วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

เทวานัมปิยติสสะ อทิฏฐสหายของพระเจ้าอโศก

เทวานัมปิยติสสะ อทิฏฐสหายของพระเจ้าอโศก 

เขียนถึงอุบาสกผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาหลายท่าน ทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล จะละเลยท่านที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ได้ เพราะเป็นผู้มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาไม่น้อย.  ท่านผู้นี้ หรือ “พระองค์นี้” คือ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งศรีลังกา ร่วมยุคสมัยกับพระเจ้าอโศก.  พระเจ้าอโศกได้ทรงมีสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ดังที่ภาษาบาลีเรียกว่า “ทรงเป็นอทิฏฐสหาย” (สหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน) มาตลอดรัชกาล.  เมื่อพระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ เสร็จ ก็ทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังนานาประเทศทั้งหมด แบ่งเป็น ๙ สาย

หนึ่งใน ๙ สายนั้น คือ คณะสมณทูต อันมีพระมหินทเถระเป็นประมุข ไปยังเกาะศรีลังกา อีกรายหนึ่ง คือคณะของพระโสณะ และพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ (ว่ากันว่าคือภูมิภาคแถบนี้ อันมีเมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลาง).  กล่าวเฉพาะศรีลังกา ก่อนพระมหินทเถระมา ไม่ทราบแน่ชัดว่าชาวเกาะศรีลังกานับถือศาสนาอะไร คงจะเป็นลัทธิถือผีถือสางตามถนัด คนพื้นเมืองนี้แต่ดั้งเดิมเรียกกันว่า “ยักษ์” หรือก็คงจะเป็นบรรพบุรุษของพวกทมิฬในปัจจุบัน.  เมื่อพระเจ้าวิชัย กษัตริย์อารยัน ยกทัพมาบุกเกาะศรีลังกา และยึดเกาะนี้ได้ ก็ได้ผสมกับพวกยักษ์จนกลายมาเป็นชาวสิงหล เพราะฉะนั้น ชาวสิงหลจึงนับได้ว่าเป็นพวกอารยันเช่นเดียวกับชาวอินเดีย. พระเจ้าอโศกผู้เป็นเชื้อสายอารยัน จึงทรงมีสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ศรีลังกาผู้มีเชื้อสายอารยันเช่นเดียวกัน เมื่อจะส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน จึงทรงเผื่อแผ่มายังพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะด้วย.  

เมื่อพระมหินท์พร้อมคณะ อันมีพระอัฏฏิยะ พระอุตติยะ พระภัทสาละ พระสาณสัมพละ สามเณรสุมนะ และภัณฑะอุบาสก เป็นไวยาวัจกร มาถึงเกาะศรีลังกา ในปี พ.ศ. ๒๓๖ ปีเดียว หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ ว่ากันอย่างนั้น (เรื่อง พ.ศ. ยังเห็นต่างกันอยู่) เมื่อมาถึงใหม่ๆ ได้พำนักอยู่ที่เขามิสสกะบรรพต (เจติยบรรพต) อยู่นอกเมือง.  พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จออกล่าเนื้อ ทอดพระเนตรเห็นเนื้อสมันกินหญ้าเพลินโดยไม่ระวังภัย ทรงดำริว่าไม่ควรยิงเนื้อขณะที่มันไม่ได้ระวังตัว จึงค่อยเสด็จพระราชดำเนินไปใกล้ เนื้อรู้ตัววิ่งหนีไปยังเนินมะม่วง พระราชาเสด็จตามเข้าไป ทันใดนั้นก็ได้สดับเสียงเรียก “ติสสะ มาทางนี้”

“ใครเรียกชื่อเรา” พระราชาทรงฉงนพระทัย จึงสืบพระบาทไปตามเสียง ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง นั่งสงบอยู่ใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง จึงเสด็จเข้าไปนมัสการ พระเถระรู้พระราชดำริจึงกล่าวว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพคือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เพื่อทดสอบพระปรีชาญาณของกษัตริย์ศรีลังกา พระเถระจึงเอ่ยถามว่า “มหาบพิตร ต้นไม้นี้ชื่ออะไร”   “ต้นมะม่วง ขอรับ”   “มหาบพิตร นอกจากต้นมะม่วงนี้และต้นมะม่วงอื่น ยังมีต้นไม้อื่นอีกไหม”. “มีมาก ขอรับ”  “มหาบพิตร นอกจากต้นมะม่วงนี้และต้นมะม่วงอื่น ยังมีต้นไม้อื่นอีกไหม”  “มี ขอรับ แต่ไม่ใช่ต้นมะม่วง”  “มหาบพิตร นอกจากต้นมะม่วงอื่น และต้นไม้ที่ไม่ใช่ต้นมะม่วง ยังมีต้นไม้อีกไหม”   “ก็ต้นมะม่วงต้นนี้นะสิ ขอรับ”  พระเถระถามต่อไปว่า “มหาบพิตร พระประยูรญาติของพระองค์มีไหม”  “มีมาก ขอรับ”

“นอกจากพระประยูรญาติเหล่านั้น ยังมีใครอื่นอีกไหม” “ผู้มิใช่ญาติมีมากกว่า ขอรับ” “นอกจากพระประยูรญาติ และผู้มิใช่พระประยูรญาติ ยังมีใครอื่นอีกไหม”  “ก็โยมนี้แหละ ขอรับ” พระเถระกล่าว “สาธุ” ทรงชมเชยว่าพระมหากษัตริย์แห่งเกาะศรีลังกา ทรงมีพระปฏิภาณปัญญาเฉียบคมยิ่งนัก จึงแสดง “จูฬหัตถิปโทปมสูตร” (พระสูตรว่าด้วยธรรมะอุปมาดุจรอยเท้าช้าง) ถวายพระราชา.  พระราชาทรงนิมนต์พระเถระพร้อมคณะไปฉันภัตตาหารในพระราชสำนักในวันรุ่งขึ้น.  หลังพระคุณเจ้าฉันเสร็จ พระราชาทรงมอบถวายอุทยานเมฆวัน ให้เป็นวัดที่พำนักของพวกท่านอีกแห่งหนึ่งด้วย พระเถระได้แสดงธรรมหลายวาระโอกาสแก่พระเจ้าเทวานิมปิยติสสะ พร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารและชาวเมืองจำนวนมาก.  ในจำนวนผู้ที่สดับธรรมเทศนา มีอำมาตย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง นาม อริฏฐะ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชเป็นภิกษุซึ่งก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ท่านอริฏฐะพร้อมญาติพี่น้องอีก ๕๕ คน ได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว

หลังจากออกพรรษาแรกในลังกาทวีป พระมหินทเถระเจ้า มีเถรบัญชาให้สุมนะสามเณรผู้มีฤทธิ์ไปขอพระเขี้ยวแก้วจากท้าวสักกเทวราช อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ถูปาราม พระเขี้ยวแก้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังคงอยู่ที่ประเทศศรีลังกา เป็นปูชนียวัตถุที่ชาวศรีลังกาเขาเคารพและหวงแหนมาก ทุกปีจะมีการอัญเชิญพระธาตุแห่แหนรอบเมือง และประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชาในเทศกาลวันวิสาขบูชา.  พระนางอนุฬาเทวี มีพระประสงค์จะบวช เนื่องจากไม่มีภิกษุณีเป็น “วัตตินี” (แปลว่า อุปัชฌาย์) บวชให้ พระเถระจึงถวายพระพรพระราชา ให้ทรงส่งคณะทูตไปขอพระราชทานภิกษุณีจากพรเจ้าอโศก ทุกอย่างเป็นไปตามต้องการ. ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ทรงอนุญาตให้พระสังฆมิตตาเถรี พระขนิษฐาของพระมหินทเถระมาลังกา พระเถรีได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์ลงเรือมาด้วย มาปลูกไว้ให้ประชาชนชาวศรีลังกาได้สักการบูชา ว่ากันว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ยังมีชีวิตอยู่ตราบทุกวันนี้ (ต้นเดิมคงตายไปนานแล้ว ที่เห็นๆ อยู่คงจะเป็นลูกหลานต้นเดิมนั้น)

ชาวลังกาหวงแหนมาก ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ กั้นรั้วไว้ถึงสามชั้น เมื่อครั้งผมและคณะแสวงบุญไปศรีลังกา เราได้นำผ้าแพรไปด้วย ตั้งใจจะไปห่มต้นศรีมหาโพธิ์ เจ้าหน้าที่วัดห้ามเข้า.  เจรจาอยู่นานกว่าจะอนุญาตให้ตัวแทนคณะ ๒ คน (คือผมกับคุณลุงปลั่ง) นำผ้าเข้าไป ผ่านรั้วขั้นที่หนึ่ง ที่สองตามลำดับ พอถึงรั้วขั้นที่สาม เขาให้เรายืนอยู่ตรงนั้น เอาผ้าพาดไว้ที่รั้ว บอกว่าเขาจะนำเข้าไปห่มให้เอง.  ผมถามว่าทำไมไม่ให้เข้าไป เขาบอกว่า “เกรงว่าจะนำเชื้อโรคไปติดต้นไม้” เอากะแขกลังกาสิ พูดยังกับเราเป็นตัวแพร่เชื้อโรค แต่เราก็ไม่ว่าอะไร เพราะซาบซึ้งว่าชาวศรีลังกาเขารักและหวงแหนต้นศรีมหาโพธิ์เหลือเกิน น่าอนุโมทนายิ่งนัก

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นกษัตริย์แห่งเกาะศรีลังกาพระองค์แรก ที่ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองบนเกาะแห่งนี้ เป็นมรดกตกทอดมั่นคงมาจนถึงบัดนี้ไม่ขาดสายเลย นับว่าประเทศศรีลังกา เป็นศูนย์กลางสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา นอกเหนือไปจากประเทศสยามของเรา

ว่าตามจริงแล้ว ทั้งไทยและศรีลังกาต่างก็มีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด ไทยเราได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มา ขณะที่ลังกาเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงก็ได้ขอพระสงฆ์ไทยไปฟื้นฟูขึ้นที่ลังกา จนกระทั่งมีพระสงฆ์นิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ มาจนบัดนี้. ไทยมีลังกาวงศ์ ลังกามีสยามวงศ์ ด้วยประการฉะนี้แล.

คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต 

ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58086

พระสังฆมิตตาเถรี ภิกษุณีชาวลังกา

พระสังฆมิตตาเถรี ภิกษุณีผู้ที่ทำให้ผู้หญิงชาวลังกาได้มีโอกาสนุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ เป็นครั้งแรก ในภาพนั้น พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งเมืองลังกา เสด็จออกมารับคณะฑูตของพระสังฆมิตตาเถรีด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงความเคารพอย่างแรงกล้าต่อพระรัตนตรัย ด้วยการเทินกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระสังฆมิตตาเถรีนำมาด้วย ไว้เหนือพระเศียร ในคัมภีร์เล่าว่า ทรงเสด็จลงในน้ำ จนเปียกถึงพระชานุเลยทีเดียว เพื่อต้อนรับคณะฑูตของภิกษุณี อันเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ที่ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจะทำได้

ที่มา : http://dhamma.serichon.us


ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกลานิยาราชมหาวิหาร (อังกฤษ : Kelaniya Raja Maha Vihara or Kelaniya Temple) เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ในภาพ...ปี พ.ศ.๒๓๖ พระสังฆมิตตาเถรี อัญเชิญกิ่งด้านขวาของพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้  แล้วเดินทางโดยเรือไปเกาะลังกา (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
ขณะที่พระราชาแห่งลังกา “พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ” เสด็จลงไปรอรับถึงในน้ำด้วยพระองค์เอง. 



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: