มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๙) วรรคที่ ๓, วิจารวรรค
ปัญหาที่ ๑ อัทธานมูลปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน อะไรเป็นมูลแห่งอัทธานะ (สิ่งมีกาล) ฝ่ายอดีต, อะไรเป็นมูลแห่งอัทธานะฝ่ายอนาคต, อะไรเป็นมูลแห่งอัทธานะฝ่ายปัจจุบันเล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร อวิชชาเป็นมูลแห่งอัทธานะฝ่ายอดีต แห่งอัทธานะฝ่ายอนาคต และ อัทธานะแห่งฝ่ายปัจจุบัน คือว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีสังขาร, เพราะสังขารเป็นปัจจัยก็ย่อมมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยก็ย่อมมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยก็ย่อมมีอายตนะ ๖, เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยก็ย่อมมีผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัยก็ย่อมมีเวทนา, เพราะเวทนาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีตัณหา, เพราะตัณหาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีอุปาทาน, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยก็ย่อมมีภพ, เพราะภพเป็นปัจจัยก็ย่อมมีชาติ, เพราะชาติเป็นปัจจัยก็ย่อมมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสสะ, ปลายสุดข้างต้นแห่งอัทธานะอันเป็นกองทุกข์ทั้งสิ้นตามประการดังกล่าวมากระนี้ นี้ ย่อมไม่ปรากฏ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบอัทธานมูลปัญหาที่ ๑
คำอธิบายปัญหาที่ ๑
ในวรรคที่ ๓ คือวรรคนี้ มีปัญหามาแล้ว ๑๔ ปัญหา. ปัญหาที่มีการถามถึงมูลแห่งอัทธานะ ชื่อว่า อัทธานมูลปัญหา. คำว่า มูลแห่งอัทธานะ แปลว่า มูลคือรากเหง้าแห่งอัทธานะ หมายถึงเหตุที่เป็นประธานแห่งอัทธานะ ที่เป็นไปเนื่องในกาล ๓. ท่านพระนาคเสนประสงค์แสดงให้พระราชาทรงเล็งเห็นว่าอวิชชา ชื่อว่าเป็นมูลแห่งอัทธานะทั้ง ๓ กาลนั้นอย่างไรโดยพระบาลี จึงกล่าวปฏิจจสมุปบาทกถา ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีสังขาร” ดังนี้ เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบความพิสดารเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท (ปัจจัยอันเป็นที่ผลอาศัยเกิดขึ้น) ในปกรณ์อื่นทั้งหลายมีวิสุทธิมรรคเป็นต้นเถิด. ก็ในปฏิจจสมุปบาทกถานั้นการที่ทรงแสดงองค์ทั้งหลายโดยมีอวิชชาเป็นองค์แรกก่อนว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีสังขารนั้นหาได้เป็นการแสดงว่าอวิชชาเป็นที่สุดเบื้องต้นจุดเริ่มต้นแห่งอัทธานะไม่ ทว่า เป็นการแสดงว่าอวิชชาเป็นเหตุที่เป็นประธานแห่งอัทธานะเท่านั้น เพราะเหตุนั้นนั่นเอง พระเถระจึงกล่าวว่า ปลายสุดข้างต้นแห่งอัทธานะย่อมไม่ปรากฏ ดังนี้ ความว่า แม้อวิชชานั้น ก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัย คือมีอาสวะที่สัตว์ยังละไม่ได้เป็นปัจจัย ตามพระบาลีที่ว่า “อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย” “เพราะอาสวะเกิดขึ้น อวิชชาจึงเกิดขึ้น” เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงหาชื่อว่าเป็นปลายสุดข้างต้นแห่งอัทธานะไม่
หากจะมีคำถามว่า ข้อว่าวิชาเป็นมูลแห่งอัทธานะฝ่ายปัจจุบันนี้ จะพึงทราบได้อย่างไรเล่า ก็ขอตอบว่า พึงทราบได้โดยสูตรที่ว่า อวิชฺชา ปจฺจโย, สงฺขารา ปจฺจยสมุปปนฺนา ฯ เป ฯ ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา ธมฺมฐิติญาณ ปัญญา ในอันกำหนดปัจจัยได้ว่า อวิชชาเป็นปัจจัย, สังขารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย, ธรรมทั้ง ๒ (คือ อวิชชา และ สังขาร) นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ดังนี้ ชื่อว่า ธัมมฐิติญาณ (ปัจจยปริคคหญาณ) เพราะเป็นการกำหนดอวิชชาปัจจุบัน ที่เป็นปัจจัยแก่สังขารปัจจุบัน. หากจะมีคำถามอีกว่า ข้อว่าอวิชชาเป็นมูลแห่งอัทธานะฝ่ายอดีต, แห่งอัทธานะฝ่ายอนาคต นี้จะพึงทราบได้อย่างไรเล่า ก็ขอตอบว่า “พึงทราบได้โดยสูตรเดียวกันนั้นแหละที่ว่า :-
อตีตํปิ อทฺธานํ อนาคตํปิ อทฺธานํ, อวิชฺชา ปจฺจโย, สงฺขารา ปจฺจยสมุปฺปนฺนา ฯ เป ฯ ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา ธมฺมฐิติญาณํ.
ปัญญาในอันกำหนดปัจจัยได้ ว่า แม้ในกาลอดีต แม้ในกาลอนาคต อวิชชาก็เป็นปัจจัย, สังขารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ธรรมทั้ง ๒ นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ดังนี้ ชื่อว่าธัมมฐิติญาณ ดังนี้ เพราะเป็นการกำหนดอวิชชาอดีตที่เป็นปัจจัยแก่สังขารอดีตนั้นนั่นแหละ และ อวิชชาอนาคตที่เป็นปัจจัยแก่สังขารอนาคต. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑
ปัญหาที่ ๒ ปุริมโกฏิปัญหา
พระราชาตรัสว่า พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ท่านกล่าวว่าปลายสุดข้างต้นไม่ปรากฏ นี้ใด ขอท่านจงกระทำอุปมาสำหรับคำนั้น เถิด. พระนาคเสนขอถวายพระพรมหาบพิตรเปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่งฝังเมล็ดพืชเล็กๆไว้ที่พื้นดินต่อมาก็มีหน่องอกขึ้นมา ถึงความเติบโตงอกงามไพบูลย์ไปตามลำดับแล้วก็ให้ผล บุรุษก็ถือเอาเมล็ดพืชจากต้นนั้นไปเพราะปลูกอีก แม้ต่อมาก็มีหน่องอกขึ้นมา ถึงความเติบโตงอกงามไพบูลย์ไปตามลำดับ แล้วก็ให้ผล ความสืบต่อกันไปโดยอาการดังกล่าวมากระนี้ นี้ มีที่สุดหรือไรหนอ. พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีที่สุดหรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ปลายสุดข้างต้นแม้แห่งอัทธานะย่อมไม่ปรากฏ แล. พระเจ้ามิลินท์ขอท่านจงกระทำอุปมายิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าจากไก่ก็มีไข่ จากไข่ก็มีไก่ จากไก่ก็มีไข่ ความสืบต่อกันไปโดยอาการดังกล่าวมากระนี้ นี้ มีที่สุดหรือหนอ. พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ปลายสุดข้างต้นย่อมไม่ปรากฏ แล. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระเถระเขียนรูปวงล้อเข้าที่พื้นดิน ถวายพระพรถามความข้อนั้นกับพระราชา ว่า ขอถวายพระพร รูปวงล้อนี้มีที่สุดหรือไม่หนอ
พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอกพระคุณเจ้า. พระนาคเสน, อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสวงล้อเหล่านี้ไว้อย่างนี้ ว่า จักขุวิญญาณ (การเห็นภาพ) อาศัยประสาทตาและรูป (ภาพที่จะเห็น) เกิดขึ้น, ผัสสะย่อมมี เพราะความพร้อมเพียงกันแห่งธรรม ๓ อย่าง, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยก็ย่อมมีกรรม ประสาทตาย่อมเกิดจากกรรมอีก ดังนี้ ความสืบต่อกันไปโดยอาการดังกล่าวมากระนี้ นี้ มีที่สุดหรือไรหนอ. พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, โสตวิญญาณ (การได้ยินเสียง) อาศัยประสาทหูและเสียงเกิดขึ้น ฯเปฯ มโนวิญญาณอาศัยใจและธรรมเกิดขึ้น, ผัสสะย่อมมีเพราะความพร้อมเพรียงกันแห่งธรรม ๓ อย่าง, เพราะผัสสะเป็นปัจจัยก็ย่อมมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยก็ย่อมมีกรรม ใจย่อมเกิดจากกรรมอีก ดังนี้ ความสืบต่อกันไปโดยอาการดังกล่าวมากระนี้ นี้ มีที่สุดหรือไร. พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ปลายสุดข้างต้นแม้แห่งอัทธานะย่อมไม่ปรากฏ แล. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบปุริมโกฏิปัญหาที่ ๒
คำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหาเกี่ยวกับปลายสุดข้างต้น ชื่อว่า ปุริมโกฏิปัญหา. ในอุปมาแรก มีความสังเขปเพียงเท่านี้ ว่า เปรียบเหมือนว่า ต้นไม้ต้นหลังๆ ย่อมเกิดจากเมล็ดพืชของต้นก่อนๆ แม้ต้นก่อนๆ นั้นก็ย่อมเกิดจากเมล็ดพืชของต้นแม้ก่อนหน้านั้นอีก ความสืบต่อกันเช่นนี้ หาที่สุดเบื้องต้นมิได้ หาจุดเริ่มต้นมิได้ หมายความว่า ไม่อาจสืบสาวได้ว่า ต้นไหนเป็นต้นแรกข้อนี้มีอุปมาฉันใด เกี่ยวกับความสืบต่อกันไปแห่งอัทธานะก็มีอุปมาฉันนั้น แม้ในอุปมาที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ. คำว่า จักขุวิญญาณ อาศัยประสาทตาและรูปเกิดขึ้น ความว่า จักขุวิญญาณคือวิญญาณทางตาที่ทำหน้าที่เห็นภาพ ได้แก่การเห็นภาพนั่นแหละ อาศัยประสาทตา โดยเกี่ยวกับมีประสาทตาเป็นที่ตั้งอาศัยและเป็นทวาร และอาศัยรูป คือภาพที่จะเห็นในคราวนั้น แล้วจึงเกิดขึ้นได้. คำว่า ผัสสะย่อมมีเพราะความพร้อมเพรียงกันแห่งธรรม ๓ อย่าง ความว่า ผัสสะคือการกระทบกับอารมณ์คือภาพที่มาถึงคลองจักขุทวารนั้นนั่นแหละ ย่อมมีเพราะความพร้อมเพรียงกันแห่งธรรม ๓ อย่างอันได้แก่ประสาทตา ๑ รูปหรือภาพที่จะเห็นนั้น ๑ จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นมาเห็นภาพนั้น ๑. คำว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยก็ย่อมมีเวทนา ความว่า พอมีผัสสะเกิดขึ้นกระทบอารมณ์คือรูปนั้นแล้วก็ย่อมมีเวทนาเกิดขึ้นเสวยอารมณ์ที่ผัสสะกระทบนั้น เป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นทุกขเวทนา บ้างเป็นอุเบกขาเวทนาบ้าง
คำว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีตัณหา ความว่า เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้นเสวยอารมณ์คือรูปนั้นแล้ว ตัณหาความอยากในอารมณ์นั้นก็ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเวทนาเป็นช่องทางกล่าวคือ เมื่ออารมณ์คือรูปนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ น่าปรารถนา น่าเจริญตา เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา สัตว์ผู้เห็นแก่ความสุขก็ย่อมเกิดตัณหาความปรารถนาในรูปนั้น. คำว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัยก็ย่อมมีอุปาทาน ความว่า ตัณหาที่มีกำลังท่านเรียกว่าอุปาทาน – ความยึดมั่น เป็นไปในอารมณ์ที่ได้มาแล้ว ก็สัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้อารมณ์ที่น่าปรารถนามาแล้ว ก็ย่อมยึดมั่นว่า “นี้ของเรา” เป็นต้น. คำว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยก็ย่อมมีกรรม ความว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อเกิดอุปาทานในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ก็มองไม่เห็นโทษของอารมณ์คือรูปนั้น ย่อมทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ. คำว่า ประสาทตาย่อมเกิดจากกรรมอีก ความว่า กรรมที่บุคคลทำด้วยอำนาจแห่งรูปตัณหา ย่อมสร้างประสาทตาแก่เขาอีก, ก็แล เมื่อมีประสาทตาอีก ในเวลาที่มีรูปมาถึงคลองจักขุทวาร จักขุวิญญาณก็อาศัยประสาทตาและรูปนั้นเกิดขึ้นอีก ผัสสะเป็นต้นก็เกิดขึ้นอีกตามในที่ได้กล่าวแล้ว ก็ความสืบต่อแห่งอัทธานะตามประการดังกล่าวมานี้ ไม่อาจสืบสวนไปจนถึงจุดเริ่มต้นได้ เรียกว่าไม่มีที่สุดเบื้องต้น แม้เกี่ยวกับทางทวารที่เหลือมีทางหูเป็นต้น บัณฑิตก็เพิ่งทราบตามทำนองดังกล่าวมานี้เถิด. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒. ปัญหาที่ ๓ โกฏิปัญญายนปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ท่านกล่าวว่า “ปลายสุดข้างต้นไม่ปรากฏ” ดังนี้ ใด ก็ปลายสุดข้างต้นนั้นเป็นไฉน ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร อัทธานะที่ล่วงไปแล้วชื่อว่า ปลายสุดข้างต้นพระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ท่านกล่าวว่า “ปลายสุดข้างต้นย่อมไม่ปรากฏ” ดังนี้ ใด ปลายสุดข้างต้นนั้นแม้ทุกอย่างหรือไม่ปรากฏ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ปลายสุดข้างต้นบางอย่างปรากฏ ปลายสุดข้างต้นบางอย่างไม่ปรากฏ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ปลายสุดอะไรปรากฏ ปลายสุดอะไรไม่ปรากฏ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ว่า ก่อนหน้านี้อวิชชาไม่เคยมีเลยโดยสิ้นเชิง โดยทุกประการทั้งสิ้น ดังนี้ ชื่อว่า ปลายสุดข้างต้นย่อมไม่ปรากฏ สิ่งใดไม่มี ก็มีขึ้น มีแล้วก็กลับปราศไป นี้จัดเป็นปลายสุดทางข้างต้นย่อมปรากฏ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน สิ่งใดไม่มีก็กลับมามีขึ้น มีแล้วก็กลับปราศไป สิ่งนั้นถูกตัดโดยขณะทั้ง ๒ (ขณะเกิดขึ้นและขณะดับไป) แล้ว ย่อมถึงซึ่งความตั้งอยู่มิได้ มีใช่หรือ
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ถูกตัดโดยขณะทั้ง ๒ ก็ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ปลายสุดที่ถูกตัดโดยขณะทั้ง ๒ สามารถเจริญได้หรือ. พระราชา, ใช่ปลายสุดแม้นั้น สามารถเจริญได้ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้ถามว่า ปลายสุดสามารถเจริญได้หรือไม่, ถามว่า ปลายสุดสามารถเจริญได้โดยปลายสุดหรือไม่. พระนาคเสน, ใช่สามารถเจริญได้. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระเถระได้กระทำอุปมาเรื่องต้นไม้แก่พระเจ้ามิลินท์นั้น ว่าขันธ์ทั้งหลายเป็นพืชแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบโกฏิปัญญายนปัญหาที่ ๓
คำอธิบายปัญหาที่ ๓
ปัญหาเกี่ยวกับความปรากฏแห่งปลายสุดชื่อว่า โกฏิปัญญายนปัญหา. คำว่า ปลายสุดข้างต้น แม้ทุกอย่างหรือ ไม่ปรากฏ ความว่า ปลายสุดข้างต้นแห่งอัทธานะ (สิ่งมีกาล) ที่เป็นอดีต, ปลายสุดข้างต้นแห่งอัทธานะที่เป็นอนาคต ปลายสุดข้างต้นแห่งอัทธานะที่เป็นปัจจุบัน ทั้งหมดเลยหรือ ไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น พระเถระจึงถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร ปลายสุดข้างต้นบางอย่างปรากฏ ปลายสุดข้างต้นบางอย่างไม่ปรากฏ ดังนี้. คำว่า ก่อนหน้านี้อวิชชาไม่เคยมี ความว่า ปลายสุดข้างต้นแห่งอวิชชาที่จะพึงพิจารณาเห็นว่ามีหรือไม่มีหนอ ดังนี้ใด ปลายสุดเบื้องต้นแห่งอวิชชานั้น ไม่ปรากฏ พระเถระถวายวิสัชนา โดยยกเฉพาะอวิชชาเป็นนิทัสสนะ พึงทราบว่าปลายสุดข้างต้นแม้แห่งธรรมเหล่าอื่น มีสังขารเป็นต้น ล้วนไม่ปรากฏ ความว่า อันใครๆ ไม่อาจรู้ได้. ปลายสุดข้างต้นบางอย่าง ปรากฏอย่างไร ในความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแห่งขันธ์แต่ละขันธ์ ที่ถึงขณะทั้ง ๓ ความเกิดขึ้นที่พึงเห็นได้ด้วยอุทยัพพยญาณ จัดเป็นปลายสุดข้างต้นแห่งความดับไป ชื่อว่าย่อมปรากฏ แม้ความดับไปก็จัดเป็นปลายสุดข้างท้ายแห่งความเกิดขึ้น ชื่อว่าย่อมปรากฏ ความเกิดขึ้น ได้แก่นิพพัตติลักษณะ (ลักษณะที่บังเกิด) ท่านเรียกว่า อุทยะ – ความเกิดขึ้น ความดับไป ได้แก่วิปริณามลักษณะ ท่านเรียกว่า วยะ – ความปราศไป ก็สำหรับอัทธานะ (สิ่งมีกาล) ที่เป็นปัจจุบัน ปลายสุดข้างต้น ย่อมปรากฏโดยปลายสุดข้างท้ายอย่างนี้.
พระโยคาวจรนั้น ย่อมพิจารณาเห็นว่า ในกาลเเม้อดีตที่มีลำดับก่อนๆ แห่งขันธ์ ที่ถึงขณะทั้ง ๓ ปลายสุดข้างต้นก็ได้ปรากฏแล้ว โดยปลายสุดข้างท้าย ในกาลแม้อนาคต ที่มีลำดับหลังๆ แห่งขันธ์ ที่ถึงขณะทั้ง ๓ ปลายสุดข้างต้น ก็จะปรากฏโดยปลายสุดข้างท้าย เหมือนอย่างขันธ์ที่ถึงขณะทั้ง ๓ ในกาลปัจจุบันนี้นั่นเทียว พระเถระหมายเอาความดังกล่าวมานี้นั้นเทียว กล่าวว่า “สิ่งใดไม่มี ก็มามีขึ้น มีแล้ว ก็กลับปราศไป” ดังนี้ ในคำนั้น คำว่า สิ่งใดได้แก่พืช คือขันธ์ คำว่า ไม่มี คือไม่เคยมีมาก่อน คำว่า ก็มามีขึ้น คือ ก็มามีขึ้นในบัดนี้ คำว่า มีแล้ว คือมีในบัดนี้แล้ว คำว่า กลับปราศไป คือกลับปราศไปในบัดนี้ ปลายสุดข้างต้นที่พึงเห็นได้อย่างนี้ ย่อมปรากฏโดยปลายสุดข้างท้าย. คำว่า ปลายสุดที่ถูกตัดโดยขณะทั้ง ๒ สามารถเจริญได้หรือ ? คือสามารถเห็นแจ้งได้ด้วยญาณหรือ พระเถระกล่าวหมายเอาอุทยัพพยญาณ เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงตรัสว่า ใช่ ปลายสุดแม้นั้นสามารถเจริญได้ คือสามารถรู้ได้ คำว่า ปลายสุดสามารถเจริญได้โดยปลายสุดหรือไม่ ความว่า ปลายสุดข้างต้นสามารถเจริญได้ คือรู้ได้ไม่ขาดสายโดยปลายสุดข้างท้ายหรือไม่. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓
ปัญหาที่ 4 สังขารชายมานปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ (เมื่อมีสังขารเหล่านั้น) สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ย่อมเกิดขึ้นหรือ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ถูกต้องแล้ว สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเกิดขึ้น. พระเจ้ามิลินท์, สังขารที่มีอยู่ และสังขารที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นไฉน พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมื่อมีจักขุ (ตา) และเมื่อมีรูป (ภาพ) ก็ย่อมมีจักขุวิญญาณ, เมื่อมีจักขุวิญญาณก็ย่อมมีจักขุสัมผัสสะ, เมื่อมีจักขุสัมผัสสะก็ย่อมมีเวทนา, เมื่อมีเวทนาก็ย่อมมีตัณหา, เมื่อมีตัณหาก็ย่อมมีอุปาทาน, เมื่อมีอุปาทานก็ย่อมมีภพ, เมื่อมีภพก็ย่อมมีชาติ, เมื่อมีชาติก็ย่อมมี ชรา มรณโสกปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้โดยอาการอย่างนี้. ขอถวายพระพร เมื่อไม่มีจักขุ และเมื่อไม่มีรูป ก็ย่อมไม่มีจักขุวิญญาณ, เมื่อไม่มีจักขุวิญญาณ ก็ย่อมไม่มีจักขุสัมผัสสะ เมื่อไม่มีจักขุสัมผัสสะ ก็ย่อมไม่มีเวทนา เมื่อไม่มีเวทนา, ก็ย่อมไม่มีตัณหา เมื่อไม่มีตัณหา ก็ย่อมไม่มีอุปาทาน เมื่อไม่มีอุปาทาน ก็ย่อมไม่มีภพ เมื่อไม่มีภพ ก็ย่อมไม่มีชาติ เมื่อไม่มีชาติ ก็ย่อมไม่มีชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมิได้โดยอาการอย่างนี้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบสังขารชายมานปัญหาที่ ๔
คำอธิบายปัญหาที่ ๔
ปัญหาที่ถามถึงสังขารที่เกิดชื่อว่าสังขารชายมานปัญหา คำว่าสังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้แก่สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยทำให้เกิดขึ้น) ทั้งหลายทั้งปวง ที่ได้ถือเอาด้วยศัพท์ว่าสังขารในหลักฐานที่มาที่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง, สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ดังนี้ มิได้หมายเฉพาะสังขารที่มีอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นอันพระราชาตรัสถามว่า เมื่อสังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเกิดขึ้นหรือ ดังนี้นั่นเอง. คำว่า กตเม เต หมายความว่า สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีอยู่นั้นเป็นไฉน และสังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไฉน. พระเถระต้องการเฉลยคำตรัสถามนั้น จึงกล่าวว่า เมื่อมีจักขุ และเมื่อมีรูป ก็ย่อมมีจักขุวิญญาณ ดังนี้เป็นต้น ในคำวิสัชนานั้นถ้าหากว่า จะถามย้อนขึ้นไปว่า เมื่อมีอะไรเล่าจึงมีจักขุ ก็ตอบว่า เมื่อมีนามรูป จึงมีจักขุ เมื่อมีอะไรเล่าจึงมีนามรูป เมื่อมีวิญญาณ จึงมีนามรูป เมื่อมีอะไรเล่า จึงมีวิญญาณ เมื่อมีสังขารจึงมีวิญญาณ เมื่อมีอะไรเล่า จึงมีสังขาร เมื่อมีอวิชชา จึงมีสังขาร ฉะนี้แล เพราะเหตุนั้น จึงพึงทำการประกอบความให้บริบูรณ์อย่างนี้ ว่า เมื่อมีอวิชชา ก็ย่อมมีสังขาร เมื่อมีสังขาร ก็ย่อมมีวิญญาณ เมื่อมีวิญญาณ ก็ย่อมมีนามรูป เมื่อมีนามรูป ก็ย่อมมีจักขุ เมื่อมีจักขุและรูป ก็ย่อมมีจักขุวิญญาณ ฯลฯ เมื่อมีชาติ ก็ย่อมมีชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส แม้ในนิโรธวาระ ก็พึงทำการประกอบความให้บริบูรณ์อย่างนี้ ว่า เมื่อไม่มีอวิชชา ก็ย่อมไม่มีสังขาร ฯลฯ เมื่อไม่มีจักขุและรูป ก็ย่อมไม่มีจักขุวิญญาณ ฯลฯ เมื่อไม่มีชาติ ก็ย่อมไม่มีชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส. คำว่า ความดับไป (แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น) ได้แก่ความดับคือความไม่เกิดขึ้น โดยประการอย่างนี้ คือ เมื่อวิชาเกิดขึ้น ก็ย่อมไม่มีอวิชชา เมื่อไม่มีอวิชชา ก็ย่อมไม่มีสังขาร ดังนี้เป็นต้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔
ปัญหาที่ ๕ ภวันตสังขารชายมานปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นมีอยู่หรือ ?. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ ขอถวายพระพร สังขารทั้งหลายเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นอย่างไร พระราชมณเฑียรที่พระองค์ประทับนั่งอยู่นี้ เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่หรือไร. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าในเรือนหลังนี้อะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ หามีไม่ ที่เกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น, พระคุณเจ้า ตัวไม้ทั้งหลายก็มีอยู่แล้วในป่า, ดิน (ที่ใช้ทำเป็นผนัง) ก็ได้มีอยู่แล้วที่พื้นแผ่นดิน อาศัยความพยายามที่สมควรแก่การนั้นของหญิงและชายทั้งหลาย อย่างนี้แล้ว เรือนหลังนี้จึงสำเร็จได้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เหมือนกันสังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารเหล่านั้นเกิดมาแล้วล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น
พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าพืชต้นไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเขาปลูกไว้บนพื้นดิน เมื่อถึงความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ไปตามลำดับได้ ก็จะพึงให้ดอกและผล ต้นไม้เหล่านั้นหาได้เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ไม่ ต้นไม้เหล่านั้นเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น ฉันใด ขอถวายพระพร สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารเหล่านั้นเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าพวกช่างปั้นหม้อตักเอาดินขึ้นจากพื้นดินทำเป็นภาชนะต่างๆ ภาชนะเหล่านั้นหาได้เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ไม่ เกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น ฉันใด ขอถวายพระพร สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารทั้งหลายเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด.
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าใบพิณก็ไม่มี หนังพิณก็ไม่มี ท้องพิณก็ไม่มี คันพิณก็ไม่มี คอพิณก็ไม่มี สายพิณก็ไม่มี อุปกรณ์เครื่องดีดสายพิณก็ไม่มี และความพยายามอันควรแก่การนั้นของบุรุษก็ไม่มี เสียงพิณพึงเกิดได้หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, เสียงพิณไม่อาจเกิดได้หรอก พระคุณเจ้าพระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าเมื่อใดแล ใบพิณก็มี หนังพิณก็มี ท้องพิณก็มี คันพิณก็มี คอพิณก็มี สายพิณก็มี อุปกรณ์เครื่องดีดสายพิณก็มี ความพยายามอันควรแก่การนั้นของบุรุษก็มี เสียงพิณก็เพิ่งเกิดได้ ใช่หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่เพิ่งเกิดได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารเหล่านั้นเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ไม้สีไฟตัวแม่ก็ไม่มี ไม้สีไฟตัวลูกก็ไม่มี เชือกผูกไม้สีไฟก็ไม่มี ไม้สีไฟท่อนบนก็ไม่มี ขี้ฝอยก็ไม่มี และความพยายามอันควรแก่การนั้นแห่งบุรุษก็ไม่มี ไฟนั้นพึงเกิดได้หรือไม่
พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจเกิดได้หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพรก็แต่ว่าเมื่อใดแล ไม้สีไฟตัวแม่ก็มี ไม้สีไฟตัวลูกก็มี เชือกผูกไม้สีไฟก็มี ไม้สีไฟท่อนบนก็มี ขี้ฝอยก็มี และความพยายามอันควรแก่การนั้นของบุรุษก็มี ไฟนั้นก็จะพึงเกิดได้ ใช่หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่พึงเกิดได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารเหล่านั้นเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า แก้วมณีก็ไม่มี แสงแดดก็ไม่มี โคมัย (แว่นขยาย) ก็ไม่มี ไฟนั้นพึงเกิดได้หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจเกิดได้หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ก็แต่ว่าเมื่อใดแก้วมณีก็มี แสงแดดก็มี โคมัยก็มี ไฟนั้นก็จะพึงเกิดได้ ใช่หรือไม่.
พระเจ้ามิลินท์, ใช่พึงเกิดได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารเหล่านั้นเกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนว่ากระจกเงาก็ไม่มี แสงสว่างก็ไม่มี หน้าคนส่องก็ไม่มี ตัวคน (เงาหน้าคน) จะเพิ่งเกิดได้หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจเกิดได้หรอก พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าเมื่อใดแลกระจกเงาก็มี แสงสว่างก็มี หน้าคนส่องก็มี ตัวคน (เงาหน้าคน) จะพึงเกิดได้ ใช่หรือไม่. พระเจ้ามิลินท์, ใช่พึงเกิดได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ สังขารเหล่านั้นหามีไม่ สังขารเหล่านั้นเกิดมาล้วนเป็นจริงมีอยู่ทั้งนั้น. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบภวันตสังขารชายมานปัญหา ๕
คำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ เกิดเป็นสังขารทั้งหลาย ชื่อว่า ภวันตสังขารชายมานปัญหา. คำว่า พระราชมณเฑียรที่พระองค์ประทับนั่งอยู่นี้ เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่หรือไร หมายความว่า ไม่มีอยู่หรือ ถ้าหากว่าไม่มีอยู่ไซร้ ขอถามว่า พระองค์ประทับนั่งอยู่ในที่ไหนเล่า พระราชาเมื่อจะทรงแสดงว่า ล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น จึงตรัสว่า “พระคุณเจ้า ตัวไม้ทั้งหลายก็มีอยู่แล้วในป่า” ดังนี้เป็นต้น. คำว่า ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น หมายความว่า พระเถระปฏิเสธว่า ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าในพระราชมณเฑียรของพระองค์นี้ ไม้ ดินอะไรๆ เป็นสิ่งไม่มีอยู่ไซร้ พระราชมณเฑียรอะไรๆ ก็ย่อมไม่มี แต่เพราะเหตุที่ไม้และดินเป็นสิ่งมีอยู่ในป่าและที่พื้นดิน เพราะเหตุนั้น พระราชมณเฑียรหลังที่บังเกิดจากไม้และดินนี้ย่อมเป็นสิ่งมีอยู่ ฉันใดถ้าหากว่าปัจจัยแห่งสังขารอะไรๆ ที่เกิดมาเป็นสิ่งไม่มีอยู่ไซร้ สังขารอะไรๆ ก็ย่อมไม่มีทั้งนั้น แต่เพราะเหตุที่ปัจจัยแห่งสังขารเป็นสิ่งมีอยู่ เพราะเหตุนั้น สังขารอะไรๆ ที่เกิดมาล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ทั้งนั้น ฉันนั้น แม้ในอุปมาที่เหลือ ก็พึงทราบความหมายโดยนัยนี้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาที่ ๖ เวทคูปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน เวทคูมีอยู่หรือ ? (เวทคู = อัตตา) พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร ก็ใครเล่าชื่อว่าเวทคูนี้ ?. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ได้แก่ตัวอัพภันตรชีวะ (ชีวะภายใน) ซึ่งมองดูรูปทางตาบ้าง ฟังเสียงทางหูบ้าง ดมกลิ่นทางจมูกบ้าง ลิ้มรสทางลิ้นบ้าง ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายบ้าง รู้ธรรมทางใจบ้าง เปรียบเหมือนว่า เรานั่งกันอยู่บนปราสาทต้องการจะมองดูไปทางหน้าต่างช่องใดๆ เราก็มองดูไปทางหน้าต่างช่องนั้นๆได้ คือว่าจะมองดูไปทางหน้าต่างด้านทิศตะวันออกก็ได้ จะมองดูไปทางหน้าต่างด้านทิศตะวันตกก็ได้ จะมองดูไปทางหน้าต่างทิศเหนือก็ได้ จะมองดูไปทางหน้าต่างด้านทิศใต้ก็ได้ ฉันใด พระคุณเจ้า ตัวอัพภันตรชีวะนี้ต้องการจะมองดูรูปเป็นต้น ทางทวารใดๆ ก็ย่อมมองดูรูปเป็นต้น ทางทวารนั้นๆได้ฉันนั้นเหมือนกัน
พระเถระถวายวิสัชนาว่า ขอถวายพระพร อาตมาภาพจะขอถวายพระพร กล่าวถึงทวาร ๕ ขอพระองค์จงทรงสดับเรื่องทวาร ๕ นั้นขอจงทรงกระทำไว้ในพระทัยให้ดีเถิด เปรียบเหมือนว่าเรานั่งอยู่บนปราสาท ต้องการจะมองดูรูปทางหน้าต่างช่องใดๆ เราก็มองดูเฉพาะรูปนั่นเทียว ทางหน้าต่างช่องนั้นๆ คือเราพึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางหน้าต่างด้านทิศตะวันออกก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางหน้าต่างด้านทิศตะวันตกก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางหน้าต่างด้านทิศเหนือก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางหน้าต่างด้านทิศใต้ก็ได้ ฉันใด ถ้าหากว่า ตัวอัพภันตรชีวะพึงมองดูรูปทางตาได้ไซร้ ตัวอัพภันตรชีวะนั้น ก็พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางหูก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางจมูกก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางลิ้นก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางกายก็ได้ พึงมองดูรูปนั่นแหละ ทางใจก็ได้ พึงฟังเสียงนั่นแหละ ทางตาก็ได้ พึงฟังเสียงนั่นแหละ ทางจมูกก็ได้ พึงฟังเสียงนั่นแหละ ทางลิ้นก็ได้ พึงฟังเสียงนั่นแหละ ทางกายก็ได้ พึงฟังเสียงนั่นแหละ ทางใจก็ได้ พึงดมกลิ่นนั่นแหละ ทางตาก็ได้ พึงดมกลิ่นนั่นแหละ ทางหูก็ได้ พึงดมกลิ่นนั่นแหละ ทางลิ้นก็ได้ พึงดมกลิ่นนั่นแหละ ทางกายก็ได้ พึงดมกลิ่นนั่นแหละ ทางใจก็ได้ พึงทางตาก็ได้ พึงลิ้มรสนั่นแหละ ทางหูก็ได้ พึงลิ้มรสนั่นแหละ ทางจมูกก็ได้ พึงลิ้มรสนั่นแหละ ทางกายก็ได้ พึงลิ้มรสนั่นแหละ ทางใจก็ได้ พึงถูกต้องโผฏฐัพพะนั่นแหละ ทางตาก็ได้ พึงถูกต้องโผฏฐัพพะนั่นแหละ ทางหูก็ได้ พึงถูกต้องโผฏฐัพพะนั่นแหละ ทางจมูกก็ได้ พึงถูกต้องโผฏฐัพพะนั่นแหละ ทางลิ้นก็ได้ พึงถูกต้องโผฏฐัพพะนั่นแหละ ทางใจก็ได้ พึงรู้ธรรมะแม้ทางตาก็ได้ พึงรู้ธรรมแม้ทางหูก็ได้ พึงรู้ธรรมแม้ทางจมูกก็ได้ พึงรู้ธรรมแม้ทางลิ้นก็ได้ พึงรู้ธรรมแม้ทางกายก็ได้ ฉันนั้น เหมือนกันหรือไร
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระดำรัสของพระองค์คราวหลังไม่สมกับคราวแรก หรือคราวแรกไม่สมกับคราวหลัง ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่าเรานั่งกันอยู่บนปราสาทหลังนี้ เปิดหน้าต่างเหล่านี้ออก หันหน้าตรงไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ย่อมมองดูรูปชัดเจนยิ่งฉันใด ตัวอัพภันตรชีวะนั้น เมื่อได้เปิดจักขุทวารหันหน้าตรงไปภายนอกอาคารอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ย่อมมองดูรูปได้ชัดเจนยิ่ง เมื่อได้เปิดโสตทวาร เมื่อได้เปิดฆานทวาร เมื่อได้เปิดชิวหาทวาร เมื่อได้เปิดกายทวารหันหน้ามองไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ย่อมมองดูรูปได้ชัดเจนยิ่ง
อนึ่ง เมื่อได้เปิดโสตทวารหันหน้าตรงไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ย่อมฟังเสียงได้ชัดเจนยิ่ง เมื่อได้เปิดจักขุทวาร เมื่อได้เปิดฆานทวาร เมื่อได้เปิดชิวหาทวาร เมื่อได้เปิดกายทวาร หันหน้าตรงไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ย่อมฟังเสียงได้ชัดเจนยิ่ง. อนึ่ง เมื่อได้เปิดฆานทวาร หันหน้าตรงไปภายนอก ทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ย่อมดมกลิ่นได้ชัดเจนยิ่ง ฯลฯ เมื่อได้เปิดชิวหาทวาร ก็ย่อมได้ลิ้มรสชัดเจนยิ่ง ฯลฯ เมื่อได้เปิดกายทวาร ก็ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะได้ชัดเจนยิ่ง ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกัน หรือไร
พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระดำรัสของพระองค์คราวหลังไม่สมกับคราวแรก หรือคราวแรกไม่สมกับคราวหลัง ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้นี้ได้รับพระราชทานแล้วก็ออกไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก ขอถวายพระพร พระองค์ทรงทราบหรือไม่ว่า บุรุษผู้นี้ได้รับพระราชทานแล้วออกไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก
พระเจ้ามิลินท์, ใช่ข้าพเจ้าทราบ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ส่วนอีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้นี้ได้รับพระราชทานแล้วเข้าไปยืนอยู่ข้างในเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ ขอถวายพระพร พระองค์ทรงทราบหรือไม่ว่าบุรุษผู้นี้ได้รับพระราชทานแล้วเข้าไปยืนอยู่ข้างในเบื้องหน้าเรา
พระเจ้ามิลินท์, ใช่ข้าพเจ้าทราบ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น เหมือนกัน ตัวอัพภันตรชีวะนั้น เมื่อได้วางรสไว้ที่ลิ้น พึงรู้ได้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว หรือว่าเป็นรสเค็ม หรือว่าเป็นรสขม หรือว่าเป็นรสเผ็ด หรือว่าเป็นรสฝาด หรือว่าเป็นรสหวาน. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พึงรู้ได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เมื่อไม่ได้เอารสใส่เข้าไปในปาก ตัวอัพภันตรชีวะนั้นพึงรู้ได้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว หรือว่าเป็นรสเค็ม หรือว่าเป็นรสขม หรือว่าเป็นรสเผ็ด หรือว่าเป็นรสฝาด หรือว่าเป็นรสหวาน
พระเจ้ามิลินท์, หารู้ได้ไม่ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระดำรัสของพระองค์คราวหลังไม่สมกับคราวแรก หรือคราวแรกไม่สมกับคราวหลัง ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง ให้เขานำน้ำผึ้ง ๑๐๐ หม้อ มาเทให้เต็มรางน้ำผึ้ง แล้วมัดปากบุรุษคนหนึ่งไว้ จับวางลงไปในรางน้ำผึ้ง ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นจะพึงรู้ได้หรือไม่ว่าเป็นน้ำผึ้งดี หรือน้ำผึ้งไม่ดี. พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจรู้ได้หรอก พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า เพราะว่าน้ำผึ้งไม่ได้เข้าไปในปากของเขา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระดำรัสของพระองค์คราวหลังไม่สมควรกับคราวแรก หรือคราวแรกไม่สมควรกับคราวหลัง. พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้ที่สามารถพอจะตอบโต้กับท่านเจ้าวาทะได้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอธิบายความด้วยเถิด. พระเถระได้ทำให้พระราชาทรงเข้าพระทัยด้วยคำพูดประกอบด้วยพระอภิธรรมว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในความข้อนี้ จักขุวิญญาณอาศัยจักขุ (ประสาทตา) และรูปเกิดขึ้น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ เป็นธรรมที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณนั้น ธรรมเหล่านี้ย่อมเกิดจากปัจจัยตามประการดังกล่าวมากระนี้ นี้ ก็เวทคู หามีอยู่ในธรรมเหล่านั้นนี้ไม่ โสตวิญญาณอาศัยโสตะ (ประสาทหู) และสัททะ (เสียง) เกิดขึ้น ฯลฯ มโนวิญญาณอาศัยมนะ (ใจ) และธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ เป็นธรรมที่เกิดร่วมกับมโนวิญญาณนั้น ธรรมเหล่านี้ย่อมเกิดจากปัจจัย ตามประการดังกล่าวมานี้ นี้ ก็เวทคู หามีอยู่ในธรรมเหล่านี้ไม่ ดังนี้. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว. จบเวทคูปัญหาที่ ๖
คำอธิบายปัญหาที่ ๖
อัตตา (ตัวตน) เรียกว่า เวทคู เพราะอรรถว่า มีปกติถึงเวท (ความรู้). คำว่า ตัวอัพภันตรชีวะนั้น เมื่อได้วางรสไว้ที่ลิ้น พึงรู้ได้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว เป็นต้น ประกอบความว่า ตัวอัพภันตรชีวะนั้นเมื่อได้วางรสไว้ที่ลิ้น มิได้วางไว้ภายนอกปากพึงรู้ทางทวารลิ้นนั้นหรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยวเป็นต้น ชื่อว่า วางรสไว้ที่ลิ้น ท่านกล่าวถึงบริเวณจับตั้งแต่คอหอยจนถึงด้านนอกปาก. คำว่า เมื่อไม่ได้เอารสใส่เข้าไปในปาก ตัวอัพภันตรชีวะนั้น พึงรู้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว เป็นต้น ประกอบความว่า เมื่อไม่ได้เอารสใส่เข้าไปในปาก วางอยู่ภายนอกปากไม่กระทบลิ้นอัพภันตรชีวะตัวนั้น พึงรู้ทางทวารลิ้นนั้นหรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว เป็นต้น. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๙
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: