วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธศาสนามุ่ง“วิมุตติ”หรืออิสรภาพคือความหลุดพ้นจากทุกข์และกิเลสทั้งปวง เป็นจุดหมายสำคัญ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระพุทธศาสนามุ่ง“วิมุตติ”หรืออิสรภาพคือความหลุดพ้นจากทุกข์และกิเลสทั้งปวง เป็นจุดหมายสำคัญ (ป. อ. ปยุตฺโต)

…. “ พระพุทธศาสนา มี “วิมุตติ” หรือ ความมีอิสรภาพ เป็นจุดหมายสําคัญ และไม่ใช่เป็นเพียงจุดหมายเท่านั้น แต่มีอิสรภาพเป็นหลักการสําคัญทั่วไปทีเดียว ….ในทางธรรมท่านใช้คําว่า “วิมุตติรส” กับ “วิมุตติสาระ”

…. สําหรับวิมุตติรสนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเป็นคําอุปมาว่า มหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่น้ำในมหาสมุทรที่มากมายทั้งหมดนั้นมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยของพระองค์ที่สอนไว้มากมายทั้งหมดก็มีรสเดียว คือ “วิมุตติรส” ได้แก่ ความหลุดพ้นจากทุกข์และปวงกิเลส ฉันนั้น

…. ภาษาสมัยใหม่เรียกความหลุดพ้นว่า “อิสรภาพ” เดี๋ยวนี้เราไม่ใช้คําว่า “วิมุตติ” เราติดคําว่า อิสรภาพ แต่ที่จริงเราใช้คําว่า “อิสรภาพ” ในความหมายของวิมุตตินั่นเอง

…. เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษจะเห็นชัด ฝรั่งแปล วิมุตติ ว่า freedom เราแปล อิสรภาพ ก็ว่า freedom ตรงกัน แต่ในภาษาไทยคนไทยแทนที่จะใช้คําว่า วิมุตติ กลับไปใช้คําว่า อิสรภาพ

…. ที่จริง ในภาษาบาลีเดิม อิสรภาพ ไม่ได้แปลว่า freedom อิสรภาพนั้นแปลว่า ความเป็นใหญ่ ตรงกับSovereignty หรือแม้แต่ domination หรือ dominion คือความมีอํานาจเหนือหรือเป็นใหญ่ แต่เราใช้อิสรภาพในความหมายของ freedom เพราะฉะนั้น อิสรภาพที่ใช้กันในภาษาไทยจึงไปตรงกับคําว่า วิมุตติ

…. พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะของ ความหลุดพ้น หรือ ความเป็นอิสระ อยู่โดยตลอด จุดหมายของพระพุทธศาสนาก็ได้แก่ วิมุตติ

…. พระพุทธเจ้าตรัสอีกแห่งหนึ่งว่า “ วิมุตฺติสารา สพฺเพ ธมฺมา ” ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีวิมุตติเป็นสาระ คือ มีวิมุตติเป็นแก่นสาร ซึ่งก็มีความหมายอันเดียวกัน

…. รวมความว่า ลักษณะนี้บอกให้ทราบว่า พระพุทธศาสนาถือเอาวิมุตติหรืออิสรภาพนี้เป็นจุดหมาย เป็นหลักการสําคัญ และให้ความสําคัญแก่อิสรภาพทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะในขั้นสุดท้าย ที่ว่าต้องการให้คนเข้าถึงความหลุดพ้นเท่านั้น แต่มีลักษณะของการไม่ยึดติดถือมั่น ไม่มีอุปาทาน ในสิ่งต่างๆอยู่โดยตลอด

…. จะเห็นว่า หลักการของพระพุทธศาสนานี้ บางครั้งก็สรุปด้วยคําว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” คือ ให้รู้เข้าใจความจริงถึงขั้นที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่อาจเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้

…. ไม่อาจ-ไม่น่า-ไม่ควร ยึดติดถือมั่น เพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนา หรือตามความยึดมั่นของเรา แต่มันเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน ถึงเราจะไปยึดมั่นก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวความจริง มีแต่จะกระทบกระเทือนต่อตัวเราเอง ทําให้เราแย่เอง คือ เดือดร้อนเป็นทุกข์

…. วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ เราจะต้องรู้ความจริงของเหตุปัจจัย แล้วไปทําที่เหตุปัจจัย

…. เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่เป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่ทําให้มีผลเป็นจริงขึ้นมาได้

…. พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เรามีอิสรภาพ โดยฝึกตนให้รู้จักที่จะไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จนกระทั่งเมื่อรู้ความจริง รู้เท่าทันชัดแจ้งทั่วตลอดแล้ว ก็จะมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ

…. แม้แต่ในขั้นต้นๆ สําหรับการปฏิบัติที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นวิมุตติ ก็จะมีลักษณะของการไม่ยึดติดอยู่เสมอ เช่น พระพุทธศาสนาไม่ให้ความสําคัญสูงสุดแก่ศรัทธา การบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา หรือการเข้าถึงอิสรภาพ ไม่ขึ้นต่อศรัทธาหรือความเชื่อ แต่จะหลุดพ้นได้เพราะรู้เห็นแจ้งด้วยตนเอง อันนี้เป็นลักษณะของการไม่ยึดติด

…. เริ่มตั้งแต่ไม่ให้ยึดติดในบุคคล แต่ให้รู้จักพึ่งพาบุคคลในทางที่ถูกต้อง เอาเขาเป็นสื่อในการที่จะนําเราให้เข้าไปหาสัจธรรมด้วยการเป็นกัลยาณมิตร

…. หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่อง “พระวักกลิ” ซึ่งบวชเข้ามาแล้วก็พอใจในพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้ามาก ชอบติดตามพระองค์ไปในที่ต่างๆ เรื่อยไป พระพุทธเจ้าทรงคอยมองดูและทรงรอให้อินทรีย์ของพระวักกลิแก่กล้า จนถึงคราวหนึ่งก็ได้ตรัสว่า “ดูก่อนวักกลิ เธอจะตามดูทําไมร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้” แล้วก็ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” คือให้ย้ายความสนใจและความติดใจออกจากตัวบุคคล ไปหาตัวธรรมหรือสัจธรรม

…. อันนี้เป็นลักษณะของการที่ไม่ให้ติด ไม่ให้ยึด ในสิ่งทั้งหลาย แม้แต่ในระดับของการปฏิบัติขั้นต้นๆ จนถึงขั้นสุดท้ายก็ให้มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ปาฐกถาธรรม ณ สำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๒ หรือตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา” 

ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: