วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๕)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๕), ปัญหาที่ ๕, ปัพพชปัญหา

ครั้งนั้นแล ท่านพระนาคเสนได้เข้าไปอย่างพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ามิลินท์ ครั้งเข้าไปแล้วก็นั่งบนอาสนะที่เจ้าพนักงานได้จากเตรียมไว้ ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ได้ทรงเลี้ยงดูท่านพระนาคเสนพร้อมทั้งบริษัทให้อิ่ม ให้เพียงพอด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แล้วทรงให้ภิกษุแต่ละรูปได้ครองคู่ผ้าแต่ละคู่ ให้พระนาคเสน ได้ครองไตรจีวร แล้วตรัสความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสนผู้ได้ครองจีวรแล้ว ว่า พระคุณเจ้านาคเสน ขอนิมนต์ท่านพร้อมกับพระภิกษุ ๑๐ รูปนั่งอยู่ที่นี่เถิด ภิกษุที่เหลือขอนิมนต์กลับไปก่อน ดังนี้

ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ พอทรงทราบว่าท่านพระนาคเสนฉันเสร็จแล้ว มีมือวางบาตรแล้ว ทรงยึดเอาอาสนะเตี้ยกว่าที่หนึ่ง ทรงนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง, พระเจ้ามิลินท์ ครั้งทรงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ก็ได้รับสั่งถามความข้อนั้นกับท่านพระนาคเสน ว่า พระคุณเจ้านาคเสนเราจะมีการพูดคุยสนทนากันในเรื่องอะไรบ้าง

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พวกเรามีความต้องการด้วยประโยชน์ ขอจงมีการพูดคุยสนทนากันในเรื่องที่มีประโยชน์เถิด

พระราชาตรัสถามว่า, พระคุณเจ้านาคเสน การบวชมีประโยชน์อะไร ก็ประโยชน์อย่างยิ่งของพวกท่านคืออะไร

พระเถระถวายวิสัชนา, ประโยชน์อะไรหรือ ขอถวายพระพร พวกอาตมาภาพบวชเพื่อประโยชน์ข้อนี้ คือทุกข์นี้พึงดับไปเสีย และทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้น ขอถวายพระพร การบวชของพวกอาตมาภาพก็มีข้อที่กล่าวมากระนี้นี้ เป็นประโยชน์ก็แล อนุปาทาปรินิพพานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของพวกอาตมภาพ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสนพวกท่านทุกรูปล้วนบวชเพื่อประโยชน์ข้อนี้หรือ

พระนาคเสน, หามิได้ ขอถวายพระพร บางรูปก็บวชเพื่อประโยชน์ข้อนี้ บางรูปเป็นผู้ที่พระราชามีรับสั่งให้ไปจับตัวไปก็บวช (บวชหนีพระราชา) บางรูปเป็นผู้ที่พวกโจรหมายจะจับตัวไป ก็บวช (บวชหนีโจร) บางรูปบวชหนีหนี้ บางรูปบวชเพื่อประโยชน์แก่การเลี้ยงชีพ ส่วนพระภิกษุเหล่าใดบวชโดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมบวชเพื่อประโยชน์ข้อนี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ตัวท่านบวชเพื่อประโยชน์ข้อนี้ หรือ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ยังไม่ทราบว่าเราบวชเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนี้ ก็แต่ว่าอาตมาภาพเกิดความคิดอย่างนี้ ว่า พวกสมณศากยะบุตรเหล่านี้เป็นบัณฑิต ท่านเหล่านั้นจะสั่งสอนเรา อาตมภาพนั้น พอท่านเหล่านั้นสั่งสอนแล้ว จึงรู้และจึงเห็นว่า การบวชย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนี้ ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบปัพพชปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

คำว่า ปัพพชปัญหา แปลว่าปัญหาเกี่ยวกับการบวช.  ชื่อว่าบรรพชา (การบวช) ความว่า บรรพชาโดยวิธีกล่าวคำถึงไตรสรณะ เป็นบรรพชาของสามเณร ส่วนบรรพชาทั้ง ๘ วิธีมี เอหิภิกขุวิธี (จงมาเป็นภิกษุเถิด) เป็นต้น ชื่อว่า อุปสมบท, เป็นของภิกษุ

พระราชาตรัสถามประโยชน์ของการบวช ด้วยทรงมีความคลางแคลงพระทัย ไม่ทรงอาจตัดสินพระทัยได้ว่า อะไรเป็นประโยชน์โดยตรงของการบวชกันแน่ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในที่หลายแห่ง แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน คือในที่หนึ่งทรงยอมรับว่า การบวชนี้นับเป็นมรดกอย่างหนึ่งของพระองค์จึงทรงอนุญาตให้กุลบุตรผู้ต้องการบวชได้บวช เพื่อรับมรดกนี้เหมือนอย่างที่คราวที่พระราหุลกุมารถูกพระชนนี แนะนำให้ไปขอมรดกจากพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็เวียนติดตามพระผู้มีพระภาคไปพร้อมกับพร่ำเปล่งวาจา ว่า “ทายชฺชํ เม สมณ เทหิ, ทายชฺชํ เม สมณ เทหิ” ท่านสมณะ ขอจงทรงมอบมรดกให้ลูกเถิด ท่านสมณะขอจงทรงมอบมรดกให้ลูกเถิด ดังนี้ ซึ่งพระองค์ทรงสดับแล้วก็ส่งมอบมรดก คือการบวชให้ รับสั่งแก่พระสารีบุตร ว่า “เตนหิ ตฺวํ สาริปุตฺต ราหุลํ ปพฺพาเชถ”  นี่แน่ สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ราหุลได้บวชเถิด ดังนี้เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง ตรัสว่า ธรรม คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นมรดกของพระองค์ บุคคลผู้บวชเพื่อประโยชน์แก่โพธิปักขิยธรรม ชื่อว่าเป็นธรรมทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) ทรงแนะนำให้บวชเพื่อประโยชน์แก่โพธิปักขิยธรรมนี้ เหมือนอย่างที่ตรัสในธัมมทายาทสูตรว่า “ธมฺมทายาทา ภิกฺขเว ภวถ, มาอามิสทายาทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย ดังนี้ เป็นต้น

ส่วนใน รถวินีตสูตร พระปุณณมันตานีเถระ ถูกท่านพระสารีบุตรถามถึงความประสงค์ในการบวชประพฤติพรหมจรรย์ของท่าน ก็ตอบว่า “อนุปาทาปรินิพฺพานตฺถํ โข อาวุโส ภควติ พฺรหฺมจริยํ วุสฺสติ” ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าอบรมพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาค เพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน ดังนี้ ได้คำตอบนี้ แสดงว่า อนุปาทาปรินิพพานเป็นประโยชน์ของการบวช

เพราะมีคำกล่าวถึงประโยชน์ของการบวชแปลกๆ แตกต่างกันอย่างนี้ พระราชาผู้ทรงมีความคลางแคลงพระทัยในเรื่องนี้ จึงได้ตรัสถามว่า “การบวชมีประโยชน์อะไร ก็ประโยชน์อย่างยิ่งของพวกท่านคืออะไร” ดังนี้

พึงทราบว่า คำพูดถึงประโยชน์ของการบวชมีประการต่างๆ กันเหล่านั้น เป็นเพียงเทศนาโวหารอันเยื้องกรายไปให้เหมาะแก่อุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ผู้ต้องการการบวช ความจริงประโยชน์เหล่านั้นล้วนรวมลงได้ในประโยชน์อันเดียวคือ อนุปาทาปรินิพพาน กล่าวคือ ทีแรกการจะมีโอกาสได้รับประโยชน์ข้อนี้ด้วยดี มีอุปสรรคน้อย กุลบุตรพึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในเพศนักบวชก่อน เพราะเหตุนั้น จึงทรงนับการบวชนี้นี่แหละว่าเป็นมรดกอย่างหนึ่งของพระองค์ อนึ่ง เมื่อบวชแล้ว ก็ไม่ควรพอใจอยู่ด้วยความเป็นนักบวชนั้นเท่านั้น ยังมีกิจที่ผู้เป็นนักบวชต้องทำ คือประพฤติตามธรรมและวินัย ถามว่า เพื่อประโยชน์อะไร ตอบว่าเพื่อความเป็นทายาทรับมรดกที่สูงส่งกว่าการบวชนั้น คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็โพธิปักขิยธรรมที่จะได้รับนั้น มีประโยชน์อะไร ตอบว่า มีประโยชน์คือเป็นเหตุให้แจ้งพระนิพพาน คือ อุปาทาปรินิพพานนี้ ซึ่งมีความดับทุกข์เป็นอานิสงส์ ฉะนี้แล เพราะฉะนั้น พระเถระจึงถวายวิสัชนาประโยชน์ของการบวชอันถึงยอด ว่า “ทุกข์นี้พึงดับไปเสีย ทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้น, ก็แล อนุปาทาปรินิพพานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของพวกอาตมภาพ” ดังนี้

คำว่า ทุกข์นี้พึงดับไปเสีย ความว่า ทุกข์นี้ คืออุปาทานขันธ์ ที่มีอยู่ในอัตภาพปัจจุบันนี้ ซึ่งสำหรับพระอรหันต์ผู้ปราศจากตัณหาแล้วโดยประการทั้งปวง ก็เป็นเพียงขันธ์ที่เหลืออยู่ พึงดับไปเสีย คือพึงสิ้นสุดไปเมื่อถึงคราวจุติ โดยประการที่หมดความเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในภพใหม่

คำว่า ทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้น ความว่า ทุกข์อื่นคืออุปทานขันธ์ที่จะมีต่อในโลกหน้าก็ไม่พึงเกิดขึ้น เพราะหมดเหตุ

คำว่า อนุปาทาปรินิพพาน ก่อนอื่น พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระนิพพานโดยโวหาร โดยชื่อต่างๆ กัน โดยปริยายต่างๆกัน เช่น ที่มาคู่กัน ว่า สอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นต้น

ในบรรดาชื่อเหล่านั้น มีอรรถาธิบายว่าอุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่า อุปาทิ เพราะเป็นสิ่งที่ตัณหายึดมั่นโดยความเป็นผลของตน อุปาทานขันธ์ ๕ ที่ชื่อว่า อุปาทิ นั่นแหละ เป็นส่วนที่เหลือ (จากตัณหาที่ละได้หมดแล้ว) เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อุปาทิเสส พระนิพพานชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะเป็นความดับคือความเกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ได้แห่งตัณหานั้น โดยประการที่ยังมีอุปาทิคืออุปทานขันธ์ ๕ นั้น เป็นส่วนที่เหลืออยู่ ความว่า เป็นความดับตัณหาแห่งพระอรหันต์ผู้ยังดำรงชีวิตอยู่ในอัตภาพปัจจุบันนี้

ก็แล ตัณหานั้น เมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นด้วยสามารถแห่งวิปลาส ว่า งามบ้าง ว่าเที่ยงบ้าง ว่าเป็นสุขบ้าง ว่าเป็นอัตตาบ้าง เมื่อจะดับไปสิ้นไปก็ย่อมดับไปสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นนั่นแหละ ด้วยสามารถแห่งมรรคภาวนา ความว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นที่เกิดและเป็นที่ดับตัณหา ข้อนี้สมจริงดังที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า “ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ, เอตฺเถสา ตณฺหา อัปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ สภาวะที่น่ารัก สภาวะที่น่ายินดีในโลก (คืออุปทานขันธ์ ๕) ใด ตัณหานี้เมื่อจะเกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นในสภาวะที่น่ารัก สภาวะที่น่ายินดี นี้” ดังนี้ และว่า “ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ, เอตฺเถสา ตณฺหา ปหิยฺยมานา ปหิยฺยติ, เอตถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ สภาวะที่น่ารัก สภาวะที่น่ายินดีในโลก ใด ตัณหานี้ เมื่อจะถูกละไป ย่อมถูกละไปในสภาวะที่น่ารักที่น่ายินดี นี้ เมื่อจะดับไป ย่อมดับไปในสภาวะที่น่ารัก ที่น่ายินดีนี้” ดังนี้ เมื่อเป็นที่ดับตัณหา คือเป็นที่ละให้สิ้นไป ก็ชื่อว่าเป็นนิพพาน ก็แลคำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน มีความหมายว่า พระนิพพานที่เป็นไปกับอุปาทิ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งยังเหลืออยู่ อันจะสิ้นสุดไปเมื่อพระอรหันต์ถึงคราวจุติ โดยประการที่อุปาทินั้นเป็นที่ดับตัณหา เมื่อเป็นเช่นนี้ สอุปาทิเสสนิพพาน นั้น จึงมีอันนับเนื่องเข้าในอุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอุปทานขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ในภพนี้ ที่ยังทรงอยู่ และเหมือนนับเนื่องเข้าในอุปทานขันธ์ ก็ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในทุกขสัจ

ส่วน อนุปาทิเสสนิพพาน แปลว่า พระนิพพานที่ไม่มีอุปาทิอันเป็นส่วนเหลือ หมายความว่า เมื่อพระอรหันต์จุติ ก็ไม่มีอุปาทิคืออุปาทานขันธ์ ๕ นั้นเหลืออยู่อีกเลย กล่าวคือไม่มีเหลือยืดเยื้อไปในภพหน้า เพราะฉะนั้น อนุปาทิเสสนิพพานจึงเล็งเอาอุปาทานขันธ์ ๕ ที่จะมีต่อไปในภายภาคหน้าคือในภพหน้า แต่มีไม่ได้เพราะมรรคภาวนาถึงความบริบูรณ์ดีแล้วโดยประการทั้งปวง ก็แล พระนิพพานจะได้ชื่อ ได้บัญญัติ ได้สมัญญา ได้โวหาร ว่า อนุปาทิเสสนิพพานก็ในเมื่อมีการเพ่งถึงขันธ์ในภพหน้านั้นทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แม้อนุปาทิเสสนิพพานนี้ ก็มีอันนับเนื่องเข้าในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นเทียว เมื่อนับเนื่องเข้าในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในทุกขสัจนั้นเหมือนกัน

ก็อุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพานที่มาคู่กันนี้เป็นการจำแนกพระนิพพานโดยปริยายคือโดยเหตุ อันได้แก่ตัณหาและอุปทานขันธ์นั่นเอง จึงไม่ใช่อสังขตธรรม (ธรรมที่หาปัจจัยพร้อมเพรียงกันสร้างขึ้นมิได้) ไม่ใช่อมตธาตุ (ธาตุที่ไม่ตาย คือไม่ถึงความดับไป) ไม่อาจสงเคราะห์เข้าในนิโรธสัจได้

ส่วน คำว่า อนุปาทาปรินิพพาน ที่มาในปัญหานี้ และ ในรถวินีตสูตรเป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า พระนิพพานอันเป็นอสังขตธรรม ซึ่งไม่นับเนื่องเข้าในขันธ์ ๕ อันเป็นสังขตธรรมเป็นอมตธาตุ ซึ่งไม่นับเนื่องเข้าในธาตุทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความดับไป และเป็นอารมณ์แห่งมรรคและผล ชื่อว่า อนุปาทา เพราะอรรถว่าหาปัจจัยทำให้เกิดขึ้นมิได้ และชื่อว่า ปรินิพพานเพราะอรรถว่าผู้ใดบรรลุ กิเลสของผู้นั้นก็ถึงความดับรอบไปเพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อรวมกันว่า อนุปาทาปรินิพพาน อนุปาทาปรินิพพานนี้ นั่นเทียวถึงการสังเคราะห์เข้าในนิโรธสัจ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาที่ ๖ ปฏิสนธิปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า “พระคุณเจ้านาคเสน บางคนตายแล้วไม่ปฏิสนธิ (ไม่เกิดอีก) มีอยู่หรือ”

พระเถระถวายวิสัชนาว่า บางคนปฏิสนธิ บางคนไม่ปฏิสนธิ พระเจ้ามิลินท์, ใครปฏิสนธิ ใครไม่ปฏิสนธิ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ผู้มีกิเลสปฏิสนธิ ผู้ไม่มีกิเลสไม่ปฏิสนธิ, พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้านาคเสน ตัวท่านจะปฏิสนธิหรือไม่, พระนาคเสน ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าอาตมาภาพเป็นผู้มีอุปาทาน อาตมาภาพก็จะปฏิสนธิ ถ้าหากว่าอาตมาภาพเป็นผู้ไม่มีอุปาทาน อาตมาภาพก็จะไม่ปฏิสนธิ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสม ท่านตอบสมควรแล้ว (ฉันทะราคะ ความอยาก = หนี้สิน – ยึดด้วยตัณหาทิฏฐิ, จุติ = เคลื่อน / ณัฏฐ).  จบปฏิสนธิปัญหาที่ ๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

คำว่า ปฏิสนธิปัญหา ได้แก่ปัญหาที่เกี่ยวกับปฏิสนธิ.  คำว่า ผู้มีอุปาทาน คือผู้มีปัจจัย (อันได้แก่กิเลสนั่นแหละ).  คำว่า ผู้ไม่มีอุปาทาน คือผู้ไม่มีปัจจัย.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาที่ ๗ โยนิโสมนสิการปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน บุคคลใดไม่ปฏิสนธิ บุคคลนั้นย่อมไม่ปฏิสนธิ เพราะมีโยนิโสมนสิการใช่หรือไม่

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร บุคคลย่อมไม่ปฏิสนธิ เพราะมีโยนิโสมนสิการ เพราะมีปัญญา และเพราะมีกุศลธรรมทั้งหลายอย่างอื่น (มีอินทรีย์ ๕ / ณัฏฐ)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า โยนิโสมนสิการนั่นแหละก็เป็นปัญญามิใช่หรือ

พระนาคเสน, หามิได้ ขอถวายพระพร (โยนิโส) มนสิการก็อย่างหนึ่ง ปัญญาก็อย่างหนึ่ง ขอถวายพระพร แม้พวกสัตว์เหล่านี้คือ แพะ แกะ โค กระบือ อูฐ ลา ก็มี (โยนิโส) มนสิการได้ แปลว่าสัตว์เหล่านั้นหามีปัญญาไม่.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบโยนิโสมนสิการปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

คำว่า โยนิโสมนสิการปัญหา แปลว่า ปัญหาเกี่ยวกับโยนิโสมนสิการ.  ก็คำว่า โยนิโสมนสิการ ปรากฏในที่มาหลายแห่ง เช่นใน เปฏโกปเทสปกรณ์ ที่ว่า “ปรโต จ โฆโส สจฺจานุสนฺธิ, อชฺฌตฺตญฺจ โยนิโสมนสิการโร (เปฏโกปเทส ๑ ฉบับภูมิพโลภิกฺขุ) – ปรโตโฆสะ (คำบอกกล่าวจากผู้อื่น) อันมีการตามสืบต่อสัจจะ และโยนิโสมนสิการภายใน” ดังนี้เป็นต้น

– คำว่า โยนิโส แปลว่าโดยถูกอุบาย คือโดยถูกทาง โดยถูกช่อง

– คำว่า มนสิการ แปลว่าการทำไว้ในใจ การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ หมายความว่า ได้แก่การทำไว้ในใจ คือใส่ใจอารมณ์เฉพาะที่ควรใส่ใจ เป็นอารมณ์ที่ใส่ใจ แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้ขึ้นได้ในเวลานั้น ไม่ปล่อยใจแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ มากมายภายนอก

ก็โยนิโสมนสิการ นี้ ไม่ใช่วิปัสสนาปัญญา ทั้งไม่ใช่มัคคปัญญา เพราะฉะนั้น พระเถระครั้นปฏิเสธว่า “หามิได้ ขอถวายพระพร” ดังนี้แล้ว จึงถวายวิสัชนาต่อไปว่า “โยนิโสมนสิการก็อย่างหนึ่ง ปัญญาก็อย่างหนึ่ง, ขอถวายพระพรแม่พวกสัตว์เหล่านี้…แต่ว่าสัตว์เหล่านั้นหามีปัญญาไม่” ดังนี้

เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งความที่ว่า สัตว์เดรัจฉานก็มีโยนิโสมนสิการได้ แต่ไม่อาจมีปัญญา (คือวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญา) ได้ นี้ บัณฑิตพึงสาธกเรื่องของนกแขกเต้า ที่ภิกษุณีเลี้ยงไว้ในสำนัก สอนให้มนสิการกรรมฐาน ว่า “อัฏฐิ อัฏฐิ – กระดูก กระดูก” ทุกเมื่อเชื่อวัน วันหนึ่งถูกเหยี่ยวใช้กรงเล็บโฉบเอาตัวไป แม้มนสิการไปว่า กระดูก กระดูก เกิดความรู้ความเห็นว่า “มีแต่กองกระดูก, กองกระดูกถูกกองกระดูกโฉบเอาไป” ดังนี้ก็ไม่อาจสืบต่อความรู้ความเห็นนั้นจนเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญาได้ ตามที่ท่านเล่าไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร เถิด

พึงทราบว่า สำหรับสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น แม้ท่านจะกล่าวว่า ไม่มีปัญญา ก็ไม่ได้หมายเอาปัญญาทุกอย่าง หมายเอาเฉพาะวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญา (รวมทั้งปัญญาอย่างอื่นที่เป็นผลเป็นอานิสงส์ของวิปัสสนาปัญญาหรือมัคคปัญญา) เท่านั้น เพราะว่าปัญญาที่ต่ำกว่านั้นสัตว์เดรัจฉานก็สามารถทำให้เกิดได้ด้วยอาศัยโยนิโสมนสิการที่มีได้นั้นนั่นแหละเป็นปัจจัย โยนิโสมนสิการไม่ใช่ปัญญา เป็นสภาวะธรรมคนละอย่างกับปัญญา เป็นเพียงเหตุ เป็นเพียงปัจจัยแห่งปัญญาเท่านั้น ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

“นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ, เยน อนุปฺปนฺนา วา สมฺมาทิฏฺฐิ อุปฺปชฺชติ อุปฺปนฺนา วา สมฺมาทิฏฺฐิ ปวฑฺฒติ ยถยิทํ ภิกฺขเว โยนิโสมนสิกาโร” (องฺ. เอกก. ๒๐/๔๒)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้สักอย่างเดียวที่เป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิอันยังไม่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น หรือสัมมาทิฏฐิอันเกิดขึ้นแล้วได้เจริญขึ้น เหมือนอย่างโยนิโสมนสิการนี้นะ ภิกษุทั้งหลาย” ดังนี้.

ก็คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ที่ตรัสไว้ในสูตรนี้ ได้แก่วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (สัมมาทิฏฐิอันเป็นวิปัสสนาปัญญา) และมัคคสัมมาทิฏฐิ (สัมมาทิฏฐิอันเป็นมัคคปัญญา)” นั่นเอง.    จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่ ๘ มนสิการลักขณปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า “พระคุณเจ้านาคเสน มนสิการมีอะไรเป็นลักษณะ ปัญญามีอะไรเป็นลักษณะ”

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร มนสิการมีการจับไว้เป็นลักษณะ ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะ

พระเจ้ามิลินท์, มนสิการมีการจับไว้เป็นลักษณะอย่างไร ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะอย่างไรขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ทรงรู้จักคนเกี่ยวข้าวบ้างหรือไม่

พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ารู้จัก

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกคนเกี่ยวข้าว เกี่ยวข้าวกันอย่างไร

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พวกเขาใช้มือซ้ายจับมัดข้าวไว้ ใช้มือขวาถือเคียว ตัดข้าวด้วยเคียว

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกคนที่เกี่ยวข้าวใช้มือซ้ายจับมัดข้าวไว้ ใช้มือขวาถือเคียวตัดข้าว ฉันใด ขอถวายพระพร พระโยคาวจรก็ย่อมใช้มนสิการจับจิตไว้ แล้วใช้ปัญญาตัดกิเลสทั้งหลาย ฉันนั้น ขอถวายพระพร มนสิการมีการจับไว้เป็นลักษณะ ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะ ตามประการดังกล่าวมานี้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  (โยนิโส ให้จิตไปอยู่กับอารมณ์ อนิจจัง ทุกขัง / ณัฏฐ).  จบมนสิการลักขณปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

คำว่า มนสิการลักขณปัญหา แปลว่า ปัญหาเกี่ยวกับลักษณะของมนสิการ.   เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงยอมรับแล้วว่า โยนิโสมนสิการเป็นสภาวะธรรมคนละอย่างกับปัญญา ก็ทรงประสงค์จะทราบต่อไปว่า ธรรมทั้ง ๒ นี้มีลักษณะเฉพาะตนต่างกันอย่างไร จึงตรัสถามว่า “พระคุณเจ้านาคเสน มนสิการมีอะไรเป็นลักษณะ” ดังนี้ เป็นต้น.  ในคำวิสัชนานั้น คำว่า “อูหนลกฺขโณ” แปลว่า มีการจับไว้เป็นลักษณะ

อธิบายว่า ก็ลักษณะที่จับถือของมนสิการ จะเหมือนอย่างลักษณะที่จับถืออารมณ์ของวิตก คือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ก็หาไม่ ก็แต่ว่าพระโยคาวจรใช้มนสิการจับถือจิตไว้ให้คอยรู้อารมณ์ (อารมณ์กรรมฐาน) เมื่อจิตนั้นคอยรู้อารมณ์อยู่ ก็ย่อมตัดกิเลสทั้งหลายได้ด้วยวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญาตามลำดับ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙ สีลลักขณปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน ก็แต่ว่า ท่านกล่าวคำนี้ว่า และเพราะมีกุศลธรรมทั้งหลายอย่างอื่น ดังนี้ใด กุศลธรรมเหล่านั้น อะไรบ้าง (ที่ไม่ให้ปฏิสนธิในอบาย / ณัฏฐ)

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า กุศลธรรมเหล่านั้น

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ศีลมีอะไรเป็นลักษณะ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ศีล มีความเป็นที่ตั้งเป็นลักษณะ คือ ศีลเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันได้แก่ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ องค์มรรค สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ, ขอถวายพระพร พระโยคาวจรผู้ตั้งในศีล อาศัยศีล ตั้งในศีลแล้ว ย่อมเจริญอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ได้ กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมไม่เสื่อมไป

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า พืช ต้นไม้ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมถึงความงอกงามความไพบูลย์, พืช ต้นไม้ เหล่านั้นล้วนอาศัยแผ่นดิน ตั้งบนแผ่นดินแล้ว ก็ย่อมถึงความงอกงามไพบูลย์ได้ ฉันใด, ขอถวายพระพร พระโยคาวจรอาศัยศีล ตั้งในศีลแล้ว ก็ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า คนทั้งหลายย่อมทำการงานที่ต้องทำด้วยกำลังเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คนทั้งหลายเหล่านั้นอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน แล้วก็กระทำการงานเหล่านั้นได้ ฉันใด ขอถวายพระพร พระโยคาวจรอาศัยศีล ตั้งในศีลแล้ว ก็ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ช่างสร้างเมืองต้องการจะสร้างเมือง ทีแรกก็ให้เขาชำระที่ตั้งเมือง พรากตอและหนามออกไป ปรับพื้นที่ให้เรียบ ภายหลังจากนั้นก็จำแนกโดยการตัดแบ่งเป็นถนนเป็นทางสี่แพร่งเป็นต้น สร้างเมืองขึ้นมา ฉันใด ขอถวายพระพร พระโยคาวจรอาศัยศีล ตั้งในศีลแล้ว ก็ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ขอท่านจงกระทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า นักแสดงกายกรรม ต้องการแสดงศิลปะ ก็ย่อมให้เขาถางพื้นดิน ขจัดก้อนกรวดกระเบื้องออกไป ปรับพื้นให้เรียบแล้วจึงแสดงศิลปะบนพื้นที่นุ่มได้ ฉันใด ขอถวายพระพร พระโยคาวจรอาศัยศีล ตั้งในศีลแล้ว ก็ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ได้ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :

สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ;    จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ, อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ, โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ. (สํ. สคาถ. ๑๕/๑๘.)

แปลว่า นระผู้มีปัญญา ตั้งในศีลแล้ว เจริญจิตและปัญญา เป็นผู้มีความเพียร ฉลาด เป็นภิกษุ ผู้นั้นจะพึงถางชัฏ (คือตัณหา) นี้ได้ ดังนี้

อนึ่ง ศีลนี้เป็นรากเหง้าแห่งความเจริญยิ่งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ดุจธรณีนี้ เป็นที่ตั้งแห่งสัตว์ทั้งหลายฉะนั้น ในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็มีศีลนี้เป็นประธาน ได้แก่กองศีลอันมีในพระปาติโมกข์อันประเสริฐ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว.  จบศีลลักขณปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาเกี่ยวกับลักษณะของศีล ชื่อว่า ศีลลักขณปัญหา (ฉบับของไทยเป็น สีลปติฐาลักขณปัญหา).  ก็ศีลสังวร ๔ อย่าง คือ ปาฏิโมกข์สังวรศีล (ศีลอันเป็นความสำรวมปาติโมกข์) อันได้แก่ศีลในสิกขาบททั้งหลาย ๑, อินทรีย์สังวรศีล (ศีลอันเป็นความสำรวมอินทรีย์ ๖ เป็นต้น) ๑, อาชีวะปาริสุทธิศีล (ศีลอันเป็นความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ) ๑, ปัจจัยสันนิสสิตศีล (ศีลอาศัยปัจจัยคือการพิจารณาปัจจัยก่อนใช้สอย) ๑ ชื่อว่า ศีล ที่ประสงค์เอาในปัญหานี้.  ต่อไปนี้เป็นอรรถาธิบายเกี่ยวกับคำว่า “อินทรีย์” เป็นต้น

ธรรม ๕ อย่างมีศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่า “อินทรีย์” โดยความหมายว่า เป็นใหญ่ กล่าวคือ ยังธรรมทั้งหลายให้เป็นไปคล้อยตามอำนาจของตน เมื่อตนแก่กล้าก็แก่กล้าตาม เมื่อตนอ่อนก็อ่อนตาม

ศรัทธา (ความเชื่อ ความเลื่อมใส) เมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีความเป็นใหญ่ในลักษณะที่น้อมใจเชื่อของตนเกี่ยวกับยังธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันกับตน มีผัสสะ วิตก วิจาร มนสิการ เป็นต้น รวมทั้งอินทรีย์ที่เหลือให้น้อมไปด้วยดี โอนไปด้วยดี เงื้อมไปด้วยดีในอารมณ์ที่ตนน้อมใจเชื่อ ราวกับว่าจะร่วมน้อมใจเชื่อไปกับตน เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นอินทรีย์ ท่านเรียกว่า สัทธินทรีย์

ส่วน วิริยะ (ความเพียร) เมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีความเป็นใหญ่ในลักษณะที่คอยประคอง คือค้ำจุนธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับตน ให้เป็นไปในอารมณ์นั้นๆ บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ทอดทิ้ง ธรรมเหล่านั้นอันวิริยะคอยประคองไว้อยู่อย่างนี้ก็ย่อมขวนขวายในกิจของตนๆ ในอารมณ์นั้นๆ ไม่ท้อแท้ ไม่ทอดทิ้งตามอำนาจแห่งวิริยะเ พราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นอินทรีย์ ท่านเรียกว่า วิริยินทรีย์

สติ (ความระลึกได้) เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีความเป็นใหญ่ในลักษณะที่เข้าไปตั้งอยู่ที่อารมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับสติ ย่อมคล้อยไปตามอำนาจแห่งสติ คือย่อมถูกสติทำให้เข้าไปตั้งอยู่ที่อารมณ์ที่สติเข้าไปตั้งอยู่นั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นอินทรีย์ ท่านเรียกว่า สตินทรีย์

สมาธิ (ความตั้งมั่นเสมอในอารมณ์เดียวแห่งจิต) เมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีความเป็นใหญ่ในลักษณะที่ไม่ฟุ้งซ่าน ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับสมาธิย่อมคล้อยไปตามอำนาจแห่งสมาธิ คือย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวกันกับที่สมาธิตั้งมั่นอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน คือ ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นอินทรีย์ ท่านเรียกว่า สมาธินทรีย์

เว้น ปัญญา เสีย การแทงตลอดสัจธรรมตามความเป็นจริงก็หามีได้ไม่ ก็ในคราวที่ปัญญาจะเกิดขึ้นมาแทงตลอดสัจจธรรมตามความเป็นจริงนั้น ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ย่อมเป็นไปด้วยดี ในอารมณ์เฉพาะที่เป็นประโยชน์แก่ปัญญาจะได้เกิดขึ้นมาเห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น กล่าวคือ ผัสสะก็คอยกระทบอารมณ์นั้น ไม่กระทบอารมณ์อื่นที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ปัญญา วิตกก็คอยกจิตขึ้นสู่อารมณ์นั้น วิจารณ์ก็คอยแต่จะตามเคล้าอารมณ์นั้น ศรัทธาก็น้อมใจเชื่ออยู่เฉพาะอารมณ์นั้นอย่างนี้เป็นต้น ธรรมที่เกิดร่วมกับปัญญาเหล่านั้น เมื่อมีความเป็นไปอย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นไปตามอำนาจแห่งปัญญา ดุจบ่าวที่คอยอำนวย คอยเอื้อสนองประโยชน์แก่ผู้เป็นนาย ฉะนั้นเพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงชื่อว่าเป็นอินทรีย์ ท่านเรียกว่า ปัญญินทรีย์ ธรรม ๕ อย่างมีศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่าเป็นอินทรีย์โดยความหมายตามหลักการดังกล่าวมานี้

ก็ธรรม ๕ อย่างมีศรัทธาเป็นต้น เหล่านั้นนั่นแหละเมื่อมีกำลังขึ้น ธรรมทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ก็ไม่อาจทำให้หวั่นไหวได้ คือไม่อาจทำให้พินาศได้ ให้แปรปรวนได้ ท่านเรียกว่าพละ ความว่า :

ศรัทธา เมื่อมีกำลังก็ย่อมเป็นธรรมชาติที่อัสสัททธิยะ (ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ อกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศรัทธา) ไม่อาจทำให้หวั่นไหวได้เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่าศรัทธาพละ

วิริยะ เมื่อมีกำลังก็ย่อมเป็นธรรมชาติที่โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) ไม่อาจทำให้หวั่นไหวได้ เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า วิริยพละ

สติ เมื่อมีกำลัง ก็ย่อมเป็นธรรมชาติที่มุฏฐสัจจะ (ความหลงลืมสติ คืออกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นครอบงำจิตแล้วก็ทำให้เกิดความหลงลืม) ไม่อาจทำให้หวั่นไหวได้เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า สติพละ

สมาธิ เมื่อมีกำลัง ก็ย่อมเป็นธรรมชาติที่ความฟุ้งซ่าน ไม่อาจทำให้หวั่นไหวได้ เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า สมาธิพละ

ปัญญา เมื่อมีกำลังก็ย่อมเป็นธรรมชาติที่อวิชชา (ความไม่รู้) ไม่อาจทำให้หวั่นไหวได้ เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า ปัญญาพละ ธรรมชาติ ๕ อย่างมีศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่าพละโดยความหมายตามประการดังกล่าวมานี้

ธรรม ๗ อย่าง กล่าว คือสติ ๑, ธัมมวิจยะ (ปัญญาที่วิจัยธรรมคือวิปัสสนาปัญญา) ๑, วิริยะ ๑, ปีติ (ความอิ่มเอิบใจที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาจิต) ๑, ปัสสิทธิ (ความระงับจากนิวรณ์แห่งจิต ๑, สมาธิ ๑, อุเบกขา (ความวางเฉยเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์) ๑ ชื่อว่า โพชฌงค์เพราะเป็นองค์คือเป็นองค์ประกอบ เป็นสัมภาระแห่งโพธิ (ความตรัสรู้) อันได้แก่พระอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหมวดธรรมที่พระโยคาวจรพึงทำให้เต็มให้บริบูรณ์ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า สติสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ เป็นต้น

ส่วนธรรม ๘ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า องค์มรรค เพราะมีความหมายว่า เป็นองค์ประกอบที่เป็นทางคือเป็นอุบายบรรลุพระนิพพาน

ส่วน สติ ที่พระโยคาวจร ทำให้เข้าไปตั้งอยู่ที่ธรรมะ ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต และธรรม อันเป็นไปเพื่อละวิปลาส (ความสำคัญคลาดเคลื่อน) ๔ อย่างคือ สุภวิปลาส (ความสำคัญคาดเคลื่อนว่างาม), สุขวิปลาส (ความสำคัญคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข), นิจจวิปลาส (ความสำคัญคลาดเคลื่อนว่าเที่ยง), อัตตวิปลาส (ความสำคัญคลาดเคลื่อนว่าเป็นอัตรา) ในกายซึ่งไม่งามเป็นต้น เรียกว่า สติปัฏฐาน นับว่ามี ๔ อย่างมี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น ก็เพราะเหตุที่เข้าไปตั้งอยู่ในอารมณ์ ๔ อย่าง มีกายเป็นต้นนั้นนั่นแหละ

วิริยะ ที่เป็นไปในกิจ ๔ อย่าง กล่าวคือ – เพียรละอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว – เพียรป้องกันอกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น – เพียรทำกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น – เพียรทำกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ได้ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านเรียกว่าสัมมัปปธาน นับว่ามี ๔ เรียกว่าสัมมัปปธาน ๔ ที่เกี่ยวกับมีกิจ ๔ อย่างตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเทียว

ธรรมะ ๕ อย่าง คือ ฉันทะ (ความพอใจ คือความใคร่ที่จะทำให้สำเร็จ) ๑, วิริยะ ๑, จิตตะ (ที่ฝักใฝ่ในอารมณ์นั้นเป็นพิเศษ) ๑, วิมังสา (ปัญญาที่ไต่ตรอง) ๑ ที่เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้มีความดำริว่า “ก็ความสำเร็จพึงมีแก่ผู้มีฉันทะที่เป็นเช่นใด, แม้เราก็จะมีฉันทะที่เป็นเช่นนั้น” ดังนี้เป็นต้นแล้วทำฉันทะเป็นต้นนั้นให้เป็นธุระ ให้เป็นใหญ่ ให้ออกหน้าประกอบการงานของตนไปจนบรรลุความสำเร็จ ชื่อว่า อิทธิบาท มี ๔ อย่างคือ ฉันทิทธิบาท เป็นต้น

คำว่า ฌาน ได้แก่ ฌาน ๔ มีปฐมฌาน เป็นต้น ซึ่งได้ชื่อว่า ฌาน โดยความหมายว่า เพ่งอารมณ์ และโดยความหมายว่า แผดเผาธรรมอันเป็นข้าศึก ได้แก่ โลกิยฌานที่พระโยคาวจรใช้เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ซึ่งเพ่งอารมณ์มีกฐินเป็นต้น เผาธรรมอันเป็นข้าศึกคือนิวรณ์ทั้งหลาย โดยประการที่ข่มไว้ได้ และโลกุตตรฌาน ที่เกิดพร้อมกับพระอริยมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ซึ่งเพ่งอารมณ์คือพระนิพพาน และ แผดเผาธรรมอันเป็นข้าศึกคือนิวรณ์ทั้งหลาย โดยประการที่ตัดขาดเสียได้

คำว่า วิโมกข์ ได้แก่ วิโมกข์ ๓ คือ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และ สุญญตวิโมกข์ ความว่า

พระนิพพาน ชื่อว่า “อนิมิตตะ” เพราะเป็นที่ประจักษ์นิมิตคือสังขารทั้งหลาย พระอริยะมรรคทั้งหลายมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ชื่อว่า “วิโมกข์” เพราะเป็นเหตุหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย พระอริยมรรคนั้นนั่นแหละ เมื่อเป็นไปกระทำพระนิพพานอันชื่อว่าอนิมิตตะนั้นให้เป็นอารมณ์ ก็เป็นเหตุหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายได้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ พระนิพพานได้ชื่อว่า “อัปปณิหิตะ” เพราะไม่เป็นที่ปรารถนาแห่งราคะ, ชื่อว่า “สุญญตะ” เพราะว่างเปล่าจากสังขารทั้งหลาย พระอริยมรรคได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ ได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ ก็โดยนัยดังได้กล่าวแล้ว

คำว่า สมาธิ ได้แก่ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ และ สุญญยตสมาธิ ในที่นี้ประสงค์เอาสมาธิที่เกิดร่วมกับพระอริยมรรคทั้งหลาย ซึ่งได้ชื่อว่า อนิมิตตสมาธิเป็นต้น ก็เพราะความที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวคือพระนิพพานที่ชื่อว่า อนิมิตตะ เป็นต้น นั้น

คำว่า สมาบัติ ได้แก่ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ และ สุญญตสมาบัติ ก็พระอริยผลทั้งหลายชื่อว่า “สมาบัติ” เพราะอรรถว่าพระอริยบุคคลย่อมเข้า คือทำให้เป็นไปสืบต่อชั่วระยะเวลาที่ต้องการ สมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่า อนิมิตตสมาบัติเป็นต้น ก็เพราะความที่มีพระนิพพานอันชื่อว่า อนิมิตตะเป็นต้น เป็นอารมณ์นั่นแหละ.  

ในคาถา : – คำว่า นระ แปลว่าสัตว์ – คำว่า ผู้มีปัญญา คือ ผู้มีปัญญาที่เกิดจากกรรมอันเป็นปัญญาที่มาพร้อมกับปฏิสนธิ – คำว่า ตั้งในศีล ความว่า เมื่อเป็นผู้ทำศีลให้เต็มให้บริบูรณ์ได้ก็ชื่อว่า ตั้งในศีล – คำว่า เจริญจิตและปัญญา คือ เจริญสมาธิและวิปัสสนาปัญญา ก็สมาธิ ในที่นี้ตรัสว่าจิตก็เพราะเป็นความตั้งมั่นแห่งจิต – คำว่า เป็นผู้มีความเพียร คือเป็นผู้มีความเพียรที่ถึงความเป็นตบะเผาผลาญกิเลสได้ด้วยอำนาจการกระทำติดต่อกัน – คำว่า ฉลาด คือ เป็นผู้มีปริหาริกกะปัญญาอันเป็นผู้นำในกิจทั้งปวง – คำว่า เป็นภิกษุ คือเป็นผู้มีปกติเล็งเห็นภัยในสังสารวัฏ – คำว่า จะพึงถางชัฏนี้ได้ คือจะพึงถางรกชัฏคือตัณหานี้ได้ ก็ตัณหา ท่านเรียกว่า “ชัฏ” ก็โดยเกี่ยวกับเกี่ยวพันสัตว์ทั้งหลายไว้ให้ติดอยู่กับภพน้อยภพใหญ่

เปรียบเหมือนว่าบุรุษยืนอยู่บนพื้นดิน เงื้อมีดที่ลับดีแล้วบนหินลับมีด ถางกอไผ่ใหญ่ได้ ฉันใด พระโยคาวจรตั้งในศีลแล้วก็ใช้มือคือปาริหาริกปัญญาที่กำลังของความเพียรประคับประคองอยู่ เงื้อมีดคือวิปัสสนาปัญญาที่ลับดีแล้วบนหินคือสมาธิ ถางคือตัดทำลายรกชัฏคือตัณหาได้ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนว่าธรณีนี้เป็นที่ตั้งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด, ศีลนี้ก็เป็นรากเหง้าคือเป็นที่ตั้งเพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น ในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าก็มีกองศีลอันมีในพระปาติโมกข์ คือมีในคำสอนที่เป็นเหตุอย่างสัตว์ผู้มีปกติตกไปในอบายและในวัฏฏทุกข์ให้พ้นจากภัยในอบายและภัยในวัฏฏทุกข์ อันเป็นศีลที่ประเสริฐนี้นี่แหละ เป็นประธานคือเป็นหัวหน้า เป็นเบื้องต้น ฉะนี้ แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙. จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๕)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา: http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: