma.serichon.us





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: